วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม มาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ พอวันศุกร์ที่ ๓๐ เวลาบ่ายเขาก็เชิญมาส่งให้หม่อมฉัน แต่หม่อมฉันนึกเกรงว่าจะส่งช้าเหมือนเมล์ก่อน ได้ลงมือร่างจดหมายเวรไว้ก่อนบ้างแล้ว

ทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ที่ค้างมา

๑) ที่คุณโตทูลถามว่า เมืองเชียงคำกับเมืองเชียงทองต่างเมืองหรือเมืองเดียวกัน หม่อมฉันพอจะทูลอธิบายถวายได้ เมืองเชียงคำเป็นเมืองขึ้นของเมืองน่านอยู่ข้างเหนือ และมีฝอยที่จะทูลต่อไป ว่าชาวเมืองเชียงคำนั้นเป็นไทยลื้อโดยมาก หม่อมฉันได้เคยพูดกับพวกลื้อ ฟังสำเนียงและถ้อยคำที่ใช้ในภาษาเช่นเรียกเสื่อว่าสาด เรียกลูกสับปะรดว่ายานัด เป็นต้น เหมือนชาวนคร (ศรีธรรมราช) จนประหลาดใจ ด้วยยุติต้องกับที่กล่าวในเรื่องพงศาวดารว่า สมเด็จพระราเมศวรกวาดเชลยชาวลานนาลงมาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ แล้วให้ลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชกว่า ๕๕๐ ปีมาแล้ว สำเนียงและภาษาเดิมยังอยู่มาได้

เมืองเชียงทองนั้นเป็นเมืองขึ้นของเมืองตาก มีเมืองเชียงเงินเป็นคู่กัน เมื่อหม่อมฉันไปเมืองตากครั้งแรกเขาชี้ที่ตั้งเมืองเชียงทองให้ดู อยู่ใต้เมืองตาก (ระแหง) ลงมาไม่มากนัก หม่อมฉันคิดเห็นแต่ครั้งนั้นว่า เมืองเชียงทองเดิมน่าจะอยู่ที่อื่นเป็นแต่ย้ายคนมาตั้งเมืองใหม่ จึงอยู่ชิดเมืองตากนัก เมื่อจะร่างจดหมายนี้นึกขึ้นได้ว่าชื่อเมืองเชียงทอง มีชื่ออยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วขึ้นไปตีเมืองเชียงอินทร์ เอามาเปิดดูก็ได้ความเป็นหลักฐานว่าเมืองเชียงทองเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่อยู่ปลายแดนต่อเขตเมืองตาก เหตุที่จะเกิดสงครามครั้งนั้นเป็นเพราะเจ้าเมืองเชียงทองโจทย์มาสามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเชียงใหม่ให้ลงมาปราบเมืองเชียงทอง กองทัพมาตั้งล้อมเมืองอยู่ สมเด็จพระพันวัสสาจึงโปรดให้พลายแก้วคุมพลขึ้นไปช่วยเมืองเชียงทอง ความในเสภาก็ว่าเมืองเชียงทองอยู่เหนือเมือง “กำแพงระแหงเถิน” ดังนี้

บางทีจะมีเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบางเรียกว่าเมืองเชียงทองอีก แต่ชื่อเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบางเป็นอาจินตัยไม่เป็นหลักฐานเหมือนเมืองเชียงทองที่ขึ้นเมืองตาก เพราะมีชื่ออยู่ในทำเนียบมาแต่โบราณ และมีเรื่องในเสภาดังทูลมา

๒) ซึ่งทรงปรารภว่ายอดเครื่องสูงที่ทำเป็นหน้าพรหมจะเป็นของทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้น ดูงามจะเป็นได้ แต่ยอดที่ทำหน้าพรหมมี “พระที่นั่งพรหมพักตร์” ในวังหน้ามาแล้วแต่รัชกาลที่ ๑ พระที่นั่งพรหมพักตร์นั้น (เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ที่ยอดบุษบกมีหน้าพรหมอยู่ใต้บัวกลุ่ม ผิดกับพระที่นั่งบุษบกมาลา และบุษบกอื่นๆ หมด น่าจะแรกมีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเรียกว่าพระที่นั่งพรหมพักตร์ แต่กรมพระราชวังบวรฯ ก็คงทรงประดิษฐ์ตามแบบหน้าพรหมซึ่งพระเจ้าปราสาททองได้มาจากเมืองเขมรนั่นเอง อาจจะมีหน้าที่พรหมแต่ยอดพระที่นั่งพรหมพักตร์มาจนรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เอาแบบพรหมพักตร์มาเพิ่มที่ยอดเครื่องสูงให้ผิดกับพระกลดเจ้านาย ประตูพรหมก็เป็นสร้างในรัชกาลที่ ๔ เอาแบบมาจากยอดประตูในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ ประหลาดอยู่ที่มาทำเป็นรูปเศียรเทวดา ๔ องค์ หาทำเป็นพรหม ๔ หน้าอย่างแบบเดิมไม่

๓) เมื่อเร็วๆ นี้ หม่อมฉันได้เห็นรูปฉายงานพระเมรุทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงเพชรบุรี ที่เขาลงไว้ในหนังสือพิมพ์ พิจารณาประกอบกับรายการที่ทรงพรรณนามาในลายพระหัตถ์ เห็นว่ากระบวนการสมควรแก่กาลหมดทุกอย่าง ถ้าจะหาที่ติก็เห็นแต่ทรงหลังคาปราสาทงามน้อยไปสักหน่อย ระเบียบที่นั่งบนพลับพลาและทางขึ้นถวายพระเพลิง ก็นึกชมว่าสมควรแก่กาลอีก เพราะถ้าเป็นอย่างเดิมที่นั่งทางฝ่ายในก็คงโหรงเหรง ทางฝ่ายหน้าก็คงยัดเยียดไม่เรียบร้อย แม้กระบวนแห่พระศพก็สมควรแก่กาลแล้ว หม่อมฉันเห็นรูปงานพระเมรุเกิดยินดีนอกเรื่องอย่างหนึ่ง ด้วยได้เห็นญาติที่มิได้เห็นมาช้านานหลายพระองค์

ทูลสนองลายพระหัตถ์สัปดาหะนี้

๔) การตั้งชื่อเห็นจะยากเป็นสาธารณจริงดังทรงพระดำริ ไม่ใช่แต่ตัวหม่อมฉัน สังเกตตามอธิบายที่ประทานมา ถ้าเทียบลักษณะชื่อด้วยเครื่องแต่งตัว ดูมีทั้ง “ปรกติ” ครึ่งยศ “เต็มยศ” และ “เต็มยศใหญ่” ชื่ออย่างปรกตินั้นเรียกกันในครัวเรือนแต่แรกเกิด เช่นเรียก ชาย หญิง ใหญ่ กลาง เล็ก น้อย หนู แดง เป็นต้น

ชื่ออย่างครึ่งยศ เป็นชื่อตั้งสำหรับเรียกเพื่อความสะดวก บุรพการีตั้งก็มี เช่น หญิงอี่ หญิงอาม เป็นต้น ที่ดูเป็นคำบุคคลภายนอกเรียกก็มีเช่นคำว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” “พระองค์เสือ” “พระองค์ช้าง” เป็นต้น

ชื่ออย่างเต็มยศเป็นชื่อตั้งประจำตัว เช่นเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์” พระองค์เสือทรงพระนามว่า “พระองค์เจ้าอภัยทัต” พระองค์ช้างทรงพระนามว่า “พระองค์เจ้าอรุโณทัย” เป็นต้น

ชื่ออย่างเต็มยศใหญ่เป็นชื่อเลื่อนขึ้นจากชื่อประจำตัว เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็น “กรมขุนเสนาพิทักษ์” พระองค์เจ้าอภัยทัตเป็น “กรมหมื่นเทพพลภักดิ์” พระองค์เจ้าอรุโณทัยเป็น “กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ” เป็นต้น

๕) เวลาเขียนเรื่องให้ชื่อที่ทูลมานี้ พบอะไรแปลกอย่างหนึ่ง หม่อมฉันนึกๆ ขึ้นว่าอะไรจะเป็นนิมิตรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระนามว่า “ทับ” ลองไปเปิดดูในหนังสือราชสกุลวงศ์ได้ความว่า ประสูติเมื่อปีมะแมนพศก พ.ศ. ๒๓๓๐ ไปเปิดดูพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ได้ความว่าในปีมะแมนพศกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จไปตีเมืองทวายและโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นตำแหน่งยกกระบัตรทัพครั้งแรกที่เสด็จออกสงคราม เห็นจะเอาการทัพครั้งนั้นเป็นนิมิตพระนาม

๖) เรื่องสมาคมญาโณทัยขอพระธรรมยุติมาอยู่วัดศรีสว่างอารมณ์เป็นเรื่องยืดยาว แต่หม่อมฉันได้เคยทูลเล่าถวายโดยพิสดารในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้ทูลต่อมาในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ฉบับ ๑ เรื่องปรากฏอยู่ในจดหมาย ๒ ฉบับนั้นแต่ต้นจนปลายแล้ว

ชื่อที่เรียกว่า “ญาโณทัย” นั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ขนาน คงหมายว่าแผ่คติธรรมยุติ (วชิรญาณ) ให้รุ่งเรือง

๗) รูปภาพเรือรูปสัตว์ หม่อมฉันก็ได้สังเกตเห็นจำหลักไว้ทั้งที่ปราสาทบายนและนครวัดในเมืองเขมร ได้ตระหนักใจมาแต่นั้นว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เอาอย่างเรือเขมรมาทำเรือรูปสัตว์มิใช่คิดขึ้นใหม่ ยังประหลาดใจกว่านั้นอีก ด้วยเมื่อหม่อมฉันไปนครวัดไปเรือเมล์จากเมืองพนมเพ็ญทางทะเลสาบ เรือไปทอดที่ปากน้ำเมืองเสียมราฐเขาเอาเรือเล็กรับไปขึ้นบก เมื่อเขาไปในลำน้ำเห็นเรือพายที่ชาวบ้านใช้กันในพื้นเมืองจอดอยู่ตามข้างตลิ่ง ล้วนทำหัวเรือรูปเหมือนอย่างหัวเรือศรีของไทยทั้งนั้น ก็ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่าแม้เรือศรีไทยเราก็เอาอย่างมาจากเขมร

๘) จะทูลต่อไปถึง “ตกกระ” กระนั้นขึ้นแต่ที่หน้าเป็นเมล็ดห่างๆ กัน ซีกหน้าละเพียง ๔ เมล็ด ๕ เมล็ด หาเป็นฝ้ากว้างไม่

๙) ทราบจากลายพระหัตถ์ว่าพระพรหมพิจิตร์เป็นผู้ให้แบบสร้างวัดศรีมหาธาตุ ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นเพราะเคยรู้จักตัวแก ตระหนักใจว่าแกคงไม่ทิ้งแบบอย่างที่เคยนับถือว่าเป็นหลัก และคงไม่คิดแผลงนอกรีตไปต่างๆ พระเจดีย์ที่วัดราชาธิวาสนั้น กรมพระนเรศฯ ทรงขวนขวายคิดแบบเมื่อท่านยังเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ สร้างในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันไม่มีโอกาสทักท้วง แต่ไม่ชอบใจอยู่อย่าง ๑ ที่ท่านเอาพระพุทธรูปแบบชวาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปตั้งในซุ้ม ๔ ทิศพระเจดีย์ ด้วยพระพุทธรูปเหล่านั้นเป็นชุด ๕ องค์มีพระนามและมุทรต่างกันตามคติมหายาน รัฐบาลฮอลันดาเขาถวายอนุญาตให้ทรงเลือกมาครบทั้งชุด เดิมโปรดให้ตั้งรายไว้บนกำแพงแก้วพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางต้านใต้เรียงกันดูตระหง่านไปเป็นระยะทั้ง ๕ องค์ กรมพระนเรศฯ ถอนเอาไขตั้งในซุ้มพระเจดีย์เช่นนั้นทำให้เสียหายถึง ๒ กระทง คือย้ายศิลปวัตถุที่คนชมได้ง่ายเอาไปไว้เสียในที่ลี้ลับกระทง ๑ แต่ยังร้ายกว่านั้นอีกกระทง ๑ ที่ซ้ำเอาพระพุทธรูปซึ่งยังเหลืออีกองค์ ๑ แยกไปถวายสมเด็จพระมหาสมณะที่วัดบวรนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่หน้าซุ้มข้างหน้าโบสถ์จนบัดนี้ การที่ทำเหมือนกับลบล้างตำรับตำราของพระพุทธรูป ๕ องค์นั้น กับทั้งเรื่องที่ตำนานสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปได้มาจากเมืองชวาให้สูญไป จึงเห็นเป็นบาปกรรม แต่ว่ามิได้ทำโดยเจตนา มีข้อแก้เพียงเท่านั้น

๑๐) ข่าวที่ว่า “ฉาย” (หรือขุด) แท่น (หรือฐานชุกชี) วัดเก่าที่เมืองสุราษฎร์ธานีพบพระพุทธรูป “งาม” ๓ องค์นั้น จะต้องรอจนเห็นรูปฉายพระพุทธรูปเหล่านั้นก่อนจึงจะทูลได้ว่าเป็นพระอย่างไร เพราะโดยลำพังที่พูดกันว่า “งาม” นั้น ไม่มีหลักฐานอันใดเลย

๑๑) โคมอย่างที่เรียกว่า “โคมรั้ว” นั้น มีมาถึงเมืองไทยเมื่อหม่อมฉันเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ด้วยรู้จักชื่อเรียกว่า Hurricane Lamp แปลว่าโคมทนพายุมาแต่แรก ดูเหมือนจะเป็นของอเมริกันประดิษฐ์ขึ้นก่อน แรกทำด้วยทองเหลืองราคาแพง นานมาชอบใช้กันในประเทศต่างๆ มากขึ้น ขายดีจึงคิดทำด้วยสังกะสีให้ราคาถูกจนอาจจะใช้แขวนรายตามรั้วเมื่อเวลาแต่งประทีป เลยเรียกว่าโคมรั้ว เดี๋ยวนี้ที่เมืองปีนังก็ยังใช้โคมรั้วสีแดงจุดตั้งรายห้ามรถตามที่ขุดหลุมหรือร่องซ่อมแซมถนน

๑๒) ตราพัดรองงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงเพชรบุรีนั้น หญิงพิลัยเธอตีความที่หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นออกอีกอย่าง ๑ ที่มีวงจักร์ต่อกำไลก้านบัวหมายเป็นอักษร ว ข้าง ๑ เป็นอักษร อ ข้าง ๑ ที่หม่อมฉันทูลชมตรานั้นนับได้ว่าชมอย่างบริสุทธิ์ เพราะเมื่อชมไม่รู้ว่าใครคิด ถ้ารู้ก่อนว่าเป็นพระดำริของท่าน คำชมก็ระคนด้วยความนับถือส่วนพระองค์ท่านหาบริสุทธิ์ปลอดบัลลัยทีเดียวไม่

ข่าวทางปีนัง

๑๓) เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม (อันเป็นวันอุบาทว์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) เวลาบ่าย ๔ โมง หม่อมฉันนอนอยู่บนเก้าอี้อ่านหนังสือ เห็นหญิงเหลือถือหนังสือพิมพ์เวลาบ่ายขึ้นบันไดเรือนเดินตรงมาที่เก้าอี้หม่อมฉันๆ นึกว่าเธอจะเอาหนังสือพิมพ์มาส่งให้อ่านตามเคย เมื่อใกล้เข้ามากิริยาก็ยังเป็นปรกติ แต่หม่อมฉันเห็นน้ำตาเธอไหลทั้ง ๒ ข้างผิดสังเกตตกตะลึง เธอมานั่งลงที่ข้างเก้าอี้ยังไม่ส่งหนังสือพิมพ์ให้ออกปากบอกก่อนว่า “วันนี้มีข่าวร้ายมาก เสด็จพ่อเตรียมพระองค์ที่จะฟังข่าวร้ายเสียก่อน” หม่อมฉันสั่งเธอพูดก็นึกว่าใครที่หม่อมฉันรักคงตายสักคน ๑ แต่ไม่ทันคิดคาดว่าจะเป็นใคร เธอก็ออกปากบอกว่า “สมเด็จพระปกเกล้าฯ สวรรคตเสียแล้ว” แล้วเธอก็นั่งร้องไห้อยู่ที่ตรงนั้น หม่อมฉันก็ไม่สามารถจะกลั้นความโศกศัลยได้ แต่ที่เธอเตือนล่วงหน้าก่อนก็ดูเหมือนเป็นคุณสำหรับคนแก่เช่นตัวหม่อมฉัน หาไม่อาการสะดุ้งก็อาจจะแรงถึงให้โทษแก่ร่างกาย ในวันนั้นก็เลยโศกเศร้ากันไปทั้งครัวเรือน ถึงวันอาทิตย์หม่อมฉันได้รับพระโทรเลขท่านตรัสบอกข่าวมาหม่อมฉันก็ได้ตอบไปในวันนั้น

หม่อมฉันปรึกษากับญาติและมิตรที่อยู่ ณ เมืองปีนังนี้ ว่าจะทำบุญอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยประการใดดี ตกลงกันว่าจะทำพิธีสงฆ์ที่ซินนามอนฮอลนี้เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน และถ้าถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ในยุโรป เมื่อพิธีคราว ๑๐๐ วันจะถวายเครื่องขมาด้วย

หม่อมฉันไม่ทราบว่าที่ในกรุงเทพฯ จะมีการทำบุญถวายสมเด็จพระปกเกล้าฯ อย่างไรบ้าง จึงขอมอบธุระถวายไว้ ว่าถ้ามีงานอันเจ้านายควรไปขอได้โปรดสั่งพวกลูกของหม่อมฉันให้ไปด้วย

๑๔) หม่อมฉันนึกสงสัยขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า นอกจากพระองค์ท่านจะมีใครรู้อีกหรือไม่ ว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเจตนาจะให้ฝังพระอังคารธาตุของพระองค์ไว้ ณ วัดราชบพิธ จึงได้โปรดให้บุรณะพระอุโบสถซึ่งทำค้างมาแต่รัชกาลที่ ๕ ให้สำเร็จบริบูรณ์

๑๕) คราวนี้จะทูลบทปริเทวนาการต่อไป ลูกหญิงเธอพูดขึ้นว่าในบรรดาพระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ สมเด็จพระปกเกล้าฯ พระชนมายุยืนนานกว่าทุกพระองค์หมด เสด็จอยู่มาได้จนพระชันษาถึง ๔ รอบปี หม่อมฉันได้ยินจึงไปสอบในหนังสือราชสกุลวงศ์ ได้ความว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ มีพระราชโอรส ๗ พระองค์มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ รวม ๙ พระองค์ นอกจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระชนมายุไม่ถึง ๔ รอบทั้งนั้น

๑๖) หม่อมฉันเลยสอบต่อไปถึงพระชนมายุของเจ้าฟ้าในรัชกาลต่างๆ ได้ความดังต่อไปนี้

เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๑ มี ๑๐ พระองค์ ไม่มีพระองค์ใดที่พระชันษายืนถึง ๕ รอบปี

เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๒ มี ๖ พระองค์ พระชันษายืนถึง ๕ รอบปี ๒ พระองค์ คือทูลกระหม่อม พระชนมายุได้ ๖๕ พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ พระชนมายุได้ ๖๗ ปี พระองค์ ๑

เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๔ มี ๗ พระองค์ พระชันษายืนถึง ๕ รอบปี ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระราชปิตุลาฯ พระชนมายุได้ ๖๙ ปี พระองค์ ๑ พระองค์ท่านพระชนมายุได้ ๗๘ ปีเข้าปีนี้พระองค์ ๑

เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๕ มี ๒๗ พระองค์ พระชันษายืนถึง ๕ รอบปี (ในเดือนมิถุนายนนี้) แต่ทูลกระหม่อมชายบริพัตร์ฯ พระองค์เดียวดูน่าอนาถใจ และเหลืออยู่เป็นที่สุดในเจ้าฟ้ารัชกาลที่ ๕ ด้วย

แต่งานฉลองพระชันษาของทูลกระหม่อมชาย เฉพาะประจวบเวลาสงคราม จะไปถวายพรด้วยตนเอง หรือจะส่งของอะไรไปถวายก็ลำบาก เห็นจะได้แต่มีจดหมายไปถวายพรเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ต้นฉบับเป็น นานัด เข้าใจว่าจะพิมพ์ผิด เพราะได้สอบถามชาวนครศรีธรรมราชแล้ว ได้ทราบว่า ชาวนครเรียกสับปะรดว่า ยานัด หรือ ย่านัด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ