วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ในเมื่อวันที่ ๒ เมษายน เวลาเย็น ปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองความต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องเครื่องต้นนั้นทรงลายพระหัตถ์พ้นไปจากที่กราบทูลถามมา ตามที่กราบทูลถามนั้นต้องการจะใคร่ทราบว่าเครื่องต้นมีมาแต่ครั้งไรเท่านั้น แต่ไม่มีอะไรเป็นทางจำกัด ฝ่าพระบาทพะวงพระทัยอย่างไร ก็อาจทรงเขียนได้ทั้งนั้น

ตามที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาลนั้นไม่มีเสื้อ ทำให้นึกถึง “โนรา” แล้วก็นึกถึงรูปเทวดาที่เขียนนั้นกันอยู่อึงๆ ล้วนแต่ไม่มีเสื้อเหมือนในกฎมนเทียรบาลทั้งนั้น ได้ลองเทียบรูปเทวดากับเครื่องต้นในกฎมนเทียรบาลทั้ง “โนรา” ขึ้นดูก็ได้ดั่งนี้

เทวดา กฎมนเทียรบาล โนรา
เครื่องแต่งหัว มงกุฎ เทริด
จร+กุณฑล มหากุณฑล
พาหุรัตน์ พาหุรัตน์ กำไลต้นแขน
สร้อยนวม ถนิมมาลัย (จำไม่ได้)
มาไลยาว สร้อยมหาสังวาล (จำไม่ได้)
สเอ้งอุตราอุตรี แถบพาดบ่าซ้ายขวา
กำไลมือสามชั้น ควงได ๗ แถว กำไลมือ ๗ ชั้น
แหวน (ไม่แน่) ธำมรงค์สามองค์ทุกนิ้วพระหัตถ์
ขนองกั้งแกน
สนับเพลา สนับเพลา สนับเพลา
ผ้ารัตกัมพล ผ้ารัตกัมพล เครื่องคาดเอว
นุ่งเลาะเตี๊ยะ นุ่งหางหงส์
กำไลตีน ควงเชิง (จำไม่ได้)
เกือก (ลางทีก็มี) รองพระบาท

เสียทีที่ไม่เข้าใจคำในกฎมนเทียรบาลไปเสียสองคำ คือ “ถนิมมาลัย” กับ “ขนองกั้งเกน” จึ่งได้นึกรวบหัวรวบหางเดาเอาว่า “ถนิมมาลัย นั้นได้แก่ที่เราเรียกว่าสร้อยนวม ส่วน “ขนองกั้งเกน” นึกถึงเครื่องแต่งตัวโนรา เขามีเครื่องคาดเอวอะไรอยู่อย่างหนึ่ง เขาเรียกอะไรก็ไม่เคยทราบ จึ่งคิดเดาเอาว่าเป็นสิ่งนั้น เครื่องต้นในกฎมนเทียรบาล ไม่ใช่แต่ไม่ใส่เสื้อ ไม่นุ่งผ้ามีแต่สนับเพลาเสียด้วย ผิดกันกับรูปเทวดาซึ่งนุ่งเลาะเตี๊ยะ และโนรานุ่งหางหงส์ หรือลางทีผ้ารัตกัมพลนั่นเอง จะใช้นุ่งเลาะเตี๊ยะเราก็ไม่ทราบ ต่อมาการแต่งตัวปรกติเปลี่ยนไป เครื่องต้นจึ่งเป็นเครื่องพิเศษขึ้นต่างหาก

ตำราซึ่งคุณแววถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เป็นอันว่าสร้างเครื่องต้นขึ้นตามหนังสือหรือตามคำพูด ทั้งตามความเข้าใจ ปรากฏเป็นว่าคราวนั้นมีชายไหวชายแครงทำด้วยทองขึ้นแล้ว อันชายไหวชายแครงนั้นก็ชอบกล เครื่องต้นกับเครื่องโสกันต์ก็ไม่เหมือนกัน ความจริงชายไหวชายแครงจะต้องเป็นของห้อยที่อ่อน ที่มีคำนำว่า “ชาย” นั้นก็บอกอยู่แล้ว ว่าเป็นแต่ส่วนหนึ่งแห่งสิ่งหนึ่งไม่ใช่ประธาน ขอบใจตำราคุณแววที่บอกให้เข้าใจขึ้นได้ว่า นุ่งจีบโจงคือนุ่งหางหงส์อย่างที่ทรงพระดำริ และพระชฎามหากฐินกับชฎาพระกลีบเป็นองค์เดียวกัน ทางเมืองเขมร มีชฎาห้ายอด (ที่แท้เป็นมงกุฎ) มีกลางยอดหนึ่งกับสี่ทิศ นั่นก็ทำเดาไปตามความคิดในคำที่เราเรียกพระชฎามหากฐินอีกนัยหนึ่งว่าชฎาห้ายอด คำที่ว่า “ถวายพระฉายด้วย” เห็นจะเป็นคำแนะนำภูษามาลาให้เตรียมกระจกเงาไปถวาย เมื่อคิดว่าพระฉายเป็นเครื่องทรงจึงพาให้หลงไป

รูปพระเจ้าศรีสวัสดิ์กับพระเจ้ามณีวงศ์ ซึ่งตรัสบอกว่ามีอยู่ในห้องรับแขกที่ตำหนักวังวรดิศนั้นได้ตรวจดูแล้ว พระเจ้าศรีสวัสดิ์ไม่ได้ทรงเครื่องต้น ทรงแต่พระเจ้ามณีวงศ์ นอกจากมงกุฎแล้วอะไรก็ไม่เหมือนเครื่องต้นทางเราทุกอย่าง จึ่งเข้าใจได้ว่าทำในเมืองเขมรทั้งนั้น ดีที่เครื่องห้อยหน้าทำเป็นเครื่องปักของอ่อนทั้งนั้น ไม่ได้ทำด้วยทองเป็นของแข็งเลย

๒) ปราสาทพระขันที่กำพงสวาย ชื่อซ้ำกันกับที่เกล้ากระหม่อมเคยไปดูที่นครธมมาแล้ว มีชื่อว่าปราสาทพระขันเหมือนกัน คำ “สวาย” เขมรว่ามะม่วง “กำพงสวาย” ก็เป็นบ้านมะม่วง (บ้านม่วง)

๓) เรื่องส้มจัฟฟา ได้กราบทูลมาในหนังสือฉบับก่อนแล้ว ครั้งนี้ได้บอกแม่โตถึงปลาแห้งตามพระดำรัสสั่งไปนั้นแล้ว ลางคนคิดว่าปลาแห้งสำหรับแต่แก่คนเจ็บโดยจำเพาะ แต่ที่จริงไม่ใช่เลย คนไม่เจ็บก็ใช้ได้ บ้านเกล้ากระหม่อมออกจะเป็นเจ้ากรมปลาแห้ง (หมายถึงปลาใส่เกลือตากแห้ง) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ เกล้ากระหม่อมต้องหาปลาสลิดที่ดีส่งถวาย จะถวายเสมอนั้นไม่ได้เพราะปลาดีไม่มีเสมอ ที่ว่าดีก็คือมีมันมาก ครั้นสวรรคตแล้วสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าก็ตรัสเคี่ยวเข็ญ ต้องจัดส่งถวายต่อไปจนสิ้นพระชนม์

เรื่องที่เรียกปลาแห้งริ้วว่าปลาหางนั้น ทราบแต่เหตุไม่ทราบผล จึ่งจะกราบทูลแต่เหตุว่าเพราะถือคำหมายหยาบกัน เป็นว่าปลาสลิดนั้น หมายถึงนิมิตอิตถีลึงค์ต้องเปลี่ยนเรียกปลาใบไม้ กระทั่งดอกสลิดก็ต้องเปลี่ยนเรียกดอกขจรมีกลอนอยู่ดูเหมือนว่า “ชาววังช่างประดิษฐ์ ดอกสลิด เรียกว่าดอกขจร” ขอได้ทรงสังเกตว่าเขาปรับโทษให้แก่ชาววัง เข้าใจว่าเพราะปลาสลิดหมายเป็นนิมิตอิตถีลึงค์ จึงหาปลาที่เป็นนิมิตปุงลึงค์ต่อไปก็เพะเอาปลาช่อนเข้า จะพูดให้เรียบร้อย ปลาช่อนก็ต้องเปลี่ยนเรียกปลาหางสด เห็นได้ว่าคำนี้มาทีหลังคำปลาหาง แต่ทำไมจึ่งเรียกปลาแห้งริ้วว่าปลาหางนั้น กราบทูลไม่ได้ ดูไม่มี “คอมมันเซน” อยู่ในนั้นเลย คำใดที่ถือกันว่าหยาบ เช่นเรียก ๒ บาท ว่ากึ่งตำลึงเป็นต้น เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วยเลย เพราะถ้าพูด ๒ บาทแล้วอาจผ่านพ้นจากความรู้สึกว่าหยาบไปได้ แต่ถ้าพูดว่ากึ่งตำลึงแล้ว จะผ่านพ้นจากความรู้สึกหยาบไปไม่ได้เลย

๔) คำมคธซึ่งประทานตัวอย่างไป ว่าพระมหาภุชงค์เธอสอนให้ภาวนานั้น เธอเอามาจากเมตตานิสงส์ เป็นดีอย่างยิ่ง สมควรแก่พระศาสนา ไม่จำเป็นจะต้องใช้แต่ในเวลาสงคราม ตามธรรมดาท่านก็ให้ใช้ในเวลาปรกติไปทุกเมื่อ

๕) จุดไฟประจำชีวิตไว้แต่เกิดจนตายนั้นอาการหนัก ที่ลัดเอาแต่เกิดกับตายนั้นดีแล้ว

๖) ตรัสเล่าถึงงาคู่ที่เห็น ว่าเป็นงาพลายมงคล เรื่องตายของพลายมงคลนั้นน่าสงสารมาก เมืองเราวิชาช่างจะเสื่อมลงทุกที ตามที่ตัวช้างสูญหายไป

๗) ตรัสถึงคำ “สัก” นึกขึ้นมาได้ว่านครจำปาศักดิ์ก็ดูเหมือนภาษาสามัญเรียกว่า “เมืองปาสัก” หนังสือฝรั่งเขียน Bassak แน่นอน ถ้าเป็นเช่นนั้นถูกจริง ก็แปลว่าเป็นความหมายทางเดียวกับ “แควปาสัก” แต่เพราะเหตุที่ไม่มีต้นสักจึงต้องเป็น “จำปาศักดิ์” ถ้ารู้หลักทางเมืองนี้ก็ทีจะเป็นลูกประแจไปไขคำ “แควปาสัก” ได้

จะกราบทูลเรื่อง “อาน” ได้เคยค้นพจนานุกรมภาษาเขมรมาทีหนึ่งแล้ว เพราะเราใช้คำนั้นอยู่มาก เช่นชำระอาวุธก็เรียกว่า “อานขัด” หรือเครื่องกินก็เรียกว่า “เครื่องอาน” ดูเหมือนในพจนานุกรมภาษาเขมรจำหน่ายว่าเป็นภาษาญวนรับเอามาใช้อีกต่อหนึ่ง หรือจะว่าอย่างไรก็จำไม่ได้แน่ หนังสืออยู่เสียที่บ้านปลายเนินจึงกราบทูลเอาแน่ไม่ได้ แต่ “อานม้า” ไม่ใช่ “อาส์นม้า” มาแต่ภาษามคธเป็นแน่

เบ็ดเตล็ด

๘) ตามที่กราบทูลมาว่า ได้สั่งคนที่เขาไปนครพนม ว่าถ้าเขาหาเวลาได้ก็ให้เขาไปดูศาลอรดีนารายณ์เชงเวงมาบอกด้วยว่าเป็นอย่างไรนั้น บัดนี้เขากลับมาแล้ว บอกว่าหาเวลาไปดูไม่ได้ บอกได้แต่ว่าชาวเมืองนั้นเขาเรียกตัดชื่อสั้นกันเป็นแต่ว่า “นาเวง” การตัดชื่อเรียกให้สั้นนั้นเราก็ทำกัน แต่ในบัดนี้ที่บางกอกเห็นในหนังสือพิมพ์ดูเป็นต้องการยาว ที่ตัดไว้สั้นก็ต่อเป็นชื่อยาว ที่ชื่อเดิมสั้นก็ต่อสร้อย

๙) เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนก่อนได้ไปขมาศพเจ้าพระยาวงษาฯ ที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ แต่ไปเสียภายหลัง เขาบอกกำหนด ๑๖ น. ไป ๑๗ น. เพื่อจะหลบแขก เห็นจัดตั้งศพในเมรุหน้าพลับพลาและพลับพลาก็เปิดแสดงว่าจัดเป็นงานมีเสด็จพระราชดำเนิน ได้รับหนังสือแจก ๓ เล่ม (๑) ประวัติกระทรวงเกษตร (๒) สหกรณ์ (๓) ประวัติเจ้าพระยาวงษา คาดเห็นว่าจะไม่ใฝ่พระทัยในเรื่องใด จึงไม่ได้พยายามที่จะส่งมาถวาย หรือลางทีเจ้าภาพเขาก็จะส่งมาถวายแล้ว

๑๐) ชายแอ๊วกับหลานหมูยิ้มแย้มแจ่มใสหายแล้ว

๑๑) เมื่อวันที่ ๕ เขาเปิดห้องพระที่ตำหนัก ตลอดจนตู้ซึ่งกราบทูลว่าเขาใส่ประแจเพื่อการสดับปกรณ์สงกรานต์ จึ่งได้ตรวจดูหนังสือตัวทองที่กราบทูลถามมา แม้อะไรจะตั้งบังอยู่บ้างก็อ่านจำเพาะเท่าที่อ่านได้ มีความดังนี้

“ขอพระทานพระโอกาส

ทูลถวายพระพรชัยมงคลคาถา

พร้อมทั้งคำแปลเป็นฉันทฉบงง

----------------------------

อุชูราชานุภาโวติ วิสฺสุโตโยอธิสฺสโร
ปริญฺโญอาหุสามีจิ ปรโมวงฺสโกอิธ
นายโกอิสฺสโรวโร ปาฐโกวณฺณิโยสภา
ปุราโณคติกฺกวีจ สยามาภิรฏฺฐมนฺติโก”

ฯลฯ

จะคัดถวายต่อไปก็เห็นป่วยการ เป็นคาถามาก ทราบได้แล้วว่าไม่ใช่ใบพระราชทานพระนาม เป็นคณะสงฆ์ถวาย แต่จะเป็นที่ไหนไม่เห็นความปรากฏ ปรากฏแต่ว่าได้เสด็จดำรงอยู่ในตำแหน่งอภิรัฐมนตรีแล้ว ตามที่คัดถวายมาถ้ามีคำผิดไปแล้วขอประทานโทษ เพราะเป็นเส้นทองบนพื้นขาวอ่านยาก

๑๒) ในวันที่ ๕ นั้นได้รับก๊าดหลายใบ มีเชิญไปในการฉลองโรงเรียน และปลุกเครื่องของพระยาศรีสุรสงคราม เป็นต้น และเผาศพพระยาวิเศษสัจธาดา (ครูอิ่ม) เป็นปริโยสาน แต่ไม่ได้ไปสักแห่งเดียว บอกป่วย หนังสือแจกงานเผาศพครูอิ่มมี ๓ เล่ม แต่ก็เป็นธัมมะทั้งนั้น

๑๓) เมื่อวันที่ ๖ เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้พาลูกหลานไปถวายบังคมพระบรมรูป ที่ปราสาทพระเทพบิดรและที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ตามเคย

ไปที่ปราสาทพระเทพบิดร แล้วเดินเวียนไปด้านข้างหลัง เห็นบานมุกที่พระมณฑปทำเป็นวงกลมๆ มีรูปยักษ์รูปลิงอยู่ในวง อย่างเดียวกับก็ตรัสถึงสถานที่กำพงสวายว่ามีรูปเทวดาอยู่ในวงนั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ