วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาห์นี้พนักงานไปรษณีย์เขาเชิญลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์มาส่งวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคมเวลาเช้า ซองมีรอยตัดตรวจแต่ที่ปีนัง

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) ขันน้ำมนต์ที่อยู่ในห้องพระนั้น เป็นขันเหล็กขุดได้ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีตราจักรดอก ๙ ดวง เดิมเจ้าพระยายมราชเมื่อเป็นสมุหเทศาภิบาลได้ไว้ หม่อมฉันขอเอามา ให้ทำฝาครอบและพานรองด้วยทองเหลืองด้วยตั้งใจจะให้เป็นของใหม่แปลกกับตัวขันอันเป็นของเก่า เดิมเขาจะทำสำหรับใช้เป็นอะไรคิดไม่เห็นตระหนัก รู้ได้แต่ว่าสำหรับใช้ในการพิธีจึงตีตราจักรไว้จำนวนตรา ๙ ดวง ก็ได้กับนพเคราะห์ น่าจะมาทางคติพราหมณ์ เดาว่าเป็นขันน้ำมนต์ใกล้กว่าอย่างอื่น สังเกตดูรูปจักรคล้ายกับจักรตราเงินพดด้วงที่ใช้ในเมืองไทย น่าจะเป็นของทำในเมืองไทยนี้เอง แต่ที่ทำด้วยเหล็กนั้นเป็นของแปลก เมื่อแต่แรกใส่น้ำค้างคืนเดียวถนิมเหล็กก็ออกทำให้เป็นสีถนิม หม่อมฉันให้ “เจ๊กใหญ่” เทียมซุน ลงรักข้างในจึงแก้หาย

๒) พระพุทธรูปธรรมจักรที่วัดธรรมามูลนั้น หม่อมฉันได้ชันสูตร มีเรื่องควรทูลบรรเลงถวายได้ หม่อมฉันไปเขาธรรมามูลครั้งแรกเมื่อบวชเป็นพระ แรกเห็นสำคัญว่าพระหล่อ ได้ตีตราที่ฝ่าพระหัตถ์ตามประเพณี ครั้นสึกแล้วหลายปีไปเที่ยวโดยลำลองอีกครั้งหนึ่ง จู่ขึ้นไปถึงวิหารเห็นฝ่าพระหัตถ์พระเป็นรูกลวงเปล่า ให้ไปถามพระครูว่าธรรมจักรหายไปไหน พระครูตามขึ้นไปเอาจักรทองเหลืองออกจากย่ามขึ้นติดที่พระหัตถ์พระให้หม่อมฉันตีตรา บอกว่าจักรเดิมถูกขโมยลักต้องหล่อใหม่ และว่าเคยหายมาแต่ก่อนหลายครั้งแล้ว จึงถอดจักรเอาไปเก็บไว้ที่กุฏิ ต่อเวลามีการงานจึงเอาขึ้นไปติดให้คนกดตราขี้ผึ้ง ต่อมาเมื่อหม่อมฉันมีความรู้ลักษณะพระพุทธรูปมากขึ้นแล้ว ไปเขาธรรมามูลอีกครั้งหนึ่ง สังเกตลักษณะพระพุทธรูปองค์นั้นที่เรียกกันว่า “ขรัวพ่อธรรมจักร” ดูเป็นของสร้างชั้นหลัง ตั้งใจจะเลียนแบบพระสุโขทัยไม่สู้เหมือนนัก เวลานั้นข้อพระหัตถ์ที่มีจักรมีรอยหักทำเสาเหล็กค้ำพระกรไว้ หม่อมฉันถอดพระหัตถ์ตรงรอยหักออกมาพิจารณา จึงรู้ว่าเป็นพระปั้นด้วยปูนทั้งองค์ มิใช่พระหล่อดังเข้าใจมาแต่ก่อน ก็เห็นว่าน่าจะเป็นของสร้างใหม่แทนองค์เดิม ซึ่งเป็นพระหล่อของโบราณมีกงจักรอยู่ที่กลางฝ่าพระหัตถ์ คนจึงนับถือว่าเป็นของวิเศษเพราะแปลกกับพระองค์อื่นๆ เป็นแต่นึกไว้อย่างนั้น ต่อมาถึงสมัยเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตร ปี ๑ หม่อมฉันไปทอดพระกฐินวัดเทวราชกุญชร สังเกตเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปหล่อที่เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นลักษณะแบบพระสมัยทวารวดี แต่พระองค์เป็นแบบพระกรุงรัตนโกสินทร์ สืบถามได้ความว่าพระประธานองค์นั้น กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ เชิญลงมาจากเมืองลพบุรี ก็เข้าใจว่าคงได้แต่เศียรมาหล่อพระองค์ที่ในกรุงเทพฯ หม่อมฉันจำขนาดไปตรวจดูที่เมืองลพบุรีเมื่อภายหลัง ก็พบแหล่งเดิมว่าเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ วัดอื่นหามีที่ตั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่านั้นไม่

วันไปทอดพระกฐินวัดเทวราชกุญชรนั้น ท่านเจ้าเลียบ (เดี๋ยวนี้เป็นอธิการอยู่วัดเลา) บอกหม่อมฉันว่าที่ในวิหาร ๔ มุมกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถตั้งพระพุทธรูปหล่อของโบราณไว้ทุกหลัง ทอดพระกฐินแล้วหม่อมฉันจึงให้ท่านพาไปเที่ยวดู ไปเห็นพระยืนขนาดสูง ๕ ศอกองค์ ๑ เป็นพระหล่อลักษณพระขอม ยังบริบูรณ์ดูงามแปลกดีด้วยที่ฝ่าพระหัตถ์มีเป็นรูปจักรหรืออะไรโปนออกมา ผิดกับพระองค์อื่นๆ หม่อมฉันกลับมากราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นไปยังวัดเบญจมบพิตร ทอดพระเนตรเห็นก็โปรด จึงดำรัสสั่งให้ประดิษฐานไว้ที่ในซุ้มท้ายจรณำด้านหลังพระอุโบสถ ยังอยู่ที่นั่นจนบัดนี้ หม่อมฉันนึกว่าพระพุทธรูปองค์นั้นเองที่เป็น “ขรัวพ่อธรรมจักร” องค์เดิมซึ่งอยู่เขาธรรมามูล เพราะเป็นพระงามดีและมีจักรที่ฝ่าพระหัตถ์ไม่มีองค์อื่นเหมือน จึงนับถือกันว่าเป็นของวิเศษ แต่จะมีใครใช้อำนาจเชิญย้ายเอาไปที่อื่นเสียแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วย้ายที่ต่อมาอีกจนกรมพระพิทักษ์ไปได้มา ๆ จากที่ไหนสืบก็ไม่ได้ความ

๓) พัดยศของพระครูวัดฉลองนั้น เป็นพัดแฉกทองแผ่ลวด บทบาลีที่เขียนไว้ในรูปนั้น อาจเป็นบทที่พระครูชอบสั่งสอนให้คนภาวนา ดูเหมือนจะเคยสอนหม่อมฉันด้วย แต่บทที่ว่า “นเมตตาจิต” คนเห็นจะเติม “น” ลงเกินไป

๔) คาถากับคำแปลเป็นกาพย์ฉบัง ที่ใส่กรอบติดไว้ในห้องพระนั้น หม่อมฉันคิดค้นดูนึกไม่ออกว่าใครให้และเป็นคำว่ากระไร นึกได้แต่ว่า หม่อมฉันเคยเขียนคาถาทูลกระหม่อมพระราชทานชื่อกับคำแปลของหม่อมเจ้าประภากรใส่กรอบครั้ง ๑ ขอให้ตรัสสั่งปลดลงมาทอดพระเนตรดูเถิด รูปพระพิฆเนศวรหล่อที่ตั้งหลังตู้ข้างหน้าห้องพระนั้นดูเหมือนเจ้าพระยาธรรมาฯ ให้หม่อมฉันเมื่อขึ้นวังใหม่

๕) แต่พระเศียรพระหล่อที่ตั้งอยู่เคียงกันนั้น มีเรื่องยาวอยู่ข้างจะขบขันเมื่อสมัย “เล่นพระ” กันชุกชุมมักมีคนทั้งที่เป็นไทยและเป็นฝรั่งชอบมาถามหม่อมฉันถึงลักษณะพระแบบต่างๆ และเอาพระมาให้ดูว่าเป็นของเก่าจริงหรือของปลอมเนืองๆ หม่อมฉันก็พิจารณาและบอกให้ตามรู้ตามเห็น การอันนั้นรู้ไปถึงพวกช่างหล่อที่ชอบทำของปลอมขาย อยากได้ความรู้ของหม่อมฉันไปทำพระมิให้คนซื้อสงสัยว่าเป็นของปลอม เขาคิดกลอุบายแต่งให้คนเอาพระปลอมมาขายหม่อมฉัน ๆ ว่าเป็นของปลอม เขาเถียงก่อนแล้วถามว่าเหตุใดหม่อมฉันจึงว่าเป็นของปลอม หม่อมฉันก็พาซื่อชี้ให้เห็นที่พิรุธต่างๆ เขาจำเอาไปแก้ไขให้หายพิรุธ ทำเช่นนั้นมาหลายครั้งหม่อมฉันก็ยังไม่รู้ตัว วันหนึ่งเขาไปวานให้คนที่คุ้นกับหม่อมฉันคน ๑ เอาพระเศียรพระหล่อที่ท่านทอดพระเนตรเห็นนั้นมาขายหม่อมฉันในเวลาค่ำ กำลังนั่งกินอาหารอยู่กับลูกที่โต๊ะกลมเฉลียงหลังตำหนักชั้นล่าง พอหม่อมฉันแลเห็นก็เกิดพิศวงอย่างว่า “หูผึ่ง” ด้วยพระเศียรพระแบบนั้นเคยเห็นแต่ทำด้วยศิลา ไม่เคยเห็นที่เป็นของหล่อ ถามราคาเขาบอกว่าเจ้าของจะขาย ๑๐๐ บาท หม่อมฉันออกระแวงใจอยู่บ้าง แต่เห็นว่าฝีมือเกลี้ยงเกลาก็ซื้อไว้ แต่พอรุ่งเช้าเอามาพิจารณาดูก็จับได้ว่าเป็นของปลอม เพราะที่พระกรรณผู้ทำยังหลงจำลองรอยหินหัก แต่ยังยิ่งเจ็บแสบ เมื่อเอาไปเปรียบกับพระเศียรศิลาที่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ไปเห็นตัวจริงที่เขาจำลองเอาไป ขนาดและรูปสัณฐานทั้งพระกรรณหัก เหมือนกันไม่คลาดเคลื่อนมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน ก็รู้สึกว่าเสียทีเขาได้จนถึงในมุ้ง แต่เมื่อเสียทีเขาแล้วก็แล้วไป แต่นั้นหม่อมฉันก็เลิกไม่บอกลักษณะพระของโบราณแก่ใครๆ เพราะการที่บอกมันกลายไปเป็นช่วยให้คนปลอมดีขึ้นจนถึงสามารถชนได้กระทั่งรัง แต่ยังมีคนชอบมาถามอยู่ไม่ขาด หม่อมฉันจึงตั้งตู้ของปลอมขึ้นไว้ที่เฉลียงหน้าตำหนักชั้นล่างตู้ ๑ เอาบรรดาของปลอมที่หม่อมฉันหาได้เรียบเรียงไว้ให้คนดู ในตู้นั้นพระเศียรพระนั้น เดิมก็ตั้งไว้บนหลังตู้ของปลอมด้วยกันกับพระเศียรศิลาฝีมือนายมิกกีญี่ปุ่นทำปลอมที่ตัวเขาให้หม่อมฉันเองอีกพระเศียร ๑ แต่พระเศียรที่หล่อนี้เคยถูกขโมยหายไปครั้ง หนึ่ง มิสเตอร์เลอเมอังกฤษไปเห็นที่โรงโปเกจำได้ซื้อเอามาให้หม่อมฉันจึงให้ย้ายเอาขึ้นไปตั้งไว้บนตำหนัก

๖) ทูลถึงของต่างๆ ในห้องพระ จะเลยทูลถึงพระบรมอัฐิที่มีในห้องนั้นต่อไป ในตู้ใบข้างเหนือ ช่องกลางตั้งพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมอัฐิองค์นั้นเดิมเป็นของพระองค์หญิงพลับ ร. ๑ พระองค์ศรีนาคสวาสดิ์ ได้ทรงรับมรดกพระองค์พลับ กรมหลวงสมรรัตนฯ ทรงรับมรดกพระองค์ศรีนาคเมื่อท่านเสด็จมาประทับที่วังวรดิศ เชิญมามอบประทานหม่อมฉันไว้ ตรงพระบรมอัฐินั้นลงมาข้างหน้า พระบรมทนต์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เดิมเป็นของกรมพระรามอิศเรศ ทำสาแหรกลวดทองถัก มีห่วงสำหรับรับสอดสายสร้อยคล้องพระศอเป็นเครื่องรางรักษากันไว้ในตระกูลมา ๒ ชั่ว ถึงหม่อมราชวงศ์หญิง (ชื่อไรลืมแล้ว) ทำราชการเป็นพนักงานอยู่ในวังปรารภว่าตัวไม่มีเชื้อสาย จึงมอบถวายกรมหลวงสมรรัตนฯ พระองค์ท่านเชิญมามอบประทานหม่อมฉันที่วังวรดิศ พระบรมอัฐิตั้งฝ่ายเหนือเป็นพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เดิมเป็นของพระองค์แม้นเขียน ร. ๒ ทรงมอบประทานแก่หม่อมฉันเองตั้งแต่ยังอยู่วังเก่า ตรัสว่าพระองค์ท่านทรงพระชราแล้วเกรงจะไม่มีผู้รักษาต่อไป พระบรมอัฐิตั้งฝ่ายใต้พระบรมอัฐิทูลกระหม่อม หม่อมฉันเชิญมาแต่พระจิตกาธาน เวลานั้นอายุได้ ๗ ขวบ ไม่เคยเห็นอัฐิมาแต่ก่อน แต่เผอิญมีสติเมื่อหยิบขึ้นถามพระยาราชโกษา (จันทร์) ว่าพระบรมอัฐิหรือมิใช่ แกบอกว่าใช่จึงเชิญมา ในตู้ใบข้างใต้พระบรมอัฐิสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานที่พระเมรุ บรรจุไว้ในพระบรมรูปทองสัมฤทธิที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ ข้างหน้าลงมาอัฐิของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เก็บไว้ให้จุลดิศทำบุญถวาย เพราะได้ทรงเลี้ยงเธอมาแต่ยังเล็ก ชั้นล่างต่อลงมามีผ้าซับรอยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ๒ ผืนอยู่ในหีบเงิน เป็นของหม่อมฉันผืน ๑ ของชายดิศผืน ๑ ด้วยทรงพระกรุณาเลี้ยงเธอมาแต่เล็ก

๗) จะทูลอนุสนธิ์ถึงลองพระโกศไม้สิบสอง ซึ่งในพงศาวดารว่ากรมพระราชวังบวรฯ ร. ๑ ทรงสร้างเมื่อเวลาประชวรนั้นต่อไป พระโกศพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้นก็เป็นรูปไม้สิบสอง ส่อว่าทำตามรูปลองพระโกศที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงประดิษฐ์ขึ้น แต่พระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนกรมพระราชวังบวรฯ ก็เป็นรูปไม้สิบสองเหมือนกัน จึงเป็นปัญหาว่าพระโกศรูปไม้สิบสอง ทำสำหรับพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางก่อนแล้วกรมพระราชวังบวรฯ จึงเอาแบบไปขยายทำลองโกศพระศพ หรือมิฉะนั้นพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางเป็นอย่างอื่นก่อนเปลี่ยนเป็นพระโกศไม้สิบสอง เมื่อภายหลังสร้างโกศพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ พระโกศพระอัฐิกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทิวงคตภายหลังกรมพระราชวังบวรฯ ก็ดูเหมือนเป็นรูปไม้สิบสองเหมือนกัน

ลองโกศไม้สิบสองสำหรับศพที่มีอยู่ ๒ ใบนั้น น่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลภายหลังดังท่านทรงพระดำริ หม่อมฉันสังเกตว่าฝาเป็นทรงมกุฎใบ ๑ ฝาเป็นทรงปริกไป ๑ สันนิษฐานว่าใบฝาเป็นทรงมกุฎสร้างสำหรับพระศพเจ้า ใบฝาเป็นทรงปริกสร้างสำหรับศพขุนนาง สันนิษฐานต่อไปอีกอย่าง ๑ ว่าเมื่อสร้างนั้นถือว่าโกศไม้สิบสองเป็นแบบโกศกรมพระราชวังบวรฯ ร. ๑ ทรงประดิษฐ์ขึ้น น่าจะเรียกกันว่า “โกศวังหน้า” ถ้าเช่นนั้นเห็นจะสร้างใบฝาทรงปริกก่อน สำหรับศพเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าเมื่อรัชกาลที่ ๒ ใบฝาทรงมกุฎนั้น น่าจะสร้างสำหรับพระศพกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (เรือง) ด้วยเป็นเจ้าต่างกรมวังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ร. ๑ ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

เบ็ดเตล็ด

๘) หม่อมฉันอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสงครามในยุโรป นึกขึ้นถึงโบราณคดีอย่าง ๑ จะพูดกับคนอื่นก็เห็นจะไม่ใคร่มีใครเข้าใจ จึงทูลในจดหมายเวร สังเกตดูอุบายของฮิตเลอร์ที่บังคับประเทศอิสระอันมีกำลังน้อยกว่าตน เช่น ประเทศรูมาเนีย และประเทศบัลเกเรีย เป็นต้น ให้จำยอมให้กองทัพเยอรมันเดินผ่านในแดนประเทศนั้นๆ ไปตีประเทศอื่นถ้าไม่ยอมก็จะตีประเทศนั้นเอง ดังนี้ ไปเหมือนกับพิธีอัศวเมธของชาวอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ ที่เรียกกันว่าปล่อยม้าอุปการ พระราชาธิบดีองค์ใดจะประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชก็ปล่อยม้าทรงให้เที่ยวไปตามชอบใจ ม้าเข้าไปในอาณาเขตใด เจ้าของอาณาเขตก็ต้องปล่อยให้ไปโดยเคารพ เป็นการแสดงว่ายอมอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นแก่พระราชาธิบดีเจ้าของม้า ถ้าประเทศไหนขัดขวางจับกุมม้า พระราชาธิบดีก็ให้กองทัพไปปราบ วิธีของฮิตเลอร์ก็อย่างเดียวกับวิธีที่ชาวอินเดียใช้หลายพันปีมาแล้ว ผิดกันแต่ปล่อยกองทหารแทนปล่อยม้าดูน่าพิศวงสมดังคำภาษิตที่ว่า “ไม่มีของใหม่ในโลกนี้”

๙) หม่อมฉันพบรูปเศวตฉัตร์พม่าอย่างซ้อนชั้น ซึ่งได้ฉายมาเมื่อครั้งไปเมืองพม่า จำไม่ได้แน่ว่าได้เคยถวายท่านไปแล้วหรือยัง จึงส่งมาถวายกับจดหมายฉบับนี้ เศวตฉัตร์นี้ทำไว้บนซุ้ม “ปทุมาศนบัลลังก์” ในท้องพระโรงหลังสำหรับเสด็จออกรับนารีมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระราชมณเทียรปลีกหลัง ๑ ต่างหากห่างจากหมู่ราชมณเทียรที่ประทับ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ