วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้หม่อมฉันนึกว่าเป็นคราวเขาจะเชิญลายพระหัตถ์เวร ซึ่งมาถึงปีนังคราวเมล์วันพฤหัสบดี มาส่งต่อวันจันทร์ตามเคยสังเกต เตรียมเขียนจดหมายตั้งต้นด้วยเรื่องทางปีนัง แต่พอลงมือเขียนเขาก็เชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม มาส่งแต่ในวันศุกร์เวลากลางวัน ก็รู้สึกขอบคุณเขา

สนองลายพระหัตถ์

๑) จะยกเอาข้อซึ่งตรัสถามถึงพระที่นั่งเบ็ญจรัตนปราสาทขึ้นทูลสนองก่อน ด้วยเผอิญพ้องกับเรื่องปราสาทกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหม่อมฉันได้นึกไว้ว่าจะทูลวินิจฉัยในสัปดาหะนี้ ในพงศาวดารว่าเมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งพระราชวังที่อยู่ตรงวัดพระศรีสรรเพชญ์บัดนี้ ทรงสร้างปราสาท ๓ องค์ คือ พระที่นั่งไพฑูรย์ปราสาทองค์ ๑ ไพชยนต์ปราสาทองค์ ๑ ไอสวรรย์ปราสาทองค์ ๑ เห็นว่าคงเป็นปราสาทไม้ และสูญไปเมื่อเปลี่ยนวังเป็นวัดทั้ง ๓ องค์

ในพงศาวดารกล่าวต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ย้ายวังไปสร้างที่ริมน้ำ คือ เขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ไปข้างเหนือ ทรงสร้างปราสาท ๒ องค์ คือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทองค์ ๑ พระที่นั่งเบ็ญจรัตนปราสาทองค์ ๑ มีปราสาทแต่ ๒ องค์มาจนถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง จึงทรงสร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกปราสาทเพิ่มขึ้นอีกองค์ ๑ แต่สร้างแล้วไม่ช้าก็ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้หมด พระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งมังคลาภิเษกลงแล้วสร้างปราสาทใหม่ขึ้นแทน ขนานนามว่าพระวิหารสมเด็จ มหาปราสาทจึงมีขึ้นเป็น ๓ องค์ เมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (ไม่นับถึงปราสาทจักรวรรดิ์ไพชยนต์อันอยู่นอกเรื่อง)

มหาปราสาทในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ซากก็ปรากฏอยู่ ๓ องค์ ล้วนสร้างหันหน้าทางทิศตะวันออกเรียงกันแต่ข้างใต้ไปข้างเหนือ คือพระวิหารสมเด็จสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งสุริยามรินทร์ สังเกตดูพอเต็มเนื้อที่ที่จะสร้างปราสาทแนวนั้นได้ ๓ องค์เท่านั้น คิดประกอบกับเรื่องสร้างมหาปราสาทที่กล่าวมาแล้ว ปราสาทเบ็ญจรัตนต้องอยู่ต่อปราสาทสรรเพชญไปทางข้างเหนือ (ตรงที่สร้างปราสาทสุริยามรินทร์) จึงมีที่ว่างอยู่ทางข้างใต้ให้พระเจ้าปราสาททองสร้างพระวิหารสมเด็จได้ตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงสันนิษฐานว่า พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งคงให้รื้อปราสาทเบ็ญจรัตนลงสร้างปราสาทใหม่ขึ้นแทน ขนานนามว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แต่หากผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึงเรื่องสร้างพระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงไม่ปรากฏ และชื่อพระที่นั่งเบ็ญจรัตนจึงเลยลับไป จนคนภายหลังไม่รู้ว่าปราสาทองค์ใดนั้นอยู่ที่ไหน กระแสพระราชดำริมีเค้าเงื่อนอยู่ที่อื่นประกอบให้เห็นสมจริง เป็นต้นว่าแบบและฝีมือที่ก่อสร้างพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เช่นทำพื้นเป็นเรือน ๒ ชั้นเป็นต้น เป็นความคิดและฝีมือช่างชั้นหลังสร้างปราสาทองค์อื่นๆ ช้านาน และยังมีที่สังเกตอีกอย่าง ๑ ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารออกชื่อพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นครั้งแรกเมื่อเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมาจากเมืองลพบุรี ว่าประดิษฐานพระบรมศพไว้ ณ ที่พระที่นั่งสุริยามรินทร์ น่าสันนิษฐานว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์นั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างตามอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสร้างพระวิหารสมเด็จ และยังน่าสันนิษฐานต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชย์ใคร่จะเอาอย่างสร้างปราสาทเฉลิมพระเกียรติบ้าง แต่ไม่มีที่ทางข้างหน้าจึงไปสร้างปราสาทบรรยงค์รัตนาศน์ที่กลางสระทางข้างหลัง รวมอธิบายเห็นว่าพระที่นั่งเบ็ญจรัตนอยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งสุรยามรินทร์นั้นเอง

๒) จะทูลเรื่องที่หม่อมฉันปรารภถึงปราสาทในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาติดต่อไป หม่อมฉันไปเปิดดูหนังสือเรื่อง “คำให้การชาวกรุงเก่า” เมื่อเร็วๆนี้ สังเกตตอนพรรณนาว่าด้วยปราสาทราชมนเทียรว่า “ภายในพระราชวังมีราชมนเทียรเป็นปราสาท ๓ องค์ พระที่นั่งวิหารสมเด็จอยู่ข้างใต้ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทอยู่กลาง พระที่นั่งสุริยามรินทร์อยู่ข้างเหนือ พระมหาปราสาท ๓ องค์นี้ (พระวิหารสมเด็จกับสรรเพชญปราสาท) มีราชบัลลังก์ใหญ่อยู่ข้างในองค์ ๑ มีราชบัลลังก์น้อยอยู่ที่มุขเด็จองค์ ๑ ฯลฯ พระมหาปราสาท (พระวิหารสมเด็จกับสรรเพชญปราสาท) กว้างขนาดขื่อ ๔ วา สูง (ตลอดยอด) ๒๕ วา ยอดเป็นพรหมพักตร์ เหนือพรหมพักตร์ขึ้นไปมีฉัตรปิดทอง ๕ ชั้น หลังคามหาปราสาทมุงด้วยกระเบื้องดีบุก มหาปราสาทองค์อื่น (คือพระวิหารสมเด็จกับสรรเพชญปราสาท) มีมุขยาวไปทางตะวันตกตะวันออก แต่พระที่นั่งสุริยามรินทร์นั้นเป็นจตุรมุข คือมีมุขทิศเหนือและทิศใต้อีก ๒ มุข ไม่มีมุขเด็จมุขกระสันตั้งราชบัลลังก์ (แต่) ข้างในตรงกลางมหาปราสาททั้งปวงนี้ฝาก่อด้วยอิฐ ที่พระแกลและเครื่องบนปิดทอง ส่วนสูงต่ำของมหาปราสาททั้ง ๓ องค์นี้เท่าๆ กัน”

หม่อมฉันนึกว่าที่พรรณนาว่า “ยอดเปนพรหมพักตร์” นั้น จะเป็นอย่างเดียวกันกับยอดพระที่นั่งพรหมพักตร์ วังหน้าที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานหรือเป็นอย่างไร และนึกหวนขึ้นไปว่า เพราะเหตุใดจึงทำหน้าพรหมที่ยอดปราสาท ก็ออกฉงนและยังฉงนต่อไปอีก ว่าเพราะเหตุใดยอดปราสาทสร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นต้น จึงไม่ทำพรหมพักตร์ มีแต่ที่กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ ทรงทำไว้ที่ยอดพระที่นั่งอย่างน้อยแห่งเดียว ก็ยังฉงน จึงลองคิดค้นหาเค้าเงื่อนเห็นมีอยู่อย่าง ๑ ซึ่งอ้างในพงศาวดารว่าถ่ายแบบพระที่นั่งสุริยามรินทร์มาสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ชะรอยยอดพระที่นั่งสุริยามรินทร์จะไม่มีพรหมพักตร์ หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ยอดปราสาทในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา จะมีพรหมพักตร์แต่บางองค์ดอกกระมัง เมื่อคิดขึ้นอย่างนั้นก็เลยเตือนใจให้หม่อมฉันหวนระลึกถึงความหลังต่อขึ้นไปคล้ายความฝัน เพราะเป็นแต่ความทรงจำอันไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ ดังจะทูลต่อไปนี้ -

ตั้งแต่พระยาโบราณราชธานินทร์ยังเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศร์ ตำแหน่งผู้รักษากรุงฯ เคยพาหม่อมฉันไปดูวัดยมเป็นครั้งแรก วัดนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงปฏิสังขรณ์ ข้างในโบสถ์เขียนฝาผนังเหนือประตูหน้าต่าง ด้านหลังพระประธานเขียนรูปปราสาทราชวังกรุงศรีอยุธยา ด้านข้างเขียนรูปภาพกระบวนแห่พยุหยาตรากฐิน (เข้าใจว่าท่านก็จะได้เสด็จไปทอดพระเนตร์แล้ว) สมัยนั้นฝนก็รั่วหลังคาโบสถ์ชะรูปเลือนไปบ้างแล้ว แต่หม่อมฉันยังจำรูปที่เขียนพระราชวังได้ ๓ อย่าง อย่าง ๑ คือมหาปราสาทองค์ข้างใต้ คือพระวิหารสมเด็จดูเป็นยอดปรางค์ ยังจำได้ว่าถึงนึกประหลาดใจในเวลานั้น ว่าไฉนจึงเขียนปราสาทเป็นยอดปรางค์ อีกอย่าง ๑ กำแพงวังชั้นในข้างหน้าปราสาทเตี้ย (เหมือนกำแพงเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์) มีประตูหูช้าง อีกอย่าง ๑ มีนกกะเรียนตัว ๑ ปล่อยเดินอยู่ในลานหน้าปราสาท แต่เมื่อไปดูครั้งแรกไม่สู้เอาใจใส่นัก ต่อมาถึงสมัยเมื่อพระยาโบราณฯ ตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ให้ช่างไปจำลองรูปภาพกระบวนแห่ลงสมุดไว้ หม่อมฉันจึงคิดขึ้นถึงรูปพระราชวัง บอกพระยาโบราณฯ ว่าควรจะจำลองมาไว้ด้วย พระยาโบราณฯ ไปดูกลับมาบอกว่ารูปพระราชวังนั้นฝนชะลบเสียหมดแล้ว หม่อมฉันไปดูอีกครั้ง ๑ ก็เห็นลบเสียหมดแล้วจริง ความที่ได้สำคัญไว้เมื่อเห็นแรกก็กลายเป็นความฝันไปด้วยประการฉะนี้ จึงได้แต่ตั้งเป็นข้อวินิจฉัยว่า-

ข้อ ๑ ปราสาทราชมนเทียรที่ทำเป็นยอดปรางค์ เคยมีหรือไม่ ข้อนี้ที่ทำพระเมรุมาศพระบรมศพเป็นยอดปรางค์เคยมีแต่โบราณ และบางทีจะเป็นเหตุนั้นกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ จึงทรงสร้างบุษบกตั้งพระพุทธสิหิงค์เป็นยอดปรางค์ (ยังอยู่ที่วัดไพชยนต์พลเสพ) และทูลกระหม่อมจึงทรงสร้างเวชยันต์วิเชียรปราสาทที่เมืองเพชรบุรี และพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นยอดปรางค์

ข้อ ๒ เครื่องยอดอย่างพรหมพักตร์มีมาแต่เมื่อใด ข้อนี้รู้ได้แน่ว่ายอดพรหมพักตร์เป็นแบบยอดปรางค์เขมรมีมาแต่โบราณ ไทยเอาอย่างมาเมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในสมัยเมื่อถ่ายแบบอะไรต่างๆ ที่เมืองเขมร คือพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์และพระนครหลวงเป็นต้น มาสร้างเฉลิมพระเกียรติ์ จะทำยอดพระวิหารสมเด็จเป็นยอดปรางค์มีพรหมพักตร์อนุโลมตามแบบเขมรหรืออย่างไร ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันหรือปฏิเสธ แต่ตัวอย่างพรหมพักตร์ที่ไทยเอามาทำมียอดประตูพรหมในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่

ข้อ ๓ กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ ทรงได้แบบอย่างทำพรหมพักตร์เข้ากับยอดปราสาท (มิใช่ยอดปรางค์) มาแต่ไหน หรือทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง ข้อนี้มีความในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อรัชกาลพระเจ้าบรมโกศโปรดให้รื้อเครื่องบนพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาศน์ และพระที่นั่งสุริยามรินทร์ “ซึ่งคร่ำคร่า” ลงทำใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนเครื่องบนพระวิหารสมเด็จด้วยในครั้งนั้น จะเป็นเพราะยอดก่อเป็นปรางค์มันคงยังดีอยู่ดอกกระมัง ในพงศาวดารยังกล่าวต่อไปว่า เครื่องบนพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเดิมหุ้มดีบุก โปรดให้ปิดทองทั้งหมดด้วย บางทีจะเพิ่มพรหมพักตร์เข้ากับยอดไม้ที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทในครั้งนั้นเฉลิมพระเกียรติ เพราะพระเจ้าบรมโกศก็ปราบเมืองเขมรได้คล้ายกับพระเจ้าปราสาททองอีกครั้ง ๑ ถ้าเช่นนั้นพรหมพักตร์ยอดเครื่องไม้ก็มีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแต่เอาอย่างมาทำ ที่ทูลมานี้เป็นแต่เครื่องบรรเลงสำหรับให้ทรงคิดวินิจฉัยเล่นสนุกๆ ไม่ยืนยันว่าเป็นหลักฐานอย่างไร

๓) ธงอย่างมีปลายปลิวเช่นที่จำหลักไว้ ณ พระนครวัด และที่ทอดพระเนตรเห็นที่เกาะบาหลีนั้น เห็นอาจจะตรงกับที่เราเรียกว่า “ธิว” เพราะเป็นแบบเก่า เมื่อไม่มีธงอย่างนั้นแล้วจึงเอาชื่อ “ธิว” ไปเรียกธงจีนอย่างที่เอาแพรเย็บสวมปลายไม้

๔) ชื่อนางมณีเมขลาเป็น ๒ ศัพท์คือ “แก้ว” กับ “เครื่องคาด” รวมกัน ได้ความแต่ว่า ดวงแก้วอันมีอะไรผูกล่ามไว้กับตัวคน มิใช่มีแต่ดวงแก้ว จะผูกล่ามไว้กับเข็มขัดที่คาดพุงหรือผูกล่ามไว้ด้วยสายสร้อยที่ถือไว้ในมือ ดูก็ไม่ผิดกันเป็นข้อสำคัญ เพราะฤทธิ์อยู่ที่ดวงแก้วมณีเมขลาเป็นแต่เครื่องผูกล่าม ที่จะหมายความว่าเทวธิดาตนหนึ่งซึ่งคาดเข็มขัดแก้วมณี ดูก็ไม่สม เพราะนางเทวธิดาอื่นก็อาจจะคาดได้เหมือนกัน จะเป็นได้อีกอย่างหนึ่งก็แต่มีใครให้ชื่อตัวเทวธิดานั้นว่า “เข็มขัดแก้วมณี” เช่นเดียวกับเราให้ชื่อเด็กผู้หญิงว่า “สังวาลย์” ถ้าเช่นนั้นนางก็มีฤทธิ์ด้วยอย่างอื่นมิใช่เพราะแก้วมณี

๕) อ่านตรงตรัสว่าเพลงดนตรีของไทยชอบเรียกชื่อว่าเพลงของชนชาติอื่น เช่น แขก มอญ พม่า ลาว เขมร นั้น หม่อมฉันรู้สึกข้องใจทันที ด้วยนึกถึงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรารภในกาลครั้งหนึ่ง ด้วยกรมหลวงสรรพศาสตร์ฯ ทูลถึงดอกกุหลาบอย่างสีชมพูที่มีเป็นพื้นเมือง เรียกว่า “กุหลาบมอญ” ตรัสทักถามทันทีว่ากุหลาบอย่างนั้นมันเป็นของมอญด้วยเหตุอันใด กรมหลวงสรรพศาสตร์ฯ ก็จน จึงตรัสปรารภต่อไปว่า ดูไทยเราเองช่างไม่มีอะไรดีเสียเลย ถ้าของแปลกของดีก็มักเรียกกันว่าเป็นของชาติอื่น ต่อของเลวจึงว่าเป็นของไทย ดูแต่หมา ถ้าหมาคนชอบเลี้ยงก็เรียกกันว่า หมาฝรั่ง หมาจู ต่อหมาที่วิ่งอยู่ตามถนนจึงเรียกว่า หมาไทย

ในเรื่องเพลงดนตรีของไทย ตำราโบราณบอกชื่อเพลงทั้งเพลงปี่พาทย์และเพลงมโหรีเป็นอันมากมีอยู่ในหอพระสมุดฯ หม่อมฉันได้ให้พิมพ์นานแล้ว ลองถามพวกครูดนตรีบอกว่าเป็นเพลงที่ไม่เคยได้ยินมีมากก็ไม่ประหลาดใจ เพราะเราใช้จำไม่มีวิธีจดเพลงดนตรี เพลงก็เข้าในสังสารวัฏเกิดขึ้นและตายไปเป็นธรรมดา คิดดูถึงเหตุที่มีชื่อเพลงต่างชาติมาก เห็นว่าจะเป็นเช่นนี้ คือโดยปรกติทำเพลงตับตามตำรา เช่นเพลงโหมโรงลงมาจนงานพระสวดมนต์ฉันเช้าเป็นต้น ใช้เพลงซ้ำอยู่เสมอพวกปี่พาทย์มโหรีฟังเบื่อ ผู้ที่มีความสามารถไปได้ยินเพลงแปลกๆ ซึ่งโดยมากย่อมเป็นเพลงของชนต่างชาติ จึงจำเอามาคิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงใหม่ฟังเล่นแปลกๆ แล้วเอาไปทำแถมเข้าในเพลงตับเมื่อมีโอกาส ต่างวงเกิดประชันกันขึ้นด้วยแถมเพลงแปลกๆ เช่นนั้นก่อน แล้วก็เลยชอบทำเพลงแปลกอวดให้คนฟังจึงมีชื่อเพลงต่างชาติมากด้วยประการฉะนี้

๖) คำว่าบุหงา หมายแต่ว่าดอกไม้ ๆ อย่างไรก็เรียกว่าบุหงาทั้งนั้น เช่นต้นไม้ทองของบรรณาการก็เรียกว่า บุหงามาศ แหลมเกาะปีนังนี้แห่ง ๑ ก็เรียกชื่อว่า ตันหยงบุหงา บุหงารำไป เห็นจะแปลว่า ดอกไม้หอมเท่านั้น ซึ่งทรงพระดำริว่าคำ “ร่ำ” เช่น “แป้งร่ำ” จะมาแต่คำรำไปนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกทีเดียว

๗) ขนมกระดูกผีนั้นหม่อมฉันรู้จักมาแต่เด็ก ด้วยเขาขายรวมอยู่ในเครื่องจันอับ แข็งเคี้ยวไม่ไหวเลย ไม่ชอบกินมาแต่เด็กด้วย มาอยู่ปีนังเขาซื้อมาใส่เครื่องหวานครั้ง ๑ ก็ต้องลาอีก ไม่แต่ขนมกระดูกผีเท่านั้น เดี๋ยวนี้กับข้าวของกินอย่างอื่นถ้าเหนียวหรือแข็งนักหม่อมฉันก็กินไม่ได้เพราะฟันมันไม่สู้เสียแล้ว

๘) ชื่อไทยที่เขาคิดสำหรับโรงเกาเหลาห้อยเทียนเหลาว่าหยาดฟ้านั้นดูเป็นหลักฐานและไพเราะน่าชมอยู่ แต่ก็เป็นแต่เขียนชื่อภาษาไทยเพิ่มขึ้นเท่านั้น มิใช่เปลี่ยนชื่อเป็นไทย เพราะโรงเกาเหลาเขาตั้งสำหรับขายจีนเป็นอาทิ จำต้องมีชื่อภาษาจีนสำหรับจีนเรียกว่า ห้อยเทียนเหลาคงอยู่นั่นเอง

๙) พระเถระธรรมยุติที่เข้าไปอยู่ในวังเมื่อทรงพระผนวชนั้น รูปหมู่ที่ฉายในพระพุทธรัตนสถานหม่อมฉันไม่มีอยู่ที่นี่ แต่นึกจำได้ ๙ องค์ คือกรมสมเด็จพระปวเรศฯ พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอรุณฯ พระองค์ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์ ๑ สมเด็จพระวันรัตน์ (ทัพ) องค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) องค์ ๑ พระพรหมมุนี (เหมือน) องค์ ๑ พระเทพกวี (นิ่ม) องค์ ๑ พระจันทโคจรคุณ องค์ ๑ พระพรหมเทพาจารย์ (ชื่อไรจำไม่ได้ วัดเสนาศน์) องค์ ๑ ถ้านับเป็นพระสงฆ์ ๑๐ รูป รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็หมดเพียงเท่านั้น ถ้ามิฉะนั้นก็จะมีอีกองค์ ๑ แต่หม่อมฉันนึกไม่ออกว่าจะเป็นท่านผู้ใด

๑๐) หน้าวัดบวรนิเวศน์ตอนกุฏิพระแต่เดิมกำแพงแก้วอยู่ลึกเข้าไปจากถนนตลอดเขตวัด เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะทรงพระผนวชปลูกตึกแถวขึ้นเป็นห้องเครื่องและที่ข้าคนพักจรดถึงริมถนน กำแพงยังอยู่ลึกแต่ตอนหน้าตำหนัก ที่ทำกำแพงใหม่ออกไปให้ได้แนวนั้นสมควรแล้ว

๑๑) ลักษณะพระพุทธชินศรีนั้น หม่อมฉันเห็นด้วยดังทรงพระดำริ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ