วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร

๑) เมื่อดีดพิมพ์หนังสือเวรส่งถวายมาแล้ว รุ่งขึ้นก็ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม มิปะปิดหัวท้าย เปิดอ่านก็สนุกตามเคย เพราะตรัสเรื่องที่จับใจ ชายถาวรเมื่อกำลังเรียน มีเวลากลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อไรเธอก็มาหา และเธอประหลาดใจที่ว่าคุยกับใครก็ได้เป็นเวลานานๆ คำนั้นทำให้รู้สึกในใจ ว่ารู้อะไรอย่างที่เขาเรียกว่า “ความรู้รอบตัว” มากๆ จะพาตัวให้เป็นคนกว้างขวางมากขึ้น

สนองลายพระหัตถ์

๒) กรมสำหรับแผ่นดินกับกรมของเจ้านาย ต่างกันที่เป็นกรมมีชื่อและไม่มีชื่อนั้น ต้องตามพระดำรัสแล้ว ในการที่มีชื่อและไม่มีชื่อลางทีจะเป็นให้เห็นผิดกัน ว่าเป็นกรมของแผ่นดินหรือเจ้านายก็ได้ ที่เรียกเอาชื่อเจ้ากรมผู้ควบคุมนั้นก็ควร เพราะเราถือกัน ไม่ออกชื่อผู้ใหญ่ แม้ชื่อซ้ำกับผู้ใหญ่ยังต้องเปลี่ยนไป เช่นนายดิศก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายเด่น หรือนายจิตรก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายจี๊ด ที่แท้ชื่อกรมของเจ้านายนั้นเป็นคนภายนอก เรียกถูกเหมือนอย่างพระดำรัสจริงแล้ว แท้จริงชื่อเจ้านายถ้าจะตั้งก็ควรตั้งเป็นราชา เช่นพระเธียรราชา เป็นต้น ทางพม่าซึ่งตรัสประทานตัวอย่างไรก็เป็นไปทีนั้น ที่เจ้าชื่อเหมือนกับเจ้ากรมนั้นหลงมาก พูดถึงชื่อก็เห็นขัน กรมหมื่นมหิศรเคยพูดถึงชื่อว่าล้วนแต่เป็น “ไอแอมเอกิง” ทั้งนั้น คำนั้นหมายถึง “นริศร” และ “มหิศร” ชื่อเกล้ากระหม่อมซึ่งเขียนตัดสั้นเป็น “นริศ” นั้นมีเรื่อง ด้วยจะมีโทรเลขไปถึงพระยาวิสูตรสาครดิษฐที่เมืองญี่ปุ่น ซึ่งเวลานั้นเป็นหลวงนริศรราชกิจ โทรเลขจะเป็นนริศร ถึง นริศร ดูไม่เข้าทีเลย จึงตัดชื่อตัวเสียเป็น “นริศ” ให้ผิดกัน แม้ตัดเสียเช่นนั้นก็ยังเป็น “ไอแอมเอกิง” อยู่ไม่เสียความไป

อ่านหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” เขาว่าคำ “หลวง” ทางเยอรมัน เปลี่ยนเป็น “ชาติ” หมด ที่ว่าดังนั้นเห็นได้ว่า ผู้เขียนเขียนหมายเอาคำ “หลวง” เป็น “รอแยล” อันเป็นความหมายซึ่งเคลื่อนมาเสียแล้ว นึกถึง “วัดท่าหลวง” เมืองพิจิตร เทศาพระ (ราชาคณะ) ไปให้ชื่อใหม่เป็นภาษามคธว่า “วัดราชดิตถาราม” นั่นก็เข้าใจว่า “หลวง” เป็น “รอแยล” เหมือนกัน ให้นึกขัน

๓) เรื่่องนาคหลวงซึ่งคณะปรกปน ยังตรัสบอกพิสดารไปได้อีก เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ทำให้ได้ความรู้มากขึ้นอีก ในการที่ไปสวดมอญโบสถ์น้ำนั้นเป็น “รับพร่าอาทานอย่าง” จะได้มีผลอะไรก็หามิได้

เรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) นั้นไม่ได้ทราบเรื่องของท่านเลย กับเรื่องสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสตรัสชักชวนมหานิกายให้ห่มผ้าแหวกก็ไม่ทราบ แต่ข้อความซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ว่านั้นได้ยินบ้างอย่างไม่ถี่ถ้วน ท่านจะบ่นหรือจะทูลสนองก็ไม่ทราบ ตามที่ตรัสเล่าให้ทราบโดยละเอียดทุกเรื่องนั้น เป็นพระเดชพระคุณหาที่เปรียบมิได้

คำ “ฑิต” นั้นได้เคยคิดจะเอาอย่าง เพราะเขาให้ตั้งชื่อเด็กซึ่งมันสิงสู่อยู่ที่บ้านปลายเนิน เด็กคนนั้นเรียกกันว่า “ติ๊ด” แล้วมันเกิดวันพุธ ซึ่งตามแบบโหรก็ตกเป็นวรรค ฏ แต่หาคำยาก จึงหลบกันไปเอาวรรคศรี แต่เกล้ากระหม่อมนึก “ร่ม” จะเอาวรรค ฏ ให้ได้ แล้วก็จะให้คล้ายกับที่เรียกกันอยู่ด้วยจึงได้นึกถึงคำ “ฑิต” แต่เปิดพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอดูไม่พบ ก็ยักย้ายไปเป็น “ฐิต” มุ่งเอาชื่อ “ฐิตายุโก” ทั้งคำ “ฐิต” นั้นก็มีอยู่ในพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอด้วย

๔) เรื่องไตรภูมินั้นกราบทูลโต้แย้งไม่ได้ เพราะจริงอย่างที่ตรัส แต่รู้สึกใจว่าซุกซนไปมากที่เอามารวมเข้าในพระพุทธศาสนา ไม่เคยอ่านว่าเขาเอามารวมกันเข้าอย่างไร ท่าทางก็มีอยู่ที่พระเจ้าขึ้นไปเทศนาบนสวรรค์ ที่เขาเอาปางลงกระไดสวรรค์ไปเขียนรวมกับไตรภูมินั้น จะติว่าไม่ดีไม่ได้ อนึ่งที่เขียนวัดยม เป็นแห่กฐินนั้นก็เกี่ยวกับเป็นการวัดจริงอยู่ แต่ความตั้งใจก็จะเขียนกระบวนแห่เท่านั้น กฐินนั้นเป็นแต่เหตุ ยังรูปวังนั้นก็เฉไปใหญ่ แต่ก็สงเคราะห์เข้าได้ว่าแห่ออกจากวัง ที่เขียนกระบวนพยุหยาตราเรือไว้ในโบสถ์วัดพระแก้ว จะเป็นพยุหยาตรากฐินอันเกี่ยวแก่วัดหรืออย่างไรก็ไม่ได้พิจารณา เป็นแต่เห็นรูปที่นั่งอยู่ใกล้ ไม่เห็นมีอะไรในกูบเรือ ฝันว่าได้เห็นหนังสืออะไรซึ่งกล่าวถึงเขียนกระบวนเรือนั้น แต่จำไม่ได้จำหน่ายไม่ตก แต่นึกในใจว่าเอาอย่างของเก่ามาเขียน กูบก็เห็นปรากฏเป็นพยานอยู่ว่าถ่ายของเก่า เดี๋ยวนี้ไม่มี การเขียนกระบวนแห่เห็นจะมีมาบ่อยๆ หากจะเป็นธรรมเนียม ไม่ใช่แต่วัดยม วัดพุทไธสวรรย์ก็ได้ยินว่ามีเขียน แต่จะเขียนไว้ที่ไหนไม่ได้ไปดู ได้ยินว่าเป็นเรื่องพงศาวดาร หวังว่าฝ่าบาทจะได้ไปทอดพระเนตร และจะตรัสบอกได้

สาขคดีเรื่องช่างพระช่างคฤหัสถ์นั้นก็จะกราบทูลสนอง ว่าเดี๋ยวนี้กับแต่ก่อนก็เปลี่ยนแปลงไปดุจตัวหนังสือตามที่ตรัสถึงเหมือนกัน มีตัวอย่างเมื่อครั้งพระเมรุพระบรมศพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า สมเด็จพระราชปิตุลาตรัสสั่งว่า พระเมรุต้องทำลายด้วยทองอังกฤษ เกล้ากระหม่อมกราบทูลขัดข้องว่าหาช่างอังกฤษไม่ได้พอ จะทำเป็นลายทองอังกฤษย่นแกมกับทองอังกฤษแท้ๆ ตรัสว่าช่างอังกฤษพระวัดมหาธาตุมีถมไป เกล้ากระหม่อมได้กราบทูลว่านั่นเป็นกาลนานมาแล้ว เดี๋ยวนี้มีน้อย ครั้นวันหนึ่งไม่สู้ห่างกับที่กราบทูลนัก เป็นเวรพระวัดมหาธาตุเข้าไปสดับปกรณ์รายร้อยที่พระที่นั่งดุสิต ท่านถือพัดรองธรรมจักร (เป็นรูปลูกล้ออยู่บนพื้นแพรเหลือง) กันตั้งครึ่งจำนวน จึ่งกราบทูลให้สมเด็จพระราชปิตุลาทอดพระเนตร ว่าทางวัดมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรียนหนังสือไปมากกว่าเป็นช่างดังนี้

๕) ลูกจ่าอัศวราช เมื่อตรัสบอกจึงนึกขึ้นได้ว่ามี “กลีบเรณู” อย่างที่ตรัส แต่คำอื่นจำไม่ได้ ที่ชื่อ “วรา” นั้น ควรจะเป็นผู้ชาย แต่เอาสร้อยชื่อ “กำดัด” ซึ่งเป็นผู้หญิงเข้าต่อ ทำให้ “กำดัด” หายไป แต่ที่จริงก็ทราบอยู่ว่าชื่อ “กำดัด” มี แต่ชื่อ “ลิขิต” กับ “สุพรรณ” นั้นไม่เคยได้ยินมาเลย แล้วเป็นเหตุให้สงสัยอีกว่า “วราประเสริฐ” ซึ่งมีสร้อยว่า “ที่สองงามสม” ทำไมที่สองจึงลงมาอยู่ใต้ที่สาม

พวกลูกพระยาศรีสรราชคู่ที่ชื่อ “พลอยพรรณราย พรายพรรณา” ก็รู้ แต่ลืมตกไป เคยได้ยินชื่อหลังเป็น “พรายพรรณรา ไปเสียด้วยซ้ำ แต่ไม่เป็นความ ถ้าหากจะเขียนตามที่ได้ยินทีจะต้องมี ย ลงทัณฑฆาตอยู่ข้างท้าย คิดเหมือนกันว่าคุณหญิงคงชื่อตัว พ ลูกจึงได้ชื่อเป็นตัว พ ด้วยกันทุกคน อันนี้ก็มีตัวอย่าง เช่นลูกเจ้าพระยาสุรพันธ์ซึ่งเกิดกับคุณหญิงอู่ พวกผู้หญิงก็ชื่อด้วยตัว อ ทั้งนั้น เนื่องมาจนถึงพระองค์ “ออ” พระองค์ “อะ” นั่นเป็นการเล่นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พวกลูกผู้ชายของเจ้าพระยาสุรพันธ์ ที่รู้จักดูเป็นชื่อตัว ท ตามเจ้าพระยาสุรพันธ์

คิดจะกราบทูลอยู่แล้ว ว่าพวกลูกจ่าอัศวราชและพวกลูกพระยาศรีสรราชนั้นจะคิดสร้อยเป็นกลอนต่อทีหลัง แต่ไม่ได้กราบทูล เพราะไม่มีอะไรเป็นหลักที่จะรู้แน่ได้ กลอน “อโณทัยอภัยทัต” ทีจะไม่ใช่พระราชนิพนธ์ จะเป็นใคร แต่งขึ้นด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้ประสงค์จะทำบัญชีเรียงพระเจ้าลูกเธอ ในการนี้ก็เกิดความสงสัยขึ้น ว่าคำ “นิพนธ์” นั้น จะกินความไปเพียงไร คำที่นึกแต่งขึ้นเองนั้นต้องเป็น “นิพนธ์” ที่คัดมาเช่นสำเนาเป็นต้น ไม่นับว่าเป็น “นิพนธ์” แน่ แต่ที่ครึ่งๆ กลางๆ เช่นกลอน “อโณทัย” จะนับว่าเป็น “นิพนธ์” หรือไม่ เพราะพระนามเจ้านายก็เด็จมา เป็นแต่เอามาเรียงอย่างสับสนเข้าเป็นกลอน ถ้อยคำอะไรของตัวในนั้นก็ไม่มี

ที่เขาปรับว่าคุณม่วงเป็นบ้านั้นก็ควรแล้ว สังเกตชื่อก็เห็นเลอะเทอะ ไม่ใช่อย่างพวกลูกจ่าอัศวราชและพระยาศรีสรราช คำ “ฉิม” ที่คนชั้นก่อนชื่อกันอยู่บ่อยๆ นั้น มีคนคิดว่าเป็น “ปัจฉิม” แต่เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วย คิดว่าลากเอาเข้าความ ที่จริงเป็นคำไทย จะหมายความว่าเล็กหรืออะไรเทือกนั้น

“ตึ๋งส่วน” นั้นได้ฟังพระดำรัสกรมพระสมมติ แต่จำไม่ได้ ส่วนชื่อคุณปิ่นนั้น ได้ฟังมาแต่พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

๖) พัดแฉกผูกกับตู้หนังสือนั้นทรงสันนิษฐานถูกเป็นแน่ แต่ก่อนเขานับถือว่าปากเปล่ากัน เช่นสวดปาติโมกข์หรือประกาศพิธีตรุษก็ว่าปากเปล่า มีผู้อ่านหนังสือทาน พระสวดที่เรียกว่าพระพิธีธรรม นั่นก็คือว่าผู้ซึ่งได้ท่องภาณยักษ์ไว้จำได้คล่องแล้ว การยกตู้หนังสือมาตั้งบนเตียงสวดนั้นจะเป็นด้วยสวดท้องภาณ จะต้องตีคลุมเอาว่าเป็นการเพิ่มขึ้นทีหลัง พระสวดสำหรับท้องภาณแท้ก็ไม่มีพระครูคู่สวดก็สำหรับสวดญัติ การสวดท้องภาณคงเป็นจับพลัด จำได้แม่นบ้างไม่แม่นบ้าง จึงต้องอาศัยดูหนังสือ เป็นเหตุให้ตู้หนังสือย้ายที่ขึ้นไปอยู่บนเตียงสวด ทำให้พัดแฉกซึ่งผูกอยู่กับตู้หนังสือติดไปด้วย การว่าปากเปล่านั้นนับถือกันมาแต่อินเดียแล้ว เรียกว่า “มุขปาฐก” จนท่านพวกอาจารย์ฝรั่งออกปาก ว่าหนังสือแม่นสู้ “มุขปาฐก” ไม่ได้ เว้นแต่จำได้เพียงแต่คัมภีร์เดียวเท่านั้น ถ้าจะเอาหลายคัมภีร์ก็ต้องหามาหลายคน

๗) ได้บอกแม่โตให้ทราบแล้ว ถึงพระดำริซึ่งตรัสขอบใจในการที่ส่งของไปถวาย

๘) เรื่องช้างไม่ข้ามแม่น้ำนั้น พิจารณาเห็นกล่าวถูกอย่างยิ่ง วิธีแก้ให้ข้ามนั้นเป็นไปสองทาง คือแก้ด้วยการฝึกหัดอย่างหนึ่ง แก้ด้วยมนต์ยาอย่างหนึ่ง ต่างกันที่เป็นการแรมเดือนกับการทันด่วน การฝึกหัดนั้นแน่ใจว่าแก้ได้ แต่แก้ด้วยมนต์ยานั้นไม่แน่แก่ใจ ในคำว่า “นั่นงัวหรือ” เป็นฝ่าพระบาทยังไม่ทรงทราบเรื่องเดิมจึงจะเล่าถวาย เขาว่าเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ) บอกแก่เพื่อนข้าราชการว่าหมอแขกต้มยาให้กิน ยานั้นเข้าของราคาแพง เช่นมรกตเป็นต้น กินแล้วตาสว่างเห็นอะไรได้ดี แต่พอกลับออกจากเฝ้าไปนอกพระราชวัง มีฝนตกพรำๆ มีคนเอาผ้าคลุมศีรษะเดินมา เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ถามเพื่อนว่า “นั่นงัวหรือ” เพื่อนข้าราชการเขาหัวเราะเพราะขัดกันกับที่ว่ากินยาตาสว่าง ที่เกล้ากระหม่อมใช้คำนั้นแก่กรมพระจันทบุรีก็เพราะรู้เรื่องกันอยู่แล้ว

ย้อนหลัง

๙) ที่กราบทูลเรื่องคำ “หน้าหลัง” ว่าจะปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรินั้น เห็นจะเป็นเท็จไปเสียแล้ว เพราะลางแห่งก็อาจแก้ฝืนไปได้ แต่ลางแห่งแก้ไปก็เห็นจะขวางโลก อะไรก็ยกไว้ จะเข้าใจผิดไปนั่นแหละสำคัญมาก

๑๐) วันเกิดเจ้าพระยาวรพงศ์สืบได้มาแล้ว ท่านเกิด วัน ๓ ๑๒ ๕ ค่ำ ปีกุนเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ แต่ถ้าคิดเทียบด้วยวันอย่างใหม่ก็หกกลับขึ้นไปเป็นปีจอ ว่าวันที่ ๓๑ มีนาคม อันเป็นวันสิ้นปีทีเดียว เห็นควรจะถือว่าเป็นปีกุน เพราะเมื่อท่านเกิดนั้นนับวันกันอย่างเก่า

เบ็ดเตล็ด

๑๑) เมื่อวันที่ ๒๓ ซึ่งล่วงมาแล้วนั้น ชายดิศ หญิงกุมารี หญิงรัศมี กับชายถัด พากันไปเที่ยวที่บ้านปลายเนิน ถามถึงหญิงหลุยได้ความว่าสบาย ลงกระไดมาชั้นล่างได้แล้ว ทั้งนี้แปลว่าเธอตัดสินตัวของเธอเอง ว่าสบายพอที่จะลงกระไดได้ ไม่มีอันตราย เป็นเหตุให้ดีใจด้วยเป็นอันมาก แต่การขี่รถไปไหนๆ นั้นเธอยังงด เห็นว่าถูกแล้ว

๑๒) ได้ประสบสิ่งที่ประหลาดเข้าอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะกราบทูล หญิงไอไปฉวยเอาลูกหมาที่โรงเรียน “มาแตร์” มาตัวหนึ่ง แกให้ชื่อมันว่า “มาแตร์” ก็ดีดอก สมกับไปได้มันมาแต่ที่นั่น ทั้งต้องกับพระดำรัสเสด็จย่าด้วย ว่าถ้าจะตั้งชื่อหมาแมวให้พ้นจากอ้ายอีก็ต้องตั้งชื่อเป็นสองพยางค์ แต่เจ็บปวดมากที่ถูกตัดเสียพยางค์หนึ่ง เอาอีใส่แทนเป็น “อีแต”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ