วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

สัปดาหะนี้ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ลายพระหัตถ์เวรที่มาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ยังค้างอยู่ที่กรมไปรษณีย์อีก แต่จดหมายของหญิงจงถึงหม่อมฉันกับจดหมายของหญิงอามมีถึงหญิงพิลัย เขาเอามาส่งเมื่อวันเสาร์ได้ทราบว่าท่านเสด็จไปประทับที่วังวรดิศ ทั้งตัวหม่อมฉันและลูกทุกคนพากันปิติยินดี อย่างที่เขาชอบใช้กันในสมัยใหม่ว่า “ปลาบปลื้ม” เพราะได้ปรารภกันมาแทบทุกวัน ว่าถึงเทศกาลที่ท่านควรแปรสถานจากตำหนักเชิงเนินไปประทับที่อื่น อยากให้เสด็จไปประทับที่วังวรดิศหรือมิฉะนั้นก็ที่สำนักดิศกุลที่หัวหินจะได้ทรงสบาย นึกขอบใจลูกในกรุงเทพฯ ที่มีความภักดีไปเชิญเสด็จย้ายมา เป็นอันคาดใจหม่อมฉันถูกด้วย หญิงจงเธอว่าพวกที่วังวรดิศก็พากันยินดีทั่วหน้า ด้วยรู้สึกว่ามีความคุ้มครองอุ่นหนาฝาข้างขึ้น ขอให้เสด็จประทับกับพระญาติให้สบายทุกคนเถิด หม่อมฉันนึกถึงที่สำหรับทรงเขียนพระอักษรหรืออะไรอื่น เพื่อสำราญพระอิริยาบถ โต๊ะเขียนหนังสือของหม่อมฉันก็นั่งสบายดี แต่ของต่างๆ ที่ตั้งไว้บนนั้นบางทีจะมีกีดบ้าง ขอให้ทรงตั้งให้ย้ายของนั้นจัดโต๊ะตามพระอัธยาศัย ถึงอะไรอื่นที่บนเรือนที่ไม่เหมาะแก่พระอิริยาบถ ก็จงทรงแก้ไขสุดแต่ให้ประทับอยู่เป็นสุขสำราญ อย่าได้ทรงรังเกียจเกรงใจอย่างใดเลย

เรื่องบรรเลง

๑) หม่อมฉันเคยทูลวินิจฉัยถึงเรื่องเศวตฉัตรไปแต่ก่อน มานึกเห็นมูลเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ผู้อื่นใช้เศวตฉัตร ว่าอาจจะเกิดแต่ให้พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ เช่นพระมหาอุปราช เป็นจอมพลแทนพระองค์จึงให้ใช้เศวตฉัตร เป็นเครื่องหมายศักดิ์จอมพลทัพหลวง เป็นแต่ลดชั้นฉัตรให้น้อยลงกว่าเศวตฉัตรของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วจึงเลยมาเป็นเครื่องประดับสำหรับยศ

หม่อมฉันตรวจในประกาศเฉลิมพระยศเจ้านาย ดูพระนามมีสร้อยเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่ก่อนนั้นมีสร้อยแต่พระนามพระเจ้าแผ่นดิน กับนามพระราชาคณะผู้ใหญ่และพระครูปลัด สร้อยพระนามเจ้านายที่มีคำเศวตฉัตรอยู่ในนั้นมีแต่ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “สัปตปดลเศวตฉัตร” พระนามกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มี “เบ็ญจปดลเศวตฉัตร” อยู่ในสร้อย นอกจากนั้นแม้กรมสมเด็จพระเดชาดิศรก็หามีคำเศวตฉัตรอยู่ในสร้อยพระนามไม่ ตรวจดูต่อไปในประกาศตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ สร้อยนามสมเด็จพระสังฆราชก็ไม่มีคำเศวตฉัตรอยู่ในนั้น ได้เค้าเพียงเท่าที่ว่ามาพอสันนิษฐานได้ ว่าแต่เดิมนอกจากพระเจ้าแผ่นดินเห็นจะมีเศวตฉัตรแต่พระมหาอุปราช ๗ ชั้น กรมพระราชวังหลัง และบัณฑูรน้อย ๕ ชั้น สมเด็จพระสังฆราช ๓ ชั้น ที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตมีเศวตฉัตร คงเนื่องมาแต่เศวตฉัตรสังฆราช แต่เพิ่มขึ้นเป็น ๕ ชั้นเทียบกับกรมพระราชวังหลังในทางเจ้า ด้วยเคยเป็นแบบมาถึงรัชกาลภายหลัง สร้อยพระนามกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสมีคำ “เบ็ญจปดลเศวตฉัตร” ทั้ง ๒ พระองค์ แต่เจ้านายพระองค์อื่น แม้จนสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ก็หามีคำเศวตฉัตรอยู่ในสร้อยพระนามไม่

๒) เสด็จประทับอยู่ที่ตำหนักใหญ่ในวังวรดิศ บางทีท่านจะประหลาดพระทัย ด้วยเห็นมีรูปพระเยซูกรึงไม้กางเขนตั้งอยู่ในครอบแก้วบนหลังตู้ใบ ๑ ที่ในห้องนั่งชั้นบน รูปพระเยซูนั้นมีเรื่องเป็นโบราณคดีชอบกล ควรจะเล่าบรรเลงถวายได้ ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ ๕ เกิดเหตุพวกเข้ารีตโรมันคะโธริคที่ในจังหวัดชลบุรีวิวาทกับพวกราษฎรชาวเมือง ทรัพย์สมบัติของพวกเข้ารีตต้องเสียหายไปบ้าง เพราะความอ่อนแอของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สังฆราชวี Vey ไปร้องต่อราชทูตฝรั่งเศส ขอให้เรียกค่าชดใช้จากรัฐบาลให้พวกเข้ารีตเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ ราชทูตฝรั่งเศส (ชื่อไรหม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว) มาหาหม่อมฉันเมื่อยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จะเรียกเอาเงินค่าชดใช้นั้น หม่อมฉันไม่ยอมให้ ด้วยอ้างว่าเป็นคดีมีคู่วิวาท ถ้าฝ่ายไหนทำผิดฝ่ายนั้นต้องชดใช้ตามกฎหมาย ที่ว่าเจ้าเมืองอ่อนแอ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นความผิดในทางราชการ หาต้องรับผิดชอบในคดีมีคู่ไม่ ถ้ารัฐบาลยอมเสียค่าชดใช้ดังสังฆราชวีปรารถนา ทีหลังพวกเข้ารีตได้รับความเสียหายที่ไหนก็จะเอาเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง มาเรียกเอาค่าชดใช้จากรัฐจบาล เป็นประเพณีร้ายเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองจึงยอมไม่ได้ ราชทูตฝรั่งเศสไม่มีทางที่จะโต้เถียง แต่รับปากสังฆราชวีมาเสียแล้วก็ไปร้องต่อ มิสเตอรสะโตรเบล ที่ปรึกษาราชการทั่วไป มิสเตอรสะโตรเบลมาพูดแก่หม่อมฉันว่าเวลานั้นกำลังปรึกษาจะทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสจวนสำเร็จดังประสงค์ พวกฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ จะเอาเรื่องเมืองชลเป็นเหตุขัดขวางมิให้ทำสัญญานั้น ขอให้หม่อมฉันช่วยระงับเหตุเสีย ถึงจะเสียเงินทองบ้างก็จะได้ประโยชน์จากหนังสือสัญญาคุ้มค่าเงินที่เสียนั้น หม่อมฉันจึงคิดหาอุบายทางอื่นแล้วรับจะพูดกับทูตฝรั่งเศสต่อไป มิสเตอรสะโตรเบลไปบอกทูตฝรั่งเศสให้มาหาหม่อมฉันอีก หม่อมฉันพูดว่าในเรื่องเงินไม่สำคัญอันใด ข้อสำคัญอยู่ที่จะให้รัฐบาลเสียเงินค่าชดใช้แทนคู่ความที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหม่อมฉันจะยอมไม่ได้เป็นอันขาด แต่หม่อมฉันรู้อยู่ว่ารัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายกำลังประสงค์จะทำสัญญาเป็นไมตรีดีกัน หม่อมฉันไม่อยากจะให้มีเหตุกีดขวางทางไมตรีนั้น ถ้าเขาเลิกคดีเรื่องนั้นอย่าให้เกี่ยวกับรัฐบาล ให้เป็นการตกลงปรองดองกันโดยส่วนตัว หม่อมฉันจะยอมออกเงินของตัวหม่อมฉันเองให้สังฆราชวีตามที่ร้องขอในเรื่องนั้น ทูตฝรั่งเศสก็ยอม จึงตกลงโดยปรองดองกันอย่างหม่อมฉันว่า หนังสือสัญญาก็ได้ทำกันสำเร็จตามประสงค์ของมิสเตอรสะโตรเบล

ต่อมาอีกสัก ๒ ปีมีกรณีเกิดขึ้นอีกเรื่อง ๑ ด้วยคณะ Mission โรมันคะโธริคอยากจะขออนุญาตให้ วัดคะโธริค มีที่ธรณีสงฆ์สำหรับเลี้ยงวัด เพราะพวกบาทหลวงเป็นชาวต่างประเทศ คณะของบาทหลวงก็เป็นคณะต่างประเทศ ตามหนังสือสัญญาเดิมจะเป็นเจ้าของที่ดินตามหัวเมืองไม่ได้ แต่พวกบาทหลวงไปตั้งวัดที่ไหนใช้อุบายให้คนเข้ารีตที่อยู่ในบังคับไทยไปเที่ยวจองเรือซื้อที่ด้วยทุนของคณะ แล้วไปโอนกันเองให้เป็นที่ธรณีสงฆ์สำหรับวัด รัฐบาลหรือใครไปกีดขวางพวกบาทหลวงก็คิดอุบายแปรคดีให้เป็นเบียดเบียนศาสนา ไปร้องต่อทูตฝรั่งเศสให้ว่ากล่าวเป็นการเมืองทำนองเดียวกับเรื่องที่เมืองชล ทำมาอย่างนี้ช้านาน จนรู้ไม่ได้ว่าพวกบาทหลวงได้ปกครองที่ดินอยู่สักเท่าใด พวกบาทหลวงเกิดวิตกขึ้นด้วยรัฐบาลฝรั่งเศสยอมให้คนในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย และที่รัฐบาลไทยตั้งพระราชบัญญัติลักษณะการถือที่ดิน ต้องมีโฉนดตราสารลงทะเบียนตามแบบใหม่ เกรงจะไม่มีที่ดินได้ดังแต่ก่อน จึงประสงค์จะขออนุญาตต่อรัฐบาลดูเหมือนเป็นเรื่องแรกที่สังฆราชโรมันคะโธริคร้องขอต่อรัฐบาลไทยโดยตนเอง ไม่ไปให้ทูตฝรั่งเศสว่ากล่าวแทน ในเวลานั้นพระยากัลยาณไมตรี (เวศเตนกาด) เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป และมองสิเออปองโสต์เป็นที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย สังฆราชวีวาน ม. ปองโสต์มาทาบทามหม่อมฉัน ๆ พูดได้ถนัด เพราะ ม. ปองโสต์เป็นข้าราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย จึงว่าแก่ ม. ปองโสต์ ว่าหม่อมฉันประหลาดใจในวิธีของสังฆราชวี เมื่อครั้งคดีที่เมืองชลอยากได้เงินมาเรียกเร่งเอากับหม่อมฉันจนต้องออกเนื้อของตนเองให้ไป ยังรู้สึกเหมือนกับหนามยอกอยู่ไม่หาย เดี๋ยวนี้อยากได้ที่ดินกลับมาขอให้หม่อมฉันช่วย ช่างไม่นึกถึงที่ได้ทำกับหม่อมฉันมาก่อนบ้างเลย ม. ปองโสต์กลับไปบอกสังฆราชวีสั่งมาว่าเสียใจที่หม่อมฉันต้องเดือดร้อน และต้องออกเงินไปเองให้เอาเงินหมื่นบาทเศษมาคืนหม่อมฉัน กับทั้งเพิ่มค่าป่วยการให้ตามธรรมเนียมด้วย หม่อมฉันรับไว้แต่ต้นเงินส่วนค่าป่วยการคืนไป และสั่งไปว่าถ้าสังฆราชวีจะให้หม่อมฉันหายเสียใจแล้ว ให้ไม้กางเขนกรึงรูปพระเยซูไว้เป็นที่ระลึกสักองค์ ๑ ดีกว่าให้เงินค่าป่วยการ เรื่องที่เกี่ยวกับหม่อมฉันก็เป็นยุติเพียงเท่านั้นมาคราว ๑

ส่วนเรื่องที่คณะบาทหลวงขออนุญาตมีที่ธรณีสงฆ์นั้น เมื่อสังฆราชวีถวายฎีกาแล้ว ปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดีเห็นว่าอนุญาตโดยมีกำหนดว่าวัดแห่ง ๑ ให้มีที่ธรณีสงฆ์ได้เพียงเท่านั้นไร่ และให้คณะโรมันคะโธริคถือกรรมสิทธิ์ได้โดยตรงดีกว่าให้หาที่ดินโดยอุบายอย่างทำมาแล้ว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศเป็นพระราชกำหนดแต่นั้นมา

ถึงรัชกาลที่ ๖ สังฆราชวีถึงมรณภาพ สังฆราชเปโรสเดี๋ยวนี้ ได้เป็นแทน เมื่อเกิดมหาสงคราม สังฆราชเปโรสอายุยังไม่พ้นเขตเป็นทหาร ต้องถูกเกณฑ์ออก ไปทำการในโรงพยาบาลตลอดเวลาสงคราม ครั้นเสร็จสงครามกลับมาเมืองไทยมาหาหม่อมฉัน เวลานั้นหม่อมฉันก็ออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว สังฆราชเปโรสเอาไม้กางเขนตรึงรูปพระเยซูกับสมุดพงศาวดารสยามที่สังฆราชปาละกัวแต่งอันเป็นของหายาก มาให้เป็นของฝาก แต่มิได้พูดว่าให้เพราะเหตุใด ให้รู้เอาเองว่าให้ไม้กางเขนนั้นตามที่หม่อมฉันได้เคยออกปากไว้แต่ก่อน จึงเป็นของจับใจ เพราะเขาคงจดจำสั่งเสียกันไว้อย่างไร ช้านานจนล่วงอายุคนแล้วก็ยังทำจนสำเร็จเจตนา

เรื่องลายพระหัตถ์เวร

ถึงวันจันทร์ที่ ๒๐ เวลาเช้า พนักงานไปรษณีย์เชิญลายพระหัตถ์เวรมาส่ง ๒ ซองพร้อมกัน เป็นฉบับลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ที่ได้ทอดธุระว่าหายแล้ว ซอง ๑ กับฉบับลงวันที่ ๑๔ มกราคม ซอง ๑ จำต้องขอไว้ทูลสนองต่อคราวเมล์หน้าทั้ง ๒ ฉบับ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ปัจจุบันนี้เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดดำรงราชานุภาพ

  2. ๒. คือในพ.ศ. ๒๔๘๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ