วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) หนังสือองค์หญิงมัลลิกา เกล้ากระหม่อมก็สงสัยเหมือนกัน ว่าจะผ่านแดนอังกฤษเข้าไปทางรถไฟปักษ์ใต้ เพราะการปะปิดก็เป็นกระดาษอย่างเดียวกับที่ปีนัง ซ้ำตราประจำต่อก็เป็นภาษาอังกฤษด้วย ทั้งมีอะไรผิดหมายไปเป็นหลายอย่าง

ในการไต่สวนถึงหนังสือเวรนั้นก็ดี ได้ความรู้กว้างออกไปว่าหนังสือเข้ากับหนังสือออกไม่เหมือนกัน

๒) เรื่องเรียกเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” กับเรียกเจ้าคุณต่ายว่า “เจ้าคุณปราสาท” นั้นเคยทราบ ที่เรียกสมเด็จพระสุดารัตน์ว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” นั้นก็เห็นได้ง่ายๆ ว่าดำเนินไปแนวเดียวกัน แต่ที่พระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๓ เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” นั้นไม่ทราบเลย ออกจะตื่นใจ แล้วทำไมคำนั้นจึงเลื่อนมาเป็นพระนามสมเด็จพระสุดารัตน์ ข้อนี้ยังคิดไม่เห็น ทั้งไม่ได้ทราบเค้าเงื่อนอะไรมาเลย เห็นจะต้องค่อยตรึกค่อยตรองไป ลางทีก็จะคิดได้ ที่จริงใช้คำเรียกพ่อว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” นั้นดี เมื่อตัดคำ “แก้วออกเสียก็ ตีนฝืด” เพราะผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง “ทูลกระหม่อม” นั้นมีมากด้วยกัน ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกล้ากระหม่อมก็รู้สึกอึกอัก แต่จับเอาพระดำรัสซึ่งตรัสเรียกว่า “ทูลกระหม่อมของเรา” ได้จึ่งใช้ตาม นั่นเห็นว่าเป็นดีกว่าอื่นหมด แต่ยังมากคำไปคำหนึ่ง ต่อไปจะตัดใช้แต่ว่า “ทูลกระหม่อมเรา” เอาให้สั้นลงไปอีกคำหนึ่ง

๓) ตรัสแยกแยะถึงครูต่างๆ นั้นดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รู้ว่าใครเป็นใคร ครูเหล่านั้นลางคนก็รู้จักตัว ลางคนก็ได้ยินแต่ชื่อ เมื่อได้ทราบกำพืดของครูเหล่านั้นก็ดีขึ้นอีกมาก “ครูตั๊ง” นั้นดีมากที่ได้ทราบว่าเป็นครูแตรชั้นทหารมรีน ทั้งทราบว่าสัญชาติเป็นญวนด้วย ครูฟุสโกนั้นไม่ได้ทราบเลยว่าเป็นคนเก่าแก่ถึงเพียงนั้น ครูอิมเปกับครูนอกซ์ซึ่งหัดทหารครั้งรัชกาลที่ ๔ ทั้งวังหลวงวังหน้าไม่เคยได้ยินชื่อเลย ไปรู้จักตัวเอาหลวงอุปเทศทวยหาญลามาช แต่รู้จักก็เมื่อแกออกจากราชการไปเป็นนายห้างแล้ว แต่ถึงรู้จักก็กระนั้นเอง เป็นแต่ทราบว่าคนนั้นเป็นหลวงอุปเทศทวยหาญ ชื่อลามาช ไม่เคยพูดกัน พออ่านลายพระหัตถ์ไปถึงหลวงอุปเทศก็นึกถึงคำ “โถกเถกอึ๊ก” แล้วก็มีจริงๆ ไม่เห็นจะผิดอะไรกันกับ “ชโล้ดอัม” คำบอกทหารนั้นเปลี่ยนเป็นลำดับไป จากภาษาอังกฤษฝรั่งเศสแล้วก็เป็นภาษามคธ จากภาษามคธก็เปลี่ยนเป็นภาษาไทย แปลว่าเปลี่ยนมาสี่ทอดแล้ว จะว่าไปทำไมมี แต่ “ปะแลนสะเต๊บ สมิงเทา สะมันเกรา สะเมนซิงปะตะเล็บฟุด” ยังได้ เท่ากับละครเจ้าพระยามหินทรร้อง “ดี้ เฮม ดีไฟ” ฉะนั้นจะเป็นภาษาอะไรนั้นไม่เป็นไร สำคัญแต่ว่าจะบอกให้ทำอย่างไรก็เป็นไปได้อย่างต้องการเท่านั้นก็ดูเป็นแล้ว ครูเล็กซึ่งเป็นหลวงรัดรณยุทธนั้นรู้จักดี เพราะแกเป็นครู ทั้งลูกชาย (นายยิ่ง) ก็เป็นนายทหารอยู่ด้วย ส่วนครูวงนั้นไม่เคยได้ยินชื่อเลย ได้ยินแต่ครูเชิงเลิงกับครูกลอบ ตาทิมนั้นรู้จักดีทีเดียว ที่สุดยังเห็นแกเข้ามาถือน้ำหัวหงอกขาว ใส่เสื้อสีเทา ครูไฟต์นั้นเพิ่งรู้จักตัว เมื่อโปรดให้ว่าทหารรักษาพระองค์ แกมาหา แต่ก็ออกจากราชการไปแล้ว

๔) เมืองสวรรคโลกสุโขทัย เกล้ากระหม่อมเคยได้ไปครั้งเดียว เป็นการไปเที่ยวอย่างฉาบฉวยในเมื่อเวลาพ้นธุระแล้วและก็นานมาแล้วด้วย เพราะเช่นนั้นแม้จะกราบทูลถึงสิ่งไรคลาดเคลื่อนไปก็เป็นธรรมดาเท่านั้น หวังว่าจะได้รับประทานอภัยโทษ แต่จะกราบทูลถึงหลักแห่งพระเจดีย์อันแปลว่าสิ่งนำใจ ก็ตกเป็นอนุสาวรีย์ที่เราเรียกกันอยู่เดี๋ยวนี้นั่นเอง จะเป็นรูปอย่างไรก็ได้ คำสถูปนั้นถูกปน คำมคธเป็น “ถูป” คำสังสกฤตเป็น “สตูป” ต่างก็หมายว่าเป็นกองดินที่ฝังศพด้วยกัน แต่ไม่เป็นไร “สถูป” ก็เป็นคำไทยไปเท่านั้น แต่ควรเข้าใจว่าสถูปนั้นเป็นของเก่าแก่มีมาแต่ก่อนพุทธกาลแล้ว ยอดนั้นคือปักฉัตร (คือร่มซ้อนชั้น) แล้วต่อมาฉัตรเครื่องสดผุพังไปเสียเร็วจึงทำด้วยปูนด้วยหิน เพราะฉะนั้นก็เป็นของสองอย่างผสมกัน สถูปที่แท้นั้นหามียอดไม่ มีแต่ที่เรียกว่า “ต่อมน้ำ” หรือ “องค์ระฆัง” ด้วยเหตุฉะนั้นแม้พระเจดีย์อย่างใดซึ่งสำเร็จรูปมาแต่กรวย เช่นพระธาตุเมืองสุโขทัยอันมีรูปเป็นพุ่มเป็นต้น จะปรับเอาว่าเป็นของใหม่โดยไม่ได้พิจารณาอะไรเลยก็เถียงไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง “พระปรางค์” ก็เข้ามาปนอยู่กับพระเจดีย์ “ปรางค์” นั้นรู้แน่ได้ว่าเกิดขึ้นในเมืองเขมรเป็นประเดิม เขาทำด้วยความตั้งใจเลียนปราสาทไม้ ซึ่งเคยทำมาก่อนเมื่อการก่ออิฐตกเข้ามาถึงเมืองเขมร ที่เข้ามาปนเปกับพระเจดีย์ เห็นทีจะตั้งใจทำเรือนตั้งพระพุทธรูป (“ปฏิมาฆร”) ขึ้นก่อน ก็นับเอาว่าเป็นเจดีย์เหมือนกัน

อันวิหารของเก่านั้น ถ้าต้องการจะให้กว้างก็เคยเห็นแต่ต่อเฉลียงออกไป สองชั้นสามชั้นอะไรก็ตามที หลังคาคลุมจนถึงเชิงทวยลงมาตั้งจรดอยู่กับฐานทางภายนอกก็เคยเห็น การหาไม้ขื่อยาวใหญ่ดูเป็นเขาไม่ได้คิด ตกมาเป็นวิธีในกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง การก่อผนังเป็นลูกกรงนั้นก็เคยเห็นมาสองอย่าง คือเป็นช่องตรงๆ อย่างหนึ่ง เป็นช่องคดไปคดมาอีกอย่างหนึ่ง คิดว่าอย่างตรงๆ นั้นเอาอย่างจากลูกกรงไม้ซึ่งทำง่ายๆ ที่คดไปคดมานั้นเอาอย่างมาจากหน้าต่างปราสาทหินเขมรจะให้เป็นลูกมะหวด แต่ก็มาจากลูกกรงไม้นั้นเอง แต่ทำอย่างประณีต วิหารจะมีฝาหรือโปร่งนั้นดูเป็นไม่สำคัญ จะว่าเพราะมีฝาจึงเอามหรรฆภัณฑ์ไปไว้มากก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีคิดว่าแต่ก่อนขโมยของพระคงน้อยกว่าเดี๋ยวนี้มาก

ชื่อเมืองสุโขทัยที่มาเกิดสงสัยขึ้นในใจก็เพราะคำว่า “ทัย” ข้างท้ายนั้นเอง จะหมายความว่าคนไทยหรืออุทัยอย่างไรกัน ถ้าจะถือเอาครั้งไทยเป็นเมืองขึ้นเขมร ว่าพลเมืองเป็นเขมรก็ขัดข้อง อีกประการหนึ่งเมืองสุโขทัยจะตั้งชื่อขึ้นเมื่อไรก็ทราบไม่ได้ หนังสือซึ่งเขียนไว้คนเขียนเขารู้อย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ อีกประการหนึ่งคำที่เรียกพวกพายัพว่า “ยวน” นั่นก็แปลว่า “ยวน” คือ “โยนก” ไม่อยากเชื่อ พระยาอนุมานออกความเห็นไปอย่างหนึ่ง ว่า “ยวน” คือ “ยูนนาน” แต่ก็ไม่อยากเชื่อทั้งสองอย่าง กลัวคำว่า “ยวน” จะมีความหมายไปอย่างอื่นต้องพักไว้ที

๕) หนังสือเก่าสังเกตว่า คำแช่งน้ำนั้นทีจะเป็นรุ่นเดียวกับฝีปากที่แต่งเรื่องพระลอ มหาชาติคำหลวงก็ไม่เสมอกัน ลางกัณฑ์ก็เห็นเป็นฝีปากเก่า ลางกัณฑ์ก็เห็นเป็นใหม่

๖) ดูราชาศัพท์ (ฉบับที่ตีพิมพ์) ก็เห็นขัน ลางคำก็เห็นลักลั่น เช่น ต้นทองหลางทองกวาวเรียกว่า “ปาริชาติ” นั่นคิดว่าหลบคำ “ทอง” ซึ่งด่ากันว่า “ดอกทอง” แต่คำ “ทอง” นั้นเองก็ใช้กราบทูล เช่น “ทองเหลือง ทองแดง ทองขาว ทองคำ” เป็นต้น ก็ไม่เห็นมีอะไรแทน หรือ “ต้นไม้เงินทอง” และ “ธูปเงินเทียนทอง” ก็เห็นกราบทูลกันหน้าเฉยตาเฉย และลางคำก็ต้องถามตัวเองว่าเปลี่ยนทำไม ไม่รู้สึกหยาบอยู่ที่ตรงไหนเลย ตกลงเป็นเอาเจ้าเป็นตุ๊กตา จะเล่นอะไรก็ได้ เช่นทูลว่า “ปลาแห้งสด” อันไม่ได้ความอะไรก็ได้

๗) ตรัสถึงหนังฉายในข้อที่เลี้ยงสิงห์ “ตัวเป็นเป๊น” นั้นทำให้เกิดญาณขึ้นอย่างหนึ่ง ว่าคำฝรั่งซึ่งเข้ามาสู่ภาษาไทยนั้นก็ย่อมเป็นไปด้วยสมัยเช่น “หันแตร หมอจัน หมอปลัดเล” ก็เป็นสมัยที่ชอบเหยียดคำฝรั่งเป็นคำไทย ที่แปลเอาคำฝรั่งเป็นมคธสันสกฤตกันอยู่ในสมัยนี้ก็เห็นจะเป็นด้วยคำ “ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์” นำไป ในสมัยหนึ่งใช้วิธีแปลคำฝรั่งให้เป็นอย่างไรดูก็เป็นแล้วแต่ประชาชนจะรับกันหรือไม่รับเช่น “ซินนะมาโตกราฟ” แปลกันเป็นว่า “ภาพยนตร์” ก็มี ว่า “หนังฉาย” ก็มี แต่เรียกกันก็เป็นแต่ “หนัง” เท่านั้น แต่ไม่ใช่คำซึ่งกล่าวมาแล้วนั้นจะเลิกเสียทีเดียว ทีเป็นว่าพูดปกติ ครึ่งยศ เต็มยศ ส่วนคำ “เซอคัส” นั้นเหยียดกันว่า “ละครม้า” ดูเป็นอันใช้ได้สนิท นึกถึงบรรดาสัตว์ซึ่งฝรั่งเขาเอามาเล่นเป็นละครก็เห็นมี ม้า หมา ช้าง เสือ สิงห์ มากกว่าอย่างอื่น เห็นจะเป็นสัตว์ที่ฉลาดหัดได้ เจ็บใจแต่ลิง รูปมันเหมือนคนที่สุด แต่ที่เคยเห็นมาทำอะไรไม่ได้ดี หรือโกงก็ไม่ทราบ สัตว์อื่นซึ่งเอามาขังไว้ให้คนดูก็เป็นแต่ “เอดเวอติสเมนต์” เท่านั้น ไม่เห็นเอาออกเล่น

๘) สมเด็จพระพันวัสสา ซึ่งว่าจะเสด็จไปประทับแรมที่บางปะอินเพื่อทรงทอดกฐินพระราชทานที่วัดนิเวศน์นั้น เดิมทีกะเสด็จไปทางเรือ เห็นจะกะให้ประทับแรมที่ “สภาคาร” แต่แล้วกะกลับเป็นเสด็จไปทางรถไฟ ประทับแรมในเรือและกลับทางเรือ ก็เห็นว่าดีแล้ว ต้องถือเอาความสะดวกเป็นที่ตั้ง ในการที่ทรงพระดำริว่าท่านไม่ใคร่ต้องพระประสงค์ที่จะเสด็จไปไหน กะกฐินพระราชทานเป็นวัดนิเวศน์ ทำให้ต้องเสด็จขึ้นไป ทั้งจะทรงอุดหนุนให้วัดนิเวศน์ได้ประโยชน์ขึ้นนั้น เป็นการที่ทรงพระดำริถูกต้องทุกประการแล้ว

๙) ผู้ตรวจหนังสือเวรเห็นจะ “เชื่อ” อ่านแต่จาวๆ พอรู้ว่าไม่มีอะไรก็สั่งผ่าน เห็นจะไม่อ่านจ้ำจี้จ้ำไชไปอย่างละเอียด

๑๐) พระดำรัสอธิบายถึง “วิตามีน” นั้นดีมาก สิ่งที่ไม่รู้ก็ได้รู้ขึ้น เมื่อได้ทราบพระดำรัสว่าเขาใช้อักษรหมายวิตามีนไปจนถึงตัว ปี ก็ทำให้เข้าใจในคำตลกของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่าจะให้ยืมกอข้อไปใช้ เพราะตัวอักษรของเขาใช้เสียไม่มีเหลืออีกกี่ตัวแล้ว

โรคลักกะปิดลักกะเปิด ทั้งบอกอาการไว้ด้วยว่าเลือดออกตามรายฟันนั้นได้ยินก็แต่ชื่อกับอาการ ยังไม่เคยพบว่าใครเจ็บกันอย่างนั้นที่ไหนเลย ทั้งเคยได้ยินว่ากินผักกัน “สะเคอวี” ด้วย และผักที่กินนั้นก็ต้องเป็นสีเขียว ถ้าไม่เขียวก็ดูเป็นว่าจะกัน “สะเคอวี” ไม่ได้ นั่นเป็นล้อฝรั่ง แต่ทำให้เข้าใจได้ว่า ลักกะปิดลักกะเปิดกับสะเคอวีนั้นเป็นโรคอันเดียวกัน ยังโรค “เบรี่เบรี่” แต่ก่อนนี้เราก็ไม่มี ได้ยินว่าที่เมืองลังกามี “เบรี่เบรี่” ก็เป็นภาษาลังกา เคยได้ยินแปลว่าบวมบวม แล้วทีหลังเมืองเราก็มี ฝรั่งว่าเป็นด้วยกินข้าวขาว จำได้ว่าได้เคยมีคำถามเข้ามา ทีก็เห็นจะเพื่อสอบ ว่าเป็นโรค “เบรี่เบรี่” เพราะกินข้าวขาวถูกหรือไม่ ผู้เป็นใหญ่ทางเราก็แจกจ่ายคำถามนั้นไปแก่หมอไทยซึ่งเรียนมาจากฝรั่งให้ตอบ จำได้ว่ารับรองว่าเป็นเพราะกินข้าวขาวกันไปทุกปาก มีแต่ปากเดียวที่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นด้วยกินข้าวขาว แต่ก็ดูเป็นคนพูดฝืน มีหมอคนหนึ่งซึ่งจัดว่าเขาเป็นฝรั่งรับเหมารักษาคนโทษ เขาว่าโรค “เบรี่เบรี่” เป็นกันแต่คนโทษกับทหาร คนพลเรือนไม่เห็นเป็น และคนที่เจ็บเป็น “เบรี่เบรี่” นั้น ถ้าปล่อยไปบ้านแล้วเป็นหายทุกคนตามที่ว่านั้นก็ชอบกล ความเห็นของหมอคนนั้นเห็นว่าเป็นที่ใจ ไม่เห็นว่าเป็นที่กินข้าวขาว แต่ก็พอดีกันที่เขาไม่ได้ส่งคำถามให้ตอบ

อ่านพระดำรัสซึ่งอธิบายถึง “วิตามีน เอ บี ซี ดี” ตามที่หนังสือพิมพ์เขาพูดนั้น ทำให้นึกถึงหนังสือพิมพ์ประมวญวันซึ่งได้เคยอ่าน เขาแต่งเป็นนายเจริญกรุง นายบำรุงเมือง และนายเฟื่องนคร สามคนเถียงกันในเรื่องต่างๆ มีเรื่องหนึ่งซึ่งฝรั่งพูดด้วยอาหาร แต่ไม่ใช่วิตามีน มีคนหนึ่งท้วงว่าอาหารที่กล่าวดูเป็นแต่อาหารฝรั่งอีกคนหนึ่งติงว่า ก็เขาพูดที่เมืองฝรั่งและถึงอาหารฝรั่ง จะให้เป็นเมืองไทย อาหารไทยไปอย่างไรได้ นี่ก็เป็นไปเหมือนอย่างนั้น

ย้อนหลัง

๑๑) นึกย้อนหลังไปถึงมูลเหตุแห่งหนังสือพิมพ์ข้างไทยซึ่งทรงตำหนิว่าความไปมีต่ออยู่ไหนๆ นั้นได้ ว่าเพราะชาวบ้านเขาต้องการนิทานเริงรมย์กันเป็นพื้น ต้องการข่าวน้อย จึงเอาแต่จ่าหน้าบอกข่าวมาประชุมไว้ใกล้ๆ กัน เพื่อจะได้รู้ว่าในฉบับซึ่งถืออยู่นั้นมีข่าวอะไรบ้าง ถ้าดูไม่ต้องการก็ละเสีย ที่ต้องการก็ติดตามหา เพราะฉะนั้นในข่าวอันหนึ่งจะมีความแต่น้อยก็ได้ ฝ่าพระบาทผิดกับชาวบ้านเขาทั้งหลายซึ่งต้องประสงค์ข่าวจึงได้ความลำบากหนัก เห็นว่าสาเหตุเป็นอยู่เท่านี้เอง

๑๒) จะทรงทราบแล้วหรือยังไม่ทราบ ถ้าทรงทราบแล้วก็เป็น “ชิดดิฐ” พระธิดาของทูลกระหม่อมชายเธอพาไปเที่ยว “แฝ” ที่ “บันดุง” เธอไปซื้อข้าวโพดคั่วมากิน เธอบอกว่าที่คั่วแตกนั้นจำเพาะแต่ข้าวโพดเมืองไทย ข้าวโพดเมืองชวาคั่วหาแตกไม่

๑๓) เห็นหลานเล็กมาเล่นอยู่ปลายเนิน ต่อจากที่กราบทูลมาแล้วอีกหลายหน ไต่สวนได้ความว่าพ่อเขาพามาฝากย่าไว้ ตามธรรมเนียมที่เห็นเรียบร้อยมาแต่คราวก่อน

บ้าเบาบ่น

๑๔) ได้เอาดินสอเข้าไปวางไว้ข้างที่นอน นึกอะไรได้ในเวลานอนก็จดไว้บนหัวหนังสือพิมพ์ซึ่งอ่านอยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวกับหนังสือเวรก็คัดเอาลงในสมุดซึ่งประทานไปอีกต่อหนึ่ง เล่นเอาบ้าเบาบ่นไปได้

“สอ” เป็นคำเขมร แปลว่าขาว “ดินสอ” ก็ต้องหมายความว่าดินขาว “ปูนสอ” ซึ่งก่ออิฐก็คือปูนขาวเท่านั้นที่มีชื่อนี้ก็คงเป็นด้วยมีปูนแดงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้ก่ออิฐไม่ถือปูน ส่วนอย่างที่เขียนบนกระดาษไทยนั้นควรจะเรียกว่า “ดินเขมา” (เขม่า) แต่ยังไม่พบคำที่แท้ว่าเขาเรียกว่าอะไร คำว่า “ดำ” ซึ่งตรงกับ “เขม่า” ของเขมรเห็นจะเป็นภาษาไทย “ดำ” ของเขมรกลายเป็นว่าปลูก เกล้ากระหม่อมเคยไปเที่ยวที่พนมกุแลง พบต้นสับปะรดเข้ากลางป่า ถามโปรเฟสเซอร์เซเดส์ว่านี่เขาปลูกหรือขึ้นเอง แกก็จน แล้วเรียกนายบ้านซึ่งนำไปมาถาม เขาตอบว่า “ดำค่ารั่บ” ก็เข้าใจได้ว่าคือปลูกเหมือนกับที่เราพูดว่า “ดำนา” คำเขมรที่เหมือนกับเรานั้นมีมากนักจนรู้ไม่รู้ได้ว่าใครจำเอาของใครไปใช้ เช่นคำว่า “โคม” (ที่บังลมแต่ไม่บังแสงไฟ) เขมรก็มีไทยก็มี ใครจะบอกได้ว่าเป็นคำเขมรหรือคำไทย อันหนังสือของเขาเราอ่านพอเข้าใจได้แต่เขาพูดเราไม่เข้าใจเลย เช่น “เลิศ” เขาก็ว่า “เลอะ” “มาศ” เขาก็ว่า “เมิยะ” แม้คำ “สอ” ที่กราบทูลมาก่อนเขาก็ไม่ได้ออกเสียงว่า “สอ” อย่างเราพูด ตกลงเป็นฟังไม่รู้ทั้งนั้น อีกอย่างหนึ่งชอบกลมาก เช่น “กร” หรือ “การ” เขาก็ตัดตัว ร ทิ้ง อ่านแต่คำว่า “กอ” ว่า “กา” คิดดูก็เห็นควรที่ถือว่า ร สะกดเป็นแม่กนนั้นมีแต่เราคนเดียวในโลก แต่ที่จริงคำ “กร” และ “การ” นั้นก็เป็นภาษามคธ ควรจะอ่านออกเสียงว่า “ก (ะ) ร (ะ)” “การ (ะ)” กระมัง แต่ความจริงก็คิดยุ่งไปเปล่าๆ เคยอย่างไรก็อย่างนั้นเป็นถูกต้อง

ในข้อนี้จะกราบทูลโดยความตั้งใจจะพูดถึงดำกลายเป็นขาวไปเท่านั้น แต่ก็ไปเข้าคำที่ว่า “น้ำท่วมทุ่ง” โดยไม่ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น

เรียน

๑๕) นายปาน ขลิก หรือ ขิก เป็นทหารมหาดเล็กอยู่ก่อนโน้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เข้าใจว่าเป็นพวกก๊กฟากข้างโน้น หวังว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้ดี

ข่าว

๑๖) วันจันทร์ พฤศจิกายน วันที่ ๓ นี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม มีปะปิดหัวเดียวสองทับ ทั้งที่ปีนังและกรุงเทพฯ มีตราสี่เหลี่ยมรีในนั้นมีหนังสือภาษาอังกฤษอย่างที่ตรัสบอกไปประทับหลังซอง จะกราบทูลสนองในคราวหน้าเพราะคราวนี้ไม่ทัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ