วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้น่าขอบใจพนักงานตรวจหนังสือที่เมืองปีนัง ด้วยลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๕ เมษายน มาถึงในคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พอวันศุกร์เช้าเขาก็เอามาส่งในเวลาเช้า แปลกที่ส่งแต่ลายพระหัตถ์เท่านั้น หนังสือพิมพ์กับจดหมายของคนอื่น เขาเอามาส่งต่อวันเสาร์ตามเคย

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) ความคิดที่ทำเครื่องหมายพระธรรมจักร์เป็นรูปล้อรถ เห็นจะเกิดก่อนความคิดเขียนยันต์ รูปเธาะขัดสมาธิ์ช้านานตั้งพันปีตามทางตำนานว่า ยันต์ต่างๆ พวกถือพระพุทธศาสนานิกาย “ตันตระ” ซึ่งยังนับถือกันในประเทศธิเบศ เป็นสาขาอันหนึ่งของมหายานคิดประดิษฐ์ขึ้น และพามาสอนในเมืองพม่าก่อน แล้วจึงแพร่หลายมาถึงเมืองไทย แต่พวกนิกายตันตระใช้ยันต์แต่ในทางกระทำกฤตยาคม เห็นจะมีอาจารย์ในฝ่ายนิกายหินยานที่มาจากลังกามาคิดแปลงยันต์ ตันตระเป็นยันต์หัวใจพระธรรมตามคติหินยานขึ้นไปเมื่อภายหลัง ยันต์ไทยจึงมีลักษณะอยู่ทั้ง ๒ อย่าง

ท่านคงจะยังทรงจำเรื่องได้ เมื่อจะหล่อพระชัยประจำรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณะตรัสว่า ยันต์ที่ทูลกระหม่อมทรงจารึกไว้ที่ฐานพระชัยรัชกาลที่ ๔ และเอาอย่างมาจารึกฐานพระชัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยนั้น พระองค์ท่าน “ตามเสด็จไม่ทัน” เห็นควรจะเอาออกเสีย สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงปรึกษาสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ กับหม่อมฉันกราบทูลความเห็นร่วมกันว่า ทูลกระหม่อมทรงพระปรีชาญาณเป็นอุดมบัณฑิต คงทรงเลือกสรรยันต์อันเป็นสิริมงคลสมควรจะจารึก ได้จารึกยันต์นั้นที่ฐานพระชัยก็รุ่งเรืองพระเกียรติยศทั้ง ๒ รัชกาล ไม่ควรจะเอาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ก็คงจารึกยันต์นั้นต่อมา แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นยันต์อะไรมาจนถึงเมื่อพระองค์ท่านเองทรงอำนวยการหล่อพระชัยประจำรัชกาลที่ ๗ ไปทรงทราบมาจากพระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ ว่าเป็นยันต์อริยสัจ จึงรู้กันว่าเพราะเหตุใด ทูลกระหม่อมจึงทรงถือยันต์นั้น หม่อมฉันจึงเอาเป็นเหตุขอยืมตำรายันต์ต่างๆ ทั้งต้นฉบับของพระพิมลธรรมและตำรายันต์ลงเครื่องพิชัยสงครามของหลวงที่ท่านมงคลเทพ (ใจ) รักษาไว้ ณ วัดพระเชตุพน ทั้งตำรายันต์ที่หม่อมฉันรู้ว่ามีอยู่ที่ไหน เอามาให้นายอยู่ช่างเขียนจำลองรักษาไว้ในหอพระสมุดฯ มีอยู่หลายเล่ม

๒) ข้อซึ่งทรงปรารภถึงเรียกทองสีต่างๆ นั้น เตือนใจให้หม่อมฉันนึกกระเดียดออกไปนอกเรื่องทองสักหน่อย ดังจะทูลต่อไป หม่อมฉันสังเกตดูที่เกาะปีนังนี้มีมนุษย์สีต่างๆ กันมากกว่ามีที่ไหนๆ หมด จึงคิดขึ้นถึงหน้าโขนที่เขาทำพระราม หน้าสีเขียว พระพรตสีแดง พระลักษณสีเหลือง พระสัตรุสีม่วง และหน้ายักษ์หน้าลิงเป็นสีต่างๆ ตลอดจนสีที่บอกไว้ในตำราอสุรพงศ์วานรพงศ์ เดิมเคยเห็นว่าเหลวเพราะจะเป็นจริงเช่นนั้นไม่ได้ ต่อมานึกขึ้นว่าถ้ามีใครถามหม่อมฉันว่าคนในเกาะปีนังที่เรียกชื่อชาติต่างๆ กันนั้นว่าผิดกันอย่างไร ถ้าเอาชื่อสีซึ่งใกล้กับผิวคนต่างพวกบอกว่าพวกนั้นสีขาว พวกนั้นสีเหลือง สีหงสเสน สีหงสบาท สีเขียว สีม่วง และสีดำเป็นต้น จะสะดวกกว่าอย่างอื่น ก็รู้สึกว่าที่เขาลงตำราว่าหน้าสีเขียว สีแดง สีดำ ประสงค์เพียงว่าใกล้กับสีนั้น คนทำหน้าโขนเอาตัวสีที่เขาเรียกในตำรามาลง จึงเป็นหน้าเขียว หน้าแดง หน้าเหลือง หน้าม่วง ดังเห็นกันอยู่ จะว่าเหลวไม่ได้ ฉันใด สิ่งอื่นที่เรียกตามสีเช่น ทองเหลือง ทองแดง และผ้าเหลืองผ้าแดง ม้าเหลืองม้าแดง เป็นต้น ก็หมายแต่ว่าใกล้สีซึ่งเรียกดุจเดียวกัน

ทองประสมนั้นว่าตามหม่อมฉันเข้าใจ ทองแดงวิเศษที่เนื้อเหนียว แต่เสียที่มักเป็นถนิม ประสมเป็นทองเหลืองไม่ใคร่เป็นถนิมแต่เนื้อเปราะกว่าทองแดง ประสมเป็นทองขาวไม่เป็นถนิม ทองสัมฤทธิ์นั้นเดิมดูถือกันเป็นอันเดียวกับทองดำ เช่นครอบสัมฤทธิ์ที่วางบนถาดล้างหน้าที่ใส่ข้าวทิพย์และขันสัมฤทธิ์ที่ทำน้ำมนต์ล้วนสีดำทั้งนั้น คนผิวดำก็มักให้ชื่อว่าสัมฤทธิ์ และยังเชื่อกันต่อไปว่าทองสัมฤทธิ์นั้นประสมได้แต่พวกขอม ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เพราะเครื่องสัมฤทธิ์มักได้มาแต่เมืองเขมร เจ้าเมืองกรมการเมืองพระตระบองเสียมราฐเข้ามากรุงเทพฯ แต่กาลก่อนมักมีของสัมฤทธิ์มาให้พวกพ้อง เมื่อแรกหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็เคยได้หลายสิ่ง ครั้งหนึ่งหม่อมฉันอยากจะชักเงาครอบสัมฤทธิ์ พอขัดผิวนอกออกก็เห็นข้างในเป็นทองเหลืองจึงเข้าใจว่าเป็นของดำ ด้วยเอาอะไรอาบข้างภายนอกมิใช่เนื้อทองดำเอง แต่จะเป็นเช่นนั้นทั่วไปหรือไม่ไม่ได้ทดลองต่อไป อันที่จริง “ทองประสม” ที่ไม่มีชื่อบัญญัติ เห็นควรจะนับว่าเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งนั้นไม่ว่าสีเป็นอย่างไร

๓) ยายเพิงป้าหม่อมเจิมนั้น แกละโมบบุญอย่างแปลกๆ ยังมีอีกเรื่อง ๑ เมื่อชายนิพัทหรือชายใหม่ยังเป็นเด็ก เคยเอาไข่ดิบไปเล่นต่อหน้ายายเพิง ทำเป็นว่าจะต่อยเสียให้แตก แกกลัวสัตว์ในไข่จะตายอ้อนวอนขอไถ่ชีวิตสัตว์ เด็กเลยได้สตางค์ไปซื้อขนมกิน

๔) ที่คุณเขียนถึงอนิจกรรม เป็นขาดสายต่อจากรัชกาลที่ ๔ อีกเส้น ๑ ด้วยหมดสิ้นตัวเจ้าจอมมารดา แต่ท่านก็อยู่มาแต่ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตได้ถึง ๗๓ ปี เลยคิดดูต่อไปเห็นว่าแม้ผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ทูลกระหม่อมก็เห็นจะมีเหลืออยู่น้อยนักหนาแล้ว

๕) ที่คนเอารูปสัตว์ประจำปีเกิดของตนไปทำตรา คิดดูเห็นว่าจะเกิดแต่ไม่รู้ว่าจะเอารูปอะไรทำตราให้แปลกกับเก่าหรือให้ “เก๋” ตามสมัย แต่โบราณดวงตราชาดใช้รูปสัตว์แต่ตราตำแหน่ง ถ้าเป็นตราสำหรับตัวมักทำเป็นรูปเทวดาหรือรูปคนนั่งแท่น หรือรูปดอกบัว ใช้กันจนตื่น มาถึงสมัยชั้นเรานี่เองหม่อมฉันสงสัยว่าจะเป็นด้วยเห็นตราแผ่นดินทำรูปคชสีห์ราชสีห์สองข้างโล่ ก็เกิดอยากจะทำตราเป็นรูปสัตว์ให้แปลกกับตราคนแต่ก่อน จึงเอารูปสัตว์ปีเกิดของตนเป็นสำคัญ และบางคนแผลงต่อไปเพื่อจะมิให้ซ้ำกับของคนอื่นซึ่งใช้รูปสัตว์ปีเดียวกันเช่นพระยาศิริสัตยสถิต (จันท์) ทำเป็นรูปหมูมีปีก และยังมีที่ซอกแซกต่อออกไปถึงเอารูปสัตว์ประจำวันเกิดทำตราก็มี ตราดวงแรกของหม่อมฉันก็ทำรูปนาคตามนามวันไว้ข้างโล่ว่าโดยย่อเกิดแต่ “โซ๊ด” นั่นเอง จีนและญี่ปุ่นเขามีตราประจำตัวทุกคน แต่เขาใช้ตัวหนังสือเป็นลายตราจึงต่างกันได้ไม่มีที่สุด ไทยเราไม่ใช้ตัวหนังสือ จึงต้องหารูปสิ่งต่างๆ อันจะหาได้ต่างกันได้ยากกว่าตัวหนังสือ อันนี้เป็นมูลที่ทำตราเป็นรูปสัตว์

๖) ที่คนชอบทำรูปฤาษีบูชานั้น หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเกิดแต่สมมติว่าฤาษีเป็นครูเดิมในวิชาของตน ยกตัวอย่างดังเช่นพวกแพทย์ ถ้าหากเป็นแต่ชั้นศิษย์มีครู เมื่อจะประกอบยาย่อมระลึกถึงคำครูหรือวิธีของครู และกระทำตามด้วยประสงค์จะให้ยาชงัดเหมือนเช่นยาของครูฉันใด แพทย์ผู้ใหญ่ขึ้นไปได้แต่ตำราของครูโบราณก็อธิษฐานขอพรครูเดิม ฉะนั้นจึงเกิดมีพิธีไหว้ครู ต้องมีรูปสำหรับไหว้ จึงทำรูปฤาษีหมายความว่าบูชาครูเดิมที่ไม่รู้จักตัวเท่านั้นเอง จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ได้ วิชาอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน หม่อมฉันเคยเห็นคตินี้อย่างแปลกประหลาดครั้งหนึ่งเมื่อยังอยู่บ้านเก่า ได้ยินเขาว่ากรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาเสด็จ เอายี่เกไปเล่นอยู่ที่โรงละครเก่าของพระองค์เจ้าอลังการข้างหลังโรงหวย หม่อมฉันคิดพิศวงจึงไปดูในค่ำวันหนึ่ง ก็พบกรมหมื่นวิวิธฯ เสด็จอยู่ที่นั่น ท่านตรัสบอกว่าเป็นยี่เกของหม่อมอาบ เมื่อใกล้เวลายี่เกจะลงโรงท่านพาหม่อมฉันเข้าไปหลังโรง ทรงจุดธูปเทียนบูชารูปฤาษีครูยี่เกเป็นรูปหล่อปิดทองตั้งอยู่บนที่บูชา แล้วจึงพากันกลับมานั่งดูยี่เก หม่อมฉันนึกว่าฤาษีองค์นั้นพรรษาเห็นจะอ่อนกว่าองค์ไหนๆ หมด เพราะยี่เกเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี่เอง

๗) ที่ตรัสถามถึงเมืองวิเศษชัยชาญกับเมืองอ่างทอง ว่าต่างกันอย่างไรนั้น หม่อมฉันพอจะทูลอธิบายถวายได้ เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าทางบางแก้ว (ปากคลองยังอยู่และยังแลเห็นทิวไม้แม่น้ำเดิมอยู่) มาผ่านริมพระนครศรีอยุธยาทางด้านเหนือแล้ว เลี้ยวลงมาทางวัดพุทไธสวรรย์และวัดพระเจ้าพนัญเชิง มีแม่น้ำน้อย (ที่ตั้งเมืองสรรค์) อีกสาย ๑ มาใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านอ่างทองข้างใต้บางแก้ว แล้วลงมาผ่านบ้านป่าโมก มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทร เมืองวิเศษชัยชาญตั้งอยู่ในแม่น้ำน้อย เดี๋ยวนี้ยังเรียกตำบลที่ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญว่า “เมืองเก่า” อยู่มาคงเป็นเพราะขุดคลองลัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาบางแก้วมาทะลุแม่น้ำน้อยใกล้ๆ บ้านอ่างทอง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สายน้ำกัดคลองลัดกว้างใหญ่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาก็มาไหลลงมาทางแม่น้ำน้อย ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตอนแต่บางแก้วมาจนพระนครศรีอยุธยาตื้นเขินขึ้นโดยลำดับมา คงเป็นเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางนั้น จึงย้ายเมืองวิเศษชัยชาญตั้งที่บ้านอ่างทองตรงที่แม่น้ำสองสายต่อกัน คนจึงเรียกว่าเมืองอ่างทอง เช่นเดียวกันกับที่เรียกเมืองธนบุรีเมื่อย้ายออกมาตั้งที่บางกอกว่า “เมืองบางกอก” และเรียกเมืองตากเมื่อลงมาตั้งที่บ้านระแหงว่า “เมืองระแหง” ฉะนั้น

เรื่องทางปีนัง

สัปดาหะนี้มีเรื่องแปลกที่จะทูลบรรเลงเรื่อง ๑ หลายเดือนมาแล้ว หม่อมฉันเห็นเขาก่อสร้างสถานอันหนึ่ง ที่ริมทางถนนไปสนามบิน จะเป็นศาลเจ้าจีน หรือเทวสถานของพวกฮินดูรู้ไม่ได้ ด้วยร่างร้านคลุมอยู่ มาเมื่อปลายเดือนก่อนเขารื้อร่างร้านรู้ได้ว่าเป็นสถานอันใดอันหนึ่งของพวกฮินดู ก่อเป็นมณฑป ๘ เหลี่ยม ขนาดกว้างสัก ๑๐ ศอก มีคอสองบนปลายผนังแล้วทำหลังคาเป็นโดมมียอดแบบอินเดีย บนคอสองมีกระจังปั้นเป็นรูปฤาษีต่างๆ ทั้ง ๘ ด้าน ต่ำลงมามีเฉลียงโถงรอบมณฑป และมีมุขเด็จโถงออกมาข้างหน้า ๒ ห้อง พื้นมณฑปถมสูงสัก ๒ ศอก ตรงที่สร้างนั้นเป็นจะงอยเนินเขาอยู่ริมถนน ทำรั้วแต่ทางถนนเป็นรั้วโปร่งขึงลวดหนาม ๒ ข้างรั้วไม้ทึบอยู่กลาง มีประตูทางเข้า ๒ ประตู ไปแล้วต้องลงกระไดไปจากถนนสัก ๘ ศอกจึงถึงลานมณฑป

วัดหนึ่งในเดือนเมษายนนี้ชายหยดมาบอกว่าเพื่อนนักเรียนเขาบอกว่าที่มณฑปนั้นมีฤาษีมาอยู่คน ๑ สมาทานอาการนิ่งไม่พูดกับใครหมด หม่อมฉันไปเที่ยวเวลาเย็นจึงให้ขับรถไปทางนั้น ไปหยุดรถตรงที่รั้วโปร่งมองดูไปจากรถ เห็นโยคีตัวเปล่าคน ๑ นั่งขัดสมาธิ์เหมือนอย่างพระประธาน อยู่บนเตียงที่ต้นมุขเด็จตรงประตูมณฑปออกมา มีกระถางธูปกับเชิงเทียนใหญ่คู่หนึ่งตั้งอยู่ข้างหน้าเตียง ดูอยู่นานแต่ดูอยู่ห่าง สังเกตเห็นแต่โยคีนั้นนั่งนิ่งไม่ไหวกาย เป็นแต่ใช้แขน ๒ ข้างมัดที่ตัวบ้างทำอะไรบ้าง ไม่แลเห็นมีใครอื่นนอกจากตัวโยคีอยู่ในนั้น ประตูบริเวณก็ปิดจะเข้าไปไม่ได้จึงต้องกลับมาเสียครั้งหนึ่ง แต่มานึกว่าน่าจะเขียนเรื่องสถานโยคีนั้นทูลบรรเลงในจดหมายเวรได้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ นี้หม่อมฉันจึงชวนหญิงเหลือไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เตรียมเงินทักษิณาไปด้วย ไปจอดรถอยู่ที่เดิมให้คนขับรถไปสืบถามว่าจะเข้าไปได้หรือไม่ ประเดี๋ยวคนขับรถกลับมาบอกว่าไปได้ หม่อมฉันจึงลงจากรถไปด้วยกันกับหญิงเหลือ พอถึงประตูก็มีทมิฬเป็นชายหนุ่มคน ๑ แต่งตัวอย่างฝรั่งมารับที่ประตู พาลงบันไดไปถึงลาน เห็นมีป้ายเขียนอักษรภาษาต่างๆ ปักไว้ บอกว่าเป็นที่สถิตของ “ศิริคนาถ สวามี” ผู้บำเพ็ญตะบะเว้นวาจากรรม และเลี้ยงชีพแต่ด้วยน้ำนมอยางเดียว (หม่อมฉันทราบต่อภายหลังว่าศิษย์คนนั้นถามคนขับรถว่า “ราชาหรือมิใช่” คนรถได้บอกให้รู้ตามจริง) เมื่อเข้าไปถึงหน้ามุข ศิษย์เข้าไปกราบอย่างอัษฎางคประดิษฐ์บอกดาบศก่อน หม่อมฉันไปยืนอยู่กลางแจ้งที่หน้ามุขเด็จ แกแลดูมาหม่อมฉันก็เปิดหมวกคำนับ แกก้มหน้ารับคำนับ แล้วยกแขนขวาเป็นมุทรให้พรตามแบบ ประเดี๋ยวควักแป้งสำหรับเจิมให้ศิษย์เอามาให้ หม่อมฉันกับหญิงเหลือก็รับเอามาเจิมหน้าแล้ว ส่งธนบัตร์ทักษิณาทานให้ศิษย์ ๆ นำไปวางไว้ที่ตรงหน้าดาบศ เมื่อเสร็จการปฏิสัณฐารแล้ว หม่อมฉันจึงเดินวงประทักษิณดูใกล้ๆ ตัวดาบศนั้นดูจะราวอายุ ๕๐ ปี ร่างกายสมบูรณ์ดีแต่ผิวคล้ามมาก คล้ามกว่าสีม่วงอย่างพิราพ ใกล้สีดำอย่างนางกากะนาสูร ไว้ผมปล่อยเป็นพวงลงไปข้างหลังยาวจนบั้นเอว หนวดเคราไม่มีมากนัก นั่งเปลือยกายหมดมีแต่ผ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมปิดตรงนิมิตอยู่ที่หว่างขามีสายเชือกต่อจากชายผ้าผูกไว้กับบั้นเอว นั่งบนเตียงมีหนังเสือปูรองและมีบริขารเล็กน้อย ที่ต้องใช้วางอยู่ริมตัวทั้ง ๒ ข้าง เมื่อหม่อมฉันเดินรอบแล้วกลับมายืนอยู่ตรงหน้ามุข ดาบศหยิบกระดาษมาเขียนหนังสือให้ศิษย์มาบอกหม่อมฉันว่าเชิญให้ขึ้นไปนั่งที่หน้ามุข และส่งใบแถลงการณ์เรื่องฉลองสถานนั้น อันเรียกว่า “มุตต” มาให้ด้วยแผ่น ๑ (ส่งมาถวายกับจดหมายนี้) แต่หม่อมฉันรังเกียจที่ต้องถอดเกือกจึงไม่ขึ้นไป เป็นแต่ยืนอยู่สักครู่หนึ่งก็กลับมา

เผอิญชายหนุ่มที่เป็นศิษย์พูดภาษาอังกฤษได้ จึงได้ไต่ถามทราบอธิบายเรื่องดาบศดังจะทูลต่อไปนี้ ถามว่าดาบศนั้นเป็นชาติใดมาแต่ไหน ตอบว่าไม่มีใครรู้เพราะดาบศไม่บอก รู้แต่ว่าถือศาสนาฮินดูลัทธิศิเวศร์ แต่เคร่งครัดมีคนเลื่อมใสมากจึงเรี่ยไรกันสร้างสถานนั้นให้เป็นที่บำเพ็ญตะบะ ทั้งรับเลี้ยงดูและจัดให้คนผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ปฏิบัติด้วย

ถามว่าตะบะที่บำเพ็ญนั้นทำอย่างไรบ้าง ตอบว่าเว้นการพูดอย่าง ๑ และนั่งนิ่งภาวนาอยู่ที่แห่งเดียวตั้งแต่เวลาเช้าจนค่ำอย่าง ๑

ถามว่ามณฑปนั้นเป็นที่สำหรับดาบศนอนในเวลากลางคืนหรือ ตอบว่าไม่มีใครเคยเห็นดาบศนั้นนอนเลยโดยปกตินั่งนิ่งอยู่ที่มุขเด็จจนค่ำแล้วก็เข้าไปในมณฑบปไปทำท่าต่างๆ ตามตำราแก้เมื่อย ที่นั่งนิ่งอยู่วันยังค่ำ บางทีก็ลอยตัวขึ้นไปถึงเพดานมณฑป แต่หาเห็นลงนอนไม่

หม่อมฉันได้ฟังอธิบายก็ “หูผึ่ง” ด้วยเห็นเป็นเค้ามูลของฤาษีดัดตน คือลักษณะบำเพ็ญตะบะนั้น คงจะสมาทาน-นั่งหรือยืน-ภาวนาอยู่วันยังค่ำ เมื่อหม่อมฉันยังหนุ่มเคยเห็นโยคีคน ๑ เข้าไปในกรุงเทพฯ บำเพ็ญตะบะยืนอย่างเดียวอยู่ที่ศาลาหน้าเทวสถาน เห็นเอาเชือกห้อยแต่เพดานลงมาผูกกระดานแผ่น ๑ เป็นอย่างชิงช้าพออาศัยเท้าศอกผ่อนน้ำหนักที่ลงตีนให้น้อยลง การที่นั่งหรือยืนอยู่อย่างเดียวตลอดวัน ย่อมปวดเมื่อยตัวเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีวิธีดัดตนแก้อาการต่างๆ อันเกิดทุพลภาพแต่บำเพ็ญตะบะ และดัดตนในเวลาค่ำ บำเพ็ญตะบะในเวลากลางวัน สลับกันเป็นวิธีอย่างดาบศคนนี้ เป็นตำรามาแต่เดิม

ประหลาดอยู่ที่ตามคติในพระพุทธศาสนา ก็รับการบำเพ็ญตะบะและโยคะเข้าในภาวนามัย มีการนั่งสมถะและเดินจงกรมสำหรับแก้เมื่อยขบ ดูมูลมาแต่วิธีเดียวกัน คิดดูก็สมกับพระพุทธวจนะ คือแก้ไขผ่อนจากอัตตกิลมถานุโยคมาเป็นมัชฌิมาปฏิบต เรื่องไปดูพระดาบศจึงเป็นอันได้ประโยชน์ทางความรู้อย่าง ๑ ดังทูลมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ