วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๖ ตุลาคม ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) คำ “กระจ่ายตลาด” เกล้ากระหม่อมก็เคยได้ยินแต่ไม่ทราบว่าเป็นคำของใคร

ภาษาพระนั้นเกล้ากระหม่อมเคยคิดมาแล้วว่ามาแต่อะไร แต่ก็คิดไม่ออก “จำวัด” นั้นดูเป็นความว่าอยู่ในวัด แต่ทำไมจึงกลายเป็นว่านอนไปได้ “เภสัช” นั้นพอจะคิดได้ว่าพูดเทียบเอาว่าเป็นยา นอกนั้นคิดไม่ออกยังมีอีกมาก คำเหล่านั้นเห็นจะมาเก่าแก่แต่เขมร สังเกตได้จากคำ “ผเดียง” นั่นเป็นคำเขมร “นิมนต์” นั่นเป็นคำมคธ ซ้ำกัน แต่ไม่ประหลาดอะไร เขมรเขาก็ใช้คำมคธสังสกฤตเช่นเราเหมือนกัน ทั้งคำสำหรับเจ้าผีก็มีอีกด้วย เช่น “สิง” และ “สังเวย” เป็นต้น คำเหล่านี้ทำให้นึกถึงตำราราชาศัพท์ เห็นจะต้องมีตำราสังฆศัพท์ เทพศัพท์ ราชาศัพท์ เสนามาตยศัพท์ คหบดีศัพท์ ไปต่าง ๆ

๒) พระพุทธรูปลังกาห่มผ้าเป็นริ้วจริงแต่ลืมไป นั่นก็ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากตั้งใจจะเอาอย่างพระพุทธรูปซึ่งห่มจีวรเป็นกลีบ แต่ทำละลดพอเป็นที จนสังเกตได้ว่าพระพุทธรูปชนิดนั้นเป็นพระพุทธรูปลังกา ถ้าจะให้เป็นพระพุทธรูปอินเดียก็ทีจะต้องห่มผ้าไม่มีกลีบ ศาสนา “เชน” เห็นได้ว่าเกิดทีหลังเอาอย่างศาสนาพระพุทธ คำ “เชน” ก็คือ “ชิน” ทั้งศาสดาของเขาก็เรียกว่า “มหาวีระ” อันเป็นคำทางพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ได้พบหนังสือว่าท่านผู้นั้นชื่อเดิมว่า “ราหุละ” ถ้าจับตัววางตายก็จะต้องว่า “เคลม” เอาลูกพระพุทธเจ้า แต่ความจริงชื่ออาจซ้ำกันได้จึงต้องมี “นามโคตต์” ซึ่งเราต้องหลบไปเรียก “นามสกุล” เพราะคำ “โคตร” เราใช้เป็นคำหยาบ

๓) ประดิทินซึ่งเราใช้อย่างฝรั่งนั้นไม่สะดวกจริง เพราะวันอุโบสถยังใช้วันอย่างเก่า ซ้ำมีวันพระธรรมยุติอีกด้วยก็ออกจะรู้สึกยุ่งใจ มีคน “แอดยิเตด” จะให้พระทำอุโบสถวันอาทิตย์มาหลายหนแล้ว แต่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่แต่การทำอุโบสถ การทำบุญอะไรต่างๆ มีสารทเป็นต้นก็ไม่มีที่หมาย พวกเรายังดีที่ต้องถือใช้ประดิทินน้อยกว่าพวกชวา ที่กราบทูลถึงว่าศรัทธาในการที่เขาคิดประดิทินเป็น ๑๓ เดือนนั้น กราบทูลแต่ทางใจ ส่วนทางที่ว่าประดิทิน ๑๓ เดือนนั้นจะมีขึ้นในโลกหรือไม่และเราจะรับเอามาใช้หรือไม่ นั่นเป็นอีกทางหนึ่ง

๔) ตรัสถึงพระเจ้าปราสาททองทรงเลื่อนปีนั้น เป็นการที่ทรงกระทำอย่างจะเกิดผลไม่ได้อย่างที่ตรัส ถ้าจะทรงเปลี่ยนชื่อปีเสียใหม่จะเป็นดีกว่าจริง

“ศักราชกฎหมาย” เกล้ากระหม่อมก็เคยทราบว่าเขาเรียก “ศักราชจุฬามณี” ทราบจากโหร แต่แปลไม่ออกทั้งไม่เชื่อเสียด้วยจึงไม่อ้างถึงคำนั้น

๕) “แฝ” ที่ชวา ได้ยินว่าเขามีที่เมืองใหญ่ก่อน แล้วจึงย้ายไปมีที่เมืองเล็กๆ เราเที่ยวเปะปะไปจึงได้ไปพบ “แฝ” เข้าบ่อยๆ ทางรถไฟเรือไฟเกล้ากระหม่อมก็ได้เห็น และที่กราบทูลว่าผู้หญิงไปหลงอยู่แต่ที่ร้านขายพลอยนั้น ไม่ได้หมายเอาแต่แม่โตคนเดียว แม้ผู้หญิงในครอบครัวของทูลกระหม่อมชายก็ไปหลงอยู่ด้วยเหมือนกัน ทูลกระหม่อมชายท่านทรงนำดูก็ไม่ใช่ว่าท่านทรงนำไปทั่วทุกร้าน ท่านทรงประมาณการเหมือนกันว่าเราจะชอบอะไร ดูทั่วไปนั้นไม่ไหวอยู่เอง

๖) สารทจีนซึ่งเขาทำรูปโคมปลานั้น คงเป็นอย่างเดียวกับที่เห็นหนังสือญี่ปุ่น เขาทำโคมเป็นรูปปลาชักขึ้นปลายเสาโคม แต่เขาจะเรียกอะไรไม่ได้จำไว้ ข้างจีนเขาทำบุญตามกาละมาก เราเรียกว่า “สารทขนมอี๋” “สารทขนมจ้าง” “สารทขนมเข่ง” “สารทขนมเปีย” “สารทขนมโก๋” ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ข้างจีนถือเอาสารทกลางปีเป็นการใหญ่ เขาเรียกว่า “ชิด–ว่วย–ปั่ว” ที่ตรัสถึงคงเป็นสารทกลางปีนั้น

การลอยกระทงต้องเป็นของจีนแน่ เห็นได้ที่พิธีกงเต๊กก็มีลอยกระทง การลอยกระทงไม่เคยพบหนังสือเก่ามาเลย ไม่แต่เดือน ๑๑ แม้เดือน ๑๒ ในกฎมนเทียรบาลก็ว่า “พิธีลดชุดลอยโคมลงน้ำ” จะว่าเป็นพิธีลอยกระทงก็ใช่เชิง ตามที่ว่านั้นก็ไม่มีรายละเอียดอันพอจะวินิจฉัยได้ การทำพิธีนั้นทำผิดๆ กัน เมืองนั้นทำอย่างนั้นเมืองนี้ทำอย่างนี้ แล้วลางอย่างก็เลิก ลางอย่างเลิกเลย ลางอย่างก็มีอะไรเข้ามาแทน ตกลงเป็นจะทำอะไรก็ทำ การกระทำก็เพราะคนนับถือ เมื่อสิ้นนับถือกันแล้วโดยเวลาก็ทำให้เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอยู่ที่อะไรเลย

การลอยกระทงใหญ่มีในหนังสือเรื่องนางนพมาศ เป็นทีว่ามีมาแต่ครั้งเมืองสุโขทัย แต่เราก็จับกันได้ว่าเป็นหนังสือเก๊

๗) พิธีออกพระวรรษาซึ่งวัดศรีสว่างอารมณ์ที่ปีนังทำนั้นเป็นการทำชอบ จะทำพิธีอะไรก็ต้องสังเกตชาวบ้านว่าเขาชอบอย่างไรกันถูกแล้ว ตามที่ทรงจัดอาหารไปเลี้ยงพระและถวายบังคมทูลกระหม่อมของเราด้วยนั้น เป็นการกระทำด้วยกตเวทีเห็นเป็นการชอบนึกอนุโมทนาในพระกุศลราศีอันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

๘) นิทานโบราณคดี เรื่องสร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดคัดประทานไปด้วยนั้น เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง แต่พออ่านก็นึกเหลว ว่าได้เดินผ่านกำแพงวังเก่ามา ทีหลังสร้างโรงพยาบาลซึ่งตรัสว่าได้รื้อกำแพง แต่แล้วก็นึกได้ว่าที่เห็นนั้นเขาว่า “วังกรมเทวา” ที่ทรงรื้อนั้นเป็นกำแพงวังหลังต่างหาก อ่านพระนิพนธ์ดูเป็นไม่มีสิ่งก่อสร้างอันใดซึ่งเป็นล่ำเป็นสันอยู่ในวังหลังนั้นเลย ผิดกันกับพระราชวังเดิมที่ปากคลองบางหลวงเป็นอันมาก ในการเปลี่ยนวิธีพยาบาลเรื่องออกลูกนั้นดูเป็นการใหญ่มาก ที่จริงการอยู่ไฟก็ควรแก่ประเทศหนาวเท่านั้น ได้ยินว่าญวนเขานอนบนแคร่เอาไฟใส่ใต้นั้นเสียด้วยซ้ำ เราเห็นจะถือเอาแบบอย่างญวนมาหรืออย่างไรนั่นแหละ หรือมิฉะนั้นก็คงถือเอาแบบไทยซึ่งอยู่ทางประเทศหนาวข้างเหนือมาก็ได้

ย้อนหลัง

๙) จะย้อนหลังไปกราบทูลถึงพระดำรัส ซึ่งตรัสติโทษหนังสือพิมพ์ข้างไทย เหตุด้วยเมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้ อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์บทที่เขาจ่าหน้าว่า “เนม สแอกต์” เพื่อจะรู้ความว่ามีความอย่างไรแต่เข้าใจไม่ได้กระจ่าง เพราะรู้ภาษาอังกฤษไม่พอ จึงให้หญิงไออ่านมาบอก แกก็ไปฉวยเอาหนังสือพิมพ์ประมวญวัน วันที่ ๑๖ มาให้ บอกว่ามีอยู่ในนั้น เปิดดูจ่าไว้ข้างต้นว่า “ต่อจากฉบับวานนี้” จึงเรียกร้องเอาฉบับวันก่อน เบื้องต้นนั้นได้ต้น แต่เบื้องปลายไม่ได้ปลาย มีแต่นิดเดียวลงท้ายว่า “ยังมีต่อไป” ดูไปถึง ๔ ฉบับก็ยังไม่จบ คือว่าลงพระราชบัญญัติตัดเอามาแต่วันละน้อย ไม่ได้แต่งใหม่ตามภาษาอังกฤษที่อ่านเก็บเอาความเข้าใจ ยิ่งไปกว่าที่ตรัสติโทษว่า “มีต่อหน้า” –– ไหนๆ ไปเสียอีก ที่ต้องดูหนังสือพิมพ์ไทยก็เพราะรู้ภาษาอังกฤษไม่ดี เปรียบเหมือนกินยาในเวลาเจ็บไข้ จะหวานหรือขมก็ต้องกลืน

มีข้อที่นึกขัน ด้วยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเข้าใจไม่ได้ดีจึงคิดว่าไว้อ่านภาษาไทย แต่เมื่อพบภาษาไทยกลับอ่านไม่เข้าใจยิ่งไปกว่าภาษาอังกฤษก็มี นี่จะโปรดว่ากระไร ได้เห็นบัญชีสอบไล่นักเรียน เขาบอกว่าตกภาษาไทยเป็นจำนวนมากก็นึกประหลาดใจเหมือนกัน อะไรเกิดเป็นไทยแล้วตกภาษาไทย เว้นแต่ไม่ทราบว่าโรงเรียนเขาสอนกันอย่างไร

๑๐) ได้ถามชายดิศแล้ว ถึงเรื่องพระมหามนตรี (ทรัพย์) กับเรื่องระเด่นลันได ได้ความตรงกันข้ามกับที่เดากราบทูลมา พระมหามนตรี (ทรัพย์) นั้นเธอไม่ทราบทีเดียวว่ามีเกี่ยวดองกับเธอ แต่เรื่องระเด่นลันไดนั้นได้อ่าน

๑๑) ลูกแกเอาไส้กรอกขนาดเล็กทำอย่างฝรั่งในเมืองไทยมาให้กิน สังเกตเห็นรูปร่างเป็นอันเหมือนกับไส้กรอกฝรั่ง แต่เมื่อกินแล้วเห็นน้ำเนื้อไม่เหมือน คือไส้งัวซึ่งหุ้มนอกหนากว่าของฝรั่งไปสัก ๔ เท่า กับเนื้อในก็เหนียวกว่าของฝรั่งไป ทำให้นึกถึงคำกรมหมื่นมหิศรว่าเนื้องัวเมืองฝรั่งกับเมืองไทยนั้นผิดกันมาก ทางเมืองฝรั่งเขาอ่อนนุ่ม ทางเมืองไทยเราเหนียวแข็ง ข้อนี้ทำให้นึกถึงโคนมฝรั่งซึ่งคิดจะเลี้ยงในเมืองไทยเห็นเป็นจะยาก ที่งัวในพื้นเมืองอะไรก็ผิดกันเป็นกองสองกอง ความเป็นไปที่ผิดกันย่อมจะต้องสู้อากาศที่ผิดกันได้

บรรเลง

๑๒) ร้านหรือบริษัทในเมืองไทย ทีจะต้องมีคำว่า “ไทย” อยู่ด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นทีก็จะไม่เป็นร้านหรือบริษัทในเมืองไทย พบคำหนึ่งเข้าก็รู้สึกสะดุดใจ ใช้คำว่า “บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย” ความตั้งใจที่ใช้คำว่า “ไทย” นั้นหมายจะให้เป็นบริษัทไทย แต่กลายไปเป็นว่ากระเบื้องทำด้วยกระดาษไทยก็ได้ควรจะกลับเสียเป็น “บริษัทไทยกระเบื้องกระดาษ” จะควรกว่า

๑๓) อีกเรื่องหนึ่งออกจะประหลาด หลานเล็กอยู่บ้านคนเดียวตุ๊ดตู่ไปโรงเรียน พ่อเขาจะไปทำงานหลานเล็กมันก็ร้องไห้ตาม พ่อเขาก็หนักพาตัวมาฝากให้ย่าไว้ ไม่ใช่แต่อยู่เรียบร้อยเปล่าๆ เท่านั้น ยังหัวร่อต่อกระซิกอะไรก็ได้ จะว่ากล่าวอะไรก็ฟัง จนแม่โตเห็นประหลาด ว่าไม่ได้เลี้ยงดูฟักฟูมอะไรมันมาเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นได้ ทั้งพ่อเขาก็เห็นประหลาด แม่โตแกนึกตามพระดำรัส ที่ว่าเลือดมันสืบเนื่องถึงกัน จะเป็นได้แต่อย่างเดียวเท่านั้น

๑๔) เห็นรูปเจ้าโคโนเย นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เขาลงในหนังสือพิมพ์ ไว้ “หนวดจุ๋ม” เต็มที่ คำว่า “หนวดจุ๋ม” นี่จำเขามาแต่หนังสือพิมพ์ พวกแขกเขาพูดถึงแขกอะไรคนหนึ่งซึ่งเกิดถ้อยร้อยความในเรื่องกล่าวโทษสุเหร่าแขกไว้ว่า “หนวดจุ๋ม” ไม่ต้องพูดมาก อาจเข้าพระทัยได้แล้ว

ข่าว

๑๕) เมื่อวันจันทร์เดือนนี้วันที่ ๒๐ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม มีปะปิดสองด้าน ไม่โกรธที่ถูกปะปิดมิได้ แต่ชอบสังเกตเท่านั้น จะกราบทูลตอบคราวหน้าเพราะคราวนี้ไม่ทัน.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ