วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

แก้ปริศนา

๑) การเรียกคนแก่ว่ายายตา ไม่เรียกย่าปู่นั้น คิดเห็นทางแล้ว เพราะธรรมดาพวกเราแม่ย่อมเป็นผู้เลี้ยงลูก ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นยายตาคุ้นมาทีเดียว เพราะแม่อยู่กับยายตา ด้วยประเพณีของเราจะมีเมียก็ต้องไปอยู่ที่บ้านเมีย ซ้ำเจ้าผลัดเจ้าผลูยายก็ฉวยเอาตัวไปเลี้ยงเสียด้วย เหตุฉะนั้นจึงเรียกยกย่องคนแก่ว่ายายตา ไม่เรียกเป็นย่าปู่ เพราะย่าปู่อยู่ต่างบ้านนานๆ พบ ไม่ถนัดที่จะเรียกใช้ หรือลางทีก็ไม่รู้สึกว่า ย่าปู่มีอยู่ในโลกเสียด้วยซ้ำ

ข้างไทยถิ่นอื่นเขามีเรียกย่าปู่ เช่นคนป่าทั้งคู่ซึ่งมากับ “สิงห์กับ” ชาวลำปางเขาเรียกว่า “ปู่เยอ” “ย่าเยอ” แต่นั่นอาจเป็นผู้รู้ตั้งชื่อให้ หมายความว่าคนเราสืบเชื้อสายมาแต่คนป่าก็เป็นได้ ไม่ใช่เป็นคำสามัญ

รายงาน

๒) ตามที่กราบทูลมาด้วยเรื่องแว่นตา นึกขัดใจก็ไปเน้เอาแว่นตาที่บ้านปลายเนินมาเที่ยวทิ้งไว้ที่ไหนๆ อีก ไม่ต้องลุกไปหยิบให้เสียเวลา ในการเหนื่อยด้วยเรื่องแว่นตา รู้สึกได้ว่าเพราะถอดออกเสีย ถ้าใส่อยู่เสมออย่างเจ้าเจียก แม้นอนหลับตาก็ใส่ จนกรมหมื่นมหิศร ฟ้องว่าท่านเจียกใส่แว่นตาไม่มีมูลแล้ว จะไม่ได้ความลำบากเลย เคยเห็นคนบุราณเขาถลกเอาแว่นตาขึ้นไปไว้บนหน้าผากในเวลาไม่ต้องการใช้ แต่เวลานี้จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะขาแว่นตาเป็นขอคล้องหูอยู่ พอดี เคยได้เห็นรูปตลกของฝรั่ง เขียนเป็นคนลงไปคลานหาแว่นตาอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือ รื้อตะกร้าเศษกระดาษเสียชุลมุน ที่แท้ก็อยู่แก่ตัวเอง แต่นั่นเป็นแว่นตาหนีบผูกเชือกคล้องคอ ไม่ใช่ถลกเอาขึ้นไปไว้บนหน้าผาก

เหตุเรื่องแว่นเกิดเป็นพิเศษขึ้นที่วังวรดิศก็มี วันหนึ่งเข้าไปนั่งในห้องน้ำ มีหนังสือพิมพ์เข้าไปด้วย แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะลืมแว่นตาอ่านไม่ได้เข้าไปนั่งอยู่เปล่าๆ ก็มือบอนชักลิ้นชักโต๊ะซึ่งอยู่ใกล้ๆ ออกดู พบแว่นขยายรูปสี่เหลี่ยมรี ได้เอาส่องหนังสือพิมพ์ก็เห็นจะแจ้งอ่านได้ ทำให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทรงเคยมีแว่นชนิดนั้นไว้ส่องทรงพระอักษร แต่แว่นที่พบนั้นด้ามมันงอกแงก ซึ่งให้ชายดิศเอาไปซ่อม บัดนี้เรียบร้อยแล้วและใช้ส่องดูอยู่อีกอันหนึ่ง

๓) มาอยู่วังวรดิศนี้มีหลานขึ้นมารับใช้ต่างกันกับที่บ้านปลายเนินมาก

๔) เมื่อวันที่ ๒๒ ได้รับหมายพระราชวัง ๒ ฉบับ บอกจะมีการบวงสรวงพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ณ วันที่ ๒๗ มกราคม ฉบับ ๑ กับบอกกำหนดการเลี้ยงพระถวายผ้าจำนำพรรษาวัดราชประดิษฐ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ วัดราชบพิธ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ อีกฉบับ ๑

ลายพระหัตถ์

๕) เมื่อวันเสาร์ มกราคม วันที่ ๒๕ ไปบ้านปลายเนิน พบลายพระหัตถ์เวรปะปิด ลงวันที่ ๒๑ มกราคม แม้จะมีสลักหลังให้ส่งที่วังวรดิศ เขาก็ส่งที่ปลายเนินตามเคยนั่นเอง แต่ไม่เป็นไรมิได้ จะส่งที่ไหนก็ได้ เป็นในกรุงเทพฯ ด้วยกัน ตัวอยู่ที่ไหนก็มีคนส่งไปให้ที่นั่น ลายพระหัตถ์ฉบับนี้แปลกแต่มีตราเลข ๑ ฝรั่งอยู่ในวงกลมประทับที่หลังซอง วงโตสักเซ็นติเมตร ๑ เห็นจะได้ เขาคงหมายกองตรวจแทนตราสามเหลี่ยม ซึ่งเลิกไม่ได้ประทับมานานแล้ว จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นลางข้อต่อไปนี้

๖) เป็นพระเดชพระคุณ ที่ทรงพระเมตตาโปรดอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ที่ตำหนักวังวรดิศได้ตามใจ เมื่อต้องการสิ่งใด ก็ได้เผาชายดิศก่อนที่ได้รับประทานอนุญาตแล้ว ห้องทรงพระอักษรก็ได้ใช้แล้ว สิ่งอันใดซึ่งทรงตั้งไว้ก็อยู่ตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเพราะไม่กีดขวางเลย ที่สำหรับจะเขียนหนังสือก็ว่างอยู่พอแล้ว ใช้ห้องทรงพระอักษรนั้นเฉพาะแต่กลางวัน ถึงเวลากลางคืนก็ย้ายมาทำในกรงที่เฉลียงด้านใต้ เพราะได้ลมเย็นสบายกว่า ที่จริงไม่ควรย้ายไปย้ายมาให้ลำบาก ในกรงเฉลียงด้านใต้แห่งเดียวก็ควรจะพอ แต่ที่นั่นกลางวันนั่งไม่ได้ร้อนเต็มที ด้วยหลังคาเป็นเพิงดาดส่งไอร้อนลงมาที่เฉลียง ได้ยินว่าฝ่าพระบาทประทับอยู่ก็ต้องย้ายเช่นนั้นเสมอ

๗) จะกราบทูลให้ทรงสังเกตในเรื่องเศวตฉัตร ซึ่งจัดเป็นลำดับตามยศ

ก – เศวตฉัตร กำหนดว่าวังหลวง ๙ ชั้น วังหน้า ๗ ชั้น แต่เศวตฉัตรพระคชาธาร วังหลวงลดเหลือ ๗ ชั้น วังหน้าลดเหลือ ๕ ชั้น วังหลังไม่เคยเห็น ถ้ามีก็คงเป็น ๓ ชั้น จะลดยศลงเสียด้วยเหตุใด ตามที่เคยได้ยินกล่าวถึงเหตุก็เป็นว่าใกล้ต่ออันตรายที่จะหักโค่น จะถือเอาว่าเป็นของคิดขึ้นใหม่โดยไม่สมควรจะได้หรือไม่ แม้การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ก่อนก็ถวายเศวตฉัตรพระคชาธาร ซึ่งมีอยู่ ๗ ชั้นนั้นเอง เพิ่งมาทำเปลี่ยนใหม่เป็น ๙ ชั้น เมื่อในงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ แต่ก็ไม่ได้ใช้อะไรนอกจากการพระราชพิธีนั้นเท่านั้น ถ้าลดชั้นได้จะตั้งกำหนดชั้นเป็นยศไว้ทำไม

ข – กระบวนแห่พระเจ้าแผ่นดินมีจับฉ่าย ๗ ชั้นก็มี ๕ ชั้นก็มี ๓ ชั้นก็มี ชั้นเดียวก็มี ฉัตรเบญจรงค์งานพระเมรุก็ตอกขึ้นไปถึง ๑๑ ชั้น จะว่าที่พูดกำหนดชั้นเป็นยศ จะพูดถึงเศวตฉัตรก็ใช่เชิง

ค – ดูรูปจำหลักที่พระนครวัด ไม่พบฉัตรซ้อนชั้น มีแต่ชั้นเดียวแต่มากคัน เข้าใจว่าได้แก่เครื่องพระอภิรุมทุกวันนี้ น่าเข้าใจว่าการซ้อนชั้นฉัตรจะมีขึ้นทีหลังจำหลักรูปภาพในครั้งนั้น

๘) เรื่องไม้กางเขนตรึงพระเยซู ฟังพระดำรัสเล่าพร้อมทั้งเห็นรูปที่ตำหนักออกจะหัวปั่น ฝันว่าได้เคยทำไม้กางเขนถวาย ดูเหมือนฝ่าพระบาททรงได้รูปพระเยซูมาแต่เมืองนอก แกะด้วยงา ยังจำคำช่างฝรั่งเขาบอกไว้ ด้วยเรียนการให้ทำแก่เขา เขาว่าไม้กางเขนนั้นสามด้านเบื้องบนยาวเท่ากัน แต่ด้านล่างต้องยาวกว่าสามด้านเบื้องบน ที่ทำเท่ากันทั้งสี่ด้านนั้นผิด แต่ดูรูปซึ่งอยู่ในครอบบนตำหนักไม่ใช่องค์ที่ทำถวาย รูปพระเยซูก็ลงสีทั้งไม้กางเขนก็ใหญ่กว่า ต้องเป็นคนละองค์ องค์นั้นจะเป็นฝ่าพระบาทตรัสสั่งให้ทำหรือมิใช่ ก็สงสัยในความจำ ถ้าไม่ใช่ก็เป็นเจ้านายพระองค์อื่น

มีของในตู้ที่ตำหนักวังวรดิศซึ่งอยากรู้อย่างหนึ่ง คือรูปปรางค์เล็กทำด้วยเงิน ซึ่งตั้งอยู่ที่สุดทางซ้ายว่าเป็นรูปปรางค์อะไรที่ไหน ที่จริงของทั้งนั้นได้เคยตรัสบอกมาทีหนึ่งแล้วว่ากรมการเมืองต่างๆ ทำถวาย แต่จำไม่ได้ ได้สอบถามชายดิศก็บอกไม่ได้ด้วยไม่รู้ มีแต่ฝ่าพระบาทองค์เดียวที่จะตรัสบอกซ้ำให้ทราบได้

๙) หนังสือฉบับที่ตรัสบอกว่าหาย ได้หยิบร่างให้หญิงอามดีดพิมพ์เป็นสำเนาเพื่อจะส่งมาถวายกับหนังสือฉบับนี้ เธอคาดว่าคงไม่หาย คงไปโล้เต้อยู่ที่ไหนแห่งหนึ่ง ก็จริงๆ ได้รับลายพระหัตถ์คราวนี้ตรัสบอกว่าได้ทรงรับแล้วเลยไม่ต้องดีดพิมพ์คัด.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ