วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคมแต่ลางข้อ

สนองลายพระหัตถ์ (ฉบับก่อน)

๑. ฝ่าพระบาททรงถือเอาการเรียกกับการตั้งชื่อเข้าปนเป็นอันเดียวกัน แต่ที่จริงเป็นคนละอย่าง อันการเรียกนั้นง่าย แล้วแต่นิมิตอะไรจะนำไป เหมือนหนึ่ง “อีแมว” นั่นเป็นเรียก ไม่ใช่ชื่อ การตั้งชื่อนั้นยาก ต้องคิดต้องเลือกไม่ว่าใคร ไม่แต่ฝ่าพระบาท

วิธีตั้งชื่อนั้นก็เป็นหลายทาง ถ้าจะพูดถึงการตั้งชื่อที่ถือเอาวรรคสังเกตตามโบราณคติก็มีวรรคบริวาร และวรรคเดช วรรคศรี ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น วรรคอื่นก็เป็นคำดี เว้นแต่กาลกิณีวรรคเดียวที่เป็นชั่ว ไม่ควรใช้ ที่ตั้งชื่อตามอักษรชื่อพ่อแม่ก็มี ผู้ตั้งชื่อไม่คำนึงถึงวรรคกาลกิณีทีเดียว แต่ผู้ได้รับชื่อก็ไม่เห็นเป็นอะไรไป ที่แท้จะอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น

คนเรามักมีชื่อเป็นสอง คือชื่อตามเรียกอย่างหนึ่ง กับชื่อตั้งอีกอย่างหนึ่ง ชื่อตั้งออกจะไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากใช้ในหนังสือซึ่งเป็นยศเป็นอย่าง ตามภาษาชายดิศเธอเรียกว่า “ชื่อเต็มยศ” เพราะเธอเขียนหนังสือถึงหญิงอี่ เธอว่าเธอนึกชื่อเต็มยศไม่ออก ต้องสลักหลังซองด้วยชื่อปรกติ ดูไม่เข้าทีไปหน่อย

การตั้งชื่อนั้นเกล้ากระหม่อมเดินเปลี่ยนทางมาเสียนานแล้ว คิดตั้งให้คนเรียก เช่นจะตั้งว่า “การติเกยะ” นั้น คนไม่เรียก ต้องตกเป็นชื่อเต็มยศเท่านั้น แม้ชื่อตามเรียกเคลื่อนไปก็มี เกล้ากระหม่อมเคยมีสุนัขตัวหนึ่งเรียกกันว่า “น้อย” หรือ “อ้ายน้อย” นั่นเดิมทีก็เป็น “หมาน้อย” ตามคำชาวเมืองขอนแก่น ซึ่งเรียกลูกหมาว่าหมาน้อย เพราะลูกชายเจริญใจไปทำทางรถไฟที่นั่นเอามันมาแต่ย่อมๆ แล้วคำ “หมา” ก็หลุดหายไปเหลือแต่ “น้อย” จนหญิงพูนทักว่าชื่อเหมือนคน หญิงพูนนั้นเคราะห์ดีนักหนาที่ไม่มีสองชื่อ คงเป็นด้วยชื่อของเธอคำต้นเป็นคำคนเราธรรมดา จะย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องหมาต่อไป เมื่อคำ “หมา” หลุดไปเสียแล้วคำ “อ้าย” ก็เข้ามาแทนที่ แม่ท่านเคยบอกด้วยความเคยมา ว่าถ้าตั้งชื่อหมาแล้วต้องเป็นสองคำ ถ้าเป็นคำเดียวแล้วก็ถูกอ้ายอี่แทรกเข้ามา จริงของท่าน คิดถึงคำอ้ายอี่ก็ชอบกล เดิมทีเรียกเพื่อยกย่อง อ้ายก็คือพี่ชาย อี่ก็คือพี่หญิง แต่แล้วกลายเป็นหยาบจนใช้ไม่ได้ เกล้ากระหม่อมเคยตั้งชื่อหมา ถือเอาตามความถนัดปากของคนซึ่งอยากจะเรียกอ้ายอี่ แต่เหยียดเอาคำอ้ายอี่เข้าเป็นชื่อเสีย เช่น อีเก้ง อีเหน เป็นต้น ก็เป็นที่เรียบร้อย หากแต่มันเป็นตัวเมียจึ่งเป็นไปได้เรียบร้อย ถ้าเป็นตัวผู้ก็จะยากอยู่ ด้วยคำ “อ้าย” นั้นมีชื่ออะไรน้อย แต่อย่างไรก็ดี ชื่อสัตว์เดียรฉานต้องไม่เหมือนคน คราวหนึ่งชื่อพวกลับคนหนึ่งมาปรากฏในความรู้ ได้นึกว่าชื่อนี้ตั้งเป็นชื่อสัตว์เดียรฉานได้ แต่แล้วก็ลืม

๒. เรื่องวังหลวงวังหน้านั้นทีเป็นเคยชินเท่านั้นเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าก็เคยเป็นวังหน้ามาก่อน ไม่เห็นมีใครว่าไร กรมหมื่นจรัสพรนั้นยกเสีย เพราะมาอยู่วังหลวงแต่เล็ก จะเห็นได้ที่พระองค์ยุคุนธร พระองค์นันทวันดูก็สนิทกันดี ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้านายวังหน้า แท้จริงตำแหน่งวังหน้านั้น เดิมทีก็สำหรับสืบราชสมบัติทีเดียวแล้ว

การเลือกพระเจ้าแผ่นดินเขมร ตามที่ตรัสอธิบายไปให้เข้าใจนั้นแจ่มแจ้งดีมากทีเดียว

๓. เก้าอี้ล้อซึ่งทูลกระหม่อมโปรดทรงนั้น มาได้เห็นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ทรงพระดำเนินไม่ถนัดจึงตรัสเรียกเอามาทรง ครั้งนั้นเจ้าพระยาวรพงศ์ยังเป็นนายเด็กชาอยู่เป็นผู้นำมาถวาย เข้าใจว่าพระเก้าอี้นั้นอยู่ในคลังเด็กชา ที่ไปอยู่เมืองเพชรและวังมิคทายวันนั้นไม่ทราบ และเดี๋ยวนี้จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน

๔. เก้าอี้ที่โต๊ะเซ็นชื่อตำหนักวังวรดิศนั้น คิดว่าเป็นของในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นจริงๆ เว้นแต่ไม่ทราบรายละเอียดเท่านั้น ข้อที่ตรัสถึงเก้าอี้ที่ซินนามอนฮอล นึกว่าได้เห็นเช่นนั้นที่ไหนอีก แต่จำหน่ายไม่ตกเสียแล้ว คงเป็นแฟแช่นกันมาคราวหนึ่ง แฟแช่นนั้นประมาทไม่ได้ พาเอาอะไรไปไกลเต็มที

๕. ตรัสเล่าถึงการทำวิสาขบูชาที่ปีนัง ขอถวายอนุโมทนาพระกุศลอันได้ทรงปฏิบัติดีแล้วนั้น ตามที่ตรัสพาดพิงไปถึงวัดศรีสว่างอารมณ์ ทำให้อยากทราบว่าทำไมสมาคมญาโณทัยจึงหลุดไปจากวัดศรีสว่างอารมณ์ อันชื่อ “ญาโณทัย” นั้นไม่ชอบใจ ไม่ชอบด้วยหนังสือฝรั่งต้องมีเครื่องหมาย ถ้าไปถูกโรงพิมพ์ที่ตัวพิมพ์มีเครื่องหมายของเขาไม่มี เขาก็เอาตัวไม่มีเครื่องหมายใส่เข้าให้ ลางคำก็มีเสียงผิดไปไกลมาก

๖. เรื่องเรือรูปสัตว์นั้น ได้เคยกราบทูลมาก่อนแล้ว ว่าได้ไปพบเขาจำหลักไว้ที่พระระเบียงนครวัด ถ้าถือเอาว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริสร้างเรือรูปสัตว์เป็นประเดิม นครวัดก็มีอายุไม่กว่า ๓๐๐ ปีเศษ นี่เป็นกะเวลาให้เรือรูปสัตว์ของเราแพร่ไปถึงเมืองเขมร คนเขมรจำเอาไปทำใช้บ้างจนเป็นปรกติ นครวัดจึงเอาไปจำหลักอีกต่อหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี นครวัดจะต้องมีอายุไม่เกิน ๔๐๐ ปี เพราะตำนานสร้างเรือรูปสัตว์ของเรามีอยู่อย่างนั้น แต่ให้เห็นว่านครวัดมีอายุน้อยไปมาก

ได้ตริตรองในเรื่องตรา เห็นว่าตามพระดำริที่ว่าตราครั่งเป็นของทางตะวันตก ตราชาดเป็นของทางตะวันออกนั้นถูกทีเดียวแล้ว มีพยานเห็นได้อยู่สิ้น

๗. หูดของเกล้ากระหม่อม หมอเขาช่วยแก้ไขหายเป็นปรกติแล้ว ดวงดำที่หลุดได้ดั่งที่ตรัสเห็นจะได้แก่ที่เรียกว่า “ฝ้า” อันมลทินดำที่ผิวนั้นมากมายหลายอย่างนัก จนใส่ชื่อไม่ถูกว่าชนิดใดเป็นอย่างไร ที่เรียกว่า “ตกกระ” ให้คิดเห็นเป็นว่าควรจะเป็นเม็ดดำเล็กๆ มากๆ มาจนติดกันเป็นแผ่นใหญ่ก็ได้ แต่ควรจะหลุดไม่ได้ ที่หลุดได้จึงนึกว่าเป็นฝ้า เพราะเคยเห็นคนที่หน้าเกิดเป็นดวงดำแล้วหายไปนั้น เขาเรียกกันว่าหน้าเป็นฝ้า

บรรเลง

๘. ได้เห็นพัดรองที่พระถือ มีมากที่เป็นรูปหนูรูปกระต่าย เป็นต้น แปลว่าหมายเอาปีเกิดทั้งนั้น เห็นเป็นแพ้หมูปีก ถึงจะเป็นสัตว์ปีก็จริง แต่เป็นจำเพาะตัว ไม่ซ้ำกับใคร

๙. พระพรหมพิจิตรรับว่า โบสถ์วัดพระศรีมหาธาตุนั้นเอาอย่างโบสถ์วัดเบญจมบพิตรจริง และบอกด้วยว่าจะตั้งพระสิหิงค์ โบสถ์วัดเบญจมบพิตรนั้นทำสำหรับตั้งพระชินราช (จำลองเท่าองค์เดิม) ใหญ่กว่าพระสิหิงค์มากนัก แต่เขาก็คิดแบบแก้ไขที่ตั้งให้ดูพระองค์ย่อมไม่หลอนเกินไป

ฝ่าพระบาทคงจะทรงจำได้ว่าวัดเบญจมบพิตรนั้น แต่ก่อนนี้โบสถ์กับพระระเบียงไม่ติดกัน แล้วเชื่อมติดกันเข้าต่อภายหลัง

พระเจดีย์วัดศรีมหาธาตุนั้น พระพรหมพิจิตรส่งแบบมาให้ดู บอกว่าเอาอย่างพระเจดีย์ที่วัดราชาธิวาส ทีจะสำคัญใจว่าเป็นแบบของเกล้ากระหม่อม แต่ที่จริงหาใช่ไม่ ไม่เกี่ยวแก่เกล้ากระหม่อมเลย ดูแบบเห็นทำเป็นพระเจดีย์ซ้อนสองชั้น องค์นอกใหญ่องค์ในเล็กอย่างรัชกาลที่ ๔ ที่เกล้ากระหม่อมเดาว่าทีจะเอาอย่างพระธาตุพนมมาทำนั้นผิด ผิดด้วยฟังคำบอกที่ว่าไม่เคยเห็นรูปเช่นนั้น

๑๐. เห็นหนังสือพิมพ์เขาว่าฉายแท่นวัดเก่าในเมืองสุราษฎร์ได้พระพุทธรูปงามสามองค์ ที่จริงพระพุทธรูปก็เป็นไปตามแหล่งตามฝีมือตามคราว จะถือว่าอย่างไหนงามความเห็นก็ลงกันไม่ได้ ถ้าว่าถึงคนทั่วไปก็ออกจะเป็นไปตาม “น้ำเบ้อ” นี่เป็นภาษาของหลวงเพชรกรรม (เล็ก) ถ้าน้ำเบ้อดีทำอะไรก็เป็นดี ถ้าน้ำเบ้อไม่ดีทำอะไรก็เป็นไม่ดี คำนี้ก็ตรงกับ “แฟแช่น” นั่นเอง

สนองลายพระหัตถ์ (ฉบับหลัง)

๑๑. ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ในวันเสาร์คือวันที่เข้าไปถึงกรุงนั้นเอง อยู่ข้างเร็วมาก มีปะบิดทับเดียวแต่ทางกรุง จะกราบทูลสนองต่อไปนี้เพราะมีเวลาจะกราบทูลสนองได้

๑๒. แมวกลัวน้ำนั้นจริง แต่ที่ถึงตายนั้นเพิ่งได้ทราบตามที่ตรัสเล่า แห่แมวขอฝนนั้นก็ได้เค้าพอเดาได้ว่าเกี่ยวแก่ฝนอย่างไร แปลว่าแห่แมวล่อเทวดาให้บันดาลฝนตกลงมาสมน้ำหน้าแมวที่กลัวน้ำ อย่างที่ปั้นนิมิตชายหญิงเกล้ากระหม่อมก็เคยไปดูพราหมณ์เขาทำพิธี มีกล่าวมนตร์จบแล้วโบกธงด้วย ธงนั้นสังเกตว่าเป็นผ้าขาว ดูเหมือนลงอักขระด้วย ออกจะเก่าๆ ทีจะเป็นด้วยลงอักขระ เก็บไว้ด้วยจะไม่ต้องเขียนอักขระใหม่ ข้องใจอยู่หน่อยเดียวแต่ที่ทำนิมิตชายหญิงนั้นเรียกว่า “ปั้นเมฆ” แต่ก็พอแปลได้ว่าที่เรียกเมฆนั้นประสงค์ให้มีเมฆมา คือต้องการให้ฝนตก เพราะทราบว่าก้อนเมฆนั้นเป็นน้ำ แต่ไม่เข้าใจว่าทำนิมิตหญิงชายทำไม เทวดาก็คือผีนั่นเอง ชาวข้างเหนือเมืองเราเรียกว่า “ผีฟ้า” สะใจเต็มที

คำร้องแห่นางแมว ทรงจำได้ว่า “จะขอค่าจ้าง หามนางแมวมา” นั่นผิดกว่าที่เกล้ากระหม่อมจำมาได้ ได้ความขึ้น ไม่ประหลาดอะไรที่มีแต่งต่อ สังเกตคำร้องต่างๆ ของเก่า ดูเป็นคิดพุ่งๆ ทั้งนั้น อีกกลอนหนึ่งเกล้ากระหม่อมก็จำได้ว่า “เทวดาวลาหก ฝนฟ้าไม่ตก อกลูกจะแตกคราก ผลกรรมลำบาก” แล้วอะไรต่อไปก็จำไม่ได้ แต่คำลงกันหมด ผิดกันที่ “ข้า” เป็น “ลูก” เท่านั้น แต่ก็ไม่เห็นเป็นไร ความเคลื่อนคลาดต่างกันไปนั้นจะต้องเป็น เพราะเป็นแต่คำร้อง จะต้องร้องเคลื่อนคลาดกันไปเสมอ

๑๓. ตามที่พระยาอนุมานเดา “หกเขมร” “ตีลังกา” นั้น แกก็บอกเล่าว่าพิเคราะห์ตามเสียง คำ “ถกเขมร” นั้นก็เป็นปัญหามา นั่นหมายถึงเขมรจริง แต่เขมรก็ไม่ได้นุ่งถกเป็น “ออริยิแนล” จำเขามาอีกต่อหนึ่ง เทวรูปอินเดียทางใต้ก็เนื้อเถะ รูปผู้ชายก็นุ่งผ้าเหนือหัวเข่า ดูรูปเขียนบ้านเรา ทางชายก็นุ่งเหนือหัวเข่าเหมือนกัน เว้นแต่มีกางเกงอีกชั้นหนึ่ง แสดงว่าทีหลัง การนุ่งผ้านั้นมีชายหน้าชายหลังสมเป็นว่านุ่ง “เลาะเตี๊ยะ” คำ เลาะเตี๊ยะ นี้เข้าใจว่าเป็นคำเงาะ พวกเงาะก็นุ่งอย่างนั้นเหมือนกัน แสดงว่าเก่าแต่ไม่มีกางเกง จะเป็นด้วยจนหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่นุ่งถกเขมรกันนั้นเป็นแน่

๑๔. คำว่า “ขัน” นั้นทรงพระดำริแจกออกไปอีกเป็นหลายอย่าง เป็นภาชนะ เป็นร้อง เป็นน่าหัวเราะ และเป็นทำให้ตึงก็ได้ ลางทีจะมีกว่านั้นออกไปอีก นั่นเป็นพยานว่าคำคำเดียวหมายไปได้หลายอย่าง ที่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรได้ก็เป็นไปด้วยสำนวน

๑๕. คำ “แก” นั่นทรงพระดำริหลงกันแล้ว คำ “อ่อน” เกล้ากระหม่อมก็เคยได้ยิน และคำ “หล่อน” ก็ได้คิดเหมือนกันว่าออกจาก “อ่อน” เคยได้ฟังมาใช้คำ “หล่อน” กันไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช้แล้ว ใช้คำ “เธอ” แทน คำ “เธอ” นั้น แต่ก่อนวางไว้สูง ใช้แต่พระกับเจ้า

๑๖. ต้นไม้มีศาลที่ใกล้สถานเสาวภานั้น ดูเหมือนจะเพิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

๑๗. หนังสือที่ช่างเขียนเขาเขียนกันอยู่ขณะนี้ ก็เป็นทางของเกล้ากระหม่อมเอาเค้าเขียนหนังสือขอมและสังสกฤตมาปนกัน คิดให้แก่ชายโป๊ะ เหตุด้วยเธอบ่นว่าเธอเขียนแผนผังเสียเวลามาก เพราะต้องมีหนังสือ กว่าจะ “ปั้น” ได้ทีละบรรทัดก็เสียเวลาพอแรง จึงได้คิดให้เธอเขียนง่ายๆ แต่งามพอ แล้วช่างเขาก็จำกันไป แต่ไม่รู้หลักของหนังสือ เขียนเปลี่ยนแปลงกันไปก็เข้ารก

ไปถึงวัดราชโอรสไม่รู้กี่หน แต่ไม่ได้สังเกตองค์พระประธาน เพราะการทำฐานแย่งเอาใจไปเสีย เขาทำดีจริง ต่อเมื่อเขาเอารูปมาลงสมุดจึ่งได้สังเกตทั้งองค์พระและฐานที่ฟันไว้ไม่สู้ตาทั้งนั้น

๑๘. เรื่องตะเกียงหลอด มีเมื่อไรนึกไม่ออก นึกได้แต่โคมรั้ว “รจนา” กันอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เลวลงทุกที ที่สุดจุดไม่ได้ จนเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่า “โคมรั่ว” แล้วก็เลยสิ้นอายุไปเพราะใช้ไม่ได้ ยังได้คิดพิศวงในใจ ว่าของที่มีแต่รูปนั้น พ่อค้าบ้านเราสั่งให้ทำหรือ “แฟกโตรี” เขาทำมาเอง

๑๙. พระตราทูลกระหม่อมหญิงเพชรบุรี ซึ่งมีพระธาตุจอมเพชรอยู่ด้วยนั้นเป็นของเกล้ากระหม่อมคิดขึ้นเอง สมเด็จพระพันวัสสาตรัสสั่่งมาให้เขียนพัด เมื่อเขียนถวายไปแล้วโรงเรียนราชินีเขาก็ถ่ายทำเป็นใบปกหนังสือไปอีกต่อหนึ่ง ในการที่เกล้ากระหม่อมทำนั้นคิดหลบสิ่งที่เป็นของพระบรมราชาฯ เหตุด้วยมีกฎหมายบังคับ ว่าถ้าทำแล้วให้ขอพระบรมราชานุญาตก่อน เห็นว่าขอพระบรมราชานุญาตนั้นลำบาก จึงไปฉวยเอาพระธาตุจอมเพชรมาทำ ฝ่าพระบาทก็เก่งทายาดที่ทรงทราบได้ว่าพระธาตุจอมเพชร ภายใต้นั้นตั้งใจจะทำเป็นกลุ่มใบตาล เป็นเขาเป็นดงตาลเสร็จไปในตัว แต่ตาไม่เห็นลำบากในการเขียน ต้องหาคนช่วย ต่อลงสีแล้ว จึงเห็นว่ามันบางกะหรอนไปจนเกือบจะไม่เห็นว่าเป็นกลุ่มใบตาล เพราะสีทำให้จะแจ้งขึ้น จะแก้ก็ไม่ทราบว่างานจะช้า กลัวจะไม่ทันการ จึ่งปล่อยไปเลยตามเลย

๒๐. เรื่องทวารบาลเกล้ากระหม่อมก็เพิ่งได้คิด เดิมทีเขาทำไว้ข้างนอกที่เอาเข้าไปข้างในนั้นทำผิด ลายทองที่ทำกันไว้ที่บานหน้าต่างประตูนั้น เป็นลายทรงเข้าบิณฑ์เป็นพื้น นั่นแสดงว่าเป็นผ้า คือใช้ม่านกั้นบังมาก่อนดอกกระมัง

คราวนี้ก็เขียนหนังสือถึงหญิงพิลัสอดมากับหนังสือเวรอีก ทอดพระเนตรได้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ