วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯทราบฝ่าพระบาท

รายงาน

๑) ได้ค้นดูสิ่งต่างๆ ในห้องพระที่ตำหนักวังวรดิศอีก เห็นขันน้ำมนต์สัมฤทธิ์ตั้งอยู่บนหิ้ง ตัวเป็นของเก่ามีตราจักรอยู่มากดวง ทรงทำฝาและพานรองประกอบเข้าไว้ ดูก็เหมาะดีสมรูปเป็นขันครอบ เว้นแต่ขันครอบพานรองเป็นของใหม่ เดิมจะทำเป็นอะไรก็คิดไม่เห็น จะว่าตั้งใจทำเป็นบาตรดูก็แบนเกินไป จะเป็นใบนี้ที่โปรดให้เขียนเป็นฝาบาตรเชิงบาตรสำหรับใช้ทำน้ำมนต์ถวาย แล้วไม่ได้ทำหรือไรก็จำของนั้นไม่ได้ กลัวจะไม่เป็นของเก่ามากนัก ตราจักรที่ทำไว้ทีจะหมายเป็นธรรมจักรพระพุทธรูปธรรมามูลทีจะนำไป ด้วยพระพุทธรูปองค์นั้นมีตราอยู่ที่พระหัตถ์เรียกกันว่าธรรมจักร แต่ก็เป็นดอกบัว จะหมายอะไรก็คิดยังไม่เห็นชัด ทีจะนึกเป็นอย่างหัวแหวน ซึ่งเคยทำติดฝ่าพระหัตถ์ ซึ่งเป็นว่างอยู่เท่านั้นเอง ที่ทำธรรมจักรเป็นจักราวุธ หรือล้อรถนั้นไม่ถูกแน่ จักราวุธหมายถึงนารายณ์ ล้อรถหมายถึงจักรพรรดิ ธรรมจักรน่าจะเป็นเธาะขัดตมาดอยู่ในวงกลม หมายความว่าวงที่นับถือพระพุทธศาสนา นี่เป็นอัตตโนมัติเท่านั้น เธาะขัดตมาดก็คือตัว ธ เราดื้อๆ หนังสือเก่าเขียนอย่างนั้นท่านหมายความว่า “ธรรม” ผิดจากธรรมดาที่ต่อเส้นที่สุดขึ้นไปเป็นโคมูตร อะไรจะให้ศักดิสิทธิ์ก็ทำอย่างนั้นสิ้น

๒) ได้พิจารณารูปพระครูวัดฉลองอีกครั้งหนึ่ง เห็นพัดแฉกที่ท่านถืออยู่เข้าใจว่าเป็นพัดตำแหน่งสังฆปาโมกข์ เว้นแต่รูปผิดตา แต่จะเป็นพัดเชลยศักดิ์ใครทำถวายนั้นไม่ได้ ต้องเป็นพัดหลวงหากทำเรียวไปเท่านั้น หนังสือมีเขียนไว้บนพัดนั้นว่า “พระอรหํ สุคโต ภควา นเมตตาจิต” “พระ” ไม่ใช่ภาษามคธอันควรจะเอามาใช้ ที่เอามาใช้ก็เพียงตั้งใจให้เป็นกี๋ เพื่อหนุนพระนามพระพุทธเจ้าให้สูงขึ้นเท่านั้น “อรหํ สุคโต ภควา” นั่นเป็นพระนามพระพุทธเจ้า “นเมตตาจิต” แปลว่าไม่มีใจเมตตา ติดจะ “ป้วย” แต่ตัวท่านพระครูวัดฉลองไม่ได้รับผิดชอบในคำเหล่านั้น เพราะคนอื่นทำขึ้นทีหลังเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว

๓) อีกอย่างหนึ่ง คาถามีคำแปลเป็นกาพย์ฉบัง เขียนตัวทองทรงใส่กรอบไว้สองกรอบ เห็นทำประณีตนัก จึ่งอยากทราบว่าใครถวายที่ไหน

๔) รูปพระเจ้าห้ามนางมาร จำไม่ได้เลยว่าได้ถวายหนังสือขอม “ตัวเขียน” ซึ่งเขียนไว้ใต้รูปนั้น จำอย่างมาแต่สมุดพระธรรมที่กราบทูล

๕) มีรูปพระพิฆเนศวรหล่อ ตั้งไว้บนหลังตู้หน้าห้องพระข้างซ้ายเห็นเป็นของหล่อใหม่ปั้นหุ่นตามใจชอบ เอาอย่างเก่าบ้างใหม่บ้างปนกัน มีพระเศียรพระตั้งอยู่เคียงกัน ดูเป็นของหล่อใหม่ เว้นแต่ทำถ่ายถอนของเก่าทีเป็นกดเอาอะไรมาอาจที่รูปเดิมจะเป็นรูปจำหลักศิลาก็ได้ เพราะเห็นพระกรรณราบอยู่ในตัว จะทำยื่นออกมาก็กลัวจะหัก

๖) มีพระพุทธรูปยืนฝีมือจีน ตั้งอยู่บนหลังตู้ข้างขวาหน้าห้องพระอีกองค์หนึ่ง รับประกันได้ว่าเป็นของเดิมเก่า ดีเต็มที

ข่าว

๗) เมื่อวันที่ ๑๙ สำนักพระราชวังส่งหมายรัชมงคลมาให้ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาให้ด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทรงทราบด้วยกับหนังสือเวรคราวนี้ฉบับหนึ่ง

สนองลายพระหัตถ์

๘) ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ มีรอยปะปิดทางปีนัง และประทับตราดวงกลมเลข ๕ ได้รับแล้วในวันรุ่งขึ้นจากรถไฟเข้าไปถึง จะกราบทูลสนองต่อไปนี้

๙) เรื่องเสลี่ยงแบ่งเป็น ๓ ตามที่ทรงพระดำรินั้นไม่มีข้อเถียง เว้นแต่คำที่เรียกว่าเสลี่ยงนั้นดูหน้าตาไม่ใช่ภาษาไทย และไม่ใช่ภาษามคธสังสกฤตด้วย จะลองสืบดูต่อไปว่าเป็นภาษาอะไร “ราชยาน” นั้นเป็นคำมคธสังสกฤต เราใช้เรียกสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทุกอย่างไม่จำเพาะแต่พระเสลี่ยง

๑๐) ตรัสเล่าถึงลิงเล่นน้ำนั้นประหลาดดี ไม่เคยทราบมาก่อนเลยเหมือนกับฝ่าพระบาท ตรัสถึงลิงนึกขึ้นมาถึงลพบุรี ฟังเขาเล่าถึงลิงที่ศาลพระกาฬนึกว่าตัวมันจะเล็กๆ เท่าที่สวนลิง แต่ที่ไหนได้ ครั้นไปถึงเข้าจริงมันมานั่งอยู่ที่ลานหน้าศาลตัวหนึ่ง ตัวโตเท่าเด็กๆ เห็นเข้าต้องหลีกหนีมันไปไม่กล้า “เข้าแค่” กลัวมันกัดตาย ที่วัดหนุมานเกาะบาหลีมีลิงอยู่มาก แต่ก็ตัวเล็กๆ ขนาดเท่าที่เคยเห็นในสวนลิง ชาวบ้านเขาแกะเมล็ดข้าวโพดมาใส่ให้ในมือเพื่อให้ลิงกิน มันเข้าใจดีกระโดดเข้าเกาะขาแขนแย่งข้าวโพดกิน แต่มือมันเปรอะเต็มทีทำเอาเสื้อกางเกงเปื้อนหมด เห็นไม่ได้การก็ไม่รับเอาข้าวโพดมาอีก มันเข้ามา “เคลม” ก็แบมือให้มันดูว่าไม่มี มันก็เข้าใจละไปกวนคนอื่น แต่ครั้นมาถึงท่าเมืองสุรบายา มีคนมาล้อมขอทานเอาสตางค์ ได้แบมือให้มันดูว่าไม่มี ไม่มีจริงๆ อยู่ที่ลูก แต่มันไม่เชื่อ ไม่ละจากล้อม เห็นเป็นมารยา ให้รู้สึกว่ามนุษย์เข้าใจยากกว่าลิง

๑๑) ตรัสถึงกลอนร้อง “โพนเพน” ให้รู้สึกว่าอันกลอนที่กล่อมลูกหรือที่เด็กร้องเล่นนั้น ล้วนคิดอย่างพุ่งๆ แล้วแต่อะไรมันจะหลุดออกมา ย่อมเห็นได้ว่าเป็นของคิดสดทั้งนั้น เว้นแต่เก่าจริงๆ ทั้งนั้น บท “โพนเพน กระเด็นสายนาค” เห็นจะหมายถึงนาคพ่นน้ำมีพยานอยู่ที่คำต่อไปว่า “น้ำท่วมฟาก” แต่กลัวจะนึกถึงสิ่งที่หยาบอย่างแต่งอัศจรรย์ในเรื่องวงศ์ๆ จักรๆ คำ “ชะมดฉมี” ฝ่าพระบาททรงเคยได้ยินมาอย่างนั้น ส่วนเกล้ากระหม่อมเคยได้ยินว่า “รัศมี” ไม่เป็นความอันสมควรทั้งสองทาง เกรงว่าจะเป็นคำที่คลาดจากเดิมไปเสียทั้งนั้น “กระดี่ชะมด” อาจจะมีปลากระดี่ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ปลากระดี่ชะมด” ซึ่งเราไม่รู้ก็เป็นได้ ลางกลอนเกล้ากระหม่อมเคยได้ยินมาเป็นอย่างหนึ่ง คือ “ปิดประตูใส่กลอน นอนเสียกลางวัน ลุกขึ้นไก่ขัน จักจั่นยิ้มเผล่” แล้วกลอนหลังนั้นได้ยินร้องแก้กันไปเป็นว่า “ลุกขึ้นไก่ขัน ตะวันแดงแจ๋” แล้วได้ยินร้องแก้กันไปอีกว่า “ลุกขึ้นไก่ขัน เอ้กอี๋เอ๊กเอ๊ก” ที่แก้อย่างหนหลังนี้ไม่เข้าที เพราะไม่มีสัมผัส ที่แก้ก็ทีจะเห็นว่า “จักจั่นยิ้มเผล่” นั้นหยาบ

พูดถึงกลอนสดก็ทำให้นึกไปถึงบทนกกะทุง ที่ทิ้งสัมผัส “อุง” ทำให้นึกวิตกแทนว่าจะหาอะไรมารับได้ยากเต็มที เอา “ตูดตุงๆ” มารับได้ก็ทำให้เบาใจไป นึกว่าจะแล้วก็ไม่แล้ว “สานพ้อมใบใหญ่ๆ ไว้ใส่ไข่นกกะทุง” กลับมาอีก เขาก็ซอกซอนไปนึกเอา “บางละมุง มารับได้อีก ที่สุดเอาคำ “ตั้มม่าผลุง” มารับต่อแต่ล้วนสนิทดีทั้งนั้นลง “เอย” ไปเสียได้ทำให้โล่งใจไปอย่างยิ่ง

๑๒) นิทานโบราณคดี “เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์)” ได้ความรู้ซึ่งไม่เคยรู้มาเลยอย่างหนึ่ง คือมิสเตอร์มิตเชลนั้น หมอกาวันเป็นผู้เลือกเอาเข้ามา และในเรื่องนั้นทำให้นึกลัดแลงขึ้นได้ ว่าครั้งหนึ่งนายบุษย์มหินทร์จัดเล่นละครตลก เป็นเรื่องเงาะ เมื่อนางรจนาเลือกคู่ จัดให้นายสีตลกเป็นนางรจนา พอนายสีออกโรงไปก็มีตลกคนหนึ่ง อยู่ในตำแหน่งหกเขย แต่จะเป็นใครก็ลืมตัวเสียแล้ว พูกทักขึ้นว่า “นั่นนางอะไรถึงได้มีหนวดออกรุ่มร่ามยังงั้น” นายสีตอบว่า “อ้าวไม่รู้จักอะไร นี่แหละแหม่มยัคคะมินลาปะไรล่ะ”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. คือ ขัดสมาธิ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ