วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความ ในลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อนบัดนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องเรียกชื่อสั้นยาว เห็นจะเป็นไปด้วยเหตุหลายทางด้วยสะดวกปากก็มี ด้วยเขลาก็มี เรียกตามผู้รู้เขาเรียกก็มี เรียกโดยทางตั้งใจจะ “ทักขปฏิสันถาร” ก็มี อ่านหนังสือแล้วหนังสือพาไปก็มี เช่นเรียก “หลวงเทวพรหมา” แต่ว่า “หลวงเท” นั้นเป็นไปในทางเขลา “เท” จะแปลได้ว่ากระไรก็ช่าง เมื่อสั้นลงได้ก็พอใจ เพราะเรียกได้สะดวกขึ้น ส่วนพระนาม “เทววงศ์” หรือ “ดำรง” นั้นเป็นเรียกตามผู้รู้เขาตัดเรียก นึกถึงเมื่อตั้งชื่อ “ถนนพาหุรัด” ก็ได้คิดกันตกขอบ ว่าคนสามัญจะเรียกหรือไม่เรียก เหมือนอย่าง “ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร” แต่ก่อนนี้ก็ไม่มีใครเรียก “ถนนเจริญกรุง” ก็เรียกกันว่า “ถนนใหม่” “ถนนบำรุงเมือง” ก็เรียกกันว่า “สองติงช้า” มาเดี๋ยวนี้จึงเรียกกันบ้าง แต่ “ถนนเฟื่องนคร” นั้นแบ่งไป มี “คอกงัว” และ “บ้านหม้อ” เข้าแกม เข้าใจว่าที่เรียก “โรงเรียนบ้านสมเด็จ” ก็เป็นอรรถะอย่างเดียวกันกับ “ถนนพาหุรัด” ชื่อ “พระยามานวราชเสวี” ที่ตัดเรียกแต่ว่า “พระยามาน” นั้น เห็นว่าเทียบเอาคำ “พญามาร” อันเคยเรียกกันมาชินปากนั่นเอง จัดว่าเป็นทาง “ทักขปฏิสันถาร” ส่วนที่เรียกยาวเช่น “อุนากรรณ กะหมังกุหนิง” และ “สุวรรณกันยุมา” นั่นเป็นหนังสือพาไป ให้เห็นขันที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์พบ คำดีๆ ที่ทนายความคนหนึ่งจัดไว้เป็นนามสกุลว่า “ศรีพรหมา” มีทนายความคนหนึ่งซึ่งจัดว่าริษยาอ่านแยกไปเสียเป็นคำชั่วว่า “ศรี-พร หมา” ก็เป็นได้

อันชื่อ “สาสนดิลก” และ “สาสนโสภณ” ซึ่งตรัสเล่านั้น สังเกตได้ว่าชั้นนั้นก็เป็นทรงพระราชดำริเล่น เทียบเอาคำมคธมาให้โดนกับชื่อทางไทย ต่อมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์อื่น โปรดให้เอาชื่อ “สาสนโสภณ” เข้าตำแหน่ง ก็กลายเป็นชื่อตำแหน่งไป ตำแหน่ง “สาสนดิลก” เดี๋ยวนี้ก็มี

คำว่า “คุณ” นึกก็เห็นว่าใช้มากจริงอย่างพระดำรัส มีคนมาพูดว่า “คุณหลวงคุณพระ” นั้นพูดได้ แต่ “คุณขุน” พูดไม่ได้ ฟังเคอะพิลึก ต้องเป็น “ท่านขุน” เกล้ากระหม่อมก็เห็นขัน ด้วยคำที่ว่านั้นยังไม่เคยสังเกต

อันคำ “คุณ” กับ “ท่าน” เกล้ากระหม่อมก็เคยหลงคิดว่าใครจะใหญ่กว่ากัน แต่ความจริงเป็นคนละอย่างทีเดียว “คุณ” นับว่าเป็นคำนำชื่อได้ มาแต่ “เจ้าบุญนายคุณ” แต่ถึงพระยาลางคนหรือเจ้าพระยาต้องหนุนกี๋ให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเป็น “เจ้าคุณ” ส่วน “ท่าน” นั้นเป็นคำแทนชื่อ เช่นเดียวกับ “เธอ” แล้วกลายเป็นคำนำชื่อไป นั่นรับผิดชอบด้วยไม่ได้

เมื่อนึกถึงคำเหล่านี้ก็นึกได้คำ “หล่อน” ขึ้นอีกคำหนึ่ง ทรงพระดำริว่ามาแต่ “อ่อน” นั้นถูกแล้ว มาคิดเห็นต่อไปแต่ว่าต้องเป็นคำที่ผู้ใหญ่เรียกเด็ก เด็กจะเรียกผู้ใหญ่ว่า “หล่อน” หาได้ไม่ แต่คำนั้นเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใช้แล้ว

๒) ในการที่เอาคำฝรั่งมาผูกเป็นภาษามคธ เช่น “อาลยิบรา” เป็น “พีชคณิต” นั้น เกล้ากระหม่อมเคยร้องคอแตกคอแตนกับเพื่อนมาแล้วว่าต้องแปลสองหน ชอบอย่างเอาชื่อฝรั่งเป็นไทย เช่น “ไมโกรโฟน” เป็น “หีบเสียง” เป็นต้น

๓) “บางหลวงอ้ายเอียง” ตามที่ทรงพระวินิจฉัยว่าคำ “บาง” เป็นคลองตันนั้นถูกแล้ว แต่ไม่มีอะไรแน่ เช่น “คลองบางกอกน้อย” “คลองบางหลวง” หรือ “คลองบางกอกใหญ่” นั่นเป็นแม่น้ำแท้ๆ ยังกลายเป็นบางไปได้ ความเปลี่ยนกลายเห็นจะประกอบด้วยเวลา แม่น้ำในกรุงเก่านั้นแปลกมาก ลางแห่งเข้าไปก็สำคัญว่าคลอง แต่เมื่อเข้าไปลึกกลับเห็นเป็นแม่น้ำเก่าไป ถ้าพระยาโบราณได้เขียนเรื่องไว้ก็จะรู้ได้ดี คลองบ้านกุ่มและคลองกระทุ่มราย เกล้ากระหม่อมก็เคยไปทั้งนั้น ที่คลองกระทุ่มรายได้ลองให้ฝีพายเอาถ่อหยั่งลง สุดถ่อก็ยังไม่ถึงดินก้นคลอง แต่ที่หน้าวัดชัยโยเห็นคนเขาลุยน้ำข้ามไป แต่ฝั่งถึงฝั่งก็ไม่เห็นน้ำท่วมหัว เขาว่าเรือสินค้าใหญ่ๆ ถ้าจะไปก็ต้องขุดทราย ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ เมื่อเปลี่ยนเวลาไปก็อาจเปลี่ยนไปได้มาก

เที่ยวกรุงเก่านั้นอยู่ข้างสนุก การไปเที่ยวอาจไปได้หลายอย่าง แต่อย่างที่จะกราบทูลนี้ควรเรียกว่า “เที่ยวอย่างต้องแต้ง” คือจับเอาเด็กที่บ้านซึ่งมันอยากเที่ยวลงแจวเรือ เกล้ากระหม่อมเป็นกัปตัน แต่ทั้งลูกเรือและกัปตันต่างก็ไม่รู้ตำบลหนแห่งอะไรในกรุงเก่าด้วยกันทั้งนั้น กัปตันเป็นรู้มากกว่าคน แต่ที่เคยไปมาแล้วก็ไม่ไป ไปที่ยังไม่เคยไปอาศัยแต่แผนที่ เหตุอย่างนั้นก็ได้ผลดีบ้างร้ายบ้าง ที่ได้ผลดีก็อย่างเช่นที่กราบทูล ว่าเห็นข้างนอกเป็นคลองข้างในเป็นแม่น้ำ ที่ได้ผลร้ายก็คือตั้งใจจะไปเข้าคลองลัด แต่ครั้นไปถึงสิปากคลองอยู่สูงกว่าหัวขึ้นไปเป็นไหนๆ

๔) เรื่องปาฏิหาริย์นั้นเกล้ากระหม่อมเคยร้องแรกแหกกระแชงอยู่กับเพื่อนๆ เสมอ ว่าพระเจ้าแล้วจำจะต้องเป็นผี ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วปาฏิหาริย์ก็เข้ายาก พระเจ้าของเรานั้น “ผิดมนุษย์ม้วย” ที่เป็นคน ลูกชายเจริญใจเคยเล่านิทานให้ฟังว่าเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่โรงเรียนเมืองนอก มีเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งมันไป “สเตอดี” หนังสือทางพระพุทธศาสนา แล้วก็แข็งข้อจะมาทะเลาะกับชายเจริญใจ ทีแรกมันมาตั้งคำถามว่าพระเจ้าของเจ้านั้นเป็น God หรือเป็นคน ชายเจริญใจก็ตอบมันว่าเป็นคนเลยไม่ได้เถียงกัน เคยอ่านหนังสือฝรั่ง เป็นคนสมัยใหม่ชักคนสมัยเก่าในเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ทางศาสนา ดูเป็นชักพยานในศาล อ่านเวียนหัวเต็มทีเห็นเป็นตอบยาก

๕) คำจารึกที่ผนังหน้าโบสถ์วัดสังกะจายข้างใน เป็นไปในทางที่เชื่อเอาสังข์แตกเป็นเหตุ จึงไม่เห็นพ้องด้วยเพราะไม่เชื่อไปด้วย ที่จารึกนั้นแต่งเป็นโคลงจำได้อยู่ ๕ คำ จะเป็นบาท ๒ หรือบาท ๓ อะไรก็ไม่แน่ว่า “สังข์พระสี่กรทรง”

จะยกเอาพระดำรัสในเบื้องหลังมาต่อไว้ในที่นี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ชื่อว่า “พระสังกะจาย” นั้นออกจะไม่เป็นภาษา ควรจะเขียนอย่างไรก็ไม่ทราบ ที่เขาเขียน “สังข” และ “กระจาย” ดูก็เป็นเลือกแล้ว ถ้าจะเขียน “สังฆ” และ “กัจจายน” ก็ออกจะไม่ได้ความ

ในการทำรูปเป็นท้องพลุ้ยนั้นก็ชอบกล ตามพระดำริที่ว่าพระศรีอารย์ข้างจีนก็ท้องพลุ้ยนั้นก็อย่างหนึ่ง กับรูปพระท้องพลุ้ยนั้นเก่ากับใหม่ก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย คงจะทรงจำได้ว่าที่นครศรีธรรมราชไม่ใช่แต่ท้องพลุ้ยเปล่าๆ ยังทำให้เอนไปข้างหลังเสียอีกด้วย จนชาวบ้านเอาฟืนเข้าค้ำกันว่าแก้เมื่อย จะเป็นทำไว้เอนมาแต่เดิมหรือเอนทีหลังก็ไม่ได้ตรวจ ในการที่ว่าทำให้ท้องพลุ้ยเพราะรูปไปเหมือนกับพระพุทธเจ้าเข้านั้น ชาวบ้านว่ากันว่าพระสังกะจายหรือพระภควัม จนเกล้ากระหม่อมเข้าใจว่าเป็นองค์เดียวกัน แต่สมเด็จพระวันรัตน์ (เฮง) ท่านบอกว่าคนละองค์ กัจจายนองค์หนึ่ง และ ควัมปติองค์หนึ่ง เมื่อมาดูพจนานุกรมภาษาสังสกฤตเข้า เขาก็บอกว่า “ภควัม” ก็คือพระพุทธเจ้า แล้วมาคิดได้ว่าคำเดียวกับ “ภควันต” ในภาษามคธนั้นเอง พระปิดตาในพวกเครื่องรางเขาเรียกกันว่า “พระภควัม” ก็มี นั่นก็ได้นึกสงสัยว่าทำไมท้องไม่พลุ้ย ที่จริงก็แปลว่าชาวบ้านเข้าใจผิดไปตามสมัยเท่านั้นเอง แล้วเราก็พลอยเข้าใจผิดไปด้วย

ทีนี้จะกล่าวถึงพระอรหันต์ ๘ ทิศ ที่จะมาจัดกันขึ้นในเมืองเรานี่เอง เข้าใจว่าทูลกระหม่อมของเรามีพระหัตถ์อยู่ในนั้นด้วย เพราะมีกลางขึ้นอีกโดยคาถาว่า “พุทโธ จ มชฺฌิโม เสฏฺโ” มีอะไรหลายอย่างที่ของเก่าไม่เป็นคาถาก็ทรงแต่งให้เป็นคาถาขึ้น เช่นอาวุธ ๔ ที่ลงในแผ่นผ้ารูปท้าวเวสสวัณซึ่งแขวนเปลเด็ก มีต้นว่า “สกฺกสฺส วชิราวุธํ” ก็ทรงแก้เป็น “สกฺกินทรฺโ วชิราวุธฺจ” ส่วนพวกท่านขรัวคร่ำนั้นท่านไม่เอื้อ จะเป็นภาษาหรือไม่ก็ช่าง เช่นอิติปิโส ๘ ทิศเป็นต้น แต่ผู้ที่เป็นวิญญูชนนั้นท่านระวัง เหมือนหนึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์์ท่านให้เกล้ากระหม่อมเขียนรูปพระภูมิ แล้วเอาไปให้ท่านเจ้าอยู่วัดสระเกศลงอักขระ ครั้นเกล้ากระหม่อมไปเห็นเจว็ดพระภูมิมาอยู่บนศาลก็อยากรู้ว่าท่านลงว่ากระไร ดูหลังเจว็ดก็เห็นลงว่า “ภุมฺมา จายนฺตุ เทวา” เป็นว่าเชิญพระภูมิเทวดาให้มาสิง เกล้ากระหม่อมก็พอใจ

อันพระกัจจายนเถระนั้นท่านเป็นอรหันตสาวก ธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ก่อนก็ใช้จำ เป็นการแสดงว่ามีไม่มากนัก เดี๋ยวนี้มามีหนังสือขึ้นมากจนมีคนโดยมากอ่านไม่หมด แปลว่าใครแต่งได้แต่งเอา จะให้พระกัจจายนซึ่งท่านเป็นอรหันตสาวกท่านควรแต่จะจำให้มาแต่งหนังสือมูลกัจจายน์นั้น เป็นเข้าใจผิดอย่างหกคะเมน ที่แท้ก็เป็นแต่ชื่อพ้องกัน อย่าง “มีมาสาสี” ฉะนั้น

เห็นจะต้องทรงพระวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่ง คำ “อรหันต” นั้นเป็นพระนามพระพุทธเจ้า “อรหันตสาวก” ก็หมายความว่าลูกศิษย์ของท่าน แต่เหตุไฉนชื่อนั้นจึงกลายเป็นผีชนิดหนึ่งไป ตามเสียงชาวบ้านว่าเอากระด้งทำปีก เอาสากทำหางล้วนแล้วไปด้วยเครื่องตำข้าวเสียด้วย แต่รูปที่ทำไว้ไม่เหมือนกับคำชาวบ้าน เป็นรูปครึ่งนกครึ่งคนอย่างเดียวกับกินนร กินนรนั้นก็ชอบกล ทางสังสกฤตไม่ว่าเป็นรูปครึ่งนกครึ่งคนว่าหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน ไปทางยักษ์อักขมูขี คือ “อัศวมุขี” มีนางแก้วหน้าม้าเป็นตัวอย่าง แต่ทางสังสกฤตก็ว่าเป็นบริวารของท้าวเวสสวัณ ไม่ได้ว่าเป็นยักษ์ทั่วไป อันว่ายักษ์นั้นมีร่างกายใหญ่ แต่ว่าผอมเพราะอดอยาก เป็นด้วยเหตุนั้นเองจึงมีเรื่องเล่าว่ายักษ์กินคน แต่ยักษ์หน้าไม่ได้เป็นม้า บริวารทศกรรฐ์นั้นว่าเป็นพวกปีศาจ มีร่างกายพิลึกไปต่างๆ เช่นหลายแขนและหน้าไปอยู่ในที่อันไม่ควรอยู่เป็นต้น แปลว่าพูดให้รูปร่างมัน “ผิดมนุษย์ม้วย” เท่านั้น ในเรื่องเพชรมงกุฎกล่าวไว้เป็นว่าปีศาจนั้นมีแสงเรืองเหมือนกะสือและกินผีด้วย

๖) ความศักดิ์สิทธิ์ของหมอซึ่งไปช่วยเอาลูกหญิงหลุยออกนั้น ถ้าสัมฤทธิ์ผลอย่างที่ประทานพร จะเป็นการดีหรือไม่ดีก็ไม่สู้แน่ใจ เคยเห็นหมออาดัมซั่นใครจะออกลูกเขาก็มาตาม เล่นเอาหลับนอนก็ไม่มีเวลาอันจะทำได้ เพราะการออกลูกนั้นไม่มีเวลา เหตุนั้นเองทำให้แกนึกถึงหมอผู้ช่วยจึงไปเรียกเอาเข้ามา แต่ใครจะออกลูกเขามาตาม ส่งหมอผู้ช่วยไปเขาก็ว่าเขาไม่ต้องการหมอผู้ช่วย เขาต้องการหมออาดัมซั่น

เมื่อวันที่ ๔ ซึ่งล่วงมาแล้ว แม่โตกระวีกระวาดว่าจะไปทำขวัญ ๓ วันให้หลาน คือลูกหญิงหลุย นึกถึงคำนั้นก็เห็นว่าถูก เป็นหลานจริงๆ ไม่ใช่เป็นแต่โดยตำแหน่ง คำ “แม่ซื้อแม่สื่อ” ตามที่ทรงพระดำรินั้น ถึงจะเป็นการลองทรงคาดคะเนก็เห็นว่าถูกควรจะตราไว้ ตัว ซ เปลี่ยนเป็นตัว ส มีถมไป เช่นทางเมืองอุบลเขาเขียน “พระเซื่อเมือง” เขาอธิบายว่าคือ “เชื้อเมือง” ตามที่เขาว่านี้ก็เป็นรอยเดียวกับที่เรียกช้างว่าซ่างแล้วเราก็มาเขียนเปลี่ยนตัวไปเป็นว่า “พระเสื้อเมือง” เล่นเอาเข้าใจไม่ได้ จนนายโมราเห็นขันเขียนหนังสือว่า “พระเสื้อเมืองกางเกงเมือง”

๗) ดีใจที่เรื่องเสาพระที่นั่งวิหารสมเด็จ กราบทูลไปเข้าด้วยพระประสงค์อันไม่ได้ตรัสบอกให้ทราบเลย จะกราบทูลให้จะแจ้งออกไปอีกว่า เสานั้นขุดพบแต่เสาเดียว อยู่ที่มุมเดินได้รอบทำให้นึกว่าจะต้องมีสี่เสาสี่มุม

๘) คำ “กาวจี๋” และคำ “แอ่ว” ไม่มีอะไรจะกราบทูลวินิจฉัยอีก มีแต่ที่ตรัสถึงคำ “ดอกสร้อย” “สักรวา” และ “เพลงยาว” อันคำว่า “สักรวา” นั้นก็มีคนวินิจฉัยแล้ว จะกราบทูลวินิจฉัยแต่สองคำคือ “ดอกสร้อย” กับ “เพลงยาว” ต่อไป

คำว่า “ดอกสร้อย” คงมาแต่ขึ้นต้นเป็นชื่อดอกไม้ แล้วก็ว่าอะไรต่อไปเป็นสร้อยเช่น “ดอกจำปา สองยามแล้วหนาน้องจะลาแล้วเอย” เป็นตัวอย่าง ต่อมาไม่ต้องขึ้นต้นด้วยดอกไม้ก็ได้ เป็นดอกสร้อยเหมือนกัน ชื่อเพลงก็มี เรียกว่า “สร้อยเพลง” นั่นก็เห็นจะมาแต่บทร้อง อันเพลงปี่พาทย์นั้นไม่มีกำหนด ๓ ท่อนก็มี ๒ ท่อนก็มี ท่อนเดียวก็มี อันเพลง ๒ ท่อนนั้นมักยกเอากลอนใดๆ มาร้อง ก็เป็นที่เรียบร้อยไปได้ ถ้าเป็นเพลง ๓ ท่อนในสองท่อนเบื้องต้นก็มักยกเอากลอนอะไรมาร้อง แต่ท่อน ๓ มักถูกร้องสร้อย คือแล้วแต่คนร้องจะเลือกเอาอะไรมาร้อง กลอนไม่กินกันและความก็ไม่กินกับที่ร้องมา ๒ ท่อนข้างต้น นั่นแหละเป็นสร้อย หรือสร้อยเพลง

คำว่า “เพลงยาว” นั้นชื่อเพลงปี่พาทย์ก็มี ทีจะหมายความว่าเป็นเพลงเรื่องยาว เข้าใจว่านั่นเองเปลี่ยนมาเป็นชื่อกลอน ใช้เฉพาะแต่กลอนเกี้ยวกัน ซึ่งผู้แต่งไม่อยากให้จบ ยืดยาวไปจึงเรียกว่าเพลงยาว

๙) การเข้าไปฉันในวันตักบาตรน้ำผึ้งเกล้ากระหม่อมก็เคยรับ แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นการฉลอง ยิ่งฉลองนาคหลวงที่ไม่ใช่เจ้าในการพิธีสารทนั้นไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเอาเลยทีเดียว การฉลองนาคหลวงเห็นจะเป็นพิธีใหม่ ทำเอาอย่างชาวบ้าน แต่ก่อนเห็นจะไม่มี การบวชพระราชทานนั้นก็เป็นการได้ “บุญ” อยู่แล้ว ยังจะซ้ำฉลองอยู่ด้วย เคยรู้มา พวกทหารอาสาเขามาเกณฑ์เอาเงินค่าบวชแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เห็นจะได้ทรงปวารณาไว้ แต่ละคนเห็นแพงเต็มที แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำอะไรบ้าง คงมีการฉลองรวมอยู่ในนั้นด้วย

๑๐) ตรัสเล่าถึงน้ำท่วมที่ปีนัง ทำให้นึกถึงวัดพระเชตุพน เกล้ากระหม่อมไปจุดเทียนวรรษาที่นั่นปีหนึ่งพบน้ำท่วมชาลาวัด ขุนชำนิโยธา (สิน) พนักงานกรมโยธาเขาไปอยู่ทำการซ่อมวัดมาต้อนรับ จึงไปดุเอาเขาเข้าโดยวิสาสะ ว่าอะไรมาอยู่ที่นี่แล้วยังไม่ไขเอาน้ำที่ท่วมชาลาออกไปเสีย เขาบอกว่าระดับชาลาวัดต่ำกว่าระดับท้องท่อถนนไขไม่ออก นั่นเป็นได้ความรู้ขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วมาเห็นน้ำท่วมชาลาวัดพระแก้วก็รู้ได้ว่าเป็นอรรถอย่างเดียวกัน แต่ต่อมาอีกวันสองวันก็เห็นแห้ง ให้นึกสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรจึงถามเจ้าพระยาวรพงศ์ ท่านหัวเราะบอกว่าไปยืมสูบเขามาสูบออกไป เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนั้นก็เข้าใจได้ว่าเจ้าพระยาวรพงศ์ท่านกว้าง สูบน้ำที่ไหนมีก็ไปยืมเอามาใช้ ขุนชำนิแกแคบ ไม่รู้จะไปยืมเอาที่ไหนมา น้ำจึงคงท่วมอยู่จนกว่าจะแห้งไปเอง แต่ที่ปีนังไม่น่าจะเป็นดังนั้นเพราะเป็นที่สูง เกล้ากระหม่อมเคยไปปีนังเมื่อครั้งกระโน้น บ้านเรือนยังไม่สู้มีมากนัก เห็นถนนที่เทลาดเขาตัดหญ้าเป็นทางน้ำเฉียงๆ ไว้ให้น้ำไหลไปลงคูข้างถนน

เสด็จมาประทับอยู่ที่ปีนังก็นานแล้วน่าจะทรงสังเกตเห็นน้ำฝนได้ เพราะปีนังก็ตั้งอยู่ในแถวเดียวกับหัวเมืองปักษ์ใต้ของเรา ทางหัวเมืองปักษ์ใต้นั้นฝนตกหนักไม่แลดูหน้าเลย มิอะไรก็อะไรมิที่ไหนก็ที่ไหน คงมีเหตุอย่างหนึ่ง แต่ที่ปีนังไม่ทรงรู้สึก เห็นจะเป็นด้วยเขาทำทางน้ำตกไว้ดีต่อมีเหตุมากจึงทรงสังเกตเห็นได้

๑๑) ข้อที่จะตรัสอธิบายถึง “วิตะมีน” ให้ได้ทราบเกล้านั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นพ้น ยังไม่ทราบหนเหนือหนใต้อะไรเลย เห็นแต่เขาหมาย เอ บี ซี ดี ไว้ ทำให้เข้าใจว่าเป็นหลายอย่างด้วยกัน ข้อที่ติดคำ “เทคนิค” นั้นเป็นธรรมดา คนที่ไม่ได้เรียนวิชาสิ่งนั้นแล้วก็ย่อมติดกันอยู่เอง

๑๒) คำ “แถม” และ “ถอย” เขมรใช้มาก เติมว่า “บันถอย” “บันแถม” ก็มี อย่างเดียวกับ “บันจุ” คำว่า “บัน” เกล้ากระหม่อมถอดว่าทำให้ คำว่า “จุ” เขมรหมายความว่าลง เพราะฉะนั้นจึงทำให้นึกว่าคำ “ถอย” กับ “แถม” จะเป็นคำเขมรซึ่งเราจำมาใช้

เรื่องอะไรที่จะกราบทูลยังมีมาก แต่สนองลายพระหัตถ์คราวนี้ก็มากเสียแล้ว จึงจะเอาไว้กราบทูลคราวต่อไป

แก้ผิด

๑๓) เมื่อคราวก่อนกราบทูลมา ว่าได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม นั้นผิดไป ที่แท้เป็นวันที่ ๑๓ ตุลาคม เหตุที่ผิดก็เพราะไปเติมร่างเข้าในที่แห่งอื่น แต่หนังสืออยู่ทางหนึ่ง จำได้ว่าเช่นนั้นจึงเขียนถวายมาดังนั้น แต่ที่จริงควรรู้เพราะได้ตรัสบอกไว้ ว่าหนังสือเวรจะทรงส่งออฟฟิศไปรษณีย์ในวันอังคารเสมอ

เหตุการณ์

๑๔) ในวันที่ ๒๓ เดือนนี้ เป็นวันสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีถวายบังคมสักการะพระบรมรูปที่พระลานพระราชวังดุสิต กับถวายบังคมสักการะพระบรมอัฐิในพระบรมมหาราชวัง แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้ไปตามเคยเพราะป่วยเป็นไข้หวัด ที่จริงไม่เจ็บมากมาย แต่หมอห้ามไม่ให้ไป จึงให้แต่ลูกหลานไปถวายบังคมที่พระบรมรูป ทั้งได้มีการทำบุญถวายที่บ้านปลายเนินในวันที่ ๒๒ ด้วย เพื่อหลบการจอแจ ขอถวายพระกุศล

ข่าว

๑๕) สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ ว่าวันที่ ๔ พฤศจิกายน ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จจะไปทรงเปลื้องเครื่องพระแก้วมรกตในกาลเข้าฤดูหนาว

๑๖) วันจันทร์เดือนนี้ วันที่ ๒๗ ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม มีปะปิดแต่ทางปีนังด้านเดียว ทางกรุงเทพฯ ไม่มี แต่มีตราที่แปลกประทับบนหลังซอง มีเส้นของสี่เหลี่ยมรีมีหนังสืออยู่ในนั้นว่า “Thailand Implores for World peace” กับตรากลมๆ มีเลข ๑ (ฝรั่ง) อยู่ภายในตามเคย จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นคราวนี้ก็ไม่ทัน ต้องเอาไว้คราวอื่นเช่นเคยมาแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ