วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ข่าว

๑) เมื่อวันอังคารเดือนนี้ วันที่ ๑๑ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน แปลว่าล่ากว่าที่เคยได้รับไปวันหนึ่ง ดูซองมีปะปิดหัวเดียวแต่สองทับ และมีตรารูปสี่เหลี่ยมรี ในนั้นมีหนังสือโรมันภาษาอังกฤษอย่างที่ทรงทราบแล้ว ประทับหลังซองมาเป็นโฆษณาตามเคย เปิดออกดูเห็นในนั้นเป็นหนังสือ ๒ ฉบับ คือลายพระหัตถ์เวรฉบับหนึ่ง กับเรื่องอนามัยซึ่งทรงแต่งย้อนหลังอีกฉบับหนึ่ง จะได้กราบทูลสนองความต่อไปในเบื้องหน้า แต่อยู่ในหนังสือฉบับนี้

๒) เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ มีหญิงแก่คนหนึ่งมาหากับดุษฎีดิศ ไม่รู้จักหญิงแก่คนนั้นเลย แต่ต่อมาทราบได้ว่าคือคุณหญิงชุ่ม มาตามให้ไปอาบน้ำศพพระยาธรรมศาสตร์ (จุ้ย) ในวันรุ่งขึ้นเวลาบ่าย ๕ โมง ว่าเป็นโรคชราอายุ ๗๘ ครั้นวันรุ่งขึ้นก็ได้ไปตามเวลาที่กำหนดให้ บ้านอยู่มะกะสัน ได้ทำหน้าที่อะไรให้ทุกอย่าง เห็นแต่งศพใส่โกศประกอบลองแปดเหลี่ยม ตั้งบนแว่นฟ้าชั้นเดียวที่มุขหลังเรือน เตี้ยมาก เพราะไม่ได้ทำไว้สำหรับตั้งโกศ กรุเพดานด้วยผ้าแพร แต่ก็ต้องเจาะ เพราะสูงไม่พอกับยอดโกศ มีฉัตรเบญจา (ระบายสลับสี) ตั้งสี่คัน สี่มุม ได้ยินเสียงกลองประโคมเมื่ออาบน้ำศพ แต่ไม่ได้เห็นว่าอยู่ที่ไหน รู้เป็นแน่ว่าต้องเป็นกลองเขียว

สนองลายพระหัตถ์

๓) แสตมป์ที่ปิดหนังสือเวรถวายมา เป็นหน้าที่กรมไปรษณีย์เขาจะชั่งจะปิด เกล้ากระหม่อมไม่ได้รู้เห็นด้วย เคยเห็นแต่หนังสือพิมพ์เขาลงประกาศบอกเลิกใช้แสตมป์อย่างนั้นอย่างนี้อยู่เนืองๆ ว่าเพราะมีปลอม

๔) คำ “ออ” เป็นแน่ว่าออกจาก “อ่อน” แต่ดูขยับจะเป็นคำต่ำ เกล้ากระหม่อมไม่เคยใช้คำนั้น เขาว่าในตำรานิรุกติศาสตร์ ปรับเอา ร ล เป็น “ลิขวิต” คือ น้ำเหลว จะใส่เข้าที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นดังนั้น “อ่อน” เป็น “หล่อน” ก็ไม่ขัดข้อง

๕) คำ “บาง” เป็นแน่ว่าหมายถึงคลองตัน เหมือนหนึ่ง “กุด” อะไรต่างๆ เช่น “กุดลิง” แปลว่ามีลิงอยู่มากในบางนั้น “กุฏิลิง” ซึ่งแปลไปว่า “วานรนิวาส” เหตุที่ต้องมีบางก็เป็นชั้นแรกที่มีแม่น้ำ คนเข้าตั้งทำนากะหร็อมกะแหร็ม ต้องขุดเป็นคลองด้วนเพื่อเอาน้ำเข้าไปใช้ แล้วทีหลังเมื่อบ้านเมืองจำเริญขึ้น บางอะไรซึ่งอยู่ใกล้กันก็ขุดปลายบางไปต่อกันเป็นคลองขึ้น หรือบางนั้นอยู่ใกล้แม่น้ำก็ขุดปลายบางไปทะลุแม่น้ำให้เป็นคลองขึ้น เช่นบางกอกก็ต้องเป็นขุดบางกอกจนสถานที่ก็ยังได้ชื่ออยู่ว่าบางกอก คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ อันเป็นแม่น้ำนั้นมาได้ชื่อแปรเป็นบางไปทีหลัง เมื่อคลองบางกอกกลายเป็นแม่น้ำไปแล้ว อันชื่อคลองบางลำภูซึ่งขุดปลายบางไปต่อกันนั้น ก็พอจะเห็นได้ว่าชื่อปากคลองไม่เหมือนกัน ข้างหนึ่งเรียกว่าคลองบางลำภู อีกข้างหนึ่งเรียกว่าคลองโอ่งอ่าง แต่ที่เรียกคลองโอ่งอ่างนั้นมาได้ชื่อทีหลัง เพราะขายโอ่งอ่าง ชื่อบางเดิมจะต้องมีอีกต่างหาก แต่ลับไปแล้ว

๖) โคลงวัดสังกะจาย ลางทีเกล้ากระหม่อมจะฉวยเอา “นิราศนรินทร์อินทร์” มากราบทูล ที่แท้ที่นั่นจะไม่ได้จารึกไว้ดังนั้นก็เป็นได้ ฉบับนิราศนรินทร์อินทร์ที่ในกรุงมีถมไป แต่จะสอบดูก็ไม่เห็นจะเป็นระโยชน์ ประโยชน์อยู่ที่สอบโคลงวัดสังกะจาย ได้พูดแก่ชายงั่วแล้วให้เธอไปคัดโคลงที่วัดนั้นมา แต่เธอแลไม่เห็นว่าวัดสังกะจายอยู่ที่ไหน ได้บอกตำแหน่งแล้ว เธอเตรียมจะไปถามคนเรือจ้าง คงจะได้โคลงนั้นมาในภายหน้า อันกลอนนิราศนั้นเกล้ากระหม่อมออกจะดูหมิ่น เพราะเห็นว่าถึงอะไรที่พอจะเอาความได้ก็พูด แม้จะเอาความไม่ได้ก็ไม่พูด ที่เกล้ากระหม่อมตื่นนิราศนรินทร์อินทร์ก็เพราะเขาถือกันว่าดี ก็เอาใจใส่ไปตามเขา ที่จริงเป็น “แฟแช่น” เท่านั้น แต่ที่ว่านี้ไม่เกี่ยวถึงนิราศของสุนทรภู่ นั่นแกพูดไปอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับนิราศของใครทั้งหลายซึ่งเขาแต่งไว้

๗) รูปครึ่งคนครึ่งสัตว์ ซึ่งพระดำรัสว่าทำตามอย่างชาติต่างๆ นั้นเห็นเป็นถูกอย่างยิ่ง เช่น “สฟิง” ก็มีมาแล้วแต่ครั้งอิยิปต์ ทั้งตราอาร์มออสเตรียก็มีตัวอะไรลืมชื่อเสียแล้วอยู่สองข้าง ตัวเป็นสิงห์หน้าเป็นนกอินทรีย์มีปีกด้วย คนแต่ก่อนดูเหมือนจะนับถือสัตว์มากกว่าคน สังเกตเรื่องนารายณ์ ๑๐ ปาง ก็เป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าคน เพราะคนทำอะไรได้มากอยู่ข้างจืด ถ้าเป็นสัตว์แล้วเค็มขึ้น เกี่ยวด้วยปาฏิหาริย์ จะกล่าวถึงสัตว์ชนิดที่เจ้านายตรัสเรียกว่า “สัตว์โซโด” เป็นการสมควรยิ่งกว่าที่เรียกกันว่า “สัตว์หิมพานต์” ที่เรียกเช่นนั้นดูก็เป็นเหลว สัตว์หิมพานต์จริง ๆ กล่าวแต่เป็นสัตว์ปกติ มี ช้าง ม้า วัว สิงห์ เป็นต้น ในการที่ทำรูปสิงห์ไปไหน ๆ ก็เพราะสิงห์บ้านเราไม่มี ทำไปตามบุญตามกรรม ถ้าเทียบกับชาติอื่นเช่นจีนและชวาเป็นต้นก็ผิดกันมาก นั่นเขาใกล้สิงห์มากกว่าเรา อนึ่งคำ “สีห์” กับ “สิงห์” ก็เป็นคำเดียวกัน เป็นภาษามคธกับสังสกฤตเท่านั้น คำว่า “สิงห์” เขาลงนิคหิตในที่ฟันหนู คำมคธที่เรียกราชสีห์ก็เป็นแต่ตัวนาย ไม่ใช่จะเป็นไปทุกตัว ทั้งคำ “ราชสีห์” ก็มี “สีหราช” ก็มี กลับกันอยู่ ในภาษามคธจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ในภาษาไทยคิดว่าผิดกัน

อนึ่ง รูปราชสีห์ที่มีงวงมีงาก็มีทำ แต่เรียกว่า “ทักกระทอ” เช่นในหนังสือเก่า ๆ ก็มีว่า “ทักกะทอนรสิงห์เม่นหมู” “ทักกะทอ” จะเป็นสัตว์อะไรก็ไม่ทราบ เข้าใจว่าที่ผูกอย่างนั้นขึ้นครั้งแรกก็ตั้งใจจะทำเป็นคชสีห์ แต่ทีหลังทำคชสีห์มีหัวเป็นทีช้าง ราชสีห์ที่มีงวงมีงาก็กลายเป็น “ทักกะทอ” ไป แท้จริงคำว่า “คชสีห์” นั้นก็ตั้งใจจะยกย่องช้างว่าเก่งเหมือนราชสีห์ มีชื่อช้างระวางอยู่ว่า “พลายสังหารคชสีห์” คชสีห์ในที่นั้นก็หมายถึงช้าง ทางอินเดียทำรูปช้างเฝ้าประตูเฝ้ากะไดก็มี ที่ทำรูปราชสีห์เป็นทีช้างก็ได้สังเกตว่ามีมาแต่ทางอินเดียแล้ว ไม่ใช่เราคิดขึ้น คำว่านรสิงห์เราก็มีแต่ลายถ้วยชาม ในตำราสัตว์หิมพานต์ซึ่งแห่พระศพมีเติมคำขึ้นว่า “เทพนรสิงห์” นั่นก็คงเป็นเพราะมี “อักษรสีหะ” เป็นอิตถีลิงค์ขึ้น ทางอินเดียก็มี “นรสิงหาวตาร” แล้ว มีรูป “วราหาวตาร” ทำตัวเป็นคนหน้าเป็นหมูอีกด้วย แต่ในหนังสือก็กล่าวเป็นหมูแท้ ๆ นั่นก็เกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์เหมือนกัน คำว่า “สัตว์หิมพานต์” กลัวจะมาสมมติกันขึ้นในบ้านเรานี้

ตามที่ตรัสว่ามองสิเออร์ฮาดุวินหน้าเป็นสิงโตกลางคืนนั้นผิดไป ที่แท้เป็นมองสิเออร์ลอยู แต่หลวงนิพัธราชกิจหน้าเป็นสิงโตกลางวันนั้นถูกแล้ว

๘) ตามที่ตรัสแก้ปัญหาในเรื่องเพลงนั้นถูกทีเดียว คำว่า “เพลงยาว” ควรที่จะเป็น “กลอนยาว” แต่ก็หาเป็นไม่ อันคำว่าเพลงนั้นกว้างขวางนัก ตลอดจนปี่พาทย์ก็เรียกว่าเพลงด้วย ที “เพลง” จะแปลว่าเล่น ในการที่เขาท่องเพลงกันก็ทราบ ท่องทำไมนึกว่าจะเป็นแบบให้คิดเองได้ แต่ที่แท้ก็สำหรับร้องส่งท้ายอย่างพระดำรัสนั่นเอง สุนทรภู่ก็ว่าเป็นนักเลงเล่นเพลงปรบไก่มาก่อน เห็นได้ว่าเพราะเหตุนั้นจึงเชี่ยวในกลอนนัก คำ “ดอกสร้อย” เป็นอันเดาไม่ผิด ต้องขึ้นต้นด้วยดอกไม้ก่อน แล้วสร้อยจึงเป็นอะไร ๆ ต่อไป ไม่จำจะต้องเป็นร้องในเรืออย่างเดียว จะร้องในเรือก็ได้บกก็ได้ อย่างเดียวกับสักระวา คำ “สักระวา” เขาแปลกันว่า “สักว่า” ทีก็จะถูก เห็นถูกที่คำโบราณออกเสียงตัวสะกดเสมอ เช่น “นกะจิบ นกะจาย ลูกะดุม” เป็นต้น แล้วก็มาเรียกกันว่า “กะดุม” นั่นคือหลง การหลงตัวสะกดนั้นมีมาก เช่น “ณรงค์” ที่แท้ควรจะเป็น “รณรงค์” จึงจะได้ความ

คำ “โทน” กับ “ทับ” นั้นก็ชอบกลมาก ดูเป็นเก่ามาด้วยกัน เช่นในกฎมนเทียรบาลว่าห้ามตีโทนทับกรับฉิ่งในสระแก้ว นึกดูถึงประเพณีโบราณใช้ตีโทนคู่เสมอไม่ว่าอะไร บางทีใบที่ตีขัดกับที่ตีจังหวะจะเรียกต่างกันเป็น “โทน” กับ “ทับ” กระมัง แม้ละครแต่ก่อนก็ใช้โทน เห็นได้อยู่ที่คำ “จ๊ะจ๋งจะถิ่งโจ๋ง (งะอ้า) ถิ่ง” และ “จ๊ะถิ่งถิ่ง” นั่นเป็นเสียงโทน ไม่ใช่ตะโพน อันตะโพนนั้นจะต้องมาทีหลัง รำมะนานั้นมาทีหลังแน่ เอาอย่างมาทางอาหรับ

๙) เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ตรัสแนะนำว่าไม่ควรเข้าไปในการพระราชพิธีต่างๆ เกล้ากระหม่อมก็ถอยหลังไม่เข้าไปทุกงานอยู่แล้ว แต่ก็ยังพิจารณาว่างานใดควรจะเข้าไปหรือไม่ แม้กระนั้นก็ได้คิดแบ่งเบา เป็นต้นว่างานหลายเวลาก็เข้าไปแต่เวลาเดียว การแต่งตัวเต็มยศนั้นเบื่อหน่ายเป็นที่สุด เคยใช้คำของสมเด็จพระราชปิตุลาว่า “ประโคม” (หมายถึงแต่งตัวลงโกศ) แต่ใจคนนั้นต่างกัน ทูลกระหม่อมชายได้ทรงสังเกต ว่ากรมหลวงราชบุรีนั้นถ้างานใดต้องแต่งเต็มยศแล้วก็ไม่ไป ไม่แต่งเต็มยศจึงไป ตรงกันข้ามกับกรมหมื่นไชยา นั่นถ้าแต่งเต็มยศแล้วเป็นไป ถ้าไม่เต็มยศแล้วก็ไม่ไปจริงอย่างนั้น เกล้ากระหม่อมก็เห็นขัน

๑๐) นมปลอมของฝรั่งเคยเห็นรูปเขาบอกขายมานานแล้ว แต่ชาวบางกอกเขาเรียกกันว่า “ยกทรง” ก็พาให้หลงไปไม่ได้นึกถึง “ก่องนม” ที่ตรัสว่า “ก่องนม” นั้นถูกตรงทีเดียว

๑๑) หมอนั้นผิดกันมาก แม้เรียนออกมาจากสำนักเดียวกันก็มีความคิดทำไปต่างกัน ซ้ำคนไข้ก็นับถือหมอต่างกันไปด้วย ไม่ได้คำนึงถึงสำนักเรียน ยาก็เป็นเครื่องมือของหมอเท่านั้น ใครจะทำอย่างไรก็ได้สุดแต่ใจ อนึ่งยาไทยกับยาฝรั่งก็เกือบตรงกันหมด เว้นแต่ข้างไทยใช้ยาสมุนไพร ข้างฝรั่งก็ใช้ยาสมุนไพรนั่นเอง เว้นแต่คัดเอาแต่แก่น เช่นยาควินินก็ทำด้วยซิงโกนานั่นเอง เกล้ากระหม่อมเคยพูดว่ายาไทยนั้นกินอ้อยทั้งชาน อันนี้ก็ต้องกับที่พระยาดำรงพูด แต่ที่ว่านี้ก็เป็นว่าไปตามรู้เห็นเท่านั้น เรื่อง “อนามัย” เป็นเรื่องกล่าวถึงการอันล่วงมาแล้ว ไม่ต้องที่จะพึงเลือกเอาความเห็นอย่างใดเลย

หญิงเภานั้นเพิ่งเข้าใจว่าถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์ แต่ก่อนสำคัญว่าถูกกัดที่วังในบางกอก คำว่า “เภา” นั้นเป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ หมายกันว่าสุดท้อง แต่ไม่เป็นความจริงอยู่ในนั้นเลย เป็นแต่บริษัทเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เหมือนหนึ่งลูกเจ้าพระยาเทเวศร์ก็มีคุณเภา แล้วมีออกมาอีกคนหนึ่งพวกบริษัทเรียกกันว่าคุณแถม คือเติมจากเภา ชื่อ “ปัสตูร” ตรงดิ่งทีเดียว ที่เรียกว่า “ปาสเตอร์” นั้นเป็นภาษาอังกฤษ หาตรงไม่

ย้อนหลัง

๑๒) จะคัดชื่อพระเจดีย์ทองไปให้พระธรรมปาโมกข์ตามลายพระหัตถ์ก็ไม่ครบทั้ง ๔ องค์ จึงถามพระยาเทวาไป ได้ความมาว่าเช่นนี้ ๑. สุนันทานุสาวรีย์ ๒. รังษีวัฒนา ๓. เสาวภาประดิษฐาน ๔. สุขุมาลย์นฤมิตร ว่าทราบมาทางเจ้าพระยายมราช ขอประทานกราบทูลสอบถามว่าถูกหรือไม่ถูก เกล้ากระหม่อมไม่ได้ทราบเลยฝันว่ามีจารึกติดอยู่ แต่ไปดูก็ไม่มีเหมือนฝัน

๑๓) คำท้ายชื่อเมืองสุโขทัย อันได้กราบทูลปรึกษามา ว่าคำ “ทัย” ข้างท้ายจะหมายความเป็นชาติไทยหรืออุทัยนั้น มีคนพูดว่าชาติไทยมาแต่คำ “ไต้” หรือ “ไต๋” ในภาษาจีน ถ้าเป็นเช่นนั้นคำว่าไทยซึ่งหมายว่าชาติไม่จำต้องมีตัว ย แต่พระพินิจวรรณการพูดไปอย่างหนึ่ง ว่าหนังสือที่เป็นภาษาบาลี ถ้าไม่เขียน “ทัย” จะมีชื่อชาติในนั้นไม่ได้ เพราะในภาษานั้นไม่มีไม้มลายจะใช้ ตกเป็นอันว่าชาติไทยจะมีตัว ย ก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่พ้นกินแหนง คำ “สุกโข” หรือ “สุโข” ข้างหน้านั้น อาจฉวยเอาภาษาบาลีอย่าง “ปรโม สุโข” มาก็ได้

บรรเลง

๑๔) เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนนี้ หญิงกุมารีมาที่บ้านปลายเนิน เอาอังแพลมขนาดเล็กมาให้กับผลเงาะ บอกว่าเด็จพ่อฝากมาประทาน อังแพลมนั้นตรัสว่าสมสมัย ทำให้เกิดสงสัยขึ้นว่าฝ่าพระบาทประทานเข้ามาอย่างไร เธอก็บอกว่าประทานพี่แก้วเข้ามา ยังไม่เข้าใจต่อไปอีก ในหนังสือสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์บอกว่า ทูลลาไปเดือนหนึ่ง ไฉนราวอาทิตย์เดียวจึงกลับมา แต่ยังไม่ได้พบตัวหญิงแก้วถามให้เข้าใจ ที่ทรงฝากของเข้าไปประทานนั้นรู้สึกเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง

ที่กราบทูลนี่เป็นตอนเย็น ครั้นตอนค่ำหญิงจงกับหญิงยาตรมาหาอีก หญิงจงกลับจากปีนังเอาของกินเข้าไปฝาก กับทั้งสมุด “เลโคล ฟรังเส” ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานเข้าไปให้ด้วย ถามถึงหญิงแก้วที่กลับเร็ว บอกเหตุว่าเป็นห่วงสมเด็จพระพันวัสสาก็เข้าใจ เห็นว่าสมควรแล้ว

๑๕) ได้ไปเห็นเขาเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ามาตั้งไว้ที่อนุสาวรีย์สวนลุมพินีวัน เอาไม้ตีปิดองค์พระบรมรูปไว้ใช่แต่เท่านั้น ยังเอาไม้ตีเป็นรั้วกันรอบอนุสาวรีย์เสียด้วย การที่ทำรั้วคงเป็นเพราะคนขึ้นไปเที่ยวกันบนอนุสาวรีย์นั้นวันละมาก ๆ ไม่ใช่แต่ไปเที่ยวเฉย ๆ ซ้ำขึ้นไปปีนกำแพงบนนั้นเสียด้วย ถ้าทำกำแพงมีหลังเป็นสันอกไก่เสียก็ทีจะป้องกันเหตุเช่นนั้นได้มาก แต่นี่เป็นคิดเมื่อมีเหตุแล้ว ปกติคนย่อมคิดอะไรไม่เห็นตลอด เพราะฉะนั้นจึงนับถือคนที่เคยงานมาแล้วมาก แปลว่าเคยเห็นสิ่งที่ได้เสียมาแล้วมาก

การทำแบบอนุสาวรีย์เป็นหน้าที่ชายสมัยทำ เมื่อเขียนแบบขึ้นแล้วก่อนสร้างเธอก็เอามาปรึกษา ได้ให้ความเห็นไปว่า ต้องมีอะไรประกอบกับพระบรมรูป ถึงแม้พระบรมรูปจะเป็นองค์ใหญ่แต่เอามาตั้งในที่กว้างก็คงดูหลอน เธอเข้าใจแต่ไม่เห็นได้ทำ ได้ยินว่าต้องแก้แบบถึงสามหน เพราะมีทุนอยู่ไม่พอกับแบบ ลางทีจะเป็นเพราะเหตุนั้นจึงไม่ได้ทำ ดูพระบรมรูปซึ่งเอามาตั้งไว้ตีปิดด้วยไม้ระแนง เห็นพระบรมรูปแต่เป็นเงา ๆ ก็เห็นว่าหลอน

๑๖) อ่านหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” พบคำ “บริเวณ” ใช้ในนั้นมากเต็มที ที่ดินก็ใช้ ที่ในตัวก็ใช้ เช่น “บริเวณอก” เป็นต้น คงจะหมายเอาคำ “บริเวณ” ว่าเป็น ที่ หรือถิ่น ที่แท้คำ “บริเวณ” หมายความว่าเรือนเล็กๆ เท่านั้น เช่นที่ตรัสประทานตัวอย่างว่า “วิทโยทยบริเวณ” จะเอาไปใช้ใน ที่ หรือ ถิ่น นั้นหาควรไม่.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ