วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๗ มกราคม ซึ่งมาถึงเมื่อคราวเมล์วันที่ ๙ นั้นแล้ว แต่ลายพระหัตถ์ฉบับที่มาเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม เห็นจะเป็นอันหายสูญ ขอประทานสำเนาส่งมา

สนองความในลายพระหัตถ์

๑) ซึ่งทรงปรารภ เรื่องการแก้กระบวนพระสวดมนต์นั้น หม่อมฉันจะลองทูลสนองโดยทางโบราณคดีตามที่เคยได้ยินมาและที่ได้เคยรู้เห็นเอง

เขาเล่าว่าเมื่อรัชกาลที่ ๔ ในการพิธีโสกันต์ที่แห่รอบนอก ทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะให้แห่กลับก่อนมืด พระต้องรีบสวดมนต์ให้จบทันเวลา จึงคิดสวดตัดพลความบางแห่งในปริตรออกเสีย ข้อนี้หม่อมฉันได้เคยเห็นด้วยกันกับกรมพระสมมตฯ ครั้งหนึ่งในงานโสกันต์เมื่อรัชกาลที่ ๕ วันนั้นสมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงนำสวดมนต์ เป็นเวลาใกล้จะค่ำสวดถึงธชัคคสูตร ท่านทรงนำขึ้นเอวมฺเมสุตฺตํ สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) หันหน้าลงมาชักสวดซ้อนขึ้น อิติปิโส ภควา เสียงท่านดังกว่าสมเด็จพระมหาสมณะพระก็สวดอิติปิโสตามท่านหมด อันนี้คงเป็นเพราะสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) ท่านเคยรู้แบบมาแต่รัชกาลที่ ๔

ที่สวดตัดอย่างใช้ทุกวันนี้ หม่อมฉันเข้าใจว่าสมเด็จพระมหาสมณะทรงจัดระเบียบขึ้นในรัชกาลที่ ๖ หรือจะเป็นตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ จำไม่ได้แน่ ด้วยเหตุพระราชพิธีมีการอย่างอื่นเพิ่มขึ้น จะมิให้ต้องใช้เวลาสวดมนต์นานเหมือนแต่ก่อน แต่นั้นถ้ามิใช่พิธีที่จะต้องสวดมนต์เต็มแบบเดิม เช่นพิธีถือน้ำและพืชมงคลอันต้องสวด ๑๒ ตำนาน และพิธีเฉลิมพระชันษาเป็นต้น ก็ใช้สวดมนต์อย่างสั้น ซึ่งน่าเรียกเข้าชุดกับมหาปริตรและจุลราชปริตรว่า ทยราชปริตร เป็นประเพณีมา แต่ประหลาดที่พระตามบ้านนอก แม้ในเมืองปีนังนี้ สวดมนต์ลัดกันมาช้านานแล้ว สวตมนต์อย่างสั้นที่เพิ่งใช้ในกรุงเทพฯ หาใช่ของใหม่ไม่

คาถาต่างๆ นั้นหม่อมฉันเห็นว่าพระคันถรจนาจารย์เก็บหัวข้อพระธรรมในพระไตรปิฎกมาร้อยกรองสำหรับท่องจำง่ายขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างดังมงคลสูตร คงเกิดแต่อยากรวมธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสรรเจริญว่าเป็นมงคลมาสวดเป็นปริตร เที่ยวเสาะหาธรรมนั้นๆ อันปรากฏในพระสูตรมาผูกเป็นคาถา ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยมิได้เรียบเรียงจัดธรรมะเป็นหมวดหมู่ เอาแต่ชื่อต่อกันผูกเป็นคาถา พึงเห็นได้ชัดอีกแห่ง ๑ ในธชัคคสูตรแสดงพุทธวัจนไว้ข้างต้นแล้วผูกเนื้อความของพุทธวัจนนเป็นคาถา สำหรับท่องจำพ่วงไว้ข้างท้ายเมื่อมีคาถาสำหรับท่องจำพระธรรมอยู่อย่างนั้น คนก็ชอบท่องจำคาถา นานมาคนชนหลังไม่รู้แหล่งเดิมของธรรมในคาถา ก็เลยถือแต่คาถา บางทีก็มีผู้แต่งนิทานเข้าประกอบ เช่นนิทานต้นมงคลสูตร เป็นต้น ทางตำนานน่าจะเป็นดังทูลมา เพราะฉะนั้นที่พระสวดมนต์ไม่สวดตอนนิทานดูก็ไม่เสียอย่างไร

๒) เรื่องพระเจ้าปราสาททองเกี่ยวข้องกับเมืองเขมรอย่างไร คิดไม่เห็นว่าเหตุไฉนผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงไม่รู้ความจริง ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารพาให้คนชั้นหลัง แม้จนถึงชั้นเราฉงนสนเท่ห์เหมือนอยู่ในที่มืดมาช้านาน จะได้เห็นหนังสือฝรั่งแต่งเมื่อสมัยนั้นเรื่อง ๑ ว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมเขมรตั้งแข็งเมือง ไทยให้กองทัพออกไปตีก็ไม่ได้ ถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองไทยจึงมีชัยได้เมืองเขมรกลับเป็นเมืองขึ้น ได้ความรู้อันนี้เหมือนกับได้ลูกกุญแจดอกแรก และต่อมาเมื่อได้ไปเห็นเมืองนครธมเหมือนได้ลูกกุญแจดอกที่ ๒ มาไขห้องมืดที่ซ่อนเรื่องพระเจ้าปราสาททองเกี่ยวข้องกับเมืองเขมรไว้ให้สว่างแจ่มแจ้งหมด คือว่าพระเจ้าปราสาททองตั้งราชวงศ์ใหม่แสวงหากฤษฎาภินิหาร เมื่อสามารถเอาเมืองเขมรกลับมาเป็นเมืองขึ้นได้ จึงเฉลิมพระเกียรติด้วยประการต่างๆ เป็นต้นแต่ให้ถ่ายแบบปราสาทกับทั้งพระที่นั่งในเมืองยะโสธรนครธมมาสร้างเฉลิมพระเกียรติที่ในกรุงศรีอยุธยา และที่สุดทำพิธีอินทราภิเษกประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราช พระที่นั่งที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าชื่อ “ศรียะโสธรพิมานบันยง” นั้นดูเยิ่นเย้อนัก หม่อมฉันสงสัยว่าน่าจะเป็น ๒ องค์ต่างกัน องค์อยู่ริมสนามชื่อว่า “ศรียะโสธร” อีกองค์ชื่อว่า “พิมานบันยง” น่าจะเป็นที่ประพาสอยู่ทางข้างหลังวัง เพราะฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเพทราชาแปลงเป็นปราสาทจึงคงคำบันยง (อันมาแต่บายนในนครธม) ไว้แปลงเป็น “บันยงรัตนาศ์น” เหตุที่พระเจ้าปราสาททองเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งศรียะโสธร เป็นพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์นั้น เชื่อได้ว่ามิใช่เพราะทรงพระสุบินว่าพระอินทร์มาบอกจักรพยุหถวาย เหตุที่เปลี่ยนชื่อคงเนื่องกับทำพิธีอินทราภิเษก จะให้ชื่อปราสาทสมกับพระเกียรติพระเจ้าจักรพรรดินั่นเอง

วินิจฉัยชื่อเมืองฉะเชิงเทรา ที่ประทานมานั้นเห็นยังไม่สนิท หม่อมฉันถวายอนุโมทนายังไม่ได้

๓) ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านคิดให้ทำเมรุย้ายได้สำหรับให้เช่านั้น หม่อมฉันเห็นว่าเป็นความคิดดี เพราะอาจจะให้เช่าไปปลูกที่อื่นๆ หาผลประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ถึงที่สุสานหลวงเจ้าภาพก็เห็นจะชอบเช่าเมรุกว่าไปปลูกเอง

หม่อมฉันได้ยินว่าที่วัดมงกุฎกษัตริยารามคิดทำบริเวณที่ฝากศพผู้ดีก็เป็นความคิดถูก ว่ามีชื่อประตูบริเวณ ๔ ประตูว่า “ไปไม่กลับ” “หลับไม่ตื่น” “ฟื้นไม่มี” “หนีไม่พ้น” ช่างคิดดี ติได้แต่ประรำที่เผาศพเข้าไปอยู่กลางหมู่กุฏิพระเท่านั้น

๔) การที่พวกขอมสร้างปราสาทหินเดิม หม่อมฉันคิดเห็นว่าจะสร้างด้วยหินทราย และหินแลงในสมัยเมื่อผู้สร้างมีอำนาจมาก เพราะต้องมีผู้คนบริวารมากจึงสามารถขุดหินก้อนใหญ่ๆ ขนเอามาได้แต่ไกลๆ ครั้นถอยอำนาจมีผู้คนบริวารน้อยไม่พอจะให้ไปขุดขนเอาหินมาได้จึงให้ก่อด้วยอิฐ เพราะใช้คนน้อยและทำได้ในที่นั้นเอง ไม่ต้องไปขนเอามาแต่ไกลๆ แต่เมื่อได้ไปเที่ยวดูปราสาทหินในเมืองเขมรและในมณฑลนครราชสีมาเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยมีปราสาทสร้างด้วยหินและด้วยอิฐร่วมสมัยเดียวกัน และฝีมือก่ออิฐก็ทำอย่างประณีตเป็นวิธีอีกอย่างหนึ่ง คู่แข่งกับก่อด้วยหินหาถือว่าเลวกว่ากันไม่ ไม่เหมือนอย่างสร้างวัดที่เมืองพิษณุโลกสุโขทัยและที่พระนครศรีอยุธยา ที่เมืองพิษณุโลกหม่อมฉันเคยตรวจดูมีวัดที่ก่อด้วยแลงแต่ ๓ วัดซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย คือวัดจุฬามณี วัดพระพุทธชินราช และวัดวิหารทอง ที่ประดิษฐานพระอัษฐารส นอกจากนั้นแม้วัดหลวงเช่นวัดราชประดิษฐาน ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง ล้วนก่อด้วยอิฐทั้งนั้น ที่พระนครศรีอยุธยาก็เห็นมีสร้างด้วยหินแดงแต่วิหารพระศรีสรรเพชญ์แห่งเดียว และยังมีพระที่นั่งสุริยามรินทรก่ออิฐสลับแลงอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งส่อให้เห็นว่าเพราะหาแลงยากจึงทำเช่นนั้นไม่เหมือนอย่างเมื่อสมัยขอม

๕) ซึ่งทรงปรารภว่าคนโบราณมักเรียกชื่อลูกอ่อนว่า ฉิมหรือน้อยและนุ้ยนั้น หม่อมฉันมีเรื่องที่ยังไม่ได้คิดวินิจฉัย จะเอามาทูลในจดหมายฉบับนี้ ครั้งหนึ่งในพระราชพิธีกาลานุกาล กรมพระสมมตฯ กับหม่อมฉันชวนกันไปพิจารณาดูโกศพระอัฐิเจ้านายเห็นป้ายแผ่นทองติดอยู่ที่ฐานโกศพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เป็นพระมารดาเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต มีอักษรจารึกว่า “เจ้าครอกฉิมใหญ่” คิดพิเคราะห์ดูเมื่อเขียนจดหมายนี้เห็นว่า

ก) ที่เรียกว่าเจ้าครอกฉิมใหญ่เป็นคำในรัชกาลที่ ๑ และเป็นคำของพระญาติหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้บอกให้เขียนเช่นนั้นมิใช่คำของอาลักษณ์เขียนตามแบบราชการ

ข) คำว่าฉิมคงเป็นพระนามที่สมเด็จพระชนกชนนีตรัสเรียกเมื่อยังทรงพระเยาว์ และอาจจะเรียกอยู่ในมณฑลพระญาติตลอดเวลาที่เจ้าฟ้าพระองค์นั้นเป็นนางใน

ค) ที่เรียกกันว่า “ฉิมใหญ่” คงเป็นด้วยพ้องกับพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่อต่อไปว่าเดิมคงเรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ว่า “ฉิมน้อย” เพราะแต่ทรงพระเยาว์มาสมเด็จพระชนนีตรัสเรียกพระนามว่า “ฉิม” ทั้ง ๒ พระองค์

ฆ) มีปัญหาว่าเช่นนั้น ตรัสเรียกเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ว่ากระไร จะประทานพระนามว่าแจ่มว่าเอี้ยงและว่าจุ้ย อย่างลงในหนังสือพงศาวดารมาแต่ยังทรงพระเยาว์หรืออย่างไร ถ้าประทานพระนาม ๓ พระองค์ในพ้นจากนามทารก เหตุไฉนไม่ประทานพระนามใหม่แก่เจ้าครอกฉิมใหญ่และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ด้วย ปล่อยให้คงพระนามว่าฉิม ซ้อนกันอยู่ทั้ง ๒ พระองค์

ง) ยังมีปัญหาต่อไปอีก ว่าในเวลาเจ้าฟ้าหญิงทำราชการฝ่ายในนั้นขานพระนามว่า “ฉิม” หรืออย่างไร

จ) ข้อหลังนี้ มีเค้าที่พึงเทียบด้วยชื่อบุตรธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราชซึ่งเรียกว่า “นุ้ย” หรือ “น้อย” ทุกคน

ในรัชกาลที่ ๑ ธิดาเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) คน ๑ ชื่อ นุ้ยใหญ่ ทำราชการวังหลวงเป็นเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ อีกคน ๑ ชื่อนุ้ยเล็ก ทำราชการวังหน้า เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงปัทมราช บุตรคน ๑ ชื่อ “น้อย” (น่าจะเป็นนุ้ยนั่นเอง) ได้เป็นเจ้าพระยานครฯ เมื่อภายหลัง

ในรัชกาลที่ ๓ ธิดาของเจ้าพระยานครฯ น้อย ทำราชการวังหลวง ๒ คน คน ๑ ชื่อน้อยใหญ่เป็นเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ อีกคน ๑ ชื่อน้อยเล็กเป็นเจ้าจอม บุตรทำราชการ ๓ คน คนใหญ่ชื่อน้อยใหญ่ เป็นเจ้าพระยามหาศิริธรรมในรัชกาลที่ ๔ คนกลางชื่อน้อยกลางเป็นเจ้าพระยานครฯ ในรัชกาลที่ ๔ คนเล็กชื่อน้อยเอียด เป็นพระเสนหามนตรี สามีคุณปลัดเสงี่ยม เป็นตัวอย่างที่ใช้ชื่อทารกตลอดมาทุกคน

มีข้อพึงสังเกตอย่าง ๑ ว่าต่อเป็นลูกเมียหลวงจึงใช้ชื่อทารกมาจนโต ถ้าเป็นลูกเมียน้อยมีแต่ชื่ออื่นมาแต่ยังเด็กทั้งนั้น ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

ปกิรณกะ

หลานหญิงน้อยมากับพวกนักเรียนผู้หญิง ถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ รถไฟช้ามาถึงเกือบ ๒๓ นาฬิกา จนเจ้าตัวร้องไห้ด้วยหิวข้าว ถามว่าทำไมไม่ไปซื้ออาหารกินที่รถเสบียงบอกว่าคนโดยสารมากพวกผู้ชายเขากินกีด พวกนักเรียนผู้หญิงไปไม่ถึงรถเสบียงได้ หม่อมฉันกับลูกหญิงได้รับสมุดประดิทินหลวงที่ประทานมานั้นแล้ว ขอบพระเดชพระคุณทุกคน

๗) หม่อมฉันเพิ่งประจักษ์ใจในคติประหลาดอย่าง ๑ ดังจะทูลต่อไป หม่อมฉันมีหลานอยู่ด้วยที่นี่ทั้งหลานตาและหลานปู่ เวลาได้ยินหลานเรียกว่า “เด็จตา” หรือ “เด็จปู่” รู้สึกผิดกัน คำเด็จตาฟังกลมกลืนดี แต่คำเด็จปู่มีระคาย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น พึ่งคิดเห็นว่าเพราะชั้นเรา ไม่เคยเรียกใครว่าปู่ว่าย่ามาแต่ยังเด็ก เคยเรียกแต่ว่าเด็จตาเด็จยาย หรือคุณตาคุณยาย เพราะชินกับคำว่าตายายยิ่งกว่าคำว่าปู่ย่านั่นเอง ได้ยินหลานเรียกว่าเด็จปู่จึงรู้สึกระคาย พิจารณาต่อลงไปถึงคำที่พูดกันในพื้นเมืองก็ยิ่งประหลาดใจ ที่คนทั้งหลายชอบใช้คำตายายยิ่งกว่าปู่ย่า เช่น เรียกคนแก่ก็มักเรียกกันว่าตานั่นยายนี่ หาเรียกว่าปู่นั่นย่านี่ไม่ เล่านิทานก็เรียกว่าตาเถนยายชี ไม่เรียกว่าปู่เถนย่าชี ดูน่าพิศวงอยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ