๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๑ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายเรื่อง กหํปายา ซึ่งพระสารประเสริฐแต่งลงในหนังสือมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มาพร้อมกับหนังสือฉะบับนี้ฉะบับ ๑

ที่ตรัสเล่าถึงวิธีสอนให้ออกเสียงพยัญชนะควบเช่น ควาย เป็น ค่าวาย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้อีกเปลาะหนึ่ง การแยกเสียงพยัญชนะควบโดยวิธีเพิ่มเสียงสระอย่างนี้ เข้าหลัก สวรภักดิ์ ถ้าออกเสียงให้เร็วก็อาจฟังเป็นเสียงพยัญชนะควบได้ ที่ตรัสถึงเรื่องเอกเซนต์ก็เป็นแนวให้เห็นคำเช่น ขวาง-ว่าง กว้าง-ว้าง แคว้น-แว่น กวัด-วัด คงเป็นเพราะเน้นเสียงพยัญชนะควบตัวหลังหนักไป เสียงตัวหน้าก็หายไป ลางคำเอาเสียงสระเข้าช่วย (สวรภักดิ์) ขวาง ก็เป็น ขวง กวัด ก็เป็น กวด ไป เสียงชาวชนบทที่เรียกกันว่าเหน่อ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเกิดจากเอกเซนต์เหมือนกัน เอกเซนต์เป็นเหตุให้เสียงสระกลายได้ เช่น อะ-อี ถ้าเน้นที่อี ก็เกิดเป็น ไอ ถ้าเน้นที่ อะ ก็เกิดเป็นเสียง เอ (ย) อะ-โอ เน้นที่ โอ เป็น เอา ถ้าเน้นที่ อะ เป็น โอ (ว) ในภาษาฝรั่ง คำว่า bé กับ bay หรือ lo กับ low จึงผสมผิดกัน เพราะเน้นคนละที่ เสียงจึงไม่เหมือนกันทีเดียว สํสกฤต มี ไอ เอา เป็นสระสังโยค แต่บาลีเป็น เอ (ย) และ โอ (ว) เลยทำให้นักบาลีเข้าใจผิดว่า เสียง เอ และ โอ ในภาษาไทย ซึ่งเป็นสระเดี่ยว เป็นเสียงเดียวกับ เอ (ย) และ โอ (ว) ในภาษาบาลี แล้วอธิบายสระเอ และ โอ ในเสียงภาษาไทยว่าเป็นสระสังโยค คำว่า อัยยการ โบราณเขียน ย เดียว แก้เป็นสอง ย เพราะเห็นว่าพ้องกับอัยการ ที่แปลว่า ช่างเหล็ก เพิ่ม ย อีกตัวหนึ่งเป็น อัยยการ ว่าแผลงมาจาก อริย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคำนี้จะมาจาก อาญาการ เมื่อออกเสียง อา-อิ คือเสียง ญ และเน้นเสียงที่ อิ เสียงนั้นก็เพี้ยนเป็น ไอ ไป

เรื่องเรียกชื่อปีเป็นสองพยางค์ ฝรั่งว่าเป็นวิธีของจีนมาแต่ดึกดำบรรพ์ จีนว่าพระเจ้าอึ่งเต้ในเรื่อง ไคเภก เป็นผู้คิด ชื่อปีเป็นเอกศก โทศก ฯลฯ จีนเรียกว่า ก้านสวรรค์ทั้ง ๑๐ (10 celestial stems) ส่วนปี ๑๒ นักษัตร์ เรียกว่า กึ่งแผ่นดินทั้ง ๑๒ (12 Terrestrial branches) ถ้าที่กราบทูลมาเป็นของจีนมาแต่เดิม ก็น่าจะเข้าใจว่าชื่อปีเป็น ๑๒ นักษัตร์ ซึ่งตามตำนานว่าเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นหรือถัง ก็เป็นของเติมวันภายหลัง ชื่อปีอย่าง ชวด ฉลู จึงแปลไม่ได้ เพราะเอาคำเติมมาเทียบเข้ากับรูปสัตว์นั้นๆ เท่านั้น จีนไม่มีศักราช แต่ใช้รอบ ๖๐ ปีเป็นเกณฑ์ ฝรั่งว่าเกิดจาก ๑๒ × ๑๐ ÷ ๒ = ๖๐ การนับ ๖๐ ปี เป็นรอบใหญ่ ประเทศแบบบิโลเนีย และอินเดีย มีใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์เหมือนกัน ฝรั่งลงความเห็นว่าจะได้มาจากชาวแบบบิโลเนียด้วยกันทั้งจีนและอินเดีย แต่ได้ไปคนละทาง เพื่อให้ทราบจำนวนปีว่าตกอยู่ในรอบใหญ่รอบไหน จีนใช้วิธีเอาชื่อรัชชกาลบอกได้ด้วย เรื่องสัปดาห ฝรั่งว่ามาจากกรีก เอา ๒๔ ชั่วโมงคูณด้วยดาวฤกษ์ทั้ง ๗ เป็น ๑๖๘ การแบ่งวันเป็น ๒๔ ชั่วโมง ว่ากรีกได้ไปจากชาวแบบบิโลเนีย และอินเดียได้มาจากกรีกสมัยเมื่อพระเจ้าอาเลกซานเดอมาตีอินเดีย ส่วนจีนใช้จำนวน ๑๐ มาแต่เดิม จึงไม่ได้ช้หลักสัปดาหเป็นเกณฑ์) คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จุลศักราช ตามตำนานของพะม่าว่าพระเจ้าแผ่นดินพะม่าองค์หนึ่งทรงตั้ง ก็คงจะเอาความคิดเดิมที่ติดมาจากจีน คือจำนวน ๑๐ มาควบเข้า จึงไม่ได้ใช้จำนวนสัปดาหควบ พระนามพระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่ตั้งจุลศักราช นอกจากพระนามเดิมซึ่งเป็น ระหันโสปวา หรืออะไรข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ ยังมีพระนามที่ใช้เรียกในหนังสือฝรั่งว่า Senakaraza เคยถ่ายเป็นพระเจ้าเสนกราศ ที่จริงพะม่าเรียก สังฆ ว่า เสนฺกะ พระนามนี้จึงตรงกับ สังฆราชา เพราะพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เดิมบวชเป็นพระสงฆ์มาก่อน ที่ตรัสถึงต้นเหตุคำว่า ศักราช ในลายพระหัตถ์ฉะบับก่อน คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะตัดมาจากคำเต็มว่า ศักราชสํวัตสร

เรื่องแต่งงาน ที่จะทรงพระกรุณาสอบสวนราชประเพณีในพิธีแต่งงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะอ้างเพียงว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชชกาลที่ ๕ ก็จะพอ วิวาห ทรงค้นได้ธาตุว่ามาจาก วิวห แปลว่า แย่ง ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมสํสกฤตศัพท์สากล อธิบายไว้ว่า วิ = ร่วมใจ วาห = เครื่องพา ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่าจะแปลหักความเอาตามความหมายในรุ่นหลัง เพราะในมอเนียวิลเลียมแปลคำ วิวาห ว่า การพาเอาไป ชวนให้คิดเห็นว่าเดิมจะเปนเรื่องแย่งเอาไป เพราะพิธีแต่งงานของชาวเบงกาลี ก็มีอยู่ตอนหนึ่งที่พวกเด็ก ๆ เอาก้านกล้วยไล่ตีเจ้าบ่าว ภาษาจีนเรียกแต่งงานว่า กิ๊ดฮุน กิ๊ด=ผูกมัด ฮุน=แต่งงานหรือประเพณี แต่เขาแปล กิ๊ด ว่า เกี่ยวดองกัน อาจเป็นแปลตามความหมายตอนหลังก็ได้

ที่ทรงเห็นว่าข้าพระพุทธเจ้าควรเอาเรื่องแต่งงานมีกี่อย่าง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเขียนไว้เดิมใส่ไว้ด้วย พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนไว้แล้ว ไม่ได้ใส่ไว้ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าจึงกลับใจรื้อโครงที่เขียนแล้วเสียใหม่ เติมเรื่องนี้เข้าไว้ด้วย และอาจเอาเรื่อง หลบฝาก และ ฝากบำเรอ ในกฎหมายเก่ามาพูดได้ด้วย หลบฝาก เป็นเรื่องชายยอมตัวรับไช้แทนเงินสินสอด ส่วน ฝากบำเรอ เป็นเรื่องอยู่ด้วยกันแล้ว แต่การรับใช้อย่างบ่าว (ทาส) ยังไม่หมดไป ลักษณะอย่างนี้มีอยู่ในพวกชาวป่าชาวเขาในแหลมอินโดจีนแทบทุกพวก เรื่องรดน้ำบ่าวสาว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเคลื่อนที่มาจากซัดน้ำต่อหนึ่ง แล้วย้ายการซัดน้ำ ซึ่งทำกันในวันสุกดิบ มาทำในวันแต่งงานเป็นอีกต่อหนึ่ง เพราะการซัดน้ำก็คือการปัดเสนียดจัญไรก่อนเข้าพิธีมงคล ไม่ควรทำภายหลังพิธี ในขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานเจ้าหมื่นไวย ฯ ก็ทำพิธีซัดน้ำก่อน รุ่งขึ้นจึงตักบาตร์และเป็นวันขันหมาก ประเพณีอินเดียในวันสุกดิบก็ต้องทำพิธี หริทสนาน ชำระล้างมลทินด้วยขมิ้น

ที่ทรงปรารภว่า นายสุด รู้อะไรหลายอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเคยซักคนชาวอีศานหลายคน ก็ไม่มีผู้รู้มากอย่างนายสุด คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ศาสตราจารย์เซเดส์ จึงได้ชักชวนเข้ามาทำงานที่หอ เพื่อตรวจสอบหนังสือทางภาคนั้น นายสุด เดิมเป็นชาวเวียงจันทน์ ภายหลังจึงมาอยู่นครจำปาศักดิ์ นายสุดว่าบิดาเป็นคนชอบหนังสือ เป็นผู้รู้คนหนึ่งในเวียงจันทน์ นายสุดจึงได้มรดกนั้นติดมา พระเถรชาวอีศาน เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์และพระเมธาธรรมรสก็ชอบกับนายสุด แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ด้วยกัน

เรื่องพยัญชนะไทย ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นคว้าแล้วก็ไปติด ต้องเลิกคิดไปคราวหนึ่ง แต่ช้าๆนานๆก็จับคิดอีก คล้ายเห็นเงาในกระจก ชวนให้คิดอยู่เสมอ ที่ทรงเห็นว่าตัวพยัญชนะที่แก้รูปเป็นหยักและขีดไส้ ไม่ใช่แก้เพื่อให้เป็นอักษรสูงกลางต่ำ ซึ่งเป็นของคิดขึ้นทีหลังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ เพราะถ้าพิจารณาเสียงของภาษาไทยถิ่นอื่นมีไทยใหญ่เป็นต้น ก็มีพยัญชนะ วรรคละ ๓ ตัวเท่านั้น เช่น ก ข ง ทั้ง ๓ ตัวนี้ เมื่อพูดมีเสียงสูงกลางต่ำอยู่ในตัว เช่น ก ก็เป็น ก และ ก๋ ข ก็เป็น ข และ ค ง ก็เป็น ง และ หงอ ใช้อยู่ในตัวเสร็จ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่แปลง ข เป็น ฃ ค เป็น ฅ จะต้องการตัวแรกเทียบเสียง g ในบาลี จึงต้องแก้ ค ให้แปลกออกไป เพื่อปรับเทียบกับเสียง ค ในภาษาไทย ซึ่งเป็นเสียงอโฆษหนักอ่อน คู่กับ ฃ ซึ่งเป็นเสียงอโฆษหนักแข็ง เหตุนี้การอ่านจึงเป็น ข้ และ ฃ ค่ และ ฅ ส่วน ซ ซึ่งหยักหัวจาก ช เสียง ช ในไทยถิ่นอื่นมักเป็น จ ฉ และ ซ เสียง ช โดยตรงไม่สู้ปรากฏว่ามี เห็นจะตั้งขึ้นเพื่อปรับกับเสียง j ส่วน ซ สำหรับเสียงไทยเดิม เสียง ต ก็คงเช่นเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับเสียงไทย เพราะ ต ในบาลีใช้ ด แทน ส ๓ ตัว ควรจะใช้เป็นเสียง ซ เสียตัวหนึ่ง ในพยัญชนะไทยใหญ่ เรียง ส ไว้ในวรรค จ แต่อ่านเป็น ส และ ซ แล้วแต่คำ พอถึงวรรค ย ก็เอา ส มาเรียงไว้อีก แต่เรียงไว้เฉย ๆ เท่านั้น ลางที ส จะสำหรับปรับกับเสียง ส ในบาลี ส่วน ห คงปรับเข้ากับ ห ในบาลี และใช้สำหรับเสียง ห ในไทยด้วย จึงไม่หยักหัวเพราะเสียงตรงกัน คงแยกแต่เสียง ห อย่างอ่อนคือ ฮ ไว้อีกตัวหนึ่ง โดยเอา อ มาใส่ไส้เพราะอยู่ใกล้กัน ที่ทรงเห็นว่าเดิม ศ จะเป็นตัวสกด ษ เป็นตัวการันต์ และ ส เป็นตัวใช้ในเนื้อคำ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นดังกระแสพระดำริ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า สะดวกดี ไม่ต้องจำว่าสกดหรือการันต์ด้วย ส ไหน แต่เห็นจะมียกเว้นบ้าง เช่น ศุข สวัสดิ เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลได้อย่าง ขาด ๆ ด้วน ๆ เพราะคิดไปไม่ได้ตลอด แต่ก็ไม่วายคิด

เรื่องพยัญชนะวรรค ก กับ วรรค จ เพี้ยนกันได้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบปรากฏว่ามักเป็นภาษาปากเสียโดยมาก เช่น เด็กพูด กินข้าว ว่า จินเจ้า ในพายัพเรียก เกี้ยว (เก้าอี้นั่งสำหรับให้คนหาม) เพี้ยนเป็น เจี้ยว เกงตุง-เชียงตุง เขม จีนเป็น เจียม (แต้จิ๋ว) และ จัม (กวางตุ้ง) ในภาษาจีนเสียง ก ในจีนอื่นเป็นเสียง จ ในจีนหลวง แต่คำที่เพี้ยนมักเป็นพวกมีเสียงสระหน้า คือ แอ เอ และ อี รวมทั้ง อา ด้วย ลางทีจะเป็นเพราะเสียงวรรค ก เกิดจากเพดานอ่อน ถูกเสียงสระหน้าซึ่งเกิดที่ปลายลิ้ ลากเอาออกมาได้ครึ่งทาง ก็มาตกอยู่ในเขตต์เพดานแข็ง เสียง ก จึงได้เพี้ยนเป็น จ ไป คำที่เพี้ยนระหว่าง ก กับ จ มีอยู่อีกพวกหนึ่งคือพวก ร กล้ำ แต่คงเพี้ยนจากวรรค ต มาเป็นวรรค จ แล้วเลื่อนมาเป็นวรรค ก อีกที เช่น ตรี-จรี-กรี ตรวจ-จรวด-กรวด ตรอก-จรอก-กรอก

ข้าพระพุทธเจ้าลองจับเอาบทละครในกับละครนอก มาเปรียบเทียบกันดู เห็นนี้ข้อแตกต่างกันอีกอย่างหนึ่ง คือบทละครใน เช่นเรื่อง อิเหนา หรือ รามเกียรติ์ มีบทพรรณนาถึงการแต่งองค์ทรงเครื่อง เช่นว่า ให้ไขช่อแก้วประทุมทอง ฯลฯ และมีบทชมรถชมพาหนะทรง เช่น รถเอยรถทรง หรือ ม้าเอยม้าศึก แต่ในบทละครนอกไม่มีเช่นนั้น ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่านี่จะเป็นข้อแตกต่างกันในส่วนสำคัญของบทละครนอกกับบทละครใน ส่วนการบรรจุเพลง เข้าใจด้วยเกล้า ฯ ว่าคงเหมือนกัน จะต่างแต่เป็นในและนอกอย่างที๋ตรัสให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

คัดจาก มหาวิทยาลัย เล่ม ๑๕ ฉะบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๘๐

กหังปายา

แปล ปทานุกรม ว่า เลข ๑๑๘๑ เป็นเกณฑ์สำหรับลบพุทธศักราชเป็นจุลศักราช และบอกจุลศักราชเป็นพุทธศักราช เรียกว่า กหังปายา (เช่นอยากรู้ว่าปีนี้จุลศักราชเท่าไร เอาพุทธศักราชตั้ง เขอ ๑๑๘๑ ลบ ก็รู้ว่าจุลศักราชเท่านั้น อยากรู้พุทธศักราช เอาจุลศักราชตั้ง เอา ๑๑๘๑ บวกก็รู้ได้)

วิจารณ์

(๑) ในวิทยาจารย์ (ตามที่คัดบันทึกของเขามา) เล่ม ๓๔ ตอน ๑๑ เรื่องศักราช หน้า ๑๖๘๔ ว่า ๑๑๘๑ ลำหรับใช้เป็นเกณฑ์บวกลบระวางพุทธศักราชกับจุลศักราช เรียกตามภาษาพะม่าว่า กะหัมปายา

ผู้กล่าวใน วิทยาจารย์ นั้น เห็นว่า จุลศักราชเป็นของพะม่าตั้ง และเกณฑ์นี้ใช้เกี่ยวกับจุลศักราชเท่านั้น ก็น่าจะเป็นภาษาพะม่า มีมูลอยู่ฉะนี้

ประเด็น กะหัมปายา เป็นภาษาพะม่า

(๒) ในตำราเรียนชื่อ สังโยคพิธาน (เห็นจะพิมพ์ครั้งแรก) หน้า ๔๖ กล่าวถึงสอสาม คือ ศ ษ ส ว่า ศ ษ นั้นมาในคัมภีร์สํสกฤต กับวิธีอักษรสังขยา ซึ่งนับอักษรแทนตัวเลขในคัมภีร์ วชิรสาร เป็นต้น นับตัว ห เป็นเลข ๘ ถ้าไม่มี ศ ษ แล้ว ตัว ห ก็เป็นเลข ๖ หาต้องกับวิธีกหังปายาไม่ กหังปายานี้เป็นเลขเรือนพันอย่างนี้ ก๑ หัง๘ บา๑ ยา๑ แต่กลับอยู่ตามเลขมคธ ถ้านับอย่างเลขไทย กลับเป็นดังนี้ ๑๘๑๑ สำหรับลบพุทธศักราชเป็นจุลศักราช และบวกจุลศักราชเป็นพุทธศักราชทุกปีไป

ใจความว่า อักษรเสียงสอ ซึ่งเรามีสามตัวนั้น ตัว ศ ษ มาในสํสกฤตทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งในวิธีอักษรสังขยา คือวิธีอักษรสังขยานั้น นับตัว ห เป็นเลข ๘ ดังนี้

       
- -

ถ้าในช่องว่างสองระยะนั้นไม่มี ศ ษ หัว ห ก็ไม่ถึง ๘ หากจะมีคำกลางสอดเข้ามาว่า มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตัว ห ต้องเป็น ๘ จะเป็นเลขอื่นบ้างไม่ได้หรือ ? ก็ต้องเฉลยว่า เพราะคำ กหังปายา นั้น คือเลข ๑๑๘๑ ตัว ห จึงเป็นเลข ๘ และฉะนั้นเอง ต้องเติมตัวสออีกสองตัว คือ ศ และ ษ เพราะฉะนั้นตัว ศ และ ษ ที่มีในอักษรไทย ก็คงมาจากวิธีสังขยานี้อีกทางหนึ่ง ก็จะถามอีกว่า ทำไมคำ กหังปายา จึงเป็นเลข ๑๑๘๑ จะเป็นอะไร ๆ เซ่น ๑๒๓๔ ๒๓๔๕ บ้างไม้ได้หรือ? ก็ต้องตอบว่าไม้ได้เด็ด เป็นอะไรไม่ได้หมด ต้องเป็น ๑๑๘๑ เท่านั้น มิฉะนั้นจะเอาอะไรมาลบพุทธ หรือจุล หรือบวกจุลเป็นพุทธเล่า ?

ประเด็น คำ กหังปายา นั้น ตัว ก เป็นเลข ๑ หัง เป็นเลข ๘ ปา เป็นเลข ๑ และ ยา เป็นเลข ๑ ย้อนหลังอย่างไทยแปลมคธ จึ่งเป็น ๑๑๘๑

(๓) ในคัมภีร์วชิรสาร ที่สังโยคพิธานอ้างนั้น บอกวิธีอักษรสังขยาไว้ดังนี้

(ก) กาทีริตา นวสงฺขฺยา กเมน ฏาทิ ยาทิ จ ฯ
ปาทโย ปฺจสงฺขฺยาติ สุฺา นาม สรา ณนา ฯ

นักปราชญ์ท่านแปลไว้ท้ายตำรา อักษรนิติ ทื่อยู่ต่อตำราจินดามณี เป็นโคลงว่า

ก ฎ ย อยู่ต้น ศัพท์เนา
นามนพสังขยาเรา เรียบไว้
แต่ ป ตราบ ม เหมา ห้าหมู่ เบญจนา
สวร ญ น ไสร้ เหล่าล้วนเลขศูนย์

ถอดความแปล อักษรตั้งแต่ตัว ก ไป ตั้งแต่ตัว ฏ ไป และตั้งแต่ตัว ย ไป เป็นสังขยาเก้า ตั้งแต่ตัว ป ไป เป็นสังขยาห้า ตัว อ ตัว ญ และตัว น เป็นศูนย์

เรียงอักษรเทียบเลขเป็นสูตร ดังนี้

         
- -

หมายเหตุ พยัญชนะที่เป็นตัวเลข ต้องเป็นพยัญชนะที่ออกเสียงอ่านได้ คือ ที่มีสระพยัญชนะที่เป็นตัวสกด ไม่ออกเสียงอ่าน ก็ไม่นับเป็นตัวเลข เช่น กหังปายา ตัว ง ไม่นับ และตัวอย่างอื่น ๆ เช่น

อา อิ อี ฯลฯ เป็น
กา กิ กี ฯลฯ เป็น
ขุ ขู เข โข ฯลฯ เป็น

ในคัมภีร์วชิรสารนั้นเอง อ้างอีกคาถาหนึ่งว่า

(ข) กฏยาทิ - ฌธฬนฺตา นวสงฺขฺยา ปกิตฺติตา ฯ
ปาทิมนฺตา ปฺจสงฺขฺยา สุฺา นาม สรา นา ฯ

แปล อักษรขึ้นต้น ก ลงท้าย ฌ ขึ้นต้น ฏ ลงท้าย ธ และขึ้น ย ลงท้าย ฬ เป็นสังขยาเก้า อักษรขึ้นต้น ป ลงท้าย ม เป็มสังขยาห้า ตัว อ ตัว ญ และตัว น เป็นศูนย์

คงมีใจความเหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้ว

ประเด็น มิวิธีใช้อักษรเป็นตัวเลขได้

(๔) ตัวอย่าง ท่านประพันธ์เป็นคาถาว่า :-

อนูนวิรี ภูริ อนวาทิวูทธิ ฯ
อนทุติโย เมรุ ตสฺส กมฺปิตฺถ เตชสา ฯ

แปล

(โย ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด)
อนูนวิรี ภูริ มิใช่ผู้มีเพียรหย่อนเหมือนคนอื่น(มั่นคง)ปานแผ่นดิน
อนวาทิวูทธิ มีคำตรัสไม่แปรเป็นอย่างอื่น เหมือนมหาสมุทร (อันไม่เปลี่ยนรส)
อนทุติโย เมรุ ไม่มีคนอื่นมาเทียบคู่ได้ เหมือนเขาสุเมรุ(อันเด่นที่สุด)
ตสฺส เตชสา ด้วยพระเดชแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น(ย้อนกลับอีก)
อนนวิรี ภูริ แผ่นดินอันหนา ๒๔๐๐๐๐ โยชน์ (อ=๐ น=๐ =๐ ว=๔ ร=๒)
อนวาทิวูทธิ มหาสมุทรอันลึก ๘๔๐๐๐ โยชน์ (อ=๐ น=๐ =๐ ว=๔ ท=๘)
อนทุติโย เมรุ พระสุเมรุอันสูง ๑๖๘๐๐๐ โชชน์ (อ=๐ น=๐ =๐ ท=๘ ต=๖ ย=๑)
อกมฺปิตฺถ ได้ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น (ในเวลาเสด็จปฏิสนธิเป็นต้น)

(๕) วิธี จำนวนเลข เช่น ๒๔๐๐๐๐ นี้ เลข ๒ มีอักษรใช้ได้สี่ตัว คือ ข ฐ ผ ร เลข ๔ ก็มีอักษรสี่ตัว คือ ฆ ฒ ภ ว เลขศูนย์มี ญ น กับ อ จะใช้ตัวไหนสุดแต่ให้อยู่ในกำหนด เช่น ญ ญ ญ ญ ฆ ข หรือ อ อา อิ อี ภ ผ ฯลฯ ก็ได้ แต่ไม่เป็นภาษาที่มีความหมายอันใด ทั้งไม่สมกับที่มีตัวไว้เผื่อเลือกได้มาก ๆ ฉะนั้น เมื่อได้ตัวพยัญชนะตามกำหนดเลขไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ก็เลือกตัวเหล่านั้นประสมกันให้มีคำใช้ในภาษาด้วยอีกชั้นหนึ่ง ได้ อ น ญ น ว ร ประสมให้เป็นภาษาว่า อนูนวิรี แปลได้ว่า มิใช่ผู้มีเพียรหย่อนเหมือนคนอื่น

ประเด็น อักษรเป็นตัวเลขนั้น เลิอกที่พอประสมกันเป็นภาษาได้

(๖) ในตอน ๓ (ข) ว่าอักษรขึ้นด้วย ย ลงท้าย ฬ เป็นสังขยาเก้า พอทราบได้ว่า เมื่อ ฬ เป็น ๙ ตัว ห ก็เป็น ๘ อยากทราบกระเถิบเข้าไปอีกสักหน่อยว่า ในอักษรวรรคนี้ อะไรเป็น ๖ เป็น ๗ ซึ่งตามคาดคะเนก็ต้องเป็น ศ ษ แต่คัมภีร์แสดงอักษรสังขยาที่อ้างมานั้นเป็นตำรามคธ ในภาษามคธไม่มี ศ ษ ถ้า ศ ษ เป็นเลข ๖ เลข ๗ ไซร้ วิธีอักษรสังขยานี้ก็คงได้แบบจากสํสกฤต แต่จะมีตำราชื่ออะไร ยังไม่เคยพบ ลำพังตนเองเป็นตรัสรู้ไม่ได้แน่ จะต้องเที่ยวหาฤษีมุนีไต่ถามดู

  1. ๑. เราทักท่านว่าปทานุกรมเขียนเป็น สันสกฤต ท่านว่าขณะนั้นอยู่ในระบอบเก่า และก่อนนั้นขึ้นไปอีกเขียนเป็น สังสกฤต แสดงว่ามีจอมบงการอักขรวิธีต่าง ๆ บังคับให้อ่านเป็นแม่ กง บ้าง เป็นแม่ กน บ้าง ขณะนี้เป็นระบอบใหม่แล้ว ควรให้เสรีภาพแก่ปากผู้อ่านหรือยัง ? เขียนเป็นสํสกฤต ใครจะอ่านว่า สังสกฤต สันสกฤต หรือสัมสกฤต ก็ได้ตามใจชอบ และนิคคหิตมีใช้ในภาษาไทยในศิลาจารึก หรือใน มหาชาติคำหลวง เป็นเอนก - บรรณาธิการ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ