วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงเช้าวันจันทร์ที่ ๑๗ แล้ว ลายพระหัตถ์เวรฉบับที่มาคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ยังไม่มาถึงมือหม่อมฉัน จึงเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดเขียนขึ้นต้นจดหมายเวรฉบับนี้ก่อน ทั้งให้คัดนิทานโบราณคดีไว้อีกเรื่อง ๑ สำหรับถวายกับจดหมายฉบับนี้ มิให้เรื่องบรรเลงน้อยไปกว่าเช่นเคย

เรื่องเบ็ดเตล็ด

๑) เมื่อทูลเรื่องเสลี่ยงกงไปในจดหมายเวรฉบับก่อนแล้ว หม่อมฉันมาคิดเห็นเค้าเงื่อนในเรื่องเสลี่ยงกงขึ้นอีก ดังจะทูลต่อไปนี้ สิ่งซึ่งเรียกว่า “เสลี่ยง” เป็นยานชนิดหามด้วยมีสายเชือกสำหรับเจ้าทรงมีลักษณะต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ เสลี่ยงหิ้วอย่าง ๑ มีตัวอย่าง พระเสลี่ยงหิ้วของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน พิจารณาดูลักษณะ ที่นั่งมีกระดานพิงและมีขอบไม้สูงสักนิ้วหนึ่งทางด้านหลังตลอดด้วยมาถึงด้านข้างๆ ละครึ่ง ๑ สำหรับกันเบาะให้อยู่กับที่ เสลี่ยงอีกอย่าง ๑ คือ “เสลี่ยงหาม ๔ คน” เช่น เจ้านายทรง ขนาดใหญ่กว่าเสลี่ยงหิ้ว พิจารณาดู สัณฐานที่นั่งก็เป็นอย่างเดียวกันกับเสลี่ยงหิ้ว มีผิดกันที่ทำขอบกันเบาะสูงขึ้นเป็นพนักสำหรับวางพระกรได้ เสลี่ยงอีกอย่าง ๑ หาม ๘ คนขนาดใหญ่กว่าเพื่อน เรียกกันว่าพระราชยาน แต่พระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียกว่า “เสลี่ยง” ผิดกับเสลี่ยงหาม ๔ คน ที่แก้พนักเป็นกระหนกลอยและทำกงสำหรับวางพระกรขึ้นต่างหากตั้งซ้อนไว้ข้างในแนวกระหนก ลักษณะเสลี่ยง ๓ อย่างนั้นมีกงแต่อย่างหาม ๘ คนอย่างเดียว เดิมจะเรียกว่า “พระเสลี่ยงกง” เป็นคู่กับ “พระเสลี่ยงหิ้ว” ดอกกระมัง เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่พระเสลี่ยงหิ้วกับพระเสลี่ยงหาม ๘ คน จึงเรียกพระเสลี่ยง ๒ อย่างนั้นรวมกันว่าพระราชยาน คำว่าพระราชยานคนทั้งหลายมาเรียกแต่เฉพาะพระเสลี่ยงหาม ๘ คน เมื่อเลิกทรงพระเสลี่ยงหิ้ว เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสเรียกว่า “เสลี่ยง” สืบกันมา นอกจากวินิจฉัยนี้ไม่มีอะไรจะรู้ได้ว่ารูปร่างเสลี่ยงกงเมื่อรัชกาลที่ ๔ จะเป็นอย่างไร ขอให้ทรงพิเคราะห์ดูเถิด แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่าเสลี่ยงกงที่มีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ มิใช่ราชยาน เพราะฉะนั้นที่ว่าทูลกระหม่อมทรงสร้างพระเสลี่ยงกงหุ้มทองคำขึ้นเป็นราชยานนั้นเห็นจะคัดค้านได้เด็ดขาดว่าไม่มีมูล

๒) เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ นี้หม่อมฉันได้เห็นการอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้ว่าอาจจะเป็นได้ ประหลาดใจนักหนา หม่อมฉันออกมาอยู่เมืองปีนังก็หลายปีมาแล้ว และไปเที่ยวที่ “สวนลิง” แทบทุกวันก็ว่าได้เพิ่งเห็นลิงเล่นน้ำ ในวันนั้นหม่อมฉันลงเดินเล่นด้วยกันกับลูก ออกจากพุ่มไม้ไปใกล้ลำธารตรงที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง เห็นฝูงลิงสัก ๓๐ ตัว กำลังลงเล่นน้ำอยู่ด้วยกันในลำธาร ไม่ใช่ลงกินน้ำหรือว่ายน้ำข้ามฟากอย่างเคยเห็นมาแต่ก่อน ครั้งนี้เป็นชวนกันลงเล่นว่ายน้ำเหมือนอย่างมนุษย์เล่นน้ำไม่มีผิด บางตัวก็นั่งแช่อยู่ครึ่งตัว บางตัวก็ลอยคอ บางตัวก็ว่ายน้ำดำด้นไปผุดขึ้นที่อื่น บางตัวก็นอนเล่นตามก้อนหินที่ชายน้ำเซ้าซี้สนุกกันทั้งฝูง หม่อมฉันกับลูกยืนอยู่เป็นนานด้วยความพิศวง ด้วยไม่เคยเห็นหรือแม้อ่านในหนังสือเก่า เช่นนิทานชาดกหรือเรื่องรามเกียรติ์ อันมีพรรณนากิริยาอาการของลิง มีแต่พรรณนาว่าในอย่างอื่น ไม่เคยพบที่ว่าลิงเล่นน้ำเลย จนมาเห็นแก่ตาเมื่อวันนั้นจึงประหลาดใจนักหนา

๓) ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด วันหนึ่งหม่อมฉันนึกขึ้นถึงบทกล่อมเด็กของเก่าบท ๑ ลองท่องก็ว่าได้ตลอดทั้งบท ว่า

“โพนเพนเอย กระเดนสายนาก
น้ำท่วมขึ้นฟาก กระจายดอกพริก
อีแม่ระริก อีแม่ระรวย
ตัดใบตองกล้วย มารองบายศรี
ชะมดฉมี ตีฆ้องหน้าวง
อ้ายคงเป่าปี่ กระดี่ชะมด
  อ้ายคดตีแฉ่ง
ค้างคาวปากแหว่ง อุ้มลูกมาดู
สดุดขี้หมู สดุดขี้หมา
  หกล้มปากแตก
สดุดหญ้าแพรก แตกเสียทำเนา
  เจ้าเพรานกกระจอก
ผักบุ้งหญ้างอก ทองหลางใบมน
  ชนก้นยายมอญ
ปิดประตูใส่กลอน นอนเสียกลางวัน
  ไก่ขันเอ๊กเอ๊ก”

คิดต่อไปถึงความที่กล่าวในบทกล่อมนั้น เกิดติดศัพท์แปลไม่ออก เป็นต้นแต่โพนเพนเป็นตัวสัตว์หรือสิ่งอันใด สายนากคืออะไร ชะมดฉวี เป็นชื่อคน ที่ตีฆ้องหรืออะไร กระดี่ชะมดคืออะไร พิจารณาต่อไปถึงเรื่องที่แต่งก็ตีความไม่ออก ว่าเป็นเรื่องอะไร จะด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมจึงจดถวายมา จะทรงแปลได้หรือไม่

๔) ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์นั้น เขาเพิ่งเอามาส่งเมื่อวันอังคารที่ ๑๘ เวลาเช้า จะเขียนความสนองลายพระหัตถ์ไม่ทันเวลาจะทูลสนองในจดหมายฉบับหน้าต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ