วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๔ มิถุนายน เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ เวลาบ่าย ช้ากว่าควรจะได้รับ ๒ วัน

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) ชายใหม่มาถึงปีนังแล้วโดยสะดวก ไม่มีความลำบากอย่างไร หนังสือวิสาขบูชาที่โปรดประทานมาเธอก็ได้เอามาส่งแล้วขอบพระเดชพระคุณมาก หม่อมฉันไม่ได้เห็นชายใหม่มา ๒ ปีแล้ว ได้พบก็ชื่นใจ ยังคอยจะพบชายดิศกับหญิงหลุยและหลานที่ยังไม่เคยเห็นอีก ๒ คน เห็นจะมาถึงราววันที่ ๑๗ นี้

๒) พระเจดีย์อนุสสรณี ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้าง ณ วัดราชบพิธมี ๔ องค์ มีชื่อมาแต่เดิมทุกองค์ คือ สุนันทานุสาวรีองค์ ๑ รังษีวัฒนาองค์ ๑ เสาวภาประดิษฐานองค์ ๑ สุขุมาลย์นฤมิตองค์ ๑

๓) ชื่อวัดสระเกษดูถือว่าเป็นชื่อสำคัญทางเมืองในมณฑลอีสานมีเกือบทุกเมืองแต่เขาเรียกว่า “วัดศรีสระเกษ” วัดสระเกษในกรุงเทพฯ นี้เดิมชื่อว่า “วัดสะแก” มีเรื่องตำนานว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกลับจากเมืองเขมร เข้ามาเสวยราชย์ประทับทำพิธีพระกระยาสนานที่วัดสะแก แล้วจึงเดินกระบวนแห่เสด็จมายังพลับพลาหน้าวัดโพธาราม อันเป็นท่าเรือข้ามไปยังพระราชวังกรุงธนบุรี เมื่อทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามวัดสะแกเป็นวัดสระเกษ พระธรรมธานาจารย์ (จุ่น) เคยบอกหม่อมฉันว่าพระในวัดสระเกษบอกเล่าสืบกันมา ว่าสระที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สรงน้ำนั้น โปรดให้ถมเสียแล้วสร้างการเปรียญขึ้นตรงนั้น อยู่ทางข้างตะวันออกของกุฏิหมู่ใหญ่อันเป็นที่อยู่ของพระราชาคณะบัดนี้

๔) บ้านแม่ลาจะอยู่ในเขตเมืองไหน หม่อมฉันจำไม่ได้แน่ แต่ใกล้ๆ กับพระนครศรีอยุธยา จำได้แต่โคลงบท ๑ ในนิราศ (อะไรก็นึกไม่ออก) ซึ่งเขาคัดเอามายกเป็นตำราว่า

แม่ลาลาลดให้ หาศรี
ลาแม่ลาลาลี ลาศเต้า
ลาลดรทดทวี ทุกขเทวศ
ลาแม่ลาแล้วนะเจ้า ลับแล้วลาสมร

๕) พงศาวดารชวาตอนอิเหนาเป็นเรื่องเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ร่วมกับสมัยเมื่อพระเจ้ารามคำแหงมหาราชครองกรุงสุโขทัย ไม่ก่อนเก่าเท่าใดนัก ในบทละครเรื่องอิเหนาตอนประสันตาต่อนก ว่ากองทัพอิเหนาตั้งอยู่ชายกุหนุงปะราปีฝ่าย ๑ กองทัพระตู ๓ คนตั้งอยู่ชายเขาปะราปีฝ่าย ๑ ภูเขาไฟที่ชวาเรียกว่า “เมราปี” เป็นเขาเดียวกัน หรือถ้าจะตามแผนที่ในปัจจุบันนี้ คือทัพ ๑ อยู่ที่บวรพุทธ อีกทัพ ๑ อยู่ที่พรหมานันท์ ภูเขาไฟมะราปีอยู่กลาง คำว่า “อาปี” แปลว่าไฟ ชื่อภูเขาส่อให้เห็นได้ว่าต้องมีไฟขึ้นจากภูเขานั้นอยู่แล้วเมื่อสมัยอิเหนา หรือจะว่ามีมาก่อนแล้วตั้งพันปีก็ว่าได้ เป็นแต่พวกเล่านิทานไม่นำพาเท่านั้น

๖) เรื่องรู้ข่าวสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคต หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายเวรฉบับที่ผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้แล้ว ต่อมาถึงวันศุกร์ที่ ๖ มิถุนายน หม่อมฉันได้ทำบุญโดยพิธีสัตมวารอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ เผอิญตรงกับวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ไม่ทราบก่อน จึงยังมิได้ถวายเครื่องขมาในวันนั้น การทำบุญนั้นหม่อมฉันถวายส่วนกุศลแก่พระองค์ท่านด้วย

๗) “มรหุ่ม” โดยลำพังศัพท์หมายความว่า “ท่านผู้ที่ล่วงแล้ว” มิใช่ชื่อตัวบุคคล หรือชื่อสถานที่ ที่ปากน้ำเมืองสงขลาทางข้างเหนือมีบริเวณที่ฝังศพผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งถือศาสนาอิสลามอยู่แห่ง ๑ ชาวเมืองเรียกที่ตรงนั้นว่ามรหุ่ม หม่อมฉันได้เคยไปดูเห็นว่าจะเป็นที่ฝังศพตัวเจ้าเมือง ซึ่งเป็นแขกถือศาสนาอิสลาม เหตุที่แขกพวกถือศาสนาอิสลามมาได้ครองเมืองสงขลานั้น เพราะเมืองสงขลาอยู่สุดแดนไทยต่อกับแดนมลายู สมัยใดเมืองไทยมีกำลังมากก็รุกแดนได้เมืองมลายูเป็นเมืองขึ้น สมัยใดเมืองไทยอ่อนกำลังพวกมลายูก็รุกแดนไทยขึ้นมา แต่ปกครองอยู่ชั่วคราวแล้วก็ถูกไล่กลับไป หม่อมฉันไม่มีเวลาจะค้นเรื่องทูล แต่ที่นึกว่าจำได้ ดูเหมือนได้เห็นในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดา ว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมพวกมลายูขึ้นมาชิงได้เมืองสงขลาและเมืองพัทลุง ครองเมืองอยู่สักหกเจ็ดปีจนถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ไทยก็ไปขับไล่พวกมลายูออกไป ผู้ที่เรียกกันว่ามรหุ่มจะได้ครองเมืองสงขลาในครั้งนั้นก็เป็นได้

๘) ที่ใช้คำเรียกความตายของบุคคลต่างกันตามยศ หม่อมฉันเพิ่งพบมูลไม่ช้ามานัก ว่ามาแต่ประเพณีจีน ดูเหมือนจะได้เคยทูลไปแล้ว ดูลำบากยากยุ่งไม่เป็นเรื่อง ถ้าเปลี่ยนใช้คำว่า “ตาย” เสียให้เหมือนกันหมดทุกชั้นทุกชนิดก็จะดี

ทูลเรื่องทางปีนัง

๙) เมื่อคอยรับลายพระหัตถ์อยู่ในวันศุกร์กับวันเสาร์ หม่อมฉันนึกเกรงว่าจะมีเวลาเขียนจดหมายฉบับนี้น้อย แต่ประจวบเวลาหม่อมฉันเขียนจดหมายถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นวินิจฉัยว่าด้วย “ลาว” เห็นว่าควรจะทูลบรรเลงได้จึงได้ให้คัดสำเนาถวายมากับจดหมายฉบับนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ในต้นฉบับไม่มี สำเนา ดังกล่าวถึงนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ