วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน โดยเรียบร้อยตามเคย

สนองลายพระหัตถ์

๑) พระยาธรรมศาสตร์ (จุ้ย) นั้น เป็นลูกพระยาอนุชิตชาญชัย (ผึ้ง สุวรรณทัต) กับคุณหญิงเกสร มีพี่น้องหลายคน ที่หม่อมฉันรู้จักคือ เจ้าจอมจำเริญ เจ้าจอมลม้าย รัชกาลที่ ๕ พระยาพิพิธโภคัยสวรรย์ (ชม) คุณหญิงเชย ภรรยาพระยาอนุชิตชาญชัย (สาย สิงหเสนี) และนายโชติดูเหมือนเป็นหลวงอะไรไม่ทราบแน่ พวกนี้ดูเหมือนตายหมดแล้ว ถ้าเหลืออยู่ก็มีแต่เจ้าจอมลม้าย ซึ่งยังเป็นครูละครหลวงอยู่จนเร็วๆ นี้ พระยาธรรมศาสตร์ฯ ก็เงียบชื่อหายไปจนหม่อมฉันนึกว่าตายไปเสียนานแล้ว คุณหญิงชุ่ม ธรรมศาสตร์ ฯ นั้น เป็นธิดาขุนศรีธรรมราช จ่าศาลซึ่งเป็นบุตรพระมหาราชครูปุโรหิตกับท่านน้อย เปาโรหิต มีน้อง ๒ คนคือ เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ) ผู้ได้สกุลเปาโรหิต คน ๑ แช่มเมียจุลดิศเป็นน้องคนเล็ก คุณหญิงชุ่มจึงให้ดุษฎีดิศหลานป้าพามาเฝ้า ที่เขามาเชิญเสด็จท่านก็คงหวังจะให้เจ้านายทรงรดน้ำของหลวงพระราชทานด้วยเคารพนับถือพระราชวงศ์ ซึ่งท่านทรงพระอุตสาหะเสด็จไปตามประสงค์เป็นอันได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลอันสมควรอย่าง ๑ หม่อมฉันถวายอนุโมทนาด้วย.

๒) คำว่า “สีหะ” หรือ “สิงห์” ต้องเป็นคำเติมดังทรงพระดำริ เป็นนามศัพท์สำหรับเรียกสัตว์อย่าง ๑ คือ Lion คำว่า “ราชสีห์” และ “สีหะราช” เป็นคำประกอบขึ้นเมื่อภายหลัง หม่อมฉันก็เห็นว่าน่าจะหมายความต่างกัน “ราชสีห์” อาจจะตั้งใจหมายความว่าสีหะตัวที่เป็นนายฝูง คำว่า “สีหราช” ก็อาจจะใช้เป็นคำเชิดเกียรติพระราชา หรือกลับกันคำ “ราชสีห์” เรียกเชิดเกียรติพระราชา รูปเดียวกับเรียก “พระชินสีห์” คำ “สีหราช” เรียก Lion ตัวที่เป็นนายฝูง แต่ชื่อสัตว์หิมพานต์ที่เอาลงเป็นตำรานั้น เลอะทั้งนั้น

๓) หม่อมฉันหลงไปจริง คนที่กรมหลวงประจักษ์ ฯ ตรัสว่าหน้าเหมือนสิงโตกลางคืนนั้นที่ถูกคือ มองซิเออ ลอยู กงสุลฝรั่งเศส มองซิเออ ฮาดุวิน นั้นท่านตรัสว่า “หน้าเหมือนลูกตาลเชื่อม” ต่างหาก ยังมีอีกเรื่อง ๑ เมื่อกรมหลวงประจักษ์ ฯ เสด็จอยู่ที่เมืองอุดรธานี วันหนึ่งมีโทรเลขมาถึงหม่อมฉันว่า “ฝรั่งเหมือนขวดเหล้าอ๊อกมาถึงแล้ว” เจ้าหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทยจนปัญญาไม่รู้จักว่าใคร มีแต่หม่อมฉันนึกได้ว่าท่านหมายว่า มิสเตอร์ แบล๊ก ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม ด้วยรูปร่างผอมสูงหัวไหล่ลดแปลกกับคนอื่น คล้ายกับรูปขวดเหล้าอ๊อกจริงดังท่านทรงสังเกต

๔) สิ่งซึ่งเรียกกันว่า “โทน” กับ “ทับ” มีแต่โบราณทั้ง ๒ อย่าง และเราได้แบบมาจากอินเดียนั้นเป็นแน่ หม่อมฉันได้เคยค้นและเขียนไว้ในสมุดเรื่องดนตรี ดูเหมือนมีฉบับอยู่ที่นี่แต่ยังค้นไม่ได้ ทูลตามที่จำได้ “โทน” นั้นตามภาษาชาวอินเดียสะกดตัว ล รูปร่างได้แก่สองหน้า “ทับ” นั้นได้แก่ที่เราเรียกกันว่า “โทน” เช่นพวกโนราใช้เพลงละครร้องบทตรงทรงเครื่องและชมพาหนะก็บอกว่าร้อง “โทน” เห็นจะหมายว่าร้องเข้ากับสองหน้า “ตะโพน” น่าจะเป็นของประดิษฐ์ขึ้นภายหลังโดยแก้ไขมาจาก “โทล” แบบอินเดียดอกกระมัง ชื่อที่เรียกว่า “ตะโพน” ดูก็ไม่ห่างไกลกับ “โทล” นัก พวกฮินดูเล่นละครก็ยังใช้ “โทล” อย่างสองหน้าของไทยเป็นหลักอยู่อย่างเราใช้ตะโพนในปี่พาทย์ ถ้าจะเดาว่า โทนสำหรับตีเข้ากับร้องทับสำหรับตีเข้ากับรำ ตะโพนสำหรับใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง จะไปได้หรือไม่ขอให้ทรงพระดำริดูเถิด

๕) หม่อมฉันเพิ่งนึกขึ้นว่า ก่องนมนั้นที่แท้เป็นของจำเป็นแก่ผู้หญิง และเป็นของมีทุกชาติทุกภาษา เห็นได้ว่ามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะธรรมดาของผู้หญิงเวลาสาวนมเต่งตั้งเต้าเห็นกันว่าเป็นของงามแต่โบราณจึงไม่ปกปิด แต่เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้นนมย้อยห้อยยานลงมามักกวัดไกวกีดในเวลาทำงานการ จำต้องคิดทำเครื่องหุ้มห่อรัดนมไว้มิให้กวัดแกว่ง จึงเกิดมีก่องนมขึ้น ทำกันต่างๆตามสะดวกแก่มนุษย์ต่างจำพวก เช่นพวกอินเดียทำเป็นเสื้อสั้น ฝรั่งทำเป็นสะเต ไทยเราในสมัยเมื่อผู้หญิงยังใช้ผ้าห่ม เวลาจะทำงานก็มักปลดผ้าห่มจาก “สไบเฉวียง” (สมเด็จพระมหาสมณะท่านเรียกอย่างนี้) ลงเป็นคาดนม ถ้าทำงานหนักเช่นตำข้าวก็ถึงผูกเป็นตะเบ็งมาน ที่จริงก็ล้วนก่องนมแต่ละอย่างๆทั้งนั้น ที่คิดประดิษฐ์ทำก่องนมเพื่อความสวยงามเป็นของคิดขึ้นใหม่ทั้งนั้น

๖) ที่ว่ากรมหลวงราชบุรีชอบเสด็จไปไหนแต่งานไม่แต่งเต็มยศ และกรมหมื่นไชยา ฯ ชอบเสด็จไปแต่งานแต่งเต็มยศนั้น หม่อมฉันไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน ช่างสังเกตดี

๗) หญิงเภานั้นเป็นลูกคนใหญ่ของหม่อมเจิม คุณย่าท่านเรียกอย่างนั้น คนอื่นก็เรียกตาม บางทีหม่อมเจิมเขาจะรู้เหตุ แต่หม่อมฉันไม่ทราบ พิเคราะห์ดูน่าจะเอามาแต่ชื่อนางตะเภาทอง เพราะเมื่อหม่อมเจิมมีลูกหญิงคนที่ ๒ ท่านเรียกว่า ตะเภาแก้ว จึงเรียกกันว่า “หญิงแก้ว” จนบัดนี้

๘) พระเจดีย์ทอง ๔ องค์ที่วัดราชบพิธนั้น ชื่อ สุนันทาอนุสาวรีย์ (ดูเหมือนจะไม่ได้เข้าสนธิเป็นสุนันทานุสาวรี) องค์ ๑ รังษีวัฒนาองค์ ๑ เสาวภาประดิษฐานองค์ ๑ สุขุมาลนฤมิตรองค์ ๑ หม่อมฉันเลยนึกว่าถ้าท่านตรัสแนะนำแก่พระธรรมปาโมกข์ให้ทำศิลาจารึกชื่อติดไว้ที่พระเจดีย์ ๔ องค์นั้นเห็นจะดี หาไม่ต่อไปชื่อก็อาจจะสูญเสีย แต่ก่อนคงเคยลำบากกันด้วยเรื่องชื่อหายอย่างนี้แล้ว ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้จารึกชื่อติดไว้ที่วัตถุสถานต่างๆ ดังเช่นพระพุทธรูปสำคัญที่วัดพระเชตุพนและวัดอื่น ที่พระราชมนเทียรวังหน้าก็ให้จารึกชื่อติดไว้ทุกองค์ ที่พระที่นั่งบนเขามไหสวรรย์เมืองเพชรบุรีก็เช่นนั้น แม้ตามประตูพระนครก็โปรดให้จารึกชื่อติดไว้ หม่อมฉันเคยเห็นที่ประตูถนนเจริญกรุงริมบ้านเก่าของหม่อมฉัน เมื่อก่อนรื้อทำเป็นประตูยอดอย่างเทศมีศิลาจารึกเช่นนั้น แต่ไม่ได้เอาใจใส่อ่านให้รู้ว่าชื่อไร คนเรียกกันแต่ว่า “ประตูใหม่” ตามเรียกถนนเจริญกรุงว่า ถนนใหม่ ครั้นอยากจะรู้เมื่อภายหลังให้ไปตรวจดูจึงรู้ว่าศิลาจารึกชื่อตามประตูพระนครสูญหายไปเสียหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ยังรู้กันแต่ชื่อประตูพฤฒิบาศ กับ ประตูสำราญราษฎร์ ๒ ประตูเท่านั้น

๙) พระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นรูปฉายนายฟิโรจีเขาให้มา และอวดมาด้วยว่าคราวนี้หล่อได้เองในเมืองไทย หม่อมฉันพิจารณาดูก็เห็นฝีมือปั้นพระรูปดีอยู่

๑๐) คำว่า “บริเวณ ” นั้น หม่อมฉันได้เคยใช้ในทางราชการครั้ง ๑ ด้วยกำหนดแบ่งอาณาเขตการปกครองเดิมมี มณฑล เมือง อำเภอ ตำบล มณฑลพายัพใหญ่โต เมื่อทางคมนาคมลำบาก ต้องจัดการปกครองทางเมืองเชียงรายและเชียงแสน กับทางเมืองน่านแยกออกเป็นส่วนต่างหาก มีหลายเมืองรวมกัน แต่อยู่ในมณฑลอันเดียวกัน หม่อมฉันให้เรียกชื่อส่วนเช่นนั้นว่า “บริเวณ” ทีหลังมาได้ความรู้จากผู้รู้ จะเป็นสมเด็จพระมหาสมณะหรือกรมพระสมมตก็จำไม่ได้ ว่าคำบริเวณนั้นหมายว่าเป็นที่มีเครื่องล้อมเช่นวัดหรือบ้าน หม่อมฉันก็เลิกมิได้ใช้เรียกว่าบริเวณ คำที่เอามาใช้ผิดกับศัพท์เห็นจะยังมีคำอื่นอีกมาก

๑๑) เมื่อหม่อมฉันร่างจดหมายเวรฉบับก่อนแล้ว ได้นึกว่าขาดอะไรที่ได้จำนงจะทูลอยู่เรื่อง ๑ แต่คิดไม่ออกก็ปล่อยไป ต่ออ่านลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้จึงนึกขึ้นได้ว่าจะทูลเรื่องสมุดเลโคลฟรังเซ ซึ่งฝากหญิงจงไปถวายทอดพระเนตร ด้วยในสมุดเล่มนี้มีรูปภาพ “สระนาคพัน” ที่เขาบูรณะปฏิสังขรณ์สำเร็จ เมื่อเราไปดูปรางค์กลางสระยังหักพังด้วยมีต้นไม้ใหญ่ต้น ๑ ขึ้นครอบปรางค์มาเก่าแก่ไม่มีใครกล้าตัด ศาสตราจารย์เซเดส์เคยมีจดหมายบอกหม่อมฉันมาครั้งหนึ่งว่า ต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นผุหักลง เขาเห็นสิ้นคนกลัวแล้วก็เลยให้ตัดต้นและขุดเอารากที่ยังเหลืออยู่ออกหมด แล้วเก็บหินที่กระจัดกระจายกลับก่อปรางค์ให้คืนดีอย่างเดิม ดังรูปที่ฉายให้เห็นในสมุดเล่มนั้น ทำดีอยู่ แต่ประหลาดที่มาเห็นลวดลายปรางค์แสดงว่าทำเป็นพุทธสถานมิใช่เทวสถาน รูปคนขี่ม้าเหาะออกจากเกาะที่สร้างปรางค์ก็คือรูปพระมหาสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์นั่นเอง แต่เอาไปเข้ากับคติศาสนาพราหมณ์ที่ว่ามีเขาไกรลาสและสระอโนดาต อันน้ำไหลออกจากปากสัตว์ทั้ง ๕ (เปลี่ยนแต่โคเป็นคน) นอกจากรูปภาพสถานนาคพันในสมุดเล่มนั้น ยังมีรูปภาพแห่งอื่นที่แปลกตาอีกหลายแห่ง หม่อมฉันนึกว่า ท่านคงโปรดทอดพระเนตรจึงฝากหญิงจงไปถวาย ถึงลูกเงาะที่ฝากไปถวายก็มีความที่จะทูลเพิ่มเติม เมื่อหม่อมฉันส่งลูกเงาะไปแล้วจึงเห็นในหนังสือพิมพ์เขาว่าต้นเงาะที่ปีนังปีนี้ออกลูกล่ากว่าปกติไป ๒ เดือน หม่อมฉันไม่รู้เหตุนั้น เห็นลูกเงาะมีชุมอย่าง “มาแขก” ผิดสังเกตจึงนึกปรารภจะฝากไปถวาย

บรรเลง

๑๒) หม่อมฉันเคยทูลไปแต่ก่อนว่า กลางคืนหม่อมฉันอ่านหนังสือต่อความรู้ในตอนหัวค่ำ พอใกล้เที่ยงคืนอ่านหนังสือประโลมโลก Novel แต่บางทีก็ได้ความรู้แปลก ๆ ในหนังสือประโลมโลก ดังจะเล่าถวายในสัปดาหะนี้ หม่อมฉันเห็นในโนเวลเรียกชื่อว่า Nanlakka by Rudyard Kipling เขาพรรณนาว่าด้วยประเพณีของราษฎรในอินเดีย ว่าเวลาผู้หญิงคลอดลูกใหม่ให้ปิดช่องมิให้ลมพัดเข้าในเรือนและในห้องที่คนออกลูกอยู่สุมไฟ ซึ่งเขาแปลชื่อมาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Birth-Fire (จะตรงกับที่เรียกในภาษามคธว่า “ชาตคดี” มีอยู่ในเทศน์มหาชาติได้ดอกกระมัง) พอหม่อมฉันอ่านก็นึกขึ้นได้ทันทีว่า ประเพณีไทยที่เราให้ผู้หญิงออกลูกอยู่ไฟกันแต่ก่อนคงได้ตำรามาจากอินเดีย เป็นความรู้ใหม่ควรทูลให้ทรงทราบ

ต่อไปอีกข้อ ๑ เขาพรรณนาถึงวังเจ้าประเทศราชในอินเดียแห่ง ๑ ว่า ที่ประตูวังมีเสือชีตะ (เป็นเป๊น) ใส่กรงตั้งไว้ข้างละตัว ข้อนี้แสดงว่าประเพณีแต่ดึกดำบรรพ์ที่ให้ยักษ์มารหรือสัตว์ร้าย รักษาประตูยังมีอยู่จนในสมัยนี้ เสือชีตะนั้นหม่อมฉันได้เคยเห็นเมื่อไปอินเดียเป็นเสือพันธุ์ ๑ มีลายจุดตามตัวคล้ายเสือลายตลับขนาดก็พอเท่า ๆ กัน แต่ผอมเกร็งกว่าเสือลายตลับ เขาบอกว่าเลี้ยงให้เชื่องง่ายกว่าเสือชนิดอื่น เขาเลี้ยงไว้สำหรับใช้ไล่เนื้อ เขาเคยให้มันไล่ให้หม่อมฉันดูที่เมืองประเทศราชแห่ง ๑ เอาเสือชีตะ ๒ ตัวขึ้นระแทะไปด้วยกัน มีคนคุมถือเชือกที่ผูกคอและมีผ้าผูกปิดตาเสือนั้น พอเห็นฝูงเนื้อคนคุมก็เปลื้องผ้าผูกตาและปลดเชือกที่ผูกคอ เสือชีตะก็กระโจนลงจากระแทะวิ่งตรงไปยังฝูงเนื้อ ซึ่งทำนองจะเลี้ยงไว้สำหรับไล่ให้แขกเมืองดู ในราวครึ่งนาทีก็คาบคอเนื้อล้มลงอยู่กับที่ได้ทั้ง ๒ ตัว เราดูอยู่ห่างเห็นเพียงเนื้อล้มและมีคนวิ่งตามไป เขาเล่าว่าคนไปเชือดคอเนื้อให้เสือชีตะกินเลือดเป็นบำเหน็จจนพอแล้วก็ผูกจูงกลับมา

๑๓) เมื่อวันเสาร์ที่ล่วงมาแล้ว หม่อมฉันไปตัดผมที่โฮเตลรันนิมิดตามเคย เวลาไปถึงมีคนกำลังนั่งตัดผมอยู่เต็มทุกเก้าอี้ต้องคอย เมื่อนั่งคอยอยู่นั้นเด็กสำหรับรับใช้ที่ห้องกัลบกเอาหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มาส่งให้หม่อมฉันดูเล่นกันเบื่อ เปิดดูเห็นรูปภาพลักษณะแต่งหน้าผู้หญิงมีอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับ ๑ พร้อมด้วยอธิบาย หม่อมฉันเห็นแปลก จึงขอปันหนังสือพิมพ์นั้นมา แล้วตัดเอาแต่รูปภาพแต่งหน้ากับคำอธิบายส่งมาถวายทอดพระเนตรพร้อมกับจดหมายฉบับนี้

ป.ล. เมื่อดีดพิมพ์จดหมายฉบับนี้แล้วจึงค้นพบหนังสือเรื่อง “ตำนานมโหรี - ปี่พาทย์” ที่หม่อมฉันได้แต่งไว้แต่ก่อน อ่านดูความเห็นแปรจากที่ทูลสนองเรื่องโทนและทับในจดหมายฉบับนี้ ขออย่าเพ่อทรงถือตามที่ทูลไป รอไว้ทรงอ่านในจดหมายฉบับหน้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ