วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ฝ่าพระบาทคงจะรำคาญพระทัยที่ไม่ได้ทรงรับหนังสือเวร ที่งดเสียไม่ได้ส่งก็เพราะรถไฟไม่เดินออกมาถึงปีนัง งดตั้งแต่หนังสือเวรซึ่งลงวันที่ ๙ ธันวาคม แต่อยู่ว่างเปล่าก็ร่างตอบลายพระหัตถ์เวร ฉบับซึ่งลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน นั้นไป ถ้ารถไฟเดินออกมาถึงปีนังเมื่อไรก็จะส่งมาถวายเมื่อนั้น

สนองลายพระหัตถ์

๑. ในเรื่องเครื่องทำเพลงนั้นได้คติมาก เห็นในใจว่าแต่ก่อนนี้มีแต่ร้องโดยลำลอง เช่นเพลงปรบไก่เป็นต้น แล้วจึงเอาเครื่องทำเพลงเข้าผสมทีหลัง เห็นได้ที่คำ “สังเค็ด” ก็หมายความว่าที่พระขึ้นสวดร้องสี่องค์ ได้กันกับ “สังคีตรตนากร” หรือคำ “อินๆ” ก็มีว่า “สังคีติกาจารย์” เป็นอันลงกันหมด เครื่องสังเค็ดซึ่งเราจัดไปเข้าเมรุก็เห็นว่าแต่เดิมคงจัดตั้งไปในสังเค็ดที่พระสวดแล้วนำไปสู่เมรุ

อันเครื่องทำเสียงนั้นเรามีกลองอย่างขึ้นหนังตอกตะปูกับระฆังมานานแล้ว ระฆังนั้นไปเห็นทางชวาเขาทำด้วยไม้ราง เรียกว่า “ตองๆ” ก็เห็นได้ว่านั่นเป็นต้นเดิม แล้วเรามาหล่อด้วยทองเหลืองเรียกว่าระฆัง ทำไมจึงเขียน “ระฆัง” เป็นภาษาอะไร จะเขียน “ระคัง” ไม่ได้หรือ เราจะคิดเองหรือจำอย่างใครมาก็เอาไว้ที แต่ระฆังเราไม่ได้เอามาตีเข้ากับร้อง ใช้แต่โหม่ง ส่วนกลองนั้นเราใช้คำว่า “กลอง” เห็นว่าเป็นคำไทย แม้อย่างอื่นที่ขึ้นหนังไม่ตอกตะปูโดยมากเราก็เรียกว่ากลอง ตามภาษาของเรา เว้นแต่ลางอย่างก็เป็นอย่างอื่นไป เช่น “โทน” “ทับ” เป็นต้น สองหน้ากับเปิงมางนั้นต่างกัน สองหน้านั้นใบใหญ่ใช้ตีทั้งสองหน้าจึงเรียกชื่อว่าสองหน้า ส่วนเปิงมาง (หรือเปิงหม่าง) นั้นย่อมลงมาใช้ตีแต่หน้าเดียวสอดกับตะโพนให้เป็นสามเสียง และถ้าเล็กลงอีกเรียกว่า “แป๊ว” แต่นั่นสำหรับใช้เพียงตีเพลงมอญเมื่อทำเสภาออกภาษามอญเท่านั้น ข้อนี้ทำให้เป็นไปว่าตะโพนและบรรดากลองที่ร้อยหนังปิดไม้หมด (ซึ่งเรียกว่า “หนังเรียด” หรือ “ไส้ละมาน”) นั้น เราจำมาจากมอญไม่เกี่ยวแก่ “โทน ทับ” ที่เอาสองหน้าไปตีกับปี่พาทย์รับเสภานั้นเห็นจะเอาไปทีหลัง ข้อเหล่านี้ทำให้เห็นว่า “โทน” กับ “ทับ” นั้นจะเป็นสิ่งเดียวกัน คือโทนอย่างเดียวเท่านั้นแต่เรียกเป็นสองชื่อ

คัมภีร์ “สังคีตรตนากร” นั้นลับ แลไม่เห็น พบแต่ “ตูรย” ว่ามี ๕ อย่าง คือ

(๑) “อาตต” กลองขึ้นหนังหน้าเดียว

(๒) “วิตต” กลองขึ้นหนังสองหน้า

(๓) “อาตตวิตต” กลองขึ้นหนังรอบตัว อย่างนี้ไม่เคยเห็นเลย คิดว่าเห็นหนังทั้งตัวอย่างตะโพน

(๔) “ศุษิร” เครื่องลม (เป่า) กับ

(๕) “ฆน” เครื่องตี (เคาะจังหวะ)

อันนี้ก็ได้กับที่เราเรียก “เบญจดุริยางค์” หรือ “เครื่องห้า” คำ “ตันตรี” ก็พบ แปลไว้ให้ว่าเครื่องสาย ซึ่งมาตรงกับคำ “ดนตรี” ของเรา คำ “มโหรี” นั้นดูพจนานุกรมไม่พบ พบแต่ในหนังสือเรื่อง อิเหนา มีเรียกหน้าพาทย์ “มโหรี” เป็นทีว่าชื่อเพลง หรือจะเป็นเรียกให้ทำมโหรีก็ไม่ทราบ แต่ที่ทรงพระดำริว่าเครื่องเบาๆ ที่ทำในเรือนนั้นชอบอยู่ จะต้องเป็นเครื่องสาย ที่โบราณเขียนไว้ก็เป็นอย่างนั้น ที่เติมฆ้องขนาดเล็กและระนาดเล็กเข้าในมโหรีนั้น คิดว่าเติมทีหลัง เป็นการตื่นปี่พาทย์เสียแล้ว อนึ่งในบทละครก็มีเรียกหน้าพาทย์ว่า “ช้าปี่” “โอ้ปี่” กับเรียกลงสรงและร้องรถร้องม้าว่า “โทน” นั่นแสดงว่าละครแต่ก่อนเล่นแต่กับปี่และโทน ก็ไม่ประหลาดอะไร เห็นได้ว่ามาจาก “โนรา” ทีเดียว

๒. คำว่า “ปูม” นั้นนึกได้สองอย่าง ผ้านุ่งก็เรียก “ปูม” ดวงชาตาเก่าๆ ที่โหรเขาจดไว้หรือลางทีก็มีจดหมายเหตุด้วยนั้นก็เรียกว่า “ปูม” สงสัยว่าจะเป็นภาษาเขมรเปลี่ยน พ เป็น ป นึกว่าที่เราพูดว่า “พูมฐาน” ก็จะเป็นอันเดียวกัน อันภาษามคธควบเข้าเป็นคำแปล “พูม” ว่า “ฐาน” คิดดูก็ลงกันได้ เรียกผ้านุ่งว่า “ปูม” ก็คือฐานะแห่งบรรดาศักดิ์ หรือเรียกดวงเก่าๆ ว่า “ปูม” ก็เป็นฐานะแห่งตัวผู้นั้นเหมือนกัน

ผ้าปูมซึ่งมีลายพลอมแพลมนั้นเป็นที่วิธีทำ คือย้อมไหมก่อนแล้วจึงทอ แต่ที่แท้ก็ต้องเขียนลายก่อนนั่นเอง เข้าใจว่าเพราะเหตุนั้นจึงได้เกิดผ้าลายตีพิมพ์ขึ้น โรงไหมของเราเป็นแน่ว่าจำมาจากเขมร แต่ที่เจ้าคุณเป้าควบคุมนั้นไม่ทราบ มาทราบเอาชั้นคุณมนตรี ในการที่ให้โรงไหมทอผ้าตราหรือสั่งให้ทำมาแต่เมืองนอกนั้นไม่ประหลาดอะไร เพราะทำมาแต่เมืองนอกนั้นง่ายกว่าที่โรงไหมจะทำ แต่เดี๋ยวนี้ผ้าตราเล็กๆ ก็ทำในนี้ เพราะมีช่างทอมากขึ้น โรงไหมซึ่งเคยทอผ้าสมปักอยู่แต่ก่อนนั้นล้มไปแล้ว คำ “สมปัก” เราเขียนหนังสือกันเป็นเช่นนั้น แต่พูดว่า “ถมปัก” คำพูดกับหนังสือผิดกันมีถมไป จนมีคำว่า “เล่าเรียนเขียนอ่าน” ก็ทำให้เห็นว่าเขียนกับอ่านนั้นผิดกัน ครั้นได้ไปพบหนังสือเขมรเขาเขียน “สมปัต” จึงเก็บเอามาตื่นเต้นด้วยคิดว่าจะมีปทัฏฐานอะไรอยู่ในนั้น แต่ก็ไม่ได้เรื่อง โปรเฟสเซอร์เซเดส์บอกว่าเขมรเขาอ่าน “ซอมป้วด” ก็เลยสิ้นศรัทธา ไม่ได้สอบสวนให้ตระหนักว่าผ้าปูมจะเป็นผ้านุ่งธรรมดาหรือผ้านุ่งยศ หรือเป็นทั้งสองอย่างแต่ลายไม่เหมือนกันก็ไม่ทราบ

๓. เรื่องยา หญิงแก้วเธอนึกถึงสมเด็จพระพันวัสสานั้นควรแล้ว แต่ที่นึกถึงเกล้ากระหม่อมด้วยนั้นเป็นพิเศษ เป็นบุญคุณเหลือล้น แต่ยานั้นเธอเอามาให้หญิงอามไม่ใช่เกล้ากระหม่อม หญิงอามได้ให้หมอตรวจดูแล้ว เขาว่าไม่ใช่ยา เป็นอาหาร หญิงอามได้ให้หมอไปเที่ยวหา แต่เข้าใจว่าไม่มีในกรุงเทพฯ

๔. คำที่เรียก “ฝรั่ง” โปรดทรงอธิบายถึงมูลเดิมนั้นดีมาก เป็นความรู้ขึ้นอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้รู้มาแต่ก่อน อนึ่งคำ “อังกฤษ” ซึ่งเขาเขียนเปลี่ยนเป็น “บริติช” นั้น ผู้เขียนเขาก็อธิบายแล้วว่าเปลี่ยนเพราะรวมกัน ซึ่งเมื่อเราใช้คำอังกฤษอยู่นั้นยังไม่ได้รวม

๕. หนังสือ “วินัยมุข” นั้นเกล้ากระหม่อมมีฉบับสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสประทานไว้ แต่ไม่ได้อ่าน เป็นแต่พลิกๆ ดูเป็นดูรูปมากกว่าอื่น

พระสงฆ์เราทุกวันนี้นับว่ามีผ้าเป็น ๖ ผืน นอกจากจีวร ๓ แล้ว ก็มีอังสะ ราดตะคดอก ราดตะคดเอว เพิ่มเข้าด้วย อันราดตะคดเอว ซึ่งไม่เป็นผ้าเราเรียกว่า “ราดตะคดลังกา” เห็นได้ว่าเราจำมาแต่ต่างประเทศไม่ใช่ของเรา ความเปลี่ยนแปลงดังนั้นย่อมเห็นได้ว่าเป็นไปทีหลังพุทธกาล ที่เป็นหนังสือขึ้นก็ทีหลังพุทธกาลนับด้วยร้อยปี จะต้องเขียนตามที่ประพฤติกันอยู่หรือเขียนจากความจำ อันความจำนั้นก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปได้ ยิ่งความประพฤติก็ยิ่งใหญ่ อาจเคลื่อนไปได้ยิ่งกว่าความจำเสียอีก ที่ภิกษุณีต้องมีผ้าอาบน้ำอีกผืนหนึ่งนั้น แสดงว่าภิกษุอาบน้ำต้อง “ก้า”

๖. ที่เขียนเรื่องมหาชาติคำหลวงพุ่งมาถวาย ก็ดีที่ได้ทราบว่าเด็กซึ่งสวดตามศาลารายในวัดพระแก้วนั้น เป็นของฝ่าพระบาทจัดขึ้นตามแนวเก่า

อนึ่งการที่สวดได้แต่มหาพนกัณฑ์เดียวนั้น เป็นมาแต่ครั้งขุนทินแล้ว แต่ขุนทินคงจะสวดได้จบกัณฑ์มหาพน ส่วนกัณฑ์อื่นก็คงจะรู้บ้างแต่ไม่ตลอด

ความจำของเรานั้นประหลาดหนักหนา ลางทีก็จำได้ด้วยท่อง ลางทีก็จำได้เปล่า ๆ เปลือย ๆ เห็นจะเป็นด้วยที่ตรงไหนจับใจก็จำไว้ได้เป็นตอน ๆ เหมือนหนึ่งเรื่องมหาพนคำหลวงซึ่งกราบทูลถึงนั้นก็ยังอุตส่าห์เลือกไปจำไว้ได้บ้าง

๗. เรื่องสันกำแพง เมื่อได้ฟังพระดำริก็รู้สึกตัวว่าเขลาไปมาก ที่จริงจะทำอย่างไรก็ย่อมเป็นไปด้วยความประสงค์ทั้งนั้น ที่ทำสันกำแพงเกลี้ยงเช่นกำแพงแก้วริมทะเลที่ปีนัง ไม่ใช่แต่เพียงได้เห็น ได้เคยไปนั่งเสียด้วยซ้ำ ที่กราบทูลว่าควรทำเป็นสันอกไก่ก็เพียงแต่จะกันไม่ให้คนขึ้นไปเดินเล่น ที่ติดแก้วแตกก็เพื่อจะกันคนไม่ให้ปีนข้าม ถ้าจะทำแต่เพียงสันอกไก่ก็จะหากันไม่ได้

รั้วที่พระปฐมเจดีย์ นึกได้ว่าเป็นซี่ตรงขึ้นไป แต่ซี่นั้นจะห่างไปจนคนลอดได้หรืออย่างไรไม่ได้พิจารณา แต่ถึงจะห่างไปก็แก้ได้ด้วยก่อเป็นตาตะรางเสีย เงินที่จะต้องใช้ก็มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หลังๆ คอยทรงอุดหนุนอยู่

๘. “ช้า” ในคำลูกคู่ร้องรับเพลง “ช้าเจ้าหงส์” นั้น คิดว่าจะเป็น “ชะ” แต่ไม่ใช่คำว่า “ช้า” จะเป็น “ชะ” ไปหมด คำ “ช้าลูกหลวง” เป็นต้นนั้น คงที่ เพราะคำ “ช้า” ในที่นั้นมาแต่คำ “ชิงช้า” อันเป็นของไกว แล้วเอาปนกันเสียยุ่งจนไม่รู้ว่าอะไรต่ออะไร กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยถามว่า “ต่ำช้า” ทำไมจึงต้องมีช้า เกล้ากระหม่อมก็ติด ติดไม่ใช่แต่คำ “ต่ำช้า” แม้ที่ละครเขียนว่า “ช้า” ก็แปลไม่ออก ไม่ทราบว่าในที่นั้นจะหมายความว่าอย่างไร

๙. หนังสือแจกในงานศพเจ้าพระยาวรพงศ์ จะถามที่วังวรดิศ เข้าใจว่ามีแล้วที่จะส่ง

ย้อนหลัง

๑๐. อ่านรามเกียรติ์ฉบับกรุงธน ออกจะเข้าใจแล้วว่าแต่งอย่างเพลงยาว แต่เอาหน้าพาทย์ใส่เข้าตามท่วงที ลางคาบเป็นคำคี่ก็มี ลางคาบเป็นคำเดียวลงหน้าพาทย์ก็มี เพราะเหตุฉะนั้นคำ “เมื่อนั้น” จึงมีน้อย วิธีแต่งอย่างนั้นเห็นได้ว่าเป็นวิธีเก่า ทีจะเป็นมาแต่ครั้งกรุงธนขึ้นไป

ที่เรียกว่าคำหนึ่ง สังเกตว่าตัวละครร้องกลอนต้น แล้วลูกคู่ร้องรับกลอนหลัง นับว่าเป็นคำหนึ่ง จะกราบทูลถึงจับไม้ซึ่งจดไว้ว่า “แผด” กรมพระนราธิปทรงแต่งคำขับไม้เมื่อครั้งกล่อมพระเสวตคชเดชดิลก ตรัสถามมาว่า “แผด” นั้นเป็นแผดเสียงหรืออะไร ศัพท์นั้นเกล้ากระหม่อมก็เคยอ่านสะกดเหมือนกัน ให้รู้สึกเห็นขัน แต่เวลานั้นยังไม่มีพจนานุกรมเขมรอยู่ใน้มือ จึงเลยไม่ทราบว่าอะไร แต่เมื่อถูกถามเข้านั้น มีพจนานุกรมเขมรอยู่ในมือแล้วจึงเปิดดู ได้ความไปอย่างหนึ่งว่าไม่ได้อ่านสะกด อ่านเป็นตัวควบว่า “ผแด” ไป แล้วก็แปลให้ไว้ว่าคือคำ “๖ แผด” ก็คือ ๖ คำ เหมือนกับบทละครนั่นเอง

บรรเลง

๑๑. พระยาอนุมานแกถามว่า “ยัง” แปลว่าอะไร เป็นเรื่องพูดยากกว่าคำ “หลัง” เช่นได้กราบทูลมาแล้วนั้นไปมาก ถ้าว่าตามภาษาชาวปักษ์ใต้ เช่นถามกันว่า “เข้ยังฤา” ถ้าตอบ “ยัง” ก็เป็นมี ถ้าไม่มีจะต้องตอบว่า “หาไม่” ตรงกันข้ามกับทางเราเดี๋ยวนี้ ถ้าถามว่า “กินข้าวแล้วหรือยัง” แม้ตอบว่า “ยัง” ก็พึงเข้าใจว่ายังไม่ได้กิน แต่เมื่อนึกถึงคำเก่าเช่นว่า “ยังฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล” นั่นคำ “ยัง” เป็นไปในทางว่าทำให้ จะอย่างไรก็ดี คิดว่าคำยังนั้นจะหลงมาแต่ หยั่ง อย่าง ยั่ง ยั้ง อะไรพวกนั้นก็จะเป็นได้ หากแต่ความหมายเคลื่อนเลอะไป เช่นทางปักษ์ใต้ถามกันว่า “เข้ยังฤา” ก็จะหมายความว่า ตะเข้ยังหรือ เมื่อตอบ “ยั้ง” ก็คืออยู่ ไม่ใช่แปลว่ามีก็เป็นได้ แต่นี่เป็นคิดชั่วคำเดียว ด้วยไม่ทราบคำที่ใช้ของเขาไปหมด เหมือนหนึ่งคำสุภาษิตเก่าที่ว่า “เสือยังเพราะป่าปรก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้ายัง หญ้ายังเพราะดินดี” คำ “ยัง” ในที่เหล่านี้ก็คือ ยั้ง นั่นเอง

คำ “หลัง” นั้นก็ได้ตริตรองแล้ว เมื่อมีคำ “ก่อน” หรือ “หน้า” อยู่ก็ต้องมีคำ “หลัง” ที่เกิดถ้อยร้อยความก็เพราะเอาคำ “หลัง” ไปปรับเข้ากับคำอดีต แปลว่าปรับผิด ไม่ใช่คำผิด ที่ปรับผิดก็คืองง เมื่อ “อนาคต” ปรับว่า “ก่อน” “อดีต” จึงได้ปรับว่า “หลัง” แต่ที่จริงปรับผิดทั้งนั้น พระท่านบอกศักราช ท่านใช้คำ “อดีต” ว่าล่วงแล้ว ใช้คำ “อนาคต” ว่าจะมาในเบื้องหน้า นับว่าท่านปรับถูก

๑๒. เห็นในรูปเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเขาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ประมวญวันมีรูปลิงเห็นข้างหลัง เขาแหกชายกระเบนไว้ให้หางลอดออกมา ทำให้ได้สติมาก เราเขียนรูปลิงกัน ถ้าเป็นอย่างโบราณก็มีแต่ผ้าทิพย์ (คือผ้ารัดเอว) ที่ทำดังนั้นก็เท่ากับนุ่งผ้าอาบ หางย่อมลอดออกมาได้ไม่ขัดข้อง แต่ที่เขียนกันนั้นลิงตัวนายก็แต่งตัวอย่างรูปมนุษย์ตัวนาย ที่ทำดังนั้นก็คิดว่าเพื่อจะให้เห็นว่าเป็นพญาวานร ลางทีก็ไม่เขียนหาง ลางทีก็เขียนหางด้วย แต่งรูปที่เขียนหางนั้นเขียนรูปข้างหน้า เขียนหางไว้ที่หว่างขา เห็นว่านั่นก็เอาอย่างจากลิงโขน โขนเขาเอาหางผูกไว้ใต้ผ้าทิพย์ เป็นครึ่งเก่าครึ่งใหม่ แต่ถึงจะทำชายกระเบนแหกเอาหางออกก็ไม่ได้อยู่นั่นเอง ยังติดสนับเพลาอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นทางให้ได้คติคิด

๑๓. นอกจากคำ “สังคีติกาจารย์” ยังนึกได้ “คันถรจนาจารย์” อีกคำหนึ่ง ถามชายงั่วให้ความเห็นว่า ที่เรียก “คันถรจนาจารย์” มีมาก เป็นภาษาอรรถกถา หมายความว่าผู้แต่งตามใจ (อย่างที่กราบทูลมาว่า “นิพนธ์”) “สังคีติกาจารย์” นั้นมีน้อย ทีจะหมายความว่าเก็บผสม (อย่างที่กราบทูลเช่น “อโณทัยอภัยทัต”) แต่ดูศัพท์ “สังคีต” ก็แปลว่าร้อง ที่เข้าใจว่าเก็บผสมนั้นเห็นจะเป็นที่เคลื่อนความหมายไปทีหลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ