วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

โคจรของลายพระหัตถ์เวรดูชอบกล มาถึงปีนังวันพฤหัสบดีทุกสัปดาหะ แต่สัปดาหะ ๑ มาถึงมือหม่อมฉันวันศุกร์ อีกสัปดาหะ ๑ มาส่งต่อวันจันทร์ ไขว่กันอย่างนี้มาสองสามสัปดาหะแล้ว ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๕ มาคราวเมล์นี้เป็นเวรมาถึงมือหม่อมฉันวันศุกร์ก็ได้รับในเวลาเที่ยงวันนั้น

ทูลเพิ่มจดหมายฉบับก่อน

๑) เพราะหม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรสัปดาหะก่อนต่อวันจันทร์ ไม่มีเวลาพอจะตริตรองถ้วนถี่ ทูลอธิบายเรื่องเจ้ากรมปลัดกรมเจ้านายพลาดไป ๒ อย่าง เมื่อส่งจดหมายไปแล้วมาคิดไล่เบี้ยดูตามฐานานุกรมที่หม่อมฉันเคยมี จึงเห็นผิดกับที่ทูลไป ที่ถูกเป็นดังนี้คือ เมื่อยังเป็นพระองค์เจ้ามีฐานานุกรมรับเบี้ยหวัดพี่เลี้ยง ๒ คน จางวาง ๑ คน สมุห์บาญชี ๑ คน รวม ๔ คนด้วยกัน ครั้นเป็นกรมมีฐานานุกรมรับเบี้ยหวัด เจ้ากรมคน ๑ ปลัดกรมคน ๑ สมุห์บาญชีคน ๑ จางวาง ๓ คน สารวัตรคน ๑ รวม ๗ คนด้วยกัน คือเจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี เป็นฐานานุกรมเพิ่มขึ้นสำหรับ “กรม” ๓ คน ส่วนฐานานุกรมสำหรับส่วนตัวก็มีอยู่แต่เดิม ๔ คนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อพี่เลี้ยงเป็นจางวางเปลี่ยนชื่อสมุห์บาญชีเป็นสารวัด คงจำนวน ๔ คนเท่าแต่เดิม ที่ทูลไปว่าเรียกข้าหลวงน้อยตั้งแต่เจ้ากรมลงมาหมดเป็นเพราะเข้าใจผิดนั้น หม่อมฉันก็พลาดไป เดิมเจ้ากรม ปลัดกรมสมุห์บาญชีเป็นข้าหลวงใหญ่จริง แต่เมื่อโปรดให้เจ้านายทรงเลือกและตั้งเองก็ต้องตกเป็นข้าหลวงน้อยอยู่เอง

สนองลายพระหัตถ์

๒) ข้อที่พูดกันมาถึงแบบพระครองผ้า กับมูลของคำว่า “วัด” ควรงดเสียทีเพราะหายุติไม่ได้ จะเริ่มทูลแต่ข้อคนเป็นใบ้ เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งแรก เขาพาไปดูโรงเรียนสอนคนใบ้ที่เมืองปารีสแห่ง ๑ ไปถึงเห็นเด็กนักเรียนยืนเข้าแถวคอยรับอยู่ พอลงจากรถมีนักเรียนคน ๑ เข้ามาอ่านคำต้อนรับเป็นภาษาฝรั่งเศส หม่อมฉันฉงนจนออกปากถามเขาว่า เด็กคนนั้นเป็นใบ้หรือ เขาจึงบอกอธิบายให้เข้าใจว่าเป็นใบ้นั้น มิใช่เป็นเพราะพูดไม่ได้ ที่จริงเป็นเพราะหูหนวกมาแต่กำเนิด ไม่เคยได้ยินเสียงอะไรที่จะพูดเลียนก็เลยไม่รู้จักพูด ครั้นไม่พูดมานานลำคอทางสำหรับเสียงออกก็เลยตีบ วิธีที่เขาหัดให้ใบ้พูดนั้นเริ่มแรกให้ระบายลมขยายช่องคอให้กว้างก่อน ครูระบายลมให้เด็กเอามืออังที่ปากครูรู้สึกถูกลมแล้ว เขาสอนให้เด็กเลียนระบายลมเหมือนอย่างนั้นบ้างเสมอไป ครั้นสังเกตเห็นว่าช่องคอค่อยกว้างแล้ว ครูก็เริ่มระบายให้มีเสียงออกมาด้วย ให้เด็กสังเกตทั้งลมที่ออกจากปากและลำคอครู เมื่อออกเสียงเช่นนั้นแล้วให้เลียนให้เหมือน หัดจนเด็กรู้จักสังเกตและส่งเสียงได้เหมือนครูเป็นลำดับขึ้นไปจนสามารถพูดได้และอ่านเขียนหนังสือได้เหมือนคนดี ยังคงแต่เป็นคนหูหนวกเท่านั้น

๓) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) นั้น มีเรื่องประวัติอยู่ในหนังสือ “เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่” ว่าเป็นบุตรจีนแซ่อึง บิดามารดาไปค้าเรือทางทะเล ถูกสลัดฆ่าตายเป็นกำพร้ามาแต่อายุยังไม่ถึง ๒ ขวบ ป้าเลี้ยงไว้จน ๗ ขวบพาไปฝากเรียนในสำนักพระอาจารย์สิงห์ ณ วัดปทุมคงคา จึงเป็นลูกศิษย์อยู่ในวัดนั้น แล้วบวชเป็นสามเณรจนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่วัดปทุมคงคา ๓ วัสสา ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค แล้วจึงไปถวายตัวเป็นศิษย์ทูลกระหม่อม และบวชแปลงเป็นพระธรรมยุติกาได้นามฉายาว่า อ โนมสิริ อยู่วัดบวรนิเวศต่อมา เข้าแปลหนังสือได้เป็นเปรียญ ๘ ประโยค แล้วไม่แปลต่อไปอีก ในรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมตรัสว่าความรู้ของท่านถึงภูมิประโยค ๙ เมื่อจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะโปรดให้นับว่าเป็นเปรียญ ๙ ประโยค เมื่อยังอยู่วัดบวรนิเวศนั้น ทูลกระหม่อมทรงตั้งเป็นฐานานุกรมในพระองค์ เป็นที่พระครูอโนมสาวัณคู่สวดคู่กันกับพระครูอนันตประกาศ ครั้นเสด็จเสวยราชย์ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะฤกษ์องค์ ๑ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เดิมเป็นที่พระวรญาณมุนี แล้วทรงเปลี่ยนนามเป็นพระอโนมุนี โปรดให้ไปครองวัดปทุมคงคาตั้งแต่แรกเป็นพระราชาคณะ เพราะเป็นถิ่นเดิมของท่าน แต่คงตรัสห้ามมิให้ไปคิดแปลงวัดปทุมคงคาเป็นวัดธรรมยุติ ด้วยทรงเกรงใจพระสงฆ์มหานิกาย ท่านจึงไปอยู่แต่พระองค์เดียว แม้พระฐานานุกรมก็เป็นมหานิกายทั้งนั้น ท่านไปทำอุโบสถสังฆกรรมที่วัดสัมพันธวงศ์เป็นนิจ

๔) ชื่อที่เรียกว่าพระธรรมยุตินั้น หม่อมฉันเห็นที่ใช้เก่าก่อนเพื่อนมีอยู่ในสมณสาส์น ทูลกระหม่อมประทานไปเมืองลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ แต่ยังทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษามคธว่า “ธมฺมยุตฺติกนิกาย” สันนิษฐานว่าจะทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ คำที่เรียกพระมหานิกายเดิมว่า “มหานิกาย” ก็คงมีขึ้นในครั้งนั้น ตามเบบเดิมอันเคยมีมาแต่ครั้งทำทุติยสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ พระสงฆ์พวกที่ทำสังคายนาใช้นามว่า “เถรวาท” เรียกพวกอื่นที่ไม่ทำสังคายนาด้วยว่า “มหาสังฆิก” ดังนี้

๕) จะเลยทูลต่อไปถึงเรื่องพระคณะปรกบวชนาคหลวง แต่เดิมแม้เมื่อมีพระธรรมยุติ ในรัชกาลที่ ๔ คณะปรกบวชนาคหลวงก็รวมพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย แรกปรากฏว่ามีแต่พระธรรมยุติเป็นคณะปรกเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผนวชเป็นสามเณรใน พ.ศ. ๒๔๐๙ และมีต่อมาอีกครั้ง ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงผนวชพระเจ้าลูกเธอ ตั้งแต่กรมพระนเรศฯ ลงมาจนกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ เป็นสามเณร ใน ๒ ครั้งนั้นการบวชนาคหลวงแบ่งเป็น ๒ วัน วันแรกทรงผนวชพระเจ้าลูกเธอ วันที่ ๒ บวชนาคหลวงอื่นคณะปรกรวมพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายอย่างเดิม กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ทรงเป็นอุปัชฌาย์ทั้ง ๒ วัน ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็คงเป็นอย่างนั้น วันแรกทรงผนวชพระเจ้าลูกเธอ พระคณะปรกเป็นพระธรรมยุติล้วน วันที่ ๒ บวชนาคหลวงอื่นทั้งที่จะบวชเป็นธรรมยุติหรือมหานิกาย คณะปรกพระรวมกันทั้ง ๒ นิกาย และกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ทั้ง ๒ วัน เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณะ ท่านทูลขอพระองค์ไม่เป็นอุปัชฌาย์บวชพระมหานิกาย แต่นั้นพระคณะปรกบวชนาคหลวงจึงแยกกันตามนิกาย ไม่รวมกันเหมือนแต่ก่อน

การบวชของพระยาพหลฯ หม่อมฉันได้เห็นรูปฉายในหนังสือพิมพ์มีรูปสมเด็จพระสังฆราชเป็นอุปัชฌาย์ รูปสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ให้ศีล และรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์บอกอนุสาส์น และได้ยินว่าสมเด็จพระวันรัตน์กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นคู่สวดแต่หามีรูปไม่ พระคณะปรกรวมกันทั้ง ๒ นิกายก็คือกลับใช้แบบเดิม อย่างว่า “ถอยหลังเข้าคลอง” นั่นเอง หาใช่เป็นประเพณีเกิดขึ้นใหม่ไม่ ถึงที่ได้ยินว่าพระสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ จะมีทั้งธรรมยุติและมหานิกายก็กลับไปเข้าอย่างเดิมเหมือนกัน วัดราชาธิวาสเมื่อทูลกระหม่อมเสด็จอยู่ก็มีทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุติอยู่ในวัดนั้น จนย้ายพระธรรมยุติมาอยู่วัดโสมนัสวัดราชาธิวาสจึงมีแต่พระมหานิกาย วัดพิชัยญาติและวัดเครือวัลย์ก็มีพระทั้งธรรมยุติและมหานิกายมานาน

๖) หม่อมฉันหลับตาแลตามที่ทรงพรรณนาวัดพระศรีมหาธาตุประกอบกับได้เห็นรูปฉายในหนังสือพิมพ์บ้าง ดูก็ไม่มีอะไรแปลกประหลาด พระเจดีย์ก็ไม่เห็นมีที่ติเพราะเป็นรูปทรงคิดใหม่ ไม่มีองค์อื่นเปรียบ

จะเลยทูลปรารภนอกเรื่องไม่เกี่ยวกับวัดพระศรีมหาธาตุ ถึงการเขียนฝาผนังวัดและวังดูมีหลักโบราณต่างกัน การเขียนในวัดเพื่อจะจูงใจคนให้เจริญความเลื่อมใสในพระศาสนา ย่อมเขียนเรื่องเนื่องด้วยพุทธประวัติหรือว่าอีกอย่าง ๑ ว่าการเขียนฝาผนังโบสถ์วิหารเป็นส่วนหนึ่งในเจตนาที่สร้างวัด วัดจึงมีภาพเขียนฝาผนังโดยมากไม่เลือกว่าวัดหลวงหรือวัดราษฎร อย่างว่าถ้าพอสามารถจะเขียนได้เป็นต้องเขียน ส่วนการเขียนฝาเรือนนั้นเขียนแทนผ้าม่าน ดังเช่นฝาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ และมหาปราสาทเมืองพม่าก็ฝาเป็นลายทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่เอาลายม่านไปเขียนฝาผนังวัดและเอาลายรูปภาพเรื่องมาเขียนฝาผนังพระราชมนเทียรดูผิดหลักเดิม เป็นของคิดขึ้นต่อภายหลัง ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๗) ซึ่งทรงสังเกตว่า วัดพระเชตุพนมีการปฏิสังขรณ์ไปต่างหากส่วน ๑ แต่ปล่อยให้ชำรุดปรักหักพังไปส่วน ๑ นั้น เป็นความจริงซึ่งหม่อมฉันก็เคยรำคาญมาแต่ก่อน เห็นว่ามิใช่เป็นเพราะวัดใหญ่เกินรักษา ที่จริงเป็นเพราะไม่รักษาในทางที่ถูกเท่านั้น หม่อมฉันถึงได้เคยคิดให้กระทรวงธรรมการจัดการรักษาคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑสถาน อันจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการรักษาบ้าง แต่จะลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการปฏิสังขรณ์ได้มาก ทั้งวัดก็จะสะอาดสะอ้านน่าชมอยู่เสมอ แต่หม่อมฉันไม่สามารถจะทำให้เลื่อมใสในวิธีนั้นได้ก็จนใจ

เรื่องทางปีนัง

๘) เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม หม่อมฉันพร้อมกันกับญาติมิตรได้ทำบุญปัญญาสมวารอุทิศกุศลสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเหมือนอย่างครั้งสัตมวาร ขอถวายพระกุศลแก่ท่านด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ