วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๓ กันยายน ตามเคย

สนองลายพระหัตถ์

๑) ที่เรียกช้างคนขี่เข้าไปคล้องช้างเถื่อนว่า “ช้างต่อ” นั้นผิดแน่ ด้วยในตำราก็เรียกว่า “ช้างเชือก” และยังมีคำเรียกว่า “ไก่ต่อ” และ “นกต่อ” อยู่เป็นสำคัญ อันหมายความว่าสัตว์เลี้ยงสำหรับล่อสัตว์เถื่อนให้หลงมาถูกจับ และยังคำว่า “ไปต่อนก” ก็หมายความว่า ไปล่อจับนก ผิดกับไปยิงนกหรือไปดักนก ช้างที่เรียกกันว่า “ช้างต่อ” นั้น เดิมเห็นจะหมายว่าช้างบ้านที่ปล่อยไปล่อให้ช้างเถื่อนติดตามมา หรือแม้ว่าช้างโขลงหลวงที่ต้อนไปล่อให้ช้างเถื่อนเข้าตามมา น่าจะเป็นแต่คนภายนอกเอาชื่อมาเรียกที่ใช้ในการจับช้างเถื่อนรวมกันหมดทุกจำพวกว่า “ช้างต่อ” พวกกรมช้างเขาก็เรียกช้างที่เข้าไปคล้องว่า “ช้างเชือก” ตามตำรา หม่อมฉันจะเลยขยายความลับทูลต่อไป ถึงเหตุที่หม่อมฉันขวนขวายหาตำราขี่ช้างมาอ่านดังได้คัดความทูลในเรื่องบรรเลงหลายคราวแล้ว ด้วยหม่อมฉันคิดจะแต่ง “เรื่องช้าง” เป็นนิทานโบราณคดีสักเรื่อง ๑ จึงขวนขวายหาความรู้ แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียน

๒) ครูมีแขกนั้นหม่อมฉันรู้จักแต่เมื่อหม่อมฉันไว้ผมจุกไปเรียนภาษาอังกฤษที่สมเด็จพระราชปิตุลาประทับ ณ หอนิเพทพิทยา เห็นแกเดินผ่านไปหัดมโหรีของทูลกระหม่อมปราสาทที่มุขกระสันพระมหาปราสาททุกวัน เวลานั้นแกก็แก่มากอายุกว่า ๗๐ แล้ว มีบ่าวแบกซอสามสายตามหลังเสมอ วัน ๑ กรมหลวงประจักษ์ตรัสเรียกให้แกแวะที่หน้าหอ แล้วยืมซอสามสายของแกมาลองสี แกฉุนออกปากว่า “ถ้าทรงสีอย่างนั้นประเดี๋ยวไฟก็ลุก” จำได้เท่านั้น เจ้ากรมขุนเณรนั้นหม่อมฉันก็เคยเห็นแต่นั่งกำกับวงปี่พาทย์ จำไม่ได้ว่าเคยเห็นแกตีเองอย่างท่านได้ทอดพระเนตรเห็น

๓) แตรตอดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น ทำตามแบบของครูยุเซนมานาน ครั้นครูฟุสโคเข้ามาเป็นครูแตรทหารเรือ มาแก้ให้ทหารเรือเป่าก่อน แล้วพระยาวาทิตฯ จึงมาแก้ให้ทหารมหาดเล็กเป่าไปอีกอย่าง ๑ ตั้งแต่หม่อมฉันยังอยู่ในทหารมหาดเล็ก

เพลงที่เรียกว่าสรรเสริญพระนารายณ์นั้น เดิมมีแต่โน้ตอยู่ในหนังสือมองซิเออร์ลาลูแบร์ เรียกแต่ว่า Siamese Music และเขียนคำขับภาษาไทยไว้ด้วย พยายามอ่านกันมาแต่ก่อน อ่านได้แต่ว่า “สายสมรเอย” ต่อไปดูเป็นว่า “ลูกประคำสมาใบ” ก็ติดกันอยู่เพียงนั้น ที่ท่านทรงอ่านประทานมานั้นได้ความดีเป็นสิ้นสงสัย ครูฟุสโคเป็นผู้เอาเพลงนั้นออกแต่งเป็นเพลงแตรให้ทหารเรือเป่า จะต้องเรียกชื่อเพลง จึงมีใครให้ชื่อว่าสรรเสริญพระนารายณ์ เมื่อเป็นเพลงแตรแล้ว

เรื่องทำเพลงมหาชัยให้ทหารเป่าขลุ่ยและแตรวงนั้น ได้อ่านลายพระหัตถ์ หม่อมฉันจึงรู้สึกตัวว่าหลงไป ขอประทานโทษ ความจริงเป็นดังตรัสเล่า ทูลกระหม่อมชายทรงแต่งเพลงสรรเสริญเสือป่าต่างหาก

๔) ที่ประทานอธิบายเพลงชั้นเดียวสองชั้น และสามชั้นนั้น หม่อมฉันได้ความรู้ดีขึ้น ขอขอบพระคุณ

เจ้าพระยานรรัตน์ฯ เพิ่งเล่นมโหรี ในสมัยเมื่อหม่อมฉันเป็นราชองครักษ์แล้ว เล่นแต่มโหรีอยู่ก่อนแล้วจึงหัดละครขึ้นสักสองสามตัวสำหรับรำเข้ากับเพลงมโหรีซึ่งคิดปรับเข้ากับเรื่องละคร มิใช่เล่นละครให้มโหรีทำหน้าพาทย์ เพราะฉะนั้นจึงรำเพลง ๓ ชั้น ดูเหมือนเล่นแต่เวลาเลี้ยงเพื่อนที่บ้าน หม่อมฉันไม่เคยได้ยินว่าไปเล่นออกโรงที่อื่น แต่เจ้าพระยานรรัตน์ฯ เห็นจะวานครูละครเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ให้หัดรำ เรื่องรำเพลงสามชั้นจึงรู้ไปถึงบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ

๕) ลานทองที่ขุดพบ ณ วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้น พอหม่อมฉันอ่านก็ได้สังเกตคำว่า “วิหาร” ในนั้น ส่อว่าถ้าเป็นโบสถ์อย่างว่าในรายงาน ก็คงมาแปลงเป็นโบสถ์เมื่อประจุลานทองไว้นานแล้ว หรือลานทองนั้นเดิมจะประจุไว้ในวิหารแห่งอื่น ย้ายเอามาประจุไว้ในโบสถ์ต่อภายหลังต้องที่ยังจะต้องพิจารณาวัตถุสถานต่อไป วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้น หม่อมฉันจำได้มั่นคงแต่ว่ามีพระมหาธาตุอยู่กลาง และพระมหาธาตุนั้นก็มีรอยแก้ไขหลายครั้ง ทางหน้าพระมหาธาตุทางด้านตะวันออก มีพระวิหารหลวงใหญ่โต เคยตั้งพระศรีสากยมุนี ในวิหารหลวงนั้นยังมีรอยรื้อเสาต้น ๑ กับรื้อฝาผุพังเป็นช่องเมื่อชะลอพระศรีสากยมุนีมาในรัชกาลที่ ๑ หม่อมฉันเคยให้ขุดคุ้ยดูที่ตั้งพระศรีสากยมุนี เป็นฐานเตี้ยสูงจากพื้นโบสถ์สัก ๒ ศอกและมีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูปอื่นๆ ต่อออกไปเกือบถึงครึ่งวิหาร นอกจากวิหารหลวงในบริเวณวัดมหาธาตุมีพระเจดีย์วิหารหักพังอีกมากมาย แต่นึกไม่ได้ว่าเคยเห็นโบสถ์ ถ้ามีก็เห็นจะสร้างเมื่อภายหลังพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยทรงผนวช เพราะในจารึกมีว่าทรงบรรพชาในพระราชมนเทียร แล้วเสด็จไปอุปสมบทที่วัดป่ามะม่วง ถ้ามีโบสถ์ในวัดมหาธาตุในเวลานั้นก็น่าจะทรงอุปสมบทที่วัดมหาธาตุอันอยู่ในพระราชวัง เหมือนอย่างวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าพระอัษฐารสนั้น น่าจะหมายความว่า ๑๘ ศอก ด้วยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสูงขนาดนั้นตรงกับว่า “พระเท่าพระองค์” หม่อมฉันเข้าใจว่าพระศรีสากยมุนีก็ทำขนาดที่เข้าใจว่าพระองค์พระพุทธเจ้า แต่เรียกเฉพาะที่ทำเป็นพระยืนว่าพระอัษฐารส ๆ สร้างครั้งสุโขทัยมีอยู่ ๒ องค์ ๆ ๑ เป็นพระก่อ ที่ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “พระอัษฐารสลุกยืน” อยู่บนไหล่เขาที่อรัญญิกเมืองสุโขทัย อีกองค์ ๑ เป็นพระหล่อเดิมอยู่ที่วัดวิหารทอง ณ เมืองพิษณุโลก เชิญลงมาไว้ที่วัดสระเกศ ในจารึกภาษาเขมรของพระยาลิไทยแปลเป็นภาษาไทยว่า ทรงสร้างพระเท่าพระองค์ ๆ ๑ หม่อมฉันนึกว่าจะเป็นพระศรีสากยมุนีนั่นเอง หมายว่าเท่าพระองค์พระพุทธเจ้า ที่อ้างในลานทองว่าพระมหาเถรจุฬามณีสร้างพระอัษฐารสนั้น จะเป็นพระยืนหรือพระนั่ง และสร้างไว้ที่ไหน ยังน่าสงสัยอยู่

๖) พระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นบิดาจ่าชำนาญทั่วด้าว (กลั่น) กลั่นเป็นบิดาหม่อมเฉื่อยผู้มารดาของชายดิศ ๆ รู้ว่าเป็นเหลนพระมหามนตรีทรัพย์หรือไม่ และได้เคยอ่านเรื่องระเด่นลันไดหรือไม่ หม่อมฉันสงสัยอยู่ ทรงลองถามเธอดูก็ได้

คิดต่อไปก็เห็นชอบกลอย่าง ๑ ที่มีบางคนชื่อเสียงปรากฏอยู่ช้านานเพราะแต่งหนังสือเรื่องเดียว คนเช่นนั้นนึกได้ ๓ คน คือพระมหามนตรีทรัพย์แต่งเรื่องระเด่นลันไดคน ๑ หม่อมราโชทัยแต่งเรื่องนิราศลอนดอนคน ๑ คุณสุวรรณแต่งเรื่องพระมเหลเถไถคน ๑ ถ้าไม่ได้แต่งหนังสือเรื่องเหล่านั้นไว้ ชื่อเสียงก็เห็นจะลับลี้ไปเสียนานแล้ว หม่อมฉันเคยตรวจดูว่าผู้มีชื่อทั้ง ๓ คนนั้น จะได้แต่งหนังสือเรื่องอะไรไว้อีกบ้าง หนังสือที่หม่อมราโชทัยแต่งปรากฏแต่เรื่องระยะทางกับนิราศลอนดอนเท่านั้นเรื่องอื่นหามีไม่ หนังสือคุณสุวรรณแต่งมีเพลงยาวบท ๑ แต่งเมื่อยังอยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเวลาก่อนเป็นบ้า สำนวนออกจะฟุ้งอยู่แล้ว แต่ก็ไม่แปลก เมื่อแรกเป็นบ้าแต่งบทละครอุณรุธร้อยเรื่องอีกเรื่อง ๑ ก็กระนั้นเอง มาดีเอาเรื่องพระมเหลเถไถซึ่งแต่งเมื่อเป็นบ้าเต็มคราบแล้ว หนังสือที่พระมหามนตรีทรัพย์แต่ง มีโคลงฤาษีดัดตนบท ๑ เพลงยาวกลบทบท ๑ แต่งถวายจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน แต่งเพลงยาวบัตรสนเท่ห์ติเตียนพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์บท ๑ สำนวนก็ดีทั้ง ๓ เรื่อง แต่ไม่ดีอย่างแปลกประหลาดเหมือนเรื่องระเด่นลันได จึงขึ้นชื่อเสียงแต่ด้วยแต่งเรื่องระเด่นลันได

๗) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) นั้น นามสกุลว่า “อาจารยางกุล” ที่ตรัสถามมูลของคำเรียก - คำนับอย่างผู้หญิง - ว่าถอนสายบัวนั้นหม่อมฉันก็เคยทราบ แต่ลืมสนิทคิดก็ไม่ออก เป็นจนด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

บรรเลง

๘) เห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์วันที่ ๑๙ กันยายน ลือว่าจะเลิกใช้ราชาศัพท์ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงวินิจฉัยมูลของราชาศัพท์ ซึ่งได้เคยคิดมาแต่ก่อน จึงเอามาทูลบรรเลงในจดหมายฉบับนี้

ที่เรียกว่า “ราชาศัพท์” หมายความว่า “คำพูดของเจ้า” หรือ “คำพูดแก่เจ้า” มิใช่แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ -

ก. เจ้าพูดก็ไม่ใช้ราชาศัพท์สำหรับพระองค์เอง เช่นจะว่า “ฉันเสวย” “ฉันบรรทม” หรือ “พระขนงของฉัน” หรือ “พระเขนยของฉัน” หามีไม่ ย่อมใช้ศัพท์ภาษาไทยที่พูดกันเป็นสามัญว่า “ฉันกิน ฉันนอน คิ้วของฉัน และหมอนของฉัน” แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสเช่นนั้น

ข. คำราชาศัพท์ที่เป็นภาษาเขมรเช่น “ขนง เขนย” พวกเขมรแม้มาพูดในเมืองไทยเขาก็ใช้สำหรับคนสามัญ ไม่ได้เรียกว่า ขนง เขนย คิ้ว และหมอนของเจ้า

เค้ามูลดูเป็น ๒ ภาษาต่างกัน คือ ภาษาไทยภาษา ๑ ภาษาราชาศัพท์ อันเป็นคำเอามาจากภาษาเขมรกับภาษามคธและสันสกฤตโดยมาก ภาษา ๑ ลักษณะที่ไทยใช้ราชาศัพท์ก็เป็นคำผู้ที่มิใช่ใช้เรียกกิริยาหรือวัตถุอันเป็นของเจ้า หรือว่าโดยย่อราชาศัพท์ดูเป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ หรือถ้าว่าอีกอย่าง ๑ ดูเป็นเอาภาษาของคนจำพวกอื่นที่ใช้สำหรับไทยที่มาเป็นเจ้านายผู้ปกครองของตน มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่า เห็นได้ว่าคำราชาศัพท์ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดกกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไปยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ

หม่อมฉันอยากสันนิษฐานว่ามูลของราชาศัพท์จะเกิดด้วยเมื่อเขมรปกครองเมืองละโว้ ในอาณาเขตเมืองละโว้ พลเมืองมีหลายชาติ คำพูดเป็นหลายภาษาปะปนกัน ทั้งเขมร ไทย และละว้า ไทยพวกเมืองอู่ทองคงพูดภาษาไทยมีคำภาษาอื่นปนมากกว่าภาษาไทยที่พูดทางเมืองเหนือหรือจะเปรียบให้เห็นใกล้ๆ เช่นภาษาไทยที่พูดกันทางเมืองอุบลกับที่พูดกันในกรุงเทพฯ ในเวลานี้ก็ทำนองเดียวกัน ครั้นรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้อยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยา เจ้านายที่เคยอยู่เมืองเหนือนับแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยาเป็นต้น ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาและตีเมืองเขมรได้ ได้เขมรพวกที่เคยปกครองเมืองเขมรเข้ามาเพิ่มเติม ระเบียบราชาศัพท์จึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้น แต่เจ้านายเคยตรัสอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ตรัสอยู่อย่างนั้น ใช้ราชาศัพท์แต่กับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่ทรงศักดิ์สูงกว่าหรือเสมอกัน นี่ว่าด้วยกำเนิดของราชาศัพท์ ถ้าว่าต่อไปถึงความประสงค์ที่ใช้ราชาศัพท์ดูก็ชอบกล สังเกตตามคำที่เอาคำภาษามคธและสันสกฤตมาใช้ เช่นว่า พระเศียร พระโอษฐ์ พระหัตถ์ พระบาท เป็นต้น ดูประสงค์จะแสดงว่าเป็นของผู้สูงศักดิ์กว่าที่มิใช่เจ้าเท่านั้น แต่ที่เอาคำสามัญในภาษาเขมรมาใช้ เช่นพระขนง พระเขนย และพระขนองเป็นต้น ดูเป็นแต่จะเรียกให้บริวารที่เป็นเขมรเข้าใจ มิใช่เพราะถือว่าภาษาเขมรสูงศักดิ์กว่าภาษาไทย ชวนให้เห็นว่าเมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยายังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจกันมากมาใช้ และราชาศัพท์ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้น ด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด ใช่แต่เท่านั้นยังคิดใช้ราชาศัพท์ผิดกันในเจ้าต่างชั้น เช่นคำว่าตาย ใช้ศัพท์ต่างกันตามยศเป็นหลายอย่าง และคิดคำอย่างราชาศัพท์สำหรับผู้มียศแต่มิใช่เจ้าขึ้นอีก เช่นขุนนางผู้ใหญ่ตายเรียกว่า อสัญกรรม ขุนนางผู้น้อยตายเรียกว่า อนิจกรรมเป็นต้น ถ้ารวมความก็ประสงค์จะแสดงว่าสูงศักดิ์ผิดกับผู้อื่นเท่านั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ