วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรอันควรจะมีเข้าไปกับรถไฟ ซึ่งเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ แต่รออยู่จนวันพุธก็ยังไม่ได้รับจึงเขียนอะไรต่ออะไรบรรเลงถวายก่อน เมื่อได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับนั้นแล้ว จึงจะเขียนคำสนองกราบทูลต่อไปในภายหลัง

รายงาน

๑) เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ ได้ไปเผาศพระยาวิเศษศุภวัตร ที่วัดไตรมิตร อารามอยากเห็นเลื่อนที่รับศพไปสู่เตา เขาบอกว่าเอาไว้ใต้ถุน จึงมุดใต้ถุนมุขกระสันเข้าไปดู ที่ใช้คำว่ามุดนั้นเพราะประตูเตี้ย เกล้ากระหม่อมจะเข้าต้องก้มหลัง เมื่อเข้าไปแล้วรอดก็พ้นหัวไม่ต้องก้ม ได้เห็นเลื่อนแต่ชั้นล่างชั้นเดียว ทำด้วยเหล็กล้วนเป็นอย่างโต๊ะสี่เหลี่ยมรี แต่รีไม่มากไม่เท่าหีบศพ ที่ปลายขาโต๊ะเป็นล้อเหล็กศูนย์กลางสัก ๑๐ เซ็นติเมตรเห็นจะได้ เขาบอกว่าข้างบนมีเลื่อนรับหีบศพซ้อนอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เห็นแล้วเขาก็อวดเครื่องกลไกสำหรับเผา เป็นส่งลมปนน้ำมันขี้โล้ขึ้นไปเขาว่าเหมือนเตาฟู่ ที่คิดว่าน้ำมันจะไหลขึ้นไปนอนอยู่ใต้กระทงเหล็กนั้นผิดไป

ได้ถามถึงโสหุ้ยเผาศพคนจน เขาบอกว่า ๔๐ บาท จะเป็นแต่ค่าเผาหรืออะไรด้วยไม่ทราบ แต่รู้สึกว่าคนจนจริงแล้วเผาไม่ได้

ในงานศพพระยาวิเศษศุภวัตรนั้น เขาแจกหนังสือ ๓ เล่ม (๑) ผู้ปกครองเด็กนักเรียน (๒) วิชาการฝีมือแผนกพับกระดาษ (๓) หัวใจนักรบ ที่จะเป็นแก่นสารอยู่ก็เล่มที่สุด แต่ก็เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เชื่อว่าฝ่าพระบาทจะได้ทรงแล้ว จึ่งไม่ได้พยายามที่จะส่งมาถวายทั้งหมดนั้น

๒) ต่อมาอีก ๒ วัน คือวันที่ ๑๒ ได้ไปเผาศพพระเจนจีนอักษรที่นั่นอีก ได้เห็นอะไรต่ออะไรอันจะกราบทูลต่อไปอีกได้ เพราะพระเจนนั้นเขาใส่ไว้ในเตาทีเดียว ไม่ได้จัดตั้งในเมรุเผาเป็นพิธี

หีบศพนั้นอยู่บนเลื่อน เลื่อนยาวกว่าหีบศพมีหัวงอนไม่เห็นภายใต้ แต่ถามเขาบอกว่ามีลูกล้อ ใครจะขมาศพก็วางธูปเทียนลงที่ระหว่างหัวเลื่อนที่เหลืออยู่ต่อกับหีบศพ เขาให้จุดธูปเทียนของหลวงวางที่นั่นแล้วก็ปิดประตูเตา แล้วเขาให้ไปหลังเตาเขาหมุนกว้านเหล็กเอาไอน้ำมันเข้า แล้วเขาให้จุดเพลิงหลวงด้วยชุดผ้าชุบน้ำมันพันปลายเหล็ก ซึ่งเขาทำเตรียมไว้ สอดเข้าไปในช่องเล็ก จ่อเข้าที่ปากกระบอกไฟ ครู่เดียวไฟก็ติดพ่นเข้าไปที่หีบศพคล้ายเตาฟู่อย่างที่เขาบอก ปลายท่อไอน้ำมันอยู่สูงตรงกับกว้านเหล็ก เขาเจาะปลายท่อไว้เป็นริ้วๆ เห็นจะสำหรับให้จุดไฟง่าย อันนี้ก็ไปต้องกับคำท่อน้ำไฟที่ว่าองค์พระอิศวรมี แล้วก็ออกจะเป็นพระราชทานเพลิงจริงด้วย การเผาศพเดิมทีเห็นจะเป็นสองระยะเหมือนอย่างนี้ คือจุดธูปเทียนขมาศพครั้งหนึ่ง จุดเพลิงเผาศพอีกครั้งหนึ่ง เห็นได้จากจุดลูกหนูหรือฝักแค

มีเวลาอยู่กับทั้งแขกก็มีน้อย จึงเป็นโอกาสขึ้นไปดูศาลาซึ่งตั้งอยู่หน้าเมรุ เห็นทำเป็นศาลาการเปรียญ ทีก็อย่างศาลาไม้ เว้นแต่ทำด้วยคอนกรีต มีธรรมาสน์ยอดตามธรรมเนียม เว้นแต่ไม่จัดเป็นที่นั่งแสดงธรรม ด้วยเอาพระพุทธรูปขึ้นไปตั้งไว้บนนั้น จัดโต๊ะตัวใหญ่ตั้งหน้าธรรมาสน์ยอดเป็นที่นั่งแสดงธรรม ทางเดียวกับที่ในโบสถ์วัดพระแก้ว อันเป็นทางที่เกล้ากระหม่อมชอบมาก ดูเป็นท่านผู้เทศน์นั้นเป็นพระโอษฐ์พระพุทธรูป ศาลานั้นกว้างใหญ่แม้จะตั้งศพในนั้นด้วยก็ได้ มีม้าจีนทำด้วยไม้ดำประดับมุกเป็นลายหย่อมวางอยู่ไม่เป็นระเบียบ ลางทีม้าเหล่านั้นจะรองหีบศพพระเจน ตั้งทำบุญในศาลาก่อน แล้วจึงยกเอาไปเข้าเตาก็ได้ เห็นว่าเมื่อมีศาลาการเปรียญตั้งศพได้อยู่แล้ว ก็ไม่ควรมีเมรุอีกเลย เว้นแต่จะเอายศ

ได้รับหนังสือเมียตามโญ บอกว่าตามโญตายแล้ว เมื่อวันที่ ๙ มกราคมที่ล่วงมาแล้ว “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน”

๔) เห็นงากิ่งที่ตำหนักวังวรดิศ ทำฐานอย่างฐานฉัตรรองไว้ นั่นก็เป็นการทำตามเคยอย่างที่เขาทำกันมาเป็นอาจิณ แต่เกล้ากระหม่อมเห็นไม่ได้ ฐานฉัตรจะต้องปักของตรง ที่จะปักของอ่อนช้อย เช่นงาช้างเจาะให้เบี้ยวบูดไปไม่เหมาะเลย คิดว่าต้องเป็นฐานอย่างอื่นซึ่งจะรับของอ่อนช้อยได้ไม่ขัดข้อง แต่ควรจะทำอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้คิดเข้าจริงจัง เพราะยังไม่ถูกหน้าที่ต้องเป็นผู้ทำ เป็นแต่มีความเห็นอย่างนั้น เคยเห็นที่บ้านพระยาเทเวศรเขาให้กระดาษเปล่าแก่เจ๊กไปทำ เจ๊กทำมาเป็นกบสามขา (“ซาคา”) คาบงาตั้งอยู่ เห็นเข้าก็นึกชอบว่าเหมาะเป็นฐานงามากกว่าฐานฉัตร เว้นแต่ “แหกตา” หนัก เราเป็นไทยจะต้องทำอะไรให้เป็นไทยๆ สักอย่างหนึ่ง

คำนึง

๕) แม่น้ำแควป่าสัก นึกว่าเหนือขึ้นไปจะเต็มไปด้วยป่าต้นสัก เพราะได้เคยไปเที่ยวแถวแม่น้ำนั้นแต่เพียงหนองบัว สระบุรีเท่านั้น แต่ได้ฟังพระดำรัสว่า ในถิ่นนั้นไม่มีต้นสักสักต้นเดียวก็ผิดคาด ใจจึ่งเปลี่ยนเป็นคำว่า “สัก” นั้นเขาจะหมายถึงอื่นไม่ใช่ต้นสัก อันคำว่า “สัก” นั้น อาจหมายไปได้หลายอย่าง ถ้าจะพูดเล่นๆ แล้วจะเป็นว่าป่าของพระอินทร์ (คือศักร) ก็ได้ เรียกกันว่า “แม่น้ำประสัก” ก็มี ไม่รู้ว่าผิดถูกอยู่ที่ไหน ถ้ายึดเอาเมืองหล่มหรือลุ่มเป็นบรรทัดแล้วก็ควรจะเป็นเมือง “หล่มศักดิ์” แปลว่าเมืองหล่มอันเป็นกำลังจะเป็น “หล่มสัก” ไม่ได้ เพราะที่หล่มที่ลุ่มไม่เป็นทำเลที่ต้นสักจะงอก ถ้าเอาเมืองหล่มศักดิ์เป็นประธาน แม่น้ำแควป่าสักก็ควรเป็น “ประศักดิ์” หรือจะเป็น “ป่าศักดิ์” หมายความว่าทำเลอันเป็นกำลัง ซึ่งยังรกอยู่เป็นป่า สืบมาแต่เมืองหล่มศักดิ์ก็ได้ ทั้งนี้เป็นอย่างเดียวกับเรื่องสามเสน ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ

เบ็ดเตล็ด

๖) ไปในกิจต่างๆ ผ่านโรงเจ๊กซึ่งเขาหล่อซีเมนต์ขาย เห็นมีของใหญ่ๆเช่นพระเจดีย์ พระปรางค์ ซุ้มเสมา และโกศ (ขนาดใหญ่พร้อมด้วยฐานรองอันประจุอัฐิตั้งตามวัดเป็นอนุสาวรีย์) ทำให้ประหลาดใจว่าอะไรมีถึงเช่นนั้น ถ้าหากจะมีแต่ของเล็กๆ เช่นกระเบื้องอย่างต่างๆ ทั้งท่อและศาลพระภูมิโอ่งไหอะไรเหล่านั้น จะไม่ประหลาดใจเลย แล้วก็ตระหนักใจได้ว่ามีคนต้องการมากเขาจึ่งทำขึ้นไว้ขาย

ลายพระหัตถ์

๗) วันจันทร์มีนาคม วันที่ ๑๗ ต่อเวลาเย็นจึงได้รับลายพระหัตถ์เวรซ้อนกัน ๒ ฉบับ กับโบราณคดีเรื่องอั้งยี่ มีรอยปะปิดชั้นเดียวแต่ที่ปีนัง เหตุใดจึงไม่ได้รับหนังสือนั้นเข้าใจตามพระดำรัสแล้ว แต่วันจันทร์เวลาค่ำเป็นวันดีดพิมพ์หนังสือถวาย เพื่อจะได้ส่งในวันอังคารไม่ให้เป็นการผัดช้าง แต่เมื่อยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์ ก็มีการกราบทูลสนองไม่ได้ ครั้นได้ก็ฉวดเฉียดเขียนกราบทูลสนองไม่ทัน จึงจำต้องมีแต่บรรเลง การสนองลายพระหัตถ์นั้นก็ต้องเลื่อนไปคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ