วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๔ ตุลาคมตามเคย ซองลายพระหัตถ์มีรอยตัดปิดตั๋วแดงในกรุงเทพฯ แต่ที่ปีนังมีแต่รอยตรายางของพนักงานตรวจประทับ เป็นเช่นนั้นสืบมาหลายครั้งแล้ว ถ้าเขาตัดซองเขาปิดกระดาษสีน้ำตาลเหตุใดจดหมายพระองค์หญิงมัลลิกามีถวายท่านมาจากเมืองเขมร จึงมีเขียนทับที่กระดาษปิดรอยตัดเป็นภาษาอังกฤษนั้น หม่อมฉันคิดดูก็ไม่เห็น หรือจะส่งมาทางเมืองสิงคโปร์ดอกกระมัง

สนองลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันเข้าใจว่าตำรากระบวนแห่ที่มีชื่อพระปีย์นั้นคือตำราเพชรพวงนั้นเอง พิสูจน์ดูฉบับหอพระสมุดฯ ก็ได้

๒) ครูถึกที่หัดมโหรีของทูลกระหม่อมปราสาทอีกคน ๑ นั้น หม่อมฉันไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อทีเดียว จะเลยทูลวินิจฉัยต่อไปถึงพระนามที่เรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” อย่าง ๑ “ทูลกระหม่อมปราสาท” อย่าง ๑ ทั้ง ๒ พระนามนั้นเคยมีมาแต่ก่อนแล้ว อันพระนามที่เรียกทูลกระหม่อมแก้ว เคยได้ยินว่าพระเจ้าลูกเธอเรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” ทูลกระหม่อมของเราโปรดให้ยกคำแก้วเสีย พระเจ้าลูกเธอจึงเรียกแต่ว่า “ทูลกระหม่อม” มีปัญหาต่อไปว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พระเจ้าลูกเธอเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ว่าทูลกระหม่อมแก้วหรืออย่างไร ดูก็น่าจะเรียกเช่นนั้น และอาจจะใช้ครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำไป เจ้าฟ้าพินทวดีคงสอนให้พระเจ้าลูกเธอเรียก มูลของพระนามที่เรียกว่า ทูลกระหม่อมปราสาทก็เคยเรียกเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดให้เสด็จอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาในบริเวณพระมหาปราสาทเมื่อเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ ๒ เจ้าคุณหญิงต่ายธิดาเจ้าพระยาเสนาบุนนาคอยู่ด้วยยังได้นามเรียกกันว่า เจ้าคุณปราสาท ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ที่เรียกสมเด็จพระมาตามไหยิกาเธอว่า ทูลกระหม่อมปราสาท ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งพิมานรัถยาอย่างเดียวกันกับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี แต่ที่เรียกว่าทูลกระหม่อมแก้วนั้น หม่อมฉันคิดไม่เห็นมูลว่าจะมาแต่อะไร ท่านได้เคยทรงทราบบ้างหรือไม่

๓) ข้อที่ว่าครูไฟต์แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงแตรนั้นไม่มีมูลเลยทีเดียว ครูไฟต์นั้นหม่อมฉันเคยคุ้นกับตัวเอง แกเป็นครูแตรของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ อยู่แพจอดข้างใต้ตำหนักแพวังหน้า หม่อมฉันเคยไปที่แพครูไฟต์ จึงเคยเล่นกับพระเจนดุริยางค์ผู้เป็นบุตรตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุได้สักสี่ห้าขวบ ตั้งข้อพิสูจน์เพียงแต่ว่าเป็นครูแตรวังหน้าเท่านั้น ก็เห็นได้ว่าจะเป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ ไม่ต้องอ้างอย่างอื่นอีก

หม่อมฉันจะเลยทูลเรื่องประวัติของครูฟุสโคต่อไป ครูฟุสโคเป็นชาติอิตาเลียนไปแปลงชาติเป็นอเมริกัน แล้วสมัครเข้าเป็นแตรวงทหารเรือ ครั้งหนึ่งนายพลเรืออเมริกันชื่อ เรโนลด์ มาเยี่ยมเมืองไทย เอาแตรวงในเรือรบ เตนเนสซี ขึ้นมาเล่นในกรุงเทพฯ พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เวลานั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารมารีน พบครูฟุสโคชอบใจจึงชวนให้มาเป็นครูแตรทหารมารีนแทนครูตั๊งที่ตาย ครั้นรวมทหารมารีนเข้ากับทหารเรือเวสาตรีตั้งเป็นกรมทหารเรือ ครูฟุสโคจึงได้เป็นครูแตรทหารเรือแต่นั้นมา ครูตั๊งนั้นหม่อมฉันรู้จัก เป็นญวนแต่จะเป็นศิษย์ใครหม่อมฉันหาทราบไม่ เขาเป็นชั้นเก่ามีชื่อเสียงมาก่อนพระยาวาทิต

๔) นายทหารฝรั่งที่มาเป็นครูหัดทหารไทยมาเมื่อต้นรัชกาลที่ ๔ เป็นนายร้อยเอกทหารอังกฤษชื่อ อิมเป (Impey) คน ๑ ชื่อนอกซ์ (Knox) คน ๑ มาจากอินเดียด้วยกันทั้ง ๒ คน ทูลกระหม่อมโปรดให้จ้างกัปตันอิมเปไว้เป็นครูทหารวังหลวง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดให้จ้างกัปตันนอกซ์ไว้เป็นครูทหารวังหน้า เพราะฉะนั้นทหารไทยจึงใช้แบบทหารอังกฤษแม้จนคำที่บอกทหารก็บอกเป็นภาษาอังกฤษมาแต่แรก ประวัติทหารวังหน้าจะเป็นอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ แต่ทหารวังหลวงนั้นเมื่อครูอิมเปตาย จ้างนายทหารฝรั่งเศสคน ๑ ชื่อลามาชมาแทน ทูลกระหม่อมทรงตั้งเป็นหลวงอุปเทศทวยหาญ หลวงอุปเทศฯ รู้แต่แบบฝรั่งเศสก็เอาแบบฝรั่งเศส แม้จนภาษาที่บอกทหารมาใช้เปลี่ยนแบบอังกฤษหมด คำที่เราเคยได้ยินพวกจำอวดมันเล่นบอกทหารว่า “โถกเถกฮึก” ก็มาแต่คำภาษาฝรั่งเศสซึ่งบอกทหารในสมัยเมื่อหลวงอุปเทศฯ เป็นครู พึงคิดเห็นได้ว่ากระบวนหัดทหารก็ออกยุ่งเพราะครูสอนแบบหนึ่งแล้วมาเปลี่ยนเป็นแบบอื่น ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ จึงเลิกจ้างหลวงอุปเทศฯ แล้วเลือกเอาไทยที่เป็นศิษย์อย่างดีของครูอิมเปขึ้นเป็นครูทหารและกลับใช้แบบอังกฤษอย่างเดิม ครูไทยชั้นแรกมี ๔ คน หม่อมฉันรู้จักทั้งนั้นคือครูเล็ก ได้เป็นขุนรัตรณยุทธ์ครูทหารมหาดเล็กคน ๑ ครูวงได้เป็นขุนรุดรณชัยครูทหารหน้าคน ๑ ครูเชิงเลิง ได้เป็นที่ขุนเจนกระบวนหัด ครูทหารมารีนคน ๑ ครูกรอบได้เป็นที่ขุนจัดกระบวนพล จะเป็นครูทหารกรมไหนหม่อมฉันไม่ทราบคน ๑ ครูทิมทหารรักษาพระองค์ก็พวกเดียวกันแต่ได้เป็นครูขึ้นต่อชั้นหลังมา

ครูเหล่านั้นมักเป็นเชื้อชาติอื่น เช่นครูเชิงเลิง ดูเหมือนจะเป็นเชื้อมอญหรือญวน ครูเล็กครูของเราก็ได้ยินว่าเป็นเชื้อเขมร แต่ครูวงครูกรอบกับครูทิมจะเป็นเชื้อชาติไหนหาทราบไม่ เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อเกณฑ์คนเป็นทหารในสมัยนั้นมักเกณฑ์คนกรมต่างๆ ชาติส่งไปหัดเป็นทหาร

๕) หม่อมฉันเคยไปเมืองสวรรคโลก สุโขทัย หลายครั้ง ไปครั้งหลังในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ฉายรูปปิดสมุดไว้ มีอยู่ด้วยเมื่อเขียนจดหมายนี้ จะทูลสนองเรื่องโบราณวัตถุเมืองสวรรคโลก สุโขทัยด้วยอาศัยความทรงจำ ประกอบกับรูปฉายเป็นข้อๆ ต่อไป

พระเจดีย์ยอดทรงข้าวบิณฑ์นั้น ที่เมืองสวรรคโลก สุโขทัยมากกว่ามากอย่างว่านับไม่ถ้วน พระเจดีย์อย่างนี้พบเค้าเงื่อนประหลาดอยู่ ด้วยมีสร้างแต่ในสมัยสุโขทัย และมีแต่ที่ในเมืองเหนือ ในกรุงศรีอยุธยาหามีไม่ มีเค้าเงื่อนอีกอย่าง ๑ ว่าแม้ในเมืองเหนือก็เป็นของสร้างรุ่นหลัง มีรูปฉายปรากฏแก้พระเจดีย์เดิมอันเป็นรูปสถูป พอกแปลงเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่พอกแตกหล่นลงมาซีก ๑ จึงยังเห็นของเดิมและรอยแปลงทีหลังแต่พบเค้าเงื่อนเป็นข้อสำคัญในหนังสือพิมพ์ Illustrated London News ฉบับ ๑ เขาลงรูปฉายที่ฝังศพโบราณในเมืองจีนแห่ง ๑ ว่าอยู่ที่เมืองวีไฮวีเป็นรูปพระเจดีย์ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์เหมือนที่เมืองเหนือเรียงกันอยู่เป็นแถวชวนให้เห็นว่าน่าที่พระเจ้ารามคำแหงจะได้แบบพระเจดีย์อย่างนั้นมาจากเมืองจีน และชอบสร้างกันอยู่ในสมัยอันหนึ่ง

กรุงสุโขทัยรุ่งเรืองอยู่ตลอดเวลาราว ๑๐๐ ปี เป็นสมัยที่สร้างเจดียสถานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ ในเวลา ๑๐๐ ปีนั้นคงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบอย่างมาตลอดตรงดังท่านทรงพระดำริ ไปพิจารณาดูเมื่อใดก็ยังเห็นได้ตระหนัก แม้พระมหาธาตุสุโขทัยเองก็มีรอยแก้ไขหลายครั้ง องค์พระมหาธาตุเองเดิมก็เห็นจะเป็นพระสถูป ครั้นชำรุดหักพังลงเมื่อปฏิสังขรณ์ครั้งหลังจึงแปลงเป็นพระเจดีย์ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อแบบพระเจดีย์อย่างนั้นเป็นแฟแช่นอยู่แล้ว พระเจดีย์ ๔ ทิศมุมทักษิณพระมหาธาตุก็แปลกที่ทำเป็นพระปรางค์ชั้น ๑ ทำเป็นพระสถูปชั้น ๑ คงหมายจะให้มีพระเจดีย์บริบูรณ์ทั้ง ๓ อย่าง

วัดตระพังเงินที่สามเณรรณชัยอยู่นั้นอยู่นอกเขตพระราชวังแต่โคกปราสาทอยู่ใกล้กับบริเวณวัดมหาธาตุ จนชวนให้เห็นว่าวังเดิมคงอยู่ตรงที่วัดมหาธาตุ ถวายที่วังเดิมให้สร้างวัด จึงย้ายที่มาสร้างปราสาทใหม่ เป็นมูลเหตุที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเอาอย่างมาทำที่พระนครศรีอยุธยาบ้าง ที่โคกปราสาทนั้นเมื่อหม่อมฉันไปครั้งหลังเขาขุดให้เห็นฐานบัทม์ยังมีอยู่ได้ฉายรูปไว้

วัดป่ามะม่วงนั้น หม่อมฉันก็ได้เคยไปดู อยู่ในที่อรัญญิกนอกเมืองสุโขทัยไปทางตะวันตก เป็นวัดขนาดย่อมอย่างพวกพระสงฆ์อรัญวาสี เขาพบศิลาจารึกของพระมหาสวามีสังฆราชที่วัดป่ามะม่วงนั้นด้วย ตรงตามที่ว่าในศิลาจารึกเรื่องพระมหาธรรมราชาลิทัยทรงผนวช ไม่มีที่สงสัย

๖) หม่อมฉันไม่ได้เคยพิจารณาวิหารหลวงที่ตั้งพระศรีศากยมุนี ณ เมืองสุโขทัยถ้วนถี่ถึงเมืองผนังนอก ได้เคยพิจารณาแต่วิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก แต่สังเกตดูก็คล้ายๆ กัน คือในประธานทำเสาลอยรับขื่อ ในประธานไม่สู้กว้างนัก เห็นจะเป็นเพราะในสมัยที่สร้างยังหาไม้ยาวทำขื่อยาก จะทำให้เป็นวิหารใหญ่จึงต้องลองหลังคาเป็นเฉลียงต่อออกไปข้างๆ ถึง ๒ ชั้น เฉลียงชั้นในทำเสาลอยรับชายคาอีกแถว ๑ ชายคาชั้นนอกเตี้ยเกือบถึงหัวคนยืน มีฝาผนังก่ออิฐเป็นช่องลูกฟักรับชายคา หม่อมฉันเคยนึกแต่แรกว่าเดิมจะเป็นวิหารโถงดอกกระมัง แต่คิดไปเห็นว่าในวิหารย่อมจะมีเครื่องมหรรคภัณฑ์พุทธบูชาอยู่เป็นนิจ คงต้องเป็นฝาต่อผนังด้านหน้าและด้านหลังวิหารให้เป็นที่ปิดรักษาของได้

เมืองสุโขทัยมีมาแล้วและเรียกชื่อว่า เมืองสุโขทัย มาแต่ก่อนไทยได้มาครอบครอง จึงเห็นว่าคำ “ไทย” นั้นมาแต่ “อุไทย” ภาษามคธหรือสันสกฤตมิใช่หมายว่าชนชาติไทย คำว่า “ไทย” ที่ใช้เรียกคนพ้นจากทาสนั่นแหละอาจหมายว่าเป็นชนชาติไทย เกิดแต่เมื่อไทยลงมาได้เป็นใหญ่ โปรดปล่อยคนชาติเดียวกันให้พ้นทาส จึงเรียกว่าปล่อยเป็นไทย หม่อมฉันคิดเห็นว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

๗) ซึ่งทรงปรารภถึงโคลง ๒ บทที่อยู่ท้ายลิลิตเรื่องพระลอ บทต้นบท ๑ ขึ้นว่า “จบเสร็จยุพราชเจ้า นิพนธ์” แต่อีกบท ๑ ขึ้นว่า “จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์” ต่างกันเช่นนั้นด้วยเหตุใดนั้น หม่อมฉันก็ได้เคยคิดวินิจฉัย มีความเห็นดังจะทูลต่อไปนี้ บทกลอนแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่แต่งดีถึงรักษากันไว้เป็นตำราสืบมานั้น สังเกตตามสำนวนแต่งเป็นยุค ๆ ยุคที่ ๑ แต่งเมื่อสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกตัวอย่างเช่นลิลิตยวนพ่าย และมหาชาติคำหลวงเป็นต้น ยุคที่ ๒ แต่งเมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยกตัวอย่างเช่น ฉันท์เรื่องสมุทรโฆษและอนิรุธเป็นต้น ยุคที่ ๓ แต่งเมื่อสมัยพระเจ้าบรมโกศ ยกตัวอย่างเช่น ฉันท์บุรโณวาท และกาพย์เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นต้น สำนวนลิลิตพระลอดูแต่งในยุคที่ ๑ ตามเรื่องพงศาวดารยุคนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์อยู่ ณ พระนครศรีอยุธยาเมื่อตอนต้นรัชกาล จนถึงสมัยทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ (อันเป็นตัวเรื่องของลิลิตยวนพ่าย) เสด็จขึ้นไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลกสืบมาจนตลอดรัชกาล ในสมัยนี้ โปรดให้พระบรมราชาราชโอรสพระองค์ใหญ่ครองพระนครศรีอยุธยา ทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์น้อยซึ่งประสูติ ณ เมืองพิษณุโลก นามว่าเชษฐา เป็นพระยุพราชอยู่ในราชสำนัก ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต พระบรมราชาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน โปรดให้พระเชษฐาอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ตามเค้าในเรื่องพงศาวดารดูพระเชษฐาจะเป็นผู้แต่งลิลิตพระลอเมื่อยังประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก โคลงท้ายเรื่องบทแรกจะทรงแต่งเองก็ตาม หรือผู้อื่นแต่งก็ตามจึงเรียกพระนามว่าพระยุพราช แต่โคลงบทหลังเป็นของผู้อื่นแต่งเมื่อเสวยราชย์แล้ว อาจจะหมายให้เปลี่ยนใช้แทนโคลงบทแรก จึงเรียกพระนามว่า มหาราช หม่อมฉันคิดเห็นว่าจะเป็นอย่างอธิบายนี้

๘) ราชาศัพท์นั้น ว่าที่จริงก็มีในภาษามนุษย์ทุกประเทศเช่นคำว่า His Majesty His Excellency ก็ราชาศัพท์นั่นเอง แต่ของไทยเราเลอะมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้คิดตำราขึ้น และพูดเพื่อจะยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป จึงเลยเลอะ แต่หม่อมฉันเห็นเป็นใหญ่อยู่ที่ความนิยม ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง เพราะใช้ราชาศัพท์นั้นผู้พูดต้องท่องจำและเลือกคำพูดลำบากมิใช่น้อย

๙) ฤทธิ์เดชด้วยสามารถเลี้ยงเสือสิงห์เป็นเป๊นไว้รักษาตัวนั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์เดชเช่นนั้นอยู่มาจนได้ดูหนังฉายในสมัยนี้ ที่เขาอาจจะเอาเสือสิงห์มาเล่นเป็นฝูงๆ ก็จะเห็นจะปล่อยเสือสิงห์เป็นเป๊นเหล่านั้นหมด ด้วยมันไม่ประหลาดเสียแล้ว

๑๐) สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จทอดพระกฐินวัดนิเวศน์ติดๆ กันมาหลายปีแล้ว แต่เป็นการดี ด้วยพระองค์ท่านจะได้เสด็จแปรสถานไปให้ทรงสบายอย่าง ๑ กับวัดนิเวศน์จะได้รับความทำนุบำรุงอยู่เสมอด้วยอีกอย่าง ๑ หม่อมฉันก็ยินดีอนุโมทนา

๑๑) หม่อมฉันเคยคิดอยู่เนืองๆ ว่า ผู้เป็นพนักงานตรวจจดหมายเวรของเราเขาจะนึกอย่างไร ด้วยทุกฉบับเป็นจดหมายยาว เรื่องก็ไม่สนุกทั้งเข้าใจก็ยาก และลงที่สุดไม่มีอะไรแสลงแก่การบ้านเมือง ต้องอ่านเสียเวลาเปล่าทุกฉบับ หรือบางคนเขาจะเป็นนักเรียนรักรู้โบราณคดี ถ้าเช่นนั้นก็เห็นจะออกสนุกบ้าง แต่ผู้ที่ไม่เอาใจใส่หาความรู้เพียงแลเห็นซองก็น่าจะเบื่อ

บรรเลง

จะอธิบายถวายเรื่องยา “วิตะมิน” ตามที่ทูลผัดมาแต่สัปดาหะก่อน ตามที่หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์ประกอบกับที่ได้รู้มาแต่ก่อนบ้างแล้ว

เขาว่าโรคที่เกิดเพราะกินอาหารผิดสำแลงนั้นรู้กันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่โรคที่เกิดเพราะ “ไม่กิน” อาหารสำหรับป้องกันเพิ่งรู้กันขึ้นใหม่ เริ่มรู้ด้วยสังเกตอาหารโรคสะเคอวี (Scurvy) ก่อนอย่างอื่น โรคนั้นมีอาการโลหิตออกตามรายฟันเป็นต้น บางทีทรุดโทรมจนถึงตาย มักเกิดในพวกกะลาสีเรือใบที่ต้องแล่นไปในทะเลคราวละนานๆ วัน รู้กันขึ้นด้วยเรือใบลำ ๑ ไปถึงท่า มีกะลาสีเจ็บเป็นโรคสะเคอวีอาการมากบ้างน้อยบ้างอยู่ในเรือหลายคน คนเจ็บที่อาการยังเบาขึ้นบกไปซื้อลูกไม้กินอาการค่อยคลายขึ้น หมอเห็นแปลกลองหาลูกไม้ลงมาให้คนไข้ที่อยู่ในเรือกิน อาการก็คลายขึ้นตามกันทั้งนั้น จึงได้ความรู้ว่าโรคสะเคอวีเกิดเพราะเมื่อเรือแล่นอยู่ในทะเล กะลาสีกินแต่เนื้อกับขนมปังเป็นอาหาร ไม่ได้กินผักและผลไม้ช้านานจึงเจ็บเป็นโรคอย่างนั้น เกิดขึ้นเพราะไม่กินอาหารที่ป้องกันโรคความรู้มีเพียงเท่านั้นมาช้านาน จนถึงสมัยตรงกับในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดโรคเหน็บชา (Beri beri) ขึ้นแพร่หลายในเหล่าประเทศทางตะวันออกนี้ พวกนักปราชญ์สังเกตว่าโรคเบรี่เบรี่ชุกชุมแต่ในประเทศที่คนกินข้าวเป็นอาหารประจำ สงสัยว่าโรคนั้นจะเกิดแต่ข้าวที่กิน และในสมัยนั้นประจวบกับเวลาโรงสีไฟคิดเครื่องมือสีขัดข้าวสารได้หมดเยื่อหุ้มจนขาวสะอาดออกจำหน่ายในท้องตลาดแพร่หลาย เมื่อหมอสงสัยอยู่อย่างนั้น มีชายหนุ่มฮอลันดาคน ๑ ชื่อคริสเตียน ไอกแมน (Christian Eijkman) เป็นผู้ช่วยอยู่ในโรงผสมยาแห่ง ๑ ซื้อข้าวสารขัดไปเลี้ยงไก่ สังเกตเห็นว่าตั้งแต่ไก่กินข้าวสารขัดก็ไม่สบาย มีอาการคล้ายกับคนเป็นโรคเบรี่เบรี่ จึงให้ไก่กลับกินอาหารอย่างเดิมก็หายเจ็บ ได้ความรู้นั้นเสนอแก่พวกหมอ ๆ ก็ทดลองต่อมาด้วยให้คนเจ็บเป็นเบรี่เบรี่เลิกกินข้าวสารขัดเปลี่ยนไปกินข้าวสารตำที่ยังมีเยื่อหุ้มอาการก็คลายขึ้น จึงลงความเห็นเป็นยุติว่าข้าวเป็นเชื้อโรคเบรี่เบรี่ แต่เห็นกันในชั้นแรกว่าเชื้อโรคอยู่ที่แก่นข้าว เครื่องป้องกันอยู่ที่เยื่อ แต่ก่อนมากินข้าวมีเยื่อหุ้มจึงไม่เป็นโรคเบรี่เบรี่ แต่มีข้อค้านความเห็นเช่นนั้นอยู่บ้างด้วยคนเป็นโรคเบรี่เบรี่มักจะเป็นคนชั้นต่ำ เช่นพวกกรรมกรเป็นต้น แต่ชั้นพวกคฤหบดีกินข้าวขัดอยู่เป็นนิจก็หาเป็นโรคเบรี่เบรี่ไม่ อีกประการ ๑ โรคเบรี่เบรี่ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะคนที่กินข้าว ถึงคนที่ไม่ได้กินข้าวเป็นอาหารประจำก็เป็นโรคเบรี่เบรี่ได้เหมือนกัน ชั่วแต่จำนวนน้อยกว่าพวกที่กินข้าว จึงคิดค้นหาเหตุต่อไปด้วยการทดลองต่างๆ จนสามารถทำให้เกิดโรคเบรี่เบรี่ได้ด้วยสิ่งอื่นนอกจากข้าว ความเห็นก็แปรไปว่าที่เป็นโรคเบรี่เบรี่มิใช่เป็นเพราะกินของแสลงเป็นอาหาร ที่แท้เป็นเพราะไม่กินอาหารที่ป้องกันโรคนั้น ชี้แจงว่าที่คนชั้นคฤหบดีกินข้าวขัดไม่เป็นโรคเบรี่เบรี่นั้น เพราะกินธาตุป้องกันโรคเบรี่เบรี่อันมีอยู่ในกับข้าวอย่างอื่น เหมือนเช่นมีเยื่อที่เมล็ดข้าว ส่วนพวกที่ไม่ได้กินข้าวเป็นโรคเบรี่เบรี่นั้น ก็เพราะโรคเบรี่เบรี่อาจจะเกิดได้แต่อาหารอื่นๆ ดังได้ทดลองเห็นแล้ว มิใช่เกิดแต่เฉพาะที่ข้าวอย่างเดียว ถึงชั้นนี้จึงเกิดความคิดว่าจะต้องมีธาตุอย่างหนึ่งอย่างใด สำหรับป้องกันโรคเบรี่เบรี่อยู่ในสิ่งต่างๆ อันพึงเห็นได้ว่าต้องมีอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นกับข้าวของคฤหบดี และไม่มีธาตุนั้นในอาหารของคนที่ไม่กินข้าวจึงเป็นโรคเบรี่เบรี่ การค้นหาธาตุนั้นจึงเป็นกิจเกิดขึ้น ถึง ค.ศ. ๑๙๑๓ (พ.ศ. ๒๔๕๖) ผู้ทดลองชื่อคะสิเมอ ฟังค์ (Casimir Funk) ตรวจพบธาตุนั้นในเยื่อเมล็ดข้าว ยังไม่มีชื่อเรียก เพราะยังไม่เคยมีปรากฏในตำราจึงตั้งชื่อธาตุนั้นว่า “วิตะมิน” เพราะเป็นชื่อบัญญัติขึ้นใหม่เพียง ๒๘ ปี จึงยังไม่มีในพจนานุกรม ตั้งแต่ปรากฏว่าพบธาตุวิตะมินที่กันโรคเบรี่เบรี่ได้ ก็มีพวกนักปราชญ์ค้นหาธาตุวิตะมินสำหรับกันโรคอื่นแพร่หลายออกไป เมื่อพบวิตะมินที่มีสรรพคุณต่างออกไปจะเรียกให้ผิดกันจึงเติมชื่ออักษรเข้าข้างท้าย เช่นว่า “วิตะมิน เอ” และ “วิตะมิน บี” เป็นต้น เดี๋ยวนี้มีจนถึง “วิตะมิน พี” แล้ว สรรพคุณของวิตะมินต่างๆ เขาพรรณนาในหนังสือพิมพ์แต่บางอย่าง ดังนี้ –

วิตะมิน เอ. ถ้าไม่กินมักเกิดโรคที่ผิวหนังและตาฟาง ธาตุวิตะมินอย่างนี้มีอยู่ในอาหาร เช่น ตับ น้ำมันปลา ไข่แดง เนย และผักต่าง ๆ

วิตะมิน บี. ถ้าไม่กินมักเป็นโรคเส้นประสาท และโรคเบรี่เบรี่ ธาตุวิตะมินอย่างนี้มีอยู่ใน เนื้อวัว เนื้อแกะ เยื่อธัญญาหาร ถั่ว มัน และผัก เพราะคนกินของเหล่านี้ปนกับข้าว กินข้าวขัดจึงไม่เป็นโรคเบรี่เบรี่

วิตะมิน ซี. ถ้าไม่กินมักเป็นโรคสะเคอวี ธาตุวิตะมินอย่างนี้มีอยู่ในผลไม้ เช่น ส้ม เป็นต้น

วิตะมิน ดี. บำรุงกระดูกโครงร่างกายให้เจริญ มีอยู่ใน ไข่ เนย และน้ำมันปลาค๊อต น้ำมันปลาหะลิบุต แต่น้ำนมสดเป็นอาหารที่สมบูรณ์ด้วยธาตุวิตะมินต่างๆ ยิ่งกว่าอาหารอย่างอื่นๆ หมด

ตั้งแต่ตรวจพบธาตุวิตะมินและทดลองเห็นสรรพคุณแล้ว ก็มีผู้แยกธาตุทำวิตะมินอย่างต่างๆ จำหน่าย ทำเป็นยาเมล็ดบ้างทำขนมและลูกกวาดแทรกธาตุวิตะมินที่บำรุงร่างกายบ้าง จำหน่ายแพร่หลาย ครั้นถึงสมัยสงครามครั้งนี้อาหารอัตคัด นัยว่าถึงรัฐบาลคิดอ่านให้แทรกธาตุวิตะมินในขนมปังสดให้รี้พลกินมิให้ถอยกำลัง ได้ความในเรื่องวิตะมินดังพรรณนามา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ