วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ถึงวันอังคารแล้วยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์ ว่างอยู่เปล่าๆ ก็เขียนอะไรต่ออะไรกราบทูลบรรเลงไปก่อน

บรรเลง

อ่านหนังสือเรื่องพระพุทธบาทสระบุรีซึ่งได้แจกมา ในนั้นมีที่เขากล่าวถึงเจดีย์อย่างต่างๆ ไว้ ครั้นถึง “ธรรมเจดีย์” เข้าก็ “หูผึ่ง” เพราะได้จนมาทีหนึ่งแล้ว ด้วยผู้ตายสั่งไว้ให้ประจุอัฐิในธรรมเจดีย์ ไม่ทราบว่าธรรมเจดีย์ควรจะเป็นอย่างไร ถามใครก็ไม่มีใครบอกได้ จะว่าเป็นพระสถูปประจุคัมภีร์ก็เห็นจะไม่ใช่ การทำสังคายนาที่เขียนพุทธวจนะลงลานนั้นก็ทีหลังมากแล้ว แต่ก่อนก็เป็นแต่ช่วยกันจำ ในหนังสือที่อ่านเขากล่าวถึง “เย ธัมมา” ซึ่งขีดไว้ที่นครปฐม นึกตามไปก็ปรากฏว่าพบที่ขีดไว้กับพระสถูปก็มี ขีดไว้ในที่อันไม่เกี่ยวกับพระสถูปเลยก็มี จึงคิดตกลงใจว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ที่นั่นก็เป็นธรรมเจดีย์ เช่นพัดรองของฝ่าพระบาทซึ่งมีคาถา “สพฺพ ปาปสฺส อกรณํ” อยู่นั้น เป็นธรรมเจดีย์เต็มตัวทีเดียว ไม่จำเป็นต้องมีรูปพระสถูปอยู่เลย คำสั่งที่ว่าให้ฝังอัฐิไว้ในธรรมเจดีย์นั้น เพิ่งแปลออกว่าให้ฝังไว้ใต้แผ่นศิลาอันจารึกธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จะกราบทูลให้ทรงทราบละเอียดต่อไป ว่าคำสั่งนั้นเป็นของกรมพระสมมต ท่านเป็นผู้รู้ แต่ตรัสสั่งไว้ที่พนักงานกรมพระคลังข้างที่ เขา “แลไม่เห็น” เขาจึ่งมาปรึกษา เกล้ากระหม่อมก็พลอย “แลไม่เห็น” ไปด้วย เขาจึ่งไปทำเป็นปรางค์ จัดว่าใหญ่โตเกินการพระประสงค์คงเป็นแต่ให้ทำง่ายๆ ในพระดำรัสสั่งก็มีที่อยู่แล้ว ว่าให้ทำที่กุฏิซึ่งทรงสร้างไว้แล้วที่วัดมกุฎกษัตริยาราม

๒) อ่านหนังสือนั้น กล่าวถึงตำนานพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพตต้นเรื่องเป็นที่เมืองสาวัตถี แต่มาตั้งอยู่ดีในเมืองไทย นั่นเห็นทางได้ว่าเพราะคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นไทย สิ่งไรซึ่งเกี่ยวแก่พระพุทธเจ้าก็ต้องอยู่ในเมืองไทยนี้ ที่ยอมให้สิ่งซึ่งเกี่ยวแก่พระพุทธเจ้ามีในถิ่นอื่นไกลออกไป ก็เพราะพระพุทธเจ้าเหาะได้ซ้ำมีพระอินทร์คอยช่วยอยู่ด้วย

น่าประหลาดอยู่ที่ได้ยินว่ามี “วิษณุบาท” ประมูลอยู่กับ “พุทธบาท” เป็นแน่ ว่ามิใครก็ใครต้องเอาอย่างกันข้างหนึ่ง จะนึกเอาว่าพระพุทธเจ้าเกิดก่อนพระวิษณุแล้วตัดสินลงไปว่า “วิษณุบาท” เอาอย่าง “พุทธบาท” ก็ไม่ถนัด “พุทธบาท” อาจคิดทำประมูล “วิษณุบาท”ขึ้นทีหลังก็ได้ สำคัญที่รูปสลักหิน ถ้าอะไรมี มาก่อน อีกสิ่งหนึ่งก็เป็นทำประมูล ข้อสำคัญที่ทราบเลือนเต็มทีว่า “พุทธบาท” กับ “วิษณุบาท” ทางอินเดียเขาทำผิดกันอย่างไร แม้จะดูทางบาลีลายลักษณ์พระบาทก็แต่จักรกับตาร่างแห จักรก็หมายความว่าเป็นวงกลมๆ ร่างแหก็เป็นตาๆ ถ้าจะเก็บเอาคำอื่นทางเราเข้าประกอบก็มีแต่ลิ้นกวี เช่น

“ยังมีกินนร รำฟ้อนซ้อนกัน
นาคราชผาดผัน เล่นน้ำนที”

เป็นตัวอย่าง เป็นทีสิ่งที่ว่านั้นอยู่ในตาร่างแห และก็เอาไปนาบเข้ากับจำนวนซึมซาบ คือ ๑๐๘ ด้วย แต่ลางทีก็นับถ้วน ลางทีก็ขาด ลางทีก็มีรูปไม่เหมือนกัน ที่สุดรู้อะไรไม่ได้

๓) เรื่องมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ในหนังสือนั้นก็สนุกอีก เกล้ากระหม่อมไม่เชื่อว่าผนังข้างในประดับกระจกเงาทั้งแผ่นเต็มทั่วไป เห็นผิดวิสัยที่จะมีกระจกเงาแผ่นใหญ่ๆ เข้ามาให้ทำเช่นนั้นได้ กลัวจะหลงกล่าวไปตามฉันท์บุณโณวาทที่ว่า

“ผนังดาษกระจกแจ่ม ชวลิตดูงามเงา”

นี่ว่าตามที่จำได้ไม่มีฉบับสอบ ถ้าผิดไปบ้างแล้วขอประทานโทษ นึกว่าที่เขาว่านี้เขาตั้งใจจะพูดถึงผนังภายนอกด้วยซ้ำไป ที่เข้าใจดั่งนั้นก็เพราะตำแหน่ง พูดติดต่อไปกับฐานบัทม์ คิดว่าประดับกระจกบางตัดยัดพื้นลายอย่างธรรมดานั่นเอง แต่ฉันท์บุณโณวาทก็เป็นลิ้นกวีอยากพูดอะไรพูดไปไม่เป็นหัวเป็นหาง จะถือเอาว่าอย่างไรแน่ก็เป็นอันยาก จำได้ในความที่พูดถึงรูปยักษ์ ว่า

“อสูรทมูลแบก กระบองบิดก็กำยำ

ทำให้นึกถึงนายโมราแต่งล้อ ว่า

“อสุรสองตะบองแบก ทำขาแยกดูกำยำ”

นี่แกเข้าใจเอาเป็นยักษ์ยืนประตู คือ “ประตูยักษ์” ที่แท้จะหมายกล่าวถึงรูปยักษ์ที่ฐานบัทม์หรือยักษ์ยืนประตูก็ดี ไม่มีใครในโลกที่เขาทำรูปยักษ์ทั้งสองอย่างนั้นแบกกระบองกันเลย

ที่ท่านเจ้ามุ่ยกราบทูลว่ากระเทาะปูนออกเห็นผนังเก่าก่ออุดโค้งนั้น เป็นแก่นสารดีนัก เห็นเป็นแน่ได้ว่าเดิมเป็นมณฑปโปร่ง แล้วก่อแก้เป็นอุดทึบทีหลัง เสียดายที่ไม่ทราบว่าโค้งนั้นเป็นรูปอย่างไร คือถ้าเป็นโค้งกลมแล้วก็เป็นโค้งฝรั่ง น่าจะทำทีหลังแผ่นดินพระนารายณ์ ถ้าเป็นโค้งแหลมก็เป็นโค้งไทย อาจทำมาแต่ก่อนนั้นก็ได้ ที่ว่าเสียดายก็เพราะทราบไม่ได้ดี จะดูผนังเดิมก็ถือปูนทับเสียแล้ว จะถามท่านเจ้ามุ่ยก็ตายเสียแล้ว ตกเป็นอันไม่รู้ ในการก่ออุดนั้นนึกขึ้นมาได้วิหาร ใหญ่วัดมหาธาตุที่สุโขทัยก็เห็นจะก่ออุด เพราะเห็นเสาเป็นหินแลงผนังเป็นอิฐปูน แตกล่อนไปจึงได้เห็น น่าจะมีคราวๆ หนึ่งชอบโปร่งคราวหนึ่งชอบทึบ แต่ยังจับเอาเวลาไม่ได้

๔) ปรากฏในหนังสือนั้น ว่าสังฆราชแตงโมเป็นชาวเพชรบุรีแต่ที่ว่าเป็นผู้สร้างวัดใหญ่นั้นไม่เชื่อ การเป็นสังฆราชจะต้องเข้าไปเป็นที่กรุงเก่า การสร้างวัดที่เพชรบุรีจะสร้างได้ต่อเมื่อเข้าไปเป็นสังฆราชแล้ว สังเกตฝีมือลางสิ่งก็เก่าแก่มาก สงสัยว่าจะได้สร้างมาก่อนสังฆราชแตงโม ถ้าจะว่าท่านแตงโมอยู่ที่นั่นมาก่อน แล้วออกไปซ่อมทีหลังเมื่อได้เป็นสังฆราชขึ้นแล้วพอฟังได้ ข้อนี้ไขประแจให้แจ้งใจไปถึงรูปพระสังฆราชแตงโมซึ่งตั้งอยู่ในโบสถ์ด้วย ว่าเป็นของคนทีหลังทำขึ้นไม่ช้านัก โดยประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ ไม่ใช่ตัวท่านเองทำแต่ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ

สนองลายพระหัตถ์

๕) ในวันอังคารนั้นเองจนจวนค่ำแล้วก็ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๖ มีนาคม มีปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นต่อไปนี้

๖) “พระที่นั่งพุดตาน” มีปรากฏในโคลงว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงเลียบพระนครครั้งบรมราชาภิเษก ถ้าถูกอย่างเดาว่าองค์นั้นเป็นพุดตานวังหน้า พระที่นั่งพุดตานองค์นั้นก็ต้องมีมาแล้ว แต่ก่อนรัชกาลที่ ๒ องค์หุ้มทองจะเป็นของเกิดในรัชกาลที่ ๔ ได้ไม่ขัดข้อง

๗) นาม “สวรรค์ นรก” เคยจับเอาพระทัยกรมพระสมมตจนกระทั่งได้ทรงสังเกตในพุทธวจนะ ตรัสบอกว่าไม่มีพระพุทธเจ้าได้ตรัสออกนาม “สวรรค์ นรก” แต่สักแห่งเดียว มีแต่ตรัสเรียก “สุคติ ทุคติ” อันจะหมายถึงโลกนี้หรือโลกหน้าก็ได้ ถ้าถือเอาตามความพอพระทัยของฝ่าพระบาท ซึ่งทรงพิจารณาสวรรค์นรกในโลกนี้อยู่ก็ลงกันได้ อนึ่งตามที่เคยเขียนกราบทูลมาถึงพระยาพิพัฒโกษาว่าชื่อเดิมชื่อ ตีโนซาเวีย นั้นผิด เก็บเอาที่เขาเรียกตัดมาเขียนกราบทูล ที่แท้เขาชื่อ เสเลสติโน ก็คือสวรรค์คำนี้เอง

๘) ตรัสถึง “นุนู” นึกเสียดายเป็นล้นพ้น แกมีความคิดแปลกๆ เคยได้ยินแกพูดว่าผู้ดีนั้นปากเล็กแต่ท้องใหญ่ จะทำอะไรให้ผู้ดีกินต้องทำจานโตๆ แต่ต้องเป็นชิ้นเล็กๆ ความเห็นอย่างนี้ ถ้าเขียนไปลงหนังสือพิมพ์ก็จะเป็นข้อขำมาก การเขียนเรื่องส่งไปลงหนังสือพิมพ์นั้นทราบอยู่ว่าแกทำ แต่ที่ส่งไปให้ “ถลกวิทยา” นั้นไม่ทราบ

๙) พระยาสีหราชฤทธิไกรนั้น เขาลงชื่อมาในใบดำว่าเป็นลูกพระยาประชุมประชานารถ ไม่มีที่สงสัย แต่ที่เขาชื่อ ชวย นั้น เกล้ากระหม่อมไม่ทราบ เป็นแต่รู้จักตัวเขา

๑๐) พระรูปฝ่าพระบาทของพระเจนจีนอักษรนั้น ควรแล้วที่แกจะถือเอาว่าเป็นของสำคัญของแก และที่ทรงพระเมตตาทรงเซ็นประทานทั้งประทานพระรูปใหม่ด้วยนั้นเป็นดีล้ำเลิศ พระนิพนธ์นิทานโบราณคดีเรื่องอั้งยี่นั้น ได้ส่งให้พระยาอนุมานไปแล้วตามรับสั่ง

๑๑) เรื่องพระแท่นสิงหาสน์เมืองพม่านั้น ดูเป็นการใหญ่ยากลำบากเต็มที ถ้ามีพระประสงค์เพียงแต่จะส่งประทานไปเท่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งเต้นเลย เพราะได้โปรดประทานไปแล้ว แต่ถ้าจะตรัสอ้างถึงอะไรซึ่งเกี่ยวแก่พระแท่นองค์นั้นตรัสอ้างไปเฉยๆ ก็พอจะทราบได้ตามที่ได้กราบทูลมาแล้ว

๑๒) นกเอี้ยงดำนั่นแหละเป็นนกเอี้ยงแท้ นกเอี้ยงม่วงเขาว่านกสาริกาดง นกชื่อนั้นนักเลงเลี้ยงนกอย่างต่างๆ เป็นกรงใหญ่เขาบอกว่ามันกินนกด้วย ถ้าจริงก็คงเป็นกินนกเล็กซึ่งไม่ใหญ่กว่าตัวนั้น อันสัตว์ต่างๆ ย่อมข่มเหงซึ่งกันและกันเป็นธรรมดา เมื่อมีนกที่จะข่มเหงคะเนงร้ายมา นกซึ่งจะถูกข่มเหงก็หลบไปอยู่ในที่อันจะไม่มีภัย เมื่อกราบทูลถึงเรื่องนก “พรัมเม ดูกรมหาพราหมณ์ เราจะพรรณนาถึงเรื่องนก” ก็มาผุดขึ้นในใจ เล่นเอาต้องหยุดกราบทูลเพราะกลัวจะเป็นแหล่มหาพน แต่อดไม่ได้ นก “สาริกา” เข้าใจว่าคือนกขุนทอง นกขุนทองกับนกเอี้ยงก็เป็นชนิดเดียวกัน ที่เรียกนกเอี้ยงม่วงว่านกสาริกาดงนั้นก็ดูเหมาะแล้ว ด้วยมันเป็นนกชนิดเดียวกัน ต่างกันแต่สีและขนาด เดิมนกสาริกาดงทีจะมีแต่ในป่า ทีหลังจึงเข้ามาสู่บ้าน

ข่าวเบ็ดเตล็ด

๑๓) ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดฝากส้มจัฟฟาประทานเข้าไปนั้น ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ นึกว่าจะไม่ได้กินอีกแล้วก็ยังอุตส่าห์มีมาให้กินได้

๑๔) สำนักพระราชวังส่งหมายพระราชพิธีวันที่ระลึกมหาจักรีมาให้ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งกำกับมาให้ด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพี่อทรงทราบฉบับหนึ่ง พยัอนด้วยหนังสือนี้แล้ว

๑๕) เมื่อวันที่ ๒๘ ที่แล้วมา เห็นก้อนอะไรตกอยู่ที่พื้นเฉลียงตำหนักสำคัญว่าก้อนกรวด เพราะเกล้ากระหม่อมเก็บไว้เสมอจึ่งก้มลงเก็บ แต่หาใช่ไม่เป็นเปลือกไข่แตก ดูเป็น ๒ ใบ เพราะครึ่งหนึ่งแตกตามขวาง อีกครึ่งหนึ่งแตกตามยาว ตกอยู่คนละแห่ง ประมาณว่าตามยาวราว ๑๕ มม. ตามขวางยาว ๑๒ มม. ไม่ทราบว่าไข่อะไรจึ่งให้ไปเที่ยวสืบถาม ได้ความว่าไข่นกจอก ที่มาแตกตกอยู่ก็ทีมันจะมาไข่ไว้ในม้วนมู่ลี่ “นิจจาเอ๋ย” นกจอก ช่างเขลาเสียเหลือใจ มาไข่ไว้ในม้วนมู่ลี่ เมื่อคลี่ออกไข่ก็ตกแตกกันเท่านั้น

พูดถึงนกจอกก็คิดถึงพระสารสาสน์คนที่เลี้ยงนกจอก จำโคลงของท่านมาได้บาทหนึ่งว่า

“จอกเอ๋ยเคยเสพเข้า ของทาน”

เก่าแก่เต็มที.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ