วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๖ เมษายน เมื่อวันจันทร์ เดือนเมษายน วันที่ ๑๔ มีรอยปะปิดสองด้าน จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องพระพุทธบาท ฟังพระดำรัสอธิบายสรุปความได้ดั่งนี้

ก–พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นครั้งพระเจ้าอโศกราชก่อนนั้นมืด

ข–พระพุทธบาทนั้นแทนองค์พระ ไม่ใช่รอยเหยียบ

ค–พระพุทธบาท กับ วิษณุบาท คืออันเดียวกัน เป็นพุทธบาทก่อน แล้วเป็นวิษณุบาททีหลัง โดยเหตุที่พราหมณ์รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระวิษณุ

(ถ้าถือเอาแนวนี้ การที่พราหมณ์ลากเอาพระพุทธศาสนาเข้าจูงศาสนาพราหมณ์ ต้องเป็นภายหลังครั้งพระเจ้าอโศกราช)

๒) เรื่องมณฑปพระพุทธบาท สระบุรี

ก–รับรองได้ว่าแต่ก่อนนี้ทำอะไรย่อมทำด้วยไม้ การก่อเป็นของมาทีหลัง เอาอย่างต่างประเทศ ตามที่ทรงพระดำริว่ามณฑปพระพุทธบาท ครั้งแรกทำด้วยไม้นั้นควรอย่างยิ่ง

ข–ที่ว่าทำหลังคาเป็น ๕ ยอดนั้น จะเป็นยอดอย่างไรก็ไม่มีความปรากฏที่ไหน ถ้าเป็น ๕ ยอดใหญ่ก็หนักจริง จะอุดผนังรับความหนักก็ควร แต่ถ้าเป็นยอดเล็ก (อย่างตู้มุกในพระมณฑปที่วัดพระแก้ว) ก็ไม่หนักอะไร อุดโค้งเพราะไม่ชอบโปร่งก็ได้

ค–ผนังมณฑปประดับกระจกเงาแผ่นใหญ่ ทรงสันนิษฐานว่ารื้อเอามาจากพระที่นั่งธัญมหาปราสาทนั้นเหมาะเต็มที พระที่นั่งองค์นั้นฝาประดับกระจกเงาก็มีคำฝรั่งเขาว่า แต่รูปพระนารายณ์เสด็จออกซึ่งมีเศวตฉัตรปักขวางสีหบัญชรนั้น ดูฝาไม่เป็นที่ประดับกระจกเงาติดต่อกัน ถ้าจะทำก็เห็นจะเป็นภาพหลังครั้งนั้น

ฆ–ในการที่เอาทองบางสะพานไปบูรณะมณฑปพระพุทธบาทนั้นไม่มีที่สงสัย ไปสงสัยเอาที่ร่อนได้ในท้องคลองบางสะพาน กลัวจะเป็นน้ำพัดพามา หาใช่ที่เกิดแท้ไม่ ถ้าจะเอาจริงเอาจังกันก็ได้ แต่จะตรวจให้รู้แน่

๓) ธรรมเจดีย์ไม่มีข้อเถียงอะไรกัน เกล้ากระหม่อมคิดว่าคือจารึกธรรม ฝ่าพระบาทก็ทรงพระดำริลงกัน ซ้ำได้เคยทรงกระทำมาแล้วด้วย ก้อนหินฉลักธรรม “ยถาปิเสลา” ที่วัดนิเวศน์นั้นดีเต็มที

ข่าว

๔) เมื่อวันที่ ๑๗ ที่ล่วงมานี้ได้ไปเผาศพพระยา “ประชาชีพเป็นกองซ่อน” (แย้ม แสงชูโต) ที่วัดไตรมิตร (อันเป็น “แฟแช่น” ในขณะนี้) ได้พบอยู่เมื่อเร็วๆ นี้เอง ถามเฉียบหลานชายว่าตายมาได้สัก ๔๐ วันเข้านี่ เขาแจกหนังสือ “ประชุมสุภาษิตสุนทรภู่” คัดมาจากหนังสือเก่าๆ ซึ่งฝ่าพระบาทเคยทรงแล้วทั้งนั้น เช่นสวัสดิรักษาเป็นต้น ทั้งสุภาษิตในนิราศต่างๆ ซึ่งเข้าใจว่าฝ่าพระบาททรงคัดออกก็มีด้วย เห็นว่าทรงทราบแล้วทั้งนั้น จึ่งไม่ตั้งใจที่จะส่งมาถวาย

บรรเลง

๕) ขี่รถไปไหนๆ ก็ไปเห็นเรือนชาวบ้านสมัยใหม่ ไม่ว่าหลังเล็กหลังใหญ่ก็มีรูปเหมือนกันทั้งนั้น คือต้องมีมุข ดูประหนึ่งว่าถ้าไม่มีมุขก็จะไม่เป็นเรือน หลังใหญ่นั้นดูไม่ขัดตา แต่หลังเล็กดูขวางตามาก ที่เป็นดังนั้นไม่ใช่ความคิดของเจ้าของเรือน เป็นความผิดของเจ๊กผู้รับจ้างทำเรือน แปลว่าทำไปตามเคย ได้คิดเห็นเหมือนกัน ว่าเรือนหลังเล็กหลังใหญ่นั้นเป็นไปด้วยเงิน ได้ลองคิดว่าเรือนเล็กจะทำรูปเป็นอย่างไรดีจึ่งจะไม่ขัดตา ก็เห็นว่าไม่มีทางอื่นที่จะดีไปกว่าทำอย่างเป็นหอคอย จะทำต่ำหรือสูงสักกี่ชั้นก็ย่อมได้ จะไม่มีขัดตาเลย

๖) เห็นหมอนที่วังปักเป็นรูปภาพจับ เป็นนิมิตทำให้คิดถึงหนังอาจารย์ใจ (พระพรหมพิจิตร) แกเขียนอย่างทำโขนละครจับกันห่างๆ เท่านั้นเอง กรมหมื่นวรวัฒน์ชมว่าดี ที่เขียนเป็นสานเสื่อนั้นก็เป็นได้แต่รูปเขียน จะเอาคนจริงๆ ทำก็ทำไปหาได้ไม่ เกล้ากระหม่อมเห็นจริงและเห็นชอบด้วยทั้งผู้พูดและผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง

พระพรหมพิจิตร (ใจ) เห็นความคิดจะมาเชี่ยวขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เป็นคนเกิดในรัชกาลที่ ๓ จริงอยู่ แต่พี่ชาย คือเจ้ากรมอ่อน (หลวงพรหมปกาษิต) เขาเก่งกว่า ได้เขียนบานมุกที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนดีมาก ทั้งได้เห็นเขียนอะไรอื่นอีกมาก ด้วยพนักจำหลักศิลาที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพน เขาว่าฝีมืออาจารย์ใจให้อย่าง ดูก็กระนั้นเอง ดีดอก แต่ไม่ใช่ดีล้ำเลิศ เห็นจะยังอ่อน มีคนที่ไม่ใช่ช่างเขียนเข้าใจว่าช่างเขียนนั้นดีเพราะฝีมือเขียนดี แต่เปล่าเลย เป็นด้วยความคิดจำเริญขึ้นต่างหาก จะเปรียบถวายก็ได้ เช่นช่างเขียนฝีมือดีเขียนงูตัวหนึ่ง มีอะไรเหมือนงูหมดทุกอย่าง เว้นแต่เป็นดุจงูตายเขาตีมาทิ้งไว้ คนที่มีปัญญาแม้จะเขียนด้วยถ่านไฟก็เป็นงูเป็นๆ เห็นดุจเป็นว่าจะเลื้อยไปได้ฉะนั้น เขียนละเอียดแพ้หยาบเสียหลุดลุ่ย

ช่างเขียนที่ดีในรัชกาลที่ ๓ มีอีกคนหนึ่งเรียกกันว่าครูทองอยู่ มีฝีมือเขียนอะไรไว้มาก เช่นห้องพระเตมีย์ในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามเป็นต้น ที่นั่นมีห้องมโหสถอยู่เคียงกัน เห็นได้ว่าตั้งใจจะเขียนประมูล เขาพูดกันว่าฝีมือคงแป๊ะ เขาว่าเป็นพระ แต่ไม่เห็นฝีมือมีที่ไหนอีก เห็นจะตาย ครูทองอยู่คงแก่กว่าเจ้ากรมอ่อนมาก

๗) พูดถึงช่างเขียนดี ได้เคยหลงพระอาจารย์นาคซึ่งเขียนมารประจนในวิหารทิศวัดพระเชตุพนเป็นต้น เขาว่าท่านอยู่วัดทองเพลงในคลองบางกอกน้อย จึ่งไว้ไปที่วัดท่านเพื่อจะดูฝีมือท่าน ตกท้องร่องท้องคูป่นปี้เพราะบุกไปในสวน ที่จริงเขลา วัดที่ท่านอยู่จะมีฝีมือท่านอย่างไรได้ แต่ก็ไม่เสียหลายที่โบสถ์วัดนั้นมีเขียนเรื่องพระเจ้าสิบชาติเก่าแก่เต็มที มีรูปที่เขียนแปลกอยู่ก็ในเรื่องนารท ที่ไหนๆ ก็เขียนพระพรหมนารทเหาะขึ้นอย่างเหาะ แต่ที่นั้นเขียนขัดสมาธิเฉยๆ ไม่เขียนตีนอย่างเหาะ กรมหมื่นวรวัฒน์ชมว่าดี เป็นเหาะไปด้วยอำนาจนั่งสมาธิฌาน แต่เมื่อมาเขียนรูปแจกปีใหม่มาเขียนเสียปางหลังนั้นลงมา เพราะจะเขียนเมื่อเหาะก็เป็นรูปองค์เดียว “โหวงเหวง”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ