วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

๑) การรับลายพระหัตถ์เวรสัปดาหะนี้แปลกประหลาดอีก ถึงวันศุกรที่ ๑๔ พฤศจิกายน เวลากลางวันเขาเชิญลายพระหัตถ์เวรซึ่งมาถึงเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีมาส่งตามเคย แต่คราวนี้ส่งพร้อมกัน ๒ ซองทั้งซองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๔ และฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เป็นอันได้ความจริงว่า ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๔ คว้างเคว้งอยู่ในเมืองไทยสัปดาหะ ๑ แล้วจึงส่งมาถึงเมืองปีนังเมื่อคราวเมล์วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ทางหม่อมฉันก็คอยลายพระหัตถ์รำคาญอยู่ทั้งสัปดาหะ ถึงบ่นสั่งหญิงแก้วให้ไปทูล เป็นอันสิ้นรำคาญแล้วจึงทูลมาให้ทรงทราบ

สนองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๔

๒) รูปพระปรางค์นั้น หม่อมฉันสังเกตว่าเขมรได้แบบมาจากอินเดีย ไทยได้แบบปรางค์เขมรมาแก้ ทำเป็นรูปกลีบบัว (ที่เรียกกันว่า-กลีบขนุน) ประดับองค์ปรางค์ให้เข้าคติพระพุทธศาสนา แทนช่องวิมานซึ่งปรางค์เขมรทำตามคติศาสนาพราหมณ์ จึงมีชื่อเรียกกันว่า-ปรางค์ไทย เช่นที่ทำกันเป็นสามัญอย่าง ๑ เรียกว่า-ปรางค์เขมร เช่นที่ทูลกระหม่อมโปรดให้สร้างที่วัดราชประดิษฐ์องค์ ๑ กับที่บนยอดเขามไหสวรรย์เมืองเพชรบุรีแห่ง ๑ ยังมีพระปรางค์ไทยแปลกออกไปอีกอย่าง ๑ ทำองค์ปรางค์เป็นเฟือง เห็นทำพระมหาธาตุเมืองสรรค์องค์ ๑ และทำพระปรางค์รายไว้ที่วัดมหาธาตุเมืองลพบุรีอีกองค์ ๑ หรือ ๒ องค์ ไม่เห็นมีที่อื่นอีก จะได้แบบมาแต่ไหนยังไม่ทราบ

๓) เมืองต่างๆ ในมณฑลพิษณุโลกในสมัยเมื่อไทยแรกลงมาปกครอง เรียกชื่อเป็นภาษาไทยแทบทั้งนั้น เช่นเมืองบางยาง เมืองราด เมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองทุ่งยั้ง เมืองบางยม เมืองลุ่ม เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร เมืองพระบาง เมืองแพรก มีเรียกชื่อเก่าก่อนขึ้นไปไม่รู้ว่าภาษาอะไร ๒ เมือง คือ เมืองเชลียงเมือง ๑ เมืองชากังราวเมือง ๑ มีเมืองที่เรียกชื่อเป็นภาษาสังสกฤตแต่ ๓ เมือง คือ เมืองสุโขทัย ซึ่งเขมรตั้งเป็นเมืองหลวงสำหรับปกครองหัวเมืองเหนือ มีปราสาทหินวัดพระพายหลวงที่เขมรสร้างไว้เป็นสำคัญว่าเขมรตั้งปกครองอยู่ที่นั่นนาน ถึงสร้างปราสาทหินได้สำเร็จ ประเพณีเขมรชอบใช้ภาษาสังสกฤตตามคติพราหมณ์จึงน่าจะเป็นเขมรตั้งชื่อเมืองนั้นว่า “สุโขทัย” หมายความว่า “เป็นที่เกิดความสุข” มิใช่ “ให้ชนชาติไทยเป็นสุข” อีกเมือง ๑ คือ เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งราชวงศ์พระร่วงสร้างขึ้นแทนเมืองเชลียงที่ถูกน้ำเซาะพังไปเสียมาก สร้างในสมัยเมื่อไทยเอาอย่างประเพณีเขมรมาใช้มากแล้ว จึงให้ชื่อเมืองเป็นภาษาสังสกฤต อีกเมือง ๑ คือ เมืองคณฑี อยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร แต่เห็นจะชื่อบาง ซึ่งยังเรียกกันอยู่จนเดี๋ยวนี้ว่า “บางคณฑี” มาให้ชื่อเมือง เช่นเมืองบางละมุงในชั้นหลัง ชื่อเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก พิจิตร นครสวรรค์ เหล่านี้ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น

๔) คำที่เรียกชื่อว่า หันแตร และ บลัดเล เป็นคำจำพวกเดียวกับเรือล่องบด ตั้งใจจะเรียกตามคำภาษาฝรั่ง เรียกไม่ชัดก็แปรไปหาภาษาไทยตามสะดวกปาก คำภาษาสังสกฤตที่เอามาใช้เป็นชื่อเช่นโทรเลขและไปรษณีย์นั้นเป็นของใหม่ เมื่อแรกมีโทรเลขเรียกชื่อตามภาษาฝรั่งว่า-เตเลกราฟ แต่แปรไปเป็น-ตะแล๊บแก๊บ ไปรษณีย์เมื่อกงสุลอังกฤษยังเป็นเจ้าของ เพราะส่งหนังสือไปต่างประเทศทางเมืองสิงคโปร์และฮ่องกง ใช้ตั๋วตราของเมืองสิงคโปร์มีอักษร B พิมพ์เพิ่มหมายว่าบางกอก ใช้กันแต่พวกฝรั่ง ก็เรียกกันตามภาษาอังกฤษว่า โปสต์ เรียกตั๋วตราว่า แสตมป์ ครั้นเมื่อแรกจัดการไปรษณีย์ของไทยขึ้น โปรดให้สมเด็จพระราชปิตุลาเป็นอธิบดี ท่านตรัสเผดียงให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) คิดชื่อ จึงเกิดคำไปรษณีย์และโทรเลขแต่นั้นมา หนังฉายนั้นเดิมไทยเราเรียกว่า “หนังญี่ปุ่น” เพราะญี่ปุ่นเอาเข้ามาเล่นในกระโจมผ้าตั้งที่ลานนครเกษมก่อน ครั้นชาวกรุงเทพ ฯ ตั้งเล่นบ้างจึงเรียกว่า “ภาพยนต์” มาจนเกิดมีโรงเล่นแพร่หลายจึงเรียกกันว่า “หนังฉาย” สืบมา

มีเรื่องเตร็จเกิดแต่เรียกชื่อฝรั่งมาแต่ก่อนเรื่อง ๑ เล่ากันมาว่า ครั้งรัฐบาลอังกฤษให้ เซอร์ เจมสบรุก Sir James Brooke เป็นทูตมาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ทรงได้ยินกรมท่าทูลว่าชื่อ “เยมสัปรุษ” ตรัสว่าชื่อเสียงเป็นสัปรุษจะเป็นคนใจดีดอกกระมัง นี่เป็นแต่เรื่องเล่า ทีนี้ถึงเรื่องจริง ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าเอง ว่าเมื่อพระองค์แรกเสวยราชย์ เซอร์ เจมสบรุก เป็นราชาเมืองสรวักที่เกาะบอร์เนียว มีหนังสือมาถวายพร ทรงหนังสือนั้นแล้วทรงเขียนหนังสือว่า “จดหมายเซอร์ เจมสบรุก” ที่บนหลังซองวางไว้ข้างที่ ในวันนั้นเสด็จออกขุนนางแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาเข้าไปเฝ้าที่พระฉาก ตรัสสั่งเจ้าพระยานรรัตน์ (โต) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี ให้ไปเรียกเอาหนังสือซึ่งทรงเขียนลายพระหัตถ์ไว้ที่หลังซองว่า “หนังสือเซอร์เจมสบรุก” มาจากข้างในจะพระราชทานให้สมเด็จเจ้าพระยาดู ด้วยท่านเคยรู้จักตัวเซอร์เจมสบรุก แต่รอคอยอยู่เท่าใดก็ไม่ได้หนังสือ เมื่อเสด็จขึ้นตรัสถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เวลานั้นเป็นพระสนมเอกพนักงานรักษาหนังสือข้างที่ ว่าค้นหนังสือเซอร์เจมสบรุกไม่พบหรือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กราบทูลว่า คุณเพียนเถ้าแก่ไปบอกว่าต้องพระราชประสงค์หนังสือซึ่งเขียนลายพระหัตถ์ไว้หลังซองว่า “ครือคะรึ” ค้นไม่พบก็จนใจ ได้ทรงฟังดังนั้นถึงวันรุ่งขึ้นจึงตรัสต่อว่าเจ้าพระยานรรัตน ฯ ว่า อย่างไรจึงไปเรียกหนังสือนั้นว่าครือคะรึ เจ้าพระยานรรัตน ฯ กราบทูลปฏิเสธว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไมได้เรียกว่าครือคะรึ ไปบอกคุณเพียนเถ้าแก่ว่าหนังสือ “ซีจำปลุ๊ก” ตามรับสั่ง ก็เลยเป็นเรื่องขันเข้าตำนาน

๕) สัตว์เดียรัจฉานที่มนุษย์อาจจะหัดให้ทำอะไร ๆ ผิดวิสัยของมันได้มีหลายอย่าง จนกระทั่งตัวหมัดก็หัดให้เล่นละครได้ แต่ไม่เคยเห็นใครหัดวัวให้ทำอะไรได้นอกจากลากขน คงเป็นเพราะมันโง่กว่าสัตว์อย่างอื่น สังเกตดูเมื่อนั่งรถไปพบมันในท้องถนนก็พิสูจน์ได้ ที่พวกฮินดูเคารพนบนอบวัวก็คงมาแต่ได้กินน้ำนมของมันประกอบกับที่ได้ใช้แรงงานมันเป็นผล เพราะได้รับประโยชน์จากวัวยิ่งกว่าสัตว์อื่น จึงยกย่องเลยๆไปจนถึงเป็นพระนนทิการ ๆ คงเขลาเป็นแน่

๖) จะทูลความเป็นอนุสนธิเนื่องจากวิตะมินต่อไปอีก ท่านเคยตรัสปรารภมาในลายพระหัตถ์ฉบับ ๑ ว่า มีผู้เห็นว่าควรจะปลูกข้าวสาลีทาขนมปังกินในเมือง ไทยแทนข้าว หม่อมฉันเพิ่งได้เห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ฉบับออกเมื่อวันเสาร์ที่ ๘ พฤศจิกายนนี้ว่า ตั้งแต่เกิดสงครามมา ที่เมืองมลายูและเมืองไทยหาแป้งสาลีทำขนมปังยากขึ้นทุกที เพราะเรือบรรทุกข้าวสาลีมาจำหน่ายจากต่างประเทศมีน้อยลง เกรงว่าจะเกิดขาดแคลน มีหมอคนหนึ่งชื่อ แบลคมอร์ Blakemore ผู้เป็นตำแหน่งแพทย์อำนวยการอนามัยที่เมืองสิงคโปร์ คิดว่ารำที่สีเอาออกจากเมล็ดข้าวมีธาตุสำคัญในสรรพคุณของอาหารอยู่หลายอย่าง เช่นวิตะมินเป็นต้น น่าจะเป็นอาหารมนุษย์ได้ แต่คนใช้รำเพียงเลี้ยงหมูเท่านั้น จึงลองประสะรำทำเป็นแป้งอย่างแป้งสาลี แล้วทำเป็นขนมปังกินมาเองกว่า ๒ เดือนแล้ว สังเกตดูก็เกิดกำลังวังชาดี เดี๋ยวนี้ที่เมืองสิงคโปร์กำลังมีผู้ลงมือทำแป้งรำอยู่แล้ว จะเอาออกจำหน่ายเดือนธันวาคมนี้ ดูก็เป็นข่าวดีอยู่ ถ้าเป็นจริงอย่างว่ารำก็จะเกิดเป็นสินค้าคู่กับข้าว ส่วนชาวเมืองเราใครจะชอบกินข้าวสุกหรือจะชอบกินขนมปังก็ไม่ต้องเลิกทำนา เพราะข้าวอาจจะทำได้ทั้ง ๒ อย่าง

๗) คำว่า “ดินสอ” นั้น คิดหามูลออกฉงน ด้วยคำ “ดิน” เป็นภาษาไทย คำ “สอ” เป็นเขมร ถ้าเป็นของไทยประดิษฐ์ขึ้นไฉนไม่เรียก “ดินขาว” เหมือนเช่นเรียกดินแดงที่ใช้ทาฝาเรือน ถ้าเป็นของเขมรประดิษฐ์ไฉนไม่เรียกคำดินตามภาษาเขมร ถ้าจะลองเดาดูมูลเหตุ เห็นว่าเดิมไทยจะเขียนหนังสือแต่ด้วยเส้นดำน้ำหมึกตามแบบจีน มาได้วิธีเขียนเส้นขาวจากเขมร จึงได้คำ “สอ” ติดมาด้วย ก็สอนั้นได้มาจากดิน เป็นดินก้อนเทือกหินอะไรอย่าง ๑ เป็นดินผงเอามาเกรอะทำเป็นแท่งอย่าง ๑ จึงเรียกว่า “ดินสอหิน” และ “ดินสอพอง” เป็น ๒ อย่าง ต่อมาเอาเขม่าปั้นเขียนเส้นดำเหมือนอย่างใช้ดินสอขาว จึงเรียกว่าดินสอดำ ดินสอแดงและสีอื่นเพิ่งจะมีใช้เมื่อเร็วๆ นี้ ก็พลอยเรียกว่า ดินสอตามไปด้วย คำว่า ดินสอ จึงหมายความแปรไปเป็นถรรพสัมภาระสำหรับเขียนหนังสือด้วยประการฉะนี้

๘) นายปานขลิกนั้น เป็นลูกพระยาวงศาภูสิต (นึกชื่อตัวไม่ออก) พระยาวงศาภูสิตเป็นลูกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ จึงอยู่ในสกุลบุนนาค แกเป็นนายสิบเอกทหารมหาดเล็กกองร้อยที่ ๖ เมื่อหม่อมฉันเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ในกองร้อยนั้นเคยคุ้นกัน แกเป็นพี่หลวงศิลปสารสราวุธ (เล็ก) นายร้อยโทกองร้อยที่ ๕ ซึ่งไปขึ้นหาผู้หญิงที่บ้านพระสาครฯ แล้วถูกตีตายในแม่น้ำ เป็นคดีอื้อฉาวอยู่คราวหนึ่ง

จะทูลเรื่องเตร็จในเรื่องชื่อสกุลบุนนาคต่อไป - เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาคมีบุตร ๓ คน คนที่ ๑ เกิดด้วยภรรยาเดิม คือ พี่น้องเจ้าจอมมารดาตานีของกรมหมื่นสุรินทรรักษา ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังนั้น เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด) อยู่ในสายบุตรคนที่ ๑ นั้น บุตรคนที่ ๒ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนที่ ๓ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เกิดด้วยเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ์นวลทั้ง ๒ คน เมื่อจะตั้งประเพณีใช้นามสกุล เจ้าพระยาภาส ฯ ขอใช้นามสกุลว่า “บุนนาคนวล” เพราะรังเกียจพวกที่สืบสายลงมาจากบุตรคนที่หนึ่ง ว่ามิได้เป็นราชินีกุล เจ้าพระยาราชศุภมิตรขัดใจเลยกราบทูลขอพระราชทานนามอื่นเป็นนามสกุล ไม่เป็นสกุลบุนนาค สมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ก็พระราชทานนามสกุลว่า “ศุภมิตร” พวกเชื้อสายสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์ จึงใช้นามสกุลแต่คำว่า “บุนนาค”

สนองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๑

๙) เหตุที่คนต่างถิ่นพูดสำเนียงผิดกันและเรียกของบางอย่างต่างกันนั้น เป็นธรรมดาของมนุมย์ เป็นอย่างนั้นทุกประเทศ และยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ว่าแต่เฉพาะเมืองไทย แม้ในสมัยรุ่นตัวเราก็ยังเคยได้ยินชาวเมืองสุพรรณ เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองนครราชสีมา เมืองนครศรีธรรมราช พูดสำเนียงผิดกันกับชาวกรุงเทพ ฯ ซึ่งพูดตามสำเนียงเช่นนั้นกันในกรุงศรีอยุธยาเมื่อเป็นราชธานี คิดหาเหตุก็เห็นได้ไม่ยาก เพราะแต่โบราณคนอยู่ต่างถิ่นไปมาถึงกันยาก โดยมากก็อยู่แต่ในถิ่นของตนสืบต่อพ่อลูกหลานมาหลายชั่ว เคยพูดกันด้วยสำเนียงอย่างไรหรือเรียกชื่อสิ่งใดว่าอย่างไร ก็เรียกกันอย่างนั้นเป็นปกติ ต่อทางคมนาคมสะดวกขึ้น ไปมาถึงกันมากขึ้น สำเนียงและถ้อยคำของพวกน้อยจึงเปลี่ยนแปลงตามไปกับพวกมาก โดยเฉพาะถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียนก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น พึงเห็นได้เช่นชาวเมืองสุพรรณและเมืองสมุทรสงคราม เดี๋ยวนี้ก็พูดเป็นสำเนียงกรุงเทพ ฯ หมดแล้ว เมืองเพชรบุรียังมีแต่ชาวบ้านป่าที่ยังพูดสำเนียงเดิมอยู่บ้าง ว่าถึงเปลี่ยนถ้อยคำที่พูดกัน หม่อมฉันนึกว่าชาวกรุงเทพ ฯ เองเห็นจะเปลี่ยนมากกว่าชาวเมืองอื่นๆ หากว่าเป็นราชธานี มิฉะนั้นก็น่าที่จะถูกพวกเมืองอื่นใส่ความว่าสัญญาไม่ปกติ

๑๐) หม่อมฉันขอถวายอนุโมทนาพระกุศล ซึ่งทรงบำเพ็ญโดยกตเวที สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อตรงวันประสูติ

๑๑) หญิงแก้ว หญิงนิด กับหลานแมว กลับไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ หญิงจงก็กลับไปพร้อมกัน ด้วยเธอได้มาอยู่ถึง ๓ เดือนแล้ว ดูสบายสมบูรณ์ดี หม่อมฉันคุยกับหญิงแก้วบางทีสนุกถึง “เกิ้กก้าก” จะทรงทายว่าสนุกเรื่องอะไรก็เห็นจะไม่ถูก เพราะเป็นแต่หม่อมฉันซักไซ้ไต่ถามถึงในวังวรดิศ เป็นต้นแต่ถามถึงสนามหญ้าและต้นไม้ที่หม่อมฉันได้ปลูกไว้ จนถึงเรือนหลังนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร คนนั้น ๆ เป็นอย่างไร เธอก็เล่าพรรณนาให้ฟัง หม่อมฉันได้ฟังพรรณนาถึงคนและของที่เคยรู้จักชินใจก็เกิดความรื่นรมย์ ยกตัวอย่างดังเช่นเล่าถึงต้นชมพู่สำลีว่ายังงามดี เมื่อลูกออกเธอไปลักถูกหลานรัศมีจับฟ้องพ่อ และพรรณนาถึงต้นลำดวนกับต้นบุนนาคที่หม่อมฉันปลูกไว้ ว่ายังออกดอกงอกงาม ถึงยายเพิงออกปากว่า หม่อมฉันไม่อยู่บูชาพระสะดวกขึ้น ดังนี้ ชายดิศเธอส่งลูกชมพู่สำลีมาให้หม่อมฉันเมื่อคราวเมล์หลัง เธอว่าปีนี้ออกน้อยไม่ดกเหมือนปีก่อน แต่หม่อมฉันสังเกตดูเห็นลูกโตถึงขนาด เห็นจะจริงอย่างเขาว่า ถ้าจะให้ลูกไม้ใหญ่ เมื่อแรกออกลูกต้องปลิดทิ้งเสียบ้าง ให้กำลังมันไปรวมอยู่ในจำนวนน้อยเข้าลูกจึงโต

๑๒) เมื่อหม่อมฉันทูลถึงแขกบรเทศไปในจดหมายฉบับก่อนแล้ว นึกว่าเคยเห็นเรียกชื่อแขกต่างจำพวกมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนว่าด้วยกรมท่า ไปพลิกดูก็พบมีเรียกว่า “พราหมณ์เทศ พวก ๑ แขกประเทศ พวก ๑ แขกชวา พวก ๑ แขกมลายู พวก ๑” พราหมณ์เทศนั้นคงหมายว่าพวกชาวอินเดียที่ถือศาสนาฮินดู แขกประเทศหมายว่าชาวอินเดียที่ถือศาสนาอิสลาม ยังเรียกกันชั้นหลังว่า แขกเทศ เพราะฉะนั้นแขกบรเทศหมายความว่าพวกชาวอินเดียที่ถือศาสนาอิสลามมิใช่อื่น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ