วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ณ วันที่ ๔ มีนาคม (วันอังคาร) ได้รับหนังสือ ๒ ฉบับ คือลายพระหัตถ์เวร กับหนังสือชาเตอรแบงก์ปีนัง ลายพระหัตถ์เวรนั้นมีปะปิด ๒ ทับ ขาวอยู่ในแดงอยู่นอก ตราประจำต่อขาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีหนังสือฝรั่งอยู่ข้างใน ว่า “Passed by 7 Censor” ตราประจำต่อแดงเป็นรูปดวงกลม มีเลข ๕ ฝรั่งอยู่ข้างใน ทั้งมีต่างหากประทับอยู่ที่หลังซองด้วย ทำให้เข้าใจขึ้นได้ว่าตราดวงกลมนั้นเป็นตราทางเมืองไทย ส่วนหนังสือของชาเตอรแบงก์ปีนังนั้นไม่มีรอยปะปิด เป็นแต่มีตราประทับมาบนหลังซอง ๒ ดวงเป็นรูปสามเหลี่ยมประทับมาแต่ปีนังดวงเดียว เป็นรูปดวงกลมประทับในเมืองไทยดวงหนึ่ง เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ทราบได้ดีว่าหนังสือไปอยู่ที่ไหน และลายพระหัตถ์เวรซึ่งเข้าไปกับรถไฟวันที่ ๘ ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน การกราบทูลสนองความก็จะต้องข้ามคราวไปอย่างเดียวกัน ในคราวนี้จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับก่อนต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) คนดีดพิมพ์ทูลลากลับบางกอกนั้น ทำให้นึกหนักถึงฝ่าพระบาทว่าจะทรงรู้สึกลำบากพระทัยเต็มที ในการที่หญิงพูนเธอมีแก่ใจรับอาสาดีดพิมพ์ถวาย จนกว่าจะได้คนมาเปลี่ยนใหม่นั้นดีเต็มทีทำให้เบาใจไปได้มาก

๒) ข้อพระอธิบายถึงน้ำแข็ง ซึ่งตกมาแต่อากาศว่ามี ๔ อย่างนั้นทำให้ได้ทราบความเป็นอยู่ขึ้นดีจริงๆ ใน ๔ อย่างนั้นเกล้ากระหม่อมได้เห็นอย่างเดียวแต่น้ำค้าง แต่ก็เห็นเหลวไม่แข็ง สโนกับเปลวหิมะก็ไม่ทราบว่าเป็นคนละอย่าง ลูกเห็บนั้นเคยได้ยินแต่กรมหลวงประจักษ์ตรัสเล่าว่าเมื่อประทับอยู่ที่หนองคายเคยมีครั้งหนึ่งว่าอากาศมืดมีเมฆลอยอยู่ต่ำๆ ประดุจว่าปืนจะยิงถึง เป็นเมฆสีเหลือง ร้อนอบอ้าวเต็มทนอีกครู่หนึ่งก็มีฟ้าผ่า แต่ไม่ใช่ผ่าลงมาที่ดิน ผ่าอยู่แต่บนอากาศจากก้อนเมฆหนึ่งไปอีกก้อนเมฆหนึ่ง ในครู่เดียวฝนก็เริ่มตก พระยาปทุม (เห็นจะเป็นเจ้าเมืองคนเก่า) ถีบเด็กๆ บอกว่า “ลง” แล้วทูลว่า “เชิญเสด็จเข้าใต้ถุนพิจะข้ะ” จึงเสด็จลงเข้าใต้ถุนตามคำเชิญของแก ไม่ช้าลูกเห็บก็ตกลงมาจนหลังคาทะลุ จะต้องเป็นก้อนใหญ่มาก ที่เชิญเสด็จเข้าใต้ถุนก็คือ จะอาศัยพื้นกระดานรับให้พ้นภัย ชาวเมืองนั้นเขาเรียกลูกเห็บกันว่า “หมากเห็บ” เมื่อหยุดตกแล้วทรงนึกถึงไอสกรีมว่าได้เอาขันใบใหญ่ใส่ลูกเห็บผสมเกลือ เอาขันใบน้อยใส่น้ำตาลละลายน้ำไว้กลางหมุนจนแข็ง แล้วทรงตักแจกกันกิน ตรัสตั้งชื่อว่า “ขนมหมากเห็บ” เรือนที่เมืองน่ำกิ่งพังเพราะสโนนั้น เห็นเป็นแน่อย่างที่ฝ่าพระบาททรงพระดำริคาดว่าเป็นชนิดเรือนทำใหม่ให้เป็นฝรั่งอย่างโซ้ดกำมะลอ

๓) ชื่อเมืองเพชรบูรณ ซึ่งทรงพระดำริคาดว่าจะเป็น “พีชบุร” นั้นดีเต็มที ถึงจะเป็น “กุละ” เกล้ากระหม่อมก็เห็นด้วยตามพระดำริดีกว่าสามเสนเป็นอันมาก

๔) คำเรียกญาติ ซึ่งเป็นอิตถีลึงค์ปุงลิงค์บ้างไม่เป็นบ้างนั้น เกล้ากระหม่อมเคยคิดหัวหมุนมาทีหนึ่งแล้ว ว่าทำไมจึ่งเป็นเช่นนั้น จะกราบทูลอย่างหนึ่งว่าเคยได้สอบปรากฏว่า “อา” กับ “อาว์” นั้นมีทั้ง ๒ อย่างและผิดกันด้วย “อา” เป็นอิตถีลึงค์ “อาว์” เป็นปุงลึงค์ทั้งได้ผุดขึ้นในใจ ว่า “ผู้” ก็คือ “ผัว” นั่นเอง เป็นปุงลึงค์

ดีเต็มทีที่ฝ่าพระบาทยังทรงระลึกถึงชื่อ “นุนู” ได้ คิดดูก็เป็นเวลานานไม่ใช่น้อย ร่วม ๕๐ ปีเข้าไปแล้ว ส่วนเกล้ากระหม่อมนั้นลืมเหลวทีเดียว ต่อตรัสเรียกจึงนึกขึ้นได้

๕) ใจมาถนัด ที่ได้ฟังพระดำรัสว่ารูปปรางค์ที่วังวรดิศไม่เหมือนกับสถานนารายณ์เชงเวง เกือบจะมีหนังสือบอกเลิกแก่คนที่สั่งเขาไปนครพนมอยู่แล้วว่าเขาไม่ต้องไปดู ด้วยคิดว่าเป็นของทำใหม่ แต่เมื่อได้ฟังพระดำรัสว่าไม่เหมือนก็จะงดเสีย ปล่อยให้เขาหาเวลาไปดูมาบอก

๖) พระเจดีย์ศิลาที่ในห้องพระก็เห็น เว้นแต่ไม่ใฝ่ใจด้วยเห็นเป็นของใหม่ไม่พาให้ตื่นเต้น แต่เมื่อทราบประวัติว่าเป็นของยายกลีบ และเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการก็พาให้ใฝ่ใจขึ้น เคยได้ยินพระองค์เจ้าประดิษฐท่านตรัสยกย่องว่ายายกลีบเป็นอู่น้ำอู่ข้าวของท่าน พระพุทธรูปซึ่งสำคัญองค์ใดที่ในกรุงเทพฯ ยายกลีบจ้างพระองค์เจ้าประดิษฐจำลองขึ้นทั้งนั้น เท่าพระองค์บ้าง เล็กกว่าบ้าง เกล้ากระหม่อมก็ได้เคยไปเห็นหุ่นขี้ผึ้งรูปพระแก้วมรกตที่วัง ตรัสบอกว่าเป็นของยายกลีบจ้างหล่อ

๗) เพิ่งได้ทราบว่าการแต่งงาน ฝรั่งเขาวางหญิงไว้ทางซ้ายเหมือนกับเรา การอธิบายเหตุว่าใกล้หัวใจนั้นก็เป็นอธิบายอย่างสามเสน การเวียนซ้ายในทางอวมงคลแต่ก่อนก็สงสัย ว่าจะมาทำกันขึ้นในเมืองเราหรือมิใช่ แต่ได้สอบสวนแล้ว ได้ความว่าเป็นมาแต่อินเดียทีเดียว เวียนขวาเรียก “ปฺรทกฺษิณ” คือ “ประทักษิณ” เวียนซ้ายเรียก “ปฺรสวย” (ออกจะดังไม่เข้าภาษาเรา ควรจะเขียน “ประสพย์” ดอกกระมัง)

๘) ในเรื่องพระราชยานพุดตานนั้น ได้กราบทูลขอประทานพระวินิจฉัยมาในหนังสือเวรฉบับก่อนแล้ว แต่สวนกันกับที่ประทานพระวินิจฉัยไปในลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้

พระราชยานพุดตานนั้นมีอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งปิดทองเรียกว่า “พุดตานวังหน้า” อีกองค์หนึ่งหุ้มทอง เรียกว่า “พุดตานทอง” คือองค์ซึ่งตั้งเป็นที่ประทับบนพระแท่นเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งอมรินทรและอนันตสมาคม ในโคลงเรื่องบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชยานพุดตาน ทำให้เข้าใจว่า คือพุดตานวังหน้าเช่นนั้น ก็ไม่ใช่ว่าทูลกระหม่อมของเราทรงพระราชดำริสร้างพระราชยานพุดตานขึ้น เป็นของมีมาก่อนแล้ว เอาอย่างเครื่องช้างมานั้นเป็นแน่นอน แต่จะมีขึ้นเมื่อไร และพระราชยานพุดตานองค์ที่หุ้มทองทำขึ้นเมื่อไร ควรจะมีหนังสือบอกไว้ให้ทราบได้แห่งใดแห่งหนึ่ง

๙) ตรัสถึงที่ปีนังเขาจะปิดไฟมืดเป็นเวลานาน ทำให้นึกถึงไฟฟ้ามืดที่กราบทูลว่าจะส่งมาถวาย แต่คิดดูถึงการส่งลำบากก็เป็นเหตุให้ท้อใจ ถ้าจะทรงใช้อังแพลมเอาผ้าเขียวครามอุดหน้าเสียให้แสงสว่างเพลาลงก็ใช้ได้อย่างเดียวกัน

๑๐) ตรัสถึงสัตว์นรก ทำให้นึกขึ้นถึงที่เกาะชวา เขาพาไปดูภูเขาไฟ ไปเห็นน้ำในแอ่งเดือดอยู่พลั่กๆ ก็นึกแล้วพูดไปทีเดียว ว่าอ้ายนี่คือ “โลหกุมภี” แล้วทำให้เกิดญาณหยั่งเห็นขึ้นว่าที่เขากล่าวถึงนรก ทีเขาก็จะเอาความเป็นไปในภูเขาไฟไปกล่าวนั่นเอง ทูลกระหม่อมชายยังทรงพระดำริเห็นยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าแม้สวรรค์ก็เป็นความคิดชาวเขาเหมือนกัน

คำนึง

๑๑) เรื่องชื่ออะไรต่างๆ นั้น ได้ฟังฝ่าพระบาทตรัส ทำให้เปลื้องความสงสัยไปได้มาก ชื่อต่างๆ นั้นโดยมากเป็นสาธารณชนซึ่งหมายเอาสิ่งที่เห็นอยู่แก่ตา เช่นหนองปลิงหนองโสน หรือวัดโพธิ์ วัดเลียบ เป็นต้น ส่วนชื่อคนก็เรียกตามผู้ใหญ่หรือใครๆ เรียกกัน เช่นใหญ่กลางเล็ก เป็นต้น ที่อะไรมีชื่อเพราะๆ นั้น เป็นของนักปราชญ์ตั้ง ด้วยขอกันให้ตั้งหรือเพราะเหตุไรก็ตามที ควรจะจับเอากำหนดไว้ว่าเกิดขึ้นครั้งไร ส่วนที่มีสร้อยต่อชื่ออย่างยืดยาวนั้นเกิดขึ้นทีหลังชื่อเพราะๆ เป็นอันแน่

เรื่องชื่อนั้นชอบกล คราวหนึ่งต้องการสั้น คราวหนึ่งต้องการยาว ลางทีก็ไม่มีใครยอมเปลี่ยน เช่นวัดโพธิ์เป็นต้น แต่ลางทีก็ยอมเช่นวัดมหาธาตุเป็นต้น จะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรมากี่คราวคนก็ยอมจนลืมชื่อเดิม ชอบกลหนักหนา ยังหาเหตุไม่พบ แต่ที่ต่อสร้อยนั้นไม่สู้จะได้ผล แจ้งอยู่ในกระดาษเป็นพื้น

๑๒) ให้นึกสงสัยอีกอย่างหนึ่ง ว่าเครื่องต้นชนิดที่ทรงกับพระมหามงกุฎ (อย่างมีชายไหวชายแครงทำด้วยทองขูดหน้าแข้ง) จะเป็นของมีมาแต่เดิมหรือคิดทำขึ้นใหม่ แต่ก่อนจะเป็นทรงพระมหามงกุฎกับฉลองพระองค์ครุยได้หรือไม่ ข้อนี้อาจมีหนังสือสอบได้อยู่หลายแห่ง เป็นทีเหมือนหนึ่งจะใช้ให้ฝ่าพระบาททรงช่วยตรวจ แต่ดูจะไม่สู้กระไร เพราะฝ่าพระบาทโปรดทางค้นหาอะไรต่ออะไรอยู่แล้ว เว้นแต่ตำราอันจะพึงค้นจะไม่มีพออยู่ที่ปีนัง

เบ็ดเตล็ด

๑๓) เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ ไปเผาศพชายถาวรที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ ใช้เมรุท้าววรจันทร์นั้นเอง เว้นแต่พลับพลาปิด ส่วนศพนั้นเปลี่ยนจากใส่หีบเป็นใส่โกศหุ้มผ้าขาว ในงานนี้เขาแจกหนังสือเรื่องหมอๆ เรียกว่า “การปฐมพยาบาลในยามฉุกเฉิน” หมอกระจ่างเป็นผู้แต่ง หญิงประสงค์ตีพิมพ์แจก ไม่ได้พยายามที่จะส่งมาถวาย เพราะเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่จะใฝ่พระทัย

๑๔) เมื่อวันที่ ๕ ต่อไปอีกวันหนึ่ง คนใช้มาบอกว่าพระยาสีหราชฤทธิไกรมาเฝ้า นึกว่าพระสาย แล้วนึกว่ามาธุระอะไร แต่ครั้นลงไปพบกลายเป็นไม่ใช่ ชื่อเดิมเขาชื่ออะไรก็ลืมเสียแล้ว เขาไปเป็นผู้บังคับการทหารอยู่ที่โคราชคราวหนึ่ง แต่รู้จักเขามานานแล้ว เขาให้ใบดำ บอกกำหนดจะเผาศพพระยาประชุมประชานารถ (ม.ร.ว. ชาย ฉัตรกุล) ที่วัดไตรมิตรวันที่ ๘ หม่อมราชวงศ์ชายนั้นรู้จักดี แต่เขาเป็นพระยาประชุมประชานารถเมื่อไรนึกไม่ได้ แล้วก็ทำไมจึงเข้าใจว่าเป็นพระสาย แต่นั่นแปลออกว่าหลงชื่อ พระสายนั้นเป็นพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ นี่เขาเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร เป็นเรื่องหลงทั้งสิ้น

๑๕) เมื่อวันที่ ๘ เวลาบ่ายโมงครึ่ง หญิงอามบอกว่าพระเจนตายเสียแล้ว ออกจะเสียใจเพราะแกช่วยอะไรอยู่มาก แต่แกก็แก่มากแล้ว ตกลงวันนี้ไปสองงาน คือเผาคุณชาย กับอาบน้ำศพพระเจน การเผาศพคุณชายนั้นขลุกขลัก ด้วยรู้ไม่พอว่าควรจะแต่งตัวขาวหรือดำ ตกลงเป็นแต่งไปขาวปนดำ แล้วก็ไปเสียทีหลังเวลาเขากำหนดมาให้ เพื่อจะหลบแขก แต่ไม่สำเร็จ เขารอ

ในงานศพคุณชายนั้นเขาแจกหนังสือ ๒ เล่ม คือ การป้องกันภัยทางอากาศกับธรรมะของพระปิฎกโกศล ไม่ได้พยายามส่งมาถวายเพราะเห็นไม่ใช่เรื่องใฝ่พระทัย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ต้นฉบับเป็น Senser

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ