๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม จดบันทึกคำเรียกปีของภาษาต่าง ๆ ให้ไป ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมาก ตามที่ว่าได้ให้ไปก่อนลงวันที่ ๒๗ มิถุนายนนั้น ฉันไม่ได้รับ ต้องปรับว่าหาย

ปี

ตามความคิดที่หมายปีด้วยรูปสัตว์นั้นดีนัก ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องจำศักราช อันตัวเลขนั้นจำยากนัก จะเทียบกับทางฝรั่งซึ่งเขาหมายหลังรถไฟด้วยตัวเลข คนโดยสารลงไปหาอะไรกินที่สถานี ครั้นรถไฟจะออกก็วิ่งขึ้นรถไฟผิดหลัง เพราะจำเลขไม่ได้ ผู้จัดการรถไฟจึ่งเปลี่ยนเปนหมายด้วยรูปสัตว์ ต่อนั้นไปก็ไม่มีการขึ้นรถผิดหลัง เพราะคนโดยสารจำได้ว่าเรามารถช้าง เช่นนี้เปนต้น อันการหมายบปีเปนรูปสัตว์นั้น คาดหน้าว่าละมีขึ้นในแถวเมืองจีนเปนแน่ ประเทศที่ใกล้เคียงจึ่งจำไปใช้ ในประเทศที่ไกลออกไปไม่มี

รูปสัตว์หมายปีที่มีผิดกันอยู่ คือปีฉลูเปนงัวหรือควายปีหนึ่ง ปีมะโรงเปนนาคหรือมังกรปีหนึ่ง กับปีกุนเปนหมูบ้านหรือหมูป่า (ญี่ปุ่น) กับช้างปีหนึ่ง มีที่ต่างกันอยู่สามปี นอกกว่านั้นเหมือนกันสิ้น แม้ที่ต่างกันก็ไม่ไกลกันมากนัก งัวกับควายก็เพราะสี่ตีนมีเขาอยู่ด้วยกัน นาคกับมังกรก็มีตัวยาว ๆ คล้ายกัน หมูบ้านกับหมูป่าก็ผิดกันน้อยเต็มที แต่ที่เปนช้างนั้นผิดไปไกลมาก แม้กระนั้นก็ดี ส่วนฉันไม่ตื่นใจ เพราะเคยต้องทำรูปหมู วิ่งหาหมูดูเสียเปนพะวักพะวน แต่เมื่อได้เส้นที่ถูกแล้วก็ละเหี่ยใจ ว่าวิ่งดูหมูป่วยการเปล่า ๆ ที่แท้ก็เส้นช้างอย่างที่เคยเขียนรู้อยู่แล้วนั้นเอง ผิดกันแต่อวัยวะเล็กน้อย ซึ่งอาจทำเปลี่ยนไปได้โดยไม่ต้องวิ่งดูเลย ประเทศที่เขาเปลี่ยนหมูเปนช้าง เขาก็จะเห็นว่าเปนสัตว์พวกเดียวกันนั้นเอง

ฉันจำไม่ได้เลยว่าฉันได้ให้ชื่อปีอย่างมอญไปแก่วรรณคดีสมาคม จะได้มาแต่ไหนก็จำไม่ได้ เหตุที่จำไม่ได้นั้นแหละจึงให้ไปถามพระสุเมธมุนี เขาก็จดมาให้ เข้ารูปอย่างที่ท่านปรารภ ว่าฟังเสียงแล้วจดเปนหนังสือไทยนั้นถูกยาก ฉันได้สงสัยอย่างที่ท่านว่าเหมือนกัน จึงให้ไปหาพระสุเมธมุนีอีกทีหนึ่งขอให้ท่านจดมาให้เปนหนังสือมอญ ท่านก็ดี จดมาให้ทั้งที่มอญในนี้เขาแต่งไว้เปนกลอน เช่นเดียวกับ ปีชวดชื่อเปนหนูหนา ที่มีในหนังสือ มูลบท กับจดชื่อปีอย่างที่เรียกกันร่วงๆ มาให้ด้วย เมื่อได้เห็นหนังสือก็ทราบได้ว่าผิดกันกับที่เขียนตามเสียงไปเปนไหน ๆ เปนต้นที่จดตามเสียงมาว่า ไน้ หนังสือเปน กฺนิ คะต้าย เปน ขฺต์ นั่ก เปน น์า แส้ะ เปน เขฺฉํ จะจดมาให้หมดก็เห็นป่วยการ เพราะหนังสือมอญเขาก็เขียนผิดกับเรามาก แล้วก็อ่านออกเสียงไปอย่างหนึ่งด้วย

แม้ชื่อปีอย่างเขมรซึ่งมหาฉ่ำเขียนก็นึกขึ้นมาได้ มะซัญ นั้น เคยเห็นเขมรเขียน มสาญ มหาฉ่ำเขียนตามเสียงอ่านเหมือนกัน ปีเถาะไม่เคยเห็นแน่ แต่คาดได้ว่าเขมรคงเขียน เถาส แต่ก็คงอ่านว่า เถาะ เพราะถ้าตัว ส สกด แล้วเขาอ่านเปนประหลัง เหมือนหนึ่งคำว่า โปรส (ซึ่งเราเขียน โปรด) เขาอ่านว่า เป๊ราะ หรือ มาส (ซึ่งเราเขียน มาศ) เขาอ่านว่า เมียะ ชื่อปีในทางพายัพและอีศานก็สงสัย ตามที่ท่านจดใบให้เปนพยางค์เดียว เช่น ไจ้ เบ๊า ยี่ แต่ในประดิทินหลวงซึ่งตีพิมพ์แจก เปนสองพยางค์คือ ลวงไจ๊ เต่าเป๊า กายี เปนเพราะเหตุไร และจะเอาความได้อย่างไร ควรจะถามนายสุดให้อธิบายฟังดู เรียกชื่อปีอย่างชาวพายัพและอีศานนั้น เทียบได้ว่าเปนอย่างเดียวกับไทยอาหมเก่ามาก ญี่ปุ่นเรียกมังกรว่า Tatsu ตรงด้วยชื่อปีมะโรง ชื่อปีของจามมีจับใจอยู่สองชื่อคือ Kabav (ควาย) เสียงคล้าย กระบือ เขมรและชวาก็เรียกควายว่า กระบือ Nägarai ใกล้เปน นาคราช ชื่อปีทางธิเบตไม่เข้าหูเลย

สมุด

สมุดหนังสือเรื่อง วิธีทำศพ ซึ่งส่งไปให้ ไม่ขุ่นเคืองอะไร เห็นแต่ลักลั่นก็ทักมาเท่านั้น อาจมีเหตุอันใดซึ่งนำไปก็ได้เปนหลายอย่าง

เตลงพ่าย

เราก็รู้กันอยู่ดีแล้ว ว่าลิลิต เตลงพ่าย นั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่ง ไม่ใช่ของเก่าแก่มากนัก ชื่อฉัตรสามคันก็คงทรงเขียนไปตามที่ทรงทราบจำได้ หรือมิฉะนั้นก็เรียกเจ้าพนักงานผู้รู้การไปทรงไล่เลียงไต่ถาม แล้วทรงแต่งเปนลิลิตขึ้น จะทรงเขียนอย่างไรเราก็รู้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ต้นฉะบับลายพระหัตถ์ซึ่งทรงเขียนมาดูกัน ดูฉะบับต่างๆก็เปนอันที่ผู้เขียนเขียนฉะบับเหล่านั้นตามชอบใจเสียแล้ว จะถือเอาฉะบับไหนว่าเปนถูกก็ยาก

ถ้าว่าตามที่ฉันเคยได้ยิน ฉัตรสามคันนั้น องค์หนึ่งได้ยินเรียก เสมาทิปัด องค์หนึ่งเรียกว่า ฉัดไช อีกองค์หนึ่งได้ยินเรียกกันเปนสามอย่าง เนาวพ่าย อย่างหนึ่ง เกาวพ่าย อย่างหนึ่ง เกาวพ่า อย่างหนึ่ง อย่างไรจะถูกกไม่ทราบ ฉันได้ยินเขาเรียกกันก็ชา ๆ หาได้คิดอะไรไม่ จนกระทั่งได้ไปพบศัพท์ในพจนานุกรมของอาจารย์โมเนียวิลเลียมเข้าโดยบังเอิญ มีศัพท์ เสนาธิปัตย อยู่ในนั้น ท่านแปลไว้ว่าที่ประชุมการทัพ ก็นึกเอาตามใจว่าศัพท์นี้จะได้กับชื่อฉัตร เสมาธิปัด ดอกกระมัง แล้วก็นึกมากความไปว่า ฉัตรนั้นทำด้วยผ้าขาว ได้แก่ร่มขาวซึ่งคงจะกั้นแม่ทัพมาก่อน พวกพลจะสังเกตแม่ทัพได้ที่กั้นร่มขาว แล้วก็ดูไปตรงเข้ากับฉัตรพระคชาธาร นั่นก็หมายถึงกั้นแม่ทัพเหมือนกัน กั้นอยู่กับดิน เวลารบกันอาจที่คนกั้นจะพลัดไปเสียได้ จึงเอาขึ้นบนหลังช้าง แล้วก็คิดต่อไปว่าทำไมจึงมีสามคัน ก็เห็นความว่า เปนของวังหน้าซึ่งเปนจอมทัพหน้าคันหนึ่ง เปนของวังหลวงซึ่งเปนจอมทัพหลวงคันหนึ่ง เปนของวังหลังซึ่งเปนจอมทัพหลังคันหนึ่ง เมื่อวังหน้าวังหลังไม่มี ก็ตกมาอยู่ในวังหลวงทั้งสามคัน เหมือนอย่างขุนนางวังหน้า เมื่อไม่มีวังหน้าก็ตกมาสมทบวังหลวงเช่นเดียวกัน วังหลังนั้นไม่มีเสียนานแล้ว แล้วทีหลังเกิดถือขลังกันขึ้นก็เอาฉัตรทั้งสามคันนั้นไปลงยันตร์กันภัยเสีย เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็ลองปรับดู เสมาทิปัด ได้แก่ เสนาธิปัตย ฉัดไช เปน ฉัตรชัย ไม่มีทางไปอย่างอื่น แต่ เนาวพ่าย และ เกาวพ่าย ฉันไม่ชอบคำว่า พ่าย ซึ่งแปลว่าแพ้ เนาวพ่าย ก็แปลว่าแพ้เก้าหน จึ่งไปรักคำว่า เกาวพ่า พ่า นั้นทีจะเปน พาห ถือเอาอย่างนั้นแล้วก็ค้นคำ เกาว ต่อไป ผลแห่งการค้นก็พบคำว่า กว์ (ทัณฑฆาตใช้ในภาษาสํสกฤตเปนหมายสกดไม่ออกเสียง) ท่านแปลให้ไว้ว่าสี กว์พาห ก็แปลได้ความว่านำเอาสีไป ออกจะเปนธง แต่จะเปนร่มก็เห็นว่าได้เหมือนกัน กว์ ถ้าจะเขียนให้ใกล้ที่สุดก็ต้องเปน กัว แต่เราก็อ่านผิดไปเสียเปนอย่างอื่น จึงต้องเขียน เกาว ความเห็นมีอย่างนี้ แต่จะถูกผิดอย่างไรไม่ทราบ ไม่มีพยานหลักฐานอะไร ได้แต่บอกทางความคิดให้ท่านทราบเท่านั้น

ที่ท่านว่า เสมาธิปัติ เดี๋ยวนี้เรียก เสนาธิปัตย์ นั้น เปลี่ยนไปเพราะเจ้าพนักงานเขาได้ฟังฉันพูดถึงที่ฉันได้พบศัพท์นั้น และออกความเห็นว่าทีจะได้แก่ฉัตร เสมาธิปัติ เขาชอบเขาจึ่งเอาไปเรียกเปลี่ยนไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ