วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ถึงวันอาทิตย์แล้วยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวร จึ่งเขียนอะไรหัวแหลกหัวแตกบรรเลงถวายเล่นก่อน

ความคิดย้อนหลัง

๑. ตราตำแหน่งเก่าซึ่งเป็นรูปสัตว์จะมาแต่เรือ เช่น เรือราชสีห์ คชสีห์ เรือ ม้า เยียงผา เป็นต้นได้หรือไม่ ทำเรือถ้าไม่เลือกเอาหัวสัตว์เป็นหัวเรือก็ไม่มีทางที่จะทำได้ ถ้าตามแนวนี้เรือก็มีมาก่อนตราตำแหน่ง

๒. เคยได้เห็นตราหัวหมื่นมหาดเล็กคนหนึ่ง จะเป็นตำแหน่งใดลืมเสียแล้ว แกะเป็นนาคพันอยู่กับตะบอง รูปนั้นมาแต่เรือ นาคคทาทอง นาคตะบองรัตน์ นาคเหรา นาควาสุกรี คิดก็เห็นว่าหัวหมื่นมหาดเล็กขี่เรือหัวนาคทั้งสี่ตน แปลว่าเรือหัวนาคมีสี่ลำ ถ้าจะเรียกแต่ว่าเรือนาคเฉยๆ ก็ไม่รู้ว่าลำไหนต่อลำไหน จึ่งได้ต่อสร้อยเสียเพื่อเรียกรู้ เคยได้นึกว่า นาคคทาทอง นาคตะบองรัตน์ เป็นตะบองทอง ตะบองแก้ว ถ้าเขียนสีจะเห็นได้แต่เป็นเส้นสีเดียวเช่นตรายากที่จะเห็น ซ้ำนาควาสุกรีจะทำอย่างไร เขาทำอย่างไรมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบ ไม่ได้เห็นตรานาคคทาทอง ที่เห็นก็ดูเป็นทำด้วยฝีมือใหม่ๆ

๓. ตราพวกกองอาสา มีกรมเขนทองซ้ายขวาเป็นต้น มักเป็นรูปลิง อันรูปลิงนั้นไปได้แก่ “กระบี่ธุช” เป็นธงแม่ทัพของทหารพระราม พวกกองอาสานั้นเขาก็ลงเรือดั้งอยู่เสมอ เรือดั้งก็เคยเห็นเป็นสองอย่าง อย่างปรกติก็มี อย่างหัวเป็นรูปสุครีพพาลีก็มี ถ้ามีรูปสุครีพพาลีได้ทำไมจะมีรูปลิงอื่นเช่นองคทไม่ได้ แต่เข้าใจว่าเรือดั้งอย่างปรกติมีมาก่อน อย่างเป็นรูปลิงมีทีหลัง แต่ไม่ใช่ว่าตราจะมีทีหลังธงอาจเป็นหัวเรือ หัวเรืออาจเป็นตราก็หากจะเป็นได้อยู่ทางหนึ่ง

๔. พระราชลัญจกรที่ชื่อว่า “พระครุฑพ่าห์” “ไอยราพต” เป็นต้นนั้น สังเกตตามชื่อก็เป็นรูปสัตว์เท่านั้น ไม่ปรากฏเป็นว่ามีองค์เทวดาด้วย หัวเรือพระที่นั่งซึ่งเป็นรูปครุฑก็พบอยู่บ่อยๆ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณก็พูดกันว่าเดิมเป็นแต่รูปครุฑเปล่าๆ ทำในรัชกาลที่ ๓ แล้วมาทำองค์นารายณ์เติมเข้าในรัชกาลที่ ๔ คิดดูก็เห็นชอบกล พระราชลัญจกรนั้นเป็น “มหาอุณาโลม” ใช้อยู่จริงด้วยไม่ใช่เก็บปรากฏเห็นอยู่ที่บานมุก มีที่วัดพิษณุโลกและวัดป่าโมกเป็นต้น แต่เหตุไฉนจึงจะมีพระราชลัญจกร “พระครุฑพ่าห์” ซ้อนเข้าอีกเล่า จะเป็นได้หรือไม่ ว่ารูปครุฑนั้นสำหรับหมายเรือพระที่นั่งต่างธงประจำพระองค์ ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นพระราชลัญจกร แต่แล้วเอาไปทำเป็นพระราชลัญจกรขึ้นทีหลัง ตรา “ไอยราพต” นั้นมีเงาให้เห็นว่าเป็นตราสำหรับตำแหน่งพระอินทราชา แต่เมื่อเลิกตำแหน่งนั้นแล้วก็กวาดเอารวมเข้าไว้เป็นพระราชลัญจกร ข้อนี้ยังไม่มีความเห็นเปลี่ยนแปลง เจ้านายครองเมืองนั้นมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่นตรา “หงสพิมาน” “สังข์พิมาน” เป็นต้น คงเป็นสำหรับเจ้านายเหล่านั้นแต่ละองค์ เว้นแต่ไม่มีที่จะพึงสังเกตได้ก็เจาะลงไปไม่ได้ ตรา “หงส์พิมาน” นั้นหมายถึงหงส์ทรงของพระพรหม ไม่ใช่หมายความว่ารูปหงส์อยู่ในวิมาน แต่เมื่อทำรูปหงส์ไว้ในวิมานแล้วก็นำใจให้ทำผิดไปเป็นรูปสังข์อยู่ในวิมาน ทั้งนี้ได้เคยเห็นเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ส่วนดวงตราจริงๆ นั้นไม่เคยเห็น เคยโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระราชลัญจกร “หงส์พิมาน” มาทีหนึ่งแล้ว ได้นึกถึงชื่อม้าหงส์พิมานก็ทำเป็นรูปหงส์มีบุษบกบนหลัง รูปสังข์ ฝ่าพระบาทก็ทรงเก็บเงินตราได้มาแต่ไหน ดูเหมือนทางนครปฐม แต่ก็เป็นรูปสังข์เปล่าๆ ไม่มีวิมาน จึงคิดว่าคำ “พิมาน” นั้น “หงส์พิมาน” นำไปให้หลง ถ้าหากว่าเงินตราสังข์ได้มาทางนครปฐมถูกต้อง ก็ทีเจ้าผู้ครองทางแถวเมืองสุพรรณจะถือตรา “สังข์” (พิมาน) ดอกกระมัง ตรานกยูงของพม่าก็คือธงพระอาทิตย์ เห็นทีเขาจะถือว่ากษัตริย์พม่าเป็นสุริยวงศ์

ข่าว

๕. หลานวิสาขากลับมาแต่หัวหิน ได้ถามดูว่าไม่เห็นกลับมากับป้าแก้วอยู่กับใครต่อไป บอกว่าอยู่กับน้ารี (หญิงกุมารี) ก็เป็นได้กัน

๖. เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ไปรดน้ำแต่งงานบ่าวสาวที่บ้านหลวงวิศาลบรรณกิจได้พวงมาลัยมา ถึงบ้านปลายเนินเห็นหลานมดวิ่งเล่นอยู่จึงได้ให้พวงมาลัยนั้น อีกครู่เดียวก็ยกกันขึ้นมาหาเป็นโขยงใหญ่ มีน้ารีเป็นผู้นำ เมื่อตอนก่อนไปรดน้ำแต่งงาน เห็นหญิงอามชักโขลงขึ้นรถสีน้ำเงินอ่อนไป รถนั้นไม่ใช่รถที่บ้านปลายเนิน ทีหลังถามดูจึ่งได้ความว่าเป็นรถหญิงกุมารี พาหญิงกุมารีไปสหการแพทย์ให้หมอเขาตรวจ หน้าหญิงกุมารีซึ่งเป็นไฝไปมากมาย นั่นแหละจึงได้เข้าใจเรื่อง

๗. คราวนี้จะกราบทูลถึงตัวเอง เป็นอะไรก็ไม่ทราบที่ข้างขาตะไกรขวา แลก็ไม่เห็น เป็นแต่คลำพบว่ามันเป็นหนังยาวออกมา ได้ให้หญิงอามช่วยดูก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร บอกรูปว่าเป็นเม็ดส่งหนังยาวออกมาแต่ไม่มีแผลเหือดอะไร เธอแนะนำว่าให้หมอเขาดู แต่มันไม่เจ็บก็ทอดธุระชาๆ ไป ทั้งนี้เป็นเรื่องแต่เมื่่ออยู่ที่วังวรดิศ ครั้นกลับมาถึงบ้านปลายเนินพบหมอซึ่งเขาอยู่ด้วยที่นั่น ให้เขาดูเขาว่าเป็นหูดชนิดหนึ่ง ซึ่งมันส่งหนังออกมาให้ เขาว่าต้องจิ้มยากัดเอารากออกเขาก็จิ้มให้ คลำดูรู้สึกว่าหนังนั้นแห้งไป เขาว่าต้องจิ้มสักสองสามหนจึ่งจะเป็นผลสำเร็จ ก็ตามที

๘. เมื่อวันที่ ๓ เป็นวันเสาร์ ชายดิศกับหญิงหลุยทั้งลูกสองคนขึ้นไปลากลับ รู้ได้ว่ามานานแล้ว ถามแม่โตบอกว่าพอแกกลับมาประเดี๋ยวก็มา แม่โตกลับมากับหญิงอาม ถามได้ความว่าไปวังวรดิศ เอาของขโมยไปส่ง เรื่องของขโมยควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อเกล้ากระหม่อมกลับจากวังวรดิศมาบ้านปลายเนินแล้ว ตื่นขึ้นหาแปรงสีฟันไม่พบ จึงเปิดหีบเครื่องครบสำหรับแต่งตัวก็เห็นแปรงสีฟันใส่อยู่ในหีบแก้ว จำได้ว่าหีบนั้นเป็นของที่วังวรดิศ หญิงอามเข้ามาจึ่งทักแก่หญิงอามว่าหีบนี้เป็นของที่วังวรดิศขโมยมา เธอก็รับว่าขโมยมาจริง ต่อมาอีกสองสามวันเห็นแม่โตเอาของรวมไว้หลายสิ่งด้วยกัน มีหีบแก้วใส่แปรงสีฟันอยู่ในนั้นด้วย บอกว่าของทั้งนี้ขโมยมาแต่วังวรดิศทั้งนั้น รวบรวมจะเอาไปส่ง เกล้ากระหม่อมก็เห็นขัน นึกว่าเป็นแต่หีบแก้วใส่แปรงสีฟันใบเดียว ที่แท้เป็นหลายสิ่ง

สนองลายพระหัตถ์

๙. ถึงวันจันทร์ (วันที่ ๕ พฤษภาคม) ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๘ เมษายน ปะปิดสองทับ จึ่งรู้ว่าที่เดาก่อนว่าที่กรุงเลิกตรวจนั้นผิดไป หากจะเป็นหลงลืมหรือพอใจแล้วเท่านั้น แต่จะอย่างไรก็ไม่มีอันตรายอย่างไร จึ่งจะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นแต่ลางข้อต่อไปนี้

๑๐. เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่โปรดประทานอนุญาตให้แปรสถานไปอยู่วังวรดิศได้ หญิงหลุยเธอก็บอกไว้ ว่าเธอจะจัดตำหนักให้คงอยู่เช่นเคย จะไปเมื่อไรก็ได้

๑๑. เรื่องต้นชมพู่สีชมพู เพิ่งจะทราบว่าเรียก “ชมพู่สำลี” ได้ทราบอยู่ว่ามีต้นที่วังวรดิศ เกี่ยวแก่สกุลสิงหเสนี แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน เพิ่งจะได้ทราบเมื่อไปอยู่วังวรดิศนั้น ได้รับประทานลูกเสียด้วยซ้ำ แต่เสียทีที่ไม่ทราบเรื่องว่าเกี่ยวกับใครอันควรจะทำบุญอุทิศกุศลให้แก่เขาบ้าง แต่ลางทีชายดิศหรือหญิงหลุยจะได้ทำแล้ว ที่ได้กินก็หญิงหลุยเอามาให้ เห็นว่าที่ชื่อว่าต้นชมพู่ก็มาแต่สีชมพูนั้นเอง ซ้ำดีกว่าอย่างอื่นเสียด้วย ต้นชมพู่ที่แท้จะต้องเป็นสีชมพู ที่เป็นอย่างอื่นเห็นไม่ใช่ชมพู่ แล้วยังซ้ำแปล “ชัมพุ” กันว่าต้นหว้าเสียด้วยซ้ำ เห็นว่าแปลผิดไปมาก แต่เรื่องแปลนั้นยากนัก เช่น “ขทีร” เราแปลกันว่าต้นตะเคียน แต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านอ่านหนังสือพบว่ามีหนาม ต้นตะเคียนไม่มีหนามก็เข้าใจได้ว่าแปลผิด

๑๒. เรื่องโยคะสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านก็เคยถามว่าเป็นอย่างไร มีกี่วิธี ทีในพระบาลีจะไม่มีบอกละเอียดไว้ท่านจึงไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเคยพบในคัมภีร์มหาภารตยุทธมีกล่าวถึงโยคะหลายหน้า แต่ไม่ได้อ่าน เห็นเป็นสวะจึ่งเลยไม่ทราบซึ่งอาจบอกแก่ท่านได้

๑๓. เกล้ากระหม่อมเคยไปขุดพระที่นั่งวิหารสมเด็จในกรุงเก่า ปราสาทนั้นเป็นมุขยาวอยู่ด้านหน้า สันนิษฐานว่าเป็นท้องพระโรงหน้า มุขหลังสั้นกว่าหน่อยสันนิษฐานว่าเป็นท้องพระโรงหลัง มุขข้างติดอยู่ในตัวปราสาท แต่พอพูดได้ว่ามีมุขสี่ ที่มุขหน้าหลังนั้นเป็นพื้นถม แต่ที่กลางตรงยอดปราสาทเป็นพื้นยกสูงปูกระดาน ทราบได้ด้วยมีเสาอิฐก่อรับ ในนั้นเป็นอิฐหักทับถมอยู่ทั้งนั้น ทราบได้ว่าตรงนั้นเป็นหอพระ รู้ได้ที่คุ้ยได้พระชานุพระแก้วแตกตกอยู่ในกองอิฐซึ่งทับถมอยู่นั้น ที่เสด็จออกนั้นเป็นบัญชรอยู่ที่ผนังหอพระกับท้องพระโรงหน้า คิดว่าคงเสด็จขึ้นบูชาพระก่อน แล้วเปิดพระบัญชรเยี่ยมออกไปให้ขุนนางเฝ้าที่ท้องพระโรงหน้าเป็นปรกติทีเดียว อนึ่งหน้าท้องพระโรงหน้าก็มีมุขเด็จเป็นที่ตั้งพระราชอาสน์เสด็จออกกลางแจ้งได้อีกทีหนึ่ง

พระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเสด็จออกรับทูตฝรั่งเศส ซึ่งมีเศวตฉัตรปักขวางหน้าพระบัญชรอยู่นั้น อาจเป็นยกพระแท่นไปเสีย เหลือแต่พระเศวตฉัตรก็เป็นได้ เหมือนหนึ่งที่พระที่นั่งอมรินทร์ก็เคยยกพระแท่นไปเสียทั้งพระเศวตฉัตรด้วย ดูที่ประทับในพระที่นั่งกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าเป็นหลายชั้น พระที่นั่งอมรินทร์มีบุษบกมาลา แล้วก็มีพระแท่นเศวตฉัตรซ้อนหน้า แล้วก็มีพระแท่นอย่างบรรทมซ้อนหน้าพระแท่นเศวตฉัตรอีกทีหนึ่ง แล้วก็เลิกพระยี่ภู่เสียเอาพระโทรนขึ้นตั้ง ส่วนทางพระที่นั่งดุสิตนั้นมีที่เสด็จออกมุขเด็จผิดกว่าพระที่นั่งอมรินทร์ ไปถึงครั้งเสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งจักรีกลับตั้งพระแท่นบรรทมอีก ย่อมกลับไปกลับมาอยู่ตามต้องการ ที่มองซิเออ (เกล้ากระหม่อมเรียกว่า) หมู มีความเห็นว่าพระเจ้าชัยวรมันถือพระพุทธศาสสนา พระองค์ทรงสร้างพระนครธม เพราะเหตุฉะนั้นสิ่งใดๆ ในพระนครธมจะเป็นทางพราหมณ์ไปไม่ได้เลย เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วย ความเห็นของแกไม่ให้เวลาสำหรับเปลี่ยนแปลงไว้บ้างเลย

ฝาพระที่นั่งธัญมหาปราสาท ซึ่งเขียนเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกแขกเมืองฝรั่งเศสนั้น เห็นเขาเขียนเป็นห้องๆ ดูทีเป็นลูกปะกน จึ่งเข้าใจว่าทำด้วยไม้ไม่ใช่กระจก กระจกจะทำทีหลังนั้น

๑๔. ทองนพคุณ คือทอง ๙ น้ำนั้น ดีเต็มทีที่เข้าใจตามพระดำรัสอธิบายทองเนื้อแปดเนื้อเจ็ดน้ำสองขาก็คือว่ามีธาตุอื่นปน ทองบางตะพานซึ่งคิดว่าจะไม่ใช่ที่เกิดก็เป็นเดา ด้วยไม่รู้หนักเบาเท่านั้นเอง ที่สงสัยก็สงสัยว่าจะเกิดเหนือน้ำ ไม่ได้สงสัยว่าจะเกิดในหิน ถ้าเกิดในหินแล้วจะหลุดไหลมาหาได้ไม่ แม้หินก็เป็นดินมาก่อน มีนิทานฝรั่งพบคางคกในหิน และกรมหลวงสรรพสิทธิก็เคยทรงพบรอยเท้าที่หินทางไทรโยค ไม่ใช่รอยพระบาทเพราะมีรอยเป็นเทือกไป ที่เหยียบถลากไปก็มี เห็นได้ว่าเดิมทีเป็นดินอ่อนๆ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ