วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

จนถึงวันจันทร์ ๑๑ นาฬิกาแล้วลายพระหัตถ์เวรยังไม่มาถึงมือ แต่หม่อมฉันได้เขียนเรื่องที่จะทูลเตรียมไว้บ้าง จึงให้หญิงพูนลงมือพิมพ์จดหมายฉบับนี้ ถ้ารับลายพระหัตถ์เมื่อใดก็จะได้เขียนทูลสนองลายพระหัตถ์ต่อไปข้างตอนท้ายจดหมาย

ทูลเรื่องที่ยังค้างมา

๑) หม่อมฉันหมายจะเขียนตำนานเรื่องพระธรรมยุติ กับตำนานเรื่องพระมหานิกายห่มแหวกถวายในสัปดาหะนี้ตามที่ได้ทูลผัดไว้ แต่เกิดไม่พอใจจะเขียนจึงเขียนวินิจฉัยเรื่อง “ลักษณะพระครองผ้า” ถวายแทน เพื่อให้ทรงพิจารณาในทางโบราณคดี

พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายหินยานใช้ไตรจีวรอย่างเดียวกัน แต่ลักษณะที่ครองต่างกันเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า “ห่มแหวก” อย่างพระลังกาพม่ามอญ (พระไทยเป็นแต่เอาอย่างมาจากพระมอญเมื่อชั้นหลัง) อย่าง ๑ เรียกว่า “ห่มคลุม” อย่างพระ (มหานิกาย) ไทยและพระเขมรครองแต่เดิมอย่าง ๑ บางคนก็คิดเห็นว่าครองแหวกถูกต้องตามแบบอย่างครั้งพุทธกาล บางคนก็เห็นว่าครองคลุมเหมือนอย่างครั้งพุทธกาล บางคนก็ว่าเมื่อครั้งพุทธกาลไม่มีบัญญัติกระบวนม้วนผ้าห่ม พระจะห่มอย่างไรก็ได้ตามสะดวก สุดแต่เวลาเข้าบ้านต้องห่มคลุมทั้งตัว จะม้วนผ้าอย่างไร จะเอาแขนออกจากคลุมตรงไหนก็ได้ ความเห็นที่ว่ากันต่างๆ อาศัยตีความในพระบาลีมีบางแห่ง ซึ่งกล่าวถึงพระครองผ้า แต่ไม่มีชี้แจงจนเข้าใจได้ชัดว่าต้องห่มอย่างนั้นๆ จึงคิดเห็นกันมาแต่ก่อนหลายอย่าง จนถึงรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นต้นมา จึงได้ตัวอย่างวัตถุและรายงานตรวจโบราณคดีอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาในอินเดียมาถึงเมืองไทยมากขึ้นโดยลำดับ ได้ความรู้โดยมีหลักฐานอย่างหนึ่งว่า เมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ พุทธศาสนิกชนในอินเดียถือคติห้ามมิให้ทำพระพุทธรูปหรือแม้รูปพระสงฆ์ เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปรุ่งเรืองในคันธารราษฎร์ข้างฝ่ายเหนือของอินเดีย อันมีพวกโยนก (เชื้อสายฝรั่งชาติกรีก) เป็นชาวเมืองอยู่มาก พวกนั้นเคยถือศาสนาบูชารูปเทวดามาแต่ก่อน เมื่อเข้าถือพระพุทธศาสนาจึงคิดทำพระพุทธรูปขึ้นบูชา ด้วยไม่เคยถือคติข้อห้ามเหมือนชาวอินเดียในมัชฌิมประเทศ พระพุทธรูปจึงมีขึ้นในคันธารราษฎร์เป็นปฐมเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ชาวอินเดียพวกอื่นชอบใจก็ละคติเดิมพากันทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาตามเยี่ยงอย่างชาวคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปจึงมีแพร่หลายสืบมา ข้อนี้เป็นความรู้ที่ปรากฏขึ้นใหม่ในเมืองไทยอย่าง ๑

อีกอย่าง ๑ เมื่อได้ตัวอย่างพระพุทธรูปจากคันธารราษฎร์มาถึงเมืองไทย พิจารณาดูเห็นทำพระองค์ทรงครองผ้า “ห่มคลุม” เหมือนอย่างที่พระสงฆ์ (มหานิกาย) ไทยและเขมรครองแต่โบราณก็เกิดพิศวง ไปพิจารณาดูพระพุทธรูปที่ชาวอินเดียทำต่อมา ทำในอินเดียก็ดี หรือทำในเมืองไทยเช่นที่พระปฐมเจดีย์ก็ดี ล้วนทำห่มคลุม เอาพระหัตถ์ออกทางชายจีวร เหมือนอย่างพระมหานิกายห่มทั้งนั้น

คิดต่อไปว่า พระพุทธรูปแรกมีขึ้นต่อเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วถึง ๕๐๐ ปี ช่างคันธารราษฎร์รู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธองค์ทรงครองผ้าอย่างนั้น อธิบายข้อนี้ก็เห็นได้ง่ายด้วยเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองในอินเดีย พระภิกษุสงฆ์ซึ่งบวชสืบสมณวงศ์ลงมาจากพระอริยสาวกคงยังมีมาก ช่างโยนกคงเอาลักษณะที่พระสงฆ์ครองผ้าในสมัยนั้นมาทำพระพุทธรูป และเห็นต่อไปว่าลักษณะที่ครองคลุมอย่างนั้น พระสงฆ์ในอินเดียคงใช้เป็นแบบเดียวกันทั่วไป ถ้าหากพระสงฆ์ในคันธารราษฎร์กับในมครราษฎร์ครองผ้าผิดกัน พระพุทธรูปที่ทำในมคธราษฎร์ก็คงทำครองผ้าเป็นอย่างอื่น หาทำห่มคลุมเหมือนอย่างคันธารราษฎร์ไม่ จึงชวนให้เห็นว่าพระสงฆ์ในอินเดียห่มคลุมอย่างมหานิกายมาแต่เดิม ลักษณะที่ห่มแหวกน่าจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นที่รับพระพุทธศาสนาไปประดิษฐาน เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปในอินเดียจึงไม่มีปรากฏที่ทำห่มแหวกอย่างพระลังกาพม่ามอญ

ยังมีวินิจฉัยประกอบอีกทาง ๑ แม้ลักษณะพระครองผ้าที่ในเมืองไทยนี้เอง เวลาเข้าบ้านพระไทย (มหานิกาย) ห่มดองข้างในแล้วเอาจีวรห่มคลุมข้างนอก พระมอญเอาจีวรกับสังฆาฏิซ้อนห่มด้วยกัน ถ้าไปไหนไม่เข้าบ้านแต่เดิมเห็นจะเป็นแต่ห่มดองเช่นเดียวกันทั้งพระไทยและพระมอญ พระไทยไปธุดงค์ยังห่มดองอยู่จนทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังจึงห่มจีวรคลุมแต่ชั้นเดียวทั้งไทยและมอญโดยมักง่าย เพื่อมิให้ต้องเปลี่ยนผ้าครองหากจะเข้าบ้านในระหว่างทาง สังเกตความในนิทานที่อ้างถึงครั้งพุทธกาลเช่นมีในคัมภีร์ธรรมบทเป็นต้น มีกล่าวเนืองๆว่า เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตมีพระภิกษุสาวกเชิญบาตรและจีวรตามเสด็จไปจากอาราม เมื่อไปถึงบ้านตรัสเรียกเอาบาตรกับจีวรจากพระสาวก คือห่มจีวรคลุมพระองค์แล้วทรงถือบาตรเข้าไปในบ้าน ชวนให้เห็นว่าเมื่อเสด็จไปจากอารามคงทรงห่มดองอย่างพระไทย เมื่อจะเสด็จเข้าบ้านเอาจีวรห่มคลุมพระองค์เข้าข้างนอกดูสะดวกดี ถ้าทรงครองผ้าอย่างห่มแหวก ถึงบ้านจะต้องเปลื้องผ้าผืนที่ทรงห่มดองออกจากพระองค์ก่อน เอาผ้าซ้อนกับจีวรแล้วจึงห่มคลุมพระองค์เข้าในบ้านดูอยู่ข้างลำบาก

ตามวินิจฉัยที่กล่าวมา ลักษณะห่มคลุมอย่างพระไทยและเขมรน่าจะเป็นแบบเก่ามีมาก่อนห่มแหวกอย่างพระลังกาพม่ามอญดอกกระมัง ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๒) ปีนี้ห้างสิลวาลังกาเขาให้หนังสือพิมพ์เมืองลังกาฉบับออกวันวิสาขะบูชาแก่หม่อมฉันตามเคย อ่านหนังสือนั้นได้ความรู้ใหม่อย่าง ๑ ว่าชาวลังกาเขาเรียกวัดว่า “บริเวณ” เช่นชื่อวิทโยทัยบริเวณที่เมืองโคลัมโบก็แปลว่า วัดวิทโยทัย เท่านั้นเอง หม่อมฉันเลยคิดต่อไปว่าคำที่เราเรียกว่า “วัด” มาแต่ไหน ก็จน เคยได้ยินอ้างกันว่ามาแต่คำ “วัฏ” ก็เห็นว่าขอไปทีตามประสา “อิน” นึกขึ้นว่าหรือจะเป็นภาษาไทยเก่า ไปเปิดดูพจนานุกรมภาษาอาหมกลับไปได้ความแปลกว่าเสียง “ว” ไม่มีในภาษานั้น เห็นหลักมีอยู่แต่ในชื่อนครวัด คำว่าวัดเป็นภาษาเขมรดอกกระมัง ท่านทรงทราบหรือไม่

๓) ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน เพิ่งมาถึงมือหม่อมฉันเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ เวลาเที่ยง

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๔) หม่อมฉันอ่านคำทรงอธิษฐานประทานพรวันเกิดมีความยินดีจับใจขอบพระคุณอย่างยิ่ง ซึ่งทรงบำเพ็ญพระกุศลสนองพระคุณเสด็จแม่นั้น หม่อมฉันก็ขอถวายอนุโมทนาด้วย

๕) ที่เรียกว่า “ทำบุญ” นั้น เห็นจะหมายการบำเพ็ญกุศลกรรมได้ทุกอย่าง จึงมีจำแนกเป็นทานมัย ศีลมัย และภาวนามัย ทานมัยก็ยังแยกออกเป็นวัตถุทานและธรรมทาน ฉันใด ความอีกข้อหนึ่งในลายพระหัตถ์ซึ่งทรงปรารภด้วยมังกร ก็เป็นชื่อสัตว์ประเภท ๑ ซึ่งแยกออกไปเป็นหลายพันธุ์ เช่นจิ้งจก ตุ๊กแก จิ้งเหลน เหี้ย จระเข้ ก็รวมอยู่ในประเภทมังกรทั้งนั้น

๖) ตรัสถึงหลานชายถัด เมื่อมาปีนังยังชอบพูดแต่ทีละคำ ถึงกระนั้นพอเห็นรูปภาพม้าก็ชี้มือออกปากว่า “ม้า” ฝ่ายหญิงรัศมีพี่นั้น เมื่อหม่อมฉันพาไปให้เลือกตุ๊กตาเอาตามชอบใจที่ร้าน ก็เลือกเอาตุ๊กตาอ๊อดมาอุ้มเล่น เห็นได้ว่าชายหญิงอุปนิสัยผิดกันแต่เกิดมา มิใช่แต่รูปธรรมเท่านั้น ถึงนามธรรมก็ผิดกันมาแต่อ้อนออก ที่เด็กชายชอบเดินไต่บนขอบถนนก็เพราะอุปนิสัยนั้นเอง นานๆ จึงมีธรรมชาติพลาดพลั้งกลับกันไปได้บ้าง

๗) ที่ขนานนามวัดสำเพ็งว่าวัดปทุมคงคานั้น หม่อมฉันเคยได้ยินอธิบายเหตุแต่ก็จำไม่ได้ว่าอ้างอะไรเป็นเหตุ นัยที่ว่าอ้างเอาแม่น้ำคงคาเป็นเหตุเพราะเป็นที่ลอยพระอังคารนั้น คำ “ปะทุม” ขวางอยู่ดูไม่สนิท มีคำอ้างชื่อวัดอีกแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน คือวัดโรมันคาโธลิคที่ห้างเคียมฮัวเฮงนั้น ชื่อตามทำเนียบว่า Holy Rosary แปลว่าลูกประคำศักดิ์สิทธิ์ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดกัลหว่า” สังฆราชวีเคยบอกอธิบายแก่หม่อมฉันว่าสมัยเมื่อสร้างนั้นวัดอยู่ใกล้กับที่รัฐบาลประหารชีวิตนักโทษ (ที่ป่าช้าวัดตะเคียน) จึงเอาชื่อเนิน Calvary อันเป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ ณ เมืองยะรูสะเรม ที่เอาพระเยซูไปกรึงไม้กางเขนมาเรียกวัดนั้น

๘) ที่ตั้งเมืองสงขลานั้น เดิมตั้งอยู่ที่แหลมสนทางฟากเหนือของปากน้ำยังเรียกกันว่าเมืองเก่า เพิ่งย้ายไปตั้งทางฟากใต้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดูเหมือนจะเป็นตอนต้นรัชกาลที่ ๓ และคำที่เรียกว่า “มรหุ่ม” นั้น เรียกเพิ่มเข้าหน้าชื่อต่อเมื่อตัวล่วงลับไปแล้ว ขัวลายังมีชีวิตอยู่หาเรียกว่ามรหุ่มไม่

๙) วินิจฉัยเรื่องลาวนั้น เมื่อหม่อมฉันได้พิจารณาคำอธิบายของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์แล้ว จึงจะเขียนบันทึกความเห็นส่งมาถวาย ที่เรียกว่า “กล้วยน้ำว้า” นั้น คำ “ว้า” มาแต่ “ละว้า” เป็นแน่ ยังมีที่เรียกกันว่า “ผ้าเสมียนละว้า” ต่อไปอีก คำ “เสมียน” น่าจะแปรมาจาก “สังเวียน” หมายความว่าเป็นผ้าอย่างดีของพวกละว้า กล้วยมีอย่างหนึ่งเรียกว่า “กล้วยน้ำ” เขาว่าเพราะกล้วยพรรณนั้นน้ำท่วมต้นไม่ตาย “กล้วยน้ำละว้า” ก็หมายความว่ากล้วยอย่างหนึ่งของพวกละว้าซึ่งทนน้ำท่วมได้ ตำบลกะลิอ่องนั้นอยู่ในแดนเมืองทวาย ขึ้นชื่อในเรื่องพงศาวดารเมื่อไทยไปตีเมืองทวายในรัชกาลที่ ๑

๑๐) พระวินิจฉัยว่าชื่อ “ขนมทอง” จะแปรมาแต่ “ขนมกอง” อันหมายความว่าเป็นวงเหมือนกำไล มาแต่ศัพท์ภาษาเขมรเช่นเรียกกำไลมือว่า “กองไฎย” เรียกกำไลตีนว่า “กองเชิง” นั้น หม่อมฉันเห็นชอบด้วย

๑๑) ที่ว่าชื่อแสนปมมาแต่แสนพรหมนั้น เป็นแต่สันนิษฐานของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ต้องชมว่าช่างคิด แต่เมื่อมาปรากฏว่ามีนิทานในอินเดียอ้างถึงคนเป็นปมเป็นเปามีบุญอย่างเดียวกัน ความสันนิษฐานก็ระงับไปเอง

ดูเป็นคติของมนุษย์ ไม่เลือกว่าชาติไหนๆ ถ้าเกิดผู้มีบุญเป็นคนจรสามารถตั้งราชวงศ์ใหม่ ก็ต้องคิดค้นจนสามารถอ้างได้ว่าเป็นผู้มีสกุลสูง ถ้าหาไม่ได้ในมนุษย์ ก็ต้องสืบไปจนถึงเทวดาหรือพระยานาค แต่เรื่องที่น่าพิศวงที่สุดนั้นคือในหนังสือพระราชพงศาวดารอ้างว่าหลวงสรศักดิ์เป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์ พรรณนาถึงเรื่องส่องพระฉายและอะไรต่างๆ ราวกับตาเห็นว่าเป็นความจริง ถ้ามีมูลคงต้องมีผู้อื่นรู้ระแคะระคาย หรือแม้แต่ได้ยินคนพูดกันว่าเป็นเช่นนั้น ในสมัยนั้นฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในพระนครก็มีมาก แต่งหนังสือเรื่องเมืองไทยในสมัยนั้นได้ก็หลายเรื่อง ทุกเรื่องเมื่อกล่าวถึงหลวงสรศักดิ์เป็นแต่ว่าเป็นบุตรพระเพทราชา ถ้าหากมีวี่แววมีคนสำคัญกันว่า เป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งที่แต่งหนังสือคงเห็นเป็นข้อขำไม่นิ่งได้ ที่ฝรั่งในสมัยนั้นไม่รู้ชวนให้เห็นว่าเป็นเพราะเริ่มอ้างกันต่อภายหลังมาช้านาน

ร่างมาเพียงนี้ถึงวันอังคารเวลาจวน ๑๑ นาฬิกาแล้ว ต้องหยุดให้ดีดพิมพ์จดหมาย ขอประทานผัดทูลสนองเรื่องที่ค้างไปคราวหน้า.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ