วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้ฤกษ์ดี ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน มาถึงปีนังวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พอรุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๑๓ เขาก็เอาส่งให้หม่อมฉันแต่ตอนกลางวัน มีรอยตัดซองแต่ที่ในกรุงเทพฯ

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) จะทูลอธิบายขยายความข้อที่หม่อมฉันสั่งให้เขาซื้อกล้วยมากินเมื่อลูกแอบเปิลราคาแพง ที่จริงในเครื่องหวานของหม่อมฉันมีกล้วยเผาเป็นปรกติอยู่ทุกวัน ด้วยหม่อมฉันชอบกินกล้วยเผามานานแล้ว ลูกแอบเปิลกินแต่เป็นอดิเรก แต่หม่อมฉันเกิดเลื่อมใสกล้วยขึ้นตั้งแต่กล้วยช่วยชีวิตหญิงจงให้รอดตายได้ในสักสองสามปีมานี้ เธอเจ็บด้วยธาตุเสียมานานรักษาอย่างไรๆ ก็ไม่หาย ผอมลงจนถึงตีนบวมแม้ตัวเธอเองก็คาคว่าจะตาย หาหมอกอชลิคมารักษา หมอให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุย เขาเล่าว่าวันหนึ่งหมอค๊อตลงมาจากเชียงใหม่ไปที่โรงพยาบาลนั้น เมื่อทราบอาการของหญิงจง บอกหมอกอชลิคว่าโรคอย่างนั้นเคยรักษาที่เมืองเชียงใหม่ด้วยห้ามอาหารอย่างอื่น ให้กินแต่กล้วยหายได้ หมอกอชลิคลองให้หญิงจงกินกล้วย อาการก็ฟื้นขึ้น เลยสั่งให้กินแต่กล้วยจนหายเจ็บ เมื่อเธอออกมาปีนังเวลากินอาหารด้วยกัน หม่อมฉันเห็นเธอกินแต่กล้วยหากมุกมื้อละ ๒ ใบ ๓ ใบ เสมอทุกเวลาจนออกสงสาร แต่ก็เห็นคุณประจักษ์จริง ต่อมาได้เห็นอธิบายในหนังสือปรากฏว่า พวกนักปราชญ์วิชาแพทย์เขาได้ตรวจเห็นธาตุวิตะมิน (เห็นจะตรงกับธาตุอายุวัฒนะ) มีอยู่ในกล้วยมากกว่าสิ่งอื่นที่เป็นอาหาร คิดไปก็กลับเห็นขัน ด้วยไทยเราแม้จนชาวบ้านนอกคอกนาก็เลี้ยงทารกด้วยกล้วยมาช้านาน ตั้งแต่คำวิตะมินยังไม่เกิด รู้จักใช้ตำราอายุวัฒนะของนักปราชญ์มาหลายร้อยปีแล้ว

๒) ที่ตรัสว่าเคยทรงใช้รถอย่างอื่น “เว้นแต่รถซึ่งเกิดขึ้นใหม่” นั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าคือรถถีบสามล้อที่ใช้เป็นรถจ้างในกรุงเทพฯ อยู่บัดนี้ หม่อมฉันก็ไม่เคยใช้เหมือนกัน เพราะออกมาอยู่เมืองปีนังเสียก่อนใช้รถอย่างนั้นในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีขึ้นในปีนังบ้างแล้ว แต่ที่นี่ทำต่างกัน ๒ อย่าง อย่าง ๑ คนถีบอยู่ข้างหน้า อีกอย่าง ๑ คนถีบอยู่ข้างหลัง ดูเหมือนคนเช่าจะชอบอย่างคนถีบอยู่ข้างหลัง หม่อมฉันก็เห็นว่าอย่างนั้นดี เพราะนั่งดูอะไรได้สบายไม่มีก้นคนถีบขวางหน้า แต่ลูกหญิงเธอว่าเสี่ยงภัยยิ่งกว่าอย่างคนถีบอยู่ข้างหน้า เพราะไปโดนอะไรคนขี่เจ็บก่อน แต่หม่อมฉันก็ยังไม่ได้ลองทั้ง ๒ อย่าง

๓) กรวดน้ำกับหลั่งน้ำน่าจะต่างกัน กรวดน้ำเป็นพิธีอุทิศกุศลซึ่งได้บำเพ็ญ หลั่งน้ำเป็นพิธีเปลี่ยนสิทธิ หม่อมฉันได้เคยเห็นในหนังสือว่าด้วยการพิธีของฮินดู เขาอธิบายว่าลักษณะการอุทิศเปตพลีต่างกันเป็น ๒ อย่าง เรียกว่าสะปิณฑกะอย่าง ๑ สะโนฑกะอย่าง ๑ สะปิณฑกะ อุทิศด้วยก้อนข้าวสุก ตรงกับตีข้าวบิณฑ์ของเรา ว่ามีอานิสงส์มาก แต่อุทิศได้แต่เฉพาะผู้ที่สืบสายโลหิตกันโดยตรง สะโนฑกะอุทิศด้วยน้ำตรงกับกรวดน้ำ อานิสงส์น้อยกว่าแต่อุทิศทั่วไปไม่เลือกหน้า ดังนี้การกรวดน้ำจึงเป็นการอุทิศกุศลแก่ “เปรต” ทั่วไปไม่มีประมาณ

หม่อมฉันเคยเห็นแปลกครั้ง ๑ จะได้เล่าถวายแล้วหรือยังก็จำไม่ได้ วันหนึ่งหม่อมฉันไปหาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) ที่วัดโสมนัส เห็นท่านเอาเครื่องบริขารของท่านจัดเป็นสังเคตวางไว้ในกุฏิหลายกอง ถามท่านว่าจะมีงานอะไรหรือ ท่านบอกว่า “นึกว่าแก่แล้ว ไม่รู้ว่าจะตายลงวันไร จึงคิดจะทำบุญแจกบริขารเสียให้ทันตาเห็น แต่อาตมาภาพจะไม่ให้พระยถา เพราะไม่ได้เจตนาจะอุทิศบุญให้แก่เปรต” หม่อมฉันอยากรู้ว่าพระที่รับสังเคตอนุโมทนาอย่างไร สืบได้ความว่า สมเด็จพระสังฆราชวัดราชบพิธเป็นประธานพระสงฆ์ซึ่งรับสังเคต ทรงพระดำริคัดเอาคาถาในอาฏานาฏิยปริตตั้งแต่ สทา สุเขน รกฺขนตุ พุทฺธาสนฺติกราตุวํ ฯลฯ จน สพฺพเวรมติกฺกนฺโต นิพฺพุโต จตุวํภว ว่าแทนยถา แล้วพระสงฆ์ก็รับสัพพีอย่างสวดอาฏานาฏิยปริตต่อไปจนจบ ก็ชอบใจสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

๔) จะเลยทูลต่อไปถึงลักษณะทำบุญเปตพลี หม่อมฉันเห็นว่าพิธีทักษิณานุประทานกับพิธีบังสุกุลต่างกัน จะทำแต่อย่างใดอย่างเดียว หรือจะทำด้วยกันทั้ง ๒ อย่างก็ได้ เพราะฉะนั้นหม่อมฉันทำบุญถวายสมเด็จพระบุรพการีที่วังวรดิศ จึงทำแต่พิธีทักษิณานุประทาน รายการทำบุญถวายสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วัดเบญจมบพิตร์ งานหลวงทำแต่พิธีทักษิณานุประทานก็ถูก สมเด็จพระพันวัสสาทรงทำทั้งพิธีทักษิณานุประทานและพิธีบังสุกุลก็ถูก เรื่องเทศน์สวดนั้นเราก็ได้เคยคิดวินิจฉัยกันมาแล้ว ได้หลักว่าที่พระสวด ๔ องค์เป็นการแสดงพระพุทธวัจนะตามพระไตรปิฎก พระเทศน์เป็นการแปลงพระพุทธวัจนะที่สวดให้คนเข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องสวดก่อนเทศน์ แต่ก่อนก็เคยสวดก่อนเทศน์ และพระธรรมที่สวดกับที่เทศน์ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้แก้ไขมาจนเสียหลักเดิม กลายเป็นเทศน์อย่างมียศสูงขึ้นกับเทศน์สามัญเท่านั้น

๕) พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยนั้น เดิมไม่แต่เป็นเสาไม้ ดูเหมือนจะเป็นพระที่นั่งโถงด้วย เพิ่งทำฝาผนังเมื่อรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับเปลี่ยนเสาไม้เป็นก่ออิฐ หม่อมฉันเห็นเค้าที่ว่าในบทเสภาสุนทรภู่แต่งตอนพลายงามเข้าไปอยู่กับจมื่นศรีฯ ว่า “ครานั้นพลายงามทรามสวาดิ์ แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน อยู่บ้านพระหมื่นศรียินดีครัน ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน เวลาเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาสัย” ความส่อให้เห็นว่าที่เสาเฉลียงเห็นจะมีพนักตั้งกะถางต้นไม้ดัด เมื่อทำฝาผนังในรัชกาลที่ ๓ จึงทำกี๋ก่อสำหรับตั้งต้นไม้ดัดออกไปข้างนอกที่เราได้เคยเห็น

๖) ที่ชายดำอยากออกมาหาหม่อมฉันนั้นก็เป็นธรรมดาลูกกับพ่อ แต่ผิดกับลูกคนอื่นด้วยเธอเป็นทหาร หม่อมฉันก็ได้ห้ามไปแล้วว่าอย่าเพ่อมาจะดีกว่า

๗) เรื่องหม่อมเจ้าบวชนั้น หม่อมฉันมีเรื่องที่จะเล่าถวาย ครั้งชายดิศบวชออกมาให้หม่อมฉันฉลองที่ปีนัง หม่อมฉันเคยออกปากแก่ชายหยดกุมารดิศว่า “พ่อเห็นจะไม่ได้อยู่เห็นเธอบวช” ถึงปีนี้อายุเธอได้ ๑๓ ปี มาบอกว่าอยากจะบวชเป็นสามเณรในสำนักพระมหาภุชงค์ให้หม่อมฉันได้เห็น ก็นึกชอบใจที่เธอมีความกตัญญู แต่หม่อมฉันห้ามเสียด้วยเห็นผิดประเพณีเจ้าทรงผนวช และเห็นว่าเธอจะไม่ได้รับประโยชน์แก่ตัวในการบวชเป็นสามเณรสักเท่าใดนัก

๘) ท้องตราที่มีไปเหมือนกันทั่วทุกเมืองนั้น เดิมเขาเรียกว่า “ตราหมู่” ที่มาแปลงชื่อเป็น “ตราเวียน” เห็นจะเอาคำ Circular ภาษาอังกฤษมาใช้ แต่พิเคราะห์ความดูขัดอยู่ ถ้าเรียกจดหมายอย่างกรมวัง ทูลถามเจ้านายถึงหม่อมเจ้าที่จะโสกันต์และทรงผนวชว่าจดหมายเวียน จึงจะตรงกับลักษณะ

ทูล เรื่องทางปีนัง

๙) หม่อมฉันได้ส่งสำเนาจดหมายหม่อมฉันมีถึงสมเด็จพระมหาวีรวงศ เป็นวินิจฉัยเรื่องลาวถวายมาเมื่อเมล์ก่อน เห็นเรื่องยังบกพร่องด้วยขาดสำเนาจดหมายฉบับแรกที่หม่อมฉันมีไป ทั้งสำเนาลิขิตของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่มีตอบมา หม่อมฉันจึงถวายสำเนาจดหมายทั้ง ๒ ฉบับนั้นมาถวายพร้อมกับจดหมายเวรฉบับนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ในต้นฉบับไม่มีสำเนาจดหมายทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวถึงนี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ