วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้ก็ได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน โดยเรียบร้อยอีกตามเคย

ทูลความที่ค้างมา

๑) ในจดหมายฉบับก่อนหม่อมฉันได้ทูลผัดไว้ว่า จะทูลสนองเรื่องทับและโทนในสัปดาหะนี้ เมื่อหม่อมฉันแต่งหนังสือเรื่อง “ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์” ได้ให้พราหมณ์กุปปุสวามี อารย แปลอธิบายเครื่องดุริยางคดนตรีในคัมภีร์สังคีตรัตนากรภาษาสันสกฤตออกให้ดู ได้ความว่าเครื่องดีดสีตีเป่าทั้งปวงนั้น ชาวอินเดียเขาเรียกรวมกันว่า “เครื่องสังคีต” จำแนกเป็น ๔ ประเภท

ก. เรียกว่า “ตะตะ” คือเครื่องสายดีดสีให้เกิดเสียง ประเภท ๑

ข. เรียกว่า “สุษิระ” คือ เครื่องเป่าให้เกิดเสียง ประเภท ๑

ค. เรียกว่า “อะวะนัทธะ” คือเครื่องตีให้เกิดเสียง ประเภท ๑

ฆ. เรียกว่า “ฆะนะ” คือเครื่องกระทบให้เกิดเสียง ประเภท ๑

มีอธิบายต่อไปว่า เครื่องดีดสีกับเครื่องเป่าสำหรับทำลำนำ เครื่องตีสำหรับ ทำประกอบเพลง และเครื่องกระทบสำหรับทำจังหวะ และว่าเครื่องสังคีตแต่ละประเภทมีหลายชนิด พรรณนาลักษณะไว้ในตำรานั้นด้วย จะกล่าวในวินิจฉัยนี้แต่ประเภทเครื่องตี อันทับและโทนอยู่ในประเภทนั้น

ในตำราสังคีตรัตนากรว่า เครื่องสังคีตประเภทตีล้วนขึ้นหนังหุ้มต่างกันเป็น ๓ ชนิด ชนิด ๑ ขึ้นหนังหน้าเดียว ชนิด ๑ ขึ้นหนัง ๒ หน้า ผูกหนังด้วยสายเชือก ชนิด ๑ ขึ้นหนัง ๒ หน้า กรึงหนังด้วยตาปู เครื่องสังคีตของไทยก็มีตรงตำราทั้ง ๓ อย่าง คือ “ทับ” ขึ้นหนังหน้าเดียว “โทน” (ชาวอินเดียเขียน โทล) ขึ้นหนัง ๒ หน้า ผูกหนังด้วยสายเชือก “กลอง” ขึ้นหนัง ๒ หน้า กรึงหนังด้วยตาปู และใช้เครื่องตีประกอบเพลงเหมือนอย่างว่าในตำรา เป็นแต่เรียกชื่อไขว้เขวไป ดังเช่น “ทับ” ชาวนครศรีธรรมราชเขาก็ยังเรียกว่า ทับ แต่ชาวกรุงเทพ ฯ เรียกว่า โทน ส่วน “โทล” ที่ขึ้นหนัง ๒ หน้า ผูกหนังด้วยเชือก ไทยเราเรียกไปเป็นอย่างอื่นเช่น “ตะโพน” “สองหน้า” “เปิงมาง” บางอย่างก็เรียกกลายไปเป็น “กลอง” เช่น “กลองชนะ” และ “กลองแขก” เลยไม่มีสิ่งใดในพวก “โทล” ที่เราเรียกชื่อตามเดิมสักสิ่งเดียว แต่ประหลาดอยู่ที่ยังเรียกในบทละครเมื่อร้องบทลงสรงทรงเครื่อง และบทชมรถหรือช้างม้าพาหนะ บอกไว้ให้ร้องเพลง “โทน” ซึ่งหมายความว่าร้องเข้ากับโทน แต่ไม่มีสิ่งซึ่งเรียกว่าโทนอยู่ในเครื่องปี่พาทย์ จะร้องเข้ากับอะไร ความส่อต่อไปว่าแต่โบราณเห็นจะใช้แต่สองหน้าในเครื่องปี่พาทย์ อย่างปี่พาทย์ทำรับเสภาอยู่บัดนี้ และเรียกว่า “โทล” เหมือนชาวอินเดีย จึงบอกในบทละครว่าให้ร้องเข้ากับโทน ละครชาวอินเดียที่มาเล่นในเมืองไทย ก็ยังใช้ “โทล” ประกอบเพลงอยู่จนสมัยนี้ ตะโพน น่าจะเป็นของประดิษฐ์ขึ้น หรือเอามาเข้าเครื่องปี่พาทย์เล่นละครใช้แทนโทนต่อภายหลัง แต่เมื่อใช้ตะโพนทำปี่พาทย์เล่นละครแทนโทนแล้ว โทนก็เลยลับไป เรียกกันแต่ว่า สองหน้า ให้คนกลองตีขัดกับตะโพน

กลองนั้นเป็นของชนชาติไทยมีมาแต่ดั้งเดิมทั้งไทยใหญ่และไทยน้อย ไม่เกี่ยวแก่เครื่องสังคีตที่ได้แบบมาจากอินเดีย ดูเหมือนไทยจะเรียกบรรดาเครื่องสังคีตที่ขึ้นหนังว่า “กลอง” ทุกอย่าง ถึงทับและโทนก็เรียกว่า กลอง น่าจะมีแต่ไทยสยามที่แปลชื่อกลองบางอย่างไปเรียกตามชาวอินเดีย เมื่อได้เครื่องสังคีตของพวกนั้นมาเล่นละครและมโหรี ชนิดที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อก็คงเรียกว่ากลองอยู่ตามเดิม ดังเช่น กลองชนะ กลองแขก กลองมลายู เหล่านี้ ที่จริงก็อยู่ในจำพวกโทลทั้งนั้น

ทับกับโทนใช้ต่างกันอย่างไร ข้อนี้มีเค้าจะสังเกตอยู่ที่เครื่องมโหรีกับปี่พาทย์ มโหรีเป็นเครื่องเสียงเบาสำหรับบรรเลงในห้องเรือน ใช้ทับปี่พาทย์เป็นเครื่องเสียงดังสำหรับบรรเลงในที่เปิดเผย เดิมใช้โทน (คือสองหน้า) อย่างปี่พาทย์รับเสภา แล้วเปลี่ยนมาเป็นตะโพน หรือใช้ตะโพนเมื่อทำปี่พาทย์เล่นโขนละครกลางแจ้ง อธิบายโดยย่อว่าทับกับโทน สำหรับตีประกอบเพลงเหมือนกัน ถ้าบรรเลงเครื่องสังคีตเสียงเบาใช้ทับ ถ้าบรรเลงเครื่องสังคีตเสียงดังใช้โทน ใจความมีอยู่เท่านี้

สนองลายพระหัตถ์

๒) การที่เอาผ้าปูมทำถุงนุ่งนั้น ลูกหญิงพูน หญิงพิลัย กับหญิงเหลือ เธอริทำขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งไปเมืองเขมรกลับมา ด้วยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ประทานผ้าปูมเธอมาคนละหลายผืน ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมณีวงศ์ทรงราชย์ก็ส่งมาประทานอีกครั้งหนึ่ง จึงนุ่งถุงปูมกันฟุ่มเฟือย หม่อมฉันไม่ทราบว่าหญิงนิดได้ถุงปูมครั้งนั้นมานุ่งหรือได้ผ้าปูมจากไหนมาทำถุง ถามกันดูจึงรู้ว่าหญิงนิดได้ผ้าปูม ซึ่งชายธัญญลักษณ์ผัวของเธอซื้อเอามาฝากจากเมืองพระตะบอง เมื่อเธอมาปีนังชายธัญญลักษณ์ก็ฝากมาให้หญิงพูนผืน ๑ หม่อมฉันเรียกเอามาดูเห็นฝีมือทออยู่ข้างหยาบ ไม่ประณีตเหมือนปูมเมืองพนมเพ็ญ เห็นจะเป็นของทอขายกันที่เมืองพระตะบองนั้นเอง เขมรที่ยังชอบใช้ผ้าปูมเห็นจะยังมีมาก

ว่าถึงผ้าปูมทำให้เกิดอยากรู้ขึ้นว่าชาติไหนริทำผ้าปูม ว่าตามตัวอย่างผ้าปูมไทยก็มี ผ้าปูมเขมรก็มี ผ้าปูมทอมาแต่เมืองมลายูก็มี แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีผ้าปูมมอญ พม่าหรือญวนและจีน แต่นึกดูประเดี๋ยวก็ได้เค้าว่า เขมรเห็นจะทำก่อน ไทยเราเอาอย่างมาจากเขมร เพราะคำที่เรียกชื่อว่าปูมก็มิใช่ภาษาไทย และในเมืองไทยมีโรงไหมของหลวงมาแต่โบราณสำหรับทอผ้าสมปักปูมและสมปักกรวยเชิง พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนาง คำ “สมปัก” ก็เป็นภาษาเขมร ดูเหมือนเขมรเขายังเรียกผ้านุ่งว่าสมปักอยู่เป็นศัพท์สามัญจนบัดนี้

ยังมีเรื่องเกร็ดจะทูลต่อไป โรงไหมนั้นยังมีอยู่จนในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าคุณหญิงเป้าราชินีกุลเป็นผู้บัญชาการ เมื่อแรกทรงตั้งระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้มีสายสะพายและแถบห้อยขึ้น คิดแบบแล้วโปรดให้พระยามนตรีสุริวงศ์ (ชื่น) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช ไปจัดการทอที่โรงไหม เพราะแกเป็นลูกเจ้าคุณหญิงเป้า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ใช้สายสะพายและแพรแถบทอในเมืองไทยมาหลายปี เห็นจะเป็นจนปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชะรอยโรงไหมจะไม่สามารถทำแพรสีชมพูได้งาม จึงสั่งแพรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ มาจากยุโรปแต่นั้นมา ส่วนโรงไหมนั้นตั้งแต่เลิกนุ่งสมปักเปลี่ยนเป็นผ้าม่วงสีกรมท่าก็เลิก เพราะใช้ผ้าสั่งมาจากเมืองจีนแทน

๓) เหตุที่หญิงแก้วเอายาวิตะมินไปถวายนั้น เพราะเธอว่าออกมาปีนังครั้งนี้ เธอสังเกตเห็นหม่อมฉันกระชุ่มกระชวยกว่าเธอมาคราวก่อน รู้ว่าหม่อมฉันกินยาวิตะมิน B. ซึ่งหมอเขาว่าเป็นยาสำหรับบำรุงกำลังคนสูงอายุ เธอคิดถึงสมเด็จพระพันวัสสาและพระองค์ท่าน จึงขอตัวอย่างยานั้นไปจากหญิงพูน ว่าจะเอาไปให้หมอประจำพระองค์พิจารณาดู ถ้าเขาเห็นว่ามีคุณจะได้ถวายให้เสวย แต่ยานั้นกินง่าย เขาให้กินก่อนอาหาร จะกินมื้อละเม็ดเดียวหรือสองเม็ดสามเม็ดก็ได้ หมอเขาว่ายานี้ไม่มีที่จะให้โทษอย่างไร หม่อมฉันกินก่อนอาหารกลางวันและอาหารกลางคืนมื้อละเม็ด สังเกตดูก็มีคุณอยู่

๔) คำ “ฝรั่ง” นั้น ไทยเราเรียกตามอย่างชาวอินเดีย หม่อมฉันเคยเห็นเรื่องตำนานว่าคำนั้นเกิดแต่คำ Frank ซึ่งเรียกชื่อชาวยุโรปพวก ๑ ซึ่งลงมาจากข้างเหนือมาตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินที่เป็นประเทศฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้อยู่สมัยหนึ่ง ชื่อนั้นรู้แพร่หลายมาทางเอเชียโดยลำดับ แต่ชาวเอเชียสำคัญว่าชาวยุโรปเป็น แฟรงก์ ทั้งนั้น จึงเรียกชื่อเดียวกัน แต่เรียกเพี้ยนไปเป็น “เฟรงคี” Frenghi พวกโปรตุเกสออกมาถึงอินเดียก่อนชาติอื่น ชาวอินเดียเรียกโปรตุเกสว่า เฟรงคี มาช้านาน ครั้นเมื่อมีชาวยุโรปมาอินเดียหลายชาติ ชื่อเฟรงคีก็ไปตกอยู่แก่โปรตุเกสชาติเดียว เลยเรียกว่า “เฟรงคี” ตลอดไป จนถึงชาวอินเดียที่เป็นเชื้อสายโปรตุเกส (เช่นเราเรียกว่าฝรั่งกุฎีจีน) อธิบายคำที่เรียกว่า อังกฤษกับบริติชนั้น มูลมีดังนี้ ประเทศอังกฤษในยุโรปเป็นถิ่นฐานของมหาชน ๓ ชาติ คือ อังกฤษชาติ ๑ สก๊อตชาติ ๑ และไอเอริชชาติ ๑ เดิมการปกครองก็แยกกันเป็น ๓ ประเทศ เมื่อรวมเป็นประเทศเดียวกันจึงขนานนามว่า “สหราชอาณาเขต” United Kingdom เห็นจะเป็นเพราะพวกไอริชไม่ยอมให้สูญชื่อเมืองของตน จึงต้องเพิ่มสร้อยชื่อเป็น “สหราชอาณาเขตมหาบริเตนกับไอเอร์แลนด์” United Kingdom of Great Britain and Ireland คำว่า บริเตน จึงหมายรวมกันแต่แผ่นดินอังกฤษกับสก๊อต กับทั้งแผ่นดินเวลส์ อันเป็นถิ่นฐานของพวกชาติเวลส์ ซึ่งเป็นแต่เมืองเจ้ารวมอยู่ในนั้นด้วย ไม่คาบไปถึงไอเอร์แลนด์ คำว่า บริติช British ก็หมายความว่าเป็นชื่อของแผ่นดินทั้ง ๓ นั้น ไม่หมายถึงแผ่นดินไอเอร์แลนด์ด้วย

แต่คนในสหราชอาณาเขตเขายังถือชาติของเขาอยู่อย่างเดิม

ชาวแผ่นดินอังกฤษก็เรียกตัวเขาว่า - อังกฤษ

ชาวแผ่นดินสก๊อตก็เรียกตัวว่า - สก๊อต

ชาวแผ่นดินเวลซก็เรียกตัวว่า - เวลซ

ชาวแผ่นดินไอเอร์แลนด์ก็เรียกตัวว่า - ไอเอร์ช

โดยอธิบายที่กล่าวมานี้ คำที่ไทยเราเรียกว่า “อังกฤษ” คือ England หรือ English หมายความเฉพาะแผ่นดินส่วน ๑ หรือคนชาติ ๑ ในสหราชอาณาเขต แผ่นดินส่วนอื่นหรือคนชาติอื่นในสหราชอาณาเขตไม่ได้อยู่ในความหมายของคำนั้น คำว่า “บริเตน” หรือ “บริติช” British หรือ Britain ขยายความออกไปหมายถึง สก๊อต และ เวลซ ด้วย

๕) หม่อมฉันออกจะเห็นชอบด้วยกระแสพระดำริว่าคำ “พระ” มาแต่ “ฟ้า” มิใช่มาแต่ “วร” อุทาหรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทรงยกมาก็ดีทั้งนั้น แต่เป็นปัญหามาแขก หม่อมฉันขอประทานเวลาพิจารณาก่อน แล้วจึงจะทูลสนองในจดหมายฉบับอื่นต่อไป

๖) หม่อมฉันขอหนังสือวินัยมุขของสมเด็จพระมหาสมณะมาจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็น ๓ เล่มสมุด อ่านจวนจบอยู่แล้ว ท่านทรงแต่งดีน่าอ่านมาก ถ้าของพระองค์ท่านยังไม่มีควรหามาทรงอ่าน หม่อมฉันเชื่อว่าจะโปรดโดยไม่ทรงอ่านหมดทั้ง ๓ เล่ม ควรทรงตอนอธิบายว่าด้วย จีวร อยู่ในเล่ม ๒ หน้า ๑๒ ตอน ๑ กับตอนภาคผนวกว่าด้วยภิกษุณี อยู่ในเล่ม ๓ หน้า ๒๓๗ ตอน ๑ ซึ่งแปลกมากทั้ง ๒ ตอน

หม่อมฉันได้ความรู้ใหม่ว่า ภิกษุณีมีจีวร ๕ สิ่ง นอกจาก ๓ สิ่งอย่างเดียวกับพระภิกษุยังต้องมี สังกัจฉิกะ แปลว่าผ้ารัดหรือโอบรักแร้ผืน ๑ สมเด็จพระมหาสมณะท่านทรงสันนิษฐานว่า สังกัจฉิกะ นั้นเป็นผ้าสำหรับรัดนม คือก่องนมที่เราพูดกันมานั่นเอง เห็นได้ว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ท่านทรงเห็นต่อไปว่ามูลของราดตะคดอกจะมาแต่ก่องนมของภิกษุณี และยังมีอธิบายในเรื่องภิกษุณีและเรื่องอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้หลายอย่าง ถึงอ่านออกสนุก ดีกว่าอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวในสมัยนี้

๗) หนังสือมหาชาติคำหลวงนั้นมีจดหมายเหตุปรากฏว่า ฉบับความเดิม กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักบรรพ ฉขัติยบรรพ หายสูญไปเสียเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งใหม่ขึ้นแทนทั้ง ๖ กัณฑ์ เมื่อร่างจดหมายฉบับนี้หม่อมฉันเอาฉบับพิมพ์มาพิจารณาดูอย่างจาวๆ แต่ก็พอสังเกตได้ว่า หนังสือมหาชาติคำหลวงแม้ที่เรียกความเดิมนั้น สำนวนก็ไม่เก่าเสมอกัน เห็นสำนวนเก่ากว่าเพื่อนแต่กัณฑ์ทศพร ชูชก และมหาพน จึงคิดว่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเองหนังสือมหาชาติคำหลวงก็คงเคยขาดฉบับ และเคยมีพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้แต่งขึ้นใหม่มาบ้างแล้ว ด้วยเวลาแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแต่งมาจนเสียกรุงฯ นานถึง ๓๐๐ ปี ฉบับเดิมน่าจะไม่บริบูรณ์อยู่ได้ทั้งหมด การสวดมหาชาติคำหลวงที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ชั้นเราจำตาขุนทินแก่ได้คน ๑ ชะรอยแกจะเคยสวดมาแก่รัชกาลที่ ๓ ดูชำนาญมาก เห็นแกมักทักท้วงเพื่อนนักสวดกลัวแจ๊กทั้ง ๓ คน เมื่อสิ้นขุนทินคนนั้นแล้วกระบวนสวดก็เรียวมา ลงที่สุดจึงสวดมหาพนกัณฑ์เดียว

เค้ามูลของการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น หม่อมฉันไปรู้แจ่มแจ้งที่เมืองนครศรีธรรมราชโดยมิได้คาด ดูเหมือนได้เขียนทูลไปแต่ก่อนแล้ว จะทูลสนองแต่ส่วนสาขาคดีในจดหมายนี้ ที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้ว หม่อมฉันสันนิษฐานว่าเพิ่งจัดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด “โอ้เอ้วิหารราย” อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ หม่อมฉันเคยเห็นสวดอยู่แต่ตามศาลารายด้านเหนือในทางเสด็จพระราชดำเนิน คือว่าสวดถวายตัว เป็นเช่นนั้นมาจนตั้งกรมศึกษาธิการ เมื่อเลิกโรงเรียนที่โรงทาน หม่อมฉันจึงสั่งให้โรงเรียนชั้นประถมของหลวงที่ตั้งขึ้น ณ ที่ต่าง ๆ ให้จัดเด็กมาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทาน โรงเรียนละศาลา จึงมีเด็กสวดทุกศาลารอบพระอุโบสถมาแต่นั้น มาได้ยินว่ายังมีอยู่จนบัดนี้ก็ยินดี

๘) อันสันกำแพงที่ทำเป็นอกไก่หรือเป็นพื้นราบ หรือติดขวดแตกนั้น จะว่าอย่างไหนไม่ควรทำนั้นเห็นจะไม่ได้ เพราะมีประโยชน์ต่างกันตามเจตนา ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนขึ้นไปนั่งเล่นบนสันกำแพงก็ควรทำเป็นอกไก่ ถ้าจะให้เป็นที่คนนั่งเล่นก็ควรทำเป็นพื้นราบ เหมือนอย่างเช่นที่หลังเขื่อนชายทะเลตรงหน้าซินนามอนฮอลออกไป เขาทำเป็นพนักพื้นราบเป็นที่นั่งมีคนไปนั่งหาความสบายมากๆ ทุกวัน เมื่อท่านเสด็จมาปีนังก็ดูเหมือนจะได้เคยเสด็จไปเห็นบ้านจีนที่เขาอยู่ต่อกับแดนซินนามอนฮอล ทำกำแพงสูงสัก ๖ ศอก ติดเศษขวดแตกไว้บนสันกำแพงตลอดบ้าน พิเคราะห์ดูจะสำหรับกันมือโจรจับปีนข้ามกำแพงเท่านั้น เจตนาไปอย่างหนึ่งต่างหากจาก ๒ อย่างที่ว่ามาก่อน นึกขึ้นถึงหม่อมฉันเคยเผลอในการทำกำแพงครั้งหนึ่ง ถึงเสียประสงค์ที่ทำกำแพงนั้น และไม่อาจแก้ไขให้คืนดีด้วย เดิมที่พระปฐมเจดีย์มีพระระเบียงสร้างเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ รอบบริเวณ ถึงรัชกาลที่ ๖ พระระเบียงนั้นหักพัง สมเด็จพระมงกฎเกล้า ฯ โปรดให้รื้อสร้างใหม่แปลงเป็นกำแพงโปร่ง ทำประตูมีบานปิดทั้ง ๔ ด้าน แต่เมื่อทำกำแพงและประตูเสร็จแล้วยังมีขโมยลอบเข้าไปลักของที่ในวัด ตรวจชันสูตรดูว่ามันเข้าไปทางไหน ได้ความว่ามันเข้าไปทางช่องลูกฟักกำแพงนั่นเอง เพราะทำช่องกว้างไปสัก ๓ นิ้ว ถ้าช่องแคบเข้ามาสักหน่อย ขโมยก็เข้าไม่ได้ รู้ต่อเมื่อสร้างเสียเสร็จแล้ว กำแพงนั้นก็กลายเป็นสำหรับแต่ดูงาม ๆ ไม่เป็นเครื่องป้องกันโจรผู้ร้ายได้

๙) คำ “ช้า” ที่ใช้ประกอบกับว่า “ช้าลูกหลวง” “ช้าเจ้าหงส์” และ “ช้านางนอน นั้น หมายความว่าเห่กล่อม เพลงที่ชาวนครราชสีมาเรียกชื่อว่า “ช้าเจ้าหงส์” น่าจะหมายตรงสร้อยซึ่งเอาไปจากเพลงเห่กล่อม ผู้แต่งบทเอาคำว่า “ช้าเจ้าหงส์” ลงจึงกลายเป็นชื่อว่าโดยย่อเห็นเป็นของใหม่

๑๐) หนังสือแจกงานศพเจ้าพระยาวรพงษ์ ฯ นั้น พวกที่วังวรดิศยังไม่ได้ส่งมาให้หม่อมฉัน ขอให้ตรัสถามดูก่อน ถ้าเขามีเตรียมอยู่แล้วก็ไม่ต้องประทานมา ถ้ามิฉะนั้นทรงหาประทานมาก็จะขอบพระคุณมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ