วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๑ กันยายน ในบัดนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องชื่อนั้นเป็นความจริงอย่างที่ตรัส เช่นชื่อ “ลัดดา” เพียงสองพยางค์เท่านั้น ยังตัดเรียกแต่ว่า “ดา” ส่วนที่เรียกว่า “คุณเก” นั้นไม่ทราบคำ “อิลิซาเบท” ก็ไม่ทราบว่าฝรั่งเขาตัด นึกว่ามาตัดกันเอาทางไทย แต่ “บัส” และ “หมัด” นั้นทราบ เพราะได้อ่านหนังสือและฟังพูดกันพบ

คำ “ตา ยาย พ่อ แม่ อ้าย อี่” เดิมทีก็ตั้งใจจะยกยศ แต่ต่อมาลางคำก็กลายเป็นหยาบช้าไป คำ “นาย” ว่าตรงกับ “นายกะ” นั้นไม่เชื่อ ทั้งเห็นว่าคำ “นาง” ทีจะคู่กับคำ “นาย” อันหมายความว่าคหบดีทำให้เป็นต่างลึงค์กันเหมือน “ตา ยาย” เป็นต้น ส่วนคำว่า “หม่อม” ก็หมายความเป็นคหบดีเหมือนกัน แต่ใช้ทั้งชายหญิงไม่ต่างลึงค์กัน ชวนให้เห็นว่าคำ “หม่อม” เป็นคำใหม่ มีคำต่อหัวท้ายขึ้นเช่น “หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง หม่อมห้าม” เป็นต้น ดูออกจะเป็นภาษาไม่สู้ดี หม่อมราชวงศ์กับหม่อมหลวงถ้าพูดตามหนังสือที่พบแต่ก่อนนี้ก็เป็นอันเดียวกัน เพิ่งมาแยกเป็นต่างชั้นกันไปในเมื่อไม่ช้านัก อนึ่งคำว่า “เจ้า” ก็หมายถึงเป็นผู้สืบสกุลมาแต่ผู้ปกครองบ้านเมือง ที่เรียกว่า “เจ้า” อย่างอื่นเช่น “เจ้ามือ” เป็นต้น ก็เป็นแต่คำเปรียบ ทางเมืองลาวเขาก็เรียกกันแต่ว่าเจ้านั่นเจ้านี่ ไม่มีคำ “หม่อม” นำ คิดว่าคำ “หม่อม” ทีจะมาแต่ “กระหม่อม” ทูลเจ้ากันว่า “หม่อม” ก็มี คำ “ทูลกระหม่อม” หรือ “ทูลหม่อม” ก็มี ตลอดถึง “หม่อมฉัน” ด้วย แต่จะเดาไปก็เป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้แน่ จึงจะหยุดเสียที

คำ “อ้ายอ่วมอกโรย” นั้น ไม่ได้ทราบเลยว่าคำ “อกโรย” เป็นชื่อตำบล คิดว่าอ้ายอ่วมนั้นอกมันโรย ทางฝรั่งที่เขาใช้ชื่อตำบลเป็นชื่อคนนั้นทราบอยู่บ้าง เช่นหลอดอะไรฟอนอะไร เป็นต้น ล้วนแต่เป็นไปในทางข้างดีทั้งนั้น

๒) เรื่องคำที่เปลี่ยนความหมาย ได้ปรารภกับพระยาอนุมานอยู่เสมอ เพราะแกหมกมุ่นอยู่ด้วยถ้อยคำ ตามที่ตรัสอ้างถึงคำ “รับสั่ง” เป็นต้นนั้น ก็มิใช่จะมีแต่คำอยู่เท่านั้นตัวคนซึ่งเป็นผู้รับสั่งก็มีอยู่ทนโท่ ไม่น่าจะผิดไปได้เลย แก้กันเป็นว่า “ผู้รับรับสั่ง” ก็มี คำ “หลวง” ก็เหมือนกันกลายเป็นว่าพระราชาไป

เรื่องคำใหม่มีข้อขำอยู่มาก จะเล่าถวายแต่คำ “กิน” ซึ่งตรัสประทานตัวอย่างไป แต่ก่อนนี้ใช้กันว่า “รับ” ดังได้ทรงทราบอยู่แล้ว ต่อมาเปลี่ยนใช้ว่า “ทาน” ทูลกระหม่อมชายตรัสทำนายเล่นว่าภายหน้าไปคงใช้ “ประ” ฟังขันพิลึก แต่เดี๋ยวนี้เขาจะใช้อย่างไรกันไม่ทราบ ไม่ได้เอาใจใส่

๓) เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ที่ตรัสบอกตำแหน่งคลอง “บางหลวงอ้ายเอียง” ให้ทราบ ตามที่ตรัสบอกดูเป็นว่าคลองเล็ก แต่ว่าแต่ก่อนอาจเป็นลำใหญ่ก็ได้ แต่ไม่ได้เห็นคลองนั้นหรือไม่ได้สังเกตมาเลย ทีแต่ก่อนจะเป็นลำแม่น้ำต่อก็ได้

๔) หนังสือปฐมสมโพธิ เท่าที่เห็นก็เป็นหนังสือแปล ท่านจะแปลมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าเป็นหนังสือแต่งใหม่ไม่ใช่พวกอรรถกถาฎีกาทำ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไม่ทรงยึดเอาเป็นหลักเลยทีเดียว ทรงค้นเอาใหม่ในพระบาลี ทรงพรรณนาไว้ในที่หลายแห่ง ตรัสเรียกชื่อใหม่ว่า “พุทธประวัติ” พาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านสนใจไปถึงว่าใครแต่งพุทธประวัติไว้ที่ไหนว่าอย่างไรบ้าง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ มีพระจีนเข้าไปแต่ปีนัง ไปหาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เอาคัมภีร์พุทธประวัติตีพิมพ์เป็นหนังสือจีนไปให้ท่านฉบับหนึ่งท่านก็ให้แก่เกล้ากระหม่อม เพราะท่านเห็นว่าอยู่แก่ท่านก็ไม่มีประโยชน์อะไร เกล้ากระหม่อมได้มาก็เอาไปให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็ยินดีปรีดา บอกว่าท่านรู้จักลูกจีนคนหนึ่งเขารู้หนังสือดี จะเอาไปให้เขาแปล แต่ “เฟเลีย” เขาบอกว่าเขารู้แต่ทางค้าขาย จะให้แปลคัมภีร์ทางศาสนานั้นเหลือรับ แปลไม่ออก

๕) เรื่องคำ “ปี้ขา” พอได้ฟังกระแสพระดำริก็นึกถึงพระเจนจีนอักษร แต่ตายเสียแล้วก็สิ้นพูด ไม่ใช่ว่าผู้รู้ภาษาจีนจะมีแต่พระเจนคนเดียว แต่สอบกับพระเจนนั้นเป็นการง่าย จะไปสอบกับคนอื่นนั้นยาก ดิกชันะรีภาษาจีนของเกล้ากระหม่อมก็มี แต่ได้มาก็ดูรู้อะไรไม่ได้ เพราะเขาเรียงทางภาษาคำหลวงภาษาจีนหลวงในบ้านเราก็ไม่มีใครใช้ แม้เราจะได้เสียงมาก็ไม่ใช่คำหลวง จริงอยู่เขาเขียนภาษาต่างๆ ไว้ให้หมด แต่เขียนไว้ใต้คำหลวงก็สุดที่เราจะค้น อนึ่งตัวหนังสือจีนเป็นอย่างไรฝรั่งเขาก็คิดช่วย เขานับขีดลงเลขไว้ให้ค้น แต่แม้เราจะได้ตัวเขียนมาก็สอบยาก เพราะเส้นใดที่ติดกันคนเขียนเขาลากสองขีดเป็นขีดเดียวก็พาให้หลง ตกลงเป็นเราจะได้เสียงหรือตัวหนังสือมาก็รู้ยาก อีกประการหนึ่งนั้นสำคัญกว่าอื่นหมด แม้เราจะหาคำได้เอาไปประกอบกับคำอื่นก็ไม่เข้าใจ นั่นทำให้ไปนึกถึง “พะหมี” แม้แต่พวกจีนซึ่งรู้คำอะไรดีอยู่แล้วยังต้องคิดกันคอหักคอลัน ทำให้รู้สึกว่าดิกชันะรีไม่สำคัญเท่าภาษาเลย ดิกชันะรีจีนนั้นก็ทิ้งถามพระเจนเอาสบายกว่า

อนึ่งคำ “ปี้ขา” และ “ส้าระตะ” นั้นก็ไปเข้ารูปที่กราบทูลมาก่อนว่าเชื่อเป็นลางคำ ไม่เชื่อเป็นลางคำนั้นด้วย แต่คำใดควรเชื่อและไม่ควรเชื่อลางทีก็ไม่มีหลักอะไร วัด “สังกระจาย” ก็มีโคลงแปลชื่อติดไว้หน้าโบสถ์ที่ผนังข้างใน แต่เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วยเลย แต่จะแปลว่ากระไรก็สิ้นปัญญากลัวจะมีพระท้องพลุ้ยซึ่งเรียกกันว่า “พระสังกระจาย” เกี่ยวข้องอยู่ที่วัดนั้นมาก่อน พาให้เรียกชื่อวัดไปตามพระท้องพลุ้ยนั้น อันพระนาม “สังกทัต” นั้นก็เกิดขึ้นด้วยความสงสัย ค้นพจนานุกรมภาษาสันสกฤตจึงพบอย่างที่ได้กราบทูล จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ แต่ฝ่าพระบาททรงเชื่อว่าถูก ในเรื่องคำต่างๆ นั้นได้ปรึกษากับพระยาอนุมานอยู่บ่อยๆ แกว่าคำอะไรที่ไม่เข้าใจก็มักถูกลากเอาไปเข้าให้เป็นความเสียร่ำไป ทำให้นึกถึงกรมพิทยาลงกรณ์ เคยพูดว่าแม้จะพบคำว่า “ข้าวตัง” ก็ต้องไปเปิดดูพจนานุกรมภษามคธสันสกฤต นั่นหมายความว่าเป็นคนถนัดภาษามคธสันสกฤตอย่างเช่นพระดำรัส เป็นอย่างเดียวกันกับ “ตั้งสัปปะลงเหร่อปัจจัย” แต่นั่นออกจะเป็นเล่นตลกอย่าง “อิน อิน”

๖) เรื่องคนไทยไปเรียนวิชาหมอฝรั่งมาช่วยคนไทยได้เช่นที่เขามาช่วยหลานหมูหลานแมวไว้เป็นต้น ดีจริงอย่างที่ตรัส หมอไทยเก่าที่เขาสังเกตอะไรดีๆ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่รู้ แต่รู้เพียงว่าช่วยไม่ได้ จะเป็นอะไรอยู่ภายในนั้นไม่รู้

หญิงหลุยก็ออกลูกแล้วจวนรุ่งวันที่ ๑ ตุลาคม ลูกเป็นผู้หญิง หญิงอี่หาหมอไปช่วยเอาออก แม่โตไม่สบาย หญิงอี่ไม่กล้าปลุก ต่อเช้าจึงได้ไป ไปซื้อกันตามประเพณีโบราณ ทำให้คำที่ว่าแม่ซื้อนั้นสงสัยว่าจะหมายถึงคน ไม่ใช่ผีเสียดอกกระมัง หมอเขาก็เก่ง มีบัญชาว่าควรจะออก แม้อยู่ไปอีกลูกก็จะโตออกยาก ในการที่จะให้ออกก็ไม่ยากอะไรขี่รถเสียเท่านั้นก็จะออก เพราะฉะนั้นเธอจึงขี่รถไปดูที่ซึ่งซื้อใหม่ก็ออกจริงๆ แม่โตบอกว่ารถคลานไปเท่านั้น มิใช่จะกระแทกกระทั้นอะไรเมื่อไร

๗) เป็นพระเดชพระคุณเหลือล้น ที่โปรดอนุญาตให้ใช้ของที่วังวรดิศได้ทุกอย่าง แต่จะต้องการอะไรก็แล้วแต่จำเป็น หนังสือพิมพ์ไทยตามที่ตรัสติโทษนั้นก็เป็นความจริง ถึงกระนั้นเขาก็มีระเบียบอะไรอยู่บ้าง เข้าใจว่าที่ทำเช่นนั้นเป็นความคิดของฝรั่งเขาจัด ตั้งแต่ครั้งหนังสือพิมพ์ไทยยังเป็นของฝรั่งอยู่พวกเราเป็นแต่จำเขามา หากจะมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เป็นแต่ฝอยซึ่งหันเหไปตามการ แต่โครงนั้นคงอยู่ ฝ่าพระบาทไม่โปรดไม่ทรงนั้นได้ แต่จะให้ใครทุกคนทำตามพระดำริย่อมไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ว่า “ต่างคนต่างใจ”

๘) ขอถวายอนุโมทนาในการที่ได้ทรงทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอันเป็นการกตเวทีดีอย่างยิ่ง สิ่งที่ดีมากก็คือเอาเครื่องสักการะซึ่งถวายขมาจุดบูชาพระรัตนตรัย นั่นเป็นประโยชน์สองทางดีอย่างยิ่ง

๙) เรื่องปราสาทวิหารสมเด็จทำเป็นยอดปรางค์นั้น จะกราบทูลเป็นที่รับรองได้อีกอย่างหนึ่ง คือตรงกลางซึ่งกราบทูลว่าเป็นหอพระมีพื้นสูงนั้น เห็นมีอิฐหักกากปูนเป็นกองพะเนินเทินทึกอยู่ตรงนั้นมาก ไม่ทราบว่าอะไรจึงคุ้ยดูก็เห็นเป็นเสาก่อสี่ต้น และพบพระชานุพระแก้วในกองอิฐนั้นจึงทราบได้ว่าตรงนั้นเป็นหอพระ เหตุใดจึงมีอิฐหักกากปูนอยู่ตรงนั้นมากมาย ก็เห็นได้ว่าเดิมต้องเป็นยอดก่อคือยอดปรางค์ ถ้าเป็นยอดไม้แล้วจะมีอิฐหักกากปูนอยู่มากมายไม่ได้ ส่วนที่วัดชุมพลทำซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดปรางค์นั้น ดูเหมือนจะได้เคยฟังอธิบายว่าแปลว่ากระไร แต่จำไม่ได้ จะต้องอาศัยเหตุอันใดอันหนึ่งจึ่งเป็นดังนั้นได้ สังเกตแต่ว่าปรางค์ยอดเล็กนั้นเป็นของไทยทำด้วยหลงไป ปรางค์ยอดใหญ่นั้นนึกเอาอย่างปราสาทไม้เอาเทวสถานทางอินเดียหรือถะของจีนเข้าผสม เป็นไปเสียทางวิชาช่างดังนี้ พระนามพระเจ้าปราสาททองเกรงจะมาทางพม่า หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดิน

๑๐) เรือนกำมะลอในหาดในเลนเกล้ากระหม่อมก็อยากเห็น ว่าทางประเทศมลายูจะมีอย่างบ้านเราหรือไม่ แต่ไปปีนังก็ไปอย่างหวิบหวับไม่ได้เห็นอะไรทั่ว เมื่อได้ทราบตามพระดำรัสว่ามีเหมือนกันก็เป็นอันได้ทราบความอย่างหนึ่งซึ่งสมใจมาก ที่รัฐบาลเขาห้ามไม่ให้ปลูกใหม่ โดยความประสงค์จะไม่ให้มีอีกต่อไปนั้นเป็นความผ่อนผันดีมาก

ได้อ่านหนังสือพิมพ์ มีคนไปพูดในโรตารีคลับ เปรียบเอาการถีบกระดานทางเมืองชลว่าตรงกับสกีทางเมืองฝรั่งออกจะดี ฉลาดคิดมาก

๑๑) การถมที่ทำบ้านให้ชาวประมงอยู่นั้น ถ้ามีเหตุที่สมควรทำก็ดี เหมือนหนึ่งได้เคยไปเห็นที่หน้าเมืองสิงคโปร์แต่ครั้งกระโน้น เขาถมทะเลขายที่ปลูกตึก นั่นเขามีเขาเล็กๆ อยู่ริมทะเลหน้าเมือง ทำลายเอาเขาลงถมทะเลก็เป็นการสมควร ถ้าต้องไปเอาอะไรไกลๆ มาถมก็ “ป้วย” การถมที่ปลูกเรือนให้ชาวประมงเช่าจะมีอะไรที่สมควรทำอยู่แล้ว หากไม่ได้เห็นเท่านั้น

กราบทูล

๑๒) เผอิญได้ประสบเข้า ว่าจีนเขาเรียกพวกที่อยู่เมืองตังเกี๋ยว่า “กาวจี๋” คิดว่าคำนี้เองที่มาเป็น “ลาวกาว” ตามที่ได้เคยทรงสงสัยไต่สวนมาก่อนแล้ว

๑๓) กับคำว่า “แอ่ว” เขาแปลว่าเที่ยวไป ไม่ได้หมายว่าร้องอย่างที่เราเข้าใจกัน

ข่าวเก่า

๑๔) เมื่อวันที่ ๔ ซึ่งล่วงมาแล้ว สำนักพระราชวังมีหมายมาให้ ๒ ฉบับ ๆ หนึ่งว่าจะมีการฉลองพระภิกษุพระยาพหลที่โบสถ์วัดเบญจมบพิตร วันที่ ๖ ตุลาคม สวดมนต์ ๕๗ รูป วันที่ ๗ เลี้ยงพระแต่งตัวปกติ ไม่ได้บอกว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน และในใบพิมพ์หมายกำหนดการลงชื่อข้างท้ายเป็นนายกรัฐมนตรี (ไม่ใช่สำนักพระราชวังเช่นเคย) อีกฉบับหนึ่งหมายกฐินหลวง ท้ายใบพิมพ์หมายกำหนดการลงสำนักพระราชวัง (ตามเคย)

วันที่ ๑๑ ตุลาคม พระราชทานกฐิน วัดสุทัศน์ วัดราชประดิษฐ์ วัดมกุฎกษัตริย์ แต่งครึ่งยศ

วันที่ ๑๓ ตุลาคม พระราชทานกฐิน วัดบวรนิเวศ วัดราชบพิธ วัดพระเชตุพน แต่งเต็มยศ

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พระราชทานกฐิน วัดเบญจมบพิตร วัดราชาธิวาส วัดอรุณ แต่งเต็มยศ

ย้อนหลัง

๑๕) พระนามอย่างจีนของพระเจ้าแผ่นดินเรา เกล้ากระหม่อมได้บอกไปให้พนักงานหอสมุดเขาค้นแล้ว พระยาอนุมานบอกว่าพนักงานก็แต่ล้วนคนสมัยใหม่ ไม่รู้เบาะแสเรื่องเก่าอยู่ทั้งนั้น เห็นจะค้นพบยาก แต่แกยืนยันความจำได้ของพระเจนจีนอักษรมา ด้วยว่าพระเจนเคยแปลหนังสือครั้งแผ่นดินไต้เชงทราบอยู่ ๔ พระองค์ ว่า “แต้ฮั้ว” เป็นรัชกาลที่ ๑ “แต้ฮก” เป็นรัชกาลที่ ๒ “แต้เหมง” เป็นรัชกาลที่ ๓ “แต้ฮุด” เป็นรัชกาลที่ ๔ แต่แกกลัวพระเจนจะจำคลาดเคลื่อนไปเหมือนกัน พระนาม “แต้ฮุด” นั้นเถียงกันอยู่ ทางเกล้ากระหม่อมจำได้ว่ารัชกาลที่ ๑ แต่ข้างพระเจนว่ารัชกาลที่ ๔ เกล้ากระหม่อมออกจะลาเพราะงามว่าควรจะเป็นรัชกาลที่ ๔ ด้วยคำ “ฮุด” ข้างจีนก็ตรงกับคำ “พุทธ” ข้างเรา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา ลาผนวชออกมารับราชสมบัติ รัชกาลที่ ๑ นั้นคำ “ฮุด” เข้าได้แต่พระนาม “พระพุทธยอดฟ้า” ซึ่งเวลาโน้นพระนามอย่างนั้นยังไม่เกิด คำของพระเจนไม่ปรากฏพระนาม “แต้เจี่ย” จึงเห็นว่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นพระนามรัชกาลที่ ๕ ที่ไม่ปรากฏก็เห็นจะเพราะไม่ได้มีพระราชสาส์นไปเมืองจีน จะเป็นแต่ขนานพระนามเตรียมกันไว้

๑๖) นึกขึ้นมาได้ ว่าพระพุทธรูปชุดพระเจ้าห้าพระองค์ทางชวานั้น รูปร่างหน้าตาเหมือนพระโพธิสัตว์ซึ่งว่า “ศรีวิชัย” พระนาคปรกทางชวานั้นหน้าไม่เหมือนกับพระเจ้าห้าพระองค์แต่ก็ได้พบเพียงองค์เดียวที่เมืองยกยา ทางเมืองเขมรพระนาคปรกดกมาก มีหลายอย่างด้วย

ข่าวใหม่

๑๗) วันที่ดีดพิมพ์หนังสือนี้ถวาย ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๙ กันยายน มีปะปิดสองทาง จะกราบทูลสนองความในคราวหน้าเช่นเคย เพราะคราวนี้ไม่ทัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ