วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เขาเชิญลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ซึ่งมาคราวเมล์วันพฤหัสบดีมาส่งหม่อมฉัน ณ วันเสาร์ที่ ๑๕ เวลาเช้า นับว่าได้รับตรงตามกำหนด

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันเคยได้คิดวินิจฉัยว่าการประทักษิณนั้น คือ กิริยาให้เบื้องขวาแก่บุคคลหรือวัตถุที่เคารพ เช่นเดินเทียนจึงเดินไปทางซ้าย เพื่อให้เจดีย์วัตถุอยู่ทางขวา แต่ไฉนแห่ศพเวียนเมรุจึงเวียนไปทางขวากลับกันกับประทักษิณ นึกขึ้นว่า หรือเขาจะหมายว่าผู้ตายอำลาขะมาญาติอันตั้งวงอยู่ข้างนอก ด้วยให้เบื้องขวาของศพแก่ญาติเมื่อผ่านไปดอกกระมัง เป็นแต่เคยคิดอย่างนี้เพราะไม่เห็นมีเวียนซ้ายในการอย่างอื่นนอกจากเวียนศพ แต่ต้องมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นก็คงไม่เวียน

๒) พระที่นั่งพุดตานนั้น หม่อมฉันไม่ได้นึกถึงที่มีจดหมายเหตุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเลียบพระนคร ทรงพระที่นั่งพุดตาน จึงสำคัญว่าทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นที่ทูลสันนิษฐานไปเป็นอันผิด ที่ถูกพระที่นั่งพุดตานต้องมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ หรืออาจจะมีแบบมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำไป ต้องคิดวินิจฉัยใหม่ หม่อมฉันเห็นอย่างเดียวแต่ว่าสร้างพระที่นั่งพุดตานให้เป็นยานมาศเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินทรงได้แต่พระองค์เดียว แปลกกับยานมาศสามัญซึ่งเจ้านายชั้นสูงอาจจะทรงได้ เช่นเมื่อแห่โสกันต์หรือแห่ไปทรงผนวช แต่พระที่นั่งพุดตานที่มีอยู่ ๒ องค์นั้น หม่อมฉันนึกว่าองค์ที่เรียกว่า “พระที่นั่งพุดตานวังหน้า” เห็นจะมีขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์หุ้มทองคำนั้นทูลกระหม่อมคงทรงประดิษฐ์ขึ้นให้วิเศษกว่าของวังหน้า เพื่อรักษาหลักเดิมที่ว่าทรงได้แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่อธิบายที่ทูลมาหาพบในหนังสือไม่

๓) สวรรค์ นรก และสิ่งอื่นๆ อันมนุษย์แลเห็นไม่ได้ แต่เชื่อว่ามีนั้นล้วนตกอยู่ในความของมนุษย์ จะสมมติตามใจว่ารูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไรทั้งนั้น ถือกันว่าเมืองสวรรค์เป็นสุข มนุษย์ต่างชาติก็สมมติว่าเมืองสวรรค์เป็นอย่างไรไปต่างๆ ตามความสุขซึ่งคนนิยม แต่รวมความเป็นอย่างเดียวกันหมด ว่าอะไรที่คนไม่ชอบใจใช้เวลานี้ไม่มีในเมืองสวรรค์ อะไรที่คนชอบใจมีในเมืองสวรรค์หมด นรกก็เช่นเดียวกันข้างฝ่ายตรงข้าม นี่ว่าโดยทางนามธรรม ยังมีทางรูปธรรมต่อมาด้วยคนเขียนรูปภาพสวรรค์นรกเลยเกิดเชื่อกันว่า สวรรค์นรกเป็นอย่างรูปภาพ หม่อมฉันนึกได้ถึงเรื่องในหนังสือถลกวิทยา ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เขาว่านุนูแต่งส่งไป) เรื่อง ๑ แต่งเป็นคำเทวดาบนสวรรค์อย่างเขียนผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ บ่นถึงความรำคาญต่างๆ ที่ต้องทรงเครื่องใส่ชฎาอยู่เสมอและที่อยู่ในวิมานเล็ก เข้าออกลำบากเป็นต้น เรื่องนั้นคนชมกันมาก ทางฝรั่งแต่งก็มีว่าพลเมืองสวรรค์มีแต่เทวดาใส่เสื้อขาวกรอมถึงข้อเท้า ถือช่อดอกไม้เดินร้องเพลงสวดวันยังค่ำๆ ไม่เห็นว่าจะเป็นสุขสบายอย่างไร ว่าโดยย่อมันก็เกิดแต่ความเชื่อของมนุษย์แล้วพากันหลงเลยไปทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านเคยว่า พิจารณาสวรรค์นรกดูในโลกนี้เองจะดีกว่า หม่อมฉันเห็นชอบด้วยกับท่าน

๔) ที่ตรัสถามอธิบายเรื่องเครื่องต้นนั้น หม่อมฉันขอประทานผัดตรวจหนังสือก่อน จะทูลต่อในจดหมายฉบับหน้า

๕) พระยาประชุมประชานารถ (ม.ร.ว. ชาย ฉัตรกุล) นั้น เป็นลูกหม่อมเจ้ากลางในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระยาสีหราชฤทธิไกร เป็นหม่อมหลวงชื่อ ชวย ฉัตรกุล เห็นจะเป็นลูกของพระยาประชุมฯ หม่อมฉันรู้จักทั้ง ๒ คน

๖) ทราบว่าพระเจนจีนอักษรถึงแก่กรรม หม่อมฉันรู้สึกอาลัยเสียดายมาก แกเป็นคน “ตงฉิน” อย่างเต็มตำรา ความสามารถและคุณความดีของแกมีมาอย่างไร ท่านทรงทราบอยู่แล้ว จะทูลแต่ข้อขำที่แกเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันอย่างแปลก วันหนึ่งเมื่อแกยังเป็นหลวงเจนจีนอักษรเอารูปฉายตัวหม่อมฉันรูป ๑ มาขอให้เซ็นชื่อให้ หม่อมฉันเห็นเป็นรูปเก่าฉายแต่เมื่อยังเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก ทั้งดูเปื้อนเปรอะปู้ยี่ปู้ยำ หม่อมฉันจึงว่าจะให้รูปใหม่ให้ดีกว่านั้น แกว่าขอเซ็นในรูปแผ่นนั้นด้วยเป็นของสำคัญของแก หม่อมฉันประหลาดใจ ถามว่าสำคัญอย่างไร แกจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนแกจะเข้ารับราชการนั้น วันหนึ่งนั่งอยู่ที่หน้าร้านในสำเพ็ง ฝนตกน้ำไหลในท่อน้ำริมถนน แกเห็นกระดาษลอยมาในน้ำไหลหยิบเอาขึ้นมาดูเป็นรูปฉาย แกเอาไปถามคนอื่นว่ารูปใคร เขาบอกว่ารูปหม่อมฉัน แกก็นึกว่าชะรอยเทวดาจะแสดงนิมิตให้แกเข้ารับราชการอยู่ด้วยกันกับหม่อมฉัน จึงเข้าไปขอสมัครทำงานในหอพระสมุดฯ แต่เมื่อยังตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัย ก็มีความเจริญต่อมาจนตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่ง จึงถือว่ารูปฉายแผ่นนั้นเป็นของมงคลในประวัติของแก หม่อมฉันก็ต้องยอมเซ็นให้และให้รูปใหม่อีกแผ่น ๑ พระเจนฯ ได้ออกมาเยี่ยมหม่อมฉันที่ปีนังเมื่อปีก่อน เห็นแกเป็นครั้งสุดท้ายครั้งนั้น

๗) เหตุที่พระเจนฯ ตาย ทำความลำบากเกิดขึ้นอย่าง ๑ ด้วย หม่อมฉันเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องอั้งยี่ขึ้นอีกเรื่อง ๑ ส่งไปถวายท่านแต่ผ่านกับลายพระหัตถ์นี้ หม่อมฉันได้ทูลไปขอให้ทรงสั่งพระเจนฯ ช่วยตรวจคำภาษาจีนที่ใช้ในนิทานนั้นด้วย แต่เมื่อพระเจนฯ ตายเสียแล้วก็ไม่รู้ที่จะวานใคร นึกว่าพระยาอนุมานฯ เขาเคยแต่งหนังสือใช้คำจีนมาหลายเรื่อง เขาเห็นจะมีใครเป็นที่ปรึกษา หม่อมฉันจะวานพระยาอนุมานฯ ให้เป็นธุระ เมื่อท่านทรงอ่านนิทานนั้นแล้ว ขอได้โปรดประทานไปยังพระยาอนุมานฯ หม่อมฉันมีจดหมายวานเขาส่งไปในคราวเมล์เดียวกับจดหมายนี้แล้ว

เบ็ดเตล็ด

๘) จะทูลเรื่องรูปฉายเศวตฉัตร์ ที่ปทุมมาศบัลลังก์ ณ เมืองมัณฑะเลต่อไปด้วยเรื่องมันพิลึกดังนี้ หญิงพูนเอารูปไปบอกอธิบายเพื่อขออนุญาตต่อพนักงานตรวจจดหมาย เขาตอบว่าเขาไม่รังเกียจอย่างไร แต่มีข้อบังคับขึ้นหลายเดือนมาแล้วว่าการจะส่งรูปภาพต่างๆ ออกจากเมืองและเอาเข้าเมือง ต้องให้นายห้างใดห้างหนึ่ง (ซึ่งเขาไม่รังเกียจ) ขออนุญาต ข้อบังคับนั้นยังใช้อยู่ เขาจึงไม่มีอำนาจที่จะให้ส่งรูปฉายนั้นแนบไปกับจดหมายของหม่อมฉัน เพราะฉะนั้นจึงยังลำบากถ้าจะส่งรูปนั้นไปถวายจะต้องวิ่งเต้นเที่ยวสืบหาว่าวานนายห้างต่อไปอีก หญิงพิลัยเธอว่ารูปนั้นดูเหมือนหม่อมฉันเคยส่งไปถวายนานมาแล้ว จึงงดการที่จะส่งรูปฉายนั้นไปถวาย

๙) เมื่อสัก ๓ วันมานี้ หม่อมฉันนั่งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน เห็นนกเอี้ยงดำมันพากันมาหากินที่ในสนามนั้น นึกขึ้นถึงโบราณคดีว่า แต่เดิมนกเอี้ยงที่เคยเห็นในกรุงเทพฯ เป็นนกเอี้ยงดำทั้งนั้น ครั้นภายหลังมาเปลี่ยนเป็นนกเอี้ยงสีน้ำตาลไปหมด ทางแหลมมลายูแต่ก่อนก็มีนกเอี้ยงแต่สีน้ำตาล เดี๋ยวนี้กลับเปลี่ยนเป็นนกเอี้ยงสีดำ มันเปลี่ยนถิ่นกันทั้งพันธุ์ดูน่าพิศวง ใช่แต่นกเอี้ยงอย่างเดียว แต่ก่อนมากาที่เมืองเพชรบุรีเป็นพันธุ์ตัวขนาดเล็กสีน้ำตาลเรียกกันว่า “แก” ท่านคงทรงจำได้ กาที่แหลมมลายูก็มีแต่อย่าง “แก” นั้น แต่เดี๋ยวนี้แกหายไปหมดทั้งในเมืองไทยและแหลมมลายู มีแต่กาดำเหมือนกันแต่อย่างเดียว ดูก็น่าพิศวงที่นกเอี้ยงเปลี่ยนถิ่นกัน และแกถูกไล่หรือสมัครทิ้งถิ่นไปอยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ จะเป็นเพราะเหตุใด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ