วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ๒ ฉบับ

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ มีนาคม

๑) ภาชนะเหล็กซึ่งมีตราจักรนั้น ได้นับแฉกจักรแล้ว มี ๕ แฉก อันจักรที่มีฟันเป็นแฉกนั้น ให้สงสัยไปว่าจะเป็นขึ้นในบ้านเรานี่เอง เพราะทางอินเดียเท่าที่เคยเห็นมา จักรก็เป็นลักษณะกลมเกลี้ยงดุจฉาบทั้งนั้น เกรงจะเป็นแฉกขึ้นที่คำ “จักร” มาโดนกับคำ “จัก” ซึ่งแปลว่าหยักของเราเข้า จึ่งพาให้หยักเป็นแฉกไป ในการที่มี ๙ ดวง จะสันนิษฐานว่าเป็นจำนวนนพเคราะห์ทางโหรก็ได้ หรือจะลากเอามาเป็นทางพุทธศาสนา เป็นนวารหาธิคุณก็ได้ แล้วแต่เวลาทำนั้นคนจะถือศาสนาอะไรกันเป็นใหญ่ คิดไม่เห็นอย่างพระดำริอยู่เหมือนกันว่าเป็นภาชนะอะไร แต่ทำสำหรับใช้ในการพิธีนั้นแน่

๒) ขรัวพ่อธรรมจักรนั้น ได้ทราบอยู่เหมือนกันว่าตราธรรมจักรเก่าหายทำตราใหม่ขึ้นแทน แล้วสมภารเอาขึ้นไปเก็บไว้บนกุฏิ ที่กราบทูลว่าตราธรรมจักรเป็นรูปดอกบัวนั้น ได้เห็นขี้ผึ้งของแม่ลอยอยู่ในครอบสัมฤทธิ์ที่ล้างหน้า ว่ากดเอามาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ ตราที่สมภารท่านเก็บไว้จะเป็นรูปอย่างไรหาได้สังเกตไม่ จะเหมือนกับที่แม่กดเอามาหรือไม่ก็ไม่ทราบ ที่ค้ำพระกรไว้ก็เห็น แต่ที่เป็นพระปูนนั้นไม่ทราบ เข้าใจว่าเป็นพระหล่อ ฝ่าพระบาทเก่งเต็มทีที่ได้ทรงไต่สวนและทรงทราบว่าเป็นพระปูน ทรงพระดำริว่าองค์เดิมจะเป็นพระหล่อ จึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่าองค์เดิมไปอยู่เสียที่ไหน

๓) พระพุทธรูปที่ท้ายโบสถ์วัดเบญจมบพิตรนั้น เกล้ากระหม่อมเองเป็นผู้เขียนแท่นปูนที่ตั้งพระพุทธรูปองค์นั้น ทั้งได้ทราบด้วยว่าฝ่าพระบาทนำความมากราบบังคมทูล แต่ไม่ทราบว่าเดิมอยู่ที่ไหน ได้ทราบความตามที่ตรัสบอกนั้นก็ดีขึ้นอีก แต่ต่อขึ้นไปว่ากรมพระพิทักษ์เชิญมาแต่ไหนนั้นยังรู้ไม่ได้ ตามพระดำริที่ว่าจะเป็นขรัวพ่อธรรมจักรนั้นก็เป็นแต่ทรงสันนิษฐาน โดยเหตุที่มีตราอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ อาจเป็น “แฟชั่น” ที่เขาทำอย่างเดียวกันในครั้งหนึ่งก็ได้

๔) ห้องพระที่ตำหนักวังวรดิศนั้นเขาใส่ประแจเสียแล้ว ก็ดีอยู่เพราะห้องนั้นอยู่ริมทาง ทั้งมีของที่มีราคาอยู่ในนั้น ประเดี๋ยวจะมีนักเลงดีดอดขึ้นไปเต๋งเอาอะไรไปเสีย เพราะไม่ใช่ที่ใช้อยู่เสมอ การที่จะรู้อะไรในนั้นย่อมพักเสียได้ เชื่อตามพระดำรัสแล้วว่าเป็นคาถาพระราชทานพระนาม คำแปลนั้นอาจโปรดให้ใครแต่งเป็นกาพย์ฉบังขึ้นก็ได้ หนังสือนั้นติดไว้ต่ำๆ พออ่านได้ไม่ต้องปลด เว้นแต่อะไรต่ออะไรตั้งบังเสียอ่านยากไปเท่านั้น ถ้าเลื่อนของเหล่านั้นไปเสียก็อ่านได้

๕) ออกจะจองหองที่ว่า ตาดูของเก่าใหม่ก็ทราบได้ถูก พระพิฆเนศวรนั้นสมแล้วที่เป็นเจ้าพระยาธรรมาถวาย เจ้าพระยาธรรมาชอบทำอะไรที่ดัดแปลงอยู่เสมอ เกล้ากระหม่อมเคยอยากถ่ายเอาพระพุทธรูปเทศนาธรรมจักรจำหลักด้วยศิลา ซี่งฝ่าพระบาททรงนำเอาเข้ามาแต่อินเดีย เห็นตั้งอยู่ที่บ้านท่านจึ่งขออนุญาตถ่าย ท่านบอกว่าไม่ต้องถ่าย ท่านถ่ายไว้มีแล้ว ท่านให้คนเอามาให้ เป็นรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เห็นเข้าก็ต้องส่งคืน เพราะดัดแปลงเสียสิ้นแล้ว แต่พระพุทธรูปองค์นั้นทีหลังได้รูปถ่ายปูนขาวลอกจากองค์เดิมแต่พิพิธภัณฑสถานมาไว้แล้ว องค์ศิลาเดิมเดี๋ยวนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถาน

พระเศียรพระพุทธรูปซึ่งเห็นว่าถ่ายจากพระเศียรศิลามานั้น ฝ่าพระบาทยังทรงเก่งต่อไปที่ทรงสืบเอาต้นตอได้ ตู้ของปลอมซึ่งตั้งอยู่ที่เฉลียงตำหนักชั้นล่างก็เคยเห็นมาแต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อันของเก๊นั้นพอเห็นก็ทราบได้ ด้วยการที่เขาทำนั้นย่อมมีแบบมีคราวและมีถิ่น แต่คนทำปลอมไม่รู้ก็ทำไปตามบุญตามกรรม ถึงแม้จะถูกแบบก็เอาปนกันเสียยุ่ง ผู้เล่นของเก่าก็ไม่รู้ มีครั้งหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องแก่เกล้ากระหม่อม คนเล่นของเก่าเขาเอารูปพระอิศวรกับพระอุมาทรงโคตั้งอวด เขาว่าเป็นฝีมือเขมร แต่เกล้ากระหม่อมนิ่งไม่พูดส่งเสริมเขาก็ไว เขาว่าหรือเก๊ เกล้ากระหม่อมก็นิ่งอีก แล้วจะอย่างไรกันต่อไปไม่ทราบ

“พระคเณศ” เป็นชื่อที่เรารู้กันใหม่ คือ คณ+-อิศ (เจ้าแห่งคณะ หมายความว่าเจ้าแห่งคณะของพระอิศวร) “พิฆฺเนศฺวร” เป็นชื่อที่เรารู้กันเก่า คือ พิฆฺน+อีศวร (เจ้ากันจังไร) เป็นของไม่ผิด พระนามนั้นมีอยู่เหมือนกันจึ่งได้ใช้

๖) ตู้เหนือใต้ในห้องพระตำหนักวังวรดิศ เขาใส่ประแจไว้รู้ว่าในนั้นเป็นของสำคัญ แต่ก็รู้ว่าไม่มีสิ่งที่จะตื่นใจอยู่ในนั้น จึงไม่ได้ให้เขาไขประแจออกดูเห็นว่าที่ใส่ประแจอยู่ก็ดีแล้ว จะได้ป้องกันมือขโมยอันจะหยิบไปเสียได้ง่าย เพราะล้วนแต่เป็นของมีราคาประกอบอยู่ทั้งนั้น ที่ตรัสบอกว่ามีอะไรอยู่บ้างและมีที่มาอย่างไรเท่านั้นก็ดีพอแล้วที่ได้ทราบ

๗) การฟันไม้สิบสอง ถ้าสำคัญพระทัยว่าเป็น “เปเตนต์” ของวังหน้ามหาสุรสีหนาทแล้ว ก็ทีจะผิดไปมาก เขาเห็นจะฟันไม้สิบสองไม้ยี่สิบกันมาเสียก่อนนั้นตั้งพันปีแล้ว ในเมืองเขมรก็เห็นอยู่ดาษดื่นทำกันมาแต่ครั้งบ้านเมืองดี เข้าใจว่าเราก็จำมาจากเขา ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าคิดทำกันขึ้นในเมืองเขมรเองเสียด้วยซ้ำ จำประเทศอินเดียมาทำอีกต่อหนึ่ง

น่าคิดแต่เรื่องทำยอดฝาลองประกอบโกศ เป็นทรงมงกุฎและทรงปริก ว่าจะมีหมายผิดกันอย่างไร นั่นเป็นคิดทำขึ้นในบ้านเราแน่ ก็เป็นอันแน่ใจว่ายอดทรงมงกุฎสำหรับเจ้า ทรงปริกสำหรับขุนนาง พยานก็มีเห็นได้อยู่ที่ลองโกศเกราะฝาก็เป็นทรงปริก

อนึ่งฝาโกศก็แต่ล้วนเป็นทรงปริกทั้งนั้น แต่ถ้าลองประกอบโกศมียอดเป็นลักษณะแหลมสูงก็รู้ได้ว่าเป็นพระศพเจ้า ถ้ายอดกุดก็เป็นศพขุนนาง ถ้าหากประเพณีเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ติดจะดีๆ ที่ดูรู้ได้ทันทีในเมื่อศพออกตั้งเมรุ

ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๙ มีนาคม

๘) รูปพระแท่นที่เสด็จออกในเมืองพม่า อันมีเศวตฉัตรซ้อนชั้นซึ่งทรงฉายนั้น ยังไม่เข้าใจว่าจะส่งประทานจนเกิดถ้อยร้อยความทำไม เพราะรูปนั้นก็ได้ประทานไปแล้ว แม้จะตรัสถึงอะไรตรัสอ้างไปเท่านั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตให้ลำบากไปเปล่า

อันชื่อพระแท่นที่เสด็จออกนั้นได้เอาใจใส่โดยจำเพาะ พระแท่นที่เสด็จออก ณ ปราสาท ซึ่งเข้าใจว่าซุ้มมีรูปฉัตรซ้อนชั้นนั้น มีชื่อเรียกตามภาษาพม่าว่า “เมีย-นัน-ซัน-โย” ล่ามเขาแปลว่าพระที่นั่งราชสีห์ ทีก็จะตรงกับพระที่นั่งสิงหาสน์ หรือสิงหบัญชรของเรานี่เอง

ได้ยินคำค้านในเรื่องฉัตรซ้อนชั้นมาเสียงหนึ่ง ว่าถ้าซ้อนใส่คะแนนเมืองอันตีได้แล้ว จะต้องมีฉัตร ๖ ชั้น ๘ ชั้น แต่นี่ก็ไม่มี เสียงนี้ฟังขึ้น เป็นหลักได้อย่างหนึ่ง

๙) นิทานโบราณคดีเรื่องอั้งยี่นั้น อ่านได้ความรู้ขึ้นหลายอย่าง

วัดฝรั่งฟากข้างโน้นซึ่งเรียกกันว่า “กุฎีจีน” นึกแปลไม่ออกเลยว่าเหตุใดจึ่งมีชื่ออย่างนั้น เมื่อมาได้อ่านนิทานโบราณคดีเรื่องอั้งยี่พบคำ “คดีจีน” เข้าจึงนึกว่าคำ “กฎีจีน” อาจมาแต่ “คดีจีน” ก็ได้ แต่ทำไม “คดีจีน” จึงไปเป็นชื่อตำบลบ้านนั้นก็ยังคิดไม่เห็น

อั้งยี่ก็คือโจรเรานี่เอง มีวัตถุประสงค์จะลงเอาเงินแก่ผู้ทำมาหาได้ และต่อต้านกับพวกที่ขัดคอ ที่ตั้งเรื่องเล่ามูลเหตุเอาเทพนิยายเข้าประกอบนั้นไม่เห็นสมเลย

คำว่า “อั้งยี่” ก็ได้เคยคิด แปลเอาเองว่าหนังสือแดง นึกว่าหมายถึงตราที่ประทับ ฝ่าพระบาททรงคาดว่าจะเป็นยี่ห้อติดกงสีก็ได้เหมือนกัน คำ “เทียนเต้หวย” ดีที่ได้ทราบคำ “เต้” ว่าแปลว่าแผ่นดินที่จีนนับถือฟ้าดิน เดิมทีนึกว่าเป็นของจีน แต่เผอิญไปพบเข้า ทางอินเดียแต่ก่อนก็นับถือฟ้าดิน ดูเหมือนเรียกว่า “เธฺยาส์” จึ่งทราบว่าจีนจำทางอินเดียไปอีกต่อหนึ่ง ที่มี “หวย” เพิ่มขึ้นเป็น ๓ นั้นทีจะเป็นของจีนแน่ แต่แผ่นดินกับมนุษย์นั้นออกจะซ้ำกัน

ตามรับสั่งที่ว่าอ่านแล้วให้ส่งไปปรึกษาพระเจนนั้น บัดนี้ไม่มีตัวพระเจนเสียแล้ว แต่จะลองทางอื่น จะสำเร็จไปได้หรือไม่ก็กราบทูลไม่ได้

๑๐) ที่ชาวปีนังเขาเรียกว่าปิดม่วงปิดดำเป็นครึ่งยศเต็มยศนั้น รู้สึกว่าดีเต็มที ที่ทรงรู้สึกเดือดร้อนน้อยลงเข้าใจว่าเป็นเพราะได้เตรียมรับ ตามที่ตรัสเล่าถึงตะเกียงทรงพระอักษรก็เป็นธรรมดา ใครต้องการอย่างไรคนทำเขาก็ทำขายตามที่คนต้องการ ดีกว่าพวกอั้งยี่เอาเงินเสียเปล่าๆ เป็นอันมาก

๑๑) สระและคูที่บ้านปลายเนินขุดมานานแล้ว ทราบแน่ว่ามีตมแล้ว ที่บัวตายนั้นไม่ใช่แต่บัววิกโตเรีย บัวอื่นก็ตายเหมือนกัน จึ่งคิดว่าเป็นด้วยน้ำเค็มเข้า

มีชื่อดอกบัวในภาษามคธชื่อหนึ่ง คือ “บงกช” (ปงฺก+ช) แปลว่าเกิดในตมตรงกับที่ตรัสทีเดียว อันต้นไม้นั้นเล่นกับมันยาก ประกอบด้วยดินด้วยอากาศอะไรหลายอย่าง เช่นที่บันดุงต้นตาลไม่มีเลย ต่อคนที่เขาไปปตาเวียไปสุรบายาเขาเอาลูกมาจึงจะได้กินกัน บัวก็เข้าใจว่าจะขึ้นในที่ต่ำเหมือนกัน

๑๒) เสด็จลงในการสมโภชลูกเธอประสูติ เห็นแต่ทรงพระดำเนินไม่เคยเห็นทรงพระราชยานเล็ก จึงนึกถึงไม่ได้

ข่าว

๑๓) ชายแอ๊วเจ็บด้วยเรื่องถอนฟัน หลานหมูเจ็บด้วยเรื่องไส้ตันถึงต้องผ่าตัด แต่รายละเอียดนั้นทางพระโอรสธิดาคงจะกราบทูลมาให้ทรงทราบแจ่มแจ้งได้ดีกว่า เกล้ากระหม่อมก็ไม่สบาย แต่เป็นหวัดเท่านั้นเอง ไม่หนักหนาอะไร

๑๔) เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม มีการเผาศพชายเสริมสวาดิที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ แต่ไม่ได้ไปเพราะไม่สบายเสีย ให้แต่ลูกไป ได้หนังสือแจกเรื่อง “การรถไฟไทย” มา

๑๕) วันที่ ๒๔ มีนาคม ไปการเผาศพหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ ที่วัดไตรมิตรเพราะสบายแล้ว ที่เผาศพหญิงจงกลทำดี เพราะเธอมีกัลยา ในงานนั้นแจกหนังสือ ๕ เล่ม (๑) อาหารคนป่วยของหญิงจงกล (๒) บิดามารดากับบุตร พระดุลยกรณ์พิทารณ์แต่งและตีพิมพ์ช่วย (๓) สุขุปายกถา คณะวัดๆ ตีพิมพ์ช่วย (๔) เรื่องพระพุทธบาท (สระบุรี) หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์แต่ง ท่านเจ้านวมตีพิมพ์ช่วย พลิกดูจาวๆ ไม่พบอะไรใหม่ เก็บจากโน่นบ้างนี่บ้าง (๕) เรื่องพระศุนหเศป พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖

๑๖) ลายพระหัตถ์อันควรจะเข้าไปกับรถไฟวันเสาร์ ยังไม่ได้รับตามเคย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ