วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๕ แล้วยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งมาถึงปีนัง เมื่อวันพฤหัสบดี หม่อมฉันจึงตั้งเรื่องทูลบรรเลงข้างต้นจดหมายฉบับนี้

๑) นึกได้ถึงเรื่องที่ทูลผัดไว้เรื่อง ๑ เนื่องกับที่ทรงปรารภว่าเรือนที่สร้างกันในกรุงเทพฯ ยังชอบให้มีมุขไม่ว่าเป็นเรือนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก หม่อมฉันหมายจะทูลถึงแบบเรือนมุขว่าเริ่มสร้างกันมาแต่เมื่อใด คิดค้นความทรงจำถึงเรือนชั้นสมัยเก่าซึ่งได้เคยเห็นมา เลยถอยหลังห่างขึ้นไปดังจะเขียนทูลในจดหมายฉบับนี้

ในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชมนเทียรแล้ว ยังอยู่เรือนไม้กันทั้งนั้น เช่นตำหนักรักษาในพระราชวังหลวงก็ดี วังเจ้าและบ้านขุนนางก็ดี แม้กุฏิพระเช่นวัดมหาธาตุและวัดพระเชตุพนก็ดี ล้วนเป็นเรือนไม้แบบเรือนไทยทั้งนั้น ได้ยินว่าตำหนักในวังหน้าทำเป็นตึกมาแต่รัชกาลที่ ๑ แต่ก็ทำเป็นแบบเรือนไทย เป็นแต่ฝาก่ออิฐเท่านั้น

เรือนอยู่ซึ่งสร้างเป็นรูปตึกอย่างต่างประเทศดูเหมือนจะแรกมีขึ้นเมื่อสร้างสวนขวาในรัชกาลที่ ๒ ทำเป็นตำหนักย่อมๆ มีพื้นหลายชั้น จะเป็นแบบตึกฝรั่งหรือเก๋งจีนก็ไม่ตรงทีเดียว น่าเรียกว่า “ตึกอย่างเทศ” มีหลายหลัง ตึกเหล่านั้นถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดให้รื้อเอาไปถวายวัดหลายแห่ง ยังอยู่จนเดี๋ยวนี้หลัง ๑ ที่เรียก “พระปั้นหย่า” ณ วัดบวรนิเวศน์

ถึงรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงแปลงตำหนักในพระราชวังหลวงกับทั้งกุฏิสงฆ์ในวัดหลวงที่สำคัญเป็นตึก แต่ก็ทำอย่างรูปเรือนไม้ เป็นแต่เปลี่ยนเป็นก่ออิฐโบกปูน น่าจะเป็นในสมัยนี้ที่มีเจ้านายบางพระองค์และขุนนางผู้ใหญ่บางคนเริ่มทำเรือนอยู่เป็น “ตึกอย่างฝรั่ง” ค้นหาตัวอย่างนึกได้แต่ตำหนักของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสร้างไว้ที่พระราชวังเดิมหลัง ๑ จะยังอยู่หรือรื้อเสียแล้วหาทราบไม่ เคยเห็นเมื่อสมเด็จกรมพระพระองค์ใหญ่เสด็จอยู่ จำได้ว่าเป็นตึก ๒ ชั้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมรีมีเฉลียงด้านหน้า และบันไดอยู่ข้างนอกขึ้นที่เฉลียงนั้น ทำนองเดียวกันกับพระที่นั่งอิศเรศราชานุสสรณ์ในวังหน้าแต่ย่อมกว่า พิเคราะห์ดูเหมือนจะเอาอย่างเรือนอเมริกันซึ่งได้แบบจากพวกมิชชันนารีมาทำ

ถึงรัชกาลที่ ๔ ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงเริ่มทำเรือนอยู่เป็นตึกกันแพร่หลาย เรือนตึกที่สร้างรัชกาลที่ ๔ ทำตามแบบเรือนอเมริกัน แต่พระที่นั่งอิศเรศฯ องค์เดียว นอกจากนั้นมีแบบขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ จะเรียก (อย่างขอไปที) ว่า “ตึกกะหลาป๋า” เป็นตึก ๒ ชั้นสัณฐานสี่เหลี่ยมรี มีมุขบ้างไม่มีบ้าง ทรงหลังคาดาดกว่าแบบเรือนไทย ทำฝารอบเอาเฉลียงไว้ในเรือน มีบันไดขึ้นข้างนอกด้วยยังถือคติว่าลอดใต้ถุนเป็นอัปมงคล ต่อกุฏิพระจึงไม่ถือว่าชั้นต่ำเป็นใต้ถุน แบบเรือนเช่นว่ามานี้ยังมีตัวอย่างที่สร้างชั้นเก่า คือตำหนักกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่วัดบวรนิเวศน์

ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อราวปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับ กรมหมื่นวิษณุนาถ ไปตรวจการงานที่เมืองสิงคโปร์ ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้แบบอย่างอะไรต่างๆ เข้าไปจากเมืองสิงคโปร์หลายอย่าง ชี้ตัวอย่างได้คือตึกแถวที่สร้างริมถนนเจริญกรุงชั้นเดิม สร้างตามอย่างตึกแถวที่เมืองสิงคโปร์ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้แบบไปครั้งนั้น ถึงแบบเรือน ๒ ชั้นที่มีห้องเป็นมุขยื่นออกไปข้างหน้า ชี้ตัวอย่างดังเช่นตำหนักที่วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร และกรมขุนศิริธัชสังกาศ เป็นต้น อันรื้อโครงตำหนักที่สร้างค้างอยู่ ณ พระราชวังนันทอุทยานไปสร้างวังนั้นๆ ก็น่าจะเป็นแบบที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เอาไปจากสิงคโปร์ แต่มุขเรือนที่เมืองสิงคโปร์ความสำคัญอยู่ชั้นล่าง ด้วยทำมุขสำหรับให้เป็นที่ขึ้นลงรถในร่ม ในเมืองไทยเมื่อสมัยนั้นยังไม่ใช้รถกันแพร่หลาย จึงใช้มุขเป็นท้องพระโรงหรือห้องรับแขกประกอบกับบันไดขึ้นข้างนอกที่มุขนั้น หรือว่าอีกอย่างหนึ่งแบบตึกสิงคโปร์จำต้องมีห้องมุขเป็นที่จอดรถ แต่ห้องมุขที่เอาไปทำในเมืองไทยใช้เป็นท้องพระโรงและห้องรับแขก มุขจึงเป็นของมีแต่ที่เรือนผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์ มุขก็กลายเป็นเกียรติยศ ผู้ที่ตั้งตัวใหม่เมื่อสร้างเรือนอยู่จะเป็นตึกก็ตามเรือนไม้ก็ตาม จึงอยากให้เรือนมีมุขด้วยประการฉะนี้

แบบเรือนตึกในเมืองไทยคงยังเป็นอย่างมีห้องมุขประกอบกับบันไดมาจนตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ดังเช่นพระที่นั่งใหม่ ตำหนักทูลกระหม่อมปราสาท ตำหนักเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ และวังกรมหลวงอดิศรฯ เป็นแบบอย่างนั้นทั้งนั้น แบบเรือนตึกมาเริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อได้มิสเตอร์คูลนิสอังกฤษเข้ารับราชการก็ลงมือแก้พระที่นั่งใหม่ สร้างพระที่นั่งจักรีฯ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปถึงวังเจ้าบ้านขุนนางข้างนอก จนซินยอครัสซีอิตาเลียนเข้ามารับทำการก่อสร้าง แรกรับทำเรือนตึกที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์สร้างให้บุตรของท่านคือ พระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) หลัง ๑ ให้พระยาราชานุประพันธ์ (ทุ้ย) หลัง ๑ ที่ริมคลองบางกอกใหญ่ ตึก ๒ หลังนั้นทั้งรูปร่างลวดลาย “เข้าที” แปลกกับเรือนตึกที่อื่น ราคาก็เรียกเพียงหลังละ ๘๐ ชั่ง ซินยอครัสซีก็เริ่มได้ชื่อเสียง เลยเป็นเหตุให้ได้สร้างตำหนักใหญ่ที่วังบูรพาภิรมย์ เป็นตึกหลังแรกที่ทำที่รถจอดข้างใต้มุขและบันไดขึ้นข้างในเรือน เพิกถอนคติรังเกียจใต้ถุนแต่นั้นมา หรือว่าอีกอย่างหนึ่งถึงสมัยใช้ช่างฝรั่งคิดแบบเรือนแต่นั้นมา ทูลตามความทรงจำได้เข้าใจว่าเรื่องตำนานมีมาดังนี้

ลายพระหัตถ์

๒) เขาเพิ่งเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม มาส่งให้หม่อมฉันเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ เวลากลางวัน มีเวลาเขียนจดหมายสนองลายพระหัตถ์ ให้ทันส่งเมล์ได้แต่วันเดียว จึงจะเลือกทูลแต่ข้อที่มิต้องตริตรองมากนัก รอข้อเช่นนั้นไว้ทูลต่อไปในจดหมายเวรฉบับอื่น

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๓) ว่าถึงอะไรๆ ที่ขาดแคลนไปเพราะเกิดสงครามนั้น เมื่อเร็วๆ นี้คนจ่ายตลาดเขามาบอกลูกหญิงว่า ลูกแอปเปิลในตลาดเมืองปีนังราคาขึ้น ขายถึงลูกละ ๒๕ เซนต์ หม่อมฉันไม่นิ่งได้บอกว่า “กล้วยมีถมไป เมื่อยังเล็กก็เคยกินแต่กล้วย จะซื้อลูกไม้ฝรั่งกินทำไม” แต่เมื่อสักสองสามวันนี้ราคาลดแล้ว ทั้งลูกแอปเปินและลูกองุ่น เพราะเรือที่บรรทุกลูกไม้จากออสเตรเลียมาถึง ก่อนขึ้นไปสักสองสัปดาหะ ก็มีเรื่องอยู่ข้างขบขันทำนองเดียวกัน ด้วยเรือที่เคยเอาบุหรี่กระดาษมาขายช้าเกินกำหนด เกิดข่าวลือว่าบุหรี่กระดาษจะขาดตลาด พวกที่ชอบสูบบุหรี่กระดาษก็พากันเที่ยวซื้อหาตามร้านขายย่อย โดยหวังจะเอาไปสำรองไว้สูบเมื่อบุหรี่กระดาษขาดตลาด เป็นเหตุให้บุหรี่ยิ่งมีขายน้อยลง บางคนอยากให้รัฐบาลควบคุมการขายบุหรี่กระดาษ แต่รัฐบาลเขาว่าบุหรี่ไม่ใช่ของจำเป็นจะต้องบริโภคเหมือนของบางอย่างเช่นนมวัวกระป๋องเป็นต้น เขาจึงไม่ควบคุม แต่โจทย์กันอยู่สักสองสามวัน เรือบรรทุกบุหรี่มาถึงก็เงียบไป ดูจะไปได้ดีอยู่แก่พวกร้านย่อยที่ซื้อบุหรี่กระดาษเก่าๆ เอาไปขายๆได้เกือบหมด

๔) หม่อมฉันเคยคิดวินิจฉัยเรื่องกรวดน้ำ เห็นว่ารวมอยู่ในหมายความว่า “เป็นการสละให้เป็นสิทธิ์” ดังเช่นกรวดน้ำลงพระหัตถ์พระประธาน ก็คือถวายวัดเป็นสิทธิ์แก่พุทธศาสนา หลั่งน้ำในมือพระภิกษุเมื่อสร้างกุฏิก็คือให้กุฏิเป็นสิทธิ์แก่สงฆ์ พระเวสสันดรหลั่งน้ำลงมือพราหมณ์ เมื่อให้ช้างเผือกหรือเมื่อให้สองกุมารก็ดี ก็คือให้เป็นสิทธิ์ แม้ที่สุดคนกรวดน้ำเมื่อทำบุญให้ทานก็อยู่ในสละวัตถุหรือบุญของตนให้เป็นสิทธิ์แก่ผู้อื่นทั้งนั้น ต่างกันแต่ถ้ามีตัวผู้รับก็หลั่งน้ำให้ในมือ ถ้าไม่มีตัวผู้ที่จะรับก็กรวดน้ำเทลงกับแผ่นดิน การที่ออกวาจาบริกรรมในเวลาหลั่งน้ำหรือเอามือคนในน้ำก็เป็นการแสดงอุทิศให้แก่ผู้ซึ่งไม่มีตัวจะรับ ลักษณะที่หญิง ๒ คนกรวดน้ำด้วยเอามือคนน้ำในถาดเดียวที่ถืออยู่ด้วยกัน ดังชาวอินเดียทำหนังฉาย เห็นจะหมายว่าหญิง ๒ คนนั้นทำทานอันเดียวกัน ต่างอธิษฐานอุทิศตามปรารถนา ต่างกันที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกรวดน้ำตัดทางไมตรีนั้น ก็คือปฏิญาณต่อเทวดาอารักษ์เหมือนอุทิศพระองค์เป็นสิทธิ์ขาดที่จะต่อสู้กู้บ้านเมืองให้จงได้ ดูพอเข้ากัน

๕) ซึ่งทรงพระดำริว่า บรรดาสิ่งซึ่งมีฉัตร์กั้นมูลต้องมาแต่อยู่กลางแจ้งนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกแท้ทีเดียว มูลของพระที่นั่งเศวตฉัตร์คิดดูก็พอเห็นด้วย ในสมัยดึกดำบรรพ์พิธีราชาภิเษกคงต้องทำกลางแจ้ง เพราะต้องทำต่อหน้าบริษัทบริวารพร้อมกันมาก แต่สมัยนั้นยังไม่มีราชมนเทียรสถานใหญ่โต พิเคราะห์รูปภาพก็คงมีราชบัลลังก์นั้น ให้บริวารชนอันล้อมเป็นวงอยู่รอบข้างรู้แน่ชัดด้วยเห็นพระองค์ ต่อเมื่อถือกันว่าเศวตฉัตร์เป็นเครื่องหมายที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินจึงเอาเข้ามาเป็นเครื่องตั้งในร่ม

ฐานพระแท่นเศวตฉัตร์หมดเพียงตอนหน้ากระดานชั้นล่าง ที่ทำอะไรต่ออะไรรองต่อลงมา ดูเป็นคิดขึ้นสำหรับจะตั้งพระแท่นเศวตฉัตร์ให้ดูสง่างามเหมาะกับห้องพระราชมนเทียรที่ตั้งเท่านั้น จึงทำต่างกันตามความคิดและความนิยมในสมัยที่ทำฐานรองนั้น

๖) งานพระเมรุทูลกระหม่อมหญิงวลัย หม่อมฉันสังเกตรายการตามที่ทราบ เห็นว่าแก้ไขเหมาะกับกาละดี เป็นต้นแต่พลับพลาไม่จัดเป็นข้างหน้าข้างใน และให้เจ้านายไปรวมกันอยู่ข้างฝ่ายใต้ทั้งหมดก็เหมาะดี เพราะถ้าจัดเป็นข้างหน้าข้างในอย่างแต่ก่อน ฝ่ายข้างในเห็นจะโหรงเต็มที ถึงกระบวนแห่พระศพก็จัดดี ถ้าจะว่าดีกว่าตั้งพระโกศบนเวไชยันตราชรถและยานมาศสามลำคานแล้วจ้างกุลีเจ๊กมาแต่งปลอมเป็นไทยลากรถและหามยานมาศเสียอีก ว่าโดยย่อแบบงานพระศพอย่างแต่ก่อนมันเป็นการไม่สมสมัยเสียแล้ว ทำอย่างไรแต่ให้สะดวก ระวังเพียงอย่าให้เสียพระเกียรติยศเท่านั้นก็เป็นการสมควร.

เขียนมาถึงเวลาเที่ยงวันอังคาร ต้องหยุดเพียงนี้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ