วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) โมทนาในพระกุศลราศี อันได้ทรงบำเพ็ญในวันเข้าวรรษาซึ่งทรงพระเมตตาประทานโอกาสให้ได้อนุโมทนานั้นแล

เรื่องความเสื่อมทรามของวัดปุโลติกุสนั้นเข้าใจยากอยู่ ทำไมทายกจึ่งยกเอาพระซึ่งมีมลทินเป็นปาราชิกขึ้นเป็นสมภาร ทำไมสมภารเก่าจึงทำบิดเบี้ยวไม่ออกเสียจากหน้าที่ตรงๆ

พระดำรัสซึ่งใช้คำ “สายมงคลสูตร” นั้นดีเต็มที ดีกว่าคำ “สายสิญจน์” เป็นอันมาก ในการที่จะหลบคำ “มงคลสูตร” หลบเรียกแต่ว่า “สายมงคล” เท่านั้นก็พอ

๒) จะเล่าถวายถึงตำราขี่ช้างบ้าง ในกาลหนึ่งเกล้ากระหม่อมไปที่หอสมุด จะเป็นด้วยธุระอะไรก็ลืมเสียแล้ว แต่ไปพูดขึ้นถึงนุ่งเกี้ยวเกไล พระยาอนุมานเอาตำราช้างมาให้ดู เห็นเป็นถ้อยคำสำนวนของอาจารย์กุหลาบ เห็นจะแต่งออกจากตำราครั้งพระนารายณ์นั้น

ที่มีว่าทาน ๓ ครั้งนั้นทำให้ได้สติว่าโบราณท่านก็เห็นความบกพร่องมาแล้ว ทราบได้จากเกล้ากระหม่อมเคยตรวจปรู๊ฟอ่านแก้แม้ถึง ๒ เที่ยวก็ยังเห็นที่ผิดต้องแก้อยู่นั่นเอง ขี้เกียจจะดูหลายเที่ยว และคิดว่าจะดูสักกี่เที่ยวก็เห็นจะพบที่ผิดอยู่นั่นเอง ทาน ๓ เที่ยวนั้นเข้าใจว่าเป็นแต่ปานกลาง ถ้าดูมากเที่ยวไปอีกก็เห็นจะพบผิดอีก แต่ที่ผิดนั้นเป็นแต่ผิดเล็กน้อย ไม่ถึงผิดความ

ที่เข้าใจว่าไทยเรามีตำรามากและหวงวิชานั้น ออกจะเป็นความเห็นของฝรั่ง เพราะเขาตั้งใจจะเอาตำราของเราไปเขียนแต่ง แต่ครั้นเอาไม่ได้เขาก็คิดว่าเราหวงวิชา ด้วยเขาคิดว่าอะไรหมดจะต้องมีตำราอย่างเมืองเขา แต่ที่จริงตำราเราไม่มี หากมีก็ทีจำไม่ได้ เช่นมนตร์ของพระสิทธิชัยอย่างพระดำรัสนั้น ตำราขี่ช้างข้างที่ซึ่งตรัสนั้นจะเป็นของทำใหม่ตามเขาว่า ไม่แน่ว่าจะจริงหรือไม่จริงจึงห้ามไม่ให้เอาไปตีแผ่ ให้สอนกันแต่คนที่อยากรู้ ทั้งนี้ก็ไปเข้ารูปความคิดของฝรั่งที่ว่าหวงวิชา ตำราพิชัยสงครามเกล้ากระหม่อมก็เคยดู เห็นเป็นเรื่องหมอดูทั้งนั้นก็เลยไม่เอาใจใส่ แบบโบราณก็เชื่อหมอดูกันเป็นใหญ่ กรมหมื่นมหิศรได้สังเกตมาก ในตำราพิชัยสงครามเห็นมีแก่นสารอยู่ที่กลต่างๆ แต่ก็มีแต่ชื่อเท่านั้น เช่น “กลม้ากินสวน” จะกินอย่างไรก็ไม่บอกไว้ เลยเอาไปใช้ก่งคอเล่น แม้การตั้งทัพที่โดยรูปครุฑและนาค ก็เป็นเรื่องสัตว์อันไม่พ้นทางหมอดู จึ่งตกลงกันว่าเป็นเรื่องหมอดูสิ้น ไม่มีอะไร

คำว่า “เกี้ยว” กับ “นุ่ง” จะต้องต่างกันอยู่เอง “เกี้ยว” เห็นจะแปลว่าผูก ใช้ตลอดไปจนถึงสร้อยรัดผมก็เรียกว่า เกี้ยว ชายหญิงพูดกันในทางรักก็เรียกว่าเกี้ยว ผ้าเกี้ยวก็คงเป็นผ้าคาดพุงเท่านั้น ทีหลังคาดเป็นทีนุ่งจึงพาให้เข้าใจผิด ในเรื่องขี่ช้างถ้าทรงจับหลักฐานอะไรได้ก็พึงใจที่จะฟังพระดำรัสต่อไป

๓) ทำไมช่างสมัยหนึ่งจึ่งเข้าใจว่า ถ้าทำมุมย่อไม้สิบสองแล้วจะเป็นเอก ยังไม่เข้าใจว่าอะไรนำไปให้คิดเห็นเช่นนั้น

๔) ในเรื่องเสาธง ได้ทราบพระดำรัสแสดงมูลเหตุนั้นดีเต็มที แม้ไม่ได้ทราบก็แหงแก๋เอาหลักไม่ได้

๕) ได้ทราบพระนามวังหลวงวังหน้าแห่งเมืองยกยาโซโลก็ดีอีก ตามไม่ทันว่าที่ถูกจะเป็นอะไร แต่เห็นใกล้กับไทยมาก เช่นภูวโน ก็ใกล้กับ ภูวไน คำภูวไนของเราก็เหลว อันภาษานั้นผ่านเมืองต่างๆ มามาก เช่นคำว่า “สุริยัน” ซึ่งเราใช้กันดกดื่น จะไปหาทางภาษามคธหรือสังสกฤตนั้นไม่มีมิได้ เขาว่าเป็นภาษาทมิฬ จะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ แล้วภาษาซึ่งผ่านมานั้นก็วิบัติไปเสียตามๆ กันมาด้วย คงเหลือแต่รูปให้พอที่จะรู้ได้ว่าเป็นภาษาอะไร เหมือนหนึ่งพระนามวังหลวง วังหน้าทางชวานั้นก็เพียงพอแต่จะพึงรู้ได้ ว่าโครงเป็นภาษาสังสกฤตเท่านั้น ที่ ๑ ที่ ๒ นั้น ทางฝรั่งเข้ามาปน

การมีวังหลวงวังหน้านั้นคงมีเป็นประเพณีมานานแล้ว หากอังกฤษวิลันดามาจัดชุบมือเปิบ กำหนดให้เป็นอย่างไรไปเท่านั้น คนซึ่งเป็นวังหน้าจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีประโยชน์แก่แผ่นดิน นับเป็นที่ ๒ รองแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา ไม่จำจะต้องเป็นพระราชวงศ์ก็ได้

๖) เรื่องพี่เลี้ยงจางวางนั้น เกล้ากระหม่อมก็รู้สึกว่าเจ้านายมีกรม และไม่มีกรมนั้นไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้คิดให้ตลอดไป จนกระทั่งได้ฟังกระแสพระดำริจึงได้คิดต่อ ก็เห็นความว่า อันชื่อกรมหลวงโยธาทิพย์โยธาเทพย์นั้นเป็นชื่อกรม หาใช่พระนามเจ้านายซึ่งเป็นองค์หญิงไม่ ทั้งชื่อกรมและเจ้ากรมก็มีตารางเกณฑ์เข้าตาทัพเสียด้วย เพราะฉะนั้นแต่ก่อนนี้เจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บัญชีจะต้องเป็นข้าหลวงใหญ่ ไม่ใช่ข้าหลวงน้อยถูกแน่ แต่ข้าหลวงน้อยนั้นยังคิดไม่เห็นทางที่จะเป็นไปดี แม้กระแสพระดำริก็เป็นไปเพียงทรงสันนิษฐาน

๗) ทำไมหงส์จึงเกี่ยวข้องกับวิมาน จะกราบทูลถวายตามมีตามเกิด ด้วยครั้งหนึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้เขียนพระราชลัญจกรหงสพิมานอยู่ข้างจะอึดอัดใจ เพราะพระราชลัญจกรหงสพิมานองค์เดิมเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เห็นแต่เขาเขียนเป็นรูปหงส์อยู่ในวิมาน (อ้ายสามช่อง) ก็ไม่เชื่อ นึกว่าเขียนเดาไปตามรูปศัพท์แห่งชื่อเท่านั้น ความจริงหงส์เป็นพาหนะพระพรหม กลัวจะเป็นไปในท่วงทีอย่างเดียวกันกับพระราชลัญจกรไอยราพต ซึ่งมีวิมาน (สามช่อง) หรือบุษบก ตั้งอยู่บนกระพองหรือบนหลัง มีองค์พระอินทร์อยู่ในนั้นด้วยก็มี ไม่มีก็มี อันนั้นก็ตรงกับพระราชลัญจกรเก่าองค์หนึ่ง ซึ่งมีรูปพระพรหมนั่งอยู่ในวิมาน (สามช่อง) บนหลังหงส์ แต่จะเป็นหงส์พิมานหรืออย่างไรไม่ทราบ อย่างไรก็ดี จะต้องทำไม่ให้เขลาเกินไป จึงได้ค้นหาความรู้ก็พบในพจนานุกรมของอาจารย์โมเนียวิลเลียม เขาว่าคำ “วิมาน” นั้นเป็นพาหนะอย่างใดๆ ของเทวดา ก็ได้ฟังก็เข้าใจ ว่าที่เป็นดั่งนั้นก็เพราะรถยานซึ่งมีเรือนอยู่บนนั้นก่อน ทีหลังเป็นรถที่ไม่มีเรือนก็ได้ แล้วเป็นยานอย่างอื่นก็ได้ เพราะเหตุฉะนั้นจึ่งได้เขียนพระราชลัญจกรหงสพิมานถวาย เป็นรูปหงส์มีวิมาน (ช่องเดียว) ตั้งบนหลัง จะเขลาหรือไม่ก็ไม่ทราบ คิดว่าพระราชลัญจกรองค์นี้เองถ่ายทอดไปให้เป็นชื่อระวางม้า แต่คำ “สังข์พิมาน” นั้นจนด้วยเกล้า เพราะไม่ทราบว่าสังข์เป็นพาหนะของใคร กลัวคำหงสพิมานจะพาไปให้หลง

พระโอรสธิดาของฝ่าพระบาท ใครจะขี่ม้าเป็นบ้างนั้นไม่ทราบ ทราบแต่หญิงเหลือว่าขี่แข็ง นึกขึ้นได้ว่าครั้งหนึ่งเกล้ากระหม่อมไปเมืองชล พวกในครอบครัวเจ้าพระยาเทเวศรพากันขี่ม้าเที่ยวเล่นด้วยกัน เรียกคนขี่ม้าไม่เป็นว่า “เจ้านาค” ได้ความเหมาะดีมากอยู่ ที่ชายดิศขี่ม้าไปพบคนหัวขาดนั้นน่ากลัวมาก แต่เธอไม่ได้เล่าเรื่องให้ฟัง จะถามดู

เบ็ดเตล็ด

๘) ดูเหมือนเมื่อวันที่ ๒๐ ซึ่งล่วงแล้วมา เกิดขลุกขลักด้วยเรื่องหญิงหลุยเจ็บท้อง มีโทรศัพท์มาเรียกหมอที่บ้านปลายเนิน หญิงอี่ก็ไปกับหมอ แต่เธอไม่พอมาตามเอาแม่โตไปอีก แม่โตกลับมาบอกว่าหลับไปแล้ว หมอไปเอ็ดตะโรว่าไม่รู้จักรักษาตัว ขี่รถไปเที่ยวบางปูทำให้กระท่ำกระเทือน ต่อมาก็ไม่เห็นเจ็บอีกจนบัดนี้ ทำไมหมอจึงมาอยู่ที่บ้านปลายเนิน เพราะเขาเป็นสกุลศิริสัมพันธ์ ชื่อหมอจำรัส คุ้นเคยกันมาแต่ครั้งพระยาสโมสรเจ็บ เวลานั้นเขายังเป็นเด็กหนุ่มเรียนอยู่ที่โรงเรียนศิริราช ทีหลังได้รับพระกรุณาแต่สมเด็จพระราชบิดา ทรงพระอนุเคราะห์อุดหนุนให้ได้ไปเรียนต่อที่เมืองนอก เขาไปเยี่ยมครอบครัวเกล้ากระหม่อมเมื่อไปอยู่ที่วังวรดิศ หญิงหลุยพบก็ชอบอัธยาศัย ครั้นเจ็บท้องจึ่งมาตามตัวไป

๙) ไปหาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในกาลเข้าวรรษา ได้ตั้งปัญหาถามท่านถึงการห่มผ้ามัดตน ตามที่ไม่เคยเห็นมีที่พระเก่าเช่นได้กราบทูลมาแล้ว ท่านออกความเห็นว่าวิธีห่มมัดตนทีจะทำเมื่อแรกบวชอันยังห่มผ้าไม่ติด แม้จะถูกหรือผิดก็ฟังได้

๑๐) ทำไมฝรั่งจึงขึ้นหน้านัก หนังสือไทยแม้ตัวอะไรซึ่งใกล้กับหนังสือฝรั่งก็ตัดไปให้เป็นหนังสือฝรั่ง เช่นตัว ร เอาเป็นตัว เอส เป็นต้น ป้ายหน้าร้านข้างถนนรู้สึกว่าต้องมีขนาดตัวให้พอดีเป็นแน่ เพราะถ้าเขียนตัวเล็กไปก็อ่านไม่เห็น แม้รู้ว่าไม่เห็นขยายทำให้ตัวใหญ่แทนที่จะเห็นก็ไม่เห็นเหมือนกัน จึ่งคิดว่าทำตัวเล็กใหญ่เท่าไรนั้นจะต้องเหมาะกับเนื้อที่อันจะพึงมีดู แต่ที่เป็นคำยาวๆ นั้นใช้ไม่ได้แน่ เพราะถึงจะอ่านเห็นเมื่อขี่รถผ่านไปก็อ่านไม่ได้จบ ฝรั่งเขาว่าหนังสือนั้นเขียนได้เป็นสองอย่าง เขียนให้อ่านอย่างหนึ่ง กับเขียนให้เป็นลายอีกอย่างหนึ่ง จะต้องเติมเข้าว่าเขียนให้ “โซ้ด” อ่านไม่ออกอีกอย่างหนึ่ง แม้การเซ็นชื่อก็ดัดกัน เช่นตัว ห อันนำชื่อว่า หลวง ก็ดัดให้เป็นตัว เอช ใหญ่ เกล้ากระหม่อมเคยพูดว่าจะเพียรดัดไปทำไม เซ็นเป็นหนังสือฝรั่งเสียทีเดียวก็แล้วกัน ไม่เห็นเป็นไร การเซ็นชื่อก็เท่ากับขีดแกงได ใครจะขีดมาก็ช่าง ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องรู้ว่าเป็นหนังสือมาแต่ไหนต่างหาก

ข่าวแห้ง

๑๑) เมื่อวันที่ ๒๑ นี้ หญิงอามเอาลูกกลิ้งกระดาษซับซึ่งทรงพระเมตตาโปรดฝากเข้าไปประทานให้ เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง แต่แปลว่ากราบทูลมาให้ทรงทราบช้าไปไม่ทันการ

๑๒) เมื่อวันที่ ๒๒ ซึ่งล่วงมาแล้ว สำนักพระราชวังส่งหมายสั่งการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศพระราชทานทหารและตำรวจ (ซึ่งถึงแก่กรรมในการรบ) ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม เวลา ๑๖.๓๐ น. ที่การเปรียญ วัดราชาธิวาส มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาให้ด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทรงทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้ด้วยฉบับหนึ่งแล้ว

๑๓) ข่าวตายในกรุงมีหลายราย หม่อมเจ้าหญิงศรีทศาลัยตายวันที่ ๒๒ หม่อมเจ้าหญิงดาราจรัสศรีตายวันที่ ๒๔ เทวกุลทั้งสองคน วันที่ ๒๖ เจ้าพระยาวรพงศ์ตาย กำหนดอาบน้ำศพวันที่ ๒๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. เกล้ากระหม่อมก็ไป เขาจัดการอาบน้ำศพในห้องตึกชั้นล่าง แล้วแต่งตัวลงโกศยกขึ้นไปตั้งชั้นบน แต่เขาจะจัดที่ตั้งอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้ขึ้นไปเห็น แต่คงจะกราบทูลให้ทรงทราบได้ในเมื่อขึ้นไปเห็นในคราวเขาทำบุญ ๗ วัน

๑๔) กลับจากบ้านเจ้าพระยาวรพงศ์ผ่านวังวรดิศ เห็นยังวันอยู่จึงแวะเข้าไปฟังอาการหญิงหลุย ได้ความว่าสบายดี แต่เกินกว่าคาดมาก หมอห้ามไม่ให้ลงกะไดเสียทีเดียว เกล้ากระหม่อมก็ไม่ได้ขึ้นไปเยี่ยมพบแต่ชายดิศ ถามถึงเรื่องขี่ม้าไปพบคนหัวขาดที่เพชรบุรี เธอบอกว่าเป็นผู้หญิง ขึ้นไปบลบานสานกล่าวอะไรที่เขากะไดอิฐ พอกลับลงมาก็ถูกตัดหัว เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ประทับอยู่ที่เมืองนั้นด้วย

ข่าวสด

๑๕) ได้รับลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เมื่อวันจันทร์ โดยเข้าใจว่าเข้าไปถึงกรุงกับรถไฟวันเสาร์ มีปะปิดหัวท้าย จะกราบทูลสนองหาทันไม่ ต้องเป็นคราวหน้าตามเคย

ปรารภ

๑๖) การใช้คำหน้าหลังติดจะอึกอักประดักประเดิด ที่ใช้ว่า หน้า เห็นจะเป็นทางภาษามคธ มาแต่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ใช้ว่า หลัง เห็นจะเป็นทางภาษาไทย ถือเอาคราวนี้เป็นคราวหน้า คราวต่อไปเป็นหลัง ขัดกันตกขอบตรงกันข้าม จะใช้อย่างไรจึงจะดี.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ