วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน มีปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) นึกแค้นใจตัวที่ดูประตูพรหมวังหน้าไม่ดี เข้าใจไปว่าเป็นของเก่า ต่อตรัสว่าเป็นของใหม่จึงรู้สึกได้ น่าเกลียดจริงๆ เมื่อรู้สึกว่าเป็นของใหม่ ก็ทำให้อ่านไปได้ถึงชื่อพระที่นั่งพรหมภักตร์ นั่นแปลว่าทำอย่างแปลกแล้วตื่นหน้าพรหมนั้นจึงเอามาให้ชื่อพระที่นั่ง

ความคิดเจ้าอนุชาติตามที่ตรัส ทำให้นึกถึงตู้ใส่ต้นไม้ทองเงินในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามที่ตรัสสั่งให้เธอทำ เธอคิดอย่างช่างเต็มประตู คือทำให้งามในสิ่งที่ตนทำ จะเห็นสิ่งที่อยู่ในนั้นหรือไม่ก็ช่าง คิดแบบตู้นั้นย่อมุมเป็นไม้สิบสอง ด้วยช่างเราเข้าใจว่าทำไม้สิบสองเป็นเอก เสาฉลักลายอย่างวิจิตรพิสดาร ดูเหมือนมีคูหาหูช้างจำหลักลายด้วย เธอนำแบบไปถวายฝ่าพระบาท แต่ตรัสสั่งให้เธอเอามาให้เกล้ากระหม่อมตรวจ เกล้ากระหม่อมก็ให้ความเห็นว่า ทำสิ่งที่จะครอบอะไรควรจะคิดให้เหมือนหนึ่งไม่มีสิ่งครอบ เธอเข้าใจ แล้วเธอจะไปแก้อย่างไรก็หาทราบไม่

๒) ตราอุณาโลมและตราครุฑนั้น เป็นอันคิดต้องกันกับพระดำริแล้วว่ามาแต่มหาอุณาโลมกับพระครุฑพ่าห์ ส่วนตราปราสาทนั้นเกล้ากระหม่อมก็พูดเป็นทางสงสัย ว่าจะมาแต่ปราสาททองหรือมิใช่ก็ไม่แน่ เพราะติดจะเป็นคำมาไกลอยู่แต่ไม่ได้มาจากทับกระท่อมนั้นเป็นแน่ ที่ทรงพระดำริว่ามาแต่ไอยราพตนั้นใกล้กว่ามาก อันคำว่าวิมานนั้น ถ้าเอาไปพูดกับช่างก็จะต้องเข้าใจว่าอ้ายแดงๆ สามช่อง ที่จริงวิมานก็แปลว่าเรือนเท่านั้น จะเป็นกี่ช่องแดงหรือไม่แดงก็ได้

เสาธงเกิดในรัชกาลที่ ๔ แน่ ไม่ใช่มีแต่ในวังหลวงกับวังหน้า ตามวังเจ้านายก็เห็นมีอยู่หลายวัง แต่จะชักธงอะไรกันนั้นไม่เห็น ได้เห็นมาก็แต่เสาธงเปล่าทั้งนั้น เสาธงที่เก๋งกรงนกนั้นเก่าเต็มที เอาแต่หอกลองเท่านั้น ได้หลงพูดขึ้นแก่ใครๆ ด้วยสำคัญว่าเขาจะทันเห็น แต่เขาไม่เข้าใจเลยก็มีบ่อยๆ

ตราประจำพระองค์ตามวัดซึ่งบรรจุพระบรมอัฐินั้น ก็ได้เคยเอาใจใส่มาคราวหนึ่ง มีรูปสัตว์ประกอบด้วยอย่างพระดำรัส แต่เดี๋ยวนี้จำไม่ได้ จำได้แต่ที่วัดราชประดิษฐ์ ว่ามีมงกุฎอยู่เบื้องบน ข้างล่างเป็นหนูสามตัว ตรานี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่รัชกาลที่ ๔ ที่พระที่นั่งอิศเรศรก็มีตราและสัตว์อยู่ ณ พระวิมานที่ตั้งพระบรมอัฐิ แต่ได้สังเกตเห็นหมายต่างกันกับที่บรรจุพระบรมอัฐิตามวัด

ตราแผ่นดินต่างๆ นั้นดูเหมือนทำไว้ในห้องเหลือง รัชกาลที่ ๑ จำได้เลือนๆ ดูเหมือนมีปทุมอุณาโลมอยู่บนโล่ สองข้างมีทหาร (แต่งเครื่องทรงประพาส) ถือดาบยืนอยู่ อย่างไรก็ดี ตราอามนั้น “โซ้ด” แม้ธงประจำพระองค์ (มหาราช) ในรัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ใช่อย่างอามแท้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ตั้งพระราชหฤทัยที่จะหลบหลีกตราอามเสียด้วย โดยทรงสำนึกในพระราชหฤทัยว่า “โซ้ด”

๓) เรื่องธรรมยุติกับเรื่องสีดอ ตั้งใจคอยฟังพระดำรัสอธิบายจะได้รู้ไว้

๔) คำ “มังกุนคโร” นั้น เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงแปลว่ามงกุฎนคร ถ้าเป็นดั่งนั้นก็ควรเป็นชื่อเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองโซโล ไม่ใช่วังหน้า ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะเข้าใจว่ามังกุนคโรเป็นวังหน้า จะเล่าถวายถึงได้ไปเที่ยวเดินเล่นที่เมืองยกยา ซัดเซคเณจรเข้าไปในที่แห่งหนึ่ง อ่านหนังสือก็ไม่ออก เขาเขียนเป็นภาษาวิลันดากับหนังสือชวา ที่นั่นมีเป็นที่ท้องพระโรง แต่เอาไม้ตีกั้นอุดทางไว้ ไม่รู้ว่าที่นั่นเป็นสถานอะไร มาสืบได้ความทีหลังว่าเป็นวังหน้า จะมีตัวอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ และถ้าไม่มีตัวเขาจะใช้สถานนั้นเป็นอะไรก็ไม่ทราบ โซโลไม่ได้ไปถึง

๕) ข้อที่ทรงกะโปรแกรมถึงพระชันษานั้น ต้องมีการน้อยเนื้อต่ำใจอยู่เอง เพราะโปรแกรมเป็นของไม่แน่ แสดงว่าตั้งพระทัยอย่างไรเท่านั้น ถ้าทำไม่ได้เสียเมื่อไรนั่นแหละเป็นของแน่ จะมีการน้อยเนื้อต่ำใจหาได้ไม่

๖) ในพระบรมมหาราชวัง ควรจะเห็นเหมือนวัดยิ่งกว่าบ้านปลายเนินจริง ถ้าจะว่าบ้านปลายเนินเป็นบ้านอย่างเก่าควรอยู่ เพราะมีเรือนฝากระดาน ที่จริงเรือนฝากระดานนั้นยังมีมาก เช่นบ้านตามเรือกตามสวนเป็นต้น ควรจะเห็นบ้านเหล่านั้นเหมือนวัดด้วย

๗) หญิงนิวาศนั้นเห็นแต่หนังสือกรมราชเลขานุการในพระองค์บอกว่ากราบถวายบังคมลามาสหรัฐมลายู ได้นึกเหมือนกันว่าคงมาเยี่ยมองค์หญิงประเวศและตั้งใจจะเที่ยวที่อื่นด้วย จึงพูดกว้างๆ ไว้ ลูกชายดิศสองคนนั้นน่าเอ็นดูมาก ไม่ขี้ตระหนี่ตัวเลย พี่ๆ อาๆ จะพาอุ้มไปทางไหนก็ได้ทั้งนั้น คนพี่นั้นติดบ้านปลายเนินตกขอบ เพราะหญิงอี่ผูกชิงช้าไว้ ได้นั่งชิงช้าเป็นของสนุกของเด็ก

คำพี่เลี้ยงจางวาง เมื่อตรัสถึงจึงได้สติคิด ทางข้าหลวงใหญ่กับข้าหลวงน้อยนั้นผิดกันไปทีเดียว ทางข้าหลวงใหญ่จางวางอยู่เหนือเจ้ากรมปลัดกรม แต่ทางข้าหลวงน้อยจางวางอยู่ภายใต้เจ้ากรมปลัดกรม แต่แท้จริงควรจะอยู่เหนือ ที่อยู่ใต้คงเป็นด้วยคำพูดว่า “พี่เลี้ยงจางวาง” พาไป เพราะชื่อพี่เลี้ยงมาก่อน ตามที่ทรงพระดำริว่าพี่เลี้ยงควรจะเป็นเด็กซึ่งมีอายุแก่กว่า อันควรจะเป็นพี่ได้นั้นถูกที่สุดในหนังสือเก่าๆ ก็เป็นเช่นนั้น

๘) มีความยินดีอนุโมทนาในพระกุศลราศี ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญในวันประสูติ ตามธรรมดาแห่งคนเรา จะทำอะไรก็ทำเท่าที่จะทำได้สะดวก เท่าที่ทรงทำนั้นก็ดีพอแล้ว และที่พระยารัษฎาแต่งอาหารมาเลี้ยงช่วย นั่นก็เป็นความดีของท่านเป็นอย่างยิ่ง

ตามที่ตรัสว่าวันประสูติปีนี้ วันทางสุริยกับทางจันทร์เกือบตรงกันนั้น ทำให้นึกถึงปีเดือนของเราย่อมนับไปต่างทางกัน ติดจะลักลั่น ส่วนปีนั้นกำหนดเอาฤดูเป็นที่ตั้งนั่นหมายความว่านับทางสุริย ส่วนเดือนนั้นนับเอาดวงพระจันทร์ นั่นหมายความว่านับทางจันทร์ แต่โหรเขาก็เอาทางอาทิตย์กับทางจันทร์เข้าผสมกันเสีย จึงมีอธิกมาสอธิกวารเกิดขึ้น คนสามัญจะรู้ไม่ได้เลย สุดแต่โหรเขาจะว่า ที่โหรเขาคิดว่าใคร เกิดเมื่อไร ตรงวันไหนเวลาไหนนั้น ไม่ถูกมิได้ หลง

๙) โปรดบอกหญิงพิลัยด้วย ว่าหนังสือที่สอดไปกับหนังสือเวรได้รับแล้ว

ข่าว

๑๐) เมื่อวันที่ ๓๐ ซึ่งล่วงมาแล้ว ได้รับหมายกำหนดการใบพิมพ์ในการเข้าวรรษา ๒ ฉบับ ไม่มีหมายนำ ต่อรุ่งขึ้นจึ่งได้รับหมายเป็น ๒ ฉบับ คือหมายสั่งเข้าวรรษามีใบพิมพ์หมายกำหนดการส่งมาด้วยอีกฉบับ ๑ กับหมายสั่งเปลื้องเครื่องพระแก้วอีกฉบับ ๑ รวมเป็นได้หมายกำหนดการใบพิมพ์ ในการเข้าวรรษาถึง ๓ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยคราวนี้ฉบับหนึ่งแล้ว

๑๑) วันที่ ๔ กรกฎาคม ได้รับหมายอีก ๒ ฉบับ บอกเลื่อนเวลาเปลื้องเครื่องพระแก้ว ๑๐.๓๐ น. เป็น ๑๖.๓๐ น. ฉบับ ๑ กับหมายสั่งบวชพระยาพหล ที่วัดพระศรีมหาธาตุ วันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๓.๐๐ น. อีกฉบับ ๑

บรรเลง

๑๒) พระยาอนุมานส่งหนังสือ เรื่องพระราชลัญจกรซึ่งแต่งขึ้นมาให้ตรวจ ไม่จำจะอธิบายถึงรูปเรื่อง เป็นแต่มีกล่าวด้วยพระราชลัญจกร “หงส์พิมาน” มาเป็นนิมิต ให้คิดไปถึงม้าหงส์พิมาน ซึ่งประทานฉายาว่า “อ้ายแดงคน” ได้กราบทูลถึงมันมาแต่ก่อนแล้ว แต่ให้รู้สึกว่ายังไม่พอ จึ่งจะกราบทูลต่อไปอีก

ม้าตัวนั้นเกล้ากระหม่อมไปได้ขี่ที่เกาะสีชัง ด้วยกรมม้าเขาจัดไปถวายสมเด็จพระพันวัสสา เกล้ากระหม่อมอยู่กับนายบุศมหินทร์ทางป๊ากไกลกับพระราชวังจึ่งได้ขี่ม้า ได้ขอให้กรมม้าเขาผูกมาให้ เมื่อขี่มันแล้วก็ชอบใจ มันวิ่งใหญ่วิ่งน้อยดีทั้งนั้น สุดแต่จะบังคับให้มันทำอย่างไร (ขาดแต่ไม่ได้ขี่วิ่งแซงรถพระที่นั่ง)

มีเรื่องจะเล่าถวายถึงกรมพระนราธิป ในกาลหนึ่งทรงพระปรารภจะหัดทรงม้า จึงตรัสบอกไปกรมม้าให้เขาจัดมาถวายทรง เขาก็จัดมาดีมีตัวหนึ่งซึ่งผูกมาเป็นม้าที่นั่ง แล้วมีอีกตัวหนึ่งพนักงานม้าจูงขี่ตาม เมื่อทรงไปถึงถนนแยกวัดบุญศิริตั้งพระทัยจะเลยไป แต่ม้ามันเลี้ยวเสีย จะทรงอึกอักชักให้มันไปตรงก็ทรงพระวิตกว่า นายม้าจูงจะเห็นว่าทรงม้าไม่เป็น จึ่งตามใจมัน ที่จริงเขาคงรู้นานแล้ว คิดว่าคงทรงสายถือหย่อนโตงเตง จึ่งทรงพระดำริจะชักม้าให้เลี้ยวให้ตรง ม้ามันก็รู้ว่าคนบนหลังเป็นตุ๊กตา พอไปถึงสะพานเซี่ยวมันก็ลงตามช่องซึ่งมีอยู่ที่เชิงสะพาน ไปอาบน้ำเสียตามสบายใจในคลองเฉยๆ กรมพระนราธิปตรัสว่า แกคงเอามันมาลงน้ำที่นี่ นายม้าจูงกราบทูลว่าเปล่าเลย ทีหลังสืบได้ความว่าม้าซึ่งผูกไปถวายก็คือ “อ้ายแดงคน” นั่นเอง เป็นไปได้ถึงเพียงนั้น

เขียนกราบทูลถึงเรื่องม้าม้าก็มาอีกเรื่องหนึ่ง เกล้ากระหม่อมไปเมืองชล แล้วไปเที่ยวเมืองพนมกับเจ้าพระยาเทเวศร เป็นปรกติที่เขาจะต้องเกณฑ์ม้าหัวเมืองมาให้คนขี่ ก็ย่อมมีขนาดต่างๆ กัน แต่ตัวหนึ่งเล็กมาก จนลูกสมุนเจ้าพระยาเทเวศรไม่กล้าขี่ ด้วยกลัวมันจะพาไปล้ม นึกเอาม้ากรุงเทพฯ เป็นแบบฉบับ แต่เจ้าพระยาเทเวศรรู้ บอกว่าขี่ได้ เขาจึ่งขี่ไป มันพากระโดดข้ามหัวระแหงดีไปเสียอีก

อีกเรื่องหนึ่ง เกล้ากระหม่อมไปตามเสด็จดูเหมือนเมืองระยอง ก็ต้องไปขี่ม้าเกณฑ์เหมือนกัน คราวนั้นพิลึกมาก ทีแรกเกล้ากระหม่อมขี่ม้าตัวหนึ่งอยู่ พระองค์สายมาเห็นเข้าก็ “โห่” ว่า “ฝ่าพระบาทมาทรงอ้ายอั้งหมอทีเดียว มันเก่งนัก” ที่จริงอ้ายม้าตัวที่ขี่อยู่นั้นมันก็ไม่ได้แผลงฤทธิ์อะไร แต่เกล้ากระหม่อมหนาวไปก็ลงเพื่อหาจับใหม่ แต่เป็นเวลาจวนจะเสด็จอยู่แล้วซึ่งเขาจับกันไปหมดแล้ว ไปพบตัวหนึ่งมีคนจูงแอบซุ่มอยู่ในพุ่มไม้ เกล้ากระหม่อมถามว่าของใคร เขาก็บอกว่ายังไม่มีเจ้าของ เกล้ากระหม่อมก็บอกว่างั้นฉันเอา แต่พอกระโดดขึ้นหลังยังไม่ทันจะใส่โกลน มันก็พาวิ่ง ขณะนั้นก็พอเสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งพอดี เมื่อนั้นเกล้ากระหม่อมเป็นราชองครักษ์มีหน้าที่จะต้องเข้ากระบวน แต่ม้ามันพาวิ่งไปก่อน จนไปชนม้าพระยาอภัยรณฤทธิ์ (เวก) เข้าอักใหญ่ ต้องขอโทษท่าน พอหลุดจากนั้นมันก็พาวิ่งไปบนถนนข้ามตะกาด ด้วยที่นั่นทางขึ้นเป็นหาดทราย แล้วมีตะกาดคั่นกับแผ่นดินฝั่งเขาจึงทำถนนข้ามตะกาดเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน พอเกล้ากระหม่อมใส่โกลนได้แล้วก็รั้งมัน แต่ถูกมันเป็นม้าคออ่อน รั้งเข้าคอมันก็พับมาเสีย แต่ตีนยังพาวิ่งไปเสมอ ขึ้นไปอยู่บนหัวตอซึ่งเขาปักทำถนนใหม่นั้น กลัวมันจะตกลงไปในตะกาดแล้วทั้งม้าทั้งคนก็แย่ พระยาธรรมจรรยาแกขี่ม้าแซงกระบวนเสด็จอยู่ แกว่าแกคิดจะขับม้าขึ้นไปช่วยจับ แต่ม้าของแกหงองเต็มทีวิ่งไม่ไหว จึงได้แต่ร้องตะโกนไปว่า “ลงเสีย” เกล้ากระหม่อมก็ได้สติ แต่พอรั้งมันช้าลงก็กระโดดลงมา ที่ทำดังนั้นก็จวนจะสุดถนนอยู่แล้ว แต่พอกระโดดลงอ้ายม้าเจ้ากรรมนั่นก็หยุดยืนไม่ยอมเดินเสียเฉยๆ เป็นการปิดทางม้าพระที่นั่งเสียด้วย เกล้ากระหม่อมก็ตีมัน มันสะดุ้งเคลื่อนที่ไปแต่เวลาตีสักศอกเดียว แต่เพราะจวนจะถึงที่สุดแห่งถนนซึ่งข้ามตะกาดนั้นแล้ว ก็ลากลู่ถูกังเอาแต่พอพ้นถนนไปได้ ม้าพระที่นั่งผ่านไปใกล้ๆ ได้ยินพระราชดำรัสว่า “รีพิวส์” เกล้ากระหม่อมก็ยืนถือมันคอตกอยู่ไม่รู้จะทำอย่างไร อีกครู่เดียวเจ้าพระยาเทเวศรก็ขี่ม้าตามไป เกล้ากระหม่อมจึ่งบอกว่าม้าตัวนี้ขี่ไปไม่ไหว ท่านเก่งอยู่ท่านคงขี่ได้ขอเปลี่ยนม้าเถิด ท่านก็ลงจากม้าที่ขี่มาเอามาส่งให้ เกล้ากระหม่อมก็ส่งม้าตัวที่ถือไว้ให้ท่าน แล้วก็กระโดดขึ้นม้าตัวใหม่ตีวิ่งตามเสด็จไป แต่ได้ยินข้างหลังเสียงเจ้าพระยาเทเวศรร้องว่า “โอ๊ยๆ เข้ารกแล้ว” แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้เหลียวหลัง จะเป็นอย่างไรต่อไปไม่ทราบ ส่วนอ้ายอั้งหมอที่ว่ามันเก่งนั้นเห็นคนอื่นเขาขี่ไป ดูมันก็ดี ไม่เห็นมีพิษสงอะไร ถ้าว่าตามแบบเท่าที่เห็นก็เป็นว่าม้ามีกิริยาเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นม้าโกง

๑๓) เมื่อวันที่ ๖ วานนี้ ได้ไปวัดพระศรีมหาธาตุในการบวชพระยาพหลเป็นข้อหลัง จะต้องพรรณนาถวายโดยยืดยาว เพราะไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นทั้งสองอย่าง แต่จะพรรณนาถวายในครั้งนี้จะสั้นไป เพราะเวลาไม่ให้จึ่งจะเขียนถวายในคราวหน้า

ทันด่วน

๑๔) กับรุ่งขึ้นวันจันทร์ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน เร็วกว่าที่เคยได้รับอยู่วันหนึ่ง มีปะปิดทับเดียวแต่ทางกรุงเทพฯ จะกราบทูลสนองคราวหน้าเหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ