วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์

๑) จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อน ซึ่งลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ต่อไปนี้

๒) การชนช้างบำรูงานั้น เคยทราบอย่างเป็นเลาๆ มาแล้วแต่เมื่อรุ่นหนุ่มว่าเอาเชือกผูกเท้าให้จรดกันแต่งา ด้วยได้เคยเห็นสมเด็จกรมพระยาบำราบทรงทำเครื่องกล แต่อะไรซึ่งละเอียดไปไม่ได้สังเกต ออกจะเสียใจ เพิ่งมาได้ทราบละเอียดเมื่อทรงคิดวิธีที่ทำประทานไปในคราวนี้

การที่หมอช้างสวมมาลัยนั้นมาได้ทราบทีหลังเมื่อจงซ้าย (กร) บอกเพราะได้ถามถึงเสื้อครุย แกว่าหมอช้างผัดพานใส่ดันเข้าไปกับเนื้อ สวมมาลัยข้อมือด้วย

การล่อช่าง ขี่ม้าล่อแพนหรือคนแต่งตัวต่อยมวย ถือพัดชนีฝักมะขามล่อก็ได้เคยเห็นทั้งสองอย่าง ในการที่เอาช้างให้แทงปะรำนั้น แรกเห็นใช้พระยาปราบ แกเอาหน้าชนปะรำเข้าไปเพียงครึ่งเดียวหรือไม่ถึงก็หยุด เพราะแกยกงาไม่ไหว สนุกน้อยเต็มที ทีหลังจึงมาเห็นพลายศักดิ์ เชิดงาแทงปะรำตลอดหมด ลางครั้งเสาปะรำหักด้วยก็มี ดูให้รู้สึกสนุกเป็นกำลัง

การชนช้างที่เมืองไยปัวนั้นเคยได้ยินตรัสเล่า แต่มีสำเนาความเพียงว่า ช้างไม่มีคนขี่ชนกันในคอกจนงาหัก แล้วเขาทูลถามว่าพอหรือยัง พอตรัสว่าพอเขาก็จุดไฟพะเนียง ช้างก็ “แหล่น” หนีไป ยังนึกชมอยู่ในใจว่าเขาจุดไฟพะเนียงไล่นั้นดี ไม่มีทางบ้านเรา เพิ่งจะได้ทราบรายละเอียดในลายพระหัตถ์คราวนี้

อันคำอะไรซึ่งเกี่ยวแก่ช้าง เช่นที่ปรากฏในตำราชนบำรูงาเป็นต้นนั้น ไม่มีใครจะบอกได้เสียแล้ว เหมือนหนึ่งคำซึ่งมีในหนังสือซึ่งได้อ่านอยู่บ่อยๆ อย่างว่า “ค่ายค้ำพังคา โคตรแล่นโจมทัพ” เป็นต้นนั้น ได้ลองถามดูหลายคนแล้วไม่มีใครจะบอกได้ ที่บอกบ้างก็ไม่เชื่อ นึกว่าคิด “พุ่ง” ให้ เพราะไม่สมคำที่มีอยู่

ในการที่ทรงเสียดายวิชาช้างของเรา เป็นทางที่ขัดกันกับความตั้งใจของคนทุกวันนี้ จะกราบทูลถวายในหมวดบรรเลงเบื้องหน้า

๓) ชื่อปราสาท “วิหารสมเด็จ” ลางทีจะคล้องกับ “สรรเพชญปราสาท” เข้าโดยบังเอิญก็เป็นได้ แต่ไม่ทำให้สิ้นสงสัยในชื่อพระที่นั่ง “สุริยามรินทร์” ถ้าแปลก็เป็น “สุริย+อมรินทร์” ไม่เป็นความที่เป็นภาษาเลย

คำ “ปราสาททอง” เป็นคำมาทางพม่า หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินปรากฏอยู่หลายทางแล้ว ไม่ได้มาแต่อยู่เรือนทอง

๔) การเลียบาตรซึ่งมีในวินัยนั้น เห็นด้วยตามกระแสพระดำริ บาตรลังกาพระสาธุศีลสังวรเคยหยิบมาให้ดูทีหนึ่งแล้ว รูปร่างผิดกับบาตรไทยเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็น ในวินัยมีห้ามไม่ให้เอากระโหลกหัวผีหรือกระโหลกน้ำเต้าทำบาตร ที่ห้ามกระโหลกหัวผีเห็นจะไม่ได้หมายถึงทำอุตริ คงใช้กันมากตลอดถึงพระอิศวรก็ว่าใช้บาตรกระโหลกหัวผี เห็นจะบิเอาแต่เบื้องบนใช้เป็นภาชนะ ถ้าเปรียยอย่างไทยก็คือถือกะลาขอทานเรานี่เอง ตามที่ปรากฏในวินัยดูเปนห้ามของที่เป็นเอง ให้ใช้ของทำ มีบาตรเหล็กเป็นต้น แต่จะประสงค์อย่างไรยังคิดไม่ออก ถึงจะอย่างไรก็ดี สมด้วยพระดำรัสที่ว่าบาตรแล้วจะต้องเล็ก พอจุอาหารเต็มแล้วกินอิ่มได้คนเดียว บาตรพระไทยเขมร มอญ พม่า ลังกาอะไรเหล่านี้ ถึงรูปและขนาดจะไล่เลี่ยกันก็จริง แต่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อบรรจุอาหารเต็มแล้วอาจกินอิ่มได้หลายคน จะต้องพูดว่าไม่ถูก

๕) ข้อความอันจะทรงเขียนตอบหนังสือเวร จะได้เท่าไรก็เท่านั้นดีแล้ว ไม่ควรทรงย่างกายถวายชีวิต ไม่ใช่ว่าจะเป็นการสำคัญอันใดเลย

โบราณคดี

๖) เมื่อเล็กๆ เคยได้ยินแตรเป่าเมื่อทหารถวายคำนับใช้เพลงสรรเสริญอังกฤษจนจำเนื้อเพลงได้ จะตรัสบอกได้หรือไม่ ว่ามาเปลี่ยนเป็นสรรเสริญพระบารมีเมื่อไร และทรงทราบหรือไม่ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมาแต่ไหน ตามที่ได้ยินมาก็เป็นสองเสียง กรมหมื่นทิวากรว่าหลวงประดิษฐ (มี) แต่งขึ้นในนี้ กรมหมื่นชุมพรว่าไปซื้อเขามาแต่เมืองยะโฮ ทูลกระหม่อมชายตรัสว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมีท่าเป็นไทยอยู่เป็นกอง ตรัสทักชอบยิ่งนัก แต่จะอย่างไรก็ทราบไม่ได้แน่ เกี่ยวแก่พงศาวดารอยู่ด้วย

โบราณวัตถุ

๗) พระยาอนุมานคัดสำเนาหนังสือจารึกในลานทองมาให้ เป็นหนังสือ ๔ ประทัด ว่าได้ที่พระเจดีย์เก่าในเมืองสุโขทัย มีชื่อพระมหาเถรจุฬามณี ได้คัดสำเนาถวายมาบัดนี้ด้วยแล้ว พระมหาเถรจุฬามณีนั้นว่ากันว่าเป็นลูกพ่อขุนผาเมือง แต่ข้อนั้นต้องยกไว้ที ถือเอาได้แต่ว่าจารึกนั้นเป็นของเก่า ลางทีเขาจะคัดถวายมาแล้ว แต่ซ้ำกันก็ไม่เป็นไร

บรรเลง

๘) จะกราบทูลความเห็น อันเป็นตัวอย่างว่าคนย่อมมีความเห็นต่างกัน ด้วยพบว่าเขาจะให้ปลูกข้าวสาลีในเมืองไทยเพื่อทำขนมปัง ทั้งเลี้ยงโคนมฝรั่งแล้วทำเนยด้วย แปลว่าจะกินขนมปังนมเนยกันในเมืองไทย เป็นความคิดที่จะเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นเมืองฝรั่ง เห็นขันจึงเก็บมากราบทูล

๙) แม่โตหานกสีชมพูไปให้หญิงพิลาศ (ลูกหญิงเล็กพิสิษฐ์) คู่หนึ่ง หยอกนักหยอดหนาถึงจะเอามันไปนอนด้วย ทั้งนี้เพราะแม่โตเห็นแกมาหยอดนกกิ้งโครงกับนกเขาซึ่งบ่าวมันเลี้ยงไว้ที่ใต้ถุนเรือนบ้านปลายเนิน นกกิ้งโครงนั้นนายพุ่มซึ่งเข้ามากับพระองค์จุลมาตื่นไปบอกแก่พระองค์จุลทีหนึ่งแล้ว มันพูดภาษาคนได้ และทำอื่นอะไรก็ได้อีกบ้าง เกล้ากระหม่อมเพิ่งทราบว่านกกิ้งโครงหัดให้พูดภาษาคนได้ เคยได้ยินแต่นกฮูกว่าหัดได้ เสียงใหญ่เหมือนผู้ชาย

๑๐) สังเกตว่าหนังสือพิมพ์ “บางกอกแตม” ไม่เห็นลงรูปมาสามเสาร์แล้ว เห็นจะเลิก ทีการทำรูปจะเปลืองค่าโสหุ้ยเกินควร

ย้อนหลัง

๑๑) ที่เขียนชื่อถวายมาก่อนว่า “หลวงนริศร” นั้น อาจผิดไปก็ได้ ลางทีเวลานั้นเขาจะเป็น “พระ” หรือ “พระยา” จำก็ไม่ได้ ที่จริงก็เหมือนกันแต่ชื่อซึ่งเขียนเป็นหนังสือ (ด้วยโทรเลขต้องการสั้น เพื่อจะได้เสียเงินน้อย) แต่ที่แท้ออกเสียงผิดกัน ทางโน้นออกเสียง “นริดสอน” ทางนี้ออกเสียง “นริด” “รา” เขาแยกออกไปเป็นสร้อยชื่อ ที่จริงใส่ ร ก็เพื่อจะให้ถูกตามชื่อเท่านั้น ที่มาคิดตัดตัว ร ออกก็เพราะตามที่เขาเรียกซ้ำยังไม่ผิดไปด้วยจึงตกเป็นเซ็นสองอย่าง ปกติเป็น “นริศ” เต็มยศเป็น “นริศรานุวัดติวงศ์”

ข่าว

๑๒) เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนก่อน อ่านหนังสือพิมพ์ “บางกอกแตม” เห็นเขาลงพิมพ์ว่าวันที่ ๓ เดือนนี้ (วันพุธ) รถไฟด่วนจะไปถึงไปร แล้วจะกลับวันศุกร์ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นการตามเคย ไม่มีผลทำให้หนังสือเวรต้องเปลี่ยนแปลง รถไฟด่วนออกวันเสาร์เขาก็กล่าวถึง แต่ไม่มีธุระที่จะพูดถึง

๑๓) เมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิงหาคม วันที่ ๓๑ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม เร็วกว่าที่เคยรับมาแล้ว มีปะปิดแต่หัวเดียวทางปีนัง ส่วนทางกรุงไม่มีปะปิด แม้แต่ตรากลมๆ ก็ไม่มีประทับจะกราบทูลสนองในคราวหน้า

๑๔) ในวันนี้ได้รับหมายพระราชวัง ว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไปบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน พระราชทานที่ศพ นายตั้วลพานุกรม รัฐมนตรี บ้านถนนสาธร วันที่ ๒ นี้สวดมนต์ วันที่ ๓ เลี้ยงพระ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปแต่วันสวดมนต์วันเดียว สั่งแต่งตัววันที่ ๒ ปกติ ไว้ทุกข์ ติดตราไม่สวมสายสะพาย วันที่ ๓ แต่งปกติ ไว้ทุกข์ ไม่ติดตรา

๑๕) เขาจะเผาศพพระยานรเนตรบัญชากิจ (ชื่อตัวชื่อไร ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็นสกุลเศรษฐบุตร) จะเผาที่วัดเทพศิรินทร์ วันที่ ๗ เดือนนี้ ถ้าฝนไม่ตกก็จะไปเผา เพราะคุ้นเคยกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ