วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม แต่ลางข้อต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องปราสาทพระที่นั่งต่างๆ ในกรุงเก่านั้นใหญ่มาก

พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทนั้น เห็นมีในบานแพนกอะไรๆ ที่ไหนเป็นหลายแห่ง ให้รู้สึกเห็นกึกก้องเป็นสำคัญมาก แต่ไม่พบองค์ปราสาท เข้าใจว่าทำด้วยไม้และรื้อแล้ว ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนทั้งไม่เคยได้ยินใครสันนิษฐาน จึงได้กราบทูลถาม ฝ่าพระบาททรงสันนิษฐานโดยมีทางประกอบ ว่าเห็นจะอยู่ที่ตรงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ก็จะตราไว้

จะกราบทูลเรื่องพระราชวังกรุงเก่าซึ่งเขียนไว้ที่โบสถ์วัดยม ได้ไปดูจริงอย่างทรงพระดำริคาด แต่เหลวพิลึก ดูเหมือนจะเขียนไว้ที่อุดหน้าหรืออย่างไร จำไม่ได้ แต่อยู่สูงนั้นเป็นแน่ รูปวังนั้นมีปราสาท แต่จะเป็นกี่องค์และกำแพงแรงเตยเป็นอย่างไรจำไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกว่าดูเห็นเป็นสีเขียวมาก อะไรที่ทำให้เห็นเขียวมากก็กราบทูลไม่ถูก ที่จำได้แม่นนั้นแล่นไปจำได้เอารูปช้างเผือก ว่ามีคนถือเสาเพดานกับราชวัติ เดินตามไปในกระบวนแห่ ซึ่งไม่ต้องการ ณ ที่นี้

ลักษณะที่อ่อนเข้านั้นเป็นเครื่องไม้ ลักษณะที่โก่งออกนั้นเป็นเครื่องก่อ การก่อนั้นเราจำอย่างมาแต่เขมร เขมรก็จำอย่างมาแต่อินเดียอีกต่อหนึ่ง ทางบ้านเราทำอะไรกันก็ทำด้วยไม้ทั้งนั้น ทั้งเขมรทั้งไทย

ปราสาทยอดปรางค์นั้นเรามีเป็นแน่ แต่จะมีเมื่อไรนั้นยากที่จะทราบได้

พรหมพักตร์นั้นเป็นความคิดของเขมร ทีก็จะเป็น “แฟนซี” เพราะเห็นที่ในเมืองเขมรก็มีไม่มาก ที่มามีในเมืองเราเห็นจะไม่ก่อนแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง การจำอย่างนั้นเป็นของธรรมดา ใครจะจำทำกันเมื่อไรก็ได้ทั้งนั้น สำคัญอยู่แต่ทำหน้าพรหมใส่เข้าในที่ควรหรือไม่ควรเท่านั้น แต่คงไม่มีที่ยอดปราสาททุกองค์ไป

ที่ของเก่าทำสิ่งซึ่งตากฝนหุ้มดีบุกนั้นดี เป็นการมีความคิด แสดงว่าเป็นเครื่องไม้ ที่หุ้มดีบุกนั้นแปลว่ากันฝนชะไม้ผุ ที่หุ้มดีบุกด้วยปิดทองด้วยนั้น “เฟเลีย” ไปหน่อย เพราะไม่ช้าฝนก็ชะทองตกไปอีก แต่ยังดีกว่าปิดทองหรือประดับกระจกของกลางแจ้งที่ไม่ได้หุ้มดีบุก

พิจารณาฝีมือก่อพระที่นั่ง วิหารสมเด็จ และสรรเพชญปราสาท ซึ่งมีเหลืออยู่ สังเกตเอาเป็นแน่ได้ว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน สมเป็นว่าทำครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ แต่จะเป็นครั้งพระเจ้าปราสาททองก็ผิดกันแผ่นดินเดียวเท่านั้น พระที่นั่งสุริยามรินทร์นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก่อด้วยอิฐกับศิลาแลงคั่นกันเป็นชั้นๆ เห็นได้ว่าเอาอย่างทางต่างประเทศมาทำ น่าจะเป็นของทำทีหลังพระที่นั่งวิหารสมเด็จและสรรเพชญปราสาท

ชื่อพระที่นั่งสุริยามรินทร์นั้นไม่สบายใจเลย เพราะปราสาทสามองค์นั้นเป็นหลักกรุง แต่ชื่อคล้องกันเพียงสององค์ องค์ที่สามไม่คล้อง แม้แต่จะแปลชื่อก็เป็นเทวดาสององค์เรียงๆกัน ฟังไม่สนิท จึงกระสับกระส่ายไปค้นบานแพนกกฎหมาย ไม่ได้ดูสอบเป็นแต่จำได้ว่าแห่งหนึ่งเขียน “สุริยาทิอมรินทร์” อีกแห่งหนึ่งเขียน “สุริยาที่พระอมรินทร์” คิดว่าเขียน “ที่” นั้นลงมาจากคำ “ทิ” ถ้าจะตัดบทเก๊ๆ ก็เป็นว่า “สุริยอาทิอมรินทร์” คิดว่าเขาคงอ่าน “สุริยาด” ได้ความพอใจที่ชื่อปราสาทสามองค์คล้องกันหมด เป็น “วิหารสมเด็จ สรรเพชญปราสาท สุริยาทิอมรินทร์” อีกประการหนึ่งคัมภีร์โหรเขาเรียกว่า “คัมภีร์สุริยาต” ก็มี เขาจะเขียนตัวอะไรสะกดไม่ทราบ แต่สงสัยที่ว่าทำไมพระอินทร์จึงเข้ามาปนอยู่กับสุริย จึงค้นตำราทางพราหมณ์ก็ก็ได้ความเลอะเทอะตามเคยเป็นที่โน่นว่าอย่างนั้นที่นั่นว่าอย่างนี้ คิดดูก็เห็นว่าเพราะคนต่างแต่ง จะลงกันไม่ได้อยู่เอง ในแห่งหนึ่งถือเขาคำ “สูรย” ว่าเป็นพวกลูกนางอทิติ มีพระอินทร์เป็นพี่ใหญ่ ชื่อพระที่นั่งสุริยาทิอมรินทร์จะถือเอานั่นมาหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

๒) คำ “มณี” ในภาษามคธ ถ้าจะเทียบกับคำของเราก็ทีจะตกเป็นว่าพลอยเท่านั้น ถ้าจะให้เป็นพลอยเมขลาก็ทีจะต้องใช้คำว่า “มณีเมขลา” แต่คำ “เมขลา” พวกกวีก็เอาไปใช้เป็นชื่อเทวธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีฤทธิมาก แล้วก็สับปลับ ที่นั่นว่าอย่างนั้น ที่นี่ว่าอย่างนี้ เพราะเหตุฉะนั้นจะถือเอาคำ “เมขลา” เป็นหลักฐานก็ยาก

มีตั้งใจจะกราบทูลทักอย่างหนึ่งแต่แล้วก็ลืม สิ่งที่จะกราบทูลทักนั้นคือบาตรแบน ทางเขาคงเป็นเช่นนั้นจึงสมกับที่ว่าเลีย นึกถึงว่าได้เคยทำแบบเจว็ด พระภูมิสำหรับวังไกลกังวลไปให้เขาสลักหิน ทึกเอาพระภูมิเป็นพระธรณี ตามคำบูชาที่ว่า “โอม พระภูมะธรณี” จึงค้นตำราหาพระธรณี ได้ความว่าถือบาตรใส่อะไรต่ออะไรอันเป็นทรัพย์ในดิน สังเกตคำว่าบาตรดูเป็นภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็ได้

๓) ข้อพระดำรัสเรื่องภาษานั้น คิดตามไปก็เห็นขัน เราไม่ชอบอะไรของเราเสียเลย แม้ราชาศัพท์ก็ใช้คำต่างประเทศ ที่สุดจนการเล่นเป็นต้นว่ายี่เกก็ต้องเป็น ๑๒ ภาษา เรื่อง “กุหลาบมอญ” นั้นเกล้ากระหม่อมอยู่ในเวลาเกิดเหตุนั้นทีเดียว ออกจะประมูลขุนอุดมสมบัติเพราะจำพระราชดำรัสโดยตรงที่ขึ้นต้นไว้ได้ว่า “แล้วกันซิดุ๊ก เอาไปยกให้เขา- -” ต่อไปจำไม่ได้เพราะไม่ได้จดอย่างขุนอุดม อันชื่อดอกกุหลาบนั้นเคยได้ยินเขาว่าเป็นภาษาเปอร์เซีย หมายถึงน้ำกุหลาบคือน้ำดอกไม้เทศ “คุล” แปลว่ากุหลาบ “อาป” แปลว่าน้ำคือ “อาโป” เราดื้อๆ นี่เอง ผิดถูกอยู่แก่ผู้กล่าว

๔) คำ “บุหงารำไป” ได้วานเขาตรวจพจนานุกรมมลายู แล้วได้ความว่าเป็นสองคำเอาเข้าต่อกัน คือ “บุหงา” คำหนึ่ง หมายความว่าดอกไม้ “รำไป” พจนานุกรมฉบับหนึ่งแปลว่าดอกลำเจียก อีกฉบับหนึ่งแปลว่าคละกัน ฉบับก่อนเห็นจะแปลผิด ด้วยดอกลำเจียกเรารู้ว่ามีชื่อ “ปาหนัน” อยู่ต่างหาก สอบชื่อดอกลำเจียกในพจนานุกรมภาษามลายูเรียกว่า “ปาดัน” ก็ไม่ผิดอะไรไป ด กับ น. ย่อมเปลี่ยนกันได้ ในประเทศชวาเคยเห็นมาสามอย่าง กลีบลำเจียกหั่นห่อใบตองอย่างหนึ่ง ใบไม้ซึ่งมีกลิ่นหอม (เช่นใบเนียม) ตัดเป็นท่อนๆ ห่อใบตองอย่างหนึ่ง กับดอกไม้เบญจพรรณ ห่อใบตองอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างใดก็เห็นเรียก “บุหงารำไป” กันทั้งนั้น

๕) พระดำรัสเรื่องของเหนียวของแข็ง มาเข้ากะบ้องแต๋งแห่งเกล้ากระหม่อมเข้า ถึงหากฟันจะเคี้ยวได้ก็ไม่เคี้ยว เพราะไม่ต้องการกิน จะแปลว่าอะไรก็ต้องแปลว่าข้างในมันไม่ต้องการ

๖) หยาดฟ้าและห้อยเทียนเหลา จะต้องมีชื่อทั้งไทยจีนจริงอย่างพระดำรัส และเขาก็คงคิดเช่นนั้น ทีจะเป็นชื่อตึกไปเสียด้วยซ้ำ ตึกใหม่แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเขาเช่าแยกไปตั้ง คงตั้งใจรับไทยเรียกว่า “หยาดฟ้าภัตตาคาร” ร้านเก่าเห็นจะเรียก “ห้อยเทียนเหลา” อยู่ตามเดิม เพราะตั้งใจจะรับข้างจีน

๗) รูปพระเถระที่ตำหนักเพชร เป็นรูปในพระอุโบสถตามที่ตรัสขาดพระพรหมเทพาจารย์ไปองค์หนึ่ง ท่านอยู่กรุงเก่า คงขึ้นไปกรุงเก่า นอกกว่านั้นมีหมด เกล้ากระหม่อมดูไม่ออกอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งทราบทีหลังว่าเป็นพระองค์อรุณ อีกองค์หนึ่งต้องเป็นพระเทพกระวี (นิ่ม) อย่างพระดำรัสแน่นอน

๘) ตึกห้องเครื่องหน้าวัดบวรนิเวศ หน้าตึกก็คงยื่นพ้นแนวกำแพงอยู่นั่นเอง ต่อไปภายหน้าเห็นจะต้องรื้อ หรือตัดหน้าเข้าไปให้เสมอกำแพง

บรรเลง

๙) คำว่า “บรรเลง” ทีจะออกจาก “ปเลง” อันเป็นชื่อเทวดาซึ่งออกมารำหางนกยูงเบิกโรงโขน หรือออกจาก “เพลง” ซึ่งหมายความว่าทำปี่พาทย์เป็นเสียงสูงต่ำก็ได้ ร้องอะไรให้จับใจก็ได้ “บรรเลง” หรือ” บันเลง” ก็แปลว่าทำให้จับใจ ให้สนุก จะเป็นอะไรก็ได้ไม่ผิดเพี้ยนทั้งนั้น

๑๐) มีเหตุให้กราบทูลถึงการโกนผมไฟ เหตุที่มีมานั้นไม่สำคัญอะไร จะกราบทูลแต่ได้ทูลถามกรมหลวงทิพย์รัตน์ถึงการปลงพระเกศาไฟเจ้านาย เธอบอกว่าในการนั้นไม่ได้ใช้กรรไกร เห็นเป็นถูกที่สุดและเข้าใจทันทีว่าเพราะเหตุนั้นจึงไม่มีการที่ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าเข้าไปวอแว ที่ทำกันข้างนอกผู้เป็นใหญ่ตัดผมดุจตัดจุกนั้นไม่ถูก เพราะไม่มีคำว่าตัดอยู่ในนั้น

๑๑) กินขนมลำเจียกก็นึกว่าทำไมจึงเรียกขนมลำเจียก คิดไปก็เห็นว่า เดิมทีเขาคงห่อด้วยกลีบลำเจียกเพราะต้องการหอม ทีหลังรู้จักอบแล้วจึงทำแป้งห่อแทนกลีบลำเจียก กินเข้าไปได้ทั้งห่อทีเดียว นึกถึงไส้ว่าเป็น “หน้ากะฉีก” แล้วก็นึกไปถึง “สังขยา” ไม่เป็นภาษาทั้งนั้น แล้วนึกถึง “ขนมแชงม้า” แปลกันหกคะเมนเก่นเก้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นขนมอะไรแน่ รู้แต่ว่าทำด้วยหม้อแกง อันคำเก่าๆ นั้นแปลยาก จะพยายามแปลคำหนึ่ง

“กินข้าวเหนียวนึ่ง น้ำผึ้งกะนมควาย
กินเสียให้ตาย เสียดายนวลเจ้าแม่นา”

คำนี้ไม่ได้หมายความว่าน้ำผึ้งกับนมควายเป็นยาพิษที่กินตาย หมายความว่ากินมากจนท้องอลึ่งฉึ่งตาย อันนมควายนั้นใช้ไม่ว่าอะไร อย่างเดียวกับฝรั่งใช้นมวัว กรมหลวงสรรพสิทธิ์เคยหุงข้าวด้วยนมควายเสวย ทรงจำมาแต่เมืองอุบล ดูหน้าตาก็เป็นข้าวผัดน้ำมันหมูเรานี่เอง ไม่ประหลาดอะไร น้ำผึ้งกับนมควายก็ได้แก่น้ำกะทิเรานี่เอง

ตีนบานที่โบสถ์พระนอน เห็นทีจะเอาอย่างตีนบานพระอุโบสถไปเขียน เห็นซ้ำกันก็มี เรื่องที่เขียนนั้นดูไม่ออกเสียมาก แปลว่าเราตื้น

เขตวัดพระเชตุพนในวงพุทธาวาส ดูเป็นได้ขยายออกไป ๔ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เพียงวงโบสถ์วิหารทิศ ครั้งที่ ๒ เพียงพระเจดีย์สี่องค์ ครั้งที่ ๓ ต่อออกไปถึงวิหารยอด ครั้งที่ ๔ รอบโบสถ์พระนอน บ้านเจ้าครอกวัดโพธิ์ก็ว่าอยู่ที่โบสถ์พระนอน เหล่านี้คงมีปรากฏอยู่ในพงศาวดารและจารึก แต่ไม่ได้ตรวจ ดูก็ประหลาด การเปรียญนั้นตั้งอยู่ย้อยออกไปถึงเขตหลังวัด เขตวัดเดิมคงยอกแยกไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย การก่อเป็นตึกก็เป็นทำในรัชกาลที่ ๓ ในการทำอะไรต่างๆ ที่วัดนั้นดูเป็นทำในรัชกาลที่ ๓ เป็นอันมาก เหมือนหนึ่งพระระเบียงเตี้ยชั้นนอก ซึ่งเสริมให้มุมพระระเบียงเป็นไม้สิบสองนั้น ทีก็ทำในรัชกาลที่ ๓ พระอุโบสถนั้นจำเรื่องได้ว่าพระอุโบสถเก่าเล็ก ทำใหญ่ใหม่ในรัชกาลที่ ๓ พระพุทธเทวปฏิมานั้นตั้งสูงเต็มทีจนเห็นไม่ได้ว่าเป็นพระงาม ปัญหามีอยู่ว่าพระประธานเก่านั้นเอาไปไว้เสียไหน แม้จะเป็นพระทำด้วยอิฐปูนก็ควรหรือที่จะรื้อทิ้ง นึกถึงฝ่าพระบาทได้ทรงพระดำริจะเชิญพระโลกนาถเข้าไปไว้ในพระอุโบสถ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ก็จะเหมาะมาก เพราะอยู่ในวิหารหน้านั้นคับ เขาก็ได้คิดแก้อะไรไว้ต่างๆ แต่ไม่พอ แล้วถูกพระราชดำรัสคัดค้านเสียด้วย ปัญหาที่ฝ่าพระบาททรงพระดำรินั้นก็เป็นอันพับไป ในการขยายวงพุทธาวาส ถ้าจะลงศักราชแล้ว วงที่ ๑ กับที่ ๒ เป็นทำในรัชกาลที่ ๑ วงที่ ๓ และที่ ๔ เป็นขยายในรัชกาลที่ ๓ ในวงสังฆาวาสก็ปรากฏมีการก่อสร้างในรัชกาลที่ ๓ เป็นส่วนใหญ่ แต่มีใครต่อใครสร้างอะไรต่ออะไรเพิ่มเข้าอีกเอาส่ำยาก ลางอย่างก็รู้ได้ ลางอย่างก็รู้ไม่ได้

๑๒) ตามที่กราบทูลติโทษถึงป้ายข้างถนนใช้คำยาวไม่ดีนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ ไปพบเข้าแล้ว เขียนว่า “สำนักงานการแสดงพาณิชย์ญี่ปุ่น-ไทย” ขี่รถขาไปอ่านได้แต่ “สำนักงาน” ต่อไปอะไรอีกก็ไม่ทราบ ขากลับต้องตั้งใจที่จะอ่านต่อจึ่งได้ความตลอด

เรียน

๑๓) พบตราเป็นอักษรจีน ผู้รู้อ่านออกเสียงว่า “เสี้ยมก๊กแต้เหมง” ไม่มีสงสัยว่าจะเป็นอื่นไปได้ นอกจากเป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินสยาม แต่จะเป็นองค์ไหนไม่ทราบแน่ เป็นแต่คะเนว่าที่จะเป็นรัชกาลที่ ๓ ที่ทราบแน่นั้น “แต้ฮุด” เป็นรัชกาลที่ ๑ กับ “แต้เจี่ย” เป็นรัชกาลที่ ๔ นอกนั้นไม่ทราบหรือทราบแล้วลืมเรื่องนี้ได้ตั้งปัญหามาทีหนึ่งแล้ว ถ้าจะตรัสบอกได้บ้างก็จะเป็นพระเดชพระคุณมาก เพราะจะได้รู้มากออกไปอีก

ข่าวสด

๑๔) เมื่อวันจันทร์ที่แล้วมา ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๔ สิงหาคม มีปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นในเที่ยวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ