วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๙ กันยายนต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) จะทรงแต่ง “เรื่องช้าง” เห็นจะยาก ด้วยเราไม่ได้หัดรู้อะไรในทางวิชาช้างเสียเลย จะได้ก็แต่ที่พบหนังสืออะไรซึ่งเขาพูดถึงวิชาช้างเท่านั้น จะเอามากไม่ได้

ในแผ่นดินพระนารายณ์เห็นจะเป็นคราวที่พยายามทำให้มีตำราขึ้นไว้มาก เห็นได้จากตำราขี่ช้างและตำราเพชรพวงซึ่งตรัสบอกว่าเป็นครั้งแผ่นดินพระนารายณ์นั้นเป็นต้น เคยได้เห็นสมุดเล่มหนึ่งในออฟฟิศหลวงแต่หนุ่มๆ เมื่อครั้งออฟฟิศหลวงตั้งอยู่ใกล้ห้องเขียว ในสมุดเล่มนั้นมี “ม้าพระปีย์” จะเป็นตำราเพชรพวงนั้นหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ ไม่ได้สังเกตอะไรต่อไปจากนั้นอีก น่าเจ็บใจอยู่มาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ท่านว่าเมื่อมีอายุน้อยนั้นตั้งอยู่ในความประมาทจะว่าประมาทก็ไม่เชิง มันไม่ต้องการรู้เสียเองๆ ต่อแก่เข้าจึงอยากรู้เพราะเหตุนั้นเอง ฝรั่งเขาจึงคิดตั้งโรงเรียนสอนผู้ใหญ่ขึ้น เข้าใจว่าไม่ใช่สอนหนังสือเป็นสอนความรู้ซึ่งต้องการรู้

๒) ครูมีแขกนั้นเคยได้ยินอยู่ ว่ากรมหลวงประจักษ์เอาซอสามสายของแกสี และแกกราบทูลว่า “ตะละค่ารั่บ” (หมายถึงสีไฟ) แต่ไม่ทราบว่าท่านพบครูมีแขกที่ไหนและสีซอกันที่ไหน ตรัสถึงแกเข้าไปสอนมโหรีของทูลหม่อมปราสาทก็ทำให้นึกถึงครูถึก แกเคยเข้าไปสอนมโหรีวงนั้น เข้าใจว่าต่อจากครูมีแขกนั้นมาเมื่อเกล้ากระหม่อมต้องเป็น “นางนอซาตอน” เรื่องนิทราชาคริต ในบทที่ว่าเล่นมโหรีกับ “อาบูหะซัน” เกล้ากระหม่อมก็หัดซอกับกรมหมื่นทิวากร แล้วก็เล่นต่อมาด้วยใจรักดนตรี ทูลกระหม่อมปราสาททรงทราบเข้าก็ตรัสสั่งให้ครูถึกมาสอนเกล้ากระหม่อมได้ต่อเพลง “แป๊ะ” (สองชั้น) แก่ครูถึกไว้เพลงหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ลืมทางของครูถึกเสียหมดแล้ว เมื่อได้คบกับคุณสวาดิ์ (ทหารม้ามหาดเล็ก ลูกเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์) เข้า แกยกย่องยกครูถึกว่าเป็นคนมี “เอ้ตัดทัคคะ” แม้สีซอเข้าปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ปี่พาทย์จะกลบเสียงซอของแกเสียไม่ได้ คงได้ยินแจ๊ดๆ อยู่เสมอ แต่สังเกตเอาเป็นเพลงไม่ได้ ข้อนั้นก็เป็นอยู่เองที่ปี่พาทย์เครื่องใหญ่มีหลายสิ่งด้วยกันย่อมจะต้องดังกลบอยู่เป็นธรรมดา แต่ก็กลบเสียงซอของแกไม่ได้ เท่านั้นก็จัดว่าเป็น “เอ้ตัดทัคคะ” พอแล้ว ให้นึกเสียใจว่าเราก็เป็นลูกศิษย์ครูถึก แต่ความดีของครูถึกนั้นไม่ได้อะไรไว้เลย เพราะเกล้ากระหม่อมยัง “แมว” เต็มที

พูดถึงครูจะพูดย้อนไปถึงลายพระหัตถ์ฉบับที่ล่วงแล้วมา ตรัสถึงครูฝรั่งซึ่งเขาสอน “ทหารอย่างยุโรป” เมื่อรัชกาลที่ ๔ ไม่ทรงทราบว่าเขาชื่อไรนั้น มานึกถึงเมื่อตัวเข้าเป็นทหาร เคยได้ยินเขาออกชื่อ “ครูเชิงเลิง” “ครูตั๊ง” เสียงเป็นไม่ใช่คนไทย แต่จะเป็นคนที่หัดครั้งแรกหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ หวังว่าลางทีจะตรัสบอกได้บ้าง

๓) เพลง “สรรเสริญพระบารมี” นั้น พระยาอนุมานเข้าใจว่าครูไฟต์แต่ง ด้วยพระเจนดุริยางค์พูด เกล้ากระหม่อมไม่เชื่อ เข้าใจว่าแต่งแต่แตรตอด ข้อนี้แหละจึงกราบทูลโดยประมาณว่าทหารทำเพลง “สรรเสริญพระบารมี” กันมาก่อน แตรตอดคงไม่เหมือนกัน ที่ตรัสบอกว่าครูฟุสโกแต่งแตรตอดให้ทหารเรือเป่าก่อน แล้วพระยาวาทิตแต่งให้ทหารบกเป่าทีหลังนั้น เป็นอันได้รู้อายุการทำแตรตอดกว้างขึ้นอีก

เรื่องเพลง “สรรเสริญพระนารายณ์” ตรัสบอกว่าครูฟุสโกเป็นผู้แต่ง เอาออกจากเพลงในสมุดของลาลูแบร์นั้น ก็ได้ความรู้มากขึ้นไปอีก เกล้ากระหม่อมก็สงสัยแล้วว่าจะเอาออกจากสมุดของลาลูแบร์ แต่ย้อนไปตรวจดูสมุดนั้นก็ไปเดาคำเสียเช่นที่กราบทูล เลยไม่ได้สอบเนื้อเพลง เพลงซึ่งเรียกว่า “สรรเสริญพระนารายณ์” นั้นแต่ก่อนจำได้ดี แต่เดี่ยวนี้นึกไม่ออกเลย

พูดถึงครูฟุสโกก็ประหลาด ครั้งหนึ่งเสด็จไปประพาสทะเลไปทรงเซ็นพระนามไว้ที่กลางลำธารเกาะอะไรก็ลืมเสียแล้วโปรดให้เกล้ากระหม่อมขึ้นไปฉลักในวันรุ่งขึ้น จะเสด็จไปประพาสที่ไหนก็ลืมเสียแล้ว ว่าเย็นจะกลับมาอีก ทางห้องเครื่องเขาก็จัดอาหารให้ แต่เป็นอาหารอย่างไทย ครูฟุสโกจะไปด้วยทีแรกเกล้ากระหม่อมก็หนักว่าแกเป็นฝรั่ง จะไปเที่ยวด้วยกันอย่างไร แต่มีใครบอกก็ลืมแล้วว่าไม่เป็นไรจึงเอาแกไปด้วย นอกจากที่แกได้ช่วยฉลักอักษรพระนามแล้ว แกยังเนื้อเถะนุ่งผ้าอาบแดดลงอาบน้ำ แล้วนั่งพับเพียบเปิบข้าวอย่างไทยด้วย นั่นจึงรู้ว่าไม่เป็นไรจริง

๔) ฟังพระดำรัสเล่าถึงมโหรีและละครของเจ้าพระยานรรัตน์ ทำให้ได้ความรู้แจ่มแจ้งขึ้นมาก ในการที่มาติดต่อกับบ้านเจ้าพระยาเทเวศรนั้น คงเป็นด้วยหากันไปหัดอย่างพระดำริ ไม่ใช่ละครเจ้าพระยาเทเวศรไปรำเพลงสามชั้น อนึ่งเพลงที่เล่นกันอยู่เดี๋ยวนี้ก็เดินกลายไปเช่นอะไรทุกอย่าง ตามที่เล่นกันอยู่เดี๋ยวนี้ชอบเล่น “เพลงเถา” คือในเพลงเดียวทำสามชั้นแล้วก็สองชั้น แล้วก็ชั้นเดียว แต่ที่แท้นั้นทางโบราณเพลงช้าอันเป็นเพลงสองชั้น จะได้มีตัดเป็นชั้นเดียวนั้นหามิได้ มีตัดแต่เพลงเร็วอย่างที่ได้กราบทูลมาแล้วนั้น

๕) ที่ตั้งพระศรีสากยมุนีในวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้น ได้ฟังพระดำรัสอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อไปถึงที่นั้นก็หาสู้ได้ใส่ใจไม่ ไปเอาใจใส่แต่ที่ผนังด้วยเห็นเสากับฝาก่อด้วยวัตถุคนละอย่างกับทั้งไม่ติดกันด้วย ทำให้รู้สึกว่าเดิมทีวิหารเป็นโปร่ง แล้วมาอุดเป็นทึบต่อภายหลัง ความจริงที่ในเมืองสุโขทัยนั้น คงจะมีทำเก่าทำใหม่หลายชั้น ถ้าได้ตรวจจริงๆ ก็จะเห็นได้ ที่จะเอาอะไรเปรียบกับอะไรเท่าที่รู้ เช่นเอาความในหลักศิลาอันมีปรากฏอยู่เปรียบกับสิ่งที่แลเห็น จะรู้อะไรไม่ได้เลย เช่นว่าพระเจ้าลิไทยทรงบรรพชาในพระราชมนเทียร ทรงอุปสมบทที่วัดป่ามะม่วง วัดป่ามะม่วงอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่สมว่าตั้งอยู่นอกเมืองไกลจากผู้คน อนึ่งที่เรียกว่า “โคกปราสาท” อันมีฐานก่ออิฐอยู่ที่นั่นก็ว่าเป็นฐานปราสาท หมายความว่าเป็นวังเก่า แต่น่าสงสัยมากที่วัด “ตระพังเงิน” เข้าไปประชิดอยู่กับฐานปราสาท จะต้องเป็นวัดตระพังเงินนั้นสร้างใหม่ หรือฐานอิฐนั้นไม่ใช่ฐานปราสาทอย่างที่เข้าใจเท่านั้น จะอาศัยชื่อก็ยาก เช่นที่เรียกกันว่า “วัดใหม่” ก็ไม่ใช่ใหม่เหมือนชื่อ เป็นวัดร้างอะไรๆ ก็พังหายไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ผนังที่ก่อด้วยอิฐ เมืองสุโขทัยเห็นได้ว่าเป็นเมืองดอนเช่นโคราช จึงเต็มไปด้วยสระเช่น “ตระพังโพยศรี” เป็นต้น “พระอัฏฐารส” นั้นเห็นด้วยตามพระดำริว่านั่งก็ได้ยืนก็ได้ สุดแต่ให้ได้ ๑๘ ศอกเป็นแล้ว

จะกล่าวถึงพระมหาธาตุเจดีย์ที่วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้นแปลกมาก พระเจดีย์ที่ฐานเป็นทีแท่นแว่นฟ้าสามชั้น และองค์เป็นรูปพุ่มนั้น เท่าที่นึกได้ก็ได้พบแต่สององค์ คือที่วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยองค์หนึ่ง กับที่เมือง “อู่ทอง” ซึ่งฝ่าพระบาทนำเสด็จไปทอดพระเนตรอีกองค์หนึ่งเท่านั้น ช่างที่ทำอะไรอยู่แต่กับบ้าน ไม่ได้เห็นที่เขาทำอะไรไว้ที่ไหน จะจัดว่าเก่งหาได้ไม่

ชื่อเมืองสุโขทัยจะเป็นภาษาต้นๆ คือ สุกโขไทย ได้หรือไม่

๖) เมื่อวันที่ได้รับลายพระหัตถ์เวร ชายดิศเธอก็พาลูกไปที่บ้านปลายเนิน เธอขึ้นมาหาก็พูดอะไรกันไปอย่างอื่น ครู่เดียวเธอก็ไป เห็นไปทางเรือนหญิงอี่ อีกไม่ช้าเกล้ากระหม่อมก็ตามไปเพื่อจะถามถึงพระมหามนตรี (ทรัพย์) กับเรื่องระเด่นลันไดตามลายพระหัตถ์ พบยิ่งวันที่กะไดเรือนถามถึงลุงดิศก็ว่ากลับแล้ว รวดเร็วจริง ตั้งใจจะไปถามเธอวันอื่น พระมหามนตรี (ทรัพย์) นั้นลางทีเธอจะรู้ว่าเกี่ยวดองกับเธอ แต่เรื่องระเด่นลันไดนั้นคงไม่เคยอ่านแน่ เกล้ากระหม่อมก็เพิ่งทราบ ว่าจ่าชำนาญ (กลั่น) เป็นลูกพระมหามนตรี (ทรัพย์) กับการแต่งกลอน “มีบุญเหมือนเจ้าคุณราชามาตย์” แม้เกล้ากระหม่อมก็เพิ่งทราบว่าใครแต่ง

เรื่องมีชื่อในการแต่งหนังสือนั้นชอบกล เหมือนหนึ่ง “พระคลังหน” ก็ว่าเป็นผู้มีฝีปากดี แต่ที่อ้างว่าเป็นคำของท่านแต่งมีตั้งแต่คำดีที่สุดจนเลวที่สุด โคลงที่ว่า “จบเสร็จมหาราชเจ้านิพนธ์” เกล้ากระหม่อมเห็นว่า คนอื่นแต่งเติมเข้า ไม่ใช่ผู้แต่งเรื่องแต่งไว้แต่เดิม แล้วยังมีเถียงกันอีกว่า “มหาราช” นั้นหมายถึงใคร คำที่ว่า “มหาราชเจ้า” นั้นเป็นอันหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ฟังแนบเนียนอยู่มากจริงๆ ผู้ที่มีชื่ออยู่เพราะแต่งหนังสือชอบใจคนนั้นมีมาก “พระมะเหลเถไถ” นั้น ถึงผู้แต่งจะบ้าก็ดีเต็มที แต่เกล้ากระหม่อมไม่ทันท่าน เคยได้ยินเรื่องแต่ผู้ที่มีอายุทัน เช่น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์เป็นต้น ตรัสเล่าว่าเมื่อเสด็จผ่านเรือนของท่านไป ตรัสร้องตะโกนขึ้นไปว่า “คุณสุวรรณบ้า” ท่านร้องตะโกนตอบลงมาว่า “จ้าวเบอะ” ดูก็หายกัน เคยได้ยินกรมพระสมมตตรัสเล่า ออกชื่อ “หลวงสุระ” ทีสร้อยจะเป็น “สงคราม” นั่นก็บ้าเหมือนกัน คำกลอนของแกเล่นคำผวน เช่น “โรคมากรากโมก ต้มกินหาย” เป็นต้น

๗) เป็นพระคุณอย่างยิ่ง ที่ตรัสบอกนามสกุลพวกพระยาศรีสุนทร (น้อย) ให้ได้ความแน่ใจ มูลเหตุคำ “ถอนสายบัว” คิดว่าจะทรงทราบก็ไม่ทรงทราบ เป็นอันว่าเสมอตัว “ไม่ได้ไม่เสีย”

๘) ข่าวเลิกราชาศัพท์ก็เห็นแต่หนังสือพิมพ์เขาลงลือ แต่ที่มีประกาศยกเลิกนั้นมีคำเดียวแต่วันประสูติ วันพระราชสมภพเช่นได้ตัดประกาศถวายมานี้แล้ว เมื่อเขาพูดถึงเลิกราชาศัพท์ก็ให้ไปหาฉบับที่เขาตีพิมพ์มาดู พบว่าเป็นหนังสือซึ่งพระยาศรีวรวงศ์จัดการเติมขึ้น เป็นอันว่ามากกว่าหนังสือเก่า

คำ “ราชาศัพท์” นั้นชอบกล ที่จะว่าคำสูงคำต่ำเก่า แม้ในชั้นเขมรจะว่าไม่มีก็ว่าไม่ได้ เคยเห็นหนังสือพิมพ์ข้างไทยเขาลงท้วงราชาศัพท์ ว่าคำ “สรงเสวย” ของเขมรก็เป็นคำสามัญในเมืองเขมรว่า กิน อาบ นั่นเอง อ่านแล้วก็ต้องเถียงในใจว่า “ไม่ช้าย” “กิน” คำปกติเขมรเขาว่า “สี” นอน เขาว่า “เฎก” ไม่ใช่ “บรรทม” “สรง” ก็เข้าใจว่าเป็นคำสูงเหมือนกัน แต่คำ อาบน้ำ อย่างสามัญยังไม่พบ อันคำทั้งปวงนั้นย่อมสับปลับ เช่นคำ “เสวย” ก็เป็นภาษาไทยแล้ว เขมรเขาเขียน “เสงย” แต่เขมรทุกวันนี้เขาอ่านว่า “โส๎งย” คิดว่าเป็นไปด้วยเขาอ่านตัวงอว่าโง ข้อพระดำริที่ว่าใช้คำต่างภาษาเพราะคนอยู่ปะปนกันนั้นก็ถูกอย่างหนึ่ง เช่นเคยได้เห็นหนังสือสำหรับวัดทางปักษ์ใต้ ซึ่งถ้าพูดตามสมัยนี้ก็จะต้องว่า “โฉนด” นั่นเป็นหนังสือเขมรและภาษาเขมร ดูศุภมาศวันคืนก็ไม่แก่ไปกว่าครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ย่อมเห็นได้อยู่ว่าคนเขมรมีปะปนอยู่ในปักษ์ใต้มาก ที่เป็นหนังสือเขมรก็ทีวัดนั้นจะเกี่ยวข้องกับพวกเขมร อย่างเช่นวัดชนะสงครามของเราเกี่ยวข้องกับมอญ ที่เป็นหนังสือเขมรและคำเขมรก็เพราะจะให้พวกเขมรอ่านเข้าใจดี ข้อที่ว่ามีพวกเขมรปนเปอยู่ทางแขวงปักษ์ใต้มากนั้น ก็มีพยานประกอบอยู่ เช่นชื่ออะไรต่างๆ เป็นคำเขมรก็มี มี “สทิงพระ” เป็นต้น เขมรเขาเขียนอย่างนั้น แต่เขาอ่านออกเสียงว่า “สตึงเปริยะ” เราไม่รู้คำนั้นก็ลากเอาเข้าความเป็นว่า “จะทิ้งพระ” แต่ก็เข้าความไปได้อย่างแกนๆ ที่จริงจะทิ้งไปเสียไม่ได้เลย นึกได้อีกคำหนึ่งก็ “ควนเนียง” เนียงนั้นนางเราดื้อๆ เขมรเขาก็เขียนลากข้าง แต่เขาอ่านออกเสียงไปว่า “เนียง” ยังคำว่าตายที่เป็นลำดับตามยศก็มีอีก ที่หลบคำผวนก็มีอีก เช่น “ช้าง ๘ เชือก” ก็แทนที่ “ช้าง ๘ ตัว” ทั้งภาษาก็ย่อมเดินไปเสมอ จะเห็นได้ที่คำ “ข้าพระพุทธเจ้า” แต่ก่อนนี้ไม่มีใครเขาใช้แก่เราเลย ทำให้คิดเห็นได้ว่าคำทั้งปวงนั้นค่อยมีค่อยมาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แล้วจึงเก็บทำขึ้นเป็นตำราราชาศัพท์ แต่ก็เก็บไม่หมด ทั้งคำที่เกิดขึ้นทีหลังก็ไม่ได้อยู่ในตำราราชาศัพท์ และตำราราชาศัพท์ก็ไม่ได้ประสงค์จะทำคำของเจ้าใช้อย่างที่เราเข้าใจกันอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นประสงค์เพียงแต่จะพูดกับเจ้าให้เพราะพริ้งเท่านั้น คำในราชาศัพท์นั้นก็ประหลาด เป็น “ยำส้าระเต่า” คำไทยก็มี เช่น “พระเจ้า” เป็นต้น คำเขมรก็มี คำมคธก็มี คำมคธเป็นมีมากกว่าเพื่อน เข้าใจว่าเป็นทีหลังจนเห็นเป็นขบขันก็มี ญัติกันว่าคำเจ้าจะต้องเป็นภาษามคธ แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น “หลอดพระวาตะ” ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่าท่อหายใจ แปลเทียบมาจากคำที่เรียกกันตามสามัญว่า “หลอดลม” แต่เชือนไปเป็นลำไส้ เพราะ “วาตะ” คำเจ้าว่าตด

อันการใช้คำนั้นประหลาด เช่นฝังศพก็เรียกว่า “บรรจุ” ไม่เห็นว่าคำ “ฝัง” นั้นหยาบคายเสียหายอะไรไปเลย นี่จะเข้าราชาศัพท์ด้วยหรือไม่

ข่าวเก่า

๙) เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ ๒ ฉบับ คือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน พระราชทานที่ศพนายตั้วฉบับหนึ่ง กับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ ฉบับหนึ่ง เขาส่งใบพิมพ์หมายกำหนดการมาให้ด้วยอย่างละ ๓ ฉบับ อยู่ข้างจะฟุ่มเฟือย จึ่งได้แบ่งส่งมาถวายอย่างละฉบับเพื่อทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑๐) ได้เห็นสมุดวาดเขียนของนักเรียนเด็กที่บ้าน ที่หลังสมุดมีรูปตลกดีพิมพ์ไว้เป็นมหากษัตริย์ตัวดำๆ เลี้ยงเสือ “ตัวเป็นเป๊น” นึกรู้สึกว่าผู้เขียนเขาเห็นรูปที่กราบทูลว่ากษัตริย์เลี้ยงสิงห์ “ตัวเป็นเป๊น” เอามาแก้เป็นกษัตริย์ตัวดำๆ เลี้ยงเสือ จึงตัดส่งมาถวายเป็นองค์พยาน

สอบ

๑๑) ตามที่กราบทูลว่าได้รับลายพระหัตถ์เวรมีปะปิดสองด้านนั้นจะระบุจำเพาะที่ได้รับฉบับหลัง หัวซองด้านหนึ่งปะปิดด้วยกระดาษม่วง มีตราเหลี่ยมรีประทับประจำต่อ ในดวงตรามีหนังสือว่า Opened by Censor 50 เข้าใจว่าทำมาทางปีนัง หัวซองอีกด้านหนึ่งปิดกระดาษแดงหนังสือตัวขาวว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข มีตราประจำต่อดวงกลม ภายในเป็นเลข ๑ ฝรั่งเข้าใจว่าด้านนี้ทำในกรุงเทพฯ เกล้ากระหม่อมได้มีหนังสือไปถึงองค์หญิงมัลลิกา ขอสมุดเรื่องราชาภิเษกพระเจ้าศรีอนุ กับเรื่องพระเมรุพระเจ้ามณีวงศ์ ถ้าหากว่ามีเขาได้ทำ ก็ได้รับหนังสือตอบของเธอ หนังสือนั้นมีปะปิดแต่ด้านเดียว ใช้กระดาษม่วงมีตราประจำต่อเป็นหนังสือภาษาอังกฤษว่า Passed by Censor 287 A ทำให้รู้ไม่ได้ว่าปะปิดที่ไหน คือถ้าเป็นทางฝรั่งเศสก็ควรที่ตราประจำต่อเป็นหนังสือภาษาฝรั่งเศส ถ้าเป็นทางกรุงเทพฯ ก็ควรจะเป็นกระดาษแดงๆ จึ่งขอประทานสอบว่า หนังสือเวรซึ่งเกล้ากระหม่อมส่งมาถวายซึ่งได้ทรงรับแล้วนั้น มีลักษณะเป็นประการใด เพื่อเทียบกัน

บ้าบ่น

๑๒) เดี๋ยวนี้ความลืมเป็นจำเริญมาก จะโปรดให้ปลอบตัวว่ากระไร นึกจะเขียนอะไรมาถวายแล้วก็ลืม จริงอยู่ ได้โปรดประทานสมุดสำหรับจดกันลืมไป แต่นึกจะเขียนอะไรถวายขึ้นได้ในเวลาที่จะจดไม่ได้ เช่นเวลานอนเป็นต้น แล้วต่อมาจะจดก็นึกไม่ออกว่านึกอะไรได้ไว้

ข่าวใหม่

๑๓) เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ได้รับหนังสือราชเลขานุการในพระองค์ บอกว่าสมเด็จพระพันวัสสากราบถวายบังคมลาเสด็จไปบางปอิน เพื่อทรงทอดกฐินพระราชทานวัดนิเวศน์ แล้วจะประทับแรมอยู่ที่นั่น ๗ ราตรี

๑๔) วันจันทร์เดือนนี้ วันที่ ๑๓ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๖ กันยายน ไม่มีปะปิดเลย มีแต่ตราดวงกลมเลข ๑ ประทับหลังซองมาดวงเดียว ไม่นึกรังเกียจอะไรในการที่จะมีปะปิดหรือไม่มี แต่เอาใจใส่อยู่ที่ตรงนั้น จะกราบทูลสนองความในคราวหน้าตามเคย เพราะคราวนี้ไม่ทัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ