วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ณ บัดนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องพี่เลี้ยงจางวางเจ้า ถึงแม้จะได้ตรัสบอกอัตราเบี้ยหวัดก็คิดอะไรไม่เห็น คิดเห็นแต่ว่ากรมนั้นไม่ใช่ชื่อเจ้า เป็นเหตุให้กระตุ้นใจอยากเติมหนังสือฉบับก่อนเป็นอธิบายในวงเล็บที่คำกรมหลวงโยธาทิพย์โยธาเทพย์ ซึ่งได้เขียนถวายมาคราวก่อน เป็น “กรม” (ซึ่งหลวงโยธาทิพย์ (หรือ) โยธาเทพย์) เป็นเจ้ากรมควบคุม แต่ทั้งนี้ก็อยากไปตามวิสัยสัตว์เท่านั้น รู้แล้วว่าฝ่าพระบาทเข้าพระทัยแล้ว และคำอธิบายในวงเล็บนั้นก็มิใช่เอามาแต่ไหน จำฝ่าพระบาททรงเขียนมานั่นเอง

๒) โรงเรียนสอนใบ้พูด เกล้ากระหม่อมก็เคยไปดูมาที่เมืองชวา คนที่พูดอะไรได้เห็นมีแต่ผู้ใหญ่อยู่คนเดียวเท่านั้นที่ดูปากครูตอบได้ ทั้งอ่านหนังสือและพูดภาษาวิลันดาก็ได้ มลายูก็ได้ ที่สำเร็จเป็นกายสิทธิแล้วคงออกจากโรงเรียนไปแล้ว คนที่กราบทูลนั้นคงเป็นคนที่เรียนจวนสำเร็จ นอกจากนั้นก็มีแต่เด็กๆ เป่ามือครูและเขียนหนังสือบนกระดานดำสอนคำกันอยู่ทั้งนั้น สังเกตได้อย่างหนึ่งว่าคนใดที่ได้ยินอยู่บ้าง เขาเอาสำลีอุดหูให้หนวกเลย การฝึกหัดเห็นจะตั้งใจให้เป็นคนธรรมดาทำการอะไรที่ไหนก็ได้ โรงเรียนเขาก็จัดดี มีห้องเล่นตุ๊กตุ่นตุ๊กตากันเด็กเบื่อใจท้อถอย

๓) หนังสือบอกประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ลี) นั้น เกล้ากระหม่อมไม่ได้พบเห็นเลย เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าที่ตรัสบอกให้ทราบเข้าใจซึมซาบดีทีเดียวว่าเพราะท่านมีรกรากอยู่ที่วัดนั้นจึ่งไปครองวัดนั้น

๔) รู้สึกตัวว่าคำธรรมยุติ มหานิกายนั้นไม่ควรเขียน เพราะธรรมยุติก็ออกจากมหานิกายนั่นเอง การอยู่ปะปนกันนั้นไม่ประหลาดทั้งปาฏิโมกข์ก็ไม่สวดกัน จนกระทั่งทูลกระหม่อมของเราต้องทรงล่อใครท่องปาฏิโมกข์ได้ก็ถวายผ้าไตร จนเรียกกันเป็นปรกติว่า “ไตรปาฏิโมกข์”

ข้อที่ทรงสังเกตได้ว่าคำ “ธรรมยุติ” ทีจะเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ นั้นดีเต็มที คิดว่าไม่ว่าวิธีทำอะไร จะต้องบอกศักราชได้ทุกอย่าง ถึงจะทำเทียมก็รู้ อะไรต่ออะไรบอก คงจะทรงระลึกได้ ว่าเคยกราบทูลเรื่องพระแท่นเศวตฉัตรมุกที่พระที่นั่งดุสิตว่าตัวพระแท่นทำรัชกาลที่ ๑ พนักซ่อมในรัชกาลที่ ๓ กราบทูลโดยไม่รู้เรื่องเลย ก็เป็นการแน่ที่สมเด็จองค์น้อยได้ซ่อม

ในการบวชนาคหลวงแบ่งเป็นสองวันนั้นจำได้ดี ซ้ำทราบยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกว่าพวกบวชวันหลังเขาไปสวดญัติกันที่วัดอีก แต่ที่เป็นธรรมยุติจะทำเช่นนั้นทั่วกันไปหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่พวกเจ้าเราไม่ได้ทำ

ในการที่สีมาติตกับผนังโบสถ์นั้นดี การรักษาสังฆกรรมง่าย ปิดประตูโบสถ์เสียก็เป็นแล้ว ที่วัดเทพศิรินทร์นั้นสีมาเดิมมีวงกว้าง เห็นจะตั้งใจให้เป็นมหาสีมาตามแฟแช่น แล้วรักษาไม่ไหวต้องผูกเสมาใหม่ให้แคบเข้าไปใกล้ๆ โบสถ์ทิ้งเสมาเก่า ในเรื่องสีมาเกล้ากระหม่อมเคยทำอุตริ แต่ก็เป็นอลุ้มอล่วย คือวัดศรีมหาราชา ทางฝ่ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านไม่อยากให้ผูกสีมาใหม่ เพราะของเก่าพระเทพกระวี (นิ่ม) ทำไว้ แต่สีมาเก่ามีเขตเล็กเต็มที ที่เล็กนั้นเพราะเป็นวัดบ้านนอกไม่มีธุระจะใช้สีมากว้างใหญ่ แต่ล่วงเวลามาถึงบัดนี้ก็มีธุระเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายเจ้าพระยาสุรศักดิ์ผู้จะทำโบสถ์ก็อยากให้ใหญ่ ว่าโบสถ์เก่าสัปบุรุษเข้าไม่ได้ในเวลามีธุระจะเข้า เกล้ากระหม่อมเป็นผู้ให้แบบ ก็เอาเขตสีมาไว้ในประธานที่พระนั่ง แล้วต่อเฉลียงออกไปให้กว้างใหญ่พอที่ทายกจะเข้าไปในนั้นได้ ก็เป็นอันพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย กลับดีขึ้นไปเสียอีกด้วยซ้ำ

๕) การเขียนฝาคิดว่ามาแต่ขึงม่านนั้นเอง ในกลอนเสภาก็มีกล่าวถึงม่านนางวันทองปักว่า “ปักเป็นพระลอดิลกโลก ถึงกาหลงทรงโศกกรรแสงไห้” กลอนนั้นก็แสดงอยู่ในตัว ว่าม่านเรือนปักเป็นภาพเรื่องก็ได้ ความจริงการทำภาพเรื่องทีจะเป็นของคิดต่อมาทีหลัง ด้วยสังเกตภาพเรื่องของเก่านั้นวางท่าเป็นลายเป็นดอกเป็นแย่ง ทีหลังจึงกลายเป็นของจริงไป ที่กราบทูลว่าเป็นลายนั้นยังมีเหลือที่จะทรงสังเกตได้ เช่นเทวดานั่งในวิมานเขาก็เขียนวิมานพอล้อมองค์เทวดา นั่นคือเขาทำวิมานให้เป็นลาย แต่คนภายหลังมาติว่าถ้าเทวดายืนขึ้นหัวก็ทิ่มวิมาน คือนั่นคิดเอาวิมานเป็นเรือน ซึ่งผิดทางกันกับโบราณเขาคิดเอาวิมานเป็นลาย

การเขียนวัดเป็นรูปอันไม่เกี่ยวกับพระเจ้าก็มี เช่นที่วัดยมกรุงเก่าเป็นต้น ยังที่อื่นก็มีอีก เช่นเขียนเขาพระเมรุกับเขาสัตตบุรพันธ์ นั่นก็เกี่ยวไปแต่ในทางไตรภูมิ ไม่เกี่ยวกับพระเจ้าเลย ไปเห็นที่วิหารบนเขารูปช้างที่แขวงเมืองพิจิตรเข้าชอบใจเต็มที เขาเหยียดเอาปางลงกะไดสวรรค์เข้าประกอบกับรูปเขาพระเมรุอันเป็นทางไตรภูมิได้ ให้รู้สึกว่าเขาฉลาดเต็มที ทางเทวดาซึ่งมานั่งฟังพระเจ้าเทศน์ก็นั่งในวิมาน วิมานที่นั่นไม่ใช่สามช่อง เห็นได้ว่าทำออกจากกลีบบัวชัดๆ เป็นลายไม่ใช่เรือน

มีความสงสัยอย่างหนึ่ง ซึ่งตรัสอ้างถึงรูปหนังสือพิมพ์หลายหนมาแล้ว เกล้ากระหม่อมได้ดูหนังสือพิมพ์แต่สองฉบับ ฉบับภาษาอังกฤษก็คือ “บางกอกแตม” ฉบับภาษาไทยก็คือ “ประมวญวัน” แต่ทั้งสองฉบับก็ไม่เห็นมีรูปซึ่งตรัสอ้างถึงนั้นเลย ขอประทานทราบว่าได้ทอดพระเนตรเห็นในหนังสือใด จะได้ตามดู

๖) พระดำรัสในเรื่องซ่อมวัดพระเชตุพน คิดตามก็เห็นว่าผู้ซ่อมทำไปตามใจก็มี เพื่อจะรักษาให้เป็นไปตามเดิมก็มี ที่ทำโดยจำเป็นต้องการก็มี การกระทำนั้นทำขึ้นโดยยากก็มี สุดแต่พอให้ใช้การได้ก็มี แล้วใช่ว่าจะเป็นไปเพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำง่ายกลับเป็นตัวอย่างให้ทำสิ่งอื่นตามไปก็มี แต่เรื่องจะเสียเงินเท่าไรนั้นไม่ได้คิด เป็นการยากเต็มที พระดำริก็เป็นความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ผู้ซ่อมทำก็เห็นอย่างหนึ่ง เป็นต่างคนต่างใจ ที่จะให้ความเห็นลงกันนั้นยากนัก เรื่องความเห็นแตกต่างกันนั้นได้เคยกราบทูลถวายตัวอย่างมามากแล้ว

๗) ตามที่ทรงบำเพ็ญพระกุศลปัญญาสมวาร ถวายฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นดียิ่งนัก อนุโมทนาในกุศลซึ่งได้พร้อมกันทำ อันมีฝ่าพระบาททรงเป็นต้นเค้านั้นมาก

ชื่อ

๘) เหตุที่นึกถึงนายเมธนายกระวี ซึ่งเป็นคนที่เคยรู้จักอยู่จึงพาให้คิดถึงชื่อคนอันวิตถาร มีพวกลูกจ่าอัศวราชนั้นเป็นต้น มี

“เมธะ แปลว่ารู้ในเมธปฏิมา
กระวี ปรีชาปิยบุตรที่สาม
ฉวี ผิวงามบุตรแม่พริ้มแรกเกิด
วรา ประเสริฐกัลยาลำยอง
สาโรช บัวทองพิศพักตร์ประไพ
สุมน สุมาไลเยาวลักษณนารี
ปรม แปลว่ามีปรมังค์ลาภา”

ชื่อเหล่านี้ได้มาก็เพราะรู้จักคนสองคนซึ่งกล่าวแล้วในเบื้องต้น แต่ได้มาเป็นแต่เสียงอันจะมีผิดอยู่บ้าง เมื่อเขียนลงเป็นหนังสือก็ต้องเดาอาศัยเอาคำแปลในกลอนบ้าง แล้วจะถ้วนหรือไม่ถ้วนก็ทราบไม่ได้ มีสงสัยอยู่ที่กลอนสอง นับบุตรคนนั้นว่าเป็นที่สาม จึ่งกลัวจะมีต้นขึ้นไปอีก แล้วที่สุดจะมีอีกหรือเท่านั้นก็ไม่ทราบ

นึกถึงชื่อพวกลูกจ่าอัศวราช แล้วก็ทำให้นึกไปถึงพวกลูกพระยาศรีสรราช (วัน) พวกนั้นมีชื่อวิตถารอยู่เหมือนกัน

“พงศ์ สุริยัน
พันธ์ สุริยา
พุ่ม มลิร่วง
พวง มลิลา
พิณ เทพเฉลิม
เพิ่ม เสนหา
พี ยศมูล
พูน สมบัติมา”

จะมีเท่านั้นหรือมีอีกก็ไม่ทราบ พวกนี้รู้จักคนเดียวแต่ที่ชื่อพิณ เทพเฉลิม ดูเหมือนเป็นพระราชวรินทร์ เป็นพ่อตากรมหมื่นเทววงศ์และพระองค์เจ้าวรรณ ที่ชื่อเพิ่ม เสนหาดูเหมือนว่าเป็นเจ้าจอม

แล้วพวกลูกใครอีก จำได้แต่คนเดียวว่า “ตึ๋งส่วน” ที่จำไม่ได้เพราะวิตถารน้อย คนที่เป็นพ่อค้าไม้ ดูเหมือนเรียกกันว่า “นายเจริญ” ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน “สิริสถาน” ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ก็ดูเหมือนจะเป็นลูกพวกนี้ “เจริญสิริ” กระมัง

พูดถึงชื่อวิตถารทำให้นึกถึงคุณม่วง ชื่อยาวจริง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าตรัสเล่า เล่นเอาต้องท่องเป็นหนักเป็นหนาจึงจำได้ มีว่า

“ฉิมม่วงงามปรางทอง ไกรทองพงศา
สาวสวรรค์กัลยาณี ศรีศุภลักษณ
เลิศฟ้าหาไม่ทัน”  

ตรัสเล่าว่าอันชื่อยาวทั้งนี้ก็เป็นด้วยอยากชื่อมั่ง เช่นเดียวกับอยากชื่อ “ยอช วอชิงตัน” ที่สุดจนไปดูช้างเผือกก็อยากชื่อ “ลักษณเลิศฟ้า” จึ่งต่อกันยาวออกไปทุกที

ชื่อคุณปิ่นก็ไม่หยอก มีว่า

“ปิ่นปักธรณีศรีเมืองมาร”

แต่ชื่อนี้จำไว้ได้ด้วยไม่ต้องท่อง เพราะไม่สู้ยาวนัก

บรรดาชื่อดูเหมือนจะต้องการน้อยพยางค์ เช่นเรียกกันว่า “เจ้าคุณศรี เจ้าคุณราช” เป็นต้น ชายถึกมาเล่าติดจะขัน ว่าใครไปถามหา “เจ้าคุณอรรถ” ที่กรมอัยการแล้วไม่ได้กิน เพราะที่กรมนั้นขึ้นต้นราชทินนามด้วยคำ “อรรถ” ทั้งนั้น อันคำที่ต่อชื่อคำหน้าไปนั้นถือกันว่าเป็นสร้อย สำหรับแต่เขียนหนังสือให้เป็นยศ นึกถึงภาษาของชาวบ้านก็เห็นขัน คำว่า “เจ้าคุณ” นั้น หมายถึงพระยา ชื่ออะไรต่างๆ ที่คิดตั้งกันมาแต่ก่อนคราวหนึ่งก็คิดเดินทางให้สั้น เอาแต่สะดวกปากที่คนจะเรียก แต่มาสมัยนี้ดูเป็นต้องการยาก ที่สั้นไปก็ต่อให้

ข่าวแห้ง

๙) เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม มีหมายสำนักพระราชวังบอกมา ว่าวันที่ ๑ สิงหาคม เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระพันวัสสากับเจ้านายฝ่ายใน จะทรงบำเพ็ญพระกุศลให้แก่ทหารและตำรวจ ที่การเปรียญวัดราชาธิวาส มีทรงธรรมกัณฑ์หนึ่ง จบแล้วมีพระสงฆ์ ๔ รูปสวดธรรมคาถา แล้วพระสงฆ์บังสกุล ๑๖๐

๑๐) เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ได้ไปบ้านเจ้าพระยาวรพงศ์ ในการที่เขาทำบุญ ๗ วัน กราบทูลสัญญาไว้ว่าจะเล่าถึงที่ตั้งศพมาถวาย ก็จะเล่าในบัดนี้

โกศประกอบลองมณฑป ตั้งบนแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีฉัตรเครื่อง ๘ คัน ตั้งสองข้างๆ ละ ๓ ตั้งข้างหลัง ๒ หน้าแว่นฟ้าตั้งโต๊ะเครื่องยศมีพวงมาลาวางกับพื้นหลามออกมามาก ซีกขวาตั้งอาสนสงฆ์ มีโต๊ะพระพุทธรูปทางต้นตามเคย ซีกซ้ายตั้งรูปผู้ตายบนขาหยั่งตามเคย ที่เฉลียงตั้งเตียงเขียวเป็นที่พระสวดริมกะได มีโต๊ะตั้งเครื่องบูชาตระบะมุก พระสวดมนต์เห็นจะ ๑๐ รูป มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นำ เกล้ากระหม่อมไปก็ตั้งใจจะให้ช้า เป็น ๕ โมง ๓๐ นาที ช้ากว่าใบดำซึ่งเขากำหนดให้ว่าบ่าย ๕ โมงนั้นแล้ว ไปถึงก็สวนกับพระสวดมนต์กลับ วางพวงมาลาแล้วนั่งอยู่ครู่หนึ่งก็กลับ สวนกับพระเทศน์ขึ้นอีก พระเทศน์นั้นคือสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์

มีปัญญาอันจะพึงวินิจฉัย ว่าพัดแฉกซึ่งผูกไว้ที่ตู้หนังสือบนเตียงพระสวดนั้น ผูกไว้ทำไม ดูเหมือนฝ่าพระบาทได้ทรงพระวินิจฉัยว่าหลงมาแต่พระราชาคณะนั่งปรก การนั่งปรกเดี๋ยวนี้กลายเป็นนั่งหลับตาไป เคยได้นึกถึงสวดท้องภาณที่พลับพลาท้องสนามหลวงในพิธีฝนครั้งหนึ่ง มีพระราชาคณะหลายองค์ จำได้แต่สมเด็จพระวันรัตน (แดง) องค์หนึ่ง กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) อีกองค์หนึ่ง เวลาที่ว่านี้ท่านยังไม่ได้เป็นสมเด็จ แต่ล้วนที่มีความรู้อย่างดี ท่านไปคอยอยู่ว่างๆ ก็พากันเข้าไปล้อมเตียงสวด ทักที่สวดผิดกันให้ปรอไป เล่นเอาพระที่สวดเกือบสวดไปไม่ได้ ได้นึกทีเดียวว่านี่คือนั่งปรกจริงแล้ว

๑๑) เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนก่อน หญิงจงไปลาว่าจะมาเฝ้าที่ปีนังในวันที่ ๒ สิงหาคม ป่านนี้คงมาถึงด้วยดีแล้ว

ข่าวสด

๑๒) เมื่อวันอาทิตย์ซึ่งล่วงแล้วมา ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เข้าใจว่ามากับรถไฟซึ่งเข้าไปถึงกรุงวันเสาร์ อยู่ข้างเร็ว มีปะปิดสองด้าน จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นเอาไว้ทำอ่อยๆ ตามเคยเป็นคราวหน้า.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ