วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม แล้ว เขามีแก่ใจเชิญมาส่งในวันศุกร์อีกเป็นครั้งที่ ๓ ติดต่อกันมา น่าขอบใจ

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) ซึ่งทรงสันนิษฐานว่า ผ้าเกี้ยวเป็นผ้าคาดนั้น หม่อมฉันเห็นถูกทีเดียว ผ้าเกี้ยวที่กล่าวในตำราขี่ช้างก็คือผ้านุ่งเพิ่มเข้าอีกผืน ๑ ข้างนอกเหมือนอย่างผ้าคาด ยังคิดไม่เห็นแต่ว่านุ่งผ้าแบบต่างๆ อย่างพรรณนาในตำราขี่ช้างนั้นมีประโยชน์ผิดกันอย่างไรในเวลาขี่ช้าง ดูจะเป็นแต่เครื่องแบบ “ยุนิฟอร์ม” สำหรับเข้าพิธีเท่านั้น

๒) ตำรับตำราวิชาความรู้ต่างๆ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เห็นจะมีเป็น ๒ อย่าง เป็นตำราที่เขียนลงเป็นหนังสืออย่าง ๑ ตำราที่จำไว้อย่าง ๑ เข้ากับคำที่มักพูดกันเล่นว่า “จดจำ” ในพงศาวดารมีว่า เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๔๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ “แรกให้ทำตำราพิชัยสงคราม” และมีต่อมาอีกแห่ง ๑ ว่า เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๗๘ พระเจ้าปราสาททองพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในได้เนื้อในท้องเผาไม่ไหม้ ลือกันว่าจะให้ค้นตำรับตำรา คนตกใจทิ้งตำรับตำราวิชาการลงน้ำเสียมากตำราที่ว่าทั้ง ๒ แห่งล้วนเป็นตำราเขียนเป็นหนังสือ น่าสันนิษฐานว่าตำราวิชาใดอันต้องเรียนรู้มากเกินกว่าที่จะจำได้ เช่นพิชัยสงครามเป็นต้นและตำราวิชาใดยากที่จะจำได้ เช่นเวทมนต์และวิทยาคมเป็นต้น จึงเขียนลงไว้ ถ้าเป็นวิชาที่พอจะจำได้ เช่นวิชาช่างเป็นต้น หรือเป็นวิชาที่จะจดไม่ได้เช่นเพลงดนตรี ก็ใช้รักษาไว้ด้วยความทรงจำ วิชาขี่ช้างเดิมน่าจะอยู่ในจำพวกจำ ตำราฉบับที่พิมพ์อาจจะเป็นของสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้จดเป็นหนังสือก็เป็นได้

๓) ซึ่งทรงพระดำริว่า วังหลวงกับวังหน้าเช่นที่ในชวา อาจจะเป็นประเพณีมีมาแต่โบราณนั้นมีจริง ชี้ได้ในนิทานต่างๆ ที่เล่ากันอย่าง “ซึมทราบ” ว่าถ้ามีเหตุขัดข้องสำคัญเกิดขึ้น พระเจ้าแผ่นดินมักประกาศว่า ถ้าใครแก้ไขได้ “จะให้สมบัติกึ่งพระนคร” และการที่วังหน้าปกครองกึ่งพระนครก็มีจริงด้วย ไม่ต้องสาวขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยา ที่ในกรุงเทพฯ นี้เองวังหน้าก็ได้ครอบครองกึ่งพระนคร แต่ว่าเฉพาะในบริเวณพระนครเท่านั้น อาณาเขตของวังหน้าทางริมแม่น้ำตั้งแต่เหนือวัดมหาธาตุขึ้นไป ที่บนบอกตามแนวถนนพระจันทร์ขึ้นไปตามแนวถนนพฤฒิบาศ ในท้องที่นั้นเป็นอำเภอวังหน้าปกครอง อันที่จริงมาแต่ปันด้านต่อสู้ข้าศึกป้องกันพระนคร เรียกกันไปว่าราชสมบัติเท่านั้น

๔) รูปไม้สิบสองนั้นท่านเคยตรัสบอกพระวินิจฉัย ว่าเกิดแต่คิดย่อแบบปราสาทจตุรมุขเข้าไปทำเป็นบุษบก น่าจะเป็นเพราะเหตุนั้น เดิมคงจะทำรูปไม้สิบสองได้แต่ของหลวง และทำบุษบกก่อนอย่างอื่น แล้วจึงเลยทำของสิ่งอื่นด้วย ถือว่าไม้สิบสองศักดิ์สูงกว่าสี่เหลี่ยม มูลจะเป็นเช่นว่านี้ดอกกระมัง แต่มีมาเก่าแก่มาก ยังมีไม้ยี่สิบต่อขึ้นไปอีก มีมาเก่าแก่เหมือนกัน จะมีมูลอย่างไรหม่อมฉันยังคิดไม่เห็นว่ามูลจะมาแต่อะไร

๕) ซึ่งทรงพระดำริว่าลายพระราชลัญจกรหงสพิมานควรเป็นรูปวิมาน พระพรหมอยู่บนหลังหงส์เช่นเดียวกับวิมานพระอินทร์ในพระราชลัญจกรไอยราพตนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกต้อง ความส่อว่าที่เขียนรูปหงส์อยู่ในวิมานจะเป็นพระราชลัญจกรสร้างใหม่ บางทีจะคิดให้เข้าเรื่องที่สัมผัสกับพระราชลัญจกรไตรสารเศวต แต่พระราชลัญจกรไตรสารเศวตทำเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มีช้างเผือก ๑ ตัวทำรูปช้างยืนในวิมาน ๓ ช่องนั้นเข้าที จึงไม่ทำให้เกิดฉงน หม่อมฉันจำไม่ได้ว่ามีพระราชลัญจกร “สังขพิมาน” อีกองค์ ๑ คิดไม่เห็นว่าจะเข้ากับอะไร

๖) ซึ่งตรัสมาถึงเรื่องลูกของหม่อมฉันขี่ม้า ว่าหญิงเหลือขี่แข็งนั้น ตัวเธอขอให้ทูลว่าท่านเข้าพระทัยผิด เธอขี่ได้เพียงนั่งติดหลังม้าให้มันเขย่าไปเท่านั้น ตกก็เคยตก เป็นความจริงดังเธอว่า แต่ก็ประหลาดอยู่ที่หญิงเหลือกับหญิงพูนเคยขี่ม้าไปทางไกลกับหม่อมฉันหลายครั้ง เดินทางหลายๆ วันก็ไม่เคยเห็นเธอย่อท้อเบื่อหน่าย ในบรรดาลูกหญิงของหม่อมฉันหญิงพูนเป็นขี่ม้าแข็งกว่าเพื่อน ขี่ได้เหมือนผู้ชาย

๗) อ่านลายพระหัตถ์ตรัสบอกว่าหญิงหลุยเกิดมีอาการเจ็บท้องก่อนกำหนด หม่อมฉันตกใจ ได้ถามเธอเมื่อมาปีนังว่ามีครรภ์ได้ ๕ เดือนนับเวลาต่อมาอีกเดือน ๑ ครรภ์ได้เพียง ๖ เดือนเท่านั้น ครั้นอ่านลายพระหัตถ์ต่อไปได้ทราบว่าคุณโตและหญิงอี่ได้พาหมอไปช่วยแก้ไข ระงับอาการได้เรียบร้อยแล้ว ทั้งพระองค์ท่านก็ได้เสด็จไปเยี่ยมด้วย หม่อมฉันยินดีขอบพระคุณมาก ขอได้โปรดทรงแสดงความขอบใจของหม่อมฉันแก่คุณโตและหญิงอี่และหมอด้วย

๘) เรื่องชายดิศเคยไปพบศพคนหัวขาด ที่เธอเล่าถวายดูจำได้น้อยเต็มที เพราะเวลานั้นเธอยังเด็กนัก .เรื่องที่จริงดังจะทูลต่อไปนี้-ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองเพชรบุรีประทับที่พลับพลาในวังบ้านปืน บ้านหม่อมฉันอยู่ท้ายวัง เสด็จไปถึงได้คืน ๑ พอรุ่งเช้าหญิงพูนหญิงเหลือกับชายดิศที่อยู่ในวังก็ออกมาสมทบกับหญิงบรรดาลฯ ที่ไปกับหม่อมฉัน พากันขี่ม้าไปเที่ยวเหมือนเช่นเคยไปครั้งก่อนๆ ตำรวจภูธรเขาจัดม้าแกลบมาให้ขี่และมีนายร้อยคุมไป วันนั้นไปที่เขาบันไดอิฐ ไปพบศพคนหัวขาดพากันตกใจกลับมาบอกหม่อมฉัน ๆ แรกรู้เรื่องจากลูกจึงให้ไปตามพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ (เทียร บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาสุรินทฦาชัยผู้ว่าราชการเมือง กับพระพิศาลสารเกษตร์ (พร พิมพสุต) เมื่อยังเป็นพระเพ็ชร์พิสัยศรีสวัสดิ์ปลัด มาหาในเช้าวันนั้น บอกให้ทราบว่าเกิดเหตุฆ่ากันตายแม้เวลาปกติก็ต้องสืบจับผู้ร้ายอย่างกวดขัน แต่ที่เกิดฆ่ากันตายที่เชิงเขาบันไดอิฐใกล้ๆกับพลับพลาที่ประทับในคืนวันพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึง ดูราวกับว่าฆ่าคนรับเสด็จเป็นเหตุร้ายแรงไม่เคยมีเหมือนมาแต่ก่อน จริงอยู่ที่การที่คนฆ่าฟันกันพ้นวิสัยที่ใครจะป้องกัน แต่ไม่พ้นวิสัยที่จะสืบจับเอาตัวผู้ร้าย เกิดเหตุฆ่ากันใกล้ที่ประทับอย่างนั้นต้องจับผู้ร้ายให้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่จับผู้ร้ายไม่ได้ก็ไม่สมควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าจับผู้ร้ายรายนั้นไม่ได้ หม่อมฉันจะทูลขอให้ถอดทั้งเจ้าเมืองและปลัดเมืองแล้วตัวหม่อมฉันเอง อันเป็นเสนาบดีเจ้าหน้าที่ที่ไปตามเสด็จ ก็จะทูลลาออกด้วย จึงบอกให้รู้ตัวไว้ก่อน บ่ายวันนั้นตำรวจภูธรไปเที่ยวค้นพบหัวคนตายยังซ่อนไว้ที่ในท้องนา ได้ความว่าผู้ตายชื่อคุ่ย (เป็นผู้ชายมิใช่ผู้หญิงอย่างชายดิศเข้าใจ) เป็นคนขี้ยาหากินเป็นทนายความตามโรงศาล พอรู้ตัวคนตายก็มีชาวเมืองมากระซิบบอกให้พระเพ็ชร์พิสัยฯ รู้เรื่อง จับตัวผู้ร้ายได้เพียงใน ๒ วันแต่เกิดเหตุ เป็นผู้หญิงชื่อ “เทียบ” คน ๑ เป็นผู้ชายชื่อ “พร้อม” คน ๑ ไต่ถามให้การรับสารภาพโดยชื่นตาทั้ง ๒ คน เรื่องกรณีที่เป็นมูลเหตุนั้น นางเทียบเป็นหญิงหม้ายชอบพอกับนายคุ่ยผู้ตายเคยไปมาหาสู่กันเนืองนิจ (น่าสงสัยจะว่าเป็นชู้กัน) อยู่มามีน้องสาวไปอาศัยอยู่กับนางเทียบคน ๑ น้องสาวนั้นนายพร้อมได้สู่ขอตกลงกันว่าพอนายพร้อมบวชสึกแล้วจะแต่งงานกัน ในเวลาเมื่อนายพร้อมยังบวชอยู่นั้นนายคุ่ยอยากได้น้องสาวนางเทียบเป็นเมีย นางเทียบได้ห้ามปรามและบอกว่าเขาตกลงจะแต่งงานกับนายพร้อมแล้ว นายคุ่ยก็ไม่ฟัง วันหนึ่งถึงบังอาจเข้าปล้ำจะข่มขืนน้องสาวนางเทียบๆ จึงไปบอกนายพร้อม พอนายพร้อมสึก นางเทียบกับนายพร้อมก็คบคิดกันจะฆ่านางคุ่ย ตกลงกันว่านางเทียบจะลวงให้นายคุ่ยออกไปที่เปลี่ยวแต่คนเดียว นายพร้อมจะคอยดักทางฆ่านายคุ่ย นายพร้อมคอยดักทางอยู่หลายวันแล้ว เผอิญนายคุ่ยเดินออกไปตามทางเขาบันไดอิฐ เวลาจวนพลบเมื่อวันพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึง พอถึงที่เปลี่ยวนายพร้อมก็ฆ่านายคุ่ยตาย ทิ้งศพไว้ที่ป่าเชิงเขาบันไดอิฐ ตัดหัวเอาไปซ่อนฝังไว้เสียที่อื่น

หม่อมฉันเห็นจับผู้ร้ายได้รวดเร็วนักไม่วางใจ ให้เอาตัวมาสอบถามเอง ก็สังเกตได้ว่าสารภาพโดยสุจริตทั้ง ๒ คน และคำให้การก็สมกับเหตุผล จึงสั่งให้อัยการฟ้องศาลตามประเพณี คนที่ไปตามเสด็จเห็นจับผู้ร้ายได้รวดเร็วก็พากันสงสัย เลยสงสัยถึงตัวหม่อมฉันด้วยว่าจะคบคิดกับเจ้าเมืองกรมการปลูกความเท็จแก้ตัว ถึงมีผู้ไปถามตัวผู้ร้ายที่โรงตำรวจวันละหลายๆ ราย ผู้ร้ายเล่าจนเคยตัว พอมีใครไปเอ่ยถามอะไรสักคำเดียวก็เล่าให้ฟังคล่องปากไม่ต้องซักไซ้ วันหนึ่งหม่อมฉันไปที่โรงตำรวจภูธร มันอ้อนวอนให้หม่อมฉันช่วยทั้ง ๒ คนก็นึกสงสาร ด้วยเป็นคดีอันมีเหตุยั่วยวนมาก จึงบอกมันว่าคงจะต้องรับพระราชอาญาแต่คงไม่ถึงประหารชีวิต เป็นแต่จะต้องติดคุก เมื่อติดพอสมควรแก่เวลาแล้วหม่อมฉันจึงจะช่วย ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหรือ ๑๐ ปีหม่อมฉันจำไม่ได้แน่ เมื่อมันติดมาได้สัก ๑๐ ปี หม่อมฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้วไปเที่ยวเมืองราชบุรีครั้งหนึ่ง มันรู้ว่าหม่อมฉันไปก็ทำเรื่องราวส่งมาเตือนที่หม่อมฉันรับไว้ว่าจะช่วย หม่อมฉันจึงเล่าเรื่องชี้แจงให้เจ้ากระทรวง ดูเหมือนที่สุดจะได้พระราชทานพระมหากรุณาโปรดปล่อยไปทั้ง ๒ คน

๙) คิดดูข้อที่ตรัสถามว่า “ทำไมหนังสือฝรั่งจึงขึ้นหน้านัก” วิสัชนาอย่างย่อก็คือ เพราะนิยมว่าอะไรๆ ของฝรั่งเป็นดี เช่นเดียวกับคนแต่ก่อนเคยนิยมของจีน หม่อมฉันเห็นวิสัชนาอีกทางหนึ่งว่าเฉพาะด้วยหนังสือดังนี้ ตัวหนังสือไทยมีเป็น ๓ อย่าง คือ “ตัวประจง” สำหรับเขียนหนังสือซึ่งประสงค์จะรักษาฉบับไว้อย่าง ๑ “ตัวหวัด” สำหรับเขียนให้แล้วเร็วอย่าง ๑ “ตัวย่อ” สำหรับเขียนอวดฝีมืออย่าง ๑ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๓ อย่าง สังเกตในหนังสือเก่าที่ยังมีอยู่เป็นตัวอย่าง ตัวอักษร ๓ อย่างนั้นแปรรูปมาตามสมัยทุกอย่าง เป็นต้นแต่รูปอักษรตัวประจงที่อาลักษณ์เขียน ถึงคนเขียนจะต่างตัวกันรูปตัวอักษรที่เขียนก็เป็นอย่างเดียวกันตามสมัย จนอาจจะบอกได้ เมื่อหอพระสมุดฯ ได้หนังสือมาใหม่ ว่าเป็นฝีมือเขียนสมัยรัชกาลไหน อักษรหวัดหม่อมฉันไม่เคยพิจารณาอย่างอักษรประจง แต่ถ้าเอาลายมือที่เขียนจดหมายกันในปัจจุบันนี้เทียบกับที่เขียนบัตรหมายในกระดาษเพลาก็เห็นได้ว่าแปรมาเหมือนกัน ส่วนอักษรไทยย่อนั้นเห็นว่าเอาอย่างมาแต่อักษรขอมย่อ มิได้คิดขึ้นใหม่ เป็นจำพวกอย่างที่ท่านตรัสเรียกว่าลักษณะลวดลาย เขียนช้าและอ่านยากจึงใช้แต่เมื่อจะอวดฝีมือเขียน เช่นเขียนศิลาจารึกเป็นต้น ตัวหนังสือไทยที่มักเขียนใบปกสมุดหรือเขียนป้ายในสมัยนี้อยู่ในพวกอักษรย่อ ถึงสมัยที่นิยมอย่างฝรั่งก็แปรรูปไปทางลายฝรั่ง จะน่าชมหรือไม่น่าชมก็อยู่ในความธรรมดาของความผันแปรที่กล่าวมาแล้ว ต้องให้อภัย แต่ที่เขียนรูปอักษรจนแปรจากตัวเดิมกลายไปเป็นตัวอื่น เช่นมักมีบ่อยๆ เป็นอกุศลกรรม จะเป็นเพราะไม่รู้ก็ตามหรือไม่เอื้อเฟื้อก็ตามจะให้อภัยไม่ได้เลย การเซ็นชื่อนั้นมีหลักประกอบด้วยองค์ ๒ คือต้องให้รู้ว่าใครอย่าง ๑ ให้เห็นเป็นสำคัญว่าผู้นั้นเขียนเองอย่าง ๑ ถ้าอยู่ในหลักทั้ง ๒ อย่าง รูปร่างตัวอักษรจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้อภัย ถ้าเขียนจนอ่านไม่รู้ว่าชื่อใครหรือวานคนอื่นเขียนแทนหรือซนเก๋ไปจนผิดตัวอักษรก็ให้อภัยไม่ได้เช่นเดียวกัน

๑๐) ลักษณะที่ใช้คำหน้าหลัง หม่อมฉันก็เคยรู้สึกลำบากใจ หม่อมฉันตัดสินเอาว่าสรรพสัตว์หันหน้าไปสู่อนาคต เหมือนเช่นเดินทางของที่ยังไม่เห็นอยู่ข้างหน้า ของที่เห็นแล้วอยู่ข้างหลัง จึงใช้อดีตเป็นหลังเหมือนอย่างเขาแต่งกลอนว่า “แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์” เอาอนาคตเป็นหน้า ถือมาอย่างนี้

๑๑) รู้ว่าเจ้าพระยาวรพงศ์ฯ ถึงอสัญกรรม หม่อมฉันรู้สึกอาลัยอยู่ ด้วยแกเป็นสหชาติและเคยเป็นมิตรมาด้วย หม่อมฉันไม่รู้ข่าวว่าเจ็บป่วยเป็นอย่างไร ได้ยินก็ว่าถึงอสัญกรรมออกประหลาดใจ เพิ่งรู้จากหญิงจงว่าแกป่วยเป็นโรคชรามานานแล้ว ถึงเขาปิดไม่ให้รู้ว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯ สวรรคต ได้ฟังก็ยิ่งอนาถใจ

๑๒) หญิงจงออกมาถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ นี้ มาได้โดยสะดวก เป็นแต่รถไฟช้ามาถึงต่อเวลากว่า ๒ ทุ่ม หม่อมฉันนั่งคอยรับอยู่สักครึ่งชั่วโมง จึงไปนั่งกินอาหารเย็น กินอิ่มแล้วเธอจึงมาถึง แต่ก็ชื่นใจที่ได้พบเธออีก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ