วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมล์มาวันพฤหัสบดีที่ ๓ นี้ เขาส่งลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑ กรกฎาคม มาให้หม่อมฉันแต่ในวันศุกร์เวลากลางวัน ไม่ช้าเหมือนเมล์ก่อน

ทูลความที่ยังค้างอยู่

๑) “ก่อฤกษ์” กับ “วางศิลาฤกษ์” นั้นดูเป็นพิธีต่างกัน ก่อฤกษ์เป็นพิธีไทยมีมาแต่โบราณ ทำเมื่อสร้างวัตถุสถานที่สำคัญเช่นพระเจดีย์เป็นต้น เมื่อทำรากแล้วถึงขณะจะก่ออิฐผู้เป็นเจ้าของวางอิฐก่อนผู้อื่น เป็นอิฐปิดทองก็มี ทั้งอิฐปิดทองปิดเงินปิดนากก็มี บางแห่งเช่นที่ประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์เขียนยันต์อาถรรพ์บนแผ่นอิฐเพิ่มขึ้นด้วยก็มี ความประสงค์ของการก่อฤกษ์ดูเพื่อจะเอาบุญอย่าง ๑ หรือเพื่อจะให้ศักดิ์สิทธิ์อย่าง ๑ การวางศิลาฤกษ์นั้นไทยเราเอาอย่างพิธีของฝรั่งมาทำ ทำเมื่อก่ออิฐบ้างแล้ว ตัวเจ้าของเองหรือเชิญผู้มีศักดิ์ให้วางศิลาแท่งใหญ่บนอิฐที่ก่อ แท่งศิลานั้นบรรจุจดหมายเหตุกับตัวอย่างของต่างๆ เช่นเงินตราเป็นต้นที่ใช้กันในสมัยนั้นผนึกไว้ ด้วยความประสงค์สำหรับให้คนภายหน้ารู้เรื่องที่สร้างสถานอันนั้น เพราะฉะนั้นจะทำทั้ง ๒ พิธีด้วยกันหรือจะทำแต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่จะทำแทนกันไม่ถูก

หม่อมฉันเคยได้ยินว่าเขาทำอย่างประหลาดครั้งหนึ่ง เมื่อจะมีงานแสดงสากลพิพิธภัณฑ์ ณ เมืองนิวยอร์คสัก ๒ ปีมาแล้ว เขาปรารภกันว่าสิ่งซึ่งมนุษย์ทำกันไว้แต่โบราณอันอยู่มาได้จนบัดนี้ ยังไม่พบที่มีอายุกว่า ๕๐๐๐ ปี แต่เมื่อขุดพบของเหล่านั้นก็ได้ความรู้ว่า คนโบราณในสมัยนั้นมีความสามารถเพียงใด และรู้ว่าสิ่งอันใดเขาคิดและทำได้แล้วในสมัยนั้นๆ จึงมีพวกอเมริกันชวนกันทำกรุใหญ่ด้วยทัพสัมภาระที่ทนทาน สังเกตดูในรูปภาพเห็นรูปกรุนั้นคล้ายกับตอร์ปิโด แล้วเอาตัวอย่างของต่างๆ ที่มนุษย์รู้จักใช้กันในสมัยนี้ เป็นต้นแต่สมุดตัวอักษรและภาษาต่าง ๆ ลงมาจนเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องวิทยุกระจายเสียง และหนังฉาย บรรจุไว้ในกรุนั้นแล้วฝังดินไว้ สำหรับให้มนุษย์ภายหน้าเมื่อล่วงเวลา ๕๐๐๐ ปี รู้ว่ามนุษย์สมัยนี้รอบรู้และมีความสามารถเพียงใด แต่การที่ทำอย่างนั้นดูเปนฝังทรัพย์แผ่นดินยิ่งกว่าก่อฤกษ์

๒) ธงมังกร ธงตะขาบ เป็นธงจีน ธงเสือปีกเป็นธงเกาหลี น่าจะเป็นของพวกจีนเอาเข้ามาจากเมืองจีนสำหรับแห่เจ้าก่อน ไทยเราคงไปขอยืมเอามาใช้ในกระบวนแห่ แล้วจึงเลยใช้ประจำในเครื่องแห่ แม้ “ทิว” ที่เอาแพรแถบมาเย็บสวมปลายไม้ ก็น่าจะเป็นแบบจีนหาใช่ของไทยไม่ ธงไทยสังเกตดูมี ๓ อย่างๆ ๑ เห็นจะเรียกแต่ว่า “ธง” รูปสี่เหลี่ยมรีสีต่างๆ บ้างก็ลงยันต์ใช้สำหรับนำพล เช่นแห่พระเข้าพิธีตรุษ อีกอย่าง ๑ เรียกว่า “ธงชัย” เป็นรูปสามเหลี่ยมตัดทะแยงมุมทำนองเดียวกับธงมังกรของจีน แต่ผิดกันที่ของจีนเอาด้านยาวไว้ข้างล่างมีครีบเป็นรูปเปลวตลอดผืน แต่ธงชัยของไทยเอาด้านยาวไว้ข้างบน ครีบทำเป็นชายแต่ ๓ ชายบ้าง ๕ ชายบ้าง ใช้กระบวนนำทัพใหญ่ เช่นขบวนเสด็จพยุหยาตราเป็นต้น ธงกระดาษที่ใช้เป็นเครื่องประดับเช่นแต่งพระทราย ก็ชอบทำรูปธงชัยอีกอย่าง ๑ เป็นธงสี่เหลี่ยมรีแต่ทำแกนร้อยด้านสกัดผูกเชือกแขวนห้อยลง ควรจะเรียกว่า “ธงประฎาก” ตามพระบาลี แต่มักเรียกกันว่า “ธงจระเข้” ธงอย่างนี้เห็นชอบทำแต่ด้วยผ้าขาว เขียนรูปจระเข้ไว้เป็นลายธง คงเป็นเพราะเหตุนั้นจึงได้นามว่า “ธงจระเข้” เห็นทำแต่เป็นเครื่องบูชาพระ หาได้เป็นเครื่องแห่เหมือนธงประฎากลายมังกรของจีนไม่ เหตุใดจึงเขียนรูปจระเข้ประจำธงชนิดนั้น ดูเหมือนหม่อมฉันเคยได้ยินอธิบายแต่ลืมเสียแล้วนึกไม่ออก

๓) ลักษณะบรรจุพระบรมธาตุแต่โบราณต่างกันเป็น ๒ อย่าง คิดดูเห็นมีมูลชอบกลอย่าง ๑ เห็นจะเป็นแบบเดิม ทำกรุฝังพระบรมธาตุไว้ในแผ่นดิน แล้วจึงสร้างพระสถูปขึ้นต่างหาก พระสถูปเป็นแต่เครื่องหมายที่ฝังพระบรมธาตุ บรรจุอย่างนี้มีพรรณนาอย่างวิจิตรพิสดารอยู่ในหนังสือปฐมสมโพธิ์บริเฉทธาตุนิธาน ว่าเมื่อถวายเพลิงพระพุทธสรีระแล้วฝังพระบรมธาตุไว้อย่างนั้น และมีศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ว่าขุดพระธาตุออกให้คนบูชาเดือน ๑ กับ ๖ วันแล้ว “จึงเอาลงฝังในกลางเมืองสัชชนาลัยก่อพระเจดีย์เหนือ ๖ เข้าจึงแล้ว” ในตำนานพระธาตุทางลานนา เช่นพระมหาธาตุหริภุญชัยเป็นต้น ก็ว่าฝังพระบรมธาตุในแผ่นดินเหมือนกันคือยังใช้วิธีบรรจุแบบเดิมมาจนสมัยสุโขทัย พิเคราะห์ดูมูลของลักษณะบรรจุพระบรมธาตุอย่างเดิมที่ฝังไว้ในแผ่นดิน เห็นจะใช้มาแต่สมัยเมื่อก่อนพระพุทธศาสนาเจริญถึงเป็นศาสนาของบ้านเมือง ด้วยเกรงจะถูกพวกมิจฉาทิฐิทำอันตรายแก่พระบรมธาตุ จึงฝังซ่อนเสียให้มิดชิด ถึงพระสถูปจะถูกรื้อแย่ง พระบรมธาตุก็คงอยู่ ลักษณะบรรจุอีกอย่าง ๑ นั้นน่าจะเกิดขึ้นในชั้นหลัง คือทำที่ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ในองค์พระสถูปให้คนเข้าไปบูชาไว้ ตัวอย่างบรรจุอย่างนี้แห่งที่เก่ากว่าเพื่อนได้พบที่ “พระมหาสถูป” ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทำมณฑปบรรจุพระบรมธาตุไว้ในห้องข้างในองค์พระมหาสถูป มีประตูทางคนเข้าไปบูชาได้ทั้ง ๔ ทิศ ทูลกระหม่อมทรงเอาอย่างมาทำที่พระเจดีย์วัดบวรนิเวศน์และที่พระศรีรัตนเจดีย์มีปรากฏอยู่ เหตุที่เปลี่ยนลักษณะบรรจุพระบรมธาตุเป็นประดิษฐานไว้ในองค์พระเจดีย์ ถ้าพิจารณาตามความที่ว่าในหนังสือพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระรามาธิบดีทรงสร้างพระมหาสถูปเพื่อจะบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้ในแผ่นดิน เปลี่ยนกระบวนมาทำที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ในองค์พระเจดีย์ แต่อย่างไรก็ดี พิเคราะห์ดูก็ส่อว่าทำอย่างนั้นในสมัยเมื่อคนนับถือพระพุทธศาสนาทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่ต้องเกรงว่าพระบรมธาตุจะถูกมิจฉาทิฐิทำร้ายเสียแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

๔) ที่หม่อมฉันแนะให้ชายดิศพิมพ์หนังสือเรื่องประวัติสมเด็จพระนเรศวรแจกในงานศพแม่หวนนั้น ไม่ใช่หม่อมฉันจะแต่งให้ใหม่ เวลานี้กำลังกายและปัญญาเห็นจะไม่สามารถทำได้เสียแล้ว แต่หม่อมฉันได้แต่งเรื่องนั้นไว้นานแล้วเป็นแต่พิมพ์แยกย้ายอยู่หลายแห่ง คิดจะรวบรวมเอามา “แต้มหัวตะ” ต่อกันพิมพ์เป็นเรื่องหนึ่งต่างหากเท่านั้น เห็นพอจะทำได้ไม่ยากนัก

๕) เมื่อชายดิศกับชายใหม่อยู่ปีนัง หม่อมฉันก็ทราบว่าเธอเที่ยวหาของถวายฝาก แต่น่าจะไม่ได้ของดีที่ควรถวายฝากไปเสียอย่าง ๑ วันหนึ่งเธอชวนหม่อมฉันไปห้าง ให้ไปเลือกของชอบใจซึ่งเธออยากจะให้หม่อมฉันในวันเกิด หม่อมฉันไปเห็นลูกกลิ้งกระดาษซับมีมาใหม่ดูแปลก บอกเธอว่าชอบใจได้มาสิ่ง ๑ แต่เพิ่งเอาออกใช้เมื่อเธอกลับไปแล้ว ใช้สะดวกดีพิลึก ถ้ารู้ทันเวลาก็คงบอกให้เธอเอาไปถวายฝาก หรือซื้อเองฝากเธอไปถวาย แต่หม่อมฉันได้ให้หญิงเหลือไปซื้อมาไว้แล้ว เมื่อมีใครเข้าไปกรุงเทพฯ จะฝากไปถวาย

๖) ลักษณะที่เทศน์สวดอย่างเดียวนี้เป็นอย่างใหม่จริงดังทรงพระดำริเพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันนึกดูยังจำได้ว่าแม้ในรัชกาลที่ ๖ นั้น ชั้นแรกพอพระเทศน์เบิกหน้าธรรมาสน์ พระสัพพีก็พากันลุกจากอาสน์สงฆ์ไปขึ้นเตียงสวด ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นนั่งอยู่กับอาสน์สงฆ์ ตรัสถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เห็นจะทูลอธิบายถวายได้

๗) ซึ่งทรงปรารภถึงถ้อยคำซึ่งเขียนตัวอักษรเคลื่อน ดังเช่นคลอง ลำน้ำ เขมรเรียกว่า “สะทิง” เขียนตัวอักษรเป็น “สตึง” แล้วมากลายเป็น “สตรึง” และ “จะทิง” หม่อมฉันนึกว่าเกิดแต่คนต่างภาษาเอาคำของชาติอื่นมาพูดใช้ ออกสำเนียงไม่ชัดตามภาษาเดิม ดังเช่นเอาคำบอกทหารว่า โชละเดออามส์ มาบอกเป็น โสลดหับ หรือเรียกเตเลคราฟว่าตะแล็บแก็บ คนอื่นเขียนตามเสียงก็พาให้คำแปรไปได้อีกอย่าง ๑ บางทีเดิมเขาแผลงอักษรให้ผิดใกล้ๆ กันด้วยจะให้หมายความต่างกัน ดังเช่นคำว่า “ตรวจ” และ “ตรัส” เป็นกริยา เขาแผลงเป็น “ดำรัส” และ “ตำรวจ” ให้เป็นนามศัพท์ หมายว่าบุคคลผู้ตรัสหรือผู้ตรวจก็มี เพราะความสังเกตเสื่อมไปความรู้มูลของศัพท์ก็หมดไป น่าจะมีคำอื่นอีกมาก ถ้าหากมีใครยอมตัวเป็นอย่างเราเคยเรียกว่า “ตาหนวดยาว” นั่งค้นไปก็จะได้คำพวกนั้นลงทะเบียนอีกมาก แต่ยากที่จะหาคนเช่นนั้นได้ เพราะการค้นของเก่าอยู่ข้างลำบากไม่เหมือนคิดเอาใหม่ คำภาษาต่างๆ ไม่แต่ภาษาไทย จึงเปลี่ยนมาเสมอ

ทูลเรื่องทางปีนัง

โรงหนังฉายในปีนังโรง ๑ เรียกว่า วินเซอร์ ฉายหนังทมิฬเป็นนิจ เรื่องหนังทมิฬมักเป็นเรื่องที่เรารู้ เช่นเรื่องรามเกียรติ์และศกุนตลาเป็นต้น หญิงเหลือเธอจึงคอยสังเกตชื่อเรื่องที่เขาโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เห็นชอบมาพากลก็ไปดู บางครั้งหม่อมฉันก็ไปด้วยดังเคยเล่าถวายถึงไปดูเรื่องศกุนตลา ต่อมาเห็นโฆษณาว่าจะเล่นเรื่อง “พรหมจารี” หญิงเหลืออยากดู หม่อมฉันไม่ได้ไปแต่หญิงพูนไปด้วย แต่กลับมาก่อนหนังเลิก ว่าทนไม่ไหว ด้วยเล่นเป็นกระบวนคิดใหม่เหมือนอย่างละครสมัยใหม่ในเมืองไทย ต่อมาเห็นโฆษณาว่าจะเล่น “เรื่องมณีเมขลา” ก็ไปดูกันอีก คราวนี้หม่อมฉันไปด้วยเห็นเป็นเรื่องแต่งใหม่แต่ดีพอใช้ ในเรื่องนั้นว่านางเอกชื่อมณีเมขลาเป็นลูกเศรษฐี วันหนึ่งไปเที่ยวชมสวนกับพี่เลี้ยง เห็นนกเขาคู่ ๑ ทำรังอยู่บนค่าคบไม้ บัดเดี๋ยวมีลูกธนูปลิวมาถูกนกเขานั้นตัว ๑ ตกลงมาอยู่ตรงหน้านางสงสารเอามาอุ้มไว้ ขณะนั้นมีพระภิกษุในพระพุทธศาสนาองค์ ๑ เดินมาเห็นเข้าอนุโมทนาแล้วสั่งสอนนางให้นางเลื่อมใส “อหึสา” มีความกรุณาปรานีต่อสัตว์ พอพรานผู้ยิงมาเรียกเอานกตัวนั้น นางจึงปลดกำไลมือวง ๑ ให้แก่พราน ขอไถ่นกเขามอบให้พระภิกษุเอาไปเลี้ยงที่วัด แต่นั้นมานางก็เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เลยเห็นโทษในกามสุขคิดจะออกบวชเป็นชี มีเจ้านายองค์ ๑ ชื่อว่าอุทัยกุมาร ได้เห็นนางมณีเมขลามีความปฏิพัทธ์ ไปขอสู่ต่อบิดามารดา มารดาก็อยากยกให้ แต่นางไม่สมัครจะแต่งงานหนีไปจากบ้าน ขณะนั้นร้อนถึงนางเทพธิดามณีเมขลา ลงมาอุ้มนางพาเหาะหนีไปเสียยังชายทะเล มิให้ใครขืนใจ ไปบำเพ็ญบุรพกิจสำเร็จบวชเป็นชีแล้ว เทวธิดามณีเมขลาให้บาตรใบ ๑ ขนาดสักเท่าบาตรพระใบใหญ่ของเรา แต่รูปเป็นทรงมะนาวตัด บาตรนั้นเป็นกายสิทธิ์ใส่ข้าวสุกลงแล้วมิรู้จักพร่อง แล้วพานางกลับมาส่งยังบ้านเมือง นางก็เที่ยวทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามวัด ทำพระสงฆ์ประชุมกันในวิหารที่น่าดู เลี้ยงยาจกวณิพกตลอดจนคนโทษในเรือนจำ ด้วยข้าวสุกอันได้จากบาตรกายสิทธิ์นั้นเสมอทุกวัน ฝ่ายอุทัยกุมารก็พยายามสืบเสาะติดตามนางจนพบในเมืองแห่ง ๑ เกี้ยวพานเท่าใดนางก็ไม่ยินดี คืนวันหนึ่งอุทัยกุมารหมายจะเข้าข่มขืนนางชี ไปถึงวัดที่นางอยู่พบมานพคน ๑ ซึ่งรักนางอยู่เหมือนกัน มานพนั้นฆ่าอุทัยกุมารตาย นางชีอยู่ในกุฏิได้ยินเสียงร้อง ออกมาดู มานพสำคัญว่านางเป็นชู้กับอุทัยกุมารจะฆ่านางเสียด้วย แต่แสงแก้วของเทวธิดาแล่นออกมาถูกมานพต้องหนีไป เหลือแต่นางชีกับศพอุทัยกุมาร นางชีก็ถูกจับต้องหาว่าเป็นผู้ฆ่าอุทัยกุมาร พระราชาในเมืองนั้นเอาตัวไปชำระจะให้ประหารชีวิต เทวธิดามณีเมขลาลงมาบันดาลให้บ้านเมืองพังทลาย แล้วพานางชีเหาะหนีรอดไป ผูกเรื่องก็พอใช้เสียแต่หนังทมิฬมักเอ่อ เช่นนางเอกร้องเพลงอยู่คนเดียวเกือบครึ่งชั่วโมง เราไม่เข้าใจภาษาออกเบื่อ แต่พวกทมิฬเห็นจะชอบเล่นทุกวันมาสัก ๗ วันแล้ว หม่อมฉันเกิดดำริขึ้นบางอย่าง ด้วยฟังเพลงที่ร้อง ดูท่าทางฟ้อนรำเห็นห่างเหินกับของไทย นึกว่าเพลงดนตรีของไทยเห็นว่ามิใช่มาจากอินเดีย กระบวนละครฟ้อนรำถึงแม้ได้แบบมาจากอินเดีย ไทยก็มาแก้ไขจนผิดรูป งดงามกว่าของเดิมเป็นอันมาก ยังอีกอย่าง ๑ เมื่อเห็นชาวอินเดียแต่งตัวโกนหัวห่มดองเป็นพระภิกษุและกิริยาท่าทางเป็นอย่างชาวอินเดีย อดนึกไม่ได้ว่า พระโมคคัลลาน์ พระสาริบุตรรูปโฉมและกิริยามารยาท ก็จะเหมือนอย่างนั้นนั่นเอง

๘) หม่อมฉันได้เห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าสวนสนุกโรงชื่อ “เวมลี” จะแจก “บุหงารำไป” Buga Rampey วันเสาร์ หม่อมฉันอยากเห็นว่าบุหงารำไปเป็นอย่างไร ให้คนไปรับแต่ไปพลาดพลั้งเสียอย่างไรไม่เห็นเขาแจกดังว่า หญิงพิลัยเธอว่าเคยเห็นที่ตลาดในเมืองชวา เขาเอาดอกไม้หลายอย่างปนกันประน้ำหอมทำนองบุหงาของเราใส่ใบตองวางขาย หม่อมฉันก็นึกขันมาว่าสิ่งซึ่งเราเรียกว่า “บุหงา” ที่ชอบแจกในการงานนั้นเองคือบุหงารำไป หากเราตัดคำหลังเสียตามสะดวกปากจึงเรียกแต่ว่าบุหงา เพราะคำว่าบุหงาหมายแต่ว่าดอกไม้ ๆ อย่างไรก็บุหงาทั้งนั้น คำรำไปคงหมายว่าผสมกัน คิดดูก็ตรงกับบทนางสะกาหนึ่งหรัดชมดอกไม้ในเรื่องอิเหนา ซึ่งว่า -

พิกุลจะกรองอุบะห้อย ลำดวนจะร้อยเป็นสร้อยใส่
จะทำบุหงารำไป วางไว้ข้างที่ไสยา
จำปาจะแตระเป็นสร้อยสน จะประสุคนธ์ให้หนักหนา ฯลฯ

ดอกไม้อื่นมีว่าจะทำเป็นอะไร ส่อว่าบุหงารำไปหมายว่าดอกไม้หลายอย่างผสมกัน อย่างเช่นเราเรียกว่าบุหงา

๙) พวกทมิฬตระกูล ๑ เขาส่งก๊าดมาเชิญหม่อมฉันไปช่วยแต่งงานสมรสและงานเจาะหู อยู่ข้างแปลก “ไม่เคยรับ” ด้วยกำหนดฤกษ์เวลา ๘ ทุ่ม ๒๒ นาที งาน ๑. ๓ ยามกับ ๕๘ นาที งาน ๑ จึงส่งก๊าดเชิญมาถวายทอดพระเนตร ไปไม่ไหวอยู่เอง.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ