๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

คำว่า บุหงารำไป เป็นสองคำ บุหงา แปลว่า ดอกไม้ ส่วน รำไป ที่ข้าพระพุทธเจ้าแปลว่าดอกลำเจียก ข้าพระพุทธเจ้าแปลจากพจนานุกรมภาษามลายู-อังกฤษ ฉบับของมาสเดน เมื่อทรงทักว่าดอกปาหนันจะว่าอย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้สดิ สอบคำ รำไป ในพจนานุกรมมลายู-อังกฤษ อีกฉบับหนึ่ง เป็นฉบับของวิลกินสัน ก็ได้ความว่า รำไป แปลว่า เบ็ดเตล็ด ปนกันบุหงารำไป ก็คือดอกไม้เบ็ดเตล็ดปนกัน ที่พจนานุกรมฉบับมาสเดนแปลเป็นดอกลำเจียก เป็นแปลผิด ในภาษามลายูเรียกดอกลำเจียกว่า ปาดัน เป็นคำเดียวกับ ปาหนัน หากเพี้ยนเสียงระหว่าง ด กับ น แล้วฝรั่งเอาไปแปลงเป็นภาษาลาติน เรียกเป็นภาษาพฤกษศาสตร์ว่า Padanus

ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เฉลียวนึกถึงคำว่า อาราม ว่ามาพ้องเสียงกันเข้าทั้งในบาลีและภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้ากำลังค้นหาที่มาของคำอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยค้นดูคำว่า อ้าย ว่า ยี่ ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ คงมีคำแปลร่วมกันทุกแห่งคือ อ้าย เป็นชื่อลูกชายหัวปี ญี่ ลูกชายคนรอง หรือแปลว่าเท่ากัน ที่นำมาใช้เรียกเดือน ๑ และเดือน ๒ ว่า เดือนอ้าย เดือนยี่ แปลกที่ไทยถิ่นอื่นไม่เรียกว่า เดือนอ้าย แต่เรียกว่า เดือนเจียง ทั้งนั้น เจียง แปลเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากแปลว่าเดือนแรกของปี ในเรื่องน่านเจ้าที่จีนแต่งไว้ก็เรียกว่า เดือนเจียง เหมือนกัน ส่วนเดือนญี่ เรียกตรงกันทุกถิ่น จะเป็นเพราะอะไรไม่ทราบเกล้า ฯ จึงไม่เรียกว่า เดือนสอง หรือจะหมายว่า ที่สอง จึงได้ใช้คำว่า ยี่ คำว่า ยี่สิบ ไทยถิ่นอื่นส่วนมากเป็น เซา

ข้าพระพุทธเจ้ายังไฝ่ฝันอยู่ด้วยเรื่องราชวัด ในรามเกียรติ์ เมื่อจะทำพิธีก็กล่าวถึงกันราชวัดฉัตรธง ราชวัดอาจจะเป็นรั้วกั้นอันเนื่องด้วยพิธีเลขยันต์ หรือเป็นรั้วกันในเขตต์ศักดิ์สิทธิ์หรือเขตต์หวงห้าม จะไม่ใช่กั้นเพื่อความงาม การวงด้วยสายสิญจน์หรือแขวนยันต์รอบพิธีมณฑล ถ้ามีราชวัดเป็นขอบเขตต์ก็สะดวกและดูขึงขังขึ้น ถ้าความประสงค์เดิมในราชวัดเป็นดังนี้ ราช ก็ควรเป็นราชะ ในภาษามลายูที่แปลว่า ยันต์ หรือ ลงยันต์ วัด ก็คือเขตต์ที่วัดเป็นที่หวงห้ามไว้ แต่เป็นฝืนลำดับคำของหลักภาษามลายู ในมลายูควรจะเป็นวัตราช มากกว่าเป็น ราชวัด ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามประเพณีทางอีศาน ไม่ปรากฏว่าใช้ ราชวัด แม้แต่คำว่า ราชวัด ก็ไม่เคยมีใช้ เขาใช้แต่เฉลวรูปสามเหลี่ยมปักกั้นเป็นเขตต์ เรียกว่า ตะเหลว ว่าเพี้ยนไปจาก ตาแหลว ซึ่งแปลว่า ตานกเหยี่ยว คำว่า เฉลว มหาฉ่ำชี้แจงว่าไม่มีในคำเขมร ส่วน ราชวัด นั้นมีในเขมร เขียนเป็น ราชวัติ ซึ่งอาจเขียนตามไทยก็ได้ ตะเหลวของอีศานใช้ปัก ๔ มุม หรือ ๔ ทิศ เช่นจับจองที่ดินไว้ ก็เอาตะเหลวไปปัก ๔ มุม เป็นบอกเขตต์ไว้ ถ้าที่ใดหวงห้ามไม่ให้เข้าไป เช่นจะเป็นเสนียดจัญไร ก็เอาตะเหลวไปปักบอกไว้ให้รู้ว่าอย่าเข้าไป หรือปักตะเหลวไว้ ๒ ข้างเป็นอย่างประตูเข้าออก ลางที่ในงานพิธีก็มีปักตะเหลว ปักต้นกล้วยต้นอ้อยด้วย ทางพายัพมีกล่าวถึงราชวัดอยู่ในตำนานพระธาตุลำพูนว่า ก็ให้เป็นราชวัดฝ่ายใต้ต้นตาล แล้วให้เจือเสื่อสาอาดสนา ประดับประดา คือว่า ฝังต้นกล้วยต้นอ้อย...ภิกขุสังฆชาวเจ้าทั้งหลาย มาสักการะบูชาด้วยเข้าตอกดอกไม้ลำเทียนในราชวัดนั้น...เขาก็ให้ย่าต่อมไปชี้ ที่อันพระภุกามให้ตั้งราชวัดนั้น...ข้าก็ให้ธาตุพระเจ้า ถัดท่ามกลางที่อันเขาขัดราชวัดเมื่อก่อนนั้นแท้ดีหลี เขียนเป็น ราชวัด ทุกแห่ง แต่จะถือเป็นแน่ไม่ได้ เพราะการเขียนทางพายัพไม่นิยมสกดมากตัวหรือมีการันต์ ตามปกติชาวบ้านในพายัพไม่รู้จักเรื่องราชวัด การมีเทศน์มหาชาติในชนบท ก็มีปักเสาปักต้นกล้วยต้นอ้อยเข้าสี่มุม แล้วมีขัดแตะยื่นออกไปข้างละศอกเศษเป็นอย่างคด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าอย่างนี้จะเป็นราชวัดสังเขป ในธรรมบทกล่าวถึงเมื่อทำพิธีก็มีคำว่า ปาการ ปิรกเขปํ แปลกันว่า แวดล้อมด้วยรั้วก่าย (รั้วไก่) รั้วก่ายว่าเป็นรั้วเอาไม้มาก่ายกัน ก็เป็นลักษณะอย่างรั้วราชวัด ข้าพระพุทธเจ้าสืบมาได้เท่านี้ ยังค้นต่อไปไม่ได้อะไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ