วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เมล์มาวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ นี้ พอรุ่งขึ้นวันศุกร์เขาก็เอาจดหมายกับหนังสือพิมพ์และห่อสมุดที่ชายใหม่ส่งมาจากกรุงเทพ ฯ มาส่ง แต่เป็นจดหมายของคนอื่นทั้งนั้น ส่วนลายพระหัตถ์เวรค้างอยู่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ คอยจนถึงวันอาทิตย์แล้วยังมาไม่ถึงมือหม่อมฉัน จึงเขียนเรื่องทางปีนังขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้

เรื่องทางปีนัง

๑) เมื่อวันเข้าวัสสา หม่อมฉันนิมนต์พระ ๕ รูปมารับบิณฑบาตที่บ้าน ถึงตอนบ่ายได้ไปบูชาพระและจุดเทียนวัสสาที่วัดปุโลติกุสกับวัดศรีสว่างอารมณ์ ขอถวายพระกุศล

มีเรื่องประวัติวัดที่จะเล่าถวายด้วย วัดไทยที่ในเกาะปีนังนี้วัดปุโลติกุสเป็นวัดเดิม ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียพระราชทานที่สีมาจึงสำคัญกว่าวัดอื่น เวลาเมื่อแรกหม่อมฉันมาอยู่เมืองปีนัง พระเลื่อนเป็นเจ้าอธิการวัดปุโลติกุส เธอมีอัชฌาสัยดีผู้คนนับถือมาก วัดครึกครื้นพระสงฆ์ก็มีมากตั้ง ๑๐ รูป และเป็นที่พักของพระอาคันตุกะด้วย เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระธรรมวโรดมมาก็พักอยู่ที่วัดนั้น อยู่มาพระอธิการเลื่อนอาพาธเป็นโรคในคอเรื้อรัง พยายามรักษาอยู่หลายปีไม่หาย ต้องลาสิกขากลับไปอยู่เมืองสงขลา พออธิการเลื่อนไปเสียแล้วไม่ช้าก็เกิดสังฆเภทขึ้นในวัดปุโลติกุส ด้วยภิกษุรูป ๑ เข้าไปในบ้านเขาเวลาดึก เจ้าของบ้านเขาจับตัวได้เอามาส่งที่วัด กล่าวโทษว่าลอบไปขึ้นหาผู้หญิง แต่ภิกษุนั้นปฏิเสธข้อหา ผู้เป็นเจ้าวัดแทนอธิการเลื่อนว่าภิกษุนั้นประพฤติเป็นอนาจาร ให้ลาสิกขาเสียมิฉะนั้นก็ให้ไปเสียจากวัดปุโลติกุส ภิกษุผู้เป็นสมีไม่ยอมทำตามทั้ง ๒ อย่าง เพราะมีทายกพวกหนึ่งอุดหนุนให้ขืนอยู่ในวัดนั้น เจ้าวัดก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับ พระสงฆ์ที่รังเกียจภิกษุอนาจารก็พากันไปอยู่เสียวัดอื่น แม้ตัวผู้เป็นเจ้าของวัดเอง เมื่อเข้าวัสสาก็สัตตาหะไปอาศัยอยู่วัดบุปผารามของท่านขรัวศรีแก้ว ๖ วันกลับไปค้างวัดคืน ๑ พอเป็นวินัยกรรมจนตลอดวัสสา พอออกวัสสาก็ไปจากวัดปุโลติกุส ภิกษุผู้เป็นสมีก็ได้ครองวัดอยู่แต่รูปเดียว แต่พวกสัปบุรุษโดยมากรวมทั้งพวกหม่อมฉัน ไม่เลื่อมใส ก็ไม่ไปทำบุญที่วัดปุโลติกุส วัดโทรมมาสัก ๒ ปี พวกสัปบุรุษเขาจะทำอย่างไรกันหม่อมฉันไม่ทราบ ถึงปีนี้กำจัดพระอนาจารรูปนั้นไปเสียได้ แล้วไปนิมนต์พระที่วัดปิ่นบังอร ให้แบ่งมาอยู่วัดปุโลติกุส ๕ รูป แล้วเขามาบอกให้หม่อมฉันทราบ ขอเชิญไปจุดเทียนวัสสาตามเคยเหมือนเมื่อท่านอธิการเลื่อนยังอยู่ หม่อมฉันจึงไปช่วยด้วยความยินดี การจุดเทียนวัสสานั้นเคยมีพิธีแห่เทียนเวียน ๓ รอบโบสถ์ก่อน ผูกสายมงคลสูตรกับเทียนแล้วคลี่มาให้พวกสัปบุรุษถือเดินตามเป็นกระบวน เมื่อเอาเข้าไปตั้งในโบสถ์แล้วเวลาจะจุดก็ยังล่ามสายมงคลสูตรให้พวกสัปบุรุษถืออยู่ด้วย ปีนี้อธิการองค์ใหม่เพิ่มสวดชยันโตเมื่อเวลาหม่อมฉันจุดเทียน หม่อมฉันก็เพิ่มบริกรรมคาถาจุดเทียนชัยให้ด้วย

ที่วัดศรีสว่างอารมณ์นั้น เป็นแต่จุดเทียนวัสสาไม่มีพิธีแห่แหน แต่เขามีการสวดมนต์เลี้ยงพระมีเทศนาทั้งภาษาไทยและภาษาจีนฮกเกี้ยน แล้วเดินเทียนอย่างวิสาขบูชา แต่เมื่อจุดเทียนวัสสาแล้วตอนค่ำหม่อมฉันหาได้ไปไม่

ที่วัดศรีสว่างอารมณ์เวลานี้ มีแต่พระทองสุกอยู่องค์เดียว เพราะพระมหาภุชงค์กลับเข้าไปกรุงเทพฯ ด้วยเหตุบิดาเจ็บหนัก ตั้งแต่เดือนมิถุนายนยังไม่กลับมา ได้ยินว่าดูเหมือนจะไม่ได้กลับมาด้วย เพราะเจ้าคณะจะขอให้เป็นพระราชาคณะผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่ประจำวัดราชประดิษฐ์ น่าเสียดายอยู่ แต่พวกสัปบุรุษเขาก็ยังบำรุงวัดด้วยเต็มใจไม่ขัดแคลนอย่างใด

๒) เมล์มาคราวนี้หม่อมฉันได้หนังสือ “ตำราขี่ช้าง” ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งหม่อมฉันสั่งชายใหม่ไปหาที่หอพระสมุดฯ ส่งมา เป็นหนังสือหอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อกรมหลวงอดิศรฯ ทรงแจกตอบแทนรดน้ำปีใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ หม่อมฉันพิจารณาดู “หูผึ่ง” ด้วยได้ความรู้แปลกๆ จากตำรานั้นหลายอย่าง เวลายังไม่พอจะพิจารณาได้ตลอด จะทูลแต่ข้อที่ได้เห็นในเบื้องต้นแต่ ๒ ข้อก่อน

ข้อที่ ๑. ในหนังสือนั้นข้างต้นมีจดหมายเหตุว่า “วันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ (พ.ศ. ๑๓๕๗) ข้าพระพุทธเจ้านาราชสารชุบ ข้าพระพุทธเจ้าขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิโวหาร ทาน ๓ ครั้ง ขอเดชะ” แสดงว่าเป็นตำราฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ต่อลงมามีบานแพนกเก่าว่า

“สิทธิการยะ จะเรียนขี่ช้างให้รู้จักกลจะนุ่งผ้าขี่ช้าง ๙ ชั้น ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้น เป็นนพ แลกลจะเกี้ยวผ้ากลผูกชนัก กลจะสอดชนัก กลที่จะนั่ง กลถือขอก่อนแล้วจึงเรียนกลจะฟัน กลจะฉะจะภาย กลจะเฉาะอ่าเฉาะอ้อย กลจะขี่ช้างไม่หัด กลจะขี่ช้างค้ำกลางแปลง กลจะขี่ช้างน้ำมันเข้าค้ำในวงพาด กลจะขี่ช้างน้ำมันไล่ม้าล่อแพน กลจะขี่ช้างน้ำมันไล่คน กลจะขี่ช้างน้ำมันชนบำรู กลจะขี่ช้างชนล่อปลายเชือก กลจะขี่ช้างเกียดน้ำ กลจะขี่ช้างมิข้ามน้ำ กลจะขี่ช้างเกียดไม้เกียดโรง เกียดจะลุงเบญภาค กลจะขี่ช้างกำหรากเหลือลาม กลจะขี่ช้างชนศึก กลอันว่ากล่าวไว้ทั้งนี้ มีพระราชกำหนดกฎห้ามแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า มิให้นอกกว่าพระสมุหะ (พระคชบาล) แลครูช้างขุนช้าง ผู้อื่นนั้นมิให้ล่วงรู้ ให้มีไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งแต่เท่านี้ ถ้าผู้จะศึกษาฝึกสอนนั้นให้บอกแต่กลจะนุ่งผ้า กลจะผูกชนัก กดจะสอดชนัก กลที่นั่ง กลจะถือขอก่อน ถ้าผู้ใดมีความเพียรอุตสาหะ ถ้าถามข้อใดให้บอกแต่ข้อนั้น ห้ามมิให้คัด (ตำรา) ทรงในฉบับนี้ไปศึกษาร่ำเรียนเป็นอันขาดทีเดียว”

ความในบานแพนกส่อให้เห็นว่า แต่โบราณความรู้ต่างๆ คงมีตำรับตำราที่ใช้ได้จริงๆ แต่หากหวงแหนมิให้คนภายนอกรู้ จึงเป็นเหตุให้ตำรับตำราต่างๆ สูญหายไปเสียโดยมาก เหลือแต่ตำราที่คนไม่เชี่ยวชาญคิดปะติดปะต่อ จึง “เรียว” ลงมา ตัวอย่างตำราเรียวที่พึงอ้างคือ ตำราพิชัยสงคราม ที่ในหอพระสมุดมีฉบับหลวงวังหน้า อ้างในบานแพนกว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้ทรงชำระแล้ว เอามาพิจารณาดูไม่เห็นมีแก่นสารที่จะใช้ได้จริง ตอนต้นว่าด้วยกลศึก ตั้งต้นบอกมาติกาชื่อกลต่างๆ (ว่าตามที่จำได้) ว่า กลศรีจักร กลรักซ่อนเงื่อน กลเถื่อนกำบัง กลพังภูผา กลม้ากินสวน กลพรวนเรือน กลโพงบ่อน้ำ กลล่อให้หลง เป็นต้น อ่านหูผึ่ง แต่เมื่อถึงอธิบายกลเหล่านั้นแต่งเป็นกลอน ความก็เป็นอย่างพังเพยมัวมนไม่เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ต่อไปถึงกระบวนตั้งกองพยุหเสนา ก็เป็นแต่เขียนรูปภาพเช่นครุฑและนาคเป็นต้น ผะจงให้ตรงกับชื่อเป็นสำคัญ ไม่มีอธิบายเหตุให้เข้าใจแจ่มแจ้ง นอกจากนั้นก็เป็นตำราหมอดูเป็นพื้น ถึงว่าต้องหาตัวแม่ทัพที่ดวงชะตาข่มชะตาแม่ทัพทางข้าศึก ยังตำราพระหมอเถ้าหม่อมฉันได้มาจากพระครูสิทธิชัยอีกผูก ๑ ก็เป็นแต่ตำราร่ายมนต์ต่างๆ มีอธิบายบอกว่าถ้าร่ายมนต์บทนั้นจะมีฤทธิ์ทำได้อย่างนั้น ถึงอาจจะจับงาช้างเถื่อนได้ก็มี พิจารณาดูแล้วก็สิ้นศรัทธาเลยไม่ได้ให้พิมพ์จนบัดนี้ แต่ตำราขี่ช้างเล่มนี้เป็นตำราแต่งให้ใช้ได้จริงจึงน่าชม อีกอย่าง ๑ ที่ว่าด้วยลักษณะนุ่งผ้าก็ดี จึงคัดถวายทอดพระเนตรด้วย -

“อันว่ากลจะนุ่งผ้า ๙ ชั้น ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้น เป็นนพนั้น จะบอกไว้ในนี้จะมิเข้าใจ ต่อนุ่งให้ดูเห็นแล้วจึงจะเข้าใจ จะบอกไว้ก็แต่นุ่งผ้านี้มี ๔ อย่าง อย่าง ๑ ชื่อว่าบัวกลม อย่าง ๑ ชื่อว่าบ่อหัว อย่าง ๑ ชื่อว่าบัวจีบ อย่าง ๑ ชื่อว่าเกไล จะนุ่งอย่างไรก็ตามแต่จะรักนุ่งเถิดชั้นในนั้นทำเหมือนกันแล”

ว่าด้วยลักษณะเกี้ยวผ้า

อันว่ากลจะเกี้ยวผ้านั้นมี ๔ อย่าง อย่างหนึ่งชื่อว่ากระหวัดจำ อย่างหนึ่งชื่อว่าพันทหะนำ อย่างหนึ่งชื่อว่าดวงกะพัด อย่างหนึ่งชื่อว่าเกไล

พิจารณาดูได้ความรู้ว่า ที่เรียกว่า “นุ่งผ้า” กับ “เกี้ยวผ้า” นั้นต่างกัน ผ้าเกี้ยวดูเหมือนจะสำหรับพอกเข้าข้างนอกผ้านุ่ง หม่อมฉันยังจำได้ถึงงานสมโภชช่ช้างเผือกเมื่อรัชกาลที่ ๕ พวกกรมช้างวังหลวงแต่งเครื่องแบบทหารกรมช้าง แต่พวกกรมช้างทหารวังหน้าซึ่งมาสมทบ ล้วนใส่เสื้อเยียรบับนุ่งผ้าลายอูมพยูมอย่างเก่า เขาบอกว่านุ่ง ๒ ผืนซ้อนกัน

วินิจฉัยข้ออื่นในตำราขี่ช้างจะเอาไว้ทูลในจดหมายฉบับอื่นต่อไป

๓) หม่อมฉันได้รับบัตรของพระยาพหลฯ ลาบวชส่งมาทางไปรษณีย์มาถึงหม่อมฉันเมื่อตรงกับวันที่บวช จึงได้แต่มีจดหมายสั่งหญิงจงให้เอาผ้าไตรกับพุ่มเข้าวัสสาไปถวายที่วัดเบญจมบพิตร และให้ไปบอกโมทนาบุญแทนตัวหม่อมฉัน

ลายพระหัตถ์

๔) จนวันจันทร์ที่ ๑๔ เวลากลางวัน เขาจึงเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๘ กรกฎาคมมาส่งถึงมือหม่อมฉัน

สนองลายพระหัตถ์

๕) ตู้ต้นไม้เงินทองในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นั้น หม่อมฉันนึกจำได้ว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยม อย่างที่ทรงแนะประทานไป

๖) ที่มีเสาธงตามวังเจ้านายนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินเล่าทราบเรื่องมูลเหตุเป็นความขำอยู่ เมื่อแรกมีเสาชักธงขึ้นในรัชกาลที่ ๔ มีแต่ที่ในพระบรมมหาราชวังกับพระบวรราชวัง ๒ แห่งเท่านั้น และชักธงประจำพระองค์ด้วยกัน คนก็เข้าใจว่าเสาชักธงเป็นเครื่องหมายที่ประทับพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อฝรั่งตั้งกงสุลเข้ามาประจำในกรุงเทพฯ มาตั้งเสาชักธงขึ้นตามสถานกงสุลเหมือนอย่างที่เมืองจีน คนก็ตื่นลือกันว่าฝรั่งจะมาวางตัวให้เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ทูลกระหม่อมจึงทรงพระราชดำริระงับความตื่นด้วยพระบรมราโชบายดำรัสสั่งเจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ถึงชั้นพระยาพานทอง ให้ทำเสาชักธงช้างขึ้นตามวังและบ้าน ก็สามารถระงับความเข้าใจผิดได้ พวกทูตฝรั่งที่รู้เรื่องเมื่อภายหลังพากันชมพระปัญญาทูลกระหม่อมว่าทรงแก้ไขด้วยอุบายอันสุขุมดีมาก ที่บ้านเก่าของหม่อมฉันเมื่อรับมรดกคุณตาก็ยังมีเสาธงปรากฏอยู่

๗) ตราหน้าตู้พระบรมอัฐิพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ และตรงที่บรรจุพระบรมอัฐิทูลกระหม่อม ณ วัดราชประดิษฐ์ ก็ทำตามตำราเดียวกันอย่างที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอยู่หัว ๓ รัชกาลก่อนนั่นเอง

๘) นามเจ้าครองเมืองโซโลและเมืองยกยาในชวา เขามีระเบียบชอบกล เมืองโซโลเจ้าครองเมืองทรงนามว่า “ปักกุภูวโน” วังหน้าทรงนามว่า “มังกุนคโร” เมื่อยกยาเจ้าของเมืองทรงนามว่า “มังกุภูมิ” วังหน้าทรงนามว่า “ปักกุอะลำ” เหมือนกันหมดทุกองค์ เป็นแต่มีตัวเลขต่อนามว่า ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้นให้รู้ว่าองค์ไหน เอาคำ “ปักกุ” กับ “มังกุ” ใช้ไขว้กัน เมือง ๑ ใช้เป็นนามวังหลวง เมือง ๑ ใช้เป็นนามวังหน้า มูลที่จะมีวังหลวงกับวังหน้าในชวานั้น ตามเรื่องพงศาวดารว่า เมื่อสมัยเมืองชวาตกอยู่ในอำนาจอังกฤษ (ตรงกับรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) ที่เมืองยกยาเจ้านายแตกกันเป็น ๒ พวก รบพุ่งเอาชนะกันไม่ได้ อังกฤษจึงให้ครองเมืองทั้ง ๒ พวกด้วยแบ่งส่วยกัน ต่างพวกต่างสืบสันตติในวงศ์ของตนสืบมา วังหน้ามิได้เป็นรัชทายาทของวังหลวง จัดเช่นนั้นวังหน้าก็ต้องประจบฝรั่งอยู่เสมอ เมื่อพวกฮอลันดากลับได้เมืองชวาจึงเอาแบบไปจัดอย่างเดียวกันที่เมืองโซโล เลยเป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้

๙) ซึ่งทรงเห็นแปลกที่จางวางเจ้านายต่างกรมยศต่ำกว่าเจ้ากรมปลัดกรมและสมุห์บาญชีนั้น หม่อมฉันไม่เคยคิดค้นหามูลเหตุจนมาอ่านลายพระหัตถ์ แต่เมื่อคิดก็เห็นแจ่มแจ้งคงจะเป็นดังทูลต่อไปนี้ คือเมื่อเจ้านายยังทรงพระเยาว์มีจางวางคน ๑ พี่เลี้ยง ๒ คน ครั้นทรงพระเจริญเป็นผู้ใหญ่ได้รับกรมแล้ว ไม่ต้องมีพี่เลี้ยง จึงแปลงตำแหน่งพี่เลี้ยง ๒ คนนั้นเป็นจางวาง รวมเป็น ๓ คนด้วยกันกับจางวางเดิม สำหรับคุมพวกมหาดเล็กคน ๑ คุมพวกตำรวจคน ๑ คุมพวกฝีพายคน ๑ เจ้านายคงมี “ฐานานุกรม” ๓ คนเท่าเดิม เป็นแต่เปลี่ยนหน้าที่ให้เหมาะกับพระวัยวุฒิ คำว่า “ข้าหลวง” หมายว่าบุคคลที่พระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงด้วยพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นต้น จางวาง ๓ คนนั้นก็เป็นข้าหลวงเพราะได้รับเบี้ยหวัด แต่เป็นตำแหน่งซึ่งเจ้านายทรงเลือกหาตั้งแต่งเองสำหรับพระองค์จึงเรียกว่า “ข้าหลวงน้อย” ส่วนเจ้ากรมปลัดกรม และสมุห์บาญชีเป็นพนักงานบังคับควบคุมคนในกรม ๑ ของรัฐบาล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้เจ้านายพระองค์นั้นทรงบัญชาการ การตั้งเจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บาญชีเดิม พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งเหมือนกับกรมอื่นๆ ทั่วไป เพิ่งมาโปรดให้เจ้านาย “ทรงตั้ง” เจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บาญชีเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นแต่เดิมเจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บาญชีเป็น “ข้าหลวงใหญ่” จางวาง ๓ คนที่เจ้านายทรงตั้งเองเป็น “ข้าหลวงน้อย” ยศจึงต่ำกว่าเจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บาญชี ที่มาเรียกว่าข้าหลวงน้อยตั้งแต่เจ้ากรมลงมาจนจางวางนั้นเป็นด้วยเข้าใจผิด หม่อมฉันเห็นว่ามูลคงมีมาอย่างว่านี้

๑๐) ชื่อพระราชลัญจกร “หงสพิมาน” กับชื่อม้าระวางว่า “หงสพิมาน” ข้อข้องใจแก่หม่อมฉันอยู่ทั้ง ๒ ชื่อ ด้วยคิดหาเหตุเอา “หงส” เข้ากับ “พิมาน” ไม่ได้เหมือนเช่นครุฑก็มีที่อ้างว่าอยู่พิมานฉิมพลี แต่ไม่เคยได้ยินว่า “หงส” มีเกี่ยวข้องอันใดกับพิมานเลย เหตุไฉนจึงทำพระราชลัญจกรเป็นรูปหงสอยู่ในพิมานคิดไม่เห็นที่เอามาให้ชื่อม้าระวางว่า “หงสพิมาน” ยิ่งห่างหนักไปอีก จึงอัดอั้นตันปัญญา

ม้า หงสพิมาน (แดงคน) นั้น หม่อมฉันลืมสนิททีเดียว จนอ่านลายพระหัตถ์จึงกลับนึกได้และเกิดไมตรีจิตคิดถึงมัน หม่อมฉันไม่รู้เรื่องที่มันเคยทำฤทธิ์เอากรมพระนราธิป ความส่อว่าท่านคงทรงขี่อ่อนเต็มทีจนม้าแดงคนมันไส้จึงทำได้อย่างนั้น อ่านลายพระหัตถ์ตรัสเล่าถึงขี่ม้าแต่ครั้งเมืองกระนั้น ชวนให้หม่อมฉันคิดถึงความหลังตามที่จำได้ เกิดประหลาดใจว่าหม่อมฉันเคยตกม้าครั้งเดียวแต่เมื่อยังไว้ผมจุก เวลานั้นไปอยู่ที่วังกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ เวลาเช้าท่านทรงม้าเข้าวังทุกวัน อานฝรั่งก็มีแต่ที่กรมราชศักดิ์ฯ ทรงอานเดียว เขาให้หม่อมฉันขี่ม้าแกลบตัวหนึ่งผูกเครื่องเบาะหัวโตอย่างไทยไม่มีโกลน วันหนึ่งขี่มาถึงหน้าวัดสุทัศน์ม้าก็เดินมาดีๆ แต่รัดทึบหลวมอานพลัดตกลงไปใต้ท้องม้า เวลาหม่อมฉันเผลอตัวก็หลุดลงไปนอนหงายอยู่กลางถนน จำได้ว่าเคยตกม้าหนเดียวเท่านั้น เห็นจะเป็นบุญเพราะต่อมาได้ขี่ม้าเคยขาหรือม้าที่เขาคัดที่ดีให้ขี่มาเสมอ เช่นเวลาเมื่อเป็นราชองครักษ์ต้องขี่ม้าแซงรถพระที่นั่งก็ได้ขี่ม้าแดงคนมาตั้งแต่ก่อนขึ้นระวางเป็นม้าหงสพิมาน เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตำรวจภูธรเป็นกรมม้าของหม่อมนั้น เขามีม้าประจำกรมอยู่ทุกแห่ง ไปตรวจราชการทางไหนก็ได้ม้าดีขี่ทุกครั้ง ไม่เคยขี่ม้าโกงที่ท่านเคยทรง ลูกหญิงชายของหม่อมฉันเช่น หญิงจง หญิงพูน หญิงเหลือ และชายดิศก็ขี่ม้าเป็นมาแต่เด็กด้วยเคยไปหัวเมืองกับหม่อมฉัน ขอให้ตรัสถามชายดิศดูถึงเรื่องเธอขี่มาไปพบคนหัวขาดที่เมืองเพชรบุรีแต่เมื่อยังเด็กบางทีเธอจะยังจำได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ