วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๘ กรกฎาคม

สนองลายพระหัตถ์

๑) ก่อฤกษ์กับวางศิลาฤกษ์นั้น ได้ตริตรองแล้ว เห็นเป็นอันเดียวกัน คือตั้งใจจะประเดิมก่อรากสิ่งที่จะสร้างขึ้น ที่ก่อขึ้นมาจนสูงเสียก่อนแล้วจึ่งก่อฤกษ์ หรือวางศิลาฤกษ์ เพราะลัดเอาความสะดวกที่จะไม่ให้ต้องลงไปก่อที่ก้นคลองราก การวางศิลาฤกษ์นั้นเราไปจำเอาวิธีของฝรั่งมาทำด้วยความแช่มชื่น นึกได้ว่าครั้งแรกเป็นวังบูรพา แต่ที่จริงฝรั่งเขาก่อตึกด้วยหิน เขาจึ่งวางหินเป็นฤกษ์ เราก่อตึกด้วยอิฐ จึงวางอิฐเป็นฤกษ์นั้นถูกแล้ว ที่อิฐปิดทองปิดเงินปิดนากนั้นก็เพื่อจะให้ดีมีไม่กี่แผ่น ใช้อิฐเปล่าเป็นบริวารมาก การวางศิลาฤกษ์นั้นก็มีก่อฤกษ์ไปพร้อมกันด้วย เห็นได้ว่าท่านแต่ก่อนท่านรู้สึกว่าเป็นการอย่างเดียวกัน

ความหมายการกระทำในเรื่องก่อฤกษ์ก็นึกไปต่างๆ กัน อย่างที่มีอักขระเลขยันต์นั้นต้องการจะกันภัย อย่างที่เรียกว่าก่อฤกษ์นั้น หมายความว่าทำในวันดีคืนดี โดยตั้งใจจะให้อยู่เย็นเป็นสุข ที่ฝรั่งฝังหนังสือกับเงินไว้ที่ศิลาก็ตั้งใจจะให้คนภายหน้าเมื่อล่วงห้าพันพระวรรษาไปแล้ว รู้ว่าเป็นตึกอะไรสร้างครั้งไหน แม้ที่อเมริกันก่อตรุเอาอะไรต่ออะไรเข้าบรรจุก็เป็นความคิดทางเดียวกัน หากพิสดารขึ้นเท่านั้น การบรรจุอะไรต่ออะไรนั้นเกล้ากระหม่อมกลัว กลัวจะอยู่ไปไม่ได้ถึงห้าพันพระวรรษาเพราะอากาศเมืองเราชื้น คิดว่าผิดกันกับเมืองฝรั่งมาก สิ่งซึ่งฝรั่งเขาทำเข้ามา เขาว่าดีก็เคยมีผิดในเมืองเรา เช่นแผ่นซันลูลอยเคยเอาใช้ทำพัดรองในงานพระศพสมเด็จพระปิตุจฉา ช่างซึ่งทำเขาทำขอบเป็นทองเหลือง ลงหมุดแล้วแผ่นซันลูลอยก็หดฉีกจากหมุดขาดออกมาห้อยร่อยแร่งดูน่าเกลียดพิลึก แม้ที่วางศิลาฤกษ์อย่างฝรั่งในเมืองเราก็ดี ย่อมมีความเจตนาไปต่างๆ กัน ที่จะให้สิ่งซึ่งบรรจุยืนยงไปห้าพันพระวรรษาอย่างความคิดของฝรั่งก็มี ที่เห็นไม่เป็นประโยชน์เอาแท่งศิลาซึ่งก่อเข้าเป็นเครื่องประดับตึกเสียก็มี เช่นที่วังไกลกังวลเอาเป็นพนักพระแกลเสียเป็นต้น กับที่ไม่เกี่ยวกับตึกเลยก็มี นั่นเขาเหยียดไปเป็นพวกฝังอาถรรพ์

การก่อฤกษ์กลัวจะมีขึ้นไม่สู้นานนัก เพราะอ่านหนังสืออะไรก็ไม่พบที่กล่าวถึงเลย

อยากจะกราบทูลถาม ว่าพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทนั้นอยู่ที่ไหน

๒) ได้เคยเห็นธงอย่างประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่ของไทยแต่ใกล้กันคือ ธงกระบี่ธุชครุฑพ่าห์ซึ่งฉลักไว้ที่ระเบียงนครวัด เป็นรูปดุจทิวแต่ปลายเรียว ข้างต้นใส่ไว้กับคัน แต่ข้างปลายปล่อยให้ปลิวไปตามลม ไม่ได้เห็นธงชนิดนั้นจริงๆ ในเมืองเขมร แต่ได้ไปเห็นธงชนิดนั้นจริงๆ ในเมืองชวา เว้นแต่ปลายไม่ปลิว ทับอยู่กับคัน คงเป็นด้วยไม่มีลม คงเป็นธงแบบเก่ามาก ธงประฎากนั้นดูพจนานุกรมแปลให้ไว้ว่าธงแผ่นผ้า ดูคำปฏัก พจนานุกรมแปลให้ไว้ว่าผืนผ้า เข้ารูปกับธงประฎาก แต่ไม่เข้ารูปกับเหล็กแหลมแทงงัว ทราบทางเขมรและมลายูเขาเรียกเหล็กแหลมแทงงัวว่า “กะตัก” เหมือนที่เราพูด เกรงว่าเขียนประฏัก จะเป็นหลง

๓) การบรรจุพระบรมธาตุในพระเจดีย์ แต่ก่อนนี้ฝังต่ำ เดี๋ยวนี้ฝังสูงถูกตามพระดำรัสนั้นแล้ว ส่วนพระดำริที่ว่าฝังสูงเพราะคนถือพระพุทธศาสนากันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว ลางทีจะถูก ตามที่มีคนคิดเช่นนั้น แต่ไม่ถูกตามความเป็นจริง คนถือพระพุทธศาสนาขโมยขุดพระเจดีย์ที่จับได้ก็มีบ่อยๆ ที่จับไม่ได้ก็มี เห็นว่าไม่ว่าอะไรจะต้องทำเหมือนๆ กันเป็นคราวๆ มีอายุทั้งนั้น ครั้งไหนทำกันอย่างไรก็ทำกันอย่างนั้น อาจลงศักราชได้ ที่จะฝังต่ำฝังกลางฝังสูงอย่างไรก็ทำตามๆ กันไปเป็นแฟแช่น หาได้มีใครคิดว่าควรทำอย่างไรไม่ มีคิดแต่ลางคนเป็นลางคราว

๔) หนังสือซึ่งจะตีพิมพ์แจกในงานศพแม่หวนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าชายดิศเธอนอนใจ เธอได้ไปขอต้นฉบับหอสมุดแล้ว ได้มาเธอก็ไม่ชอบใจ เกล้ากระหม่อมไปขอมาให้เธอ เธอก็ไม่ชอบใจอีก เพราะใจต่างกัน เกล้ากระหม่อมได้พูดกับหญิงอาม ว่าในเรื่องนี้ควรที่ชายดิศจะได้รับพระกรุณาแต่ฝ่าพระบาท แต่ฝ่าพระบาทก็เห็นจะสุดวิสัยที่จะทรงพระกรุณาได้ ที่พูดอย่างนั้นก็เพราะไม่ได้ทราบว่าทรงพระนิพนธ์ไว้มีอยู่แล้ว จะทรงแต้มหัวตะประทานนั้นเป็นการดีอย่างยิ่ง

๕) กระดาษซับกลิ้งๆ ดูเหมือนจะได้เคยเห็นมาแล้ว แต่บอกรูปไม่ถูกเพราะจำไม่ได้ จะอย่างไรก็ดี เกล้ากระหม่อมไม่สู้ได้เขียนตัวหมึกนอกจากเซ็นชื่อซึ่งจำต้องใช้กระดาษซับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องส่งฝากเข้าไปประทานก็ได้ ลำบากเปล่าๆ แต่ใจนั้นจะขาดรำลึกถึงพระเดชพระคุณไปเสียไม่ได้

๖) ตามพระดำรัสเล่าเรื่อง “เมขลา” ในหนังที่ปีนังนั้น ทำให้นึกอะไรไปเป็นหลายอย่าง นึกถึงเรื่องทำหนังสือก็อย่างหนึ่ง ว่าทำเรื่องเก่าดีหรือใหม่ดี ก็เห็นด้วยเขาว่าทำเรื่อง “กุละ” ขึ้นใหม่ดี ที่ว่าใหม่ดีก็เพราะคนใหม่ไม่รู้เรื่องเก่า ถึงจะมีคนรู้อยู่บ้างก็เก่าคร่ำคร่าพ้นสมัยแล้ว ข้อพระดำรัสที่ว่ามี “เอ่อ” นั้นก็ทำเนา เพราะเขามีเครื่องส่งเสียง ไปดูที่หาดใหญ่ยิ่งโรคร้ายไปกว่าเสียอีก เพราะเขาเอาหนังร้องไปฉายเป็นหนังเงียบ ด้วยไม่มีเครื่องส่งเสียง เวลาร้องก็เห็นเปล่าๆ อยู่นานๆ อีกอย่างหนึ่ง ยิ่งโรคร้ายหนักขึ้นไปกว่าเสียอีก ด้วยได้ยินผู้รู้เขาว่า “เมขลา” นั้นคือสายรัดเอว ที่ว่าโรคร้ายนั้นเพราะได้เขียนรูปนางเมขลาไปในเรื่องชนก ที่นั่นไม่มีกล่าวถึงการใช้แก้ว จึ่งเขียนเป็นสายโซ่เกี่ยวกับกำไล เป็นที่ล่ามไว้กับดวงแก้ว แต่ดวงแก้วนั้นอยู่ในอุ้งมือแลไม่เห็น ที่ทำดังนั้นก็เพราะไปหลงเอาคำ “เมขลาล่อแก้ว” แต่เมื่อได้ยินเขาพูดก็เปิดพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอ ดูให้คำแปลไว้ว่า “A zone, a girdle” ให้นึกเสียใจที่ไม่ได้ดูสอบเสียก่อน ในที่ซึ่งเขียนนั้นไม่ได้ใช้แก้ว ถ้าทำแต่เข็มขัดคาดไว้ก็พอ แต่ก็ไม่ต้องทำ เพราะเข็มขัดมีประจำตัวอยู่แล้ว นางเมขลาซึ่งล่อแก้วกับรามสูร จะปลดเอาเข็มขัดซึ่งหัวฝังมณีออกล่อก็ได้กระมัง แต่เมื่อคิดไปถึงคำในนครกัณฑ์ ซึ่งว่านางผุสดีจัดเครื่องแต่งตัวไปให้นางมัทรีแต่ง มีว่า “องฺคทํ มณิ เมขลํ” คำอังคทังแปลว่ากำไล ก็เบาใจว่าที่ทำไปแล้วนั้นไม่สู้จะผิดมากนัก

เพลงของเรา มีชื่อเมืองต่างประเทศนำ เพื่อให้รู้ว่ามาแต่ไหนอยู่มาก เช่น เขมร มอญ พม่า แขก จีน ญวน กระทั่งฝรั่งเป็นต้น ซึ่งพวกปี่พาทย์เขาเรียกกันว่า “ภาษา” แต่ฟังเพลงจะรู้ก็หาไม่ เพราะเรามาดัดเป็นไทยไปเสียหมดแล้ว ที่ว่าดัดนั้นไม่ได้ตั้งใจจะดัด หากแต่เป็นไปเองเพราะเราไม่จำกัดลูกอะไรที่คล้ายกันก็ใช้แทนได้ทั้งนั้น จึงฟังเป็นเพลงไทยไป มีตัวอย่างจะเล่าถวาย วันหนึ่งเดินไปทางหน้าวังกรมหมื่นปราบ ได้ยินพวกมอญซึ่งเขาเฝ้าวังเล่นเครื่องสายกันอยู่ที่ประตู ได้ยินออกจะรู้ต้องหยุดฟัง ฟังอยู่เป็นนานจึงรู้ว่าเพลงทะแย ๕ ท่อน ซึ่งเราไล่ฝีมือระนาดกันนั่นเอง แต่เพราะเขาเล่นทางมอญผิดกับที่เราเล่นกันเป็นอันมากจึงฟังรู้ได้ยาก ยังเพลงที่ร้องเรื่องนางซินเดอเรลลานั้น คนปรับเพลงเขาก็ตั้งใจเอาเพลงฝรั่งเข้าปรับกับเรื่องฝรั่งเพื่อให้เป็นฝรั่ง แต่ฟังก็ไม่เห็นเป็นฝรั่งเลย ส่วนการรำนั้น เข้าใจว่าเราเอาอย่างพม่า เพราะเห็นคล้ายกันมาก ที่ว่าพม่าเอาอย่างไทยก็เป็นความหมุนเวียน เช่นแต่ก่อนนี้อะไรๆ เราก็เอาอย่างเขมร แต่ทีหลังเขมรกลับเอาอย่างไทย การรำของพม่าเดิมทีเดียวจะเอาอย่างทางอินเดียมาก็ได้กระมัง เพราะมีหลักอันจะพึงสังเกตได้อยู่อย่างหนึ่ง คือการรำไม่มีเรื่อง ทางอินเดียเรียกว่า “นัจจะ” ทางพม่าก็มี เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ ตรงกับเราซึ่งเรียกว่า “ระบำ” แต่ระบำของเราเอาไปเข้าเรื่องเสียแล้ว คำว่าระบำก็คือรำวิ่งไปเข้าทางของเขมร คือการรำกับคนรำ หรือเป็นคำไทยก็ไม่ทราบที่แท้จริง ตกลงเหลือแต่ไม่รู้

๗) ดอกไม้ซึ่งเขาวางใส่ใบตองขายที่ชวา เกล้ากระหม่อมก็ได้เห็น แต่ไม่ได้นีกถึงคำ “บุหงารำไป” คำนั้นเห็นจะผสม “บุหงา” เห็นจะว่าดอกไม้แหลกๆ “รำไป” จะตรงกับคำว่าร่ำของเรากระมัง จะต้องสืบคำชวามลายูดูก่อน เขาจะหมายความว่าอย่างไร ทางชวามีอะไรซึมๆ อยู่มาก เป็นต้นว่าพวกผู้หญิงเขาไปตลาดไปซื้อเอาใบมะพร้าวถักมา ชาวเมืองนั้นเรียกกันว่า “กะปั๊ด” ก็ได้กันกับข้าวปัดของเรา ทั้งสืบทราบความว่าข้าวบู้หรี่ของเราเขาเรียกว่า “กะปูลี” ตกลงเราเป็น “ข้าว” แล้วเขาก็เป็น “กะ”

๘) งานของพวกทมิฬที่เขาเชิญเสด็จนั้น น่ารู้จริงๆ ว่าพิธีของเขาจะเป็นประการใด แต่การแต่งงานเป็นเวลา ๘ ทุ่ม ๒๒ นาทีถึง ๓ ยาม ๕๘ นาทีนั้นเหลือรับ ไม่สำคัญพอที่จะพยายามเสด็จไปทอดพระเนตรได้อยู่เอง แต่พิธีเจาะหูนั้นเป็นวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าระหว่างโมง ๑ กับ ๔ โมง น่าจะเสด็จไปทอดพระเนตรได้ เวลาที่มีระยะเห็นก็จะเป็นต้นฤกษ์สุดฤกษ์อย่างไทยๆ เรานี่เอง ได้ส่งใบเชิญกลับมาถวาย ด้วยเห็นว่าเก็บไว้ทางเกล้ากระหม่อมไม่ดีกว่าเก็บไว้ทางฝ่าพระบาท ได้สังเกตชื่อเจ้างานเห็นคล้ายกับที่เราล้อกันว่า “โครวิน”

พิธีของทมิฬนั้นทึ่งเหลือที่จะทึ่ง ทีแรกก็ทึ่งที่เขาว่าจะเล่นเพลง จะเป็นเพลงฝรั่งหรือเพลงทมิฬก็ไม่ทราบ มีบัญชีชื่อเพลงอยู่ในใบเชิญ แต่เป็นหนังสือทมิฬอ่านไม่ออก ถ้าเป็นเพลงทมิฬแล้วก็ดี จะได้รู้ว่าเพลงของทมิฬกับของไทยผิดกันเพียงไร เมื่อไปที่สงขลาเขาเอาแขกผู้หญิงเมืองตานีมาร้องให้ฟัง ว่าเป็นเพลงที่ร้องกล่อมลูกเจ้าเมืองมาแต่ก่อน ออกจะเป็น “เห่ช้า” ขึ้นพระอู่ ฟังก็เข้าทางไทยเป็นเพลงสั้นๆ ยังได้จำเขามาเป็นหลายเพลง ครูพระประดิษฐชอบเพลงหนึ่ง เพราะมันคล้ายกับเพลงหรุ่มของเรา ได้คัดเอาเข้าร้องละคอนดึกดำบรรพ์ ถ้าพวกทมิฬเขาเล่นเพลงฝรั่งเอาอย่าง “แจดสะแบน” แล้วก็ไม่อยากฟัง “โซ้ด” แต่ถ้าเป็นเครื่องใหญ่แล้ว ถึง “โซ้ด” ก็ฟังดี เพราะฝรั่งเขาแต่งเสียงเข้ากันดี แต่เดี๋ยวนี้หูไม่เล่นด้วยแล้ว เคยได้ฟังแตรทหารเรือเขาเล่นดี เมื่อมีการแต่งงานครั้งหนึ่ง เจ้าบ่าวเขาเป็นนายทหารเรือ เขาเอาแตรทหารเรือที่อย่างดีไปเล่น เขามาเชิญให้ไป เมื่อได้ทราบว่าเขาจะมีแตรทหารเรือก็นึกดีใจว่าจะได้ฟังของดี แต่ครั้นไปได้ฟังเข้าจริงออกจะฉุน ฟังเครื่องไม่ได้ยินทั่ว ได้ยินแต่เสียงกลางๆ ไม่เป็นเพลง

เบ็ดเตล็ด

๙) แม่โตไปซื้อเอาขนมซึ่งเรียกกันว่ากระดูกผีมาให้กิน รู้สึกซึมซาบดีด้วยได้กินในจันอับมาแต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้ต้องเลือกกินแต่ที่อันเล็กๆ อันใหญ่ๆ ไม่กล้ากิน ด้วยกลัวเพดานฟันปลอมจะแตกเป็นสองซีกเพราะขบของแข็ง

ที่ได้ชื่อว่ากระดูกผีนั้น เห็นได้ว่าหมายถึงกระดูกผีที่เผาแล้ว ไม่ใช่หมายถึงกระดูกผีดิบ คู่กับผีดิบจะต้องผูกขึ้นเรียกเล่นว่า “ผีสุก” หมายความว่าผีเผา ซึ่งไม่มีใครเขาเรียกกัน

๑๐) ได้กราบทูลมาก่อนถึงเรื่องชื่อร้านเจ๊ก พาให้กราบทูลครั้งนี้ด้วยอีกว่าร้าน “ห้อยเทียนเหลา” นั้นเปลี่ยนชื่อไปแล้ว เป็น “หยาดฟ้าภัตตาคาร” ผิดกันกับที่กราบทูลมาก่อน นั่นเป็นเรื่องเหยียดคำจีนเป็นคำไทย แต่นี่เป็นเรื่องแปลคำจีนเป็นคำไทย คำ “เหลา” กับคำ “เทียน” นั้นรู้แล้ว แต่คำ “ห้อย” ยังไม่รู้ จึงถามเจ๊กซึ่งอยู่ที่บ้าน เขาบอกว่า “ห้อย” เป็นน้ำ ก็มาเข้าคำกวีที่ว่า “น้ำฟ้า” จะหมายถึงน้ำฝนหรือน้ำค้างก็ได้ ที่เขาเปลี่ยนคำ “น้ำ” เป็น “หยาด” ดูก็เข้าที เพราะหยาดจะต้องเป็นน้ำ เป็นอื่นไม่ได้ และจะเป็นน้ำอะไรก็ได้

๑๑) ไปถวายเครื่องเข้าวรรษาที่วัดบวรนิเวศ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ท่านโจษถึงรูปครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงพระผนวช ซึ่งมีอยู่ที่ตำหนักเพชร ท่านไม่รู้จักพระเถระอยู่องค์หนึ่ง แต่เข้าใจว่าพระเทพกระวี (นิ่ม) เกล้ากระหม่อมก็อาสาจะไปดูเพราะเกล้ากระหม่อมรู้จักท่าน แต่ตกทั้งพระองค์อรุณด้วย เพราะท่านยังหนุ่ม แต่คิดว่าที่เดานั้นไม่ผิด

จะกราบทูลถึงความเปลี่ยนแปลงที่วัดนั้น กำแพงแก้วซึ่งทำไว้ข้างถนนแถวตำหนักเพชรนั้นรื้อหมดแล้ว ทั้งประตูและเศษกำแพงซึ่งแต่เดิม ลักลั่นอยู่ก็ทำใหม่ให้เป็นแนวกันดีด้วย

ไปบูชาที่โบสถ์เว้นไม่ได้ที่จะไปดูพระพุทธรูปชุด ๕ องค์ ซึ่งแยกเอาไปตั้งไว้ที่ซุ้มหน้าโบสถ์องค์หนึ่งด้วย เป็นพวกพระไพรีพินาศ เว้นแต่พระหัตถ์เป็น “อภยมุทรา” แทนที่ “วรทมุทรา” สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านเข้าใจว่าเป็นของพระราชทาน ก็ฟังได้ว่าก็จริง เป็นของพระราชทานในพระนามสมเด็จพระมงกุฎเกล้า

พิศดูพระชินศรี เห็นตามที่เห็นมานานแล้วว่าทำทีหลังพระชินราช ไม่ใช่ทำพร้อมกัน เพราะอะไรซึ่งทำเสียไว้ที่พระชินราชก็มาทำแก้มือที่พระชินศรี เหตุฉะนั้นจึ่งเป็นทำพร้อมกันไม่ได้ แต่เป็นมือเดียวกันจริง ต่างกันกับพระศาสดา นั่นเป็นคนละมือทีเดียว ความเป็นไปก็เห็นได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ด้วยพระชินราชทำตั้งที่พระวิหารหน้า จะต้องทำก่อน พระชินศรีและพระศาสดาตั้งวิหารข้าง จะทำทีหลังก็ได้ไม่ขัดข้อง

ลายพระหัตถ์

๑๒) ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม เมื่อวันจันทร์เข้าใจว่า เข้าไปถึงกรุงกับรถไฟซึ่งถึงเมื่อวันเสาร์ หนังสือฉบับนั้นมีแต่ปะปิดทางกรุงเทพฯ ทับเดียว จะกราบทูลสนองความในคราวหน้า เพราะคราวนี้ไม่ทัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ