วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เขาส่งลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒ กันยายน (แต่ดีดพิมพ์เป็นกรกฎาคม) มาถึงมือหม่อมฉันวันศุกร์อีกในสัปดาหะนี้ เอาเป็นดี

สนองลายพระหัตถ์

๑) ชื่อที่เรียกช้างสำหรับการต่างๆ หม่อมฉันตรวจดูในกฎมนเทียรบาลมีชื่อกรมว่า “กรมช้างอัษฐคชะ” ส่อว่าช้างสำหรับการต่างๆ นั้นมี ๘ พวก ตรวจดูชื่อรายพวกต่อไปมีชื่อเรียกว่า-ช้างค้ำค่ายเขื่อนทวนหอกแนมกันพังคา-เขียนเป็นพืชดังนี้ ลองตัดคำนับดู ถ้าไม่แยกช้างทวนกับหอกออกเป็นต่างกันก็พอได้ ๘ อย่าง แต่เคยรู้อธิบายเพียง “ช้างค้ำ” กับ “ช้างค่าย” ช้างค้ำก็เพิ่งเห็นอธิบายในตำราขี่ช้าง ดังคัดมาถวายข้างท้ายจดหมายนี้ ดูหน้าที่เป็นการสำคัญอยู่ “ช้างค่าย” นั้นเคยได้ยินพวกกรมช้างเขาเรียกช้างเหล่าที่เดินรายรอบช้างโขลง เมื่อตอนมาเข้าเพนียด นอกจากนั้นยังไม่ทราบอธิบายตระหนักใจ

๒) แตรวงมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๔ ครูคนแรกเป็นอังกฤษชื่อไรหม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว เป่าแต่เพลงฝรั่งสำหรับนำทหารเดิน เมื่อตั้งแถวคำนับก็เป่าเพลง God Save the Queen ตามแบบอังกฤษ เพลงกอดเสฟธีควินนั้น (แม้จนทุกวันนี้) อาจจะเป่าแต่ท่อนเดียวหรือเป่าเต็มทั้ง ๒ ท่อนก็ได้ ไทยใช้เพลงกอดเสฟธีควีนเป็นเพลงคำนับมาจนในรัชกาลที่ ๕ จึงเปลี่ยนเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี เหตุที่จะเปลี่ยนนั้นหม่อมฉันสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นครั้งเสด็จไปเมืองชวา เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ครั้งนั้นเมื่อประทับอยู่เมืองสิงคโปร์ อังกฤษใช้เพลงกอดเสฟธีควีนรับเสด็จได้สนิทด้วยไม่แปลกกับเพลงไทยที่ใช้อยู่ แต่เมื่อเสด็จไปถึงเมืองปัตตาเวีย พวกฮอลันดาคงถามถึงเพลงชาติของไทยเพื่อจะเอาไปทำรับเสด็จ เป็นเหตุให้คิดขึ้นว่าจะต้องมีเพลงชาติของไทยสำหรับให้แตรวงทำคำนับ คราวนี้จะทูลต่อไปตามเรื่องที่ได้ทราบมา โปรดให้เรียกผู้ชำนาญเพลงดนตรีไทยมาปรึกษาหาเพลงไทยที่ควรเอามาใช้เป็นเพลงคำนับเหมือนอย่างเพลงกอดเสฟธีควีนของอังกฤษ พวกครูดนตรีที่ปรึกษาครั้งนั้นจะเป็นใครบ้างไม่ทราบ แต่นึกว่าคนสำคัญ ๓ คนนี้คงอยู่ในนั้นด้วย คือ คุณมรกฎ ครูมโหรีหลวงคน ๑ พระประดิษฐ์ไพเราะ (มีแขก) คน ๑ กับพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) คน ๑ เวลานั้นยังมีชีวิตอยู่ทั้ง ๓ คน พวกครูดนตรีทูลเสนอเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงโปรดให้มิสเตอร์เฮวุดเซน (เรียกกันว่าครูยุเซน) ซึ่งเป็นครูแตรทหารมหาดเล็กอยู่ในเวลานั้น เอาเพลงสรรเสริญพระบารมีไปแต่งแปลงกระบวนสำหรับให้แตรวงเป่าเป็นเพลงคำนับ เป่าแต่ท่อนเดียวเช่นรับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้ หรือเป่าตลอดทั้ง ๒ ท่อนเช่นรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ เอาอย่างมาแต่เพลงกอดเสพธีควีน มิสเตอร์เฮวุดเซนครูแตรคนที่เอาเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่งเป็นเพลงแตรวงนั้นหม่อมฉันได้รู้ตัว เป็นฝรั่งครึ่งชาติผิวคล้ำ สังเกตชื่อดูเหมือนจะเป็นเชื้อสายฮอลันดา อาจจะจ้างมาเมื่อเสด็จไปเมืองปัตตาเวียก็เป็นได้ พระยาวาทิตยบรเทศ (ม.ร.ว. ชิต) เคยเป็นศิษย์ชมว่าความรู้วิชาดนตรีดีนัก อยู่ในเมืองไทยจนตลอดอายุ

ส่วนเพลงสรรเสริญบารมีเดิมนั้น มีเค้าเงื่อนว่าเป็นเพลงมีมาแต่โบราณ กรมหมื่นทิวากรฯ ตรัสบอกหม่อมฉันว่าแตรฝรั่งที่ไทยเป่าเข้ากับกลองชนะ ก็เป่าเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่เป็นอย่างชั้นเดียว ท่านทรงส่งเสียงอย่างแตรฝรั่ง เทียบกับที่แตรวงเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีให้หม่อมฉันฟัง ก็ออกจะเห็นชอบด้วย แต่ถ้าเข้าพระทัยว่าหลวงประดิษฐ์ ฯ (มีแขก) แต่งเห็นจะเข้าพระทัยผิด เพราะลักษณะที่ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเก่าก่อนสมัยหลวงประดิษฐ์ฯ (มี) ซึ่งเป็นแต่ครูปี่พาทย์ของพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อรัชกาลที่ ๓ กล่าวกันว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เอามาให้มิสเตอร์เฮวุดเซนทำเพลงแตรนั้น เดิมเป็นเพลง ๒ ชั้นสำหรับมโหรี และยังเล่ากันพิสดารต่อไปว่าเจ้าจอมมโหรีคน ๑ ในรัชกาลที่ ๒ ฝันว่ามีผู้มาบอกเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงโปรดให้ซ้อมรักษาไว้ในมโหรีหลวง แต่มีผู้คัดค้าน จะเป็นใครหม่อมฉันก็จำไม่ได้ ว่าเพลงที่เจ้าจอมฝันนั้นเป็นเพลงอื่น มิใช่เพลงสรรเสริญพระบารมี

ในเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีฟังได้แต่ว่าเป็นเพลงมีมาแต่โบราณ เชิดชูกันด้วยชื่อเป็นนิมิตเฉลิมพระเกียรติ จึงเอามาใช้ให้เป็นเพลงชาติอย่างเดียวกันกับที่ทูลกระหม่อมชายเอาเพลงมหาชัยมาแต่งเป็นเพลงของทหาร

๓) ที่พบจารึกแผ่นทองของพระมหาเถรจุฬามณี ณ เมืองสุโขทัย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ก็ได้บอกมาให้หม่อมฉันทราบ และส่งรูปฉายตัวอักษรจารึกมาให้ดูด้วย เล่าเรื่องมาว่ามีผู้ร้ายลักขุดฐานพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย แต่ขุดยังไม่ทันถึงกรุที่บรรจุของ พระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติเจ้าคณะสงฆ์เห็นว่าถ้าทิ้งไว้ผู้ร้ายคงจะพยายามขุดเอาของที่ในกรุนั้นจนได้ จึงขออนุญาตขุดตรวจเสียเองอย่าให้ของสูญเสีย เมื่อได้รับอนุญาตจึงขุดพบพระพิมพ์และของพุทธบูชาต่างๆ กับทั้งลานทองที่จารึกนั้น พิจารณาดูตัวอักษรที่จารึกนั้นก็เก่าถึงสมัยพระธรรมราชาพระยาลิไทย ตรงกับศักราชที่ลงไว้ในนั้น อันร่วมสมัยพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา และยุติต้องกับประวัติของพระมหาเถรองค์นั้นอันมีอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยแผ่นที่ ๒ ซึ่งศาสตราจารย์เซเดส์ได้พยายามอ่านและเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “ประชุมจารึกสยามภาคที่ ๑” ว่าพระมหาเถรองค์นั้นทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกามหาสวามีเป็นเจ้า” เป็นราชบุตรของพระเจ้ารามคำแหง ในศิลาจารึกพรรณนาเรื่องประวัติ (ที่ตัวอักษรยังเหลืออยู่พออ่านได้) ว่าเมื่อยังหนุ่มได้รบทัพจับศึกถึงเคยชนช้าง และได้เล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ แต่ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายฆราวาสวิสัย จึงออกทรงผนวชอยู่จนเป็นพระมหาเถร เที่ยวทำการบุรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุและที่อื่นๆ ที่ได้จารึกแผ่นทอง ทำให้ความรู้แน่นอนขึ้น จึงนับว่าดีมาก

หม่อมฉันเลยนึกต่อไปถึงศักราชต่างๆ ที่ใช้ในจารึกและกฎหมายในเมืองไทยแต่โบราณ ดูใช้ปะปนกันทั้ง พุทธศก มหาศักราช และจุลศักราช มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์อันใด คิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นเพราะประเพณีของไทยแต่เดิมใช้ประดิทินพฤหัสบดี ซึ่งนับ ๖๐ ปีเป็นรอบใหญ่ และแบ่งเป็น ๕ รอบน้อย เรียกแต่ชื่อปีกับศกประกอบกันไม่ใช้ศักราช เมื่อต้องใช้ศักราชจึงเอาศักราชที่ใช้กันในประเทศที่ใกล้เคียงมาใช้ เอามหาศักราชมาแต่เมืองเขมร เอาจุลศักราชมาแต่เมืองพุกาม เอาพุทธศักราชมาแต่เมืองลังกา จะลงศักราชใดก็ได้ตามสมัครของผู้แต่งเมื่อเวลาเขียน แต่คงถือประดิทินปีกับศกเป็นสำคัญ จะเป็นดังนี้ดอกกระมัง

๔) ความคิดที่จะทำไร่พันธุ์ไม้วีตสำหรับทำขนมปังกับที่จะเลี้ยงฝูงวัวสำหรับทำนมเนยในเมืองไทยนั้น หม่อมฉันนึกไม่ออกว่าจะทูลสนองอย่างไรให้น่าฟังได้ เพราะฉะนั้นจะทูลวินิจฉัยเรื่องนมวัวแทน ใช้คำตามอย่างสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ขึ้นต้นว่า-เออ ไทยเรานี้ชอบกินน้ำนมวัวมาแต่ไรหนอ ข้อนี้ถ้าว่าตามประเพณีบ้านเมืองแม้จนทุกวันนี้ถึงราษฎรรู้ว่าน้ำนมวัวนมควายอาจจะกินเป็นอาหารได้ก็ไม่ชอบกิน มีลูกยามเป็นทารกให้กินแต่น้ำนมคนจนเติบขึ้นก็เปลี่ยนเป็นให้กินกล้วยและข้าวสุกบด คงมีคนเคยลองให้กินน้ำนมควายดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ทำให้ท้องเสียจึงมีบทเห่ปรากฏอยู่ว่า-

กินข้าวเหนียวนึ่ง น้ำผึ้งกับนมควาย
กินเสียให้ตาย เสียดายนวลเจ้าแม่อา

ดังนี้ แสดงว่าเห็นนมควายเป็นของแสลง ตรวจต่อไปถึงหนังสือเก่า เช่นบทละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ เมื่อพรรณนาถึงกับข้าวของกินเวลาเลี้ยงกันเป็นงานใหญ่ หรือแม้ในบทเห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพรรณนาถึงกับข้าวของกิน ก็หาว่าถึงน้ำนมไม่ มีเรียกน้ำนมแต่ในคำพูดกันเช่นว่า “ขนมนมเนย” ก็พอคิดเห็นเหตุไว้ว่า เพราะคงมีพวกแขก พวกพราหมณ์ ชาวต่างประเทศที่ชอบกินนมเนยมาอยู่เมืองไทยแต่โบราณ จึงเอาคำว่า “นมเนย” มาพ่วงสัมผัสขนมในคำพูด ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่าเป็นของน่ากิน กลับใช้หมายความตรงกันข้าม เช่นติอาหารว่า “เหม็นนมเหม็นเนย” แสดงว่าเป็นของไม่น่ากิน

แต่ประหลาดอยู่ที่ปรากฏว่า พระเจ้าอยู่หัวในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ มาโปรดเสวยนมวัว หลักฐานมีอยู่ในบทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรัพย์ ผู้เป็นทวดของชายดิศ) แต่งในรัชกาลที่ ๓ ว่า “ท้าวประดู่สุริวงศ์ทรงกะตัก” เป็นแขกเลี้ยงวัวหลวง ตั้งคอกอยู่ที่หัวป้อมเผด็จดัษกร พึงเห็นได้ว่าวัวหลวงนั้นเลี้ยงไว้แต่สำหรับรีดน้ำนมส่งหลวง มิใช่ใช้ขับขี่หรือฆ่าเอาเนื้อกินเป็นแน่ ความจึงหมายว่าน้ำนมวัวหลวงนั้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสวย จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ที่ว่ามานี้มิใช่เป็นแต่อ้างโดยโวหาร เป็นความจริงด้วยประเพณี มีสืบมาจนรัชกาลที่ ๕ ตัวเราเองได้ทันเห็นและได้เคยกินน้ำนมวัวหลวงที่ว่ามา เวลาเช้าๆ มีเจ้าพนักงาน เป็นแขกโกนศีรษะใส่หมวกอย่างพระยาจุฬาฯ แต่นุ่งผ้าใส่เสื้ออย่างไทย เอาขวดนมวัวเข้าไปส่งที่ประตูสนามราชกิจทุกวัน ใช่แต่เท่านั้น เวลาก่อนพระบิณฑบาตเวรมีน้ำนมวัวโถ ๑ ไปตั้งสำหรับให้พระราชาคณะฉันที่ท้องฉนวนเสมอ หม่อมฉันเคยเห็นเมื่อบวชเป็นสามเณร ท่านทรงผนวชในปีต่อมาจะยังทรงจำได้ดอกกระมัง คิดไม่เห็นแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะเสวยน้ำนมวัวด้วยประการอย่างใด แต่ “ข้าวแฝ่” ก็ชอบกินกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้วเห็นจะเสวยน้ำนมวัวเจือกับข้าวแฝ่ คงไม่เสวยดื่มโดยลำพังน้ำนมหรือเอาไปผสมทำขนมของเสวย ถึงรัชกาลที่ ๔ ใช้ขนบธรรมเนียมอย่างฝรั่งมากขึ้น พวกแขกฝรั่งก็เข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น ความปรารถนาหาซื้อน้ำนมวัวมากขึ้น คนเลี้ยงวัวสำหรับรีดน้ำนมขายก็มีมากขึ้นเป็นลำดับมา เมื่อหม่อมฉันเป็นหนุ่ม ในสมัยเมื่ออยู่โรงทหารมหาดเล็กก็กินน้ำนมวัวเพียงเจือกับกาแฟบ้างเล็กน้อย ยังออก “เหม็นนม” ไม่ชอบดื่มแต่โดยลำพังน้ำนมวัว แต่รู้สึกกันมาแต่ในสมัยนั้นแล้ว ว่าหานมวัวดีกินยากเพราะผู้รีดนมขายมักเอาน้ำและดินสอพองเจือ นอกจากนั้นยังต้องระวังบูดเพราะเป็นเมืองร้อนน้ำนมบูดเร็วกินลงท้อง ยังมิใคร่มีใครชอบกินน้ำนมวัว มาจนมีนมกลักเข้ามาขายในท้องตลาด เพราะกินนมกลักได้หลายเล่ห์และหาง่าย ไทยจึงเริ่มชอบกินน้ำนมวัวแต่นั้นมา ถึงกระนั้นถ้าว่าตามจำนวนพลเมืองทั้งไทยและจีนแม้ในเวลานี้ก็เห็นจะยังไม่ชอบกินนมเนยอยู่สัก ๙๕ เปอเซ็นต์

หม่อมฉันจะเลยเล่าถวายต่อไปถึงนมเนยในยุโรป ซึ่งหม่อมฉันได้เคยรู้เห็นครั้งไปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ประเทศที่เป็นแหล่งนมเนยถึงจำหน่ายเป็นสินค้าสำคัญของบ้านเมือง มี ๓ ประเทศ คือฮอแลนด์ เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ เวลาผ่านไปในประเทศฮอแลนด์ดูในท้องทุ่งเห็นวัวปล่อยระกะไปทุกแห่ง ล้วนเป็นวัวผ่านสีดำกับขาวทั้งนั้นสีอื่นหามีไม่ ในประเทศเดนมาร์กตามท้องทุ่งก็มีวัวปล่อยระกะไปเช่นเดียวกัน แต่เป็นวัวสีแดงสีเดียวสีอื่นไม่มี หม่อมฉันไปพักอยู่ที่บ้านพระยาชลยุทธฯ แกพาไปดูโรงนาของแก ไต่ถามจึงได้ความรู้ว่า วัวที่ปล่อยอยู่ในท้องทุ่งเป็นวัวตัวเมียสำหรับรีดนมทั้งนั้น ถ้าวัวตกลูกเป็นตัวผู้เลี้ยงไว้เพียงอายุ ๑๗ เดือนเลือกเอาไว้แต่พอจะเป็นพ่อวัวประสมทำพันธุ์หรือตอนไว้ใช้ลากล้อเกวียนเพียงเท่าที่ต้องการ นอกจากนั้นฆ่าวัวตัวผู้เอาเนื้อหนังขายหมด วัวพันธุ์ผ่านนั้นเขาทดลองกับท้องที่ได้ผลเหมาะแก่ประเทศฮอแลนด์ แต่เอาไปเลี้ยงในเดนมาร์กให้ผลสู้พันธุ์สีแดงไม่ได้ ๒ ประเทศจึงเลี้ยงต่างพันธุ์กัน แต่เลี้ยงประเทศละพันธุ์เดียวไม่ให้พันธุ์อื่นปะปน ลักษณะที่เลี้ยงวัวนั้นก็ไม่ใช่แต่เพียงปล่อยให้มันเที่ยวหากินตามท้องทุ่ง ในท้องทุ่งต้องปลูกหญ้าพันธุ์ที่เหมาะกับจะบำรุงให้มีน้ำนมมาก และยังต้องหาอาหารอย่างอื่นจากต่างประเทศไปให้กินเพื่อบำรุงน้ำนมด้วย เมื่อถึงหน้าหนาวก็ต้อนเอาเข้าเลี้ยงประคบผงมที่ในโรงให้ “กินอิ่มนอนหลับ” หาไม่น้ำนมก็ไม่มีมาก และไม่มีรส สังเกตดูวัวนมแต่ละตัวเต้านมมันโตสักเท่าบาตร เขารีดนมให้ลองชิมก็เห็นค่นและรสอร่อยไม่มีคาวเหมือนน้ำนมที่ขายกันในเมืองไทย และเขาได้เปรียบอีกอย่าง ๑ ด้วยอากาศเย็นน้ำนมไม่บูดอยู่นานกว่าเมืองไทย การส่งน้ำนมไปขายหรือเอาไปทำเนยจึงสะดวก ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีทุ่งน้อย เขาใช้ต้อนวัวขึ้นไปเลี้ยงบนภูเขาสูงในฤดูแล้ง หม่อมฉันไปไม่ได้เห็นวัวฝูง แต่ได้ไปที่เมืองกูแยร์อันขึ้นชื่อลือเลื่องในการทำเนย ถึงมีโฮเต็ลสำหรับให้คนกินเนยที่เมืองนั้น หม่อมฉันก็ได้ไป รวมความโดยย่อว่าการเลี้ยงวัวนมมิใช่ง่ายอย่างมักเข้าใจกัน แต่ถ้าไม่สืบถามก็ไม่รู้ จึงเห็นกันว่าง่าย

๕) นกที่อาจจะหัดให้พูดผิดกับสำเนียงธรรมดาของมันนั้นดูเป็น ๒ ประเภท ประเภท ๑ อาจจะเปล่งเสียงได้ทั้งสระและพยัญชนะ ประเภทนี้จึงพูดภาษาคนได้ หม่อมฉันเคยเห็นนกเอี้ยง นกขุนทอง กับนกกะตั้ว นกฮูกเป็นแต่เคยได้ยินเขาบอก แต่นกกิ้งโครงนั้นเพิ่งรู้เมื่อเห็นในลายพระหัตถ์ว่ามันอาจจะพูดภาษาคนได้ อีกประเภท ๑ นั้นเห็นจะเปล่งเสียงได้แต่สระจึงได้เพียงร้องเลียนเสียง เช่นนกคีรีบูนอาจจะหัดให้ร้องเป็นอย่างนกสีชมพู ๆ ก็อาจจะหัดให้ร้องเป็นนกคีรีบูนได้ มีนกฝรั่งอย่าง ๑ เรียกว่า Bullfinek ตัวขนาดสักเท่านกกิ้งเขน เขาหัดให้ร้องเลียนเพลงดนตรีได้ พระยามนตรีฯ (ชื่น) เคยเอาเข้ามาจากยุโรปครั้ง ๑ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จยุโรปครั้งหลังก็ได้มาอีกครั้ง ๑ เล่ากันว่าเมื่อหัดนั้นเอามันไว้ใต้อุโมงค์ไม่ให้ได้ยินอะไรหมด เป็นแต่เป่าแตรให้ฟังมันก็จำได้แต่เสียงแตร

๖) ที่หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์เลิกรูปภาพนั้น หม่อมฉันก็สังเกตเห็น นึกเสียดายด้วยทำรูปภาพงามดีกว่าหนังสือพิมพ์อื่นหมด ทั้งในเมืองไทยและทางเมืองมลายูนี้ ก็คงเป็นด้วยต้องตัดการสิ้นเปลืองในสมัยสงครามนั่นเอง ถึงหนังสือพิมพ์ในยุโรปเดี๋ยวนี้ก็ต้องลดหน้ากระดาษทั้งนั้น

๗) พระยานรเนติบัญชากิจนั้นชื่อลัด เขาพี่น้อง ๒ คน พี่ชื่อลัด น้องชื่อเลิศ (คือพระยาภักดีนรเสรฐ) เมื่อเสร็จการเล่าเรียนแล้วผู้ปกครองให้นายลัดทำราชการ ให้นายเลิศทำการค้าขาย นายลัดเข้าเป็นเสมียนอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยักมินส์) เข้ามารับราชการ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ทรงเลือกนายลัดให้ไปเป็นล่ามอยู่ประจำตัวเจ้าพระยาอภัยราชา ได้เริ่มเรียนความรู้ราชการและเนติศาสตร์ในสำนักเจ้าพระยาอภัยราชาก่อน แต่แรกได้เป็นที่ขุนลิปิกรณ์โกศล เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชากลับไปแล้ว จึงย้ายไปรับราชการในกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นที่หลวงนรเนติบัญชากิจแล้วเลื่อนขึ้นโดยลำดับจนเป็นพระยาในนามนั้น

ถวายอธิบายช้างค้ำ

“ว่าด้วยลักษณะขี่ช้างค้ำกลางแปลง”

กลที่จะขี่ช้างค้ำกลางแปลงนั้น เมื่อยังมิได้เปิดโขลงออกมาจากขาทรายนั้น ให้ผู้ขี่ช้างค้ำเอาช้างค้ำออกมาตะพัด ณ ที่กลางแปลงนั้น ให้ใช้ขาใช้ที่นั่งให้ไปซ้ายไปขวาจงหลายรอบให้ได้สำเหนียกกันไว้ ถ้ายังกระด้างกระเดื่องก็ให้ฉะให้ภายไปซ้ายไปขวาจงคล่อง แลให้ควาญนั้นขับให้วิ่งให้รานท้ายจงหนัก ให้ช้างนั้นขยาด ครั้นว่าเปิดโขลงออกมาจะเข้าค้ำนั้นจะเข้าไปซ้ายไปขวาจึงจะคล่องวิ่งก็จะมีฝีเท้าขึ้น ครั้นว่าเหนื่อยแล้วจึงถอยออกมายืนอยู่ด้วยช้างยืนค่าย ครั้นเปิดโขลงออกมาขาทรายถึงที่กลางแปลง ช้างค่ายปิดค่ายดีแล้ว ถ้าแลช้างเถื่อน ๒ ช้าง ๓ ช้างก็ดี ถ้าเห็นช้างเถื่อนให้ผู้ขี่ค้ำนั้นพิเคราะห์ดู ตัวใดมีกิริยาว่องไวหยาบคายกว่ากัน ก็ให้มุ่งหมายเอาตัวนั้นก่อน แล้วจึงถวายบังคม แล้วเคลื่อนออกไปจากที่ ถ้าโขลงนั้นแยกย้ายกันอยู่ อย่าเพ่อให้ช้างเชือกเข้าไปก่อน แต่ช้างค้ำนั้นเข้าไปกวาดโขลงเข้าให้กลมก่อน ถ้าช้างโขลงตัวใดมิเข้ากลมมุ่นกันอยู่ในเรือนโขลง มักเตร่ตร่ายเราะค่ายนัก ก็ให้ช้างค้ำทิ่มแทงขวิดค้อนทำให้เจ็บให้มุ่นเข้าในเรือนโขลงจงได้ ครั้นว่ากวาดโขลงเข้ากลมกันดีแล้ว จึงให้ช้างเชือกเข้าไปคล้อง แลให้เข้าคล้องข้างขวาช้างค้ำ อย่าให้ผู้คล้องขับช้างเชือกขึ้นไปให้เกินช้างค้ำ ถ้าช้างเถื่อนกลับมาชนช้างค้ำจะช่วยมิทันที แลให้ผู้ขี่ช้างค้ำมุ่งหมายเอาช้างเถื่อนที่มีกิริยาว่องไวนั้นให้ช้างเชือกคล้องจงได้ก่อน ถ้าช้างโขลงช้างเถื่อนจะตระหลบไปซ้ายก็ดี ขวาก็ดี ให้เอาช้างเชือกไว้ขวาช้างค้ำจงได้ ครั้นจะให้ช้างเชือกอยู่ซ้ายช้างค้ำนั้น ถ้าได้ทีจะคล้องมิสนัด เพราะช้างค้ำจะกีดลำเชือกอยู่ จึงห้ามมิให้ช้างเชือกอยู่ซ้ายช้างค้ำ ด้วยเหตุฉะนี้แล ผู้ขี่ช้างเชือกจะคล้องนั้นคล้องให้ถูกเท้าซ้ายก่อน ถ้าคล้องถูกเท้าขวาก่อนจะตรัสจำให้ถูกเท้าซ้ายนั้นขัดสน เพราะลำเชือกจะเข้าขวางอยู่ จึงให้คล้องเท้าซ้ายก่อน ถ้าช้างเถื่อนมุ่งหมายช้างค้ำอยู่ ก็ให้ผู้ขี่ช้างค้ำรักษาไว้อย่าให้เสียที ถ้าช้างเถื่อนกลับมาชนก็วางไปให้ได้ที่ วางให้ตลบ แต่อย่าให้ทับท้ายไปได้ ถ้าทับท้ายไปช้างเถื่อนกลับชนจะเสียที ถ้าช้างเถื่อน ๒ ช้าง ๓ ช้างมุ่งหมายช้างค้ำอยู่ทั้ง ๒ ช้าง ๓ ช้าง ยืนเคียงกันอยู่แต่ว่ามิได้มาชน ก็ให้ผู้ขี่ช้างค้ำแก้ไขเบี่ยงเลี่ยงเข้าหาช้างเถื่อนที่กิริยาอ่อนกว่ากัน ถ้าได้ทีก็ให้วางไป และช้างเถื่อนที่กิริยาอ่อนนั้นก็จะซวดเซไปทับกันก็ตลบไปแล กลขี่ช้างกลางแปลงกล่าวไว้ดังนี้

ว่าด้วยลักษณะขี่ช้างน้ำมันค้ำในวงพาด

กลจะขี่ช้างน้ำมันในวงพาดนั้น ช้างเถื่อนก็มีน้ำมันหน้าหลัง ช้างค้ำก็มีน้ำมันหน้าหลัง แต่ว่าให้ช้างเถื่อนนั้นเล็กกว่าช้างค้ำคืบหนึ่งศอกหนึ่ง และให้ผู้ขี่ช้างค้ำนั้นนุ่งผ้าสามชั้นเป็นนพ ใส่เสื้อตราระกำถือขอคร่ำ หน่วงพานเสี้ยนแหลมก็ห้ามมิให้ติด จะสอดชะนักก็ให้สอดโกลน ให้ผูกแต่เปล และให้ผู้ขี่นั้นให้พึงรู้ว่าช้างค้ำนั้นจะรักลึกหรือตื้นหรือหนักหรือเบา ถ้าและรู้ตัวจะผูกเครื่องตัว และชะนักทำสิ่งใดนั้นให้ทำตามน้ำใจช้าง ถ้าทำผิดน้ำใจช้าง ๆ จะป่วนกำเริบไปจะเสียทีช้างเถื่อน และให้เอาช้างออกมายืนอยู่ในซองช้างหนึ่ง แล้วลงลูกประจันลั่นกลอนไว้ให้มั่นคง ให้ช้างค้ำเห็นตัวช้างเถื่อนช้างโขลงก่อน จะได้มีกิริยามุ่งหมาย ครั้นระบายโขลงออกไปได้แล้วช้างเถื่อนจะตามโขลงออกไปก็ดี ถ้ามิตามออกไปจะกันโขลงไว้ก็ดี ให้นายท้ายช้างผัดพานช้างเถื่อนให้ไล่ไป ช้างซองต้นลอยแล้วจึงเปิดโขลงออกไปอีกเล่า ถ้าและช้างเถื่อนระวังต้นสัดอยู่มิไล่คนพานไป ก็ให้เปิดซองให้ช้างค้ำออกมา ถ้าช้างเถื่อนเห็นตัวช้างค้ำก็มุ่งหมายจะมาชน ช้างค้ำก็มุ่งหมายช้างเถื่อนอยู่ ก็ให้ผู้ขี่รักษาไว้อย่าให้ไปก่อนจะเสียที ให้รักษาไว้ตั้งรับให้ได้ที่ ถ้ามิได้ที่จะถลำถลากก็จะสารเข้าช้างค้ำก็จะเป็นอันตราย หมอควาญก็จะตาย เพราะว่าหาผู้ใดจะช่วยมิได้ อันว่าขี่ช้างน้ำมันค้ำในวงพาดนี้ ความตายส่อตัวทั้งหมอทั้งควาญแลช้างค้ำสามชีวิต เป็นชีวิตหนึ่งแต่เท่านั้น ถ้าช้างเถื่อนมาชนช้างค้ำ ๆ รับได้ช้างเถื่อนตลบไปก็รักษาไว้อย่าให้ช้างค้ำทับท้ายไป ถ้าทับท้ายไปช้างก็จะเสียทีคนก็จะเหนื่อย ถ้าช้างเถื่อนตั้งหน้ามุ่งหมายช้างค้ำอยู่ก็ดี มาชนช้างค้ำอยู่ก็ดี ให้เร่งระบายโขลงออกไป เอาแต่ต้นสัดปลายสัดไว้แต่ช้างหนึ่งสองช้าง ช้างเถื่อนจึงจะประคองต้นสัดปลายสัดอยู่ จึงจะไม่สู้มาชนช้างค้ำนัก ถ้าช้าวเถื่อนไม่ประคองต้นสัดปลายสัดตั้งใจชนไปทีเดียว ก็ให้ผู้ขี่นั้นช่วยช้างค้ำ ให้เอาปลายงอนขอกระทุ้งให้ถูกที่ท่าบันไดแก้ว ปลายงอนขอถูกที่ท่าบังเหิน ถ้าช้างเถื่อนมาชนครั้งใด ให้ผู้ขี่ช้างค้ำทำดังนั้นจงทุกครั้ง ถ้าช้างเถื่อนตั้งใจชนปล้ำปลุกไปทีเดียว ผู้ขี่ก็เหนื่อยช้างค้ำก็เหนื่อย จะรักษามิให้เสียทีนั้นกำลังก็สิ้นแล้ว จงให้อาศัย จลุงเบ็ญพาดนั้นเถิด ถ้าช้างค้ำจะเสียทีช้างเถื่อนเป็นประการใด ก็ให้หลบหลีกอยู่แต่ในช้างค้ำรักษาเอาตัวรอดเถิด จึงห้ามมิให้ติดหน่วยติดพาน สอดชะนักก็มิให้ตลอดซ่นนั้นด้วยเหตุฉะนี้ ถ้าช้างเถื่อนมาชนแล้วตลบไปก็ให้เบี่ยงเลี่ยงตั้งหน้าไว้ ถอยหลังเข้ามาอยู่ในซองแล้วลงลูกประจันลั่นกลอนไว้ แล้วให้กรมพระนครบาลตักน้ำรดสาดให้ช้างค้ำ แล้วเอาซ่มแท่งลิ้นอ้อยหญ้าให้กิน ถ้าช้างเถื่อนนั้นยืนอยู่ก็ให้ผัดพานให้ไล่ แล้วให้จุดประทัดยิงปืนตีตะขาบม้าฬ่อโห่เร้า โบกธง อย่าให้หยุดยืนอยู่ให้หายเหนื่อยได้ ครั้นคนแลช้างค้ำหายเหนื่อยแล้ว จึงให้เปิดซองออกมาเล่า ถ้าช้างเถื่อนจะมาชนก็จะเบาเพราะว่าเหนื่อยกำลังก็น้อยลง ให้รักษาไว้ให้ได้ท่วงที ถึงจะมาชนสองครั้งสามครั้งก็เบาลงทุกครั้ง แล้วก็จะระอาขยาดกิริยาก็จะอ่อนลง ถ้าแลกิริยาอ่อนแล้วมิได้มาชน ก็ให้เคลื่อนเข้าไปดูกิริยาจะมาชนหรือไม่ ถ้าไม่มาแล้วก็ให้ช้างเชือกเข้ามาคล้อง ให้ทำดุจค้ำดุจคล้องกลางแปลงซึ่งกล่าวไว้นั้นเถิด กลขี่ช้างน้ำมันค้ำในวงพาดนี้ให้ครูช้างขุนช้างปลัดช้างคะเนพิเคราะห์ดูเห็นว่าช้างตัวใดจะเอาเข้าค้ำได้จึงจัดเอาเข้าค้ำ แล้วให้คะเนพิเคราะห์ดูฝีมือคนผู้จะขี่ช้างเข้าค้ำนั้น พอควรกันจึงให้ขี่ ถ้าเห็นควรกันพอขี่ได้แล้วก็กราบทูลพระกรุณาก่อน เพราะความตายนั้นส่อตัว กลจะขี่ช้างน้ำมันค้ำในวงพาดกล่าวไว้ดังนี้แล”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ