วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) การสร้างวัดพระเชตุพน ได้เอาหนังสือแจกครั้งงานพระศพพระวิมาดาเธอมาตรวจแล้ว ดูรูปฉายบนเครื่องบินก็ไม่สู้ได้ความพอใจ เพราะจะดูสังเกตเขตวัดว่าแค่ไรได้ขยายออกไปครั้งไรก็ไม่ได้ เห็นเป็น “ไก่บินไม่ตก” ไปหมด ยากนักที่จะหารูปให้ตัดสินความที่พูดได้

ข้อที่ตรัสถึงการเก่าครั้งแผ่นดินพระนารายณ์นั้นดีเต็มที วัดโพธิ์มีทีหลังครั้งนั้นแน่ เรารู้กันอยู่แล้วว่าป้อมทางฝั่งพระนครมีอีก พูดกันว่าอยู่ตรงสุนันทาลัย เมื่อเช่นนั้นวัดโพธิ์ก็อยู่ในชานป้อมนั้นเอง

สิ่งก็ปรากฏแก่ตานั้นก็ดีอยู่ เช่นหน้าบันวิหารคดก็เห็นได้ว่าเป็นฝีมือช่างครั้งวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ เป็นเหตุให้พอรู้ได้ว่าช่างวังหน้าทำวิหารคดนั้น วิหารทิศมีฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ ก็รู้ได้ว่าสร้างในรัชกาลที่ ๑ ส่วนในลานพระระเบียงชั้นนอกมีถะจีนทำด้วยศิลาตั้งอยู่ ก็รู้ได้ว่าพระระเบียงชั้นนอกนั้นทำในรัชกาลที่ ๓ แต่ส่วนที่แก้ไขนั้นรู้ไม่ได้ เช่น พระปรางค์ที่มุมลานชั้นใน การประดับศิลานั้นเป็นของใหม่ แต่แกนในจะเป็นของใหม่หรือเก่าครั้งไหนก็ทราบไม่ได้

พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชรดาญาณนั้น จำเป็นอยู่เองที่จะต้องเป็นติ่งออกไป เพราะที่ในวงโบสถ์ดูเป็นเต็มแล้ว เดิมทีก็เห็นจะมีแต่องค์เดียว ที่เป็นสามองค์ขึ้นก็เห็นจะทำเพิ่มในรัชกาลที่ ๓ ทั้งจำได้ตะหงิดๆ ว่า พระระเบียงซึ่งล้อมพระเจดีย์สามองค์นั้น ถูกตัดต่อเพื่อทำพระเจดีย์องค์ที่ ๔ เพราะฉะนั้นการขยายเขตก็คงเป็นหลายหน มากบ้างน้อยบ้าง

๒) คำ “จรดกันบิดกรรไกร” เป็นต้นนั้น เป็นด้วยเขียนควงอย่างพระดำรัสถูกแล้ว ตลอดถึง ขุน หลวง พระ ไกรศรี ด้วย แต่ก่อนมาก็สงสัยว่า ทำไมจึงเป็นทั้งขุนทั้งหลวงทั้งพระ เมื่อทรงพระดำริว่าเขียนควงเมื่อคิดเทียบชื่อจึงเห็นความ จะกราบทูลถึงการโกนผมไฟเจ้านาย ได้ความว่าใช้มีดด้ามแก้วด้ามทองด้ามเงินโกนเป็นพิธีก่อน เป็นหน้าที่เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายใน แล้วภูษามาลาจึงลงมือโกนด้วยมีดคมในภายหลัง ทีแรกก็คงเป็นมีดคมเท่านั้น ทีหลังจึงมาเป็นพิธีไป

๓) เรื่องชื่ออะไรต่างๆ ก็เป็นไปอย่างพระดำรัสนั้นทีเดียว ขนม “กิ๊ก” ก็คือ “เค๊ก” แปลว่าไม่ได้ชื่อ แต่ก็ใช้ได้ เมื่ออยากเสวยขนมเช่นนั้นอีก บอกไปว่าให้ทำขนม “กิ๊ก” ก็เข้าใจกัน คำนี้ทำให้นึกถึงกฎหมายรถ ซึ่งใช้คำว่า “อาจี๋” นั่นก็เป็นคำฝรั่งว่า “แอกเษอล” แต่จีนมาเรียกเพี้ยนไป ย่อมเข้าใจกันได้อยู่แล้ว จะมาเปลี่ยนเรียก “เพลา” ยิ่งจะทำให้ไม่เข้าใจกันไปเสียอีก ขนม “มัศกอด” ก็ทีเป็นชื่อฝรั่ง แต่คำเดิมจะเป็นอะไรรู้ยาก

“สังขยา” คำบาลีว่านับ มาต้องกับคำสังขยาชื่อขนมของเราเข้าโดยบังเอิญ คำต่างภาษากันมาโดนกันเข้าโดยบังเอิญมีถมไป เช่น “อาราม” เป็นต้น ทางภาษาบาลีแปลว่าสวน ทางเราก็มีเหมือนกัน เช่น “อารามโกรธ” “อารามหิว” เป็นต้น ก็หาได้หมายความว่าสวนไม่ ถ้าแปลว่าสวนก็เข้ารก

ข้าวปัดนั้นทางประเทศชวาเรียกว่า “กะปั๊ด” ใกล้กว่า “ตุมปัด” ทางภาษามลายูเข้าไปเสียอีก ได้สืบว่าข้าวบุหรี่เขาเรียกอะไร ได้ความว่าเรียก “กะปูลี” ทูลกระหม่อมชายตรัสว่า “กะ” หรือ “กา” เราเหยียดเป็นข้าวทั้งนั้น “กาแฟ” ยังเป็น “ข้าวแฝ่” ไปเลย นึกก็ขันข้อที่เห็นขันในการที่เขาจะเหยียดเมืองไทยให้เป็นเมืองฝรั่ง จะปลูกข้าวสาลีเลี้ยงโคนมฝรั่ง ตามที่กราบทูลมาคราวก่อนนั้น กลัวอากาศเมืองเรามันจะไม่เล่นด้วยดังคิด

๔) เรื่องพระนามอย่างจีนของพระเจ้าแผ่นดินเรานั้น นึกไม่ออกเลย ว่าได้มีลายพระหัตถ์ตรัสบอกไป แต่ได้ถามหญิงอามบอกว่ามีจึงค้นดูก็ยังไม่พบ แต่จะกราบทูลให้ทรงทราบว่าค้นแต่หยอกๆ ไม่จริงจัง ถ้าได้แต่งเป็นหนังสือไว้ก็ดี จะให้พนักงานหอสมุดเขาค้น เขามีชีวิตอยู่สำหรับค้น นึกได้ว่า “แต้เจี่ย” เป็นพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จริง ฝันว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ใช้แซ่ “แต้” นั้นเนื่องมาแต่พระเจ้ากรุงธนบุรี

๕) เรื่องไม้สิบสองและกว่าขึ้นไป ตรัสอ้างถึงพระเจดีย์เชวตะกงและพระมุเตานั้น ที่พระเจดีย์เชวตะกงได้สังเกตแล้ว เห็นย่อไม้ไม่เป็นเหลี่ยมฉาก ๙๐ องศา จะว่าเป็นย่อไม้สิบสองหรือกว่าขึ้นไปก็สงสัย แต่ที่ว่านี้จะได้ขัดกับพระดำริก็หาไม่ ส่วนพระมุเตานั้นไม่ได้เคยไปเห็น

๖) เรื่องสิงห์ ทรงพระดำริว่ามาแต่เตียงจมูกสิงห์นั้นจับใจมากเห็นว่าถูกทีเดียว ทำให้เห็นปรุโปร่งไปถึงคำสีหบัญชรนั้นด้วย คำนั้นก็คือตั้งราชอาสน์ไว้ข้างในหรือข้างหน้าพระบัญชร ถ้าตั้งข้างในพระเจ้าแผ่นดินประทับราชอาสน์เยี่ยมพระบัญชรก็เป็นเสด็จออกสีหบัญชร หรือพระราชอาสน์อยู่หน้าพระบัญชร พระเจ้าแผ่นดินลอดพระบัญชรออกมาประทับราชอาสน์ ก็เป็นเสด็จออกสีหบัญชรเหมือนกัน พระที่นั่งมุขเด็จก็คือสีหบัญชรนั่นเอง หากทำหลังคาครอบเสียกันแดดร้อน แต่ก็ไม่ใช่มีหลังคาไปหมดทุกแห่ง

ในเรื่องสิงห์นั้นได้ตริตรองประสมประเสไปถึงมูลเหตุเดิมได้ ด้วยฝันว่าได้ทราบที่ไหนก็ลืมเสียแล้ว เป็นทางข้างฝรั่ง ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเลี้ยงสิงห์ “ตัวเป็นเป๊น” ไว้ อย่างเราเลี้ยงหมาดุกันทุกวันนี้ แล้วก็แยกออกไปเป็นสองทาง ทางหนึ่งผูกไว้ ณ ทางเข้าที่ประทับ แล้วกลายเป็นทำรูปฉลักหรือปั้นไว้แทนที่ กับอีกทางหนึ่งเอาหมอบไว้ที่พระบาทเมื่อประทับราชอาสน์ ครั้นไม่มีสิงห์ “ตัวเป็นเป๊น” แล้วก็ฉลักขาพระแท่นพระราชอาสน์เป็นตัวสิงห์แทน แล้วก็ย่อลงมีแต่หน้ากับเท้า เป็นเตียงจมูกสิงห์ คนโบราณเขายังถือกันอยู่ว่าเตียงจมูกสิงห์นั้นเป็นของสูง ถ้ายศไม่สูงพอก็ใช้ไม่ได้

๗) เรื่องลายมือเขียนหนังสือหวัด นึกจะกราบทูลอยู่เหมือนกันว่า เอาอย่างเจ้ากระทรวง แต่เห็นไม่เป็นการแน่จึงงดเสีย จะเอาอย่างได้ก็แต่คนชั้นสูง ซึ่งเข้าถึงเจ้ากระทรวงได้ ส่วนคนชั้นต่ำก็ได้แต่เอาอย่างคนชั้นสูงอีกต่อหนึ่งเท่านั้น

๘) อยากจะเรียนให้ทราบไว้ว่า หน้าพระพุทธรูปซึ่งพอพระทัยนั้นจะเป็นพระพุทธรูปสมัยใด เชื่อในความสามารถของนายเฟโรจีว่าปั้นพระพักตร์ให้เหมือนได้ แต่พระองค์ต้อง “กุละ” การผูกพวงมาลัยก็ได้รับกับชายใหม่ไว้แล้ว ว่าจะเขียนฐานมาลัยให้

๙) การทำซีรุมในเมืองไทย ทราบแต่ว่าเขาเอาฉีดสัตว์แล้วแบ่งเอาส่วนน้อยมาฉีดคน แต่ไม่ทราบว่าสัตว์อะไร ตามที่ตรัสเล่าว่าเขาใช้เหาเป็นที่สุดนั้นได้ความรู้ขึ้นเป็นอันมาก ไปที่ประเทศชวาเคยเห็นแต่เขาเล่นละครหมัดไม่อาจเข้าดูใกล้ด้วยกลัวหมัดจะกระโดดเข้าหัว หมัดมันก็กินเลือดอย่างเหาเหมือนกัน แต่เขาจะให้มันกินอย่างไร จะเป็นหาเจ๊กคนโซมาให้กินอย่างเหาหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

ยุ่งเหยิง

๑๐) ปีเดือนวันคืนซึ่งเราใช้กันมานั้นพิลึก ออกจะเป็นจับฉ่าย

ปีชวดฉลูขาลเถาะ เข้าใจว่าเป็น ๑๒ ปีโดยอิสระ ไม่เกี่ยวแก่ศักราช อันศักราชนั้นมาทางหนึ่ง นับแต่พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์อย่างจีนเป็นต้น ทางญี่ปุ่นมีศักราชต้นวงศ์ เช่นยามู ปีที่เท่านั้น เข้าเรื่องศักราชโดยตรงทีเดียวด้วย ข้างจีนจะมีหรือไม่ไม่ทราบ ที่ว่าศักราชเป็นปีแห่งรัชกาลพระเจ้าแผ่นดินนั้น จะเห็นได้ที่ “มหาศักราช” ก็คือพระราชาศะกะองค์ใหญ่ “จุลศักราช” ก็คือพระราชาศะกะองค์เล็ก ที่จะเข้าใจว่า “ศก” เป็นปีนั้นไม่ได้มิได้ เพราะคำ “ราช” มันค้ำอยู่ พจนานุกรมของอาจารย์โมเนียวิลเลียมก็บอกไว้ ว่าเป็นปีที่พระศะกะราชาเสวยราชย์ พุทธศักราชนั้นพอค่อยยังชั่ว เพราะพระเจ้าของเราก็เป็นวงศ์กษัตริย์ แต่คริสต์ศักราชนั้นหลงทีเดียว เพราะพระคริสต์ไม่ใช่วงศ์กษัตริย์ แม้พระพุทธเจ้าพระท่านบอกศักราชก็ว่า “พุทธศาสนกาลล่วงแล้ว” อัน พ.ศ. นั้นจะอ่านว่า “พุทธศาสน” ก็ได้ เอกศก โทศกเป็นต้นนั้นปรุงขึ้นสำหรับใช้แก่จุลศักราช ถ้าใช้ศักราชอื่นก็เข้ากันหาได้ไม่

ปีนั้นจะนับทางอาทิตย์หรืออย่างไรไม่ทราบ ถ้าภาษาครั้งขุนรามกำแหง เรียกปีว่า “ข้าว” คือทำนาเกี่ยวข้าวได้หนหนึ่ง นั่นนับทางอาทิตย์แน่ เอาฤดูเข้าปน แต่เดือนนั้นนับทางจันทร์ หมายเอาพระจันทร์เดินอ้อมโลกได้รอบหนึ่ง เป็น ๒๙ วันครึ่ง จึ่งนับเป็นเดือนถ้วนเดือนขาดสลับกันไป ด้วยยกเอาครึ่งวันเป็นวันเสียเดือนหนึ่ง วันในรอบ ๑๒ เดือน จึ่งเป็น ๓๕๔ วัน แต่วันในขวบปีเป็น ๓๖๕ วัน เกินเดือนไป ๑๑ วัน จึงรวมไว้สามปีมีเดือน ๘ สองหนเติมเข้าคราวหนึ่ง ก็เพื่อจะให้ปีตรงตามทางอาทิตย์ได้แก่ฤดู ที่เหลืออีกวันหนึ่ง (แต่ที่จริงไม่ถึง) วันนั่นรวมเข้าเป็นอธิกวาร ฉะนั้นก็เห็นได้ว่าเดือนเป็นทางจันทร์นั้นมาแต่อีกทางหนึ่ง แต่เห็นจะไม่ใช่ทางบาลี เพราะทางบาลีชื่อเดือนเป็นดาวฤกษ์ ชื่อเดือนของเราเป็นนัมเบอร์

วันซึ่งเรามีชื่ออาทิตย์จันทร์อังคารนั้นก็ชอบกล ข้างบาลีไม่มีชื่อแต่มีกำหนด ๖ เช่น “สัตตาห” ในการเข้าวรรษา และ “สัตตาหกาลิก” เป็นต้น ย่อมเห็นได้ว่าไม่ได้มาทางบาลี จะว่ามาทางโหรก็ใช่ที นั่นมีพระเคราะห์ ๘ พระเคราะห์ ๙ ไม่เข้าเรื่องกับพระเคราะห์ ๗ เห็นได้ว่าวันนั้นมาอีกทางหนึ่ง

แต่จับฉ่ายเหล่านี้ หมดปัญญาที่จะรู้ได้ว่าอะไรมาแต่ไหน ประดิทินของชาติต่างๆ โดยมากก็ยุ่งเก๋ไปอย่างเราว่านี้ เหตุที่ทำให้นึกถึงประดิทินของเรานี้ก็เป็นไปเพราะสืบวันเกิดเจ้าพระยาวรพงศ์นั้นแล

ข่าว

๑๑) เมื่อวันที่ ๗ ที่ล่วงมาแล้ว ไปเผาศพพระยานรเนตรที่วัดเทพศิรินทร์ เห็นศพใส่โกศ เมรุนั้นเป็นฐานขั้นกะไดรูปสี่เหลี่ยมตัดมุม เสาเป็นไม้แปด หลังคาเป็นไม้สิบสองมีกระเปาะย่อ อันนี้ก็เข้าเรื่องย่อไม้ซึ่งกราบทูลมาแล้วข้างต้น ได้แจกหนังสือในงานศพ เขาลงชื่อเดิมท่านว่าชื่อ “ลัด เศรษฐบุตร” หนังสือแจกไม่ได้คิดส่งมาถวาย เป็นธรรมสุภาษิตกับกฎหมาย กฎหมายนั้นเป็นลักษณะพยานย่อ ท่านแต่งเอง ควรอยู่แล้วที่จะตีพิมพ์แจก

๑๒) เย็นวันนั้นเอง พระยาวิชิตวงศ์กับคุณหญิงมาหาเป็นการเคารพ เพื่อแสดงให้รู้ว่ากลับจากสวิสเซอร์แลนด์มาถึงบ้านแล้ว ได้คอยดูหนังสือพิมพ์สังเกตอยู่เหมือนกันว่ามาถึงเมื่อไรจะไปเยี่ยม แต่ก็ไม่ทราบข่าวเลย อยู่เฉยๆ ก็จู่มาหาเสียแล้ว ได้เคยเห็นหนังสือพิมพ์เขาลงครั้งแรก ว่ากลับทางไซเบเรียครั้งหลังที่สุดคราวเยอรมันรบกับรุสเซีย ทราบว่ามาพักอยู่เมืองญี่ปุ่น แล้วเห็นหนังสือพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง กำหนดวันเป็นมั่นเหมาะว่าจะมาถึงกรุงวันนั้น แต่ก็ไม่มา สืบทราบความว่าติดเรือกลับไปเมืองญี่ปุ่น เพราะเขามีวิทยุมาเรียกเรือกลับ พระยาวิชิตวงศ์ออกจะร่อนรักร่อนเร่มาก

๑๓) รุ่งขึ้นวันที่ ๘ เข้าไปวัดพระแก้ว ในการสมเด็จพระพันวัสสาทรงทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ากับสมเด็จพระศรีพัชรินทราประจำปี การนี้สำนักพระราชวังมีหมายมาแต่วันที่ ๓ แล้วเป็นว่าจะมีสวดมนต์เลี้ยงพระทรงธรรมและสดับปกรณ์ ๕๘ จะกราบทูลรายละเอียดเพราะย้ายมาทำที่โบสถ์วัดพระแก้วแทนพระที่นั่งนงคราญ ตั้งพระบรมอัฐิที่หน้าพระพุทธยอดฟ้า แล้วตั้งม้าหมู่พระพุทธรูปที่หน้าพระพุทธเลิศหล้า ตั้งอาสนสงฆ์และอะไรอื่นตามเคย พระสงฆ์สวดมนต์และฉัน ๑๐ รูป พระธรรมปาโมกข์วัดราชบพิธนำ พระพรหมมุนีวัดเบญจมบพิตรถวายเทศน์ ในงานนี้ได้องค์หญิงอาทรซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังช่วยพุ้ยด้วยติดจะเซอะเพราะตาไม่เห็น อยากจะบ่นว่า “ชราธมฺโมมฺหิ”

บรรเลง

๑๔) ที่กราบทูลถึงเขียนกระบวนเรือพยุหยาตรา ว่าในกูบไม่มีอะไรนั้นสังเกตผิด ที่จริงมีคนใส่เสื้อครุยขาวสวมลอมพอกขาวคนหนึ่งนั่งอยู่ในนั้น แล้วก็ได้เดินดูทั่ว ที่เป็นกัญญาดาดสีแต่เป็นลายดาวกระจายนั้นมีคนใส่เสื้อเยียรบับนั่งอยู่คนหนึ่ง แต่ในบุษบกเรือทุกลำไม่มีอะไรในนั้น นี่เขียนทางขวา ส่วนทางซ้ายนั้นเป็นกระบวนบกมีช้างเผือกอยู่หลายตัว ข้างหลังมีกระบวนม้า แต่หมดนั้นไม่เห็นมีพญาหรืออะไรที่เป็นหลัก ทีจะเขียนไม่หมดกระบวน ได้เท่าไรก็เท่านั้น จะเป็นแห่อะไรคัดมาแต่ไหนก็ทราบไม่ได้

ทันด่วน

๑๕) วันที่ดีดพิมพ์หนังสือนี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม มีปะปิดทั้งสองด้าน ทั้งที่ปีนังกับทั้งที่ในกรุง จะกราบทูลสนองความในคราวหน้าตามเคย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ